Advance search

ธรรมชาติที่ยังคงสมบูรณ์ทั้งลำห้วยแม่ป้าก แม่น้ำยมไหลผ่าน และมีประเพณีสำคัญ อาทิเช่น ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ประเพณีสงเคราะห์บ้าน ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีพิธีสืบชาตาหลวงเสริมดวงชะตาชีวิต ที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา

หมู่ที่ 5
บ้านสบป้าก
แม่เกิ๋ง
วังชิ้น
แพร่
ฤทัยรัตน์ กบเสาร์
2 ส.ค. 2023
พิมพ์ลดา หล้ามา
9 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
11 ม.ค. 2024
บ้านสบป้าก

แม่น้ำ 2 สายบรรจบ (สบ) กันบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านซึ่งเป็นปากแม่น้ำ จึงเรียกว่า "สบปาก" และได้เพี้ยนมาเป็น "สบป้าก"


ชุมชนชนบท

ธรรมชาติที่ยังคงสมบูรณ์ทั้งลำห้วยแม่ป้าก แม่น้ำยมไหลผ่าน และมีประเพณีสำคัญ อาทิเช่น ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ประเพณีสงเคราะห์บ้าน ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีพิธีสืบชาตาหลวงเสริมดวงชะตาชีวิต ที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา

บ้านสบป้าก
หมู่ที่ 5
แม่เกิ๋ง
วังชิ้น
แพร่
54160
17.95518
99.64023
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เกิ๋ง

บ้านสบป้าก เดิมชื่อบ้านหาดอ่อนและเพี้ยนมาเป็นบ้านหาดอ้อน ในอดีตมีคนเฒ่าคนแก่มาจาก อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง และมาจากอำเภอลอง จังหวัดแพร่ มาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านหาดอ้อนอยู่ 7 ครอบครัว จากนั้นมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่เรื่อย ๆ บริเวณท้ายหมู่บ้านในปัจจุบันพอมีคนเยอะขึ้นก็ขยายอาณาเขตสร้างวัดสัมฤทธิบุญและสร้างโรงเรียนบ้านสบปากขึ้น

ในอดีตโรงเรียนมี 2 ที่คือทางด้านใต้ของหมู่บ้าน แล้วย้ายมาที่ใหม่แต่ใช้ชื่อเดิม และเสนอเป็นชื่อหมู่บ้านชื่อ บ้านสบป้าก มาจากแม่น้ำ 2 สายคือสายในหมู่บ้านเรียกว่า ห้วยแม่ป้าก อีกสายคือ แม่น้ำยม แม่น้ำทั้งสองสายไหลมาบรรจบ (สบ) กัน โดยบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ตรงปากน้ำจึงเรียกว่า หมู่บ้านสบปาก แล้วเพี้ยนมาเป็น สบป้าก ในปัจจุบัน

บ้านสบป้าก ตำบลแม่เกิ๋ง ตั้งอยู่ในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ห่างจากอำเภอวังชิ้น ไปทิศทางใต้ 11 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดแพร่ ไปทิศทางเหนือ 76 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านนาฮ่าง หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสบเกิ๋ง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่จอกนอก หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่สิน หมู่ที่ 6 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

ลักษณะทางกายภาพ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยแม่ป้าก และแม่น้ำยมไหลผ่าน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านสบป้าก จำนวน 255 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 717 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 376 คน หญิง 341 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชุมชนเมืองทั้งหมด คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มร้านค้าชุมชน เกิดขึ้นจากชาวบ้านระดมทุนเป็นค่าหุ้น หากชาวบ้านมาซื้อของก็จะจดรหัสของผู้ซื้อ ในแต่ละสิ้นปีจะมีการปันผลกำไรค่าหุ้น แรกเริ่มมีองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เกิ๋งสนับสนุนงบประมาณโครงการสร้างอาคารปัจจุบันมีสมาชิก 110 คน มีประธานกลุ่มคือ นายพัฒนเชษฐ์ กิติเขียว ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันด้วย
  • กลุ่มกองทุนเงินล้าน มีนายสุภาพ ชำนาญ เป็นประธานกลุ่ม และมีนายไพโรจน์ ริพล เป็นรองประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 320 คน 

กลุ่มไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มสตรีแม่บ้าน โดยมีนางขันทอง รินก๋อง เป็นประธานกลุ่ม โดยเริ่มจากการเชิญชวนกลุ่มสตรีในหมู่บ้านมารวมกลุ่มกันเดิมมีแค่แม่บ้านซึ่งเป็นผู้หญิงแต่ปัจจุบันสามารถเข้าร่วมกลุ่มเป็นสมาชิกได้ทุกเพศ ทั้งแม่บ้านและพ่อบ้าน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่ม อสม.
  • กลุ่มศรัทธาวัด

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน จัดทำประเพณีในเดือน 4 เหนือหรือเดือนมกราคมของทุกปีโดยจะใช้ไก่ในการประกอบพิธีในอดีตจะใช้ไก่หลังคาละ 1 ตัวพอเสร็จพิธีจะเอากลับบ้านใครบ้านมันหรือจะกินด้วยกันก็ได้แต่ปัจจุบันไม่ได้บังคับว่าจะต้องใช้ไก่บ้านละ 1 ตัวหากบ้านไหนไม่มีไก่ก็จะเก็บเงินหลังคาละ 30 บาทเพื่อไปซื้อไก่ ในการเลี้ยงผีเจ้าบ้านจะทำพิธี 3 ที่คือบ้านใต้บริเวณติดน้ำยมบ้านเหนือบริเวณข้างวัดและเจ้าด่านบริเวณติดน้ำยม ในวันประกอบพิธีสามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศ
  • ประเพณีสงเคราะห์บ้าน จะจัดทำประเพณีในวันที่ 16 เดือนเมษายนของทุกปี แต่หากมีคนเสียชีวิตก็จะเลื่อนไปไม่สามารถทำในวันที่ 16 ได้ต้องเลื่อนพิธีสงเคราะห์บ้านไปจนกว่างานศพจะแล้วเสร็จ 
  • ประเพณีบวชภาคฤดูร้อน จัดทำขึ้นทุกปีในวันที่ 2-3 เมษายนเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้กับสมเด็จพระเทพฯ โดยทางเจ้าคณะอำเภอวังชิ้นซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสัมฤทธิบุญจะประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ที่อยากบรรพชาภาคฤดูร้อนหรือบวชเรียน ให้มาที่วัดสัมฤทธิบุญโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆในวันที่ 2 เมษายน จะเป็นการบวชนาคพร้อมกับแห่นาควันที่ 3 เมษายนเป็นวันบวชบรรพชาเป็นพระหรือสามเณร ในแต่ละปีจะมีผู้ที่สนใจบวชเป็นจำนวนมากประมาณ 50 คนขึ้นไป 
  • ประเพณีสงกรานต์ จัดทำขึ้นช่วงวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีในช่วงเช้าจะมีการทำบุญ ตักบาตรภายในวัดวันที่ 15 จะมีกิจกรรมสรงน้ำพระทอดผ้าป่า มีการขอพรจากกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และมีการละเล่นสงกรานต์
  • ประเพณีลอยกระทง เนื่องจากบ้านสบป้ากอยู่ติดแม่น้ำยมในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีช่วงลอยกระทงชาวบ้านจะจัดกิจกรรมแห่ประกวดกระทงแล้วนำกระทงไปลอยที่แม่น้ำยมเพื่อขอขมาแม่น้ำคงคาซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษ 
  • ประเพณีพิธีสืบชาตาหลวงเสริมดวงชะตาชีวิต จัดทุกวันที่ 1 ของทุกปี วัดสัมฤทธิบุญจะจัดประเพณีสืบชาตาหลวงเสริมดวงชะตาชีวิต โดยมีประชาชนจากทั้งตำบลแม่เกิ๋ง และตำบลอื่น ๆ เพื่อร่วมพิธีสืบชาตาหลวงเสริมดวงชะตาชีวิต โดยทางวัดจะจัดขึ้นทุกปี มีการสวดเจริญพระพุทธมนต์และการจำหน่ายสินค้าเพื่อหารายได้เข้าวัด โดยทางวัดจะนำใบสืบชาตาไปแจกให้ประชาชน โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่ 09.00 น. ถึงประมาณ 11.00 น. ซึ่งจะมีการโยงสายสิญจน์ภายในเต็นท์ โดยในแต่ละปีจะมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่มาร่วมสืบชาตาหลวงเสริมดวงชะตาชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ของทุกปี
  • ประเพณีสวดมนต์ข้ามปี จัดทุกสิ้นปีทางวัดสัมฤทธิบุญจะจัดพิธีสวมมนต์ข้ามปี เพื่อเสริมสิริมงคล ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยจะมีพระสงฆ์และสามเณร ตลอดจนประชาชน จะร่วมกันสวมมนต์ข้ามปี ซึ่งทางวัดได้จัดทุกปี โดยจะมีประชาชนที่กลับมาจากต่างจังหวัดช่วงเทศกาลได้เข้าไปร่วมสวดมนต์ข้ามปีด้วย

1.นายสม สุดธะ อายุ 75 ปี ผู้มีความรู้ด้านการเป่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บและสามารถประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ โดยได้รับความรู้มาจากบรรพบุรุษประกอบกับศึกษาเพิ่มเติมจนเกิดความเชี่ยวชาญ สามารถรักษาอาการโรคภัยไข้เจ็บทั่วไปด้วยการเป่าหรือประกอบพิธีกรรม จนมีชาวบ้านทั้งในและต่างหมู่บ้านให้ความศรัทธาและได้มาขอความช่วยเหลือมากมาย เมื่อชาวบ้านที่มารักษาหายขาด จากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะนำข้าวตอกดอกไม้มาดำหัวเป็นค่าครู 

2.นายเลย จันทร์ตา  อายุ 77 ปี มีความสามารถและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำพิธีเรียกขวัญ ซึ่งได้ไปร่ำเรียนมาจากพ่ออาจารย์หล้า บ้านปากจอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ และเรียนการทำพิธีเรียกขวัญนาคจากพ่ออาจารย์น้อย บ้านนาแก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ในระหว่างที่เรียนก็จะฝึกทำพิธีร่วมกับอาจารย์ไปด้วย ปัจจุบันเป็นประธานผู้สูงอายุบ้านสบป้าก และเป็นผู้ประกอบพิธีเรียกขวัญเนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น เรียกขวัญนาค เรียกขวัญแต่งงาน เป็นต้น

3.นางแก้ว อินดี อายุ 75 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจักสานกระติ๊บข้าวและไม้กวาดทางมะพร้าว โดยได้รับความรู้จากการอบรมที่ อบต.แม่เกิ๋ง และได้นำความรู้ดังกล่าวมาต่อยอดโดยการหัดทำประกอบกับการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้ในปัจจุบันนางแก้ว อินดี มีรายได้เสริมจากการทำงานฝีมือดังกล่าว และได้รับโอกาสไปเป็นวิทยากรสอนคนอื่น ๆ รวมทั้งสามเณรในวัดสัมฤทธิบุญ

4.นายพัฒนเชษฐ์ กิติเขียว  อายุ 58 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนพิธี ซึ่งเคยบวชเรียนมาก่อนจึงอาศัยประสบการณ์ที่ได้ร่ำเรียนมาทำให้มีความสามารถในการบริหารชุมชนและเป็นผู้นำด้านศาสนพิธี

ทุนวัฒนธรรม

วัดสัมฤทธิบุญ 

เป็นวัดแห่งเดียวในบ้านสบป้าก เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านสบป้าก ซึ่งเป็นวัดที่มีศาลาการเปรียญที่สวยงาม โดยมีท่านพระครูวิจิตร  ธรรมสาธก เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอวังชิ้น ซึ่งเป็นวัดในตำบลแม่เกิ๋งที่โดดเด่นมีอาคารสำหรับปฏิบัติธรรม และศาลาการเปรียญที่สวยงาม ซึ่งทางอำเภอวังชิ้น หรือองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เกิ๋ง จะเลือกวัดสัมฤทธิบุญสำหรับใช้ประกอบพิธีเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เนื่องจากทางวัดสัมฤทธิบุญมีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนสถานที่กว้างขวาง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั้งจังหวัดแพร่ โดยหากทางจังหวัดแพร่มีกิจกรรมเกี่ยวกับทางพระพุทธศาสนา มักจะเลือกวัดสัมฤทธิบุญ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ปัจจุบันศาลาการเปรียญกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนหลังคาศาลาเนื่องจากมีสภาพการใช้งานมานาน ซึ่งหากหน่วยงานจะใช้สถานที่ของวัดสัมฤทธิบุญเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะใช้อาคารปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นอาคารที่กว้างขวาง สามารถรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และมีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมสำหรับผู้เข้ารับการฝึกปฏิบัติ ตลอดจนผู้เข้ารับการอบรม  

สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแพร่ แห่งที่ 14 วัดสัมฤทธิบุญ 

ปัจจุบันวัดสัมฤทธิบุญยังเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแพร่ แห่งที่ 14 โดยจะมีการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน โดยมีผู้มาปฏิบัติมาจากหลายแห่ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีเจ้าภาพถวายปัจจัยเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้ากรรมฐาน อีกทั้งยังเป็นสถานที่อบรมให้เยาวชนทั้งในอำเภอวังชิ้นและต่างจังหวัด มาปฏิบัติธรรมอบรม จริยธรรม คุณธรรม และวัดสัมฤทธิบุญยังมีโรงเรียนวัดสัมฤทธิบุญวิทยาที่สอนพระเณรที่บวชเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย

บ้านสบป้ากมีชุมชน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มบ้านสบป้าก จะอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงของบริเวณหมู่บ้าน ส่วนอีกกลุ่มคือบ้านหาดอ้อน ซึ่งอาศัยตามบริเวณพื้นที่ลุ่มหมู่บ้าน ในช่วงฤดูฝนจะเกิดฝนตกหนักแม่น้ำยมสูงขึ้นทำให้น้ำท่วมบริเวณหมู่บ้านที่อยู่พื้นที่ลุ่มในปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดอุทกภัยที่สร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านผู้นำชุมชนได้อพยพประชาชนที่อยู่ลุ่มน้ำมาอาศัยอยู่ที่โรงเรียนและบริเวณวัดเป็นที่พักชั่วคราวประมาณ 7 วันพอสถานการณ์คลี่คลายก็อพยพกลับไปที่เดิม ต่อมาได้มีการก่อสร้างผนังกันดินและฝายน้ำล้นเพื่อลดการเกิดภัยธรรมชาติ (น้ำท่วม) 

การเปลี่ยนแปลงของสังคมในชุมชนบ้านสบป้าก จะเห็นได้ชัดเจนว่าปัจจุบันทางวัดสัมฤทธิบุญ ซึ่งมีโรงเรียนสอนสามเณรแห่งเดียวในอำเภอวังชิ้น โดยปัจจุบันได้มีศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแพร่ แห่งที่ 14 ซึ่งภายในศูนย์ฯ ได้มีการจัดกิจกรรมอบรมคุณธรรม การปฏิบัติกรรมฐาน โดยมีผู้เข้ารับการปฏิบัติกรรมฐานจากทั่วทุกสารทิศ ทำให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลัก โดยมีชาวบ้านบางกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อประกอบอาหารให้กับผู้เข้ารับการฝึกปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ผู้คนได้รู้จักชื่อเสียงของวัดสัมฤทธิบุญ แต่ในความเปลี่ยนแปลงมีทั้งด้านดีและด้านลบ ซึ่งผลจากที่ทางศูนย์ฯมีกิจกรรมบ่อยครั้ง ส่งผลให้มีปริมาณขยะมูลฝอยในหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการบริหารจัดการ

การเคลื่อนย้ายของประชาชน

ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆ ให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของคนในครัวเรือน เช่น วิถีชีวิต ปราชญ์ชาวบ้าน ต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน ตั้งแต่วัยเด็กที่ออกไปศึกษานอกชุมชน จนกระทั่งการประกอบอาชีพ และการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม จนนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานในต่างถิ่น

  • วัดสัมฤทธิบุญ
  • โรงเรียนสัมฤทธิบุญ
  • สถานปฏิบัติธรรม
  • สะพานสบป้าก-วังชิ้น
  • ร้านค้าชุมชน
  • ร้านก๋วยเตี๋ยว
  • ร้านมินิมาร์ท

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 

แก้ว อินดี, สัมภาษณ์, 2 สิงหาคม 2566

ชัยวุฒิ สารโพธิ์ทอง, สัมภาษณ์, 2 สิงหาคม 2566

พระครูวิจิตร ธรรมสาธก, สัมภาษณ์, 2 สิงหาคม 2566

พัฒนเชษณ์ กิติเขียว, สัมภาษณ์, 2 สิงหาคม 2566 

เลย จันทร์ตา, สัมภาษณ์, 2 สิงหาคม 2566 

สม สุดทะ, สัมภาษณ์, 2 สิงหาคม 2566