บ้านดงยาง พื้นที่อารยธรรมเก่าแก่ ที่ตั้งปรางค์กู่สวนแตง โบราณสถานที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลปะแบบเขมรในยุคของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ปราสาทขอมที่มีองค์ประกอบงดงามเป็นเอกลักษณ์
แต่เดิมนั้นชุมชนนี้มีชื่อเรียกว่า "บ้านดอนยาง" เนื่องมาจากบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่เนินดินสูงและมีต้นยางนาเป็นจำนวนมาก บางต้นมีขนาดใหญ่หลายคนโอบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ทางการได้มีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ และเห็นสมควรตั้งชื่อชุมชนนี้ใหม่ว่า "บ้านดงยาง" เนื่องจากอดีตมีต้นยางนาขึ้นอย่างหนาแน่น จึงเห็นว่าชื่อนี้มีความเหมาะสมกว่า จึงใช้ชื่อ "บ้านดงยาง" มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านดงยาง พื้นที่อารยธรรมเก่าแก่ ที่ตั้งปรางค์กู่สวนแตง โบราณสถานที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลปะแบบเขมรในยุคของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ปราสาทขอมที่มีองค์ประกอบงดงามเป็นเอกลักษณ์
บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่เดิมบ้านดงยางมีชื่อเรียกว่า "บ้านดอนยาง" เพราะว่าอาณาเขตบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นยางนาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก หลายต้นมีขนาดใหญ่หลายคนโอบ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ต้นยาง ส่วนคำว่า "ดอน" ใช้เรียกพื้นที่ที่เป็นเนินดินสูงมีป่าไม้ขึ้นในพื้นที่นั้น จึงได้เรียกชื่อบริเวณนี้ว่าบ้านดอนยาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองใหม่ ทางการจึงเห็นสมควรเปลี่ยนชื่อชุมชนใหม่เป็น "บ้านดงยาง" เนื่องจากในอดีตพื้นที่บริเวณนี้มีต้นยางนาอยู่อย่างหนาแน่น จึงใช้คำศัพท์ว่า "ดง" ที่มีความเหมาะสมมากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงได้ใช้ชื่อ "บ้านดงยาง" มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น ที่ว่าการอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ โรงพยาบาลบ้านใหม่ไชยพจน์ สถานีตำรวจภูธรบ้านใหม่ไชยพจน์ ฯลฯ การเดินทางค่อนข้างสะดวกรวดเร็ว บ้านดงยางมีสภาพพื้นที่เป็นพื้นราบ สำหรับทำเกษตรกรรม พื้นดินมีสภาพเป็นดินร่วนปนทราย ทรัพยากรดินส่วนใหญ่ที่ใช้ในการเกษตรกรรมค่อนข้างจะมีปัญหาด้านความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ บางบริเวณยังมีข้อจำกัดของดินที่เป็นปัญหาอื่น ๆ อีกหลายประการ ซึ่งถ้าเกษตรกรขาดความเอาใจใส่บำรุงรักษา ในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินจะทำให้ดินมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงทุกปี อีกทั้งพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ปลูกพื้นไร่ หญ้าขึ้นได้ง่าย เกษตรกรใช้วิธีการกำจัดด้วยเคมีจึงเพิ่มปัจจัยที่จะนำมาซึ่งการเสื่อมโทรมของดิน มีแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญ คือ หนองขาม และแหล่งน้ำอื่น ๆ ตามพื้นที่ทางการเกษตรของชุมชน สภาพพื้นที่โดยรอบมีต้นไม้เกิดอยู่โดยทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา มีทั้งพันธุ์ไม้ดั้งเดิม และที่ชาวบ้านปลูกขึ้นในภายหลัง
บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีประชากรจำนวน 97 ครัวเรือน แบ่งเป็น ชาย 180 คน หญิง 161 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 341 คน
ชุมชนบ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรมตามฤดูกาล ทำนา ทำไร่ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องจักสาน ฯลฯ และนอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังมีอาชีพทอผ้าไหมเพื่อจำหน่าย โดยการทอผ้าไหมเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานที่ได้รับการสืบทอนมาอย่างยาวนาน และยังคงอยู่กับวิถีชีวิตของชุมชนอยู่บ้าง และเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน
ชุมชนบ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนชนบทในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย ดั้งนั้นจึงมีวิถีชีวิตประจำวันเหมือนกับผู้คนตามบริบทท้องถิ่นอีสานโดยทั่วไป ที่มีความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีวิถีวัฒนธรรม ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อท้องถิ่น และยึดโยงกับวิถีแบบชาวพุทธโดยทั่วไป เช่น บุญบั้งไฟ กิจกรรมแสง สี เสียง ณ ปรางค์กู่สวนแตง พิธีกรรมไหว้ศาลปู่ตา ชาวบ้านดงยางยังคงยึดถือและปฏิบัติตามหลักความเชื่อ ฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ฝังรากลึกลงในวิถีชีวิตของคนชาวอีสาน
ปราสาทกู่สวนแตง
กู่สวนแตง เป็นปราสาทในศาสนาฮินดู อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 และมีการใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 (ราว 800-900 ปีมาแล้ว) ลักษณะเป็นปราสาทก่อด้วยอิฐ 3 หลัง (ยกเว้นบางส่วน เช่น กรอบประตู ทับหลัง บัวยอดปราสาท บรรพแถลง ที่ใช้หินทราย) ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีบรรณาลัย 2 หลังก่อด้วยศิลาแลง มีร่องรอยของคูน้ำรูปตัวยู ล้อมรอบปราสาท ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบารายประจำศาสนสถานอยู่ ปราสาท 3 หลังนี้คงสร้างเพื่อบูชาเทพตรีมูรติ ปราสาทหลังทิศเหนือถวายพระวิษณุ ปราสาทหลังทิศใต้ถวายพระพรหม และปราสาทหลังกลางถวายพระศิวะ ในบันทึกของนายเอเตียน เอ็ดมงด์ ลูเนต์ เดอ ลาชงกิแยร์ (Étienne Lunet de Lajonquière) ได้ระบุว่าตนได้เดินทางมายังที่แห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2450 สภาพปราสาทอิฐทั้ง 3 หลังยังคงสมบูรณ์ ปราสาทหลังกลางประดับทับหลังรูปศิวนาฏราช เหนือประตูทางเข้าด้านตะวันออก, ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปกูรมาวตาร (พระวิษณุอวตารเป็นเต่า) ในตอนกวนเกษียรสมุทร และยังพบทับหลังอื่นๆ ได้แก่ รูปนารายณ์บรรทมสินธุ์, วามนวตาร (พระวิษณุอวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย), พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (เดิมติดตั้งเหนือประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทหลังใต้), รูปขบวนแห่กษัตริย์ และรูปเทวดาประทับนั่งเหนือหน้ากาล
จากการขุดศึกษาโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2537 ได้พบฐานศิลาแลงที่สร้างขึ้นในสมัยหลังต่อกับฐานของตัวปราสาทและพบฐานรูปเคารพ 4 ฐานวางเรียงกัน
- ฐานที่ 1 อยู่หลังปราสาทหลังทิศเหนือ
- ฐานที่ 2 อยู่ระหว่างปราสาทหลังทิศเหนือและปราสาทประธาน
- ฐานที่ 3 อยู่ระหว่างปราสาทหลังทิศใต้และปราสาทประธาน
- ฐานที่ 4 อยู่หลังปราสาทหลังทิศใต้
เป็นที่น่าเสียดายว่า สภาพก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้าบูรณะบริเวณปราสาทหลังกลางถูกขุดรื้อพื้นห้อง ผนังภายในถูกเจาะเพื่อค้นหาโบราณวัตถุมีค่า สิ่งที่หลงเหลือจากการขุดรื้อของขบวนการค้าโบราณวัตถุที่กรมศิลปากรยังพบอยู่นั้น ได้แก่
- ปราสาทหลังทิศเหนือ พบชิ้นส่วนมือประติมากรรมรูปเคารพถือสังข์ และธรณี (ก้อนดิน)
- ปราสาทหลังทิศใต้ พบฐานประติมากรรมรูปเคารพสององค์และชิ้นส่วนข้อพระบาทของประติมากรรม (มีเดือย) 1 ชิ้นบริเวณด้านหน้าของกรอบประตูทางเข้า
- บรรณาลัยหลังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พบชิ้นส่วนแขนประติมากรรม และชิ้นส่วนข้อพระบาทของประติมากรรม (มีเดือย) 4 ชิ้น
- บรรณาลัยหลังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พบชิ้นส่วนหินบดยา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และกระเบื้องมุงหลังคา
นอกจากนี้จากการบูรณะยังพบชิ้นส่วนและเศียรประติมากรรมอีกจำนวนหนึ่ง
ชุมชนบ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีการใช้ภาษาพื้นถิ่นอีสานในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในชุม ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ
ทับหลังกู่สวนแตงที่หายไป...
ในปี พ.ศ. 2532 ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้เขียนบทความเรื่อง " Stolen Art Objects Returned to Thailand" โดยระบุว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากกู่สวนแตง ได้ถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2507 และหลังจากนั้นได้ไปปรากฏในแคตตาล็อกของ Mr.Avery Brundage ซึ่งสนับสนุนโดย the Asia Foundation และนำไปจัดแสดงที่ De Young Museum ใน San Francisco หลังจากติดตามทวงคืนเป็นเวลานาน ประเทศไทยจึงได้รับทับหลังกู่สวนแตงคืนกลับสู่มาตุภูมิ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ส่วนทับหลังชิ้นอื่น ๆ นั้น ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
- ทับหลังรูปศิวนาฏราช
- ทับหลังรูปกูรมาวตาร (พระวิษณุอวตารเป็นเต่า) ในตอนกวนเกษียรสมุทร
- ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
- ทับหลังวามนวตาร (พระวิษณุอวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย)
- ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
- ทับหลังรูปขบวนแห่กษัตริย์
- ทับหลังรูปเทวดาประทับนั่งเหนือหน้ากาล
ถนอม บุญประจง. (2562). ความทรงจำพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาในเขตพื้นที่อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ กรณีศึกษา: ปรางค์กู่สวนแตง กู่ฤาษี และพระพุฒาจารย์. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาศาสนาและภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย นครราชสีมา. (ม.ป.ป.). กู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย นครราชสีมา. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566, จาก https://finearts.go.th/phimaimuseum/
องค์การบริหารส่วนตำบลกู่สวนแตง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป. องค์การบริหารส่วนตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์.
workpointtoday. (2562). สุชวิถิที่ "บ้านดงยาง" ชมโบราณสถาน "ปรางค์กู่สวนแตง" เช็กอิน "ต้นยางยักษ์ 300 ปี". สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566, จาก https://workpointtoday.com/