Advance search

แหละโกล

เป็นชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติ และมีผลิตภัณฑ์ทอผ้ามือ

หมู่ที่ 2
บ้านห้วยส้าน
แม่กิ๊
ขุนยวม
แม่ฮ่องสอน
รณิดา นายวม, พนาพันธ์ วิชญพันธ์
16 มิ.ย. 2023
สุขใจ วิชญพันธุ์
12 ก.ค. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
11 ธ.ค. 2023
บ้านห้วยส้าน
แหละโกล


เป็นชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติ และมีผลิตภัณฑ์ทอผ้ามือ

บ้านห้วยส้าน
หมู่ที่ 2
แม่กิ๊
ขุนยวม
แม่ฮ่องสอน
58140
18.68850118
97.83315137
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊

บ้านห้วยส้าน ก่อตั้งหมู่บ้านก่อนบ้านแม่กิ๊ เมื่อปี 2400 โดยมีผู้ใหญ่คนแรก ชื่อ ตุ๊ เนอะเคอะ เป็นชาวกะเหรี่ยงนับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก อาชีพหลัก คือ ทำไร่ ทำนา ใช้แรงงานสัตว์ในการไถนา หมู่บ้านห้วยส้านมี 18 หลังคาเรือนและมีโรงเรียนหนึ่งหลัง มีประชากรทั้งหมด 50 คน แบ่งเป็นคนไทย 47 คน และคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิสถานะบุคคล จำนวน 3 คน 

เดิมบ้านห้วยส้าน ชื่อว่า "บ้านห้วยคี่" ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2450 โดยนายกือพาเป็นผู้นำหมู่บ้าน ก่อนที่นายกือพา จะมาตั้งรกรากเป็นหลักแหล่ง คนหมู่บ้านนี้ได้อาศัยอยู่ในเขตลำห้วยร่มเย็นมานานกว่า 250 ปี ผู้คนเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายไปย้ายมาในเขตห้วยร่มเย็น ดังจะเห็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ปรากฏว่าให้เห็นในแต่ละที่ ในอดีตชาวกะเหรี่ยงมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานตลอดเวลาเนื่องจากการเผชิญกับปัญหาที่ดินทำกินและความเชื่อต่าง ๆ เพราะสมัยนั้นชาวบ้านนับถือผีสาง

ต่อมามีมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวบ้านหันมานับถือศาสนาคริสต์และตั้งบ้านอยู่เป็นหลักแหล่งจนถึงปัจจุบัน ชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานมาเป็นระยะเวลา 252 ปี

บ้านห้วยส้าน อยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊ ประมาณ 3 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากบ้านร่มเย็น ประมาณ 6 กิโลเมตร และมีหย่อมบ้าน คือ บ้านร่มเย็น การเดินทางจากถนน 1337 ผ่านเปียงหลวง หมู่ที่ 5 ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก คสล.และถนนดินลูกรัง คล้ายกับบ้านแม่กิ๊

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านร่มเย็น
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเปียงหลวง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านเมืองปอน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยต้นนุ่น
สภาพพื้นที่ทางกายภาพพื้นที่หมู่บ้านห้วยส้าน มีสภาพเป็นเนินเขาและที่ราบ บ้านห้วยส้านจะมีไฟฟ้าใช้ ส่วนหย่อมบ้านร่มเย็น จะไม่มีไฟฟ้าใช้ และภายในจะมีลำน้ำห้วยส้านไหลผ่าน 

จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านห้วยส้าน จำนวน 101 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 256 คน แบ่งเป็นประชาชนกร ชาย 137 คน หญิง 119 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด ร้อยละ 99.99 ส่วนอีกร้อยละ 1 จะนับถือศาสนาพุทธ คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน 

ปกาเกอะญอ

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกกระเทียม ปลูกพืชไร่หมุนเวียน โดยเฉพาะช่วงที่ดำนาและขั้นตอนการเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีการเอามือกันเพื่อแลกเปลี่ยนกันและช่วยกันปลูกข้าวดำนา ปัจจุบัน คนในชุมชนเริ่มได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและหลากหลายขึ้นและมีบุตรหลาน ญาติพี่น้องบางส่วนก็รับราชการ เช่น ทหาร ครู นักการเมืองท้องถิ่น

ผู้คนส่วนใหญ่ มีอาชีพทำนา ทำสวน และทำไร่ โดยจะมีปฏิทินการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรที่เป็นประจำทุกปีคนในชุมชนบ้านห้วยส้าน มีวิถีชีวิตในรอบปี ดังนี้

  • เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม จะเตรียมพื้นที่ และแผ้วถางให้โล่งไว้ ส่วนเดือนเมษายนมีสภาพกาศที่ร้อนมาก จึงทำการเผาหญ้าที่แห้งแล้ว เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม เริ่มทำการเพาะปลูก ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด และปลูกพืชผักสวนครัว และเริ่มทำการไถนาและหว่านกล้าข้าวทิ้งไว้ บางรายทำไร่ข้าวก็จะทำหว่านข้าว เดือนสิงหาคม จะทำการปลูกข้าวในนา ชาวชุมชนจะผลัดกันลงแขกดำนาเป็นกลุ่ม เอาแรงใช้แรงกันไปจนหมดทุกที่ หากในปีนั้นเกิดโรคระบาดในนาข้าว นิยมให้วิธีแบบชาวปกาเกอะญอดั้งเดิม เช่น จะไปหาหน่อไม้ มาหั่นแช่ไว้ให้เกิดกลิ่นเปรี้ยวบูดหรือผลไม้ เช่น ส้มโอ มะนาว มาหั่นแล้วไปหว่านตามท้องนา  ทำให้แมลงที่เกาะตามข้าวย้ายไปกินหน่อไม้และผลไม้ที่หว่านทิ้งไว้ ในเดือนถัดไป จะทำการถางหญ้าบนคันนา และดูแลไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว จึงจะช่วยกันและผลัดกันเก็บเกี่ยวเป็นราย ๆไปจนเสร็จ ชาวชุมชนจะช่วยกันลงแขกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ในแต่ละวัน
  • เดือนพฤศจิกายน เป็นฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรและเกี่ยวข้าว หลังเก็บเกี่ยว จะปลูกกระเทียมและยาสูบในนา บางรายได้ต้อนวัวควายมาเลี้ยงในนา เพื่อเป็นการบำรุงดินจากมูลสัตว์ที่ขับถ่ายในนา

นอกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ในชุมชนยังมีกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ประเพณี ที่มักจะทำเป็นประจำทุกปี ดังนี้

  • วันขึ้นปีใหม่ ชาวชุมชนบ้านแม่กิ๊ จะมีการรดน้ำดำหัวให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวและในชุมชน จะมีการทำอาหารและขนมท้องถิ่น เลี้ยงเพื่อนบ้าน และการเยี่ยมบ้าน พูดคุยกัน มีการสวดมนต์ข้ามปีในคืนวันขึ้นปีใหม่
  • ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน จะมีการถือศีลอด หรือเทศกาลมหาพรต ตามวิถีชาวคริสตชน คือ การถือศีลอด โดยจะไม่กินเนื้อสัตว์ในวันพุธและวันศุกร์ จะรับประอาหารแค่วันละครั้งในปริมาณน้อย และงดการดื่มสิ่งมึนเมาทุกชนิด ในการถือศีลอดนั้น ถือเป็นการร่วมทรมานกับพระเยซูเจ้าผู้มาไถ่บาปเพื่อชาวคริสต์ ในช่วงค่ำจะมีการสวดมนต์ในโบสถ์ทุกวันและวันอาทิตย์จะมีพิธีทางศาสนาเพื่อสวดมนต์และรับพรจากพระผู้เป็นเจ้า ในวันอาทิตย์นั้นจะมีบาทหลวงเป็นผู้นำในการดำเนินการด้านพิธีการทางศาสนา และชาวชุมชนถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ในช่วงถือศีลอด จะมีการจัดกิจกรรมค่ายสอนให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม เรียนอักขระภาษากะเหรี่ยง เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของศาสนา และบทสวดต่าง ๆ และเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท หลังเสร็จสิ้นเทศกาลมหาพรต จะมีพิธีบูชามิสซาและเฉลิมฉลองปัสกา

1.นายชูศักดิ์ บุญระชัยสวรรค์ เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร เป็นหนึ่งในบุคคลที่ก่อตั้งบ้านห้วยคี่ ซึ่งปัจจุบันเป็นชื่อเป็น บ้านร่มเย็น

2.นางน้อย วงค์ใจประเสริฐ เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านผดุงครรภ์ และในเรื่องด้านการปกครองชุมชน

3.นางทำบุญ วนาคีรีพันธ์ มีความชำนาญด้านการนวดแผนโบราณ การจับเส้น และยังมีความรู้ในการนวดมดลูก ซึ่งเรียกว่า การโกยมดลูกแบบโบราณ สำหรับผู้หญิงที่มีลูกยาก

ทุนวัฒนธรรม

  • วันภาษา เป็นการจัดกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธ์ ที่เน้นให้ผู้มาร่วมงานรู้จักวิถีการดำรงชีวิต เช่น เรื่องการอาหาร น้ำดื่มสมุนไพร จักสาน การทอผ้า และการผูกข้อมือรับขวัญ
  • ค่ายคำสอน เป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กๆที่มีอายุตั้ง 7 ขวบ เข้าร่วมกิจกรรม จะมีการจัดฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ให้เด็กๆได้รู้จักภาษา วิถีชีวิต การรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกและสร้างความสามัคคี
  • ปลูกป่า บวชป่า เป็นกิจกรรมที่จัดให้ประชาชนและทุกคนในตำบล หันมาใส่ใจและดูแลหวงแหนป่าไม้
  • อาหาร ชาวปกาเกอะญอมีอาหารที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวปกาเกอะญอ คือ ข้าวเบร๊อะ เป็นอาหารที่มีรสชาติกลมกล่อมและอร่อย มีรสชาติหวาน จากผักผงชูรสดอย (ห่อทีล่ะ) ผักที่สามารถนำมาใช้ในการทำข้าวเบร๊อะ เช่น หน่อไม้ หน่อคาหาน (กอฮอดึ) หน่อหวาย ยอดฟักทอง   
  • ขนมต้มเขาควาย (เมตอ) คือ การทำขนมเพื่อใช้ในพิธีมัดมือ และพิธีปีใหม่ ซึ่งเป็นขนมมงคล ที่แต่ละบ้านจะทำขึ้นมาเพื่อประกอบพิธีกรรมและแจกจ่ายให้กับผู้มาเยี่ยมเยือน
  • ขนมหนุกงา (เมตอปี่) คือ ขนมที่ชาวปกาเกอะญอ จะทำขึ้นในช่วงปีใหม่ ซึ่งแต่ละบ้านจะทำแจกจ่ายญาติพี่น้องหรือว่าผู้มาเยี่ยมเยือน
  • การแต่งกาย บ้านแม่กิ๊ และหย่อมบ้านห้วยคลองเซ เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีฝีมือทางด้านการเย็บและปักเสื้อผ้าเมื่อมีเวลาว่างหรือเว้นจากช่วงทำไร่ ทำนา กลุ่มสตรีหรือกลุ่มแม่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้า จะจัดกลุ่มชุมนุมกันเพื่อปักผ้าทอซิ่น กระเป๋ายาม ผ้าโผกหัว ฯลฯ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและจำหน่ายบางส่วน ซึ่งผู้ชายจะใส่เสื้อทอกับกางเกงสะดอ ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อทอกับผ้าถุงทอ และสำหรับหญิงสาวจะใส่เป็นชุดทอยาวคล้ายชุดเดรส ด้ายหรือไหมจะย้อมสีจากธรรมชาติ ผลิตจากฝ้ายและนำมาย้อมสีจากเปลือกไม้ ใบไม้ หรือ วัตถุดิบตามท้องถิ่นที่สามารถนำมาย้อมสี

ภาษากะเหรี่ยง มีภาษาพูดที่มีวรรณยุกต์ที่พูดโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง หรือคำเรียกสุภาพ คือ กลุ่มชาติพันธ์ุปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แบ่งออกเป็น 3 สาขาหลัก คือ สะกอ โปว์ และปะโอ ผู้คนในชุมชนบ้านพะโทและหย่อมบ้านพะแข่ จะใช้ภาษากะเหรี่ยงสะกอในการสื่อสารภายในชุมชนและในกลุ่มชาติพันธ์ปกาเกอะญอ และกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคนและผู้สูงอายุหรือผู้ที่ได้เล่าเรียนมา จะมีภาษาเขียนในบทสวดบทคำสอนที่เป็นลักษณะโดยเฉพาะ


  • การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนในชุมชนมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ตามยุคกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของสื่อในมิติต่างๆ ที่มีความรวดเร็ว รวมถึงการที่คนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานหรือศึกษาต่อในเมืองกรุง ทำให้ได้รับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางความคิดและความเชื่อ
  • การเคลื่อนย้ายของประชากร ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆ ทำให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของคนในครัวเรือน ต่อมาสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน บางคนในครอบครัวก็ออกเรือนไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง  ไปเรียนหนังสือเพื่อศึกษาหาความรู้และการทำงานนอกชุมชน  

  • ชุมชนจะเผชิญกับปัญหาด้านธรรมชาติที่เกิดจากการเผาป่าและไฟป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่าและทำให้เกิดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ชุมชนหรือหมู่บ้านต้องเฝ้าระวังและจัดให้มีชุดตรวจลาดตระเวนและมีการจัดกิจกรรมทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าหรือเฝ้าระวังไฟป่า

ในชุมชนมีจุดสนใจอื่น ๆ ดังนี้

  • โรงเรียนบ้านห้วยส้าน แต่เดิมเป็นโรงเรียนเก่าของตำรวจตระเวนชายแดนที่มีสภาพทรุดโทรม และได้ปรับเป็นโรงเรียนรัฐจนถึงปัจจุบัน โดยมีนายเกษม ฐิติมโนกุล เป็นครูคนแรกโดยมีบาทหลวงเป็นผู้ว่าจ้าง
  • อาศรม หรือ สถานปฏิบัติธรรม แห่งเดียวในตำบลแม่กิ๊ เจ้าพระครูวัดม่วยต่อ ขุนยวม มาปฏิบัติธรรมและเผยแพร่ศาสนาพุทธ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าเจ้าพระครูในสมัยนั้น 
  • โบสถ์ไม้บ้านห้วยส้าน เป็นสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์
  • สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น อบต.แม่กิ๊ (2566 – 2570). เข้าถึงได้จาก http://maeki-khunyuam.com/ 

กรมการปกครอง. (2564). สำนักทะเบียนอำเภอขุนยวม ที่ว่าการอำเภอขุนยวม. ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2564.

Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps