Advance search

ชุมชนขนาดใหญ่ริมแม่น้ำชีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับที่มาของจังหวัดขอนแก่น ดินแดนที่ยังรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ

หมู่ที่ 6, 7, 10, 13
ดอนบม
เมืองเก่า
เมืองขอนแก่น
ขอนแก่น
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
2 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
2 ม.ค. 2024
บ้านดอนบม

ชื่อบ้านดอนบมมีที่มาจากคำว่า "โบม บม หรือกะโบม" ซึ่งเป็นภาษาถิ่นอีสาน หมายถึงภาชนะที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเป็นวงกลมมีด้ามจับขนาดสั้น เป็นอุปกรณ์สำหรับคนข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ ๆ เรียกว่า "ส่าย" เพื่อระบายความร้อนก่อนที่จำนำไปใส่กระติบข้าวเหนียว 


ชุมชนขนาดใหญ่ริมแม่น้ำชีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับที่มาของจังหวัดขอนแก่น ดินแดนที่ยังรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ

ดอนบม
หมู่ที่ 6, 7, 10, 13
เมืองเก่า
เมืองขอนแก่น
ขอนแก่น
40000
16.37829380256765
102.84659031201167
เทศบาลตำบลเมืองเก่า

ชุมชนบ้านดอนบม ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 200 ปี บรรพบุรุษของชุมชนเป็นชาวลาว และชาวเขมรที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ โดยเป็นชุมชนที่เกิดจากการค้าขายผ่านการสัญจรทางน้ำบริเวณท่าน้ำริมแม่น้ำชี ซึ่งบ้านดอนบมเป็นท่าเรือสินค้ามาตั้งแต่อดีต และต่อมาจึงได้ลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้น บ้านดอนบมเริ่มมีการจารึกเป็นหลักฐานจริง ๆ ในสมัยการตั้งเมืองขอนแก่นที่บ้านดอนบม ซึ่งขณะนั้นเรียก “เมืองดอนบม” (ต่อมาเปลี่ยนเป็นเมืองขอนแก่น) ในราว พ.ศ. 2410 ซึ่งผู้ที่ตั้งเมืองตามหลักฐานได้กล่าวว่า ท้าวเพี้ยเมืองแพนได้อพยพครอบครัวชาวลาวจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) พ.ศ. 2321 (จ.ศ. 1120) หลังจากที่เจ้าพะยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เพี้ยเมืองแพนพาครอบครัวอพยพมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านซี่โล่น แขวงเมืองทุ่ง สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ขึ้นตรงต่อมณฑลนครราชสีมา อยู่ได้หลายปีจึงอพยพจากบ้านซีโล่นมาตั้งที่บ้านบึงบอน (บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น) เนื่องจากเพี้ยเมืองแพนมีธิดาองค์หนึ่งซึ่งนางคำแว่น เป็นสนมอยู่ที่เมืองหลวง (กรุงธนบุรี) ได้ทำความดีมาก จึงโปรดเกล้าให้พระราชทานนามแก่บิดาของนางคำแว่น ซึ่งอยู่ที่บ้านบึงบอนว่า พระยานครศรี บริรักษ์ ตั้งแต่นั้นมาจนสวรรคต ต่อมาบ้านบึงบอนจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ เมืองขอนแก่น ตามชื่อและตามนามของต้นมะขามตั้งอยู่ที่บ้านบึงบอนได้ 22 ปี

ท้าวจาม บุตรของพระยานครศรีบริรักษ์ย้ายเมืองจากบ้านบึงบอน ได้ตั้งเมืองใหม่ที่บ้านดอนพันชาด หรือบ้านโนนเมือง ตำบลบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2354 (จ.ศ. 1173) ท้าวจามก็ได้รับพระราชทานยศตามบิดา คือ เป็นพระยานครศรีบริรักษ์ เดิมตั้งอยู่ที่บ้านดอนพันชาดได้ 27 ปี ท้าวจามสวรรคต ท้าวอินบุตรได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนและได้รับพระราชทานยศเป็นพระยานครศรีบริรักษ์

ต่อมาพระยานครศรีบริรักษ์ (อิน) ได้ย้ายจากบ้านดอนบมพันชาดมาตั้งที่บ้านโนนทัน เมื่อพระยานครศรีบริรักษ์ (อิน) ถึงแก่กรรม ตำแหน่งเมืองจึงตกไปอยู่กับเจ้ามุ่งน้องชาย แต่เจ้ามุ่งอยู่บ้านนักกระบาก (ริมทุ่งสร้าง) จึงให้หลวงศรีวรวงศ์ ผู้เป็นหลานเป็นผู้ช่วยดูแลเมืองแทน ซึ่งต่อมาหลวงศรีวรวงศ์ได้รับพระราชทานนามว่า "ราชบุตรเมืองขอนแก่น" พ.ศ. 2410 หลวงศรีวรวงศ์ ได้ย้ายเมืองจากบ้านโนนทันมาตั้งที่บ้านดอนบม ถึงปี พ.ศ. 2420 หลวงศรีวรวงศ์ได้รับโปรดเกล้าให้เลื่อนยศเป็น "พระนครศรีบริรักษ์" เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่นั้นมา ระหว่างอยู่ที่บ้านดอนบมได้สร้าง วัดขึ้นมา 3 วัด คือ 1) วัดกลางบุรี 2) วัดใต้ 3) วัดเหนือ ซึ่งเมื่อมีผู้ตรวจราชการเมืองมาตรวจเมืองขอนแก่นทางน้ำจะขึ้นที่ท่าน้ำชีวัดเหนือ จึงเปลี่ยนชื่อจากวัดเหนือเป็นวัดท่าราชไชยศรี ในปี พ.ศ. 2434 ในรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนการปกครองหัวเมืองใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือให้เป็นหัวเมืองลาวพวน ดังนั้น เมืองขอนแก่นจึงขึ้นกับเมืองลาวพวน ในสมัยนั้นได้มีสายโทรเลข ที่เดินจากเมืองนครราชสีมา ผ่านเมืองชนบท เข้าเขตเมืองขอนแก่นข้ามลำน้ำชีที่ท่าหมากทัน ตรงไปท่าพระ บ้านทุ่ม โดยไม่เข้าเมืองขอนแก่น และตรงไปข้ามลำน้ำพองไปบ้านหมากแข้งเมืองอุดรธานี กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลทรงดำริว่า ที่ว่าการเมืองขอนแก่นที่ตั้งอยู่ที่บ้านดอนบมไม่สะดวกแก่ราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนครศรีบริรักษ์ (อุ) ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่บ้านทุ่ม (อำเภอเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน) ในปลาย พ.ศ. 2434 และเปลี่ยนนามตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง

ในปี พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานบรรดาศักดิ์ท้าวหนูหล้าปลัดเมืองขอนแก่นเป็นพระพิทักษ์สารนิคม และในปี พ.ศ. 2441 ก็ได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านทุ่ม กลับไปตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่าตามเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า บ้านทุ่มนั้นกันดารน้ำในฤดูแล้ง

บ้านดอนบม มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มฝั่งแม่น้ำชี สลับกับที่เนินสูงริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่มีความลาดเอียงเล็กน้อยลงไปทางด้านทิศตะวันออก โดยทั่วไปสองฝั่งแม่น้ำจะเป็นเนินสูงแล้วลาดต่ำลงจนเป็นที่ราบซึ่งเกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่พัดพามาในฤดูน้ำหลากและมักจะเป็นดินทราย ถัดออกมาจะเป็นดินร่วนปนทรายมากขึ้นตามลำดับ มีความอุดมสมบูรณ์ไม่มากนัก บ้านดอนบม อาศัยแม่น้ำชีทำมาหากินเกือบทุกฤดูกาล ปัจจุบันที่มีคลองส่งน้ำชลประทานแต่ก็ยังไม่ทั่วถึงนัก การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านเป็นแบบเรียงยาวเลียบฝั่งแม่น้ำชีตามแนวทิศตะวันออกขึ้นไปทางตะวันตกเป็นระยะยาวเกือบสองกิโลเมตร แรกเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานเป็นแบบกระจายแต่ต่อมาได้มีการปรับปรุงและตัดถนนในหมู่บ้านให้เป็นระเบียบ ผู้คนจึงตั้งถิ่นฐานโดยยึดถนนเป็นสำคัญ จึงกล่าวได้ว่าการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านเป็นแบบกระจุกตัว สลับกับเรียงยาวแบบฝักถั่ว

ชุมชนบ้านดอนบม ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนเก่าแก่และเป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ชุมชนประกอบด้วย

  • บ้านดอนบม หมูที่ 6 มีจำนวน 581 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 639 คน หญิง 650 คน รวมประชากร 1,289 คน
  • บ้านดอนบม หมูที่ 7 มีจำนวน 2,349 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 1,745 คน หญิง 2,094 คน รวมประชากร 3,839 คน
  • บ้านดอนบม หมูที่ 10 มีจำนวน 585 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 653 คน หญิง 763 คน รวมประชากร 1,416 คน
  • บ้านดอนบม หมูที่ 13 มีจำนวน330 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 514 คน หญิง 545 คน รวมประชากร 1,059 คน

เนื่องจากชุมชนบ้านดอนบม ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่มาก จึงมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพของแต่ละครัวเรือน ทั้งอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเนื่องจากมีแม่น้ำชีเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญที่ไหลผ่านชุมชน ทั้งการทำนา ปลูกพืชผักต่าง ๆ ริมฝั่งแม่น้ำชี มีทั้งในรูปแบบของการปลูกไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน แจกจ่ายในชุมชนและในเชิงพาณิชย์บ้าง นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีก ตัวอย่างเช่น เลี้ยงสัตว์ ทำสวน ค้าขาย รับจ้างทั่วไป เป็นต้น 

ชุมชนบ้านดอนบม ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนที่ยังคงสืบสานและรักษาประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยยึดตามหลักจารีตแบบอีสานดั้งเดิมคือ ฮีตสิบสองคองสิบสี่

  • เดือนอ้าย : บุญข้าวกรรม
  • เดือนยี่ : บุญคูณลาน
  • เดือนสาม : บุญข้าวจี่
  • เดือนสี่ : บุญพระเวส
  • เดือนห้า : บุญสงกรานต์
  • เดือนหก : บุญบั้งไฟ
  • เดือนเจ็ด : บุญซำฮะ (บุญเบิกฟ้า)
  • เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
  • เดือนสิบสอง : บุญกฐิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แม่น้ำชี เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของชุมชน เนื่องจากชุมชนใช้ประโยชน์ทั้งด้านการอุปโภค บริโภค และการปศุสัตว์ ฯลฯ

ท่าวังมนต์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้ทำพิธีตักน้ำจากท่าวังมนต์เพื่อใช้ทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น งานฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี และงานเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยคณะพราหมณ์และข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัดมาทำพิธีตักน้ำและนำเข้าเฝ้าในหลวง พระพุทธรูปใหญ่ที่ชาวบ้านเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ "หลวงพ่อพุทธวังมนต์" ศาลหลวงปู่วังมนต์ พร้อมทั้งมีท่าเรือในอดีตที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ และยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ เช่น งานเข้ากรรมปริวาสกรรม งานบวชเนกขัมจาริณีและฟังธรรมเทศนาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ใหญ่ คือ จะมีต้นยางขนาดใหญ่หลายสิบต้น ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน

ชุมชนบ้านดอนบม ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ใช้ภาษาถิ่นอีสานในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในชุมชนและระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ


บ้านดอนบมเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์และความสะดวกสบายในด้านต่าง ๆ เช่น การคมนาคม การสาธารณสุข ตลอดจนการประกอบอาชีพที่มีความมั่นคงจึงไม่มีการอพยพออกจากหมู่บ้าน หมู่บ้านดอนบมได้มีการขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ เมื่อมีคนอพยพมาจากหลาย ๆ แห่ง ได้นำเอาวัฒนธรรมและประเพณีอื่น ๆ มาด้วย แต่เมื่ออยู่นานเข้าก็กลายเป็นวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนได้เป็นอย่างดี ในด้านสังคมทั่วไปบ้านดอนบมเป็นสังคมที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ประกอบกับองค์เครือญาติมีอิทธิพลมาก ทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมของคนในหมู่บ้านสงบสุข


ชาวบ้านดอนบมส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ มีบางครอบครัวที่นับถือศาสนาอื่นบ้าง ปัจจุบันชุมชนบ้านดอนบมมีวัดเป็นศูนย์รวมในการปฏิบัติกิจในทางศาสนาอยู่ 2 แห่ง คือ วัดกลางบุรี และวัดเหนือ (วัดท่าราชไชยศรี) ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในส่วนของการปกครองของ 2 หมู่บ้าน คือ วัดกลางบุรี ในเขตการปกครองของบ้านดอนบม หมู่ที่ 6 และวัดท่าราชไชยศรีอยู่ในเขตการปกครองของบ้านดอนบม หมู่ที่ 7 วัดทั้งสองแห่งเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมต่าง ๆ และเป็นที่ให้ชาวบ้านศึกษาพระธรรมวินัย อบรมธรรม และปฏิบัติภารกิจทางศาสนาได้เป็นอย่างดี ส่วนวัดเก่าซึ่งมีความเจริญมาในอดีตนั้น คือ วัดท่าวังมนต์ ปัจจุบันคงเหลือหลักฐานอยู่น้อยมากเพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ ปัจจุบันชาวบ้านได้ร่วมมือกันสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 5 ศอก สูง 5 ศอก ขึ้นในบริเวณวัดเดิม จึงเป็นที่สักการะของหมู่บ้านสืบต่อกันมา และบริเวณวัดเก่าท่าวังมนต์นั้นเป็นที่สงบเงียบวังเวงมีร่มไม้ใหญ่พักผ่อนเย็นสบายและปฏิบัติธรรม ประกอบกับทิวทัศน์สวยงามริมฝั่งแม่น้ำชี เหมาะสำหรับนักแสวงบุญที่ชอบความเงียบสงบ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กชธมน วงศ์คำ, ชาตรี ไกรพีรพรรณ และเวธกา มณีเนตร. (2563). รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนบ้านดอนบม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

เทศบาลตำบลเมืองเก่า. (2566). ข้อมูลสภาพทั่วไป. เทศบาลตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น.