โคกจิกถิ่นไหม น้ำใสโศกจาน พระใหญ่คู่บ้าน สืบสานประเพณี สัมผัสวิถีชุมชนท้องถิ่นอีสานที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ผ้าไหมลายเลียงผาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
พื้นที่บริเวณนี้มีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกว่า "ต้นจิก" และอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนินดินสูงเรียกว่า "โคก" จึงได้ตั้งชื่อชุมชนบริเวณนี้ว่า "บ้านโคกจิก"
โคกจิกถิ่นไหม น้ำใสโศกจาน พระใหญ่คู่บ้าน สืบสานประเพณี สัมผัสวิถีชุมชนท้องถิ่นอีสานที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ผ้าไหมลายเลียงผาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2442 นายตาแสง และนายนาม ทาไธสง ได้เดินทางอพยพเสาะหาพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ โดยเดินทางมาจากบ้านบง บ้านบ่อ และเมืองป่าหลาน ในเขตพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน เพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน และได้เห็นว่าพื้นที่บริเวณบ้านโคกจิก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม การเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพ เนื่องจากมีหนองน้ำอยู่ในบริเวณนั้น คือ หนองเยือง จึงได้ตัดสินใจลงหลักตั้งถิ่นฐาน ต่อมาชุมชนก็ขยายใหญ่ขึ้น มีประชากรเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่จนถึงปัจจุบัน
บ้านโคกจิก ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ติดกับเส้นทางหลักบนทางหลวงหมายเลข 202 ใช้เดินทางระหว่างอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา กับอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ไปทางด้านทิศตะวันตก ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ราบสลับกับพื้นที่ดอน มีสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย ใช้สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย และทำเกษตรกรรมเป็นหลัก แหล่งน้ำสำคัญของชุมชนคือ หนองเยือง
ชุมชนบ้านโคกจิก ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนขนาดใหญ่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านโคกจิกหมู่ที่ 1 และบ้านหนองเยือง หมู่ที่ 2
- บ้านโคกจิก หมู่ที่ 1 มีประชากร 184 ครัวเรือน แบ่งเป็น ชาย 376 คน หญิง 411 คน รวมประชากร 787 คน
- บ้านหนองเยือง หมู่ที่ 2 มีประชากร 116 ครัวเรือน แบ่งเป็น ชาย 292 คน หญิง 276 คน รวมประชากร 568 คน
ชุมชนบ้านโคกจิก ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ประชากรมีกลุ่มอาชีพที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เพาะปลูกตามฤดูกาล อีกหนึ่งอาชีพเสริมที่สำคัญของชุมชนบ้านโคกจิกคือ การทอผ้า ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมบ้านโคกจิก และเนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ริมถนนสายหลักประชากรส่วนหนึ่งจึงมีอาชีพค้าขาย เปิดร้านขายของฝากต่าง ๆ ตามสายไหล่ทาง เช่น ผ้าไหม ผ้าซิ่นตีนแดง เครื่องจักสาน เป็นต้น
ชุมชนบ้านโคกจิก ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนวิถีพุทธ ประชากรมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และมีวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นแบบชาวอีสานโดยทั่วไปที่ยึดถือจารีตอีสานโบราณคือ ฮีต 12 คอง 14 ที่เป็นหลักปฏิบัติสำคัญของชุมชน
ทุนวัฒนธรรม
- ผ้าไหมลายเลียงผา บ้านโคกจิก เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่มีของดีมากมายให้นักท่องเที่ยวได้มาชมและสัมผัส นอกจากอาชีพทำนาแล้ว ชาวบ้านยังปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า มีทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่มีแบบและลายที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคือ "ลายเลียงผา" หรือตัวเยือง เป็นสินค้าท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของบ้านโคกจิก และอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ของเรา และสามารถหาซื้อได้ที่นี่ที่เดียว
- พระพุฒาจารย์ พระพุฒาจารย์ เป็นพระพุทธรูปโบราณที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดสระจันทร์ ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีพุทธลักษณะไม่เหมือนในยุคสมัยใด เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแบบโบราณซึ่งมีวิธีการสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ ในอดีตนิยมนำวัตถุมงคลมาบรรจุไว้ในฐานองค์พระพุทธรูป ซึ่งทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ บันดาลให้ประสบความสำเร็จต่อผู้คนที่มาบนบานหรือขอพรจากพระพุฒาจารย์ ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระพุทธณูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของผู้คนในท้องถิ่น และชาวอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์
ทุนกายภาพ
- หนองเยือง แหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญของชุมชน ใช้สำหรับอุปโภค บริโภค และทำเกษตรกรรม สาเหตุที่ได้ชื่อว่า "หนองเยือง" มีที่มาคือ ในอตดีตพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์มากินน้ำในบริเวณหนองน้ำนี้เป็นประจำ โดยมีสัตว์ชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า เยือง/เยืองผา ซึ่งมีอยู่จำนวนมากลงมากินน้ำเป็นประจำ และได้ตกลงไปตาย เมื่อชาวบ้านมาพบเห็นจึงเล่าสืบต่อกันมา และได้เรียกชื่อหนองน้ำแห่งนี้ว่า "หนองเยือง" จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนบ้านโคกจิก ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ภาษาพื้นถิ่นอีสานในการสื่อสารระหว่างกันในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ
วัดสระจันทร์
วัดสระจันทร์เป็นวัดเก่าแก่ เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในท้องถิ่น เป็นศูนย์รวมศรัทธาและยึดโยงกับวิถีชีวิต จารีต ประเพณี วัฒนธรรมความเชื่อของชาวบ้านโคกจิก วัดสระจันทร์สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2442 โดยผู้นำชุมชนคือ นายตาแสง และนายนาม ทาไธสง โดยบริเวณวัดมีบ่อน้ำที่มีต้นจันทร์ขึ้นอยู่ริมบ่อน้ำนั้น จึงได้ตั้งชื่อว่า "วัดสระจันทร์" ภายในอุโบสถวัดสระจันทร์ประดิษฐานพระสำคัญคู่บ้านคู่เมือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ คือ "พระพุฒาจารย์" นอกจากนี้ ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อสมหมาย" พระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย สูง 7.50 หน้าตักกว้าง 5.90 เมตร ชาวบ้านเชื่อกันว่า ผู้ที่มากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อจะได้รับพรตามความมุ่งหมาย
ภายในวัดสระจันทร์ยังมี "พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านโคกจิก" ซึ่งจัดแสดงข้าวของ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านโคกจิกในอดีต ที่เก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ปัจจุบันมีพระครูวิบูลธรรมธัช เป็นเจ้าอาวาส และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์
ถนอม บุญประจง. (2562). ความทรงจำพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาในเขตพื้นที่อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ กรณีศึกษา: ปรางค์กู่สวนแตง กู่ฤาษี และพระพุฒาจารย์. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาศาสนาและภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
workpointtoday. (2562). สัมผัสเสน่วิถีชุมชน "บ้านโคกจิก" ชม-ช็อปผ้าไหม "ลายเลียงผา" หนึ่งเดียวในโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566, จาก https://shorturl.asia/wF856