ชุมชนชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ วิถีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับต้นเมี่ยงพืชท้องถิ่นที่พบได้โดยทั่วไปในพื้นที่ป่าชุมชน
ชุมชนชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ วิถีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับต้นเมี่ยงพืชท้องถิ่นที่พบได้โดยทั่วไปในพื้นที่ป่าชุมชน
บ้านปางมะกล้วยเริ่มก่อตั้งมาเมื่อประมาณ 120 ปีเศษ แต่เดิมมีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงประมาณ 5 ครัวเรือน อาศัยอยู่บริเวณนี้ ต่อมามีชาวพื้นเมืองจากอำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เดินทางผ่านมา และเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นเมี่ยงหรือต้นชาที่ประชาชนคนพื้นเมืองนิยมนำมานึ่งเป็นเมี่ยงอม หรือนำมาต้มเป็นน้ำชาโดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าเมื่อดื่มชาแล้วจะทำให้มีสุขภาพดี จึงพากันอพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานเพื่อเก็บใบเมี่ยงขาย พร้อมทั้งบุกเบิกขยายพื้นที่การปลูกเพิ่มมากขึ้น จนเป็นชุมชนที่มีอาชีพหลักจากการเก็บใบชาเมี่ยง ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน ชาวพื้นเมืองปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นหย่อม ๆ และได้เรียกชื่อตามต้นไม้ที่อยู่ตามหย่อมบ้านหรือตั้งชื่อตามลำห้วยที่ตั้งถิ่นฐาน เช่น หย่อมปางลำไย หย่อมบ้านต้นหนุน หย่อมบ้านห้วยพระเจ้า เป็นต้น หย่อมบ้านหลาย ๆ หย่อมรวมกันเป็นหมู่บ้านปางมะกล้วย
บ้านปางมะกล้วย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ติดกับถนนแม่มาลัย-ปาย หรือทางหลวงหมายเลข 1095 ซึ่งอยู่ทิศตะวันตกของอำเภอแม่แตง ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 32 กิโลเมตร บ้านปางมะกล้วยมีเนื้อที่ประมาณ 17.581 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10,988.125 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 40% และเป็นพื้นที่ราบเพาะปลูกประมาณ 60% แบ่งการปกครองเป็น 9 หย่อมบ้าน เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีแม่น้ำแม่ริมไหลผ่านหมู่บ้าน ล้อมรอบด้วยภูเขาที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ พื้นที่บางส่วนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านป่าแป๋ หมู่ 4 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านผาเด็ง หมู่ 3 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านป่ายางหนาด หมู่ 1 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่ไคร้ หมู่ 7 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
บ้านปางมะกล้วย หมู่ที่ 2 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาวพื้นเมือง ประกอบไปด้วยชนพื้นเมืองท้องถิ่นและชาวกะเหรี่ยง โดยมีประชากรทั้งสิ้นจำนวน 381 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 425 คน หญิง 396 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 821 คน
บ้านปางมะกล้วย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คือ การทำสวนเมี่ยงชา สวนมะแขว่น ลิ้นจี่ มะม่วง ข้าวโพด ยางพารา ส้ม ทำนา ปลูกผักในโครงการหลวง ด้านการปศุสัตว์ เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และอาชีพรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าต่างๆ จากการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น การทำไม้กวาดดอกหญ้า ของที่ระลึก เครื่องจักสาน เป็นต้น
การรวมกลุ่มเกษตรกร
- กลุ่มแปรรูปใบชา
- กลุ่มผู้ผลิตไม้กวาด
- กลุ่มออมทรัพย์ (กลุ่มสัจกร)
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านปางมะกล้วย
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านปางมะกล้วย
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตน้ำดื่มบ้านปางมะกล้วย
บ้านปางมะกล้วย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำหมู่บ้าน คือ วัดปางมะกล้วย เป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนในชุมชน และเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นของชุมชน เช่น
- ประเพณีสงกรานต์
- ประเพณียี่เป็ง
- ประเพณีตานข้าวใหม่สี่เป็ง
- ประเพณีเข้าพรรษา-ออกพรรษา
- วันวิสาขบูชา
- แห่ไม้ค้ำโพธิ์
- ประเพณีไหว้ผีปู่ย่า
- ทรัพยากรดิน-ภูเขา
- ทรัพยากรป่าไม้ธรรมชาติ
- พืชเศรษฐกิจ เมี่ยง/ชาอัสสัม, มะแขว่น ส้ม ลิ้นจี่ ฯลฯ
- ทรัพยากรน้ำ-แหล่งน้ำประปาภูเขา, แม่น้ำริม
บ้านปางมะกล้วย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองท้องถิ่น ในการสื่อสารจึงเป็นการใช้ภาษาพื้นเมืองเพื่อสื่อสารกันในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ
บ้านปางมะกล้วย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขา แม่น้ำ จึงมีโอกาสเกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น
- น้ำป่าไหลหลาก/ดินโคลนถล่ม ช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม
- ไฟไหม้ จากการก่อไฟในบ้าน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
- วาตภัย (ลมหลวง) ช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม
- ไฟป่า ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
- ภัยหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
- ภัยแล้ง ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทำให้น้ำอุปโภคไม่เพียงพอ
ห้วยน้ำดัง
จากการสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ในโครงการอนุรักษ์และพัฒนาห่วงโซ่อุปทานชาเมี่ยงเมืองเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (2560) พบว่ามีจำนวนแปลงชาเมี่ยงที่ปลูกในพื้นที่ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 726 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวม ทั้งหมด 17,556 ไร่ โดยหมู่บ้านที่มีพื้นที่ปลูกชาเมี่ยงมากที่สุดคือ หมู่ที่ 2 บ้านปางมะกล้วย มีพื้นที่ปลูกชาเมี่ยงรวม 9,538 ไร่ ด้วยเหตุนี้ชาเมี่ยงจึงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน และสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของุมชนปางมะกล้วยอย่างแท้จริง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ อำภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. (หน้า55-63).
อัตถ์ อัจฉริยมนตรี. (2561). ศักยภาพการให้ผลผลิตและลักษณะการเติบโตของชาเมี่ยงในตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. โครงการวิจัยสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ งบประมาณแผ่นดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560.
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแป๋. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2566-2570. องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่.
resilience library. (ม.ป.ป.). ข้อมูลชุมชนบ้านปางมะกล้วย หมู่ที่ 2 ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่. (ไม่ได้ตีพิมพ์).