"บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขา หนึ่งเดียวในโลก" ชุมชนขนาดใหญ่แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่งดงาม แหล่งบ่อเกลือโบราณที่มีอายุหลายร้อยปี ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
เนื่องจากพื้นที่ตั้งชุมชนมีบ่อเกลือธรรมชาติอยู่ในบริเวณนั้น คนในพื้นที่จึงเรียกชื่อชุมชนตามลักษณะภูมิประเทศที่มีบ่อเกลือธรรมชาติเกิดขึ้น
"บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขา หนึ่งเดียวในโลก" ชุมชนขนาดใหญ่แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่งดงาม แหล่งบ่อเกลือโบราณที่มีอายุหลายร้อยปี ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
บ้านบ่อหลวงเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 800 ปี ซึ่งเดิมทีเป็นดินแดนแห่งการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก จึงมีผู้คนหลากหลายมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ สมัยก่อนบ่อเกลือ มีชื่อว่า "เมืองบ่อ" เป็นชุมชนขนาดใหญ่และภายในพื้นที่รอบ ๆ นี้มีบ่อน้ำเกลือสินเธาว์มากถึง 9 บ่อ แต่ก่อนที่จะมีผู้คนมาอาศัยอยู่นั้น บริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ จนมีนายพรานผู้หนึ่งผ่านมาเห็นเหล่าสัตว์ทั้งหลายมากินน้ำกันที่นี่ ก็แปลกใจว่าทำไมสัตว์ถึงชอบกิน พอได้ชิมดูจึงรู้ว่าน้ำมีรสเค็ม เลยมีการตักน้ำนี้ไปถวายผู้ครองนครน่าน จึงมีการส่งคนมาพิสูจน์
ต่อมาภายหลังจึงได้จัดตั้งชุมชนขึ้น โดยนำคนจากเชียงแสนเข้ามาหักร้างถางพง และทำเกลืออยู่ที่นี่ คนเหล่านี้ก็คือบรรพบุรุษของคนบ่อหลวงในปัจจุบัน ที่แห่งนี้ยังคงมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์และพิธีกรรมโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและศึกษา เนื่องจากการผลิตเกลือของชาวบ่อเกลือยังมีข้อจำกัดด้วยเหตุผลของวัฒนธรรมประเพณี คือชาวบ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จะไม่ผลิตเกลือในช่วงเข้าพรรษาและมีช่วงพิธีกรรมที่สำคัญที่ทำมาโดยตลอดไม่เคยขาด ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 5 หมู่บ้านบ่อหลวงจะปิดกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออกหมู่บ้านด้วยยานพาหนะทุกชนิด เป็นเวลา 3 วัน แต่สามารถเดินเท้าเข้ามาได้ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ชาวบ่อหลวงทำพิธีกรรมทางจิตวิญญาณ ด้วยการบวงสรวงเจ้าหลวงบ่อ มีการเลี้ยงเจ้าหรือเลี้ยงผีเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ปกปักคุ้มครองและให้เกลือเป็นทรัพยากรที่พวกเขาสามารถนำมาใช้และเลี้ยงชีพมาตลอดระยะเวลา 1 ปี
บ้านบ่อหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ่อเกลือไปทางทิศตะวันตกประมาณ 600 เมตร ห่างจากจังหวัดน่าน ประมาณ 90 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ราบค่อนข้างน้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่จะสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของตนเอง ส่วนใหญ่จะไม่มีเอกสารสิทธิและเป็นพื้นที่ลาดเอียง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยโป่ง หมู่ที่ 15
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านผาคับ หมู่ที่ 2
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาบง หมู่ที่ 14
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านน้ำแพะ หมู่ที่ 13
ชุมชนบ้านบ่อหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีประชากรทั้งหมด 139 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 228 คน หญิง 244 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 472 คน
ชุมชนบ้านบ่อหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ของตำบลและของหมู่บ้าน ช่วยเหลือสงเคราะห์ครอบครัวในกรณีเสียชีวิต ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ได้รับการสงเคราะห์ การสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้ และมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนต้มเกลือ วิสาหกิจชุมชนกิจกรรมแปรรูปบ้านบ่อหลวง กองทุนเงินล้าน กองทุนเงินออมทรัพย์ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเงินกู้ยืมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน (กขคจ.) กลุ่มพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มเงินทุนหมุนเวียน 5 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
- กุมพาพันธ์ : งานของดีบ่อเกลือ/ประเพณีแข่งพุ้งสะเน้า
- เมษายน : วันสงกรานต์ 13 เม.ย. รดน้ำดำหัวครูบาอาจารย์/ผู้สูงอายุ, 14 เม.ย. ขนทรายเข้าวัด, 15 เม.ย. สรงน้ำพระ
- มิถุนายน : พิธีกรรมไหว้ผีหอ
- กรกฎาคม : ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา
- ตุลาคม : ประเพณีทำบุญออกพรรษา
- พฤษจิกายน : ประเพณีลอยกระทง
- ธันวาคม : ประเพณีทอดผ้าป่า
1.นายบุญธรรม สุยะเศียร : ปราชญ์ด้านการต้มเกลือ
2.นางอนงค์ เขื่อนเมือง : ปราชญ์ด้านการต้มเกลือ
3.นายศรีวรรณ ขัดเงางาม : ปราชญ์ด้านการต้มเกลือ
4.พ่อลอย ลำมั่น : ปราชญ์ด้านประเพณีสู่ขวัญ
5.นางคะนอง จันตะเทพ : ปราชญ์ด้านศิลปะการประดิษฐ์ใบตอง
6.นายภัทรพล อุปจักร : ปราชญ์ด้านศิลปะการประดิษฐ์ใบตอง
- บ่อเกลือสินเธาว์โบราณ
- วัดบ่อหลวง/รอยพระพุทธบาท
- สะพานไม้ไผ่
- ศาลหลักเมือง
- ศาลเจ้าพ่อหลวง
- แม่น้ำมาง
- น้ำตกบวกครก/น้ำตกตาดคำ/น้ำตกตาดขวาง
- จุดชมวิว (กระซิบรัก@บ่อเกลือ)
- เส้นทางปั่นจักยานชมธรรมชาติ
ชุมชนบ้านบ่อหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ใช้ภาษาพื้นเมืองในการสื่อสารระหว่างกันในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการและสื่อสารกับนักท่องเที่ยว
แต่เดิมประชากรประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และมีอาชีพเสริม คือ การค้าขาย แต่ในปัจจุบันประชากรของหมู่ที่ 1 มีอาชีพทางด้านค้าขายเกลือสินเธาว์ ค้าขายผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเกลือ เช่น เกลือสปา เป็นต้น อาชีพรับจ้าง รับราชการ และการทำเกษตรเป็นอาชีพรอง เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ และการประกอบอาชีพด้านค้าขาย
สภาพความเป็นอยู่ชุมชนบ้านบ่อหลวงเป็นแบบสังคมทั่วไป มีความสัมพันธ์กันในชุมชนที่ดี มีความเอื้ออาทร สามัคคีกันอย่างเครือญาติฉันท์พี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเป็นประชาธิปไตย มีสถานที่ราชการรอบบริเวณหมู่บ้าน 4 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านบ่อหลวง โรงพยาบาลบ่อเกลือ สถานีตรวจภูธรบ่อเกลือ ที่ว่าการอำเภอบ่อเกลือ สาธารณสุขอำเภอบ่อเกลือ สำนักงานเกษตรอำเภอบ่อเกลือ ศูนย์การศึกษานอกพื้นที่อำเภอบ่อเกลืออยู่ในพื้นที่ จึงทำให้มีความสะดวกในการใช้บริการ
การคมนาคม ชุมชนตั้งอยู่ในตัวอำเภอบ่อเกลือ การเดินทางสัญจรไปมาสะดวกรวดเร็ว สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีต การสื่อสารประชากรส่วนใหญ่ได้รับข่าวสารจากทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อโซเซียลต่าง ๆ การติดต่อสื่อสารระหว่างกัน มีทั้งทางโทรศัพท์บ้าน และโทรศัพท์มือถือ โดยทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้
การผลิตเกลือที่อําเภอบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือเดิมเรียกว่า "เมืองบ่อ" เนื่องจากมีบ่อน้ำเกลือที่สามารถนํามาผลิตเป็นเกลือสินเธาว์ได้เมื่อกว่า 800 ปีก่อน ถึงแม้ว่าไม่สามารถกําหนดเวลาที่แน่นอนได้ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอสรุปได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดอาณาจักรสุโขทัย แต่เดิมบ่อน้ำเกลือที่ใช้ในการผลิตเกลือสินเธาว์หรือที่เรียกกันว่า "เกลือสินเธาว์ภูเขา" มีอยู่ด้วยกัน 9 บ่อ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 บ่อ คือ บ้านบ่อหลวง หมู่ที่ 1 ตําบลบ่อเกลือใต้ จํานวน 2 บ่อ และที่บ้านบ่อหยวก หมู่ที่ 3 ตําบลบ่อเกลือเหนือ 1 บ่อ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทําให้บ่อน้ำเกลือเหลืออยู่เพียง 3 บ่อ เนื่องจากในบางปีแม่น้ำมางมีน้ำมาก ทําให้น้ำจืดจากแม่น้ำมางไหลล้นเข้าไปในบ่อน้ำเกลือ ดังนั้นเมื่อน้ำเกลือถูกผสมด้วยน้ำจืดก็ทําให้น้ำไม่เค็มพอที่จะใช้ในการผลิตเกลือ
การต้มเกลือที่บริเวณตําบลบ่อเกลือใต้ มีบ่อน้ำเกลือทั้งสิ้น 2 บ่อ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า บ่อเหนือและบ่อใต้ โดยบ่อเหนืออยู่ริมแม่น้ำมางและบ่อใต้อยู่ห่างออกไปราว 500 เมตร อยู่ติดเชิงเขาท้ายหมู่บ้าน ภายในตําบลมีโรงต้มเกลืออยู่ประมาณ 30 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนําน้ำจากบ่อน้ำเกลือทั้งสองบ่อที่เหลือมาใช้ในการต้มเกลือ ขณะที่การต้มเกลือของชาวบ้านที่ตําบลบ่อเกลือใต้ในปัจจุบันยังคงใช้วิธีการต้มเกลือแบบโบราณที่ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น
ปัณฉัตร หมอยาดี. (2556). การสืบทอดและการพัฒนาเกลือสินเธาว์ ตำบลบ่อเกลือใต้ จังหวัดน่าน. วารสารวิจัยศาสร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, 5(1), 187-201.
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดน่าน. (2562). เอกสารสรุปผลการดำเนินงานหมู่บ้านสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านบ่อหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ปีงบประมาณ 2562. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดน่าน.