Advance search

"รังสรรค์งานศิลป์ ปั้นดินให้เป็นเงิน" ด่านเกวียนชุมชนคนปั้นดินแห่งลุ่มน้ำมูล เมืองท่าที่สำคัญในอดีต ชุมชนเก่าแก่ที่สืบทอดและสร้างสรรค์ภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผา ด้วยดินที่มีคุณสมบัติพิเศษสู่เครื่องปั้นดินเผาที่มีความสวยงาม คงทนเป็นเอกลักษณ์

หมู่ที่ 1, 2
บ้านด่านเกวียน
ด่านเกวียน
โชคชัย
นครราชสีมา
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
6 ธ.ค. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
6 ธ.ค. 2023
บ้านด่านเกวียน

แต่เดิมบริเวณชุมชนนี้ตั้งอยู่ในเส้นทางการขนส่งของพื้นที่แถบอีสานใต้ จึงมีการตั้งด่านสินค้าขึ้น และเป็นแหล่งหยุดพักการเดินทางของผู้คนที่สัญจรด้วยเกวียน จึงเรียกชื่อพื้นที่บริเวณนี้ว่า "ด่านเกวียน"


ชุมชนชนบท

"รังสรรค์งานศิลป์ ปั้นดินให้เป็นเงิน" ด่านเกวียนชุมชนคนปั้นดินแห่งลุ่มน้ำมูล เมืองท่าที่สำคัญในอดีต ชุมชนเก่าแก่ที่สืบทอดและสร้างสรรค์ภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผา ด้วยดินที่มีคุณสมบัติพิเศษสู่เครื่องปั้นดินเผาที่มีความสวยงาม คงทนเป็นเอกลักษณ์

บ้านด่านเกวียน
หมู่ที่ 1, 2
ด่านเกวียน
โชคชัย
นครราชสีมา
30190
14.851589286630013
102.19153410602802
เทศบาลตำบลด่านเกวียน

หมู่บ้านด่านเกวียนเป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า "ด่านกระโทก" เป็นที่พักกองคาราวานเกวียนส่งสินค้าที่ขึ้นล่องระหว่างโคราช-เขมร จึงทำให้หมู่บ้านนี้ได้มีชื่อเรียกขานกันมาว่า ด่านเกวียน ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอกระโทก เมื่อปี พ.ศ. 2446 มีขุนอภัยอนุรักษ์เขต เป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอำเภอโชคชัย เพื่อยกย่องวีรกรรมของพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยกทัพมาปราบเจ้าเมืองพิมายและได้รับชัยชนะ ณ บริเวณที่ตั้งอำเภอโชคชัย เมื่อก่อนชาวบ้านด่านเกวียนมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก จนกระทั่งเมื่อมีชาวข่า (ชนเผ่าตระกูลมอญ-เขมร) เข้ามาทำงานก่อสร้างโบสถ์ ได้นำดินมาปั้นเป็นภาชนะ และเผาเก็บไว้ใช้สอยในครัวเรือน เมื่อชาวบ้านมาเห็นก็เกิดความสนใจและฝึกฝนฝีมือการทำเครื่องปั้นดินเผาจนเกิดความชำนาญ ยึดเป็นอาชีพในเวลาต่อมา

เมื่อถึงหน้านาก็ทำนาพอถึงหน้าแล้งก็ทำเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้สอยในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็เอาไว้ไปขายหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ขาดแคลนเท่านั้น ต่อมามีผู้คนมาซื้อเครื่องปั้นดินเผาจากชาวบ้านนำเอาไปขายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้วิถีชีวิตชาวด่านเกวียนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้สอยเอง ก็ปรับเปลี่ยนเมื่อเห็นว่าเครื่องปั้นดินเผาสามารถผลิตขายเป็นสินค้าสร้างรายได้ จึงทำให้มีผู้สนใจเรียนรู้และพัฒนาการทำเครื่องปั้นดินเผาเพื่อการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตงานปั้นรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาดตามสมัยนิยมมากยิ่งขึ้น ทำให้งานเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีความหลากหลายทั้งรูปแบบ ลวดลาย สีสัน และกรรมวิธีการผลิต แต่ยังคงไว้ด้วยเอกลักษณ์และความสวยงามในแบบของเครื่องปั้นด่านเกวียน

เทศบาลตำบลด่านเกวียน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ทิศตะวันออกของชุมชนมีแม่น้ำมูลไหลผ่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 15 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอโชคชัย 15 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 10.17 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,356 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลด่านเกวียน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1, 2, 3, 7, 8 และหมู่ที่ 10 บางส่วน ตำบลท่าอ่าง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 3, 4, 6 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ตั้งแต่หลักเขตที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา - โชคชัย ฟากตะวันออกตรงหลัก ก.ม. ที่ 11+623 ตามแนวเส้นตั้งฉาก ระยะ 400 เมตร กับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงหลักเขตที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ฟากตะวันออก ตรง ก.ม. ที่ 15+000 ตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 400 เมตร (ติดต่อกับเขต อบต.ด่านเกวียน อบต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา)
  • ทิศใต้ จากหลักเขตที่ 4 เลียบคลองส่งน้ำสายใหญ่ 074-A ฝั่งขวาไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองส่งน้ำสายใหญ่ 074-A ฝั่งขวาตามแนวเส้นตั้งฉากกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ฟากตะวันออกตรง ก.ม. 19+302 จากหลักเขตที่ 5 เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ตรงก.ม. 19+302 ถึงหลักเขตที่ 6 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ฟากตะวันตก ตรง ก.ม.19+302 (ติดต่อกับบ้านเสาเดียว หมู่ที่ 7 อบต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา )
  • ทิศตะวันออก จากหลักเขตที่ 2 เป็นเส้นตรงอยู่ในแนวเดียวกับจากหลักเขตที่ 1 ถึงหลักเขตที่ 2 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงหลักเขตที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลฝั่งขวา (ติดต่อกับเขต อบต.ด่านเกวียน, อบต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา)
  • ทิศตะวันตก จากหลักเขตที่ 6 เป็นเส้นขนานระยะ 200 เมตร กับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ไปทางทิศเหนือถึงหลักเขตที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ 074-A ฝั่งซ้ายตามเส้นตั้งฉาก 200 เมตร จากหลักเขตที่ 7 เป็นแนวขนานระยะ 200 เมตร กับคลองส่งน้ำสายใหญ่ 074-A ฝั่งซ้ายไปทางทิศเหนือ ถึงหลักเขตที่ 8 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ฟากตะวันตกตามแนวเส้นตั้งฉาก ระยะ 400 เมตร จากหลักเขตที่ 8 เป็นแนวขนานระยะ 400 เมตร กับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ฟากตะวันตกไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 9 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ฟากตะวันตก ตรง ก.ม. 11+623 ตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 400 เมตร จากหลักเขตที่ 9 เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 นครราชสีมา-โชคชัย ตรง ก.ม. 11+623 ไปบรรจบกับหลักเขตที่ 1 (ติดต่อกับเขต อบต.ด่านเกวียน, เขต อบต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา)

ชุมชุนด่านเกวียนตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมชนขนาดใหญ่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 ชุมชนหลัก ประกอบด้วย

  • บ้านด่านเกวียน หมู่ที่ 1 มีประชากรทั้งหมด 585 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 731 คน หญิง 774 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 1,505 คน
  • บ้านด่านเกวียน หมู่ที่ 2 มีประชากรทั้งหมด 496 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 460 คน หญิง 542 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 1,002 คน

ชุมชุนด่านเกวียน หมู่ที่ 1 ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีถนนสาย นครราชสีมา-โชคชัยตัดผ่าน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับการทำเครื่องปั้นดินเผาจำหน่าย ทั้งมีหน้าร้านเป็นของตนเองบริเวณริมถนนสายหลัก และทำเครื่องปั้นดินเผาส่งขายตามพื้นที่ต่าง ๆ อาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาจึงเป็นกลุ่มอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนด่านเกวียน และนอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาชีพอื่น ๆ เช่น เกษตรกรรม ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ฯลฯ

ชุมชุนด่านเกวียน หมู่ที่ 1 ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นกิจวัตรประจำวัน และการทำเกษตรกรรมตามฤดูกาล และประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีวิถีวัฒนธรรมแบบชาวพุทธ และแบบท้องถิ่นอีสานโดยทั่วไป และนอกจากนี้ เทศบาลตำบลด่านเกวียน ได้สนับสนุนให้มีการจัดงานมหกรรมเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนทุกปี เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ภายในงานมีกิจกรรมแข่งขันและประกวดเครื่องปั้นดินเผา การสาธิตการปั้น การจัดบูทแสดงผลงานของนักเรียนนักศึกษา และการแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของชุมชนด่านเกวียน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติ

  • แหล่งน้ำ ชุมชนด่านเกวียนตั้งอยู่บริเวณที่แม่น้ำมูลไหลผ่าน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน
  • ดิน ทรัพยากรดินบริเวณริมฝั่งลำมูลและท้องนา มีลักษณะพิเศษเป็นดินเหนียวแดง เนื้อละเอียด มีธาตุเหล็กผสมอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านนิยมนำมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เมื่อเผาแล้วจะให้สีเป็นธรรมชาติ เป็นสีแดง มันวาว สวยงาม ซึ่งเกิดจากธาตุเหล็กผสมกับดิน ทำให้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากที่อื่น ๆ 

ชุมชุนด่านเกวียน หมู่ที่ 1 ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา มีการใช้ภาษาถิ่นอีสาน (ไทยโคราช) ในการสื่อสารกันระหว่างผู้คนในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิวัฒนาการเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนแต่ก่อนนั้น ทำเฉพาะข้าวของเครื่องใช้ เช่น การทำหม้อ กระถางต้นไม้ ที่รองขาตู้ แจกัน ตะเกียงน้ำมันหมู และมีรูปแบบเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน แบ่งการทำเครื่องปั้นดินเผาของบ้านด่านเกวียน เป็น 4 ยุค ดังนี้

  • ยุคที่ 1 จะปั้นเป็นหม้อน้ำ โอ่ง ครก และเครื่องใช้ที่จำเป็นในครัวเรือน ฯลฯ
  • ยุคที่ 2 จะทำสืบทอดกันมาเป็นกระถาง ไห กระถางรินน้ำข้าว ฯลฯ
  • ยุคที่ 3 จะทำเป็นลักษณะเดิม และดัดแปรงเล็กน้อย แต่ก็จะอยู่ในรูปแบบเดิม
  • ยุคที่ 4 ในยุคนี้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก นอกจากจะปั้นโอ่ง กระถาง แล้วยังปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นกฮูก กระเช้าแขวนหน้าบ้าน ฯลฯ

คุณสมบัติพิเศษและลักษณะของเนื้อดินปั้นด่านเกวียนนั้น ได้มีผู้ให้คำนิยามถึงลักษณะเฉพาะและคุณสมบัติพิเศษของดินด่านเกวียน ดังนี้ดินเหนียวด่านเกวียนเป็นดินเหนียวปนทราย เป็นดินที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะที่ เป็นดินคุณภาพดี เหมาะแก่การปั้นเครื่องปั้นดินเผา มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวคือ อุ้มน้ำได้ดี เหนียว เนื้อละเอียด และมีแร่เหล็กเจอปน เมื่อนำเข้าเตาเผาอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 1,050-1,500 องศาเซลเซียสแล้ว เครื่องปั้นจะแกร่ง มีสีดำเป็นเงามัน โดยไม่ต้องลงสีหรือเคลือบเงา และมีความแข็งแรงทนทาน คุ้มค่าแก่การใช้งาน

หมู่บ้านด่านเกวียนอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำมูล ดินที่ใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผาจะใช้ดินเหนียวเนื้อละเอียดสีน้ำตาลที่ขุดขึ้นมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูล ชาวบ้านเรียกว่า "กุด" หรือแม่น้ำด้วนมีลักษณะเป็นลำน้ำที่คดเคี้ยว กัดเซาะตลิ่งจนขาดและเกิดเป็นลำน้ำด้วนขึ้น ส่วนที่เป็นแนวกัดเซาะจะกลายเป็นแหล่งทับถมดิน มีแร่เหล็ก (Iron Oxide) หรือสนิมเหล็กผสมอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษในเนื้อดิน ทำให้ทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยว หรือแตกหักง่าย เมื่อถูกเผาแล้วจะให้สีโดยธรรมชาติเป็นสีน้ำตาลแดง ดินดังกล่าวนี้จึงมีความเหมาะสมแก่การทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอย่างมาก

การทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนั้น ต้องอาศัยความพิถีพิถันมาตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบ ซึ่งต้องใช้ดินในพื้นที่เท่านั้น เพราะเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียดคุณภาพดี มีสีแดงและสีน้ำตาลดำ ทนทานต่อการเผาในอุณหภูมิสูง เมื่อนำดินด่านเกวียนมาเผาในอุณหภูมิสูงจะพบว่าแร่เหล็กที่สะสมอยู่ในเนื้อดินนั้นจะเกิดการหลอมละลาย ทำให้เกิดการเคลือบชั้นผิวจนทำให้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีเอกลักษณ์พิเศษเป็นสีต่าง ๆ ทั้งสีดำ สีน้ำตาลแดง หรือสีสัมฤทธิ์ การเผาผลิตภัณฑ์ให้ได้เป็นสีต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ใช้ในการเผา โดยหากเผาที่อุณหภูมิ 900-1,100 องศาเซลเซียส เนื้อดินจะให้สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม และถ้าใช้อุณหภูมิมากกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ก็จะให้สีน้ำตาลแดงเข้มคล้ายกับเลือดปลาไหล ซึ่งการเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีเข้มขึ้น มีความมันวาว และเนื้อผิวราบเรียบมากกว่าการเผาด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่า

ราชา ธงภักดิ์. (2565). ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เทศบาลตำบลด่านเกวียน. (2562). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561-2565 เพิ่มเติมครั้งที่ 2. เทศบาลตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา.