เป็นชุมชนที่มีปราชญ์ที่มีความรู้เกี่ยวกับจักสานและผ้าทอผ้า
เป็นชุมชนที่มีปราชญ์ที่มีความรู้เกี่ยวกับจักสานและผ้าทอผ้า
แต่เดิมก่อนที่จะมีการตั้งถิ่นฐานรวมกันมาอยู่ที่บ้านแม่กิ๊ ชาวบ้านอาศัยอยู่แบบกระจายตามลำห้วยตามหุบเขา บ้านละ 2 - 3 หลัง 4 - 5 หลัง ตามพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงจะมีการโยกย้ายที่อยู่อาศัยกันตลอดเวลา พื้นที่ที่จะตั้งถิ่นฐานจะต้องมีการดูดวงถึงความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน หากตั้งถิ่นฐานแล้วเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรืออยู่การทำมาหากินลำบาก จะมีการโยกย้ายไปยังพื้นที่อื่น บุคคลที่เป็นผู้นำมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านแม่กิ๊ คนแรกชื่อ นายหมะดิ ซึ่งย้ายมาจากหัวห้วยแล้วมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านแม่กิ๊
เมื่อ พ.ศ. 2524 มีเพื่อนบ้านที่เดินทางมาด้วย จำนวน 5 ครอบครัว มี 1.นายบอโพ 2.นายนีโพ 3.นายม่อซูแฮ 4.นายตะหนุ 5. นายมะดิ สาเหตุที่มีการอพยพโยกย้ายมา คือ เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์เนื่องจากมีพื้นที่ปริมาณกว้างและห่างจากพื้นที่ทำนาทำสวน เพื่อไม่ให้สัตว์เข้าไปทำลายที่นาที่สวน
ต่อมา พ.ศ. 2525 ได้มีเพื่อบ้านอพยพมาเพิ่มเติม คือ นายพะกะดู สาเหตุที่ย้ายมา คือ มาแต่งงานและอยู่กินกับภรรยา ซึ่งบ้านเดิมของนายพะกะดู อยู่ที่บ้านแม่ลาก๊ะ จากนั้น ใน พ.ศ. 2528 มีเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มอีก 3 ครอบครัว โดยมีนายดิเชอ เป็นผู้นำมา และมี นายดิเชอ นายพะแล และนายหนามใจ๋ ร่วมเดินทาง ทั้ง 3 ครอบครัวนี้ ย้ายมาจากบ้านแม่บ่อหลวง สาเหตุที่ย้ายมา เนื่องจากบ้านที่อยู่เดิมมีสมาชิกน้อย ประกอบกับขณะนั้นมีเสือชุกชุมและกินสัตว์เลี้ยง ทำให้ผู้คนละเเวกนั้นเกิดความหวาดกลัว จึงมีการโยกย้ายมาอยู่รวมกันที่บ้านแม่กิ๊
บ้านแม่กิ๊ อยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊ ประมาณ 5 กิโลเมตร และมีหย่อมบ้าน คือ บ้านห้วยคลองเซ นับจากทางแยกถนนทางหลวงหมายเลข 1337 เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เข้าในหมู่บ้าน บริเวณสองข้างทางก่อนเข้าสู่หมู่บ้านจะมีป่าไม้และบ้านเรือนของประชาชน หมู่บ้านแม่กิ๊ จะมีโรงเรียนบ้านแม่กิ๊ และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลแม่กิ๊
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านเปียงหลวง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยโปงเลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านท่าหินส้ม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ประเทศพม่า
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่หมู่บ้านแม่กิ๊ มีสภาพเป็นภูเขา มีการตั้งบ้านเรือนตามไหล่เชิงเขา
จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านแม่กิ๊ จำนวน 138 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 456 คน แบ่งเป็นประชาชนกร ชาย 244 คน หญิง 212 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ปกาเกอะญอผู้คนในชุมชนบ้านแม่กิ๊และหย่อมบ้านห้วยคลองเซ มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่กิ๊ เป็นกลุ่มองค์กรที่มีเป้าหมายให้สมาชิกชุมชนสร้างความมั่นคงร่วมกันของคนในชุมชน และเป็นกระบวนการที่ไม่ได้มองเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการดูแล เอื้อเฟื้อต่อกันผ่านรูปแบบที่หลากหลาย มีนายไพรวัลย์ โชคอรุณ เป็นประธานกองทุน มีตัวแทนทุกหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการ และมีประชาชนตำบลแม่กิ๊ทุกครัวเรือนเป็นสมาชิก กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่กิ๊ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 1 ตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- กลุ่มสตรีทอผ้ากะเหรี่ยงตำบลแม่กิ๊ ในตำบลแม่กิ๊มีกลุ่มสตรีแต่ละหมู่บ้านจัดตั้งกลุ่มในด้านผ้ากะเหรี่ยง เพื่อส่งเสริมให้สตรีในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เข้ามาดูผลิตภัณฑ์ และมีการสั่งทำผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อทอกะเหรี่ยง ผ้าซิ่นกะเหรี่ยง ย่ามกะเหรี่ยง ผ้าพันคอกะเหรี่ยง เป็นต้น จึงทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น กลุ่มสตรีแต่ละหมู่บ้านมีชื่อในการจัดตั้งกลุ่มที่แตกต่างกัน และแต่ละกลุ่มจะมีประธานกลุ่ม คือ หมู่ที่ 1 บ้านแม่กิ๊ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง มีนางนิตยา กอดวิเชียร เป็นประธานกลุ่ม
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มจักสาน ในชุมชนมีผู้อาวุโสที่มีความรู้ความชำนาญในการนำไม้ไผ่มาประดิษฐ์หรือจักสานเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการใส่อาหาร ใส่สิ่งของ กันแดด ฯลฯ
- ร้านค้าชุมชน เป็นกลุ่มที่ชุมชนจัดทำขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้าภายในชุมชน
กลุ่มอาชีพ
- ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกกระเทียม ปลูกพืชไร่หมุนเวียน โดยเฉพาะช่วงที่ดำนาและขั้นตอนการเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีการเอามือกันเพื่อแลกเปลี่ยนกันและช่วยกันปลูกข้าวดำนา ปัจจุบัน คนในชุมชนเริ่มได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและหลากหลายขึ้นและมีบุตรหลาน ญาติพี่น้องบางส่วนก็รับราชการ เช่น ทหาร ครู นักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ
ชุมชนบ้านแม่กิ๊ มีอาชีพทำนา ทำสวน และทำไร่ โดยจะมีปฏิทินการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรที่เป็นประจำทุกปี โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม จะเตรียมพื้นที่ และแผ้วถางให้โล่งไว้ ส่วนเดือนเมษายนมีสภาพกาศที่ร้อนมาก จึงทำการเผาหญ้าที่แห้งแล้ว เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม เริ่มทำการเพาะปลูก ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด และปลูกพืชผักสวนครัว และเริ่มทำการไถนาและหว่านกล้าข้าวทิ้งไว้ บางรายทำไร่ข้าวก็จะทำหว่านข้าว
- ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน จะมีการถือศีลอด หรือเทศกาลมหาพรต ตามวิถีชาวคริสตชน คือ การถือศีลอด โดยจะไม่กินเนื้อสัตว์ในวันพุธและวันศุกร์ จะรับประทานอาหารวันละครั้งในปริมาณน้อย และงดการดื่มสิ่งมึนเมาทุกชนิด ในการถือศีลอดนั้น ถือเป็นการร่วมทรมานกับพระเยซูเจ้าผู้มา ไถ่บาปเพื่อชาวคริสต์ ในช่วงค่ำ จะมีการสวดมนต์ในโบสถ์เป็นประจำทุกวัน และในวันอาทิตย์จะมีพิธีทางศาสนาเพื่อสวดมนต์และรับพรจากพระผู้เป็นเจ้า ในวันอาทิตย์จะมีบาทหลวงเป็นผู้นำในการดำเนินการด้านพิธีการทางศาสนา ที่ผู้คนในชุมชนถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ในช่วงถือศีลอด จะมีการจัดกิจกรรมค่ายสอนให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม เรียนอักขระภาษากะเหรี่ยง เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของศาสนา การเรียนรู้บทสวด และเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท หลังเสร็จสิ้นเทศกาลมหาพรต จะมพิธีบูชามิสซาและเฉลิมฉลองปัสกา
- เดือนสิงหาคม จะทำการปลูกข้าวในนา ชาวชุมชนจะผลัดกันลงแขกดำนาเป็นกลุ่ม เอาแรงใช้แรงกันไปจนหมดทุกที่ หากในปีนั้นเกิดโรคระบาดในนาข้าว นิยมให้วิธีแบบชนเผ่า กระเหรี่ยงแบบดั้งเดิม เช่น จะไปหาหน่อไม้ มาหั่นแช่ไว้ให้เกิดกลิ่นเปรี้ยวบูด หรือผลไม้เช่น ส้มโอ มะนาวมาหั่นแล้วไปหว่านตามท้องนา ทำให้แมลงที่เกาะตามข้าวย้ายไปกินหน่อไม้และผลไม้ที่หว่านทิ้งไว้ หากจำกัดออกไม่ได้ จึงจะขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับต่อไป ในเดือนถัดไป จะทำการถางหญ้าบนคันนา และดูแลไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว จึงจะช่วยกันและผลัดกันเก็บเกี่ยวเป็นรายๆไปจนเสร็จ ชาวชุมชนจะช่วยกันลงแขกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในแต่ละวัน
- เดือนพฤศจิกายน เป็นฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรและเกี่ยวข้าว หลังเก็บเกี่ยว จะปลูกกระเทียมและยาสูบในนา บางรายได้ต้อนวัวควายมาเลี้ยงในนา เพื่อเป็นการบำรุงดินจากมูลสัตว์ที่ขับถ่ายในนา ในชุมชนบ้านแม่กิ๊มี กิจกรรมด้านวัฒนธรรม ประเพณี ที่จัดทำเป็นประจำปีทุกปี เช่น ในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี ชาวบ้านแม่กิ๊จะมีการรดน้ำดำหัวให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวและในชุมชน จะมีการทำอาหารและขนมท้องถิ่น เลี้ยงเพื่อนบ้าน และการเยี่ยมบ้าน พูดคุยกัน มีการสวดมนต์ข้ามปีในคืนวันขึ้นปีใหม่
1.นายสามารถ กระบวนโชคชัย กำนันตำบลแม่กิ๊คนแรก เป็นบุคคลที่ควรยกย่องในเรื่องการบริหารงานกิจการสภาตำบล ก่อนที่สภาตำบลแม่กิ๊จะได้รับการยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเสียชีวิต
2.นายพะเยาว์ กอดวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการจักสานของใช้ในครัวเรือน เช่น ตะกร้า กระด้ง หมวก (งอบ) ฯลฯ
3.นายวีรชัย กอดวิเชียร ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบลแม่กิ๊ ชมรมนี้ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์และคงอยู่คู่กับชาวตำบลแม่กิ๊ เปรียบเสมือนดังประโยคที่ว่า “พ่อเป็นป่า แม่เป็นน้ำ ลูกจะคอยรักษาป่าและน้ำ”
4.นายอุดม ก่อนแสงวิจิตร เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊คนแรก และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม
5.นายชัยรัตน์ ก้อนเกียรติวงศ์ ด้านประเพณีวัฒนธรรมและธรรมเนียมถือปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นผู้สืบทอดความรู้ต่อจากบิดาที่ล่วงลับไป
6.นายพัชรพงษ์ ก่อนเกียรติยศ ด้านการบริหารและจัดการชุมชน
ทุนวัฒนธรรม
- วันภาษา เป็นการจัดกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธ์ุ ที่เน้นให้ผู้มาร่วมงานรู้จักวิถีการดำรงชีวิต เช่น เรื่องการอาหาร น้ำดื่มสมุนไพร จักสาน การทอผ้า การผูกข้อมือรับขวัญ
- ค่ายคำสอน เป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กๆที่มีอายุตั้ง 7 ขวบเข้าร่วมกิจกรรม จะมีการจัดฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ให้เด็กๆได้รู้จักภาษา วิถีชีวิต การรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกและสร้างความสามัคคี
- ปลูกป่า บวชป่า เป็นกิจกรรมที่จัดให้ประชาชนและทุกคนในตำบลหันมาใส่ใจและดูแลหวงแหนป่าไม้ของชุมชนและป่าไม้ในตำบลให้คงอยู่และเป็นแหล่งกักเก็บความชุ่มชื่น
- อาหาร ชนชาติพันธ์ุหรือชาวปกาเกอะญอที่มีความเป็นชนชาติพันธ์ุและเป็นอาหารที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวปกาเกอะญอ นั้นก็คือ ข้าวเบ๊อะ เป็นอาหารที่มีรสชาติกลมกล่อมและอร่อย มีรสชาติหวานจาก ผักผงชูรสดอย (ห่อทีล่ะ) ผักที่สามารถนำมาใช้ในการทำข้าวเบ๊อะ เช่น หน่อไม้ หน่อคาหาน (กอฮอดึ) หน่อหวาย ยอดฟักทอง
- ขนมต้มเขาควาย (เมตอ) คือ การทำขนมเพื่อใช้ในพิธีมัดมือ และพิธีปีใหม่ ซึ่งเป็นขนมมงคลที่แต่ละบ้านจะทำขึ้นมาเพื่อประกอบพิธีกรรมและแจกจ่ายให้กับผู้มาเยี่ยมเยือน
- ขนมหนุกงา (เมตอปี่) คือ ขนมที่ชนชาติพันธ์ุหรือชาวปกาเกอะญอ จะทำขึ้นในช่วงปีใหม่ ซึ่งแต่ละบ้านจะทำแจกจ่ายญาติพี่น้องหรือว่าผู้มาเยี่ยมเยือน
- การแต่งกาย บ้านแม่กิ๊ และหย่อมบ้านห้วยคลองเซ เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีฝีมือทางด้านการเย็บและปักเสื้อผ้าของชนชาติพันธ์ุ ซึ่งเมื่อมีเวลาว่างหรือเว้นจากช่วงทำไร่ ทำนา กลุ่มสตรีหรือกลุ่มแม่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้า ก็จะจัดกลุ่มชุมนุมกันเพื่อปักผ้าทอซิ่น กระเป๋ายาม ผ้าโผกหัว ฯลฯ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและจำหน่ายบางส่วน ซึ่งผู้ชายจะใส่เสื้อทอกับกางเกงสะดอ ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อทอกับผ้าถุงทอ และสำหรับหญิงสาวจะใส่เป็นชุดทอยาวคล้ายชุดเดรส ด้ายหรือไหมจะย้อมสีจากธรรมชาติ ผลิตจากฝ้ายและนำมาย้อมสีจากเปลือกไม้ ใบไม้ หรือ วัตถุดิบตามท้องถิ่นที่สามารถนำมาย้อมสี ปัจจุบันจะใช้ด้ายสำเร็จมาถักทอผ้าหรือปักผ้าให้มีลวดลายที่สวยงามมากยิ่งขึ้น
ภาษากะเหรี่ยง มีภาษาพูดที่มีวรรณยุกต์ที่พูดโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธ์ หรือที่จะเรียกให้ดูสุภาพ คือ กลุ่มชาติพันธ์ุปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ซึ่งแบ่งออกเป็นสามสาขาหลัก คือ สะกอ โป และปะโอ คนในชุมชนบ้านพะโทและหย่อมบ้านพะแข่ จะใช้ภาษากะเหรี่ยงสะกอในการสื่อสารภายในชุมชนและในกลุ่มชาติพันธ์ุปกาเกอะญอ ผู้ใหญ่วัยกลางคนและผู้สูงอายุหรือผู้ที่ได้เล่าเรียนมาจะมีภาษาเขียนในบทสวดบทคำสอนที่เป็นลักษณะเฉพาะ
- การเคลื่อนย้ายของประชาชน ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆ ทำให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของคนในครัวเรือน ต่อมาสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน บางคนในครอบครัวก็ออกเรือนไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไปเรียนหนังสือเพื่อศึกษาหาความรู้ไปทำงาน
- การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนในชุมชนมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ตามยุคกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของสื่อในมิติต่างๆ ที่มีความรวดเร็ว รวมถึงการที่คนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานหรือศึกษาต่อในเมือง ทำให้ได้รับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางความคิดและความเชื่อ
- ชุมชนจะเผชิญกับปัญหาด้านธรรมชาติที่เกิดจากการเผาป่าและไฟป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่าและทำให้เกิดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ชุมชนหรือหมู่บ้านต้องเฝ้าระวังและจัดให้มีชุดตรวจลาดตระเวนและมีการจัดกิจกรรมทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าหรือเฝ้าระวังไฟป่า
ในชุมชนหรือหมู่บ้าน มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น โบสถ์พระแม่มารี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่กิ๊ โรงเรียนบ้านแม่กิ๊ ศูนย์การเรียนรู้ กศน.ตำบลแม่กิ๊
องค์การบริหารส่วนตำบลเเม่กิ๊. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น อบต.แม่กิ๊ (2566 – 2570). เข้าถึงได้จาก http://maeki-khunyuam.com/
กรมการปกครอง. สำนักทะเบียนอำเภอขุนยวม ที่ว่าการอำเภอขุนยวม. ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2564.
Google Maps.(2566). พิกัดแผนที่ชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps