ชุมชนชาติพันธุ์ลาวครั่งที่มี วัดทุ่งผักกูด เป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ด้วยสถาปัตยกรรมอาคารไม้อายุกว่าร้อยปี อีกทั้งมีพิพิธภัณฑ์ลาวครั่งทุ่งผักกูด ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ จัดแสดงนิทรรศการทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมถึงข้าวของครื่องใช้ที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ร่วมกว่า 500 ชิ้น
จากการบอกเล่าในท้องถิ่นกล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้สมัยโบราณเป็นทุ่งกว้างมีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยซึ่งเป็นเป็นชื่อตำบลคือ ห้วยด้วน ไหลผ่าน ระบบนิเวศน์มีความชุ่มชื้นสูง ปรากฏพืชชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในตระกูลเฟิร์น ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า "ผักกูด" ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน
ชุมชนชาติพันธุ์ลาวครั่งที่มี วัดทุ่งผักกูด เป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ด้วยสถาปัตยกรรมอาคารไม้อายุกว่าร้อยปี อีกทั้งมีพิพิธภัณฑ์ลาวครั่งทุ่งผักกูด ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ จัดแสดงนิทรรศการทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมถึงข้าวของครื่องใช้ที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ร่วมกว่า 500 ชิ้น
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การตั้งหลักแหล่งในปัจจุบันทราบว่า มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวลาวครั่งในเขตหัวเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ อพยพเข้ามาในช่วงรรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 ขยายเข้าสู่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดอื่น ๆ ในรัชกาลสมัยต่อมา
ประวัติความเป็นมาของของลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครปฐมโดยเฉพาะที่ตำบลห้วยด้วนนั้น ไม่สามารถหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แน่ชัดว่าอพยพมาจากเมืองไหนของประเทศลาว เนื่องจากมีการกวาดต้อนผู้คนมาด้วยกันหลายครั้ง มีเพียงคำบอกเล่าจากผู้สูงอายุว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง บ้างก็บอกเล่าว่าอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ แต่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในระะยแรก โดยให้กรมทหารต้นสำโรง (ปัจจุบันคือกรมสัตว์ทหารบกต้นสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม) คอยกวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด ลาวครั่งถูกกวาดต้อนมารวมพักไว้ที่บ้านกงลาดจำนวนมากจนไม่มีที่ดินทำกิน ชาวครั่งที่บ้านทุ่งผักกูด บ้านกงลาดส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายออกไปบริเวณใกล้เคียง ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรีและเพชรบุรี
การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนชาวครั่งที่ปรากฏเป็นหลักฐานมีตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย กล่าวคือ บริเวณวัดทุ่งผักกูดได้ปรากฏร่องรอยหลักฐานสิ่งปลูกสร้างทางโบราณคดีและสถาปัตยกรรม พบร่องรอยของในเสมารอบโบสถ์ที่มีการหักผังผุกร่อนไปบ้างบางส่วนตามกาลเวลา
ประชาชนในท้องถิ่นบ้านทุ่งผักกูดส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อพยพมาด้วยเหตุผลทางสงครามช่วงสมัยรัตนโสินทร์ตอนต้น ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการกวาดต้อนชาวลาวมาไว้ตามหัวเมืองชั้นใน ซึ่งอำเภอดอนตูม เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีชาวลาวอาศัยอยู่มาก ชาวลาวเหล่านี้เรียกคนเองว่า "ลาวครั่ง" ซึ่งมีสำเนียงการพูดคล้ายคลึงกับเมืองลาวหลวงพระบางมากกว่าลาวเมืองเวียงจันทน์
บ้านทุ่งผักกูด ตั้งอยู่ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีจำนวนประชากรลาวครั่งมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มคนจีน ไทย ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของพื้นที่เท่านั้น (ตำบลอื่น ๆ ก็มีลาวครั่งอาศัยปะปนกับกลุ่มคนไทย คนจีนบ้าง และกลุ่มลาวโซ่งบ้าง) จากการสำรวจพื้นที่ตำบลห้วยด้วน ซึ่งประกอบด้วย บ้านทุ่งผักกูดและบ้านกงลาด ประชากรส่วนใหญ่เป็นลาวครั่ง อีกทั้งสองชุมชนล้วนแล้วแต่เป็นเครือญาติพี่น้องสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่อดีตจนปัจจุบัน
จำนวนประชากรบ้านทุ่งผักกูด แบ่งออกเป็น 2 หมู่ ดังนี้
- บ้านทุ่งผักกูด หมู่ที่ 1 มีจำนวน 163 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 509 คน แบ่งเป็นเพศชาย 243 คน เพศหญิง 266 คน
- บ้านทุ่งผักกูด หมู่ที่ 2 มีจำนวน 213 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 754 คน แบ่งเป็นเพศชาย 370 คน เพศหญิง 384 คน
ชาวบ้านทุ่งผักกูดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร คือ ทำนา ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มมีอาชีพรับราชการ ทำงานบริษัท และรับจ้างทั่วไป
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดประจำชุมชน 1 วัด คือ ทุ่งผักกูด ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานบุญและงานประเพณีต่าง ๆ
แห่ธงสงกรานต์
ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ หรือแห่หางธง (แห๊ทุง) เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีความเชื่อว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ช่วงวันที่ 13 เมษายนของทุกปี) ในอดีตวันสงกรานต์ของคนลาวคั่ง มีระยะเวลาถึง 15 วัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5 – 8 วัน ซึ่งเริ่มนับจากวันที่ 13 เมษายน และสิ้นสุดเมื่อมีการแห่หางธง วันดังกล่าวญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน เพื่อแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ และยังมีการบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับทั้งหมู่บ้าน
จุดประสงค์หลักของการแห่หางธงคือ การหาปัจจัยเข้าวัดด้วยการติดพุ่มผ้าป่าหางธง (ผ้าป่าลาว) โดยจะมีการตั้งขบวนแห่หางธงสงกรานต์พร้อมเสียงพิณแคนอย่างสนุกสนาน แล้วนำพระพุทธแห่รอบหมู่บ้าน เพื่อขอบริจาค เรี่ยไรเงิน หลังจากนั้นมีการถวายหางธงพุ่มผ้าป่าถือว่าเสร็จพิธีทางศาสนา วันแห่หางธงเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนั้นๆ กำลังสิ้นสุดลง ในการแห่หางธงประกอบด้วย
- คันไม้ไผ่ หรือเรียกว่า “ธงสงกรานต์” ประกอบด้วยเสาธง หรือคันธง ส่วนบริเวณปลายไม้ไผ่ เรียกว่า “หางเสา” ไว้สำหรับผูกผืนธงและตกแต่งด้วยริบบิ้นสี
- ผืนธง นิยมใช้ผ้าอาบน้ำฝน เสื่อ ผ้าห่มฯ ตกแต่งร้อยทำภู่ หรืออุบะห้อยด้านล่างของผืนผ้าอย่างสวยงาม (หางธง เรียกว่า “ผ้าป่ารวมญาติ”) หางธงจะใช้ผ้าอาบน้ำมาเย็บด้วยรูปทรงต่างๆ แล้วประดับผืนธงด้วยการเย็บ ร้อย และปัก ประดับตกแต่งบนผืนธงนำไปผูกที่ปลายแง่งไม้ไผ่ ในวันสงกรานต์ชาวบ้านจะช่วยกันจับใช้ไม้ไผ่ทั้งลำแห่พร้อมเสียงพิณแคนรอบหมู่บ้าน
- หลุมสำหรับนำคันธงปักและยกคันธง เมื่อขบวนแห่มาถึงวัด ชาวบ้านจะมาจับคันธงไม้ไผ่พร้อมร้องโห่ ขณะปล่อยคันธงจากมือ จุดธูปคนละดอกบอกกล่าว แล้วปักลงบริเวณปากหลุม เช้าอีกวันจะนำเงินผ้าป่ารวมญาติถวายวัด และบังสุกุลรวมญาติทั้งหมู่บ้านจึงเสร็จพิธี
บุญไต้น้ำมันหรือไต้ตีนกา
บุญไต้น้ำมันหรือไต้ตีนกาของลาวครั่ง บ้านทุ่งผักกูด บ้านกงลาด นิยมทำในช่วงออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยจะจัดงาน 3 วันคือ วันขึ้น 14 ค่ำ, 15 ค่ำ และแรมค่ำหนึ่ง เริ่มจากการเตรียมฟั่นด้ายดิบขนาดเท่าก้านไม้ขีดเป็นเกลียว 3 แฉก ยาวประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ไว้สำหรับจุดไฟ
วันประกอบพิธีจะเริ่มช่วงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม พระสงฆ์จะเริ่มตีกลอง 3 ลา คนในชุมชนจะมารวมตัวกันที่บริเวณวัด โดยนำขวดน้ำมันมะพร้าวใสขวดลิโพและตีนกามาด้วย หลังจากนั้นเริ่มกล่าวถวายน้ำมัน พระสงฆ์จึงเริ่มหยอดไต้น้ำมันรอบสถานที่ ซึ่งจัดไว้เป็นจุดๆ รอบหอฉัน จากนั้นคนในชุมชนหยอดน้ำมันตามพระสงฆ์จนครบทุกจุด ซึ่งคนในชุมชนสามารถออกมาไต้น้ำมันได้ตลอด ภายในระยะเวลา 3 วันขึ้นอยู่กับความสะดวก มีอุปกรณ์ ดังนี้
- ซุ้มไต้น้ำมัน ทำจากไม้ไผ่คล้ายเก้าอี้สี่ขา แต่มีความสูงระดับเอวและมีความกว้างเพียงเล็กน้อย ไว้สำหรับวางถ้วยเล็กๆ ใส่น้ำมันมะพร้าว ใช้กาบมะพร้าวประดับเป็นวงโค้งจากด้านซ้ายไปขวา
- ตีนกา ทำจากด้ายหรือฝ้ายขนาดเล็ก ฟั้นเป็นรูปตีนกา 3 แฉก สำหรับจุ่มในถ้วยน้ำมัน เพื่อใช้จุดไฟ
- เชื้อเพลิง หรือน้ำมันมะพร้าว สำหรับหยอดลงในถ้วย นิยมนำมะพร้าวมาเคี่ยวให้ตกเป็นน้ำมันแล้วนำใส่ขวดขนาดเล็ก มาเทใส่ถ้วยหรือพานเล็กๆ จำนวน 5 ถ้วย ใช้ตีนกาจุ่มลงในถ้วยน้ำมันแล้วใช้ไฟจุดส่วนที่จุ่มน้ำมัน ชาวบ้านเชื่อว่า การไต้ตีนจะช่วยให้มีหูตาที่สว่างไสว ทำอะไรก็จะไม่มีอุปสรรคใดๆ ชีวิตจะไม่มืดมน กลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่งมีความเชื่อเรื่องการนับถือผีอย่างเหนียวแน่น มีการเลี้ยงผีทุกปี รวมถึงความเชื่อเรื่องผียังสัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งผีที่ชุมชนนับถือมี 2 ผี ได้แก่ ผีเจ้านาย (ผีปู่เสื้อย่าเสื้อ ผีพ่อเฒ่า) กับผีเทวดา โดยคนในชุมชนเชื่อว่า ผีเจ้านาย เป็นผู้คุ้มครองหมู่บ้านลาวคั่ง ทำให้หนึ่งหมู่บ้านมีศาล 7 หลัง เมื่อถึงเดือน 7 ต้องมีการเลี้ยงผี คนที่เป็นลูกผึ้งก้นเทียนต้องถือไก่สีดำมาเซ่นไหว้
วัดทุ่งผักกูด
สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เนื่องจากพระอุโบสถและถาวรวัตถุเดิมนั้นสูญหายไป แต่กระนั้นก็มีการขุดพบพระบูชาเก่า สมัยศรีวิชัย ทวาราวดีและอยุธยา
ส่วนหนึ่งมีหลักฐานสนับสนุนว่าวัดทุ่งผักกูดน่าจะสร้างขึ้นในช่ววงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีการประกาศตั้งวัด ซึ่งระบุเพียงว่า วัดทุ่งผักกูดประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2380 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2400 วัดทุ่งผักกูดมีสถาปัตยกรรมอาคารไม้อายุร้อยกว่าปี มีรูปแบบการสร้างที่ไม่แปลกไปจากวัดอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง
วัดทุ่งผักกูด เป็นวัดที่เกิดจากสายสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่หล่อหลอมเอาแรงกาย แรงใจ และแรงศรัทธา เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาตกทอดจากบรรพบุรุษ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานรุ่นหลังไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตอกย้ำความเป็นหนึ่งเดียวของบรรพชน
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่งบ้านทุ่งผักกูด
ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งผักกูด ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เกิดจากการทำงานของชุมชนร่วมกับอาจารย์จิตกวี กระจ่างเมฆ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่ง โดยเปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2556
อาคารพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นตามเรือนพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นอาคารใต้ถุนสูง มีพื้นที่โล่งด้านล่างสำหรับทำกิจกรรม แต่ปรับปรุงส่วนใต้ถุนเป็นพื้นที่จัดเก็บและจัดแสดงวัตถุต่างๆ ภายในพื้นที่จัดแสดงวัตถุมีการจัดแบ่งตามหมวดหมู่อาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม (การเพาะปลูก ทนานใส่ข้าว “ไม้คานหลาว” ที่ใช้ในการแทงข้าวหรือพุ้ยข้าวในระหว่างการเก็บเกี่ยว) การประมง (เครื่องมือดักสัตว์น้ำ) เครื่องมือช่างไม้ ส่วนชั้นบนแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ได้แก่ ชานเรือนเป็นพื้นที่ต้อนรับผู้มาเยือน, พื้นที่โล่งคือส่วนหลักของเรือน ที่จัดแสดงเกี่ยวกับความเชื่อสำคัญของชุมชน อย่างผีเจ้านายและผีเทวดา, ห้องขนาดเล็กหรือภาษาลาวคั่ง เรียกว่า “ห้องส้วม” เป็นห้องสำหรับลูกสาว โดยดัดแปลงให้เป็นห้องสำหรับการคลอดลูกและการอยู่ไฟหลังคลอด และส่วนสุดท้ายครัวไฟหรือภาษาท้องถิ่น เรียกว่า “เฮือนคัว” ที่มีก้อนเสาเตาไฟ “กะปั๊ว” (อ่างยีขนมจีน) เป็นวัตถุที่แสดงให้เห็นบรรยากาศความเป็นอยู่ของคนลาวคั่งได้เป็นอย่างดี
ชื่อพิพิธภัณฑ์เขียนว่า “ลาวคั่ง” ซึ่งแตกต่างจากงานทางวิชาการจำนวนหนึ่ง ที่ใช้คำว่า “ลาวครั่ง” โดยอาจารย์จิตกวีอธิบายถึงการใช้คำว่า “ลาวคั่ง” สำหรับเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจเกี่ยวข้องกับที่มาของบริเวณพื้นที่ดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับครั่งที่เป็นวัสดุใช้ในการย้อมผ้า และเป็นผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ผ้ามัดย้อมและผ้าขิด แต่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้คำว่า “ลาวคั่ง” เป็นชื่อเรียกและการสะกดคำ เนื่องจากการออกเสียงภาษาคั่งไม่มีการควบกล้ำ เพราะฉะนั้น “ลาวคั่ง” สามารถคงอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ได้
วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดได้รับจากการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นผ้ามัดหมี่อายุ 200 ปี ที่อยู่ในตู้จัดแสดงชั้นบน หรือกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้ในการใส่เอกสารสำคัญ ส่วนภูมิทัศน์รอบอาคารปรับสภาพให้มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่ง อย่างยุ้งข้าวที่มีการประกอบพิธีด้วยการนำข้าวใหม่ขึ้นยุ้ง และการจัดแสดงโอ่งและไหในขนาดต่างๆ ซึ่งอาจารย์วิชัย หนึ่งในคณะกรรมการดูแลพิพิธภัณฑ์ได้อธิบายเรื่องการจัดวางโอ่งไว้ในบริเวณโล่งแจ้งข้างอาคารว่า “ไหร้อยไม่ต่างอะไรกับชีวิตคนนั่นคือ เกิดมาก็มีร่างกายที่เล็ก เมื่อเติบใหญ่ร่างกายก็ใหญ่ขึ้น แต่ถึงวันหนึ่งทุกคนก็ต้องตาย เป็นเหมือนกับการเตือนสติให้กับผู้มาเยือนด้วยการตั้งลำดับให้จากเล็กมาใหญ่ และกลับมาเล็กอีกครั้ง วันหนึ่งคนเราคงไม่ต่างจากลำดับของโอ่งและไหเหล่านี้ที่วันหนึ่งก็ต้องกลับสู่สภาพที่ตนเองเคยเป็นมาเช่นกัน”
เนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายลาว ดังนั้นภาษาที่พูดกันมากในตำบลนี้คือ ภาษาลาวครั่ง ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันและใช้ภาษาไทยเมื่อติดต่อสื่อสารกับคนต่างกลุ่ม
จิตกวี กระจ่างเมฆ และสุดหล้า เหมือนเดช. (2562). การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จังหวัดนครปฐม ไทยแลนด์ 4.0 : กรณีศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด ไทยทรงดำบ้านไผ่หูช้างและไทยจีนตลาดบางหลวง (รายงานการวิจัย). นครปฐม: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2565). พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 360 องศา, พิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด อ.ดอนตูม จ.นครปฐม. ค้นจาก https://virtual.sac.or.th/localmuseum/banthungphakkud/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. บ้านทุ่งผักกูด จ.นครปฐม. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/