Advance search

บ้านทับปลา, บ้านไทยใหม่, บ้านลำปี

ป่าชายเลน พื้นที่ประกอบอาชีพประมงของคนในชุมชน 

หมู่ที่ 8
ลำปี
ท้ายเหมือง
ท้ายเหมือง
พังงา
ชัชฎาพร ทองสกุล
20 ก.ค. 2023
ประทีป นาวารักษ์
14 ส.ค. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
11 ธ.ค. 2023
บ้านลำปี
บ้านทับปลา, บ้านไทยใหม่, บ้านลำปี

ที่มาของบ้านลำปีมาจากที่ตั้งของหมู่บ้านที่ทิศตะวันออกของหมู่บ้านติดกับภูเขาลูกใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ คนทั่วไปเรียกว่าเขาลำปีจึงตั้งชื่อหมู่บ้านลำปี


ป่าชายเลน พื้นที่ประกอบอาชีพประมงของคนในชุมชน 

ลำปี
หมู่ที่ 8
ท้ายเหมือง
ท้ายเหมือง
พังงา
82120
8.442730443990309
98.25474294478862
องค์การบริหารส่วนตำบลท้ายเหมือง

บ้านลำปี แบ่งเป็นบ้านลำปีนอก ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน บ้านลำปีใน ส่วนใหญ่เป็นชาวมอแกลน (ไทยใหม่)

ต่อมาชาวมอแกนที่อาศัยอยู่บริเวณหางนกทูงมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอีกทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนได้เข้ามาอาศัยและสร้างสงวนบริเวณพื้นที่ติดถนนเพชรเกษมทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากหลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และได้เรียกชุมชนนี้ว่า บ้านลำปี อยู่ในเขต การปกครองของตำบลท้ายเหมือง ที่มาของบ้านลำปีมาจากที่ตั้งของหมู่บ้านที่ทิศตะวันออกของหมู่บ้านติดกับภูเขาลูกใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ คนทั่วไปเรียกว่าเขาลำปีจึงตั้งชื่อหมู่บ้านลำปีอย่างเป็นทางการในเขตตำบลท้ายเหมืองเป็นหมู่ที่ 8 ของตำบลต่อมาประชากรบ้านลำปีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นส่วนใหญ่อพยพไปสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บ้านขนิม หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งมะพร้าว และหมู่ที่ 6 บ้านหินลาด ตำบลท้ายเหมือง อีกส่วนหนึ่งได้อพยพไปสร้างบ้านเรือนที่บ้านทับปลา หมู่ที่ 8 มีชุมชนหนึ่งเพิ่มขึ้นอีก 1 ชุมชน คือ บ้านทับปลา 

บ้านทับปลา เป็นหมู่บ้านอยู่ลึกเข้าไปติดกับทะเลและป่าชายเลน มีทางเชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษมเดิมบ้านทับปลาเป็นพื้นเต็มไปด้วยป่าไม้ชาวบ้านลำปีในได้เข้าไปบุกเบิกสร้างบ้านเรือนอาศัย หมู่บ้านดั้งเดิมนั้นเกิดขึ้นจากชาวมอแกนที่อพยพทางเรือประมาน 15 ครัวเรือน ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดเล็กริมฝั่งทะเลและเรียกขานหมู่บ้านว่า หานนกทูง ที่มาจากหนองน้ำตลอดทั้งปีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้อยใหญ่ เพราะมีพื้นที่ทั้งป่าเขาดิบชื้น ป่าชาเลน รวมถึงนกทูงซึ่งเป็นสีขาวคอขาวหากินในแถบหนองน้ำ ปัจจุบันนี้ไม่พบแล้ว

เดิมหมู่บ้าน “ทับปลา” เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์บกสัตว์ทะเลมากมาย บริเวณนี้ยังไม่มีคนอยู่อาศัยตั้งถิ่นฐาน ตามความเป็นมาที่บอกเล่าโดย เฒ่าวาด นาวารักษ์ เฒ่าออง เฒ่าอี้ หรือ นาย วี นาวารักษ์ เฒ่าหยอง หรือ นายย่อง นาวารักษ์ เฒ่า มณี ภักดี เดิมที่นี่เรียกว่า..หานนกทูง หรือ นกโยง เป็นชื่อเรียกตามสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำติดป่าชายเลน ชาวเลมอแกลนจึงใช้เป็นพื้นที่ในการทำนา 80 เปอร์เซ็นของพื้นที่ มีนกทูงหรือนกโยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนชื่อหมู่บ้านทับปลา มีเหตุเพราะสมัยก่อน ชาวมอแกลนจากหมู่บ้านลำปีมาหากิน เป็นที่จอดเรือ และด้วยถ้าจะเดินกลับก็ไกลจากบ้าน จึงสร้างเพิงพักหรือที่ชาวมอแกลนเรียกว่า“ทับ” ชาวมอแกลนชอบย่างปลาปลาจนไฟไหม้ทับ ก็เลยเรียกบริเวณนั้นว่า “ทับปลา” จนถึงปัจจุบัน

ในยุคก่อน ชาวเลมอแกลนทับปลาใช้พื้นที่เขาลำปี เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่หมุนเวียนทั้งแนวเขา พื้นที่ราบ”หานนกโยง”ก็ใช้ทำนา วิถีชีวิตสงบสุข มีหนุ่ม ๆ มอแกลนต่างบ้านมาเที่ยวที่หมู่บ้าน เล่นร้องเพลงตันหยง รำรองแง็ง ขับเพลงบอก บางคนก็ร้องกลอนมโนราห์กันอย่างสนุกสนานหลายวัน มีข่าวคราวก็ได้รับรู้จาก มอแกลนกลุ่มนี้แหละ เฒ่าวาด ก็ร้องตันหยง ขับเพลงบอกได้ บางครั้งเฒ่าวาดก็ไปกับเขาด้วย 

ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารญี่ปุ่นขึ้น เฒ่าออง เฒ่าหยอง และญาติ ๆ ก็หนีขึ้นไปหลบซ่อนตัวอยู่บนเขาอยู่นานนับเดือน มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากต้องขุดหัวกลอยมาทำกินแทนข้าว จะลงมาหากินในทะเลก็ไม่กล้า จนกระทั่งทหารญี่ปุ่นออกจากพื้นที่ก็กลับมาใช้ชีวิตปลูกข้าว ทำประมงเหมือนเดิม อยู่มาหลายปี

เฒ่าหยอง เล่าว่า เคยไปเที่ยวที่ “บ้านยายปร้าง” (บริเวณทุ่งมะพร้าว) มีการหมุนเวียนทำพิธีกรรมเดือน 4 ช่วงนี้มีการทำไร่ข้าว มีพิธีการ “ตำข้าวม่าว” บนแม่โพสพ มีถาดข้าวม่าวเป็นเครื่องเซ่น 2 ถาด มีข้าวม่าวตำใส่น้ำตาลแดง และข้าวม่าวที่ไม่ตำใส่น้ำตาลขาว มีการทำข้าวตอก คั่วใส่กระทะใช้ต้นและใบปุด (คล้ายต้นข่า)แทนตะหลิวทำแล้วเอามาทำพิธีเซ่นไหว้ก่อน พิธีจบลูกหลานจะแย่งที่อยู่ในถาด และแจกกันกินทุกบ้าน 

เนื่องจากมีเรื่องเล่าตำนานทหารญี่ปุ่นเข้ามาจับหญิงสาวในหมู่บ้านนกโยง ก็มีเสือโคร่งตัวใหญ่ไล่กัดทหารญี่ปุ่นจนหนีแตกกระเจิงไปคนละทิศละทางโดยที่ทหารญี่ปุ่นจนหนีแตกกระเจิงไปคนละทิศละทางโดยที่ทหารญี่ปุ่นยิงปืนไปที่เสือแต่ยิงไม่เข้าและทหารญี่ปุ่นมาหาชาวบ้านในเวลาตอนกลางวันแต่ไม่เจอใครแต่ชาวบ้านเห็นทหารเดินไปมา ทำให้ชาวบ้านนกโยง ไม่ได้รับอันตรายจากทหารญี่ปุ่นซึ่งชาวบ้านก็คิดว่าพ่อตาหลวงจักรมาปกป้องลูกหลานและบังตาไม่ให้ทหารญี่ปุ่นมองเห็น จึงทำให้เป็นที่เคารพ ศรัทธาของชุมชนและชุมชนใกล้เคียง ทำให้มีคนมากราบไหว้บูชา บนบานศาลกล่าว ขอโชค ขอลาภ เป็นที่ยึดเหนี่ยวของชุมชน

ผู้ที่ประสบผลสำเร็จก็จะนำสิ่งของต่าง ๆ ทั้งหมู เป็ด ไก่ ของหวาน ของคาวเป็นขนมในการประกอบพิธีกรรม ของโค ของเจ้ายิ้ม ทำจากเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า มะพร้าว และเหนียวผัด ผัดหมี่หุ้น หมี่เหลือง ทำแกงพริกหน่อทือ แกงพริกหอยกันที่ชาวบ้านหามาเองมาประกอบอาหารคาว และข้าวที่หุงมาจะเป็นข้าวสารที่ไปหามาจากเดือน 5 และมีเสื้อผ้า มาทำหาบคอน เพื่อส่งไปยังบรรพบุรุษ และมีหมากพลู แป้งมัน แป้งหอมเพื่อลูกเสาน้ำมันแต่ต้องลูบขึ้นเสาเพื่อเป็นการให้ทำการทำงานขึ้นมือ ทำการใดให้ขึ้น ๆ ไปและมีผ้าสีขาว และผ้าสีแดง มาถวาย เป็นพิธีกรรมเดือนห้าทุกปี เพื่อสักการะพ่อตาหลวงจักร

จนกระทั่งมีการทำแร่ดีบุกในพื้นที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต พอหมดช่วงทำนา ทำข้าวไร่ คนมอแกลนทับปลาซึ่งมีญาติอยู่ตลอดแนวชายฝั่งแถบนี้ก็ไปร่อนแร่ตามหมู่บ้านญาติ ครอบครัว เฒ่าออง ไปอยู่กับใกล้ ๆ กับบ้าน ยายเล็ก เฒ่าคล่อง ที่บ้านจำเปิง (บางเนียง)

ปัจจุบันไม่มีหมู่บ้านจำเปิงแล้ว ที่ยายเล็ก ตาคล่อง อาศัยอยู่ เป็นชุมชนมอแกลน ทุ่งหว้า จำได้ว่ามีการสัมปทานเหมืองแร่แล้ว ยังมีการสัมปทานป่าไม้ เขาห้ามมอแกลนขึ้นไปทำข้าวไร่ พอหมดสัมปทานป่าไม้ มอแกลนก็กลับขึ้นไปทำข้าวไร่ แต่โดนห้าม มีบางคนฝืนทำ แต่ด้วยมีการจับจองของคนภายนอกมากขึ้น พื้นที่ที่จะหมุนเวียนทำข้าวไร่ก็น้อยลง และมีการแนะนำจากรัฐให้ปลูกยางพารา มอแกลนจึงเริ่มปลูกยาง แต่ก็ยังมีหลายครอบครัว ยังทำแค่สวนผสม ส่วนพื้นที่ทำนาที่”หานนกโยง”ก็มีการจับจองจากคนภายนอก บ้างมอแกลนก็ขายถูก ๆ 30 บาท 20 ไร่ก็มี แต่ถ้าไม่ขายก็ถูกข่มขู่ จากนั้นกลับมาทำแร่ที่เหมืองราง 8 ราง 9 

ช่วงเกิด สีนามิ มีการประกาศให้อพยพไปอยู่ที่ ควนตาเคลื่อน (พื้นที่บุกเบิกของมอแกลนแต่เอกชนออกเอกสารสิทธิ์ไปแล้ว) ถึงเขาขนิม มีหน่วยงานแจกของยังชีพ แต่ไม่ทั่วถึง เกือบเดือนที่ลำบาก จึงกลับมาที่หมู่บ้าน แต่ยังหวาดกลัวไม่กล้าลงทะเล มีศพลอยในคลอง บางคนเรือก็เสียหายจากน้ำ สึนามิ หนุน มีหน่วยงานเข้ามาสำรวจความเสียหาย มีคนมาบริจาคข้าวกล่อง เริ่มฟื้นฟูชุมชนด้วยการช่วยเหลือสร้างบ้านให้คนที่สูญเสียชีวิตนอกพื้นที่ รับสนับอุปกรณ์ประมง สร้างศูนย์วัฒนธรรมจากภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐบางส่วน 

ประวัติพ่อตาหลวงจักร (อ้างอิง ประวัติพ่อตาสามพัน วิจัยชุมชนมอแกลนทับตะวัน)

ประวัติความเป็นมาพ่อตาหลวงจักร เป็นบรรพชนชาวเลชนเผ่ามอแกลนซึ่งชนเผ่ามีประวัติศาสตร์ถึงการตั้งถิ่นฐาน บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน มายาวนานมากกว่า 13 ชั่วอายุคนมาแล้ว เมื่อเทียบอายุช่วงเวลาและสถานที่บอกเล่าบรรพบุรุษสันนิฐานว่า บรรพชนมอแกลน ในยุคนั้น มีศูนย์กลางอารยธรรมชนเผ่ามอแกลน อาศัยอยู่บริเวณ ชุมชน โมคลาน (ต.โมคลาน อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน) และมีการกระจายตัวอาศัยแถบชายฝั่งอ่าวไทย จนมีผู้ทำในยุคนั้นคือ “พ่อตาสามพัน” หรือที่เรียก “บาบสามพัน” คำว่า “บาบ” เป็นคำที่ใช้เรียกบรรพชนที่ชาวมอแกลนนับถือและเคารพบูชา มอแกลนใช้การอาศัยอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ

การสืบทอดผู้นำเป็นไปตามสายตระกูลมีประชากรนับหมื่นกระจายอยู่ตามอ่าวต่าง ๆ มอแกลนมีการปลูกข้าวไร่และหากินในทะเลอย่างอิสระ คำเรียกที่ออกเสียงว่า มอแกล๊น มีที่มาคือชื่อของผู้นำและเป็นชื่อเมืองชนเผ่ามอแกลนในอดีต จนกระทั่งถึงยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชนเผ่ามอแกลนต้องประสบกับความยากลำบาก“อี่บูม” น้องสาวของพ่อตาสามพันต้องไปแต่งงานกับเจ้าเมืองผู้ปกครองแผ่นดิน แต่ยังเป็นที่ไม่พอใจของผู้ปกครอง จึงให้ทหารพาพ่อตาสามพัน ชนเผ่ามอแกลนมาที่อันดามันเพื่อจะมาฆ่า แต่พ่อตาสามพันกับมอแกลนบางส่วนก็หนีรอดมาได้ต่อมาก็เสียชีวิตที่“หลื่อฉั๊ก”หรือหาดบางสัก ขณะที่ชาวมอแกลนที่เหลือก็แตกกระจาย เป็น 3 สาย คือสายทางน้ำและสายทางบกอพยพเดินทางมุ่งสู่ฝั่งอันดามัน หลังการสร้างเจดีย์ใหญ่ที่อ่าไทย (นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) ต้องสูญเสียชีวิตชาวมอแกลนไปมากมาย จากนั้นสายที่ 3 ที่ยอมถูกปกครอง ถูกข่มเหง ถูกรังแก ได้หลบหนีแตกกระจายกันไปอยู่ตามป่าทึบอ่าวต่าง ๆ ในที่ห่างไกลพวกของ “องค์ดำ” แต่ไม่ไกลจาก “โมคลาน” 

หลังจากข่าวพ่อตาสามพัน เสียชีวิต “ทวดธานี” หลานชายของพ่อตามสามพัน ได้เป็นผู้นำของชาวมอแกลน รวมชาวเลมอแกลนสายตระกูลต่าง ๆ เช่น ตระกูลพ่อตาสามพัน ตระกูลครูหอ ตระกูลหมอ ตระกูลพ่อตาธงสามสี ตระกูลพ่อตาหลวงจักร เป็นต้น เดินทางจากฝั่งตะวันออก อ่าวไทย จำนวนหลายพันคน อพยพมา ฝั่งตะโกลา หรือชายฝั่งทะเลอันดามันหรือแถบชายฝั่งอันดามันจังหวัดพังงาและภูเก็ต โดยหลบหนีทั้งทางบก ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเมื่อครั้งอดีต และยังมีหนีทางน้ำผ่านช่องแถบมะละกาคือ “มอแกน” 

ในปัจจุบัน ข้อมูลเรื่องเล่าต้องห้าม ที่สืบทอดต่อกันมา สายตระกูล สายผู้นำ เมื่อเดินทางบุกป่าฝ่าเขามาจนถึงป่าชายเลน ฝั่งอันดามันที่เงียบสงบ ไร้ผู้คน จึงตั้งชื่อ หมู่บ้านชื่อ “อากูน” ปัจจุบันเรียก นากูน หรือตันกูน ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ด้วยภูมิปัญญาและวิชาอาคมที่ร่ำเรียนและถ่ายทอดมาจาก พ่อตาสามพันอย่างเพียงพอ ทำให้ทอดธานี ดูแลชาวมอแกลนได้ดี องค์ความรู้ “ ข้าวไร่”ที่ติดตัวมาจากถิ่นฐานที่มา ถูกปลูกบนติดชายฝั่งอันดามัน เมื่อมีข้าวและภูมิปัญญาในการทำมาหากินทางทะเล ชาวมอแกลนจึงดำรงชีวิตอยู่ได้ จากคำบอกเล่าของเฒ่าเจือ ชัยวงศ์ ผู้สืบทอดผู้นำชนเผ่ามอแกลนว่า บรรพชน กลุ่มทวดธานี หลังปักหลักอยู่อย่างสงบตั้งหลายปี เหตุการณ์เลวร้ายก็ได้เกิดขึ้น ในคืนเดือนมืดที่หมู่บ้าน “อากูน” หอกปลายแหลมจากคนของ “องค์ดำ” กระทุ้งแทงผ่านร่องพื้นฟาก ของธานี จนเสียชีวิตในทันที เมื่อชาวมอแกลนเสียผู้นำก็หวาดกลัวเป็นอย่างมาก 

ปู่ของ “ทวดกลอม” เฒ่าเจื้อง ผู้เล่าเรื่องจำชื่อไม่ได้ ซึ่งเป็นลูกของทวดธานี สืบทอดเป็นผู้นำคนกัดมา รวมกับสายตระกูลต่าง ๆ ตัดสินใจย้ายที่ตั้งโดยชาวมอแกลนอพยพอยู่ป่าใหญ่ ริมคลอง “ในหยอง” ไม่ไกลจากบ้าน “อากูน” นัก แต่ด้วยความยากลำบาก เรื่องของเซ่นไหว้ตามความเชื่อของชาวมอแกลน ซึ่งเป็นความเชื่อเดียวกันกับคนพื้นถิ่นอื่นที่มีการทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น การนำของจากทะเลไปแลกเปลี่ยน เครื่องเซ่นและขนมเซ่นไหว้ในสารทเดือน 10 จึงมีนับแต่นั้นมา และนั้นก็เป็นเหตุผลให้เกิดการพบเห็นและสัมพันธ์กับคนอื่นในพื้นถิ่น 

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ลูกหลาน พ่อตาหลวงจักร ลูกหลานทวดธานี ได้อพยพนั่งเรือมาจากบ้าน ในหยง กับชาวมอแกลนบางส่วน 15 ครัวเรือน เพื่อหาที่อยู่ใหม่และบางกลุ่มก็แยกไปเพื่อหาที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์และตกลงกันหากใครเจอพื้นที่ที่ดีและน่าอยู่ก็จะมารับลูกหลานและเครือญาติไปอยู่ร่วมกัน ในส่วนกลุ่มลูกหลาน “พ่อตาหลวงจักร” ได้อพยพมาที่บ้าน “นกโยง”หรือ บ้านลำปี ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะเพราะสามารถ ปลูกข้าวไร่ได้และออกทะเลได้ เริ่มมาตั้งหลักปัฏฐานที่บ้านนกโยง และได้อพยพเข้ามาอยู่กันเรื่อยๆ จนเป็นชุมชนใหญ่ ซึ่งพื้นที่บ้านนกโยงในยุคนั้นรุ่งเรื่องชาวบ้านอยู่กันอย่างสงบสุขเรื่อยมา เริ่มตั้งศาลและทำพิธีไหว้ศาลพ่อตาหลวงจักร เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและความกล้าหาญของพ่อตาหลวงจักรที่บ้านนกโยงแห่งนี้และได้กระจายออกไปอยู่ในชุมชนใกล้เคียงโดยที่บ้านนกโยงเป็นศูนย์กลาง

ในยุคนั้นตำนาน พ่อตาหลวงจักร ฟังจากเฒ่าโบ้ง เฒ่าคิว ซึ่งเป็นพ่อหมอ พิธีกรรมเล่าว่า ตอนที่พ่อตาหลวงจักรอพยพมาจากนครศรีธรรมราชได้ช่วย พ่อตาสามพัน รบกับข้าศึกเพื่อพามอแกลนหนีจากการเป็นเชลยศึก จนถึงฝั่งอันดามันในระหว่างทางที่อพยพนั้นมีทั้งภัยอันตรายมากมาย ทั้งสิงห์สาลาสัตว์และทหารขององศ์ดำที่ตามฆ่า แต่ก็ยังนำพาลูกหลานผ่านมาได้

จากคำบอกเล่าของเฒ่าโบ้ง เฒ่าคิว บอกว่า พ่อตาหลวงจักร เป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้าผดุง คุณธรรม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ศาลเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชุมชน วันดีคืนดีมีผู้พบเห็นผู้ชายนั่งขาวห่มขาวอยู่ศาลบ้างก็เล่าต่อมากันว่ามีงูสีขาวเผือกตัวใหญ่คลานลงจากเขาและขึ้นเขามานอนขดที่ศาลพ่อตาหลวงจักรบ้างก็เล่าว่าพ่อตาหลวงจักร สำแดงเป็นเสือตัวใหญ่มานอนที่ศาล และมีความเชื่อว่าหากมีการสำแดงแปลงกายเป็นเสื่อ หรืองูใหญ่ก็จะถือว่าเป็นการเตือนและแจ้งข่างว่าจะมีเหตุการณ์อะไรสักอย่างให้ทุกคนตระหนัก 

บ้านลำปี หมู่ที่ 8 ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นที่ 1 ใน 9 หมู่บ้านของตำบลท้ายเหมือง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ของอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอท้ายเหมือง ประมาณ 16 กิโลเมตร

  • ทิศเหนือ ติดกับ คลองทุ่งมะพร้าว
  • ทิศใต้ ติดกับ ชุมชนลำปี ถนนเพชรเกษม
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ถนนเพชรเกษม
  • ทิศตะวันตก ติดกับ คลองทุ่งมะพร้าว

เนื้อที่ทั้งหมด 3,631 ไร่ เป็น สปก.147 ไร่ 4 งาน 20 ตรว. เป็นโฉนด 2 งาน ติดเขตป่าสงวนนอกเขต สปก. 85 ไร่ มีคนที่อาศัยญาติอยู่จำนวนหนึ่ง มีที่ดินทำกินอยู่ในเขตอุทยานฯของทั้งหมู่บ้าน 780 ไร่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐระดับนโยบาย  ลักษณะที่อยู่อาศัย บ้านปูนและบ้านสังกะสีหนึ่งห้องนอน ไม่มั่นคงมากนัก ห้องน้ำมีทั้งแบบนอกบ้านและในบ้าน และมีบ้านที่มูลนิธิโรตารีมาสร้างให้มีลักษณะเป็นบ้านปูนยกสูงมีใต้ถุน 

ชุมชนบ้านลำปีมีประชากร 156 หลังคาเรือน บ้านลำปีนอก จำนวน 30 หลังคาครัวเรือน บ้านลำปีใน จำนวน 26 ครัวเรือน บ้านทับปลา จำนวน 100 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 565 คน ผู้หญิง 289 คน ผู้ชาย 276 คน 

มอแกลน
  • เครือข่ายชาวเลอันดามัน
  • มูลนิธิชุมชนไท
  • มูลนิธิศุภนิมิต
  • อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อสม.
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท้ายเหมือง
  • เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง คปสม.
  • ศูนย์วัฒนธรรมชาวเลมอแกลน บ้านลำปี บ้านทับปลา ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

1. เซ่นไหว้พ่อตาสามพันและบรรพบุรุษในสายตระกูล เดือน 4 จะจัดพิธีในช่วงเดือนมีนาคม ขึ้น 9 ค่ำ ถึง 14 ค่ำ หลังจากทำพิธีเซ่นไหว้พ่อตาสามพัน เสร็จ วันถัดไปให้เลือกวันที่ดี ทุกบ้านที่มีถ้วยบรรพบุรุษต้องทำทุกหลังคาเรือน

2. เดินร้องเพลงบอก เดือนห้าจะทำในเดือนเมษายน แรม 2 ค่ำ ถึง ขึ้น 15 ค่ำ ก่อนออกจากบ้านจะมีการไหว้บอกกล่าวบรรพบุรุษ ผู้เฒ่าผู้แก่และคนในหมู่บ้านประมาณ 10 คน มีอยู่ 2 ชุด แบ่งสายเดินไปตามบ้านเพื่อขับเพลงบอกชมบ้าน ชมคนให้เจ้าบ้านฟังแล้วมีการแลกของกันระหว่างคณะเพลงบอกกับเจ้าของบ้าน ได้ข้าวสาร เสื้อผ้า ของใช้ต่าง ๆ รวมถึงเงิน บางบ้านที่ได้ฟังแล้วถูกใจก็จะชวนกินข้าวด้วย อาหารที่ได้มาต้องทำเซ่นไหว้บรรพบุรุษก่อน

3. เซ่นไหว้พ่อตาหลวงจักร จะจัดทำในช่วงเดือน เมษายน แรม 2 ค่ำ ถึง ขึ้น 15 ค่ำ ผู้นำทางจิตวิญญาณปรึกษากัน กำหนดวันทำพิธีกรรมแล้วแจ้งให้เครือญาติในหมู่บ้านและส่งข่าวให้คนที่ไปอยู่นอกพื้นที่ทราบ เมื่อถึงวัน ทั้งชุมชนจะร่วมเตรียมและร่วมทำพิธีกรรม โดยมีพ่อหมอประจำหมู่บ้านเป็นผู้นำพิธี มีเครื่องเซ่นหลัก ๆ คือ ไก่ ข้าวเหนียวดำ ขาว แกง ผลไม้ เหล้า หัวหมู หมาก พลู เทียน

4. พิธีหาบคอน จะทำในช่วงเดือน เมษายน แรม 2 ค่ำ ถึง ขึ้น 15 ค่ำ ผู้ที่รับหน้าที่เตรียมได้เตรียมไม้ปาง 2 และไม้รวด 1 อัน ปักไม้ปางลงดินห่างกัน 2 เมตรไว้เสร็จพร้อม หลังเสร็จพิธีเซ่นไหว้พ่อตาหลวงจักร ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมทุกคนมายืนล้อมจุด หาบคอน นำสิ่งของ เครื่องใช้ อาหาร เล็บ ผม หมาก พลู ใบจาก ยาเส้น ห่อด้วยใบเตยสานเป็นกระเป๋า ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นถุงบ้าง กระเป๋าผ้าบ้าง เนื่องจากต้นเตยสูญหายไปจากพื้นที่ ที่อยู่ในเขตอุทยานฯและป่าสงวน ไม่สามารถเข้าไปตัดได้เหมือนเมื่อก่อน

5. พิธีแต่งเปลวหลุมศพบรรพบุรุษ จะทำในช่วงเดือน เมษายน ขึ้น 2 ถึง 14 ค่ำแต่ละชุมชนแต่ตระกูลทำไม่พร้อมกัน แล้วแต่จะสะดวก

6. เซ่นไหว้บรรพบุรุษเดือน 6 (ที่ค้างจากเดือน 4 ) จะทำพิธีในช่วงเดือน พฤษภาคม ขึ้น 2 ค่ำเป็นต้นไป บ้างปีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษเดือน4ทำไม่เสร็จในเดือน4 ต้องเว้นช่วงมาทำต่อในเดือน6

7. พิธีเซ่นไหว้หัวเรือ จะทำพิธีในช่วงเดือน พฤษภาคม ขึ้น 1-15 ค่ำ ทำไม่พร้อมกันก็ได้ แต่ต้องเลือกวันที่ดี (พิธีนี้เฉพาะคนที่มีเรือ)

8. พิธีกินบุญเดือน 10 จะทำพิธีในช่วงเดือน กันยายน แรม15 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ นำอาหารจากการไปกินบุญมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษเสร็จเป็นการสิ้นสุดประเพณีของแต่ละปี และพิธีกินบุญเดือนสิบนี้ สำหรับชาวมอแกลนจะต้องกลับมาทำพิธีทุกปี ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม

9. พิธีฝั่งศพชาวมอแกลน  หากมีบุคคลเสียชีวิต ชาวมอแกลน ก็จะมีการฝั่ง โดยวิธีการก็มีการสวดอภิธรรมตามปกติ แต่เมื่อครบกำหนดวันจะมีการแห่ศพไปยังบริเวณสุสานที่ตั้งอยู่พื้นที่บ้านหินลาด หมู่ที่ 6 ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยมีชื่อเรียกว่า “มะนาวรีสอร์ท” สุสานแห่งนี้มีฝั่งศพกลุ่มชาวมอแกลน ที่อยู่ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง และมีชาวมอแกลน บ้านขนิม หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งการฝั่งศพของชาวมอแกลนจะฝั่งศพโดยเรียงเป็นเครือญาติการฝังศพของชาวมอแกนมีหมอทำพิธีตามแบบของชาวมอแกน เมื่อนำศพฝังทำพิธีฝากฝังผู้ตาย แก่เจ้าป่าช้าก่อน และญาติของผู้ตายต้องนำเครื่องใช้ครัวเรือนของผู้ตาย เช่น มีดประจำตัว เครื่องครัว เสื้อผ้า ของใช้ฝังพร้อมกับผู้ตาย

ในกรณีทำพิธีอย่างถ้าอยากรู้ว่าผู้ตายถึงคราวตายหรือยังไม่ตายให้นำมะพร้าว ผ่าเป็น 2 ซีกแล้วโยนขึ้น ถ้าหากมะพร้าวตกลงมาคว่ำทั้ง 2 ซีก ก็หมายความว่า ถึงความตาย แต่หากค่ำซีกหายซีกก็ยังไม่ถึงคราวตายผู้ตายอาจจะมีความเป็นห่วงบุคคลที่อยู่ข้างหลังเป็นความเชื่อของชาวมอแกน และฝั่งเป็นแนวนอนโดยมีหมอพิธีกรรม พร้อมพระสงฆ์จำนวน 1 รูปการทำพิธี โดยใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ 

10. พิธีทำบุญผีตะกร้า (ชะ แชะ ) ชาวมอแกนเรียกว่าแชะแชะ อุปกรณ์ที่ใช้ทำพิธีลักษณะคล้ายตะกร้าสานด้วยหวายคว่ำ ปากตะกร้าลงท้ายตะกร้าจะหวานเป็นทำแขนงทั้งสอง 2 ข้างบนแบนจะมีตะกร้ากะลามะพร้าวอยู่ตรงกลางแทนหัวในกะลามะพร้าวมีเปลือกหอยโดยมีผ้าสีแดง (ผ้ากากำ) ผูกติดกับกะลามะพร้าวไว้ ส่วนประกอบของตะกร้าที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสัญลักษณ์ของตัวตน อุปกรณ์อีกอย่างที่ใช้กระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร เจาะรูช่วงตรงกลางใช้เชือกหวายขึงหัวท้ายให้ตรึงจำนวน 2 เส้น เพื่อใช้ดีดให้เป็นเสียงเพลงสื่อวิญญาณบรรพบุรุษ (ลักษณะคล้ายกีต้า)

ในปัจจุบันพิธีทำในช่วงเดือน 5 พิธีนี้ทำเหมือนกับพิธีพ่อตาหลวงจักร เริ่มพิธีหมอทำพิธีจะเชิญวิญญาณบรรพบุรุษเข้ามาสิงในตะกร้าโดยผ่านเสียงดนตรีจากการดีด แชะแชะ เมื่อบรรพบุรุษรับของเซ่นไหว้เรียบร้อยแล้วลูกหลานก็จะยกตะกร้าขึ้นฟ้อนรำตามจังหวะดนตรี ผู้ที่ถือตะกร้ารำตามการสั่นของตะกร้า โดยไม่รู้ตัวผลักเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ปัจจุบันตะกร้าที่ใช้พิธีเหลือ 2 ตะกร้าในชุมชนประเพณีนี้กำลังจะสูญหายเพราะขาดการรับช่วงต่อการสนับสนุน

11. เพลงบอก ชาวมอแกนมีการร้องเพลงในภาษามอแกนพร้อมภาษาไทยเป็นการร้องสลับกันไปเป็นร้องคู่สลับ เนื้อเพลงเป็นการแต่งขึ้นเพื่ออวยพรแก่ครอบครัวต่าง ๆ ที่มอแกนได้แวะไปขอ โดยมีสิ่งตอบแทน เช่น ข้าวสาร เงินเสื้อผ้า

12. รองเง็ง เป็นวัฒนธรรมการร้องเพลงคู่แก้กันของชายหญิง เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงคล้ายการร้องเพลงลำดับบทเพลงมีทั้งภาษาไทยและภาษามอแกน

13. พิธีกรรมเกี่ยวกับการขุดเรือใหม่ พิธีขอไม้โค่นสำหรับการขุดเรือจากนางไม้ หมอทำพิธีจุดธูปเทียนที่ต้นไม้ที่จะทำการโค่นและได้วางไม้หนึ่งชิ้นพิงเอาไว้กับต้นไม้ 1 คืน พรุ่งนี้มาดูว่าไม้ที่พิงเอาไว้ล้มลงหรือยังพิงอยู่ หากไม้ยังพิงอยู่หมายความว่า นางไม้ที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้อนุญาตให้โค่นได้ หากไม้ที่พิงล้มลงหมายความว่า ไม่อนุญาตให้โค่นไม้ที่จะเอามาขุดเรือ ส่วนมากจะเป็นไม้จวง ตะเกียนทราย จอมแหลม เมื่อโค่นไม้เสร็จทำพิธีขุดเรือมีการกล่าวคาถาอาคมทำเพื่อไม่ให้ถูกเคียด (เคียดหมายถึงสิ่งที่ไม่ดีจากผี)

เมื่อทำการขุดเรือเสร็จวันที่จะนำเรือลงทะเลจะต้องเป็นวันเสาร์และมีการทำพิธีไหว้เจ้าท่าเรือเซ่นไหว้มี ไก่ หมี่ ขนม เหล้าขาว ผ้าสามสีผูกคอเรือ ธูปเทียนดอกไม้และหมอทำพิธีการบนบานต่อแม่ย่านางประจำเรือนั้น ๆ ให้ปกป้องคุ้มครองและ 1 ปี จะต้องทำพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางแม่คงคา 1 ครั้งซึ่งจะทำในเดือน 6 ซึ่งถือเป็นเดือนที่ดีของชาวมอแกน

ข้อมูลการหากินและรายได้

อาชีพหลัก

รับจ้าง ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เป็นงานรับจ้างใช้แรงงานทำสวน ก่อสร้าง โรงแรม รับจ้างทั่วไป มีรายรับ เฉลี่ยต่อเดือนละ 0- 15,000 บาท/เดือน/ครอบครัว 

ทำประมงพื้นบ้าน ได้แก่ 

  • การหาหอยกัน หาบนเลนในป่าชายเลนช่วงน้ำเริ่มใหญ่ 12-4ค่ำ (น้ำ 9-11 ค่ำจะหาหอยเยอะ ช่วงน้ำตายน้ำไม่แห้ง หายาก)
  • การหาหอยหวาน หาในคลองบริเวณที่มีทราย ช่วงน้ำเริ่มใหญ่ 12-4 ค่ำ
  • หาหอยน้ำพริก,หอยตาแดง หาเก็บตามต้นไม้ในป่าชายเลน ช่วง 14-3 ค่ำ
  • หาปลาทะเลนอก ปลาโทงใบ , ปลามง , ปลาอ๊อด ๆ , ปลาหางแข็ง ใช้อวนลอย อวนเขียว อวนฟ้า การตกปลา ทั้งใช้เรือและเดินวาง ใช้เวลาวางช่วงน้ำขึ้นถึงน้ำเริ่มลง ช่วง 10-4 ค่ำ
  • หาปลาทะเลใน ปลากะพงแดง-ขาว , ปลาแป้น , ปลาข้างไฝ , ปลาดุกทะเล , ปลาอ๊อด ๆ , ปลาดอกไม้ , ปลาขี้ตัง , ปลากระบอก โดยวางไซ ช่วงน้ำขึ้นตามคลองป่าโกงกาง เก็บทุกวัน วางทิ้งไว้ที่เดิม 1 อาทิตย์แล้วย้าย, ตกเบ็ด เริ่มจากการไปช้อนกุ้งหัวแข็งทำเหยื่อตกปลา, ทอดแห, วางอวนปลากระบอก โดยการปล่อยอวนแล้วกระทุ้งหรือตีน้ำไล่ปลา
  • หาปูดำ ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า หยอง หรือ แร้วดักปู ใส่เหยื่อแล้วไปปักในป่าชายเลน ช่วง 9-5 ค่ำ (6-8 ค่ำไม่มีเหยื่อดักและปูดำไม่ค่อยมีเนื้อ)
  • หาแมงกะพรุน หาช่วงน้ำ 12-4 ค่ำ กะพรุนจะลอยขึ้นผิวน้ำช่วงน้ำเริ่มขึ้นจนถึงช่วงน้ำเริ่มลง
  • หาเพรียง ในช่วงน้ำลงสุด หาขอนไม้ในป่าชายเลนที่มีรูเพรียง ใช้ขวานผ่าเพรียงออกมา
  • หาปลาน้ำจืด ใช้นางช้อนปลาตามห้วยเมื่อได้แล้วเอาใส่เฌอ
  • หาเต่าบก ช่วงพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษต้องใช้ เดินหาจับตามในป่า ริมห้วย 

อาชีพเสริม

เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เก็บผักพื้นบ้าน (แปรรูปอาหารทะเล ท่องเที่ยวชุมชน เป็นอาชีพกลุ่ม) รายจ่ายและหนี้สิน รวมรายจ่ายประมาณ 5,000-6,000บาท/เดือน/ครัว มีหนี้สินรวมจำนวน 1,515,500 บาท แหล่งที่มาของหนี้สิน ยืมญาติ เพื่อนบ้าน กู้จากธนาคาร กองทุนหมู่บ้าน ออมทรัพย์ ผ่อนรถ เครื่องใช้ในครัวเรือนจากบริษัทต่าง ๆ และหนี้นอกระบบ 

1.เฒ่า วาด นาวารักษ์ อายุ 95 ปี (พ.ศ.2552) มีลูกทั้งหมด 6 คน เดิมเกิดที่หมู่บ้านลำปี ได้เข้ามาบุกเบิกหมู่บ้านทับปลาเป็นคนแรก ตอนมาอยู่ ทับปลา เฒ่าวาด อายุประมาณ 40 ปี พ่อ-แม่เฒ่าวาดเป็นคนบ้านในหยง ผู้นำมอแกลนในยุคนั้นพาคนในสายตระกูลมาอยู่บ้านลำปี

เฒ่า วาด เล่าตำนานความเป็นมาของชาวมอแกลนที่ได้สืบทอดเรื่องเล่าจาก พี่ของปู่ (ทวดกลอม อดีตผู้นำชนเผ่ามอแกลน) ให้ฟังเกี่ยวกับ คล้ายตำนาน ว่ามาจากเมืองนครศรีธรรมราช แม่ยายเจ้าคือน้องของตาสามพันเป็นผู้หญิงมอแกลนได้แต่งงานกับเจ้าเมืองนครฯ เจ้าเมืองแกล้งให้ตาสามพัน ครูหอ ตาหมอให้ไปหา ต้นอำพันธ์ อยู่ในป่าหิมพานต์กลางเกาะทะเล พร้อมกับทหาร สามพันคน พอใกล้จะถึง เจอต้นไม้กลางทะเลมีผลไม้ เป็นผู้หญิงเปลือยกายก็เกิดอารมณ์ทางเพศจึงกระโดดลงน้ำโดนฉลามกินหมด โดยไม่ฟังคำห้ามของทั้งสามเลย พอได้ต้นอำพันธ์ทั้งสามก็ได้เดินทางกลับเจอกับพายุใหญ่ทำให้ทั้งสามจมน้ำ แต่ก็มีปลากระเบนได้มาช่วยชีวิต บนหัวปลากระเบนนั้นมีเทียนสามแท่งและได้นำร่างทั้งสามมาส่งที่หาดบ้างสัก แต่ทั้งสามทนเจ็บไม่ไหวก็สิ้นใจตาย

ต่อมาชาวมอแกลนที่รู้ว่าทั้งสามเสียชีวิตบริเวณนี้จึงสร้างศาลตาสามพัน ณ.หาดบางสักไว้เคารพบูชาจนถึงปัจจุบัน คนมอแกลนที่เป็นพ่อหมอทำพิธีต่าง ๆ จะไม่กินปลากระเบน เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ยังมีการเล่ามาว่า ตาสามพันมีวิชาคาถามากมาย เพื่อไว้รักษาและเป็นวิชาไม่ทำร้ายคนอื่น จึงเป็นที่เคารพของคนมอแกลนและคนไทยในเมืองนครฯด้วย พอมีข่าวว่าพ่อตาสามพันตายชาวบ้านมอแกลนก็ยกให้ ทวดธานี เป็นผู้นำมอแกลน ก็มีคนคิดทำร้ายมอแกลนทวดธานีเลยพาลูกหลานหนีมา ในหยง หลังจากนั้นทวดธานีก็โดนฆ่าตายได้บอกลูกหลานให้กระจายไปอยู่อื่น พร้อมกับบอกว่าชักวันหนึ่งพวกเราจะกับมาเจอ 

ประวัติศาสตร์ ทับปลา เริ่มต้นจากในช่วงแรกหมู่บ้านลำปีมีแต่คนมอแกลน อยู่มานานเข้า ก็มีทั้งคนไทยพุทธ ไทยเชื้อสายจีน มีจำนวนประชากรเพิ่มมากที่อยู่อาศัยก็เบียดเสียดกัน การทำมาหากินลำบากอยู่ไปก็อดยาก เฒ่าวาด เลยพาลูกหลานมาอยู่ทับปลา เมื่อก่อนก็ปลูกข้าวไร่ ปลูกต้นมะพร้าว และก็เล่าถึงยุคเกิดพายุใหญ่ที่ตอนมีเหตุการณ์แหลมตะลุมพุก ที่ทับปลาและชายฝั่งแถบนี้ก็โดนผลกระทบ ต้นไม้ใหญ่ สัตว์ป่าล้มตายมากมาย หลังจากนั้นชาวมอแกลนที่อยู่ลำปีก็เริ่มมาอยู่ทับปลาเรื่อย ๆ จนที่ดินไม่พอ จึงย้ายไปอยู่หมู่บ้านขนิมบ้าง (กลุ่มเฒ่าพาล) และย้ายไปอยู่หม่านาว บีกา (กลุ่มเฒ่าโฉ้ด) ยังมีบางคนที่มาอยู่ลำปีตั้งแต่รุ่นบุกเบิกลำปี แต่เสียชีวิตหมดแล้วเหลือไว้แค่ลูกหลานเท่านั้น ส่วนมากทุกคนที่เข้าไปบุกเบิกหมู่บ้านต่าง ๆ จะปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ส.ส. ชื่อ นาย เสถียร (จำนามสกุลไม่ได้) ชักชวนชาวมอแกลนกลุ่มเฒ่าวาดให้ไปทำถนนสายเขาหลัก แต่มอแกลนไม่มีบัตรประชาชน เข้าไปทำงานจ่ายค่าแรงไม่ได้ นายเสถียร จึงดำเนินการทำบัตรประชาชนให้พร้อมกับตั้งนามสกุล “นาวารักษ์” ให้ชาวมอแกลนกลุ่มเฒ่าวาด พอได้นามสกุลมอแกลนก็ได้ทำงานกรมทางหลวง เป็นเหตุให้ชาวมอแกลนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ และทำงานกับกรมทางหลวงจนถึงทุกวันนี้ 

เฒ่า อี้ หรือนายวี นาวารักษ์ เกิด เมื่อพ.ศ.2492 บ้าน ลำปี ตำบลท้ายเหมือง ชื่อหมู่บ้านมอแกลน เรียก นกโยง แม่ชื่อป้าลุ พ่อชื่อตาหยอง พ่อแม่มีอาชีพ ทำนา ทำไร่ ปลูกข้าว ทำประมงแบบชาวเล มีพี่น้องชื่อ ตาลี ป้ากี้ ตาตา ป้าวี น้าตาล ตาแนะ น้าตี๋ ป้านี ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ 

เหตุการณ์สำคัญ

ช่วง พ.ศ. 2489

  • ช่วยพ่อขุดเรือ ,ปลูกข้าวไร่ข้าวนาช้างของป้าหวนเอากินหมด,เย็บอวน , พ่อขายที่ดิน ตายวน แต่เฒ่าอี้ ไม่รู้ สส.บอกว่าให้มาอยู่ หน้าสงครามโลกไปอยู่แถวน้ำตกลำปีแป๊ะแซ่ ไปเที่ยวบ้านป้าที่น้ำเค็ม ทำอวนกุ้ง ลูกตารัน ตานัน ตาหุ้ย ย้ายมาทับปลา ได้ป้ามิเมียคนที่ 1 มีลูกชื่อเดช (ตายแล้ว) เป็นหมอบ่อนผู้นำทางความเชื่อ เฒ่าก้อยนำให้ทำพิธีศาลพ่อตาทำเนียง

เหตุการณ์ ช่วง 2523

  • แต่งงานใหม่ เมียคนที่ 2 ชื่อป้านะ (งูกัดเสียชีวิต) ลูกติด 2 ลูก รับจ้างปลูกยางวันละ 16 บาท

เหตุการณ์ช่วง 2547 

  • ลูกพาไปหนีคลื่นยักษ์บริษัทแป๊ะท่อง 

เหตุการณ์ ช่วง 2550

  • แม่เสียชีวิตอายุ 102 ปี

เหตุการณ์ช่วง 2563

  • เฒ่าอี้ เส้นเลือดหัวใจตีบ ไปรักษาที่ รพ.กรุงเทพ ภูเก็ต

ทุนกายภาพ

  • ป่าชายเลน บ้านทับปลามีปลาชายเลย เป็นพื้นที่ประกอบอาชีพประมงของคนในชุมชน 
ทุนเศรษฐกิจ
  • ค้าขายในชุมชน(การจัดตลาดนัดบ้านทับปลา) ตลาดนัดชุมชนชาวมอแกลน ที่ชุมชนมอแกลนบ้านทับปลา ม.8 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ทุกวันอาทิตย์ ช่วงเช้า ๆ ชาวมอแกลน จะนำผักสวนครัว ผักริมรั้ว ผลไม้ตามฤดูกาล หอย ปลา ที่หาได้จากป่าชายเลน และขนมพื้นบ้าน มาวางขายรวมกันบริเวณทางเข้าชุมชน ที่พวกเขาเรียกกันว่าตลาดนัดชุมชนทับปลา ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน ซึ่งนอกจากจากขายกันเองในชุมชนแล้วบางครั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนอาหารพื้นบ้านสด ๆ 
ทุนมนุษย์ 
  • นาย ประทีป นาวารักษ์ : ผู้ใหญ่บ้าน ประวัติชุมชน
  • นาย บรรหาญ นาวารักษ์ : ผู้สูงวัย ประวัติชุมชน
  • นาง ชุติมา เทศกุล : วัฒนธรรมประเพณี
  • นาง นารี นาวารักษ์ : วัฒนธรรมประเพณี
  • นาง ธิติรัตน์ นาวารักษ์ : ภูมิปัญญาการทำเครื่องมือประมง
  • นาย สฤษดิ์ นาวารักษ์ : ภูมิปัญญาการทำเครื่องมือประมง
  • นาง หวี นาวารักษ์ : จักสาน
  • นาง ทนงค์ ชาญสมุทร : จักสาน
  • นาง น้อย นาวารักษ์ : สมุนไพร
  • นาย บุญชู ธงชัย : สมุนไพร
  • นาย วี นาวารักษ์ : หมอพิธีกรรม,หมอตำแย
  • นาย เท่ง สมุทรวารี : หมอพิธีกรรม,หมอตำแย
  • นาย สมพร เทศกุล : หมอพิธีกรรม,หมอตำแย
  • นาง น้อย นาวารักษ์ : หมอพิธีกรรม,หมอตำแย
  • นาง บุญศรี รัตนบุรี : แพทย์แผนโบราณ
  • นาย กิตติชัย ภักดี : แพทย์แผนโบราณ
  • นาง สุวรรณ แซ่ตัน : แพทย์แผนโบราณ
  • นาย บุญพงษ์ ณ ทะเล : ภูมิปัญญาต่อเรือ
  • นาย ภูวนัย รอดตระกูล : ภูมิปัญญาต่อเรือ
  • นาย ประสิทธิ์ มูประสิทธิ์ : ภูมิปัญญาต่อเรือ
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น 
  • ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนบ้านทับปลา(เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชุมชน) 
  • พ่อตาหลวงจักร (ให้ความนับถือสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษมีความเชื่อว่าพ่อตาหลวงจักจะช่วยดูแลปกป้องมีการทำพิธีกรรมในช่วงเดือน 5 ของทุกปี)
  • สุสานบ้านหินลาด (ส่วนใหญ่คนในชุมชนประกอบพิธีศาสนาบริเวณดังกล่าว)

ภาษาที่ใช้ ภาษาไทยภาคใต้ ร้อยละ 100 พูดภาษามอแกลนประจำวัน ร้อยละ  25 ฟังรู้เรื่อง ไม่พูดประจำ ร้อยละ 50  พูดและฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ร้อยละ 25  ภาษามอแกลน ชาวมอแกลนมีวัฒนธรรมการพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน 


หมู่บ้านลำปี สนับสนุนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึงร้อยละ 75 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การปกครองในหมู่บ้านลำปี โดยผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ในหมู่บ้านและในระดับตำบล/อำเภอ หลายตำแหน่ง ปกครองโดยใช้หลักคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้หมู่บ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข


บ้านลำปีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมอแกลน และส่วนหนึ่งไม่ได้รับการศึกษาเพราะครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ชาวบ้านบางส่วนก็มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ เพราะที่ดินได้ครอบครองนั้นเป็นที่ดินในการอยู่อาศัยเท่านั้น จึงไม่สามารถเพาะปลุกเกษตรกรรมได้ รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวก็น้อย จึงทำให้สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวในบ้านได้ชาวบ้านเลยต้องออกไปหารายได้ข้างนอก และรับจ้างทั่วไปเพื่อเลี้ยงชีพไปวัน ๆ หนึ่ง และอยากให้ทางรัฐส่งเสริมอาชีพแก่ชาวบ้านเพื่อให้มีรายได้เสริม


สังคมบ้านลำปีเป็นสังคมผสมผสานระหว่างชาวมอแกน-ไทยเชื้อสายจีน สังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมชาวมอแกนมีประเพณี-วัฒนธรรมที่ต้องยึดถือเหมือนกัน มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายเข้ากับสังคมได้ทุกระดับ สามารถช่วยเหลือในงานพิธีกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในระดับหมู่บ้าน ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด 


หมู่บ้านลำปีประชาชนมอแกลนได้เปลี่ยนไปตามยุกตามสมัย ได้ส่งเสริมให้ชุมชนออกกำลังกายทุกวันจึงทำให้ชาวมอแกนยุดใหม่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์ และมีการออกตรวจสุขภาพในชุมชนเดือนละครั้งเพื่อให้ทราบถึงปัญหาสุขภาพคนในชุมชน ปัญหาด้านเด็กขาดสารอาหาร เนื่องจากเด็กรับประทานอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ 


บ้านลำปีมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เนื่องจากมีผู้คนที่มาอยู่อาศัยมีชาวมอแกนเป็นส่วนใหญ่ ชาวมอแกนมีวัฒนธรรมและภาษาพูดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อและนับถือผีบรรพบุรุษ

ในชุมชนบ้านทับปลา ป่าชายเลน นอกจากคนในชุมชนจะประกอบอาชีพแล้ว ป่าชายเลนบ้านทับปลายังเป็นจุดที่มีหลายๆหน่วยงานร่วมกันมาฟื้นฟูร่วมทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลนกันบ่อยครั้ง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล