ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณใกล้เขตพื้นที่ชายแดนที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่น และภูมิปัญญาชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์
เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่ที่มีต้นกกขึ้นเป็นจำนวนมาก และในภาษาเขมรออกเสียงว่า "ก๊อก" จึงเรียกว่าหนองก๊อกและเป็นที่มาของชื่อชุมชน
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณใกล้เขตพื้นที่ชายแดนที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่น และภูมิปัญญาชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์
บ้านหนองก๊อก หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ แต่เดิมเป็นชุมชนเดียวกันที่รวมอยู่กับบ้านแทรง ตำบลห้วยสำราญ เนื่องจากชุมชนบ้านแทรงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการแยกการปกครองเพิ่มเติมแบ่งชุมชนออกเป็น 2 ชุมชนคือ บ้านแทรงเดิม และบ้านหนองก๊อกที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลัง โดยมีแนวถนนเป็นเส้นแบ่งเขตชุมชนออกจากกัน
บ้านหนองก๊อก หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวอำเภอขุขันธ์โดยมีระยะทางห่างจากอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดศรีสะเกษโดยมีพื้นที่ห่างจากบริเวณเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ 20 กิโลเมตร
บ้านหนองก๊อก หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีประชากรทั้งหมดจำนวน 82 ครัวเรือน แบ่งเป็นประชากรชาย 132 คน ประชากรหญิง 142 คน รวมประชากรทั้งสิ้นจำนวน 274 คน
ขแมร์ลือบ้านหนองก๊อก หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากแยกตัวออกจากชุมชนบ้านแทรง ประชากรอยู่อาศัยกับแบบระบบเครือญาติ ติดต่อสื่อสารกันในชุมชนและกับชุมชนบ้านแทรงเนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ติดกันและใช้ศาสนสถานร่วมกัน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำนา ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ประชากรบางส่วนมีกลุ่มอาชีพจากภูมิปัญญาการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น คือ กลุ่มจักสานใบตาลบ้านหนองก๊อก
บ้านหนองก๊อก หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เขมร บริเวณแถบชายแดนไทย-กัมพูชา จึงมีวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อแบบผสมผสานระหว่างความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมรวมกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ที่ผสานกันได้อย่างกลมกลืน เช่น
- ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่
- ประเพณีแห่เทียนพรรษา ในวันเข้าพรรษา
- ประเพณีไหว้บรรพบุรุษ การละเล่นแม่มด แซนโฎนตา
- ประเพณี/พิธีกรรมทางศาสนาในงานต่าง ๆ งานแต่ง งานบวช งานศพ ฯลฯ
กลุ่มจักสานใบตาลบ้านหนองก๊อก
ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชนบ้านหนองก๊อก ชาวบ้านจะมีการสานใบตาลในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีความสวยงามเพื่อนำไปประดับตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม หรือจักสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อใช้สอยภายในครัวเรือน ชาวบ้านหนองก๊อกจึงมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสานใบตาลเป็นต้นทุนเดิมของชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน
นอกจากการจักสานใบตาลเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมของชุมชน หรือใช้สอยภายในครัวเรือนแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการจักสานใบตาลบางส่วนยังมีการส่งขายไปยังร้านค้าต่าง ๆ ตามพื้นที่ที่มีวิถีวัฒธรรมแบบกลุ่มชาติพันธุ์เขมรเช่นเดียวกับชุมชนบ้านหนองก๊อกอีกด้วย ซึ่งอยู่ในแถบจังหวัดอีสานใต้ เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ต่อมาจึงได้มีการรวมกลุ่มของสมาชิกภายในชุมชนผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความสนใจในการจักสานใบตาล ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มจักสานใบตาลบ้านหนองก๊อกขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพเสริมที่ช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับสมาชิกภายในชุมชนได้
บ้านหนองก๊อก หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นในการติดต่อสื่อสารกันคือ ภาษาเขมร และในการติดต่อราชการมีทั้งการใช้ภาษาถิ่นและภาษาไทยมาตรฐาน
ขั้นตอนและวิธีการทำเครื่องจักสานใบตาล ขั้นตอนและวิธีการนำใบตาลมาใช้สำหรับสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จักสานจากใบตาล ต้องอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นและความชำนาญของชาวบ้านในขึ้นตอนต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ
- การเลือกใบตาล ใบตาลที่ใช้สำหรับจักสานควรจะเป็นใบตาลอ่อนที่มีอายุการใช้งานที่พอดี ไม่อ่อนจัดหรือแก่จนเกินไป ใบตาลจึงจะมีความอ่อนนุ่มเหมาะแก่การจักสานและทำให้ชิ้นงานมีความสวยงามคงทน
- ตัดใบตาลจากต้นแล้วนำมาผึ่งแดดนานประมาณ 2 ชั่วโมง หรือตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ ตากจนใบตาลแห่งได้ที่พอประมาณ
- จัดพับเก็บใบตาลโดยรักษารูปทรงของใบตาลไม่ให้หักงอ หรือบิดเบี้ยว
- นำใบตาลมาฉีกออกเป็นแผ่นโดยมีดตอกสำหรับกรีดใบตาลเพื่อแยกก้านตาลออก
- หากต้องการเพิ่มสีสันให้มีความสวยงามก็สามารถนำใบตาลไปย้อมสีต่างๆ ได้ตามต้องการ
- นำใบตาลที่ได้มาตัดตามขนาดที่ต้องการ โดยมีท่อนไม้ที่วัดขนาดไว้แล้วเป็นแม่พิมพ์สำหรับตัดใบตาลตามขนาด และใช้มีดตอกในการกรีดใบตาลออกเป็นแผ่นตามขนาด
- เมื่อได้ใบตาลตามขนาดที่ต้องการแล้วก็สามารถนำไปจักสานเป็นชิ้นงานต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ เช่น กล่องสี่เหลี่ยม ผอบพร้อมฝาสำหรับใส่ของ กระเป๋า กล่องเชี่ยนหมาก ฯลฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. (2555). การจัดเก็บองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดศรีสะเกษ ประจำปี 2555. เอกสารลำดับที่ 11/2555 กลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. หน้า 128-149.
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสำราญ. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) แก้ไขครั้งที่ 1/2566. องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ.