Advance search

บ้านหินตั้ง

"หมู่บ้านหลักหิน ถิ่นหลวงพ่อแสง ผ้าไหมตีนแดง แหล่งเห็ดโคนเห็ดไคหอม" บูชาหลวงพ่อดู่พระคู่บ้านคู่เมือง ชมสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมชุมชน พื้นที่แห่งมนต์เสน่ห์น่าหลงใหลชวนให้สัมผัสกับวิถีพื้นบ้านอีสาน

หมู่ที่ 13
หลักศิลา
หนองแวง
บ้านใหม่ไชยพจน์
บุรีรัมย์
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
12 ธ.ค. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
12 ธ.ค. 2023
บ้านหลักศิลา
บ้านหินตั้ง

มีการค้นพบหลักหินตั้งอยู่ในบริเวณชุมชน จึงได้ตั้งชื่อบริเวณพื้นที่นั้นว่าบ้านหินตั้ง และเปลี่ยนมาเป็นบ้านหลักศิลาในปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

"หมู่บ้านหลักหิน ถิ่นหลวงพ่อแสง ผ้าไหมตีนแดง แหล่งเห็ดโคนเห็ดไคหอม" บูชาหลวงพ่อดู่พระคู่บ้านคู่เมือง ชมสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมชุมชน พื้นที่แห่งมนต์เสน่ห์น่าหลงใหลชวนให้สัมผัสกับวิถีพื้นบ้านอีสาน

หลักศิลา
หมู่ที่ 13
หนองแวง
บ้านใหม่ไชยพจน์
บุรีรัมย์
31120
15.574113658545516
102.92076900197874
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง

บ้านหลักศิลาเดิมชื่อ "บ้านหินตั้ง" ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงเป็นป่าชื่อว่า "ดงบาก" มีความอุดมสมบูรณ์ พันธุ์ไม้ต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด มีหนองน้ำตามธรรมชาติขนาดกลางและขนาดเล็กในบริเวณโดยรอบ จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2407 ได้มีผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงได้นำสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย และได้บุกเบิกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา จนเกิดเป็นชุมชนขึ้น โดยผู้ก่อตั้งมาจากบ้านเก่างิ้ว อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น และยังมีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้อพยพเข้ามาอาศัย จากบ้านจิก บ้านแวง บ้านหายโศก ในอำเภอพุทไธสงในปัจจุบัน บางคนเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองพุทไธสงคนแรก คือพระยาเสนาสงคราม (เพี้ย ศรีปาก) ผู้คนอพยพมาเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ขึ้น และได้ตั้งชื่อว่า "บ้านหนองเมืองเสี่ยว" เพราะบริเวณหนองน้ำและป่าในแถบนั้นมีต้นหมากเสี่ยว (ภาษาอีสาน) ขึ้นอยู่มาก ต่อมาได้มีการค้นพบหลักหิน สูงประมาณ 150 เซนติเมตร จากนั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2470 กระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นตามลักษณะการปกครองประเทศ จึงมีการเปลี่ยนชื่อจากบ้านหนองเมืองเสี่ยวเป็นชื่อ "บ้านหินตั้ง" ตามหลักหินที่ค้นพบ

ชุมชนบ้านหลักศิลา ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 140-150 เมตร สภาพโดยทั่วไปพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ใช้สำหรับทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำนาตามฤดูกาล และพื้นที่บางส่วนใช้สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย สภาพพื้นดินโดยมากเป็นดินเหนียวปนทราย มีแหล่งน้ำกระจายอยู่บริเวณโดยรอบชุมชนตามพื้นที่ทางการเกษตร และต้นไม้ส่วนมากเป็นพันธุ์ไม้ป่าเบญจพรรณ

ชุมชนบ้านหลักศิลา ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่แบบพึ่งพาอาศัย รักใคร่สามัคคีกลมเกลียวกัน โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน ประกอบด้วย

  • บ้านหินตั้ง หมู่ที่ 11 มีจำนวน 105 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 192 คน หญิง 207 คน รวมประชากร 399 คน
  • บ้านหลักศิลา หมู่ที่ 13 มีจำนวน 166 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 310 คน หญิง 310 คน รวมประชากร 620 คน

ชุมชนบ้านหลักศิลา ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการประกอบอาชีพที่มีความหลากลหาย โดยส่วนใหญ่ประชากรจะประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ทำนาตามฤดูกาล ทำไร่ ทำสวน ปลูกพัก เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อจำหน่าย การเลี้ยงกบ การเกษตรวิถีพอเพียง ฯลฯ และยังมีกลุ่มอาชีพอื่น ๆ เช่น "ศูนย์เรียนรู้ครัวชุมชน บ้านหลักศิลา" ศูนย์อาชีพทอผ้า ทำเครื่องจักสาน และมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนต่าง ๆ จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย และเครื่องจักสาน เป็นสินค้าชุมชนที่ช่วยสร้างรายได้เสริม

ชุมชนบ้านหลักศิลา ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ประชากรส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก ดังนั้นวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนจึงมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ฤดูกาล เวลา สภาพอากาศและสภาพภูมิศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับวิถีชีวิตของชาวอีสานตามบริบทโดยทั่วไป และนอกจากนี้ชุมชนหลักศิลายังยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติแบบอีสาน คือ ฮีต 12 คอง 14 ที่เป็นวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และยังคงรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • สิมโบราณวัดหลักศิลา : อุโบสถโบราณศิลปะช่างท้องถิ่น
  • หลวงพ่อดู : พระพุทธรูปไม้โบราณทำจากไม้ประดู่ทั้งองค์
  • หลักศิลา : เสาหินเก่าแก่อันเป็นที่มาของชื่อชุมชน

ทุนภูมิปัญญา

  • ผ้าไหม
  • เครื่องจักสาน

ชุมชนบ้านหลักศิลา ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีการใช้ภาษาอีสานสำเนียงท้องถิ่นในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในชุมชน นอกชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อุโบสถวัดหลักศิลา

อุโบสถวัดหลักศิลาสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2454 โดยการนำของพระอาจารย์ขุน สุวรรณทา และพ่อใหญ่หลวงราช เป็นผู้นำพาชาวบ้านก่อสร้างอุโบสถ โดยชาวบ้านร่วมกันเดินเท้าไปหาบทรายที่ลำสะแทด อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร จากนั้นนำมาผสมกับดินและแกลบขึ้นรูปเป็นก้อนอิฐแล้วนำไปเผา โดยสร้างเตาเผาอยู่ใกล้ ๆ กับต้นโพธิ์บริเวณเมรุในปัจจุบัน ทำให้ได้วัสดุก่อผนังอุโบสถ และใช้ไม้ประดู่ที่หาได้จากป่าโคกลอง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรจากวัด เมื่อได้วัสดุก่อสร้างเพียงพอจึงเริ่มก่อสร้างอุโบสถหลังนี้จึงถือเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นฝีมือของชาวบ้าน ผู้อาวุโสในชุมชนที่มีอายุประมาณ 70-80 ปี กล่าวว่าจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษไม่เคยได้ยินเรื่องเล่าใดว่ามีช่างญวน หรือช่างกุลามารับจ้างก่อสร้างเหมือนอุโบสถอื่นในภาคอีสาน แต่เล่าว่ามีเพียงช่างญวนมาสร้างธาตุครอบหินตั้ง

อาคารเป็นอุโบสถแบบทึบ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 3 ห้อง ผังพื้นเป็นทรงโรงแบบมีเสาร่วมใน เสาและโครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 6.68 เมตร ยาว 10.15 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ที่เชิงผนังด้านหน้าและด้านข้างทั้งด้านนอกและด้านในเจาะเป็นช่องประทีป ผนังด้านข้างของอาคารด้านทิศเหนือและใต้มีช่องหน้าต่าง จำนวน 2 ช่อง ทำเป็นหน้าต่างหลอก จำนวน 1 ช่อง มีลักษณะคล้ายหน้าต่างภายนอกเจาะเป็นช่องกรุขอบด้วยไม้เป็นกรอบ ภายในเขียนภาพช่องสี่เหลี่ยมคล้ายบานหน้าต่างปิดอยู่ และผนังด้านทิศตะวันตกก่อทึบ บริเวณพื้นที่สังฆกรรมมีหลังคาทรงปั้นหยา โครงสร้างหลังคามีคอสองซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น โดยพื้นที่สังฆกรรมเชื่อมต่อกับพื้นที่โถงที่มีหลังคาทรงจั่วแบบมีมุขหน้าโครงสร้างหลังคาไม้เนื้อแข็งมุงด้วยแผ่นหลังคาสังกะสีแบบลอนเล็กสีน้ำตาล มีรางน้ำสังกะสีรับน้ำจากรอยต่อของหลังคา ผนังด้านนอกมีการเขียนภาพจิตรกรรม ด้านทิศตะวันออกเขียนภาพสัตว์ ด้านทิศตะวันตกเขียนภาพช้าง ผนังด้านข้างของห้องด้านทิศตะวันออกเขียนภาพพระพุทธรูปและที่หน้าต่างเขียนรูปลายประดับ ส่วนหลังคาบริเวณคอสองเขียนภาพคนและม้า แต่สภาพลบเลือนเป็นอย่างมาก กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ (เสด็จออกผนวช) ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน มีทั้งองค์ที่สร้างขึ้นในอดีตและองค์ที่สร้างขึ้นในปัจจุบัน องค์เดิมที่สร้างขึ้นมีรูปแบบศิลปะล้านช้างสร้างจากไม้ประดู่ ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อดู่" ประดิษฐานบนฐานชุกชีซึ่งก่อขึ้นใหม่ทับฐานชุกชีเดิม บริเวณภายนอกอุโบสถเดิมฝังเสมาหรือนิมิตทรงกลมอยู่โดยรอบ ห่างจากตัวอาคารประมาณ 4 เมตร ซึ่งสามารถมองเห็นได้ แต่ภายหลังมีการถมดินบริเวณนี้จึงกลบลูกนิมิตไม่อาจมองเห็นได้

ลักษณะเด่น อุโบสถวัดหลักศิลามีลักษณะเด่นที่มีรูปลักษณ์ของโครงสร้างตัวอาคารเด่นกว่าอุโบสถอีสานพื้นบ้านที่พบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะมีลักษณะที่แปลกตาออกไป คือมีหลังคาเป็นหลังคาทรงปั้นหยาคอสอง 2 ชั้น ซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับด้วยไม้เชิงชายแกะลาย มีช่องประทีปทั้งด้านนอกและด้านใน มียอดฉัตรไม้อยู่บนหลังคาโถงด้านหน้า และอยู่บนยอดหลังคา

สมบัติ ประจญศานต์. (2559). "โครงการวิจัยภูมิปัญญาการกําหนดพื้นที่ภายในสิมอีสาน". เสนอต่อ สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง. (2562). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561 - พ.ศ. 2565). องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์.

workpointtoday. (2562). มาแล้วจะรัก "บ้านหลักศิลา" ไหว้หลวงพ่อดู่ ทำจากไม้ประดูทั้งองค์ เช็กอินต้นมะม่วงยักษ์อายุกว่า 100 ปี. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566, จาก https://workpointtoday.com/