Advance search

ชุมชนที่มีแม่น้ำยมไหลผ่าน 

หมู่ที่ 1
บ้านสบเกิ๋ง
แม่เกิ๋ง
วังชิ้น
แพร่
ฤทัยรัตน์ กบเสาร์
29 ก.ค. 2023
พิมพ์ลดา หล้ามา
7 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
10 ม.ค. 2024
บ้านสบเกิ๋ง

"สบเกิ๋ง" มาจากลำน้ำยมไหลผ่านบรรจบกับห้วยแม่เกิ๋ง จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน


ชุมชนที่มีแม่น้ำยมไหลผ่าน 

บ้านสบเกิ๋ง
หมู่ที่ 1
แม่เกิ๋ง
วังชิ้น
แพร่
54160
17.94135
99.58888
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เกิ๋ง

เดิมบ้านสบเกิ๋งอยู่เขตตำบลแม่ป้าก หมู่ 12 เมื่อตำบลแม่เกิ๋งแยกออกจากตำบลแม่ป้าก หมู่บ้านสบเกิ๋งจึงเป็นหมู่ 1 ของตำบลแม่เกิ๋ง ซึ่งชื่อสบเกิ๋งมาจากลำน้ำยมไหลผ่านและบรรจบ (สบ) กับห้วยแม่เกิ๋งจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสบเกิ๋ง” 

อาณาเขตติดต่อ 

บ้านสบเกิ๋ง ตำบลแม่เกิ๋ง ตั้งอยู่ในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ห่างจากอำเภอวังชิ้นไปทิศทางใต้ 5 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดแพร่ ไปทิศทางเหนือ 82 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่สิน หมู่ที่ 6 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนาเวียง ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านวังเลียง ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เกิ๋ง

ลักษณะทางกายภาพ

พื้นที่ทั้งหมดไร่ 3,935 ไร่ หรือ 6.296 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ราบติดลำห้วยแม่เกิ๋งและแม่น้ำยม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาและมีสวนส้มเขียวหวาน เดิมชุมชนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านแต่มีเหตุการณ์ผู้คนล้มป่วย ชาวบ้านจึงย้ายขึ้นมาอยู่ทางเหนือของหมู่บ้านและเริ่มขยับขยายเป็นชุมชน ในปี พ.ศ. 2554 เกิดอุทกภัยเพราะหมู่บ้านสบเกิ๋งอยู่ใกล้แม่น้ำยม เกิดน้ำเอ่อล้นท่วมหมู่บ้านเกือบทั้งหมด ทำให้ในปัจจุบันชาวบ้านนิยมสร้างบ้านสูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ปัจจุบันทางผู้นำได้เห็นปัญหาของหมู่บ้าน รองนายก อบต.แม่เกิ๋ง จึงได้ของบประมาณจากส่วนราชการเพื่อก่อสร้างพนังกั้นตลิ่งลดการกัดเซาะดินบริเวณริมน้ำยม ในอดีตชาวบ้านมีสวนส้มอยู่อีกฝั่งของลำน้ำยม เวลาไปทำการเกษตรจะต้องนั่งเรือไปซึ่งเกิดความยากลำบากในการสัญจร ปัจจุบันหมู่บ้านได้รับงบประมาณจากทางหลวงชนบทประมาณ 30 ล้านบาท ทำให้ชาวบ้านเดินทางและลำเลียงพืชผลทางการเกษตรได้สะดวกขึ้น ในอดีตยังไม่มีไฟฟ้าเข้าไปในสวนแต่ปัจจุบันได้มีไฟฟ้าเพื่อการเกษตรขยายวงกว้างขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีการก่อสร้างบ้านเรือนในสวนเพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านสบเกิ๋ง จำนวน 187 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 483 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 239 คน หญิง 244 คน ส่วนใหญ่เป็นชุมชนพื้นเมืองทั้งหมด คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

รายชื่อผู้นำหมู่บ้านสบเกิ๋ง

  1. นายเสาร์ รัตนภรณ์
  2. นายหวัน ติแก้ว
  3. นายสุเมธ คำก้อน
  4. นายสิงห์คาร ช่วยไว้
  5. นางบังอร อุดแบน (ปัจจุบัน)

องค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ

กลุ่มที่เป็นทางการ 

  • กลุ่มร้านค้าชุมชน มีนางบังอร อุดแบน เป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิก 146 คน โดยมีคณะกรรมการกลุ่มเวียนกันมาขายวันละ 2 คน แรกเริ่มได้รับงบประมาณจาก อบต.แม่เกิ๋ง ในการก่อสร้างโดยชุมชนมีการระดมหุ้น หุ้นละ 100 บาท ปันผลปีละครั้ง ปัจจุบันกลุ่มร้านค้าชุมชนมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก มีการจัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือทุกเดือน สินค้าภายในร้านค้าที่จัดจำหน่ายได้เข้าร่วมโครงการร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านเพื่อลดค่าครองชีพให้กับชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งภายในตำบลแม่เกิ๋ง
  • กลุ่มกองทุนเงินล้าน ประธานกลุ่มคือ นางบังอร อุดแบน มีการบริหารกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยแรกเริ่มได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ให้หมู่บ้านบริหารจัดการ ทำให้ปัจจุบันกลุ่มเงินล้านของหมู่ที่ 1 บ้านสบเกิ๋ง เป็นกลุ่มทางการการที่เข้มแข็ง
  • กลุ่มโรงสีชุมชน ได้รับงบประมาณครั้งแรกจากโครงการเงินล้าน SML เพื่อให้ชาวบ้านจัดตั้งโรงสี ให้สีข้าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าใครต้องการแกลบหรือรำจะคิดกระสอบละ 25 บาท โครงการดังกล่าวจัดตั้งครั้งแรกโดยมีผู้ใหญ่สุเมธ คำก้อน เป็นประธานกลุ่ม
  • กลุ่มปุ๋ยชุมชน
  • กลุ่มคณะกรรมการวัด
  • กลุ่มเลี้ยงสุกร ได้รับงบประมาณจากโครงการเศรษฐกิจชุมชน โดยองค์การบริหารส่วน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ นายสุเมธ คำก้อน เป็นประธานกลุ่ม
  • กลุ่มสตรีแม่บ้าน นางปนัดดา สายวงค์ เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 135 คน โดยจะเก็บค่าสมาชิกตามจำนวนครัวเรือน หลังคาละ 10 บาท
  • กลุ่ม อสม. ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน
  • กลุ่มเยาวชน นายวิษณุ สุขมา เป็นประธานกลุ่ม
  • กลุ่ม อปพร. นายจำรัส แก้วเตาะ เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 8 คน
  • กลุ่ม ชรบ. นางบังอร อุดแบน เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 13 คน

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีแข่งเรือ จะจัดทำขึ้นทุกปีในช่วงลอยกระทง เนื่องจากชุมชนอยู่ติดลำน้ำยมในอดีตชาวบ้านจะใช้เรือพายไปสวนหรือหาปลาทำให้มีความเชี่ยวชาญในการพายเรือ ช่วงลอยกระทงของทุกปีทางอำเภอวังชิ้นจะจัดงานแข่งเรืองานลอยกระทงเพื่อชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งชาวบ้านสบเกิ๋งเป็นตัวแทนของตำบลแม่เกิ๋งเข้าร่วมการแข่งขันทุกปี ก่อนจะเป็นเรือยาวชาวบ้านได้ใช้เรือหาปลาในการแข่ง ปัจจุบันมีเรือสำหรับฝึกซ้อมและแข่งขันทั้งหมด 3 ลำ ก่อนแข่งจะมีการฝึกซ้อมเช้า - เย็นประมาณ 1 เดือน เพื่อให้นักพายมีพละกำลัง ในอดีตมีการแข่งขัน 3 วัน ปัจจุบันลดเหลือ 2 วัน เมื่อได้ถ้วยรางวัลชาวบ้านจะมีการเฉลิมฉลองชัยชนะร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความสามัคคี โดยจากสถิติการแข่งขันทางหมู่บ้านได้รับรางวัลชนะเลิศ 2 ปีซ้อน ทำให้ชาวบ้านมีกำลังที่จะร่วมแข่งขันในปีต่อไป
  • ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ในอดีตจะจัดช่วงเดือน 9 เหนือแต่ปัจจุบันจะจัดช่วงเดือน 6 เหนือ หรือเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาเพื่อให้ผีเจ้าบ้านช่วยปกปักรักษาชาวบ้าน และเพื่อความเป็นสิริมงคล ชาวบ้านจะนำไก่หลังคาละ 1 ตัว หรือไข่ไม่จำกัดจำนวน ถ้ามีไข่จะต้องให้เงินคนละ 20 บาท โดยจะนำของทั้งหมดไปทำพิธีที่หอเจ้าบ้านเจ้าพ่อขวัญเมืองซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านสบเกิ๋งเก่าในวันทำพิธีสามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศ พอเสร็จพิธีสามารถเอากลับมากินที่บ้านได้ นางนารี แก้วค่าย ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่แล้วมามีครอบครัวอยู่ที่สบเกิ๋ง เป็นร่างทรงของเจ้าพ่อขวัญเมืองโดยเป็นทรงที่เจ้าพ่อขวัญเมืองเลือกเอง ในวันทำพิธีจะมีการเข้าทรงของเจ้าพ่อขวัญเมืองด้วย ซึ่งในการประกอบพิธีเลี้ยงผีเจ้าบ้านของชุมชนพื้นเมืองในพื้นที่ของตำบลแม่เกิ๋ง ทุกหมู่บ้านจะประกอบพิธีลักษณะที่คล้ายกัน

 

1.นายติ๊บ หิรัญตภูมิ  อายุ 67 ปี เป็นผู้มีความรู้ด้านการปัดเป่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บ เดิมเป็นคนชาติพันธุ์บ้านแม่รัง และมามีครอบครัวอยู่ที่บ้านสบเกิ๋ง ได้นำความรู้จากบรรพบุรุษมาใช้รักษาคนในบ้านสบเกิ๋งให้หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย 

2.นายแก้ว วันแว่น  อายุ 85 ปี มีความสามารถด้านการจักสานกระติบข้าวโดยได้รับความรู้จากบรรพบุรุษและศึกษาเพิ่มเติม จนสามารถหารายได้จากการประกอบเป็นอาชีพเสริมได้

3.นายไว สายวงค์  อายุ 71 ปี มีความสามารถด้านการจักสานกระติบข้าวและฝักมีด โดยสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ อาศัยความจำและการฝึกฝนจนสามารถสร้างเป็นอาชีพเสริมได้

4.นายเติง ปวนกันฑา  อายุ 63 ปี มีความสามารถด้านการสานไม้กวาด โดยใช้หวายในการจักสาน

5.นายลาศ พรมศิลา  อายุ 76 ปี มีความสามารถด้านการสานแห เดิมเป็นคนจังหวัดชุมพร อาศัยอยู่ติดทะเล ต่อมาได้สมรสกับนางดาวเรือง พรหมศิลา ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านสบเกิ๋งที่ไปทำงานต่างจังหวัด และได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านสบเกิ๋ง ได้นำความรู้จากประสบการณ์มาจักสานแห ทำให้มีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลัก

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดแม่เกิ๋ง เป็นวัดแห่งเดียวในบ้านสบเกิ๋ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านสบเกิ๋ง ภายในศาลาจะสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง โดยชาวบ้านได้จัดทำผ้าป่าและก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังนี้ ซึ่งศาลาหลังนี้ก่อสร้างโดยใช้ไม้สักทั้งหลัก มีลวดลายแกะสลักที่สวยงาม 
  • การแต่งกาย เนื่องจากหมู่บ้านสบเกิ๋ง ซึ่งเป็นชุมชนพื้นเมือง การแต่งกายจึงมีลักษณะทั่วไป

บ้านสบเกิ๋งเป็นชุมชนพื้นเมือง มีภาษาพูดที่เป็นภาษาพื้นเมือง (ภาษาถิ่นเหนือ) 


  • การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนในชุมชนมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ที่ไม่เอื้อต่อการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างผีกับคน หรือระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น การก่อสร้างบ้านแบบใหม่ ความเชื่อของเด็กสมัยใหม่ จะไม่ค่อยเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ
  • การเคลื่อนย้ายของประชาชน ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยายทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของสังคมในครัวเรือนต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน ตั้งแต่วัยเด็กที่ออกไปศึกษานอกชุมชน จนกระทั่งไปถึงการประกอบอาชีพและการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม จนนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานในต่างถิ่น การเคลื่อนย้ายของประชากรส่งผลโดยตรงต่อระบบวัฒนธรรม จากเดิมที่นับถือผีบรรพบุรุษที่เสื่อมคลายลง เนื่องจากลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่น ไม่มีเวลาเข้าร่วมพิธีกรรม แต่ใช้วิธีการส่งเงินกลับมาให้ญาติที่อยู่ชุมชนดำเนินการแทนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม

การแต่งกาย ชาวบ้านบ้านสบเกิ๋งในอดีตจะใส่ผ้าซิ่นตามะนาว เสื้อคอกระเช้า โสร่ง ในปัจจุบันใส่ผ้าพื้นเมืองทั่วไป


ความท้าทายด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านสบเกิ๋ง เนื่องจาก ชุมชนอยู่ใกล้กับแม่น้ำยม ฤดูฝนของทุกปีหมู่บ้านจะประสบปัญหาน้ำท่วมหมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ด้านหน้าของหมู่บ้านเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าว แต่ในปัจจุบันชาวบ้านได้มีการปรับตัวในการปลูกเรือนแบบยกพื้นใต้ถุนสูง หรือบางครอบครัวได้อพยพไปสร้างบ้านที่อยู่บนพื้นที่สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม

  • วัดแม่เกิ๋ง
  • ร้านค้าชุมชน
  • สะพานข้ามแม่น้ำยม
  • ร้านกาแฟ
  • ร้านก๋วยเตี๋ยว

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการการขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกระเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 

ไพฑูรย์ มั่นเหมาะ, สัมภาษณ์, 29 กรกฏาคม 2566 

ปนัดดา สายวงค์, สัมภาษณ์, 29 กรกฏาคม 2566

สงกรานต์ ตาสา, สัมภาษณ์, 29 กรกฏาคม 2566

เลิศ พรหมศิลา, สัมภาษณ์, 29 กรกฏาคม 2566

ไว สายวงค์, สัมภาษณ์, 29 กรกฏาคม 2566