Advance search

"กู่ฤาษี" ปราสาทหินโบราณ พุทธศาสนสถานเก่าแก่นิกายมหายาน ร่องรอยอารยธรรมขอมแถบอีสานใต้ในอดีต อโรคยาศาลหรือสถานพยาบาลแห่งราชอาณาจักรขอม ศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนมานานหลายร้อยปี

หมู่ที่ 4
กู่ฤาษี
หนองเยือง
บ้านใหม่ไชยพจน์
บุรีรัมย์
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
12 ธ.ค. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
12 ธ.ค. 2023
บ้านกู่ฤาษี

ชุมชนบ้านกู่ฤาษี ตั้งชื่อชื่อตามโบราณสถานสำคัญที่อยู่ในบริเวณชุมชนคือ "กู่ฤาษี" จึงได้นำชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อชุมชน


ชุมชนชนบท

"กู่ฤาษี" ปราสาทหินโบราณ พุทธศาสนสถานเก่าแก่นิกายมหายาน ร่องรอยอารยธรรมขอมแถบอีสานใต้ในอดีต อโรคยาศาลหรือสถานพยาบาลแห่งราชอาณาจักรขอม ศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนมานานหลายร้อยปี

กู่ฤาษี
หมู่ที่ 4
หนองเยือง
บ้านใหม่ไชยพจน์
บุรีรัมย์
31120
15.54717893314281
102.80275342784446
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเยือง

ชุมชนบ้านกู่ฤาษีก่อตั้งขึ้นจากการอพยพย้านถิ่นฐานของผู้คนที่ต้องการแสวงหาที่อยู่ใหม่และเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณชุมชนปัจจุบัน โดยผู้นำในการย้านถิ่นฐาน คือ นายตุ่น-นางจันทร์ เทศไธสง นายคง-นางอยู่ เทศไธสง นายสูง-นางจ่อย เทศไธสง นายแหยม เทศไธสง และนายโม่ เทศไธสง นำผู้คนมาตั้งถิ่นฐานเป็นครั้งแรก ซึ่งอพยพมาจากบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ-สงคราม ในราวปี พ.ศ. 2341 และต่อมาก็มีผู้คนอพยพเข้ามาเพิ่มเติมจาก บ้านครบุรี บ้านหนองไม้ตาย จากเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน และได้ใช้ชื่อของกู่ฤาษีมาตั้งเป็นชื่อชุมชน และอยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านกู่ฤาษี ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้กับเขตติดต่ออำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมาทางด้านทิศตะวันตก สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำแอกและลำน้ำสะแทดไหลผ่าน และพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ราบสลับพื้นที่ดอน  ส่วนใหญ่ใช้สำหรับทำเกษตรกรรมตามฤดูกาล และสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใกล้กับบริเวณชุมชน 

บ้านกู่ฤาษี ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีประชากรทั้งหมดจำนวน 177 ครัวเรือน แบ่งเป็นประชากรชาย 256 คน ประชากรหญิง 256 คน รวมประชากรทั้งสิ้นจำนวน 512 คน

ไทโคราช

บ้านกู่ฤาษี ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่กันเป็นกลุ่มชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกันตามวิถีชุมชนชนบทอีสาน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน ปลูกพืชผักตามฤดูกาล เลี้ยงสัตว์ อาชีพทอผ้า ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทำเครื่องจักสาน ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป

ชุมชนบ้านกู่ฤาษี ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบชาวอีสานตามพื้นที่ชนบทโดยทั่วไป ชีวิตประจำวันเกี่ยวเนื่องกับวิถีเกษตรกรรมแบบท้องถิ่นอีสาน ผนวกกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ยึดโยงกันระหว่างผู้คน ชุมชน และศาสนาเข้าด้วยกัน มีจารีตพื้นถิ่นดั้งเดิมของชุมชนคือ ฮีต 12 คอง 14 ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • ปรางค์กู่ฤาษี
  • วัดกู่ฤาษี
  • ผ้าไหม
  • เครื่องจักสาน

ทุนธรรมชาติ

  • ลำแอก
  • ลำสะแทด
  • ดิน
  • ป่าไม้
  • สัตว์เลี้ยง

ชุมชนบ้านกู่ฤาษี ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ สื่อสารกันโดยใช้ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นโคราช ซึ่งใช้ติดต่อสื่อสารกันในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กู่ฤาษี

"กู่ฤาษี" ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านกู่ฤาษี ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นศาสนสถานของพุทธศาสนานิกายมหายาน เป็นโบราณสถานศิลปะขอม ช่วงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นอโรคยาศาสหรือสถานพยาบาลแบบขอมโบราณ ที่พบได้ในแถบพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทย มีโครงสร้างประกอบด้วย

  • ปรางค์ประธาน ลักษณะขององค์ปรางค์มีทางเข้าด้านเดียว คือทางด้านหน้าซึ่งหันไปทางทิศตะวันออก มีประตูหลอก 3 ด้าน
  • กำแพงแก้ว หินศิลาแลงแกะสลักนำมาวางเรียงโดยรอบองค์ปรางค์ประธาน สูงประมาณ 1.2-1.5 เมตร มีซุ้มประตูทางเข้าทางเดียว เรียกว่า ซุ้มโคปุระ
  • ซุ้มโคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้าออกบริเวณกำแพงแก้วเชื่อมต่อช่องทางเดินระยะทางประมาณ 3-4 เมตร กว้าง 1.5-1.8 เมตร
  • บรรณาลัย เป็นอาคารสร้างด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ภายในกำแพงแก้วใกล้กับโคปุระ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูเข้าออกทางเดียว ใช้สำหรับเก็บของหรือประกอบพิธีกรรม
  • บาราย/สระน้ำขนาดเล็ก เป็นบ่อน้ำที่อยู่นอกกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 12 เมตร ยาว 12 เมตร ลึกพอประมาณ มีหินศิลาแลงวางเรียงกันเป็นแนวเอียงเป็นรูปสระทั้งสี่ด้านลงไปจนถึงก้นบ่อเพื่อป้องกันดินพังทับถม

ถนอม บุญประจง. (2562). ความทรงจำพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาในเขตพื้นที่อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ กรณีศึกษา: ปรางค์กู่สวนแตง กู่ฤาษี และพระพุฒาจารย์. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาศาสนาและภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (ม.ป.ป.). กู่ฤาษีหนองเยือง: สถานขจัดทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ ของราษฎร ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ แห่งบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566, จาก https://www.finearts.go.th/ratchaburimuseum/

workpointtoday. (2562). ของดีบุรีรัมย์ ชวนสัมผัสชุมชนน่ารัก "บ้านกู่ฤาษี" เที่ยวปรางค์กู่ฯ-ดูพญานาค. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566, จาก https://workpointtoday.com/