Advance search

ชุมชนชาวอีสานที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือที่ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมแบบอีสานผสมผสานกับวัฒนธรรมล้านนาได้อย่างลงตัว

หมู่ที่ 9
ปางมดแดง
อ่างทอง
เชียงคำ
พะเยา
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
5 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
5 ม.ค. 2024
บ้านปางมดแดง

เนื่องจากในบริเวณเขตพื้นที่ตั้งชุมชนมีมดแดงอยู่เป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อชุมชนว่า "ปางมดแดง"


ชุมชนชนบท

ชุมชนชาวอีสานที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือที่ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมแบบอีสานผสมผสานกับวัฒนธรรมล้านนาได้อย่างลงตัว

ปางมดแดง
หมู่ที่ 9
อ่างทอง
เชียงคำ
พะเยา
56110
19.52865821419343
100.16224569833517
องค์การบริหารส่วนตำบลอ่างทอง

บริเวณพื้นที่บ้านปางมดแดงแต่เดิมเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงโค-กระบือของชาวบ้านในแถบนั้น โดยชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า "ปางเลี้ยงวัว" ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2504 เกิดสงครามผู้สนับสนุนแนวคิดคอมมิวนิสต์ ทางการจึงส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการบริเวณนี้ เมื่อเสร็จภารกิจก็ถอนกำลังไป ทหารบางส่วนที่มาปฏิบัติหน้าที่มีภูมิลำเนาอยู่ภาคอีสาน เมื่อปลดประจำการจึงได้ชวนญาติพี่น้องย้ายถิ่นฐานมาที่บริเวณนี้ ด้วยเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วงปี พ.ศ. 2506-2509 มีการอพยพผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากหลายจังหวัดในภาคอีสานเป็นจำนวนมาก เช่น ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ทำให้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และได้ตั้งชื่อชุมชนบริเวณนี้ว่า "ปางมดแดงคัน" เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีมดแดงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และต่อมาจึงเหลือเพียงคำว่า "ปางมดแดง" และเป็นชื่อชุมชนในปัจจุบัน ชุมชนปางมดแดงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปางมดแดงหมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 10 และบ้านนาเจริญ หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 13

ชุมชนบ้านปางมดแดง ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง มีระดับความสูง 370 เมตร สภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ มีแม่น้ำอิงไหลผ่านชุมชนและลำห้วยต่าง ๆ ด้านทิศตะวันออก สภาพพื้นดินเป็นดินเหนียวเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม การเพาะปลูก ทำนา ทำสวน 

  • ทิศเหนือ ติดกับ เขตอำเภอจุล จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านนาเจริญ หมู่ที่ 13 
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านปางมดแดง หมู่ที่ 10 ลำน้ำอิง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านสักทอง ตำบลหงษ์หิน อำเภอจุล จังหวัดพะเยา

ชุมชนบ้านปางมดแดง หมู่ที่ 9 ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีจำนวน 117 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 306 คน หญิง 305 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 611 คน

ชุมชนบ้านปางมดแดง ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดยแบ่งเป็นอาชีพหลัก 4 อาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และรับราชการ โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำได้ทั้งนาปีและนาปรัง ทำสวน ทำไร่ เมื่อถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านก็จะหันไปทำอาชีพอื่นเสริม เช่น รับจ้างทั่วไป หาปลา ทอผ้า จักสาน เป็นต้น 

ชุมชนบ้านปางมดแดง ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นชุมชนชาวอีสานที่ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมแบบอีสานดั้งเดิมและผสมผสานกับวัฒนธรรมแบบท้องถิ่นล้านนาจากการรับอิทธิพลในพื้นที่ แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตของชุมชนปางมดแดงคือ ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมแบบอีสานไว้ได้เป็นอย่างดี และยังยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันตามครรลอง ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ วิถีอีสาน และชุมชนปางมดแดงเป็นชุมชนชาวอีสานขนาดใหญ่ ในการจัดงานประเพณีแต่ละครั้งจึงมีความร่วมมือจาก 4 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง จัดงานประเพณีอย่างยิ่งใหญ่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • วิถีวัฒนธรรมอีสานในพื้นที่ล้านนา
  • ทรัพยากรน้ำ ลำน้ำอิง
  • ทรัพยากรดิน พื้นที่ราบลุ่ม
  • ทรัพยากรป่าไม้
  • ทรัพยากรสัตว์น้ำ
  • เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาลุ่มน้ำอิง บ้านปางมดแดง

ชุมชนบ้านปางมดแดง ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นชุมชนชาวอีสานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จึงมีการใช้ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นเหนือ ในการติดต่อสื่อสารกันในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ


ชุมชนบ้านปางมดแดง ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับลำน้ำอิง เพราะเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชุมชน ทั้งทรัพยากรน้ำและสัตว์น้ำ ปลาชนิดต่าง ๆ ในลำน้ำอิงที่มีความหลากหลาย ปัจจุบันพบปัญหาจำนวนประชากรปลาลดลง เกิดจากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น การทำประมงโดยไม่มีข้อตกลงร่วมกัน การหาปลาแบบไม่จำกัดช่วงฤดูกาล/พื้นที่ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ขวางทางน้ำไหล ที่เป็นอุปสรรคต่อการวางไข่ของปลาบางชนิด ส่งผลให้ชุมชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริเวณลำน้ำอิง ทำให้ชุมชนคิดริเริ่มในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในลำน้ำอิง ซึ่งการทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาช่วยสร้างที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยให้กับปลา เป็นแหล่งอนุบาลปลา และช่วยรักษาระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์และสมดุล ทั้งยังช่วยเพิ่มประชากรปลาในลำน้ำอิง และแหล่งน้ำอื่น ๆ โดยคนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาและรักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน

วัดปางมดแดง 

แหล่งรวมศรัทธาของชาวบ้านชุมชนปางมดแดง ศูนย์กลางวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานของชุมชน วิถีแบบอีสานล้านนา ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยังคงรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี โดดเด่นด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่คงอัตลักษณ์และมนต์เสน่ห์มิเคยเลือนกว่าหลายทศวรรษที่มาตั้งถิ่นฐานบนสายน้ำอิงตอนกลาง/บริเวณทุ่งลอ บ้านปางมดแดง ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

วัฒนา พองโนนสูง และคณะ. (2561). ชุมชนบ้านปางมดแดง : การจัดการเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาสู่เศรษฐกิจชุมชน. ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้โครงการ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อการจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน.

พะเยาทีวี. (2559). วัดปางมดแดง. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/phayaotv/