น้ำตกปันเจน น้ำพุร้อนปันเจน
เดิมชื่อปันเย็น เพราะเป็นชุมชนที่มีสภาพอากาศแวดล้อมที่เย็น แล้วเพี้ยนมาเป็นปันเจนในปัจจุบัน
น้ำตกปันเจน น้ำพุร้อนปันเจน
บ้านปันเจนเดิมมีชื่อว่า "ปันเย็น" เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยต้นไม้ และมีน้ำตกจึงทำให้มีอากาศที่เย็นสบาย ต่อมาได้เพี้ยนเป็น ปันเจน บ้านปันเจนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2439 ชาวบ้านอพยพมาจากบ้านหนอง ตำบลน้ำใส อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ประมาณ 10 ครอบครัว แต่เดิมอาศัยอยู่แถวเชิงเขาติดน้ำตกปันเจนในปัจจุบัน แต่เนื่องจากบริเวณนั้นมีแมลงอยู่มากซึ่งก่อความรำคาญแก่ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงขยับออกมาจากบริเวณเชิงเขาและมีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในช่วงปี พ.ศ. 2522 เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ทำกินไม่เพียงพอ นายเครือ ติ๊บบุ่ง จึงได้ไปดูสถานที่ทำมาหากินที่บ้านคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้อพยพไปอยู่ที่นั่น ต่อมามีชาวบ้านกลุ่มที่สองนำโดยนายบุญศรี ได้ไปดูสถานที่ทำมาหากินที่บ้านใหม่เขียงราย ตำบลหินดาษ อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ชาวบ้านทั้งสองกลุ่มได้เดินทางมาเจอกัน ประกอบกับสถานที่แห่งนั้นมีราคาถูก จึงทำให้ชาวบ้านไปอาศัยปักหลักมีที่ทำกินอยู่ที่นั่นและมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันประชากรส่วนหนึ่งในบ้านใหม่เชียงราย จังหวัดกำแพงเพชร เป็นประชากรบ้านปันเจน จังหวัดแพร่
อาณาเขตติดต่อ
บ้านปันเจน ตำบลแม่เกิ๋ง ตั้งอยู่ในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ห่างจากอำเภอวังชิ้น ไปทิศทางใต้ 6 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดแพร่ ไปทิศทางเหนือ 75 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านค้างใจ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ที่บ้านค้างคำแสน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเด่น หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ภูเขาอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย
ลักษณะทางกายภาพ
พื้นที่ทั้งหมดไร่ 20,422 ไร่ หรือ 32.68 ตารางกิโลเมตร หมู่บ้านมีพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาล้อมรอบไปด้วยป่าไม้และภูเขา มีน้ำตกปันเจนซึ่งอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยและน้ำพุร้อนปันเจน มีภูเขาป่าไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณมีไม้มะค่าโมง ยาง ดำดง ตะแบก ประดู่ ขึ้นอยู่ตามบริเวณเชิงเขา เป็นแหล่งอาศัยของบรรดาสัตว์ป่า เช่น กวาง เก้ง หมูป่า กระรอก กระแต
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านปันเจน จำนวน 193 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 459 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 223 คน หญิง 236 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชุมชนเมืองคนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ผู้คนในชุมชนบ้านปันเจน มีการรวมกลุ่มทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
- กลุ่มเลี้ยงวัว
- กลุ่มหน่อไม้ปี๊บ
กลุ่มไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มสตรี
- กลุ่ม อสม.
- กลุ่มหน่อไม้ปี๊บ
- กลุ่มร้านค้าชุมชน
- กลุ่มศรัทธาวัด
วีถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ใน 1 ปีจะเลี้ยง 2 ครั้ง คือ ในช่วงเดือนห้าเหนือและเดือนเก้าเหนือ โดยผู้นำจะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านนำไก่หลังคาละ 1 ตัว (ถ้าไม่มีไก่ให้นำเงินมาให้ 40 บาท) และข้าวตอกดอกไม้มารวมกันที่บ้านผู้นำพิธี คือ นายมาด คำแสน และนายหลาบ อนาวรรณ์ จะใช้ไก่ในการประกอบพิธีจากนั้นจะประกอบพิธีที่ม่อนเจ้าบ้านซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นมา สามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศ แต่ต้องเป็นคนในหมู่บ้านเท่านั้นโดยไม่มีการปิดหมู่บ้าน ถ้าทำพิธีเสร็จแล้วต้องกินอาหารที่นำไปประกอบพิธีให้เสร็จไม่สามารถนำกลับมากินที่บ้านได้ การทำพิธีกรรมดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านได้กลับมาพบเจอกัน ม่อนเจ้าบ้านยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านทำการบนบานศาลกล่าวหรือขอพร ในวันที่บนคนขอจะไม่สามารถไปบนด้วยตัวเองได้ จะต้องนำกรวยดอกไม้ธูปเทียนฝากไว้ให้ผู้นำพิธีไปบนให้ ซึ่งคนบนจะต้องจำกรวยดอกไม้ของตัวเองให้ได้ บางคนก็มักจะเขียนชื่อใส่ชื่อลงไปในกรวยเพื่อให้ง่ายต่อการจำ หากเรื่องที่ได้บนบานศาลกล่าวนั้นประสบความสำเร็จก็จะต้องไปแก้บนตามที่ได้บนไว้ หากไม่สำเร็จก็จะต้องไปเอาของที่เคยบนไว้กลับมา ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องจำกรวยดอกไม้ธูปเทียนของตัวเองตอนที่ไปบนให้ได้
ประเพณีตานก๋วยสลาก ในอดีตชาวบ้านจะทำทุกปี แต่ปัจจุบันหากปีไหนเศรษฐกิจไม่ดีก็จะปรึกษากันในชุมชน ในการทำพิธีประเพณีตานก๋วยสลากจะทำช่วงเดือนเกี๋ยงหลังออกพรรษา 1 เดือน ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน
1.นายบุญยงค์ ต๊ะมะครุธ อายุ 87 ปี เป็นผู้ทำพิธีทางศาสนาและงานมงคลต่าง ๆ โดยได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ และศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม เมื่อมีงานมงคลหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา นายบุญยงค์จะได้รับเชิญให้ไปประกอบพิธีอยู่เสมอ ซึ่งนายบุญยงค์ ต๊ะมะครุธ เป็นข้าราชการบำนาญที่มีความรู้ ความสามารถ
2.นายสมศักดิ์ คำแสน อายุ 54 ปี เป็นช่างตีมีดโบราณ ได้รับความรู้การตีมีดจากพ่อ โดยได้เห็นพ่อตีมีดเป็นประจำตั้งแต่ยังเล็ก จึงเกิดการซึมซับและได้ศึกษากรรมวิธีหรือขั้นตอนในการตีมีดโบราณเพิ่มเติม การตีมีดสมัยโบราณจะใช้เตาถ่านในการหลอม ปัจจุบันได้ประกอบเป็นอาชีพเสริมและได้มาชาวบ้านทั้งในและนอกหมู่บ้านมาตีมีดเป็นประจำ
3.นายอนันตสิษฐ์ สมปุก อายุ 40 ปี เป็นช่างตีมีดสมัยใหม่ โดยได้ศึกษาการตีมีดจากการไปฝึกอาชีพที่บ้านหนองห้า ตำบลแม่หล่าย อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ จึงได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาประกอบเป็นอาชีพเสริม โดยการตีมีดแบบสมัยใหม่จะใช้ความร้อนจากแก๊ส นายอนันตสิษฐ์ สมปุก สามารถตีมีดได้หลากหลายรูปแบบ
4.นายเลิศ สมปุก อายุ 69 ปี เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสานไม้กวาดดอกหญ้า การทำปลอกมีด ซึ่งได้รับความรู้มาจากนายตี้ โนกัน ได้ฝึกฝนจนเกิดความรู้ความเชี่ยวชาญและมีฝีมือที่ประณีต จนมีลูกค้ามากมาย สามารถประกอบเป็นอาชีพเสริมหลังเสร็จจากฤดูทำนาได้
ทุนทางวัฒนธรรม
วัดปันเจน ชุมชนบ้านปันเจน นับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคและจัดทำผ้าป่าเพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างศาลาการเปรียญชั้นเดียว และมีภาพวาดฝาผนังที่สวยงาม จุดที่ตั้งของวัดปันเจน จะตั้งอยู่บนพื้นที่สูงของหมู่บ้าน ทำให้เห็นทิวทัศน์บริเวณหมู่บ้าน
บ้านปันเจนเป็นชุมชนพื้นเมือง มีภาษาพูดที่เป็นภาษาพื้นเมือง (ภาษาถิ่นเหนือ) มีภาษาเขียนที่เป็นตัวล้านนา แต่ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเขียนได้ คนที่อ่านหรือเขียนภาษาล้านนาได้มักจะเป็นคนที่เคยบวชเรียนมาก่อน
การเคลื่อนย้ายของประชาชน ในอดีตชุมชนบ้านปันเจนมีจำนวนครัวเรือนเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจทำให้ต้องมีการอพยพไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่บ้านคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยได้มีชาวบ้านไปดูสภาพพื้นที่ก่อน จากนั้นพอมีที่ดินทำกินประกอบอาชีพชาวบ้านจึงได้อพยพตามกัน จนเกิดชุมชนขึ้นอีกชุมชน เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเจริญรุ่งเรืองชาวบ้านอาศัยที่จับจองประกอบอาชีพ มีการขยายตัวของจำนวนประชาชน ส่งผลให้ปัจจุบันชุมชนบ้านปันเจนทั้ง 2 จังหวัด มีการติดต่อไปมาหาสู่เมื่อเวลามีงานบุญหรืองานต่าง ๆ
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย บ้านปันเจนซึ่งเป็นชุมชนพื้นเมือง ในอดีตชุมชนได้อยู่อาศัยแบบพึ่งพาธรรมชาติ เนื่องจากอยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ชุมชนพึ่งพาอาศัยกัน มีการล่าสัตว์ หาของป่าในพื้นที่ป่าเป็นอาชีพ แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่สามารถทำเช่นเดิมได้ จึงเปลี่ยนมาทำไร่ ทำนา ทำสวน เพื่อดำรงชีพแทน ทั้งนี้ในปัจจุบันชุมชนมีการขยายตัวเนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านระบบน้ำอุปโภค-บริโภค ฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอ
เวียงโกศัย
- วัดปันเจน
- บ่อน้ำพุร้อน
- น้ำตกปันเจน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
วังชิ้น แพร่ ไทยแลนด์. (2560, 12 มีนาคม). วัดปันเจน. Facebook. https://www.facebook.com/Wangchinphoto/
ททัยรัตน์ เจิง, สัมภาษณ์, 30 กรกฏาคม 2566
บุญยงค์ ต๊ะมะครุธ, สัมภาษณ์, 30 กรกฏาคม 2566
ปริศนา ต๊ะมะครุธ, สัมภาษณ์, 30 กรกฏาคม 2566
พัชรีกรณ์ อินดี, สัมภาษณ์, 30 กรกฏาคม 2566
เลิศ สมปุก, สัมภาษณ์, 30 กรกฏาคม 2566