Advance search

ชุมชนชาติพันธุ์ มีประเพณีสำคัญ อาทิเช่น ประเพณีกรรมบ้าน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ ประเพณีโปร่งบ้าน (ตีบ้าน)

หมู่ที่ 6
บ้านแม่สิน
แม่เกิ๋ง
วังชิ้น
แพร่
ฤทัยรัตน์ กบเสาร์
3 ส.ค. 2023
พิมพ์ลดา หล้ามา
9 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
12 ม.ค. 2024
บ้านแม่สิน

"บ้านแม่สิน" มีที่มาจากชื่อของลำห้วย คือ ลำห้วยแม่สิน


ชุมชนชาติพันธุ์ มีประเพณีสำคัญ อาทิเช่น ประเพณีกรรมบ้าน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ ประเพณีโปร่งบ้าน (ตีบ้าน)

บ้านแม่สิน
หมู่ที่ 6
แม่เกิ๋ง
วังชิ้น
แพร่
54160
17.94875103665219
99.61322850640711
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เกิ๋ง

บ้านแม่สินเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงอพยพมาจากดอยตุง ดอยลาน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ อำเภอวังชิ้น ครั้งแรกที่อพยพมา 4 - 5 ครอบครัว โดยมีนายก้างก๋ำ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกเมื่อปี พ.ศ. 2386 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2484 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ได้มีชาวบ้านซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงอพยพเพิ่มอีกโดยตอนแรกอพยพมาอยู่ที่ถ้ำคะป้ำลิพู มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านแม่เซ้ง หรือบ้านแม่สิน โดยที่ผ่านมามีผู้นำผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 15 คน ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายเพ็ชร เปียงดี

"บ้านแม่สิน" ตำบลแม่เกิ๋ง ตั้งอยู่ในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ห่างจากอำเภอวังชิ้น ไปทิศทางใต้ 7 กิโลเมตรห่างจากจังหวัดแพร่ ไปทิศทางเหนือ 70 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่จอก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสบเกิ๋ง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสบป้าก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านค้างใจ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

ลักษณะทางกายภาพ ปัจจุบันพื้นที่หมู่บ้านอยู่ใกล้เชิงเขา มีพื้นที่ราบเป็นบางส่วน พื้นที่ติดกับป่าสงวนแห่งชาติเป็นบางส่วนและมีลำห้วยไหลผ่าน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านแม่สิน จำนวน 226 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 684 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 329 คน หญิง 355 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงทั้งหมด คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

โพล่ง

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มร้านค้าชุมชน มีจุดเริ่มต้นมาจากผู้นำชุมชนไปอบรมเพื่อของบประมาณในการจัดตั้งร้านค้าชุมชน โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านระดมหุ้นเพื่อรวมกลุ่ม หุ้นละ 100 บาท และจะมีการจัดสรรกำไรเงินหุ้นร้อยละ 10 เงินซื้อสินค้าร้อยละ 3 โดยมีสถิติการครองหุ้นสูงสุด 3,500 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 164 คน
  • กลุ่มเลี้ยงโคกระบือ เกิดขึ้นจากการนำสมาชิกกลุ่มเลี้ยงโคกระบือมารวมกัน เนื่องจากบ้านแม่สินมีกลุ่มผู้เลี้ยงโคกระบือเป็นจำนวนมาก จึงจัดตั้งเป็นวิสาหกิจ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 64 คน
  • กลุ่มผู้ใช้น้ำ เนื่องจากบ้านแม่สินมีการขาดแคลนน้ำ เครื่องอุปโภค-บริโภค จึงทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อจัดหาปั๊มน้ำมาใช้ในครัวเรือน 
  • กลุ่มย้อมสีธรรมชาติ ชาวบ้านแม่สินเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง พอว่างจากการทำนา ส่วนใหญ่จะทอผ้า ในอดีตชาวบ้านจะต้องหาวัตถุดิบในการย้อมสีผ้าจากเปลือกไม้โดยน้ำมาย้อมฝ้ายเพื่อใช้ทอผ้า แต่ปัจจุบันเปลือกไม้ดังกล่าวเริ่มหายากเพราะเกิดการสูญพันธุ์ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มย้อมผ้าโดยมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และลดขั้นตอนในการย้อมสี กลุ่มย้อมสีธรรมชาติปัจจุบันมีนางบุปผา ตองแหว เป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิกกลุ่ม 20 คน
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
  • กลุ่มศรัทธาวัด บ้านแม่สินมีวัดประธาตุประกัปซึ่งเป็นวัดบรรพชนของชาวบ้านแม่สินตั้งแต่อดีต ในการก่อสร้างวัดมาจากศรัทธาของชาวบ้านแม่สินและบ้านค้างใจ โดยมีครูบาสมจิตร เจ้าอาวาส วัดสะแล่งในขณะนั้นร่วมสร้างวัดพระธาตุพระกัปป์เพื่อให้เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน

กลุ่มไม่เป็นทางการ

  • กลุ่ม อสม.
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่มเยาวชน
  • กลุ่มศิษย์เก่า

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีกรรมบ้าน 

เป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นในช่วงเดือนสิบหรือเดือน มิถุนายน ขึ้น 10 ค่ำ จัดทำกันทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับทุกคนในหมู่บ้านและประเพณีนี้ถือได้ว่าเป็นปีใหม่ของหมู่บ้านคนต่างหมู่บ้านหรือคนต่างถิ่นสามารถมาเที่ยวและมาเยี่ยมชมได้ ประเพณีกรรมบ้านหรือมัดมือจะมีการจัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนมกราคมของทุกปี หรือที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า เดือนห้าเหนือ เดือนสิบเหนือ ในสมัยก่อน ประเพณีกันบ้านจะจัดพิธีกันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน แต่ในปัจจุบันนี้ลดเวลาลงเหลือเพียงแค่ 1 วัน 1 คืน ซึ่งในช่วงระยะเวลา 1 วัน 1 คืนนี้ คนภายนอกจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในหมู่บ้าน ส่วนคนในหมู่บ้านนั้นสามารถออกไปนอกหมู่บ้านได้ แต่ห้ามออกไปนอนค้างคืนที่อื่น กล่าวอีกในหนึ่งก็คือ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” ซึ่งในขั้นตอนของประเพณีกรรมบ้าน

  1. ก่อนที่จะมีการประกอบพิธีประมาณ 5 วัน เวลาประมาณ 20.00 น. ทางผู้นำศาสนพิธีได้เรียกคณะกรรมการประกอบพิธี ประกอบด้วย ผู้นำศาสนพิธีพร้อมด้วยคณะกรรมการ และผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วย เพื่อประชุมปรึกษาหารือ หาฤกษ์งามที่จะประกอบพิธี โดยจะมีการดื่มเหล้าพร้อมด้วยพูดคุยกัน หลังจากนั้นก่อนวันประกอบพิธี เวลาประมาณ 06.00 น. ทางผู้นำศาสนาพิธีจะทำพิธีเป่าบ้าน โดยจะได้มีการประกาศใครที่ไม่ได้อยู่กำบ้าน ให้ออกนอกบริเวณหมู่บ้าน พอเรียกเสร็จค่อยกลับมา 
  2. วันที่ 1 ของประเพณีกำบ้าน ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงจะไปหาใบก๋ง หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “มี่ท่อง” เพื่อนำมาทำขนมใบก๋งสำหรับประกอบพิธี และใบตองเพื่อจะนำมาขนมข้าวต้ม หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “มี่บอง” โดยในวันนั้นผู้หญิงจะห่อขนมใบก๋งและขนมข้าวต้มทั้งวันเพื่อเตรียมประกอบพิธีสำหรับผู้ชายจะเตรียมหาไก่เพื่อนำมาประกอบพิธี โดยจะเตรียมไก่สำหรับใช้ประกอบพิธีเป็นคู่ เช่น ไก่ 2 ตัว ต่อ 1 คู่
  3. พอถึงวันเช้ามือของพิธีกรรมบ้าน แต่ละครอบครัวจะตื่นแต่เช้า ผู้ชายจะใช้ไม้เกลี่ยข้าวไปเคาะตรงราวบันได เพื่อเป็นการเรียกขวัญ จากนั้นจะช่วยกันเตรียมไก่เพื่อใช้ประกอบพิธี พอไก่สุก แต่ละบ้านจะไปเรียกผู้เฒ่าผู้แก่ หรือคนที่สามารถท่องคาถาเพื่อมามัดมือ ซึ่งสิ่งของที่จะต้องเตรียมในการประกอบพิธี ประกอบด้วยไก่ต้ม เหล้า น้ำ ขนมก๋ง ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียว พิธีมัดมือจะเริ่มทำกันตั้งแต่เช้า โดยการเชิญผู้อาวุโสที่เป็นชายและเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านมาเป็นผู้มัดข้อมือให้กับสมาชิกของแต่ละครอบครัวในหมู่บ้านเวียนกันไปกล่าวคือเมื่อบ้านหลังนั้นคนในครอบครัวมัดมือกันเรียบร้อยทุกคนแล้ว ผู้อาวุโสก็จะได้รับการเชิญให้ไปยังบ้านหลังอื่นๆที่ยังไม่ได้ทำพิธีมัดข้อมือ พอมัดมือเสร็จก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน โดยในวันนั้นทั้งวันจะมีการมัดมือ การกินเลี้ยงสังสรรค์เพื่อความรื่นเริงทั้งวัน ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นสามารถมาเที่ยวในหมู่บ้านได้ ซึ่งชาวบ้านค้างใจและคนส่วนใหญ่เรียกประเพณีนี้ว่า “ปีใหม่กะเหรี่ยง” สาเหตุที่เรียกว่า ปีใหม่กะเหรี่ยง เนื่องจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมจะมีการละเล่นเหมือนประเพณีปีใหม่
  4. หลังจากมัดมือและกินข้าวเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านแต่ละหลังก็จะเอาหัวไก่ ขาไก่ ข้าวต้มมัด เหล้า นำมารวมกันที่บ้านผู้นำศาสนพิธี(เก้าผี) และในเวลาตอนเย็นประมาณ 16.00 น. ของวันนั้นผู้นำศาสนพิธีพร้อมด้วยคณะกรรมการ และชาวบ้านที่เป็นผู้ชาย จะนำไก่ ข้าวต้มก๋งและเหล้าที่ชาวบ้านมารวมกันที่บ้านผู้นำศาสนาพิธี ไปประกอบพิธีที่ศาลาราชสำหรับทำพิธีกรรม ในตอนเย็นในสมัยก่อนจะมีชาวบ้านผู้ชายซึ่งเป็นตัวแทนของคนในหมู่บ้านจะเอากระบุงไปไล่เก็บหัวไก่ ตีนไก่ เหล้า และข้าวต้มมัดของแต่ละหลังคาเรือนไปรวมกันไว้ที่ศาลาสำหรับทำพิธีกรรม แต่ในปัจจุบันจะไม่มีตัวแทนไปเก็บ หัวไก่ ตีนไก่ เหล้าและข้าวต้มก๋ง ตามบ้านเรือนแต่ละหลังคาเรือน ชาวบ้านต้องเอาสิ่งเหล่านี้มารวบรวมไว้ที่บ้านผู้นำศาสนพิธี เนื่องจากสมัยก่อนในหมู่บ้านมีบ้านไม่กี่หลังคาเรือน การเก็บรวบรวมของที่ใช้ทำพิธีเรียกขวัญจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมากเพื่อความรวดเร็วและทันเวลาในการทำพิธีเรียกขวัญ การให้ชาวบ้านนำของมารวบรวมด้วยตนเองจะสะดวกและรวดเร็วกว่าการส่งตัวแทนไปไล่เก็บของที่ใช้ทำพิธีจากบ้านแต่ละหลัง                   
  5. เช้าของวันรุ่งขึ้นที่จะประกอบพิธีกรรม โดยผู้ชายในหมู่บ้านหลังคาละ 1 คน จะต้องไปช่วยกันถางหญ้าทำความสะอาดบริเวณปะรำพิธีที่เลี้ยงผีหัวบ้าน ชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือนจะช่วยกันออกเงินหลังคาละ 20 บาท  แล้วนำไปซื้อหมูตัวผู้ 1 ตัว โดยในอดีตจะเก็บหลังคาละ 20 บาท แต่ในปัจจุบันเนื่องจากจำนวนครัวเรือน เพิ่มมากขึ้น หมูที่ใช้ประกอบพิธีไม่เพียงพอ จึงต้องช่วยกันออกเงินหลังคาละ 40 บาท สำหรับคนที่มีครอบครัว สำหรับคนโสดหรือคนเป็นหม้าย หลังคาละ 30 บาท สำหรับผู้นำศาสนพิธีพร้อมด้วยคณะกรรมการและผู้นำชุมชน จะมาเตรียมสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมตอนเย็น ประกอบด้วย สวยที่ทำจากใบไม้จำนวนคู่ ยาสูบ หมาก ข้าวเปลือกคั่ว ข้าวหุง โดยจะมาทำกันที่บ้านผู้นำศาสนพิธี เมื่อถึงเวลาเที่ยง ผู้ชายแต่ละครอบครัวคนใดคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนจะไปทำพิธี จะต้องนำไก่ตัวผู้เป็นๆ หลังคาเรือนละ 1 ตัว และหมูตัวผู้ 1 ตัว ที่รวบรวมเงินกันไปซื้อมา นำไปที่ปะรำทำพิธีและช่วยกันฆ่าไก่ ฆ่าหมู เหล่านั้น จากนั้นก็จะช่วยกันตัดไม้ไผ่ลำยาวๆนำไปขวางไว้ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านพร้อมกันนั้น จะเอาเลือดหมู เลือดไก่ และขนไก่ ไปทาหรือติดไว้ที่ไม้ไผ่เหล่านั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกว่า “ห้ามคนนอกเข้ามาในหมู่บ้าน” 
  6. จากนั้นแยกย้ายเพื่อเตรียมความพร้อมระหว่างที่ผู้ชายขึ้นไปทำพิธีที่ปะรำเหนือหมู่บ้าน ผู้หญิงก็จะอยู่บ้านเพื่อหุงข้าวไว้ 1 หม้อ เมื่อข้าวหุงสุกแล้ว ก็จะนำมาใส่ไว้ในถาด ข้าวหุงที่จะใช้ทำพิธีนั้นจะต้องใส่ไว้ในถาดเท่านั้น พอเวลาประมาณ 4- 5 โมงเย็น  ผู้ชายก็จะออกมาจากปะรำพิธีเลี้ยงผีหัวบ้าน กลับไปที่บ้านเพื่อนำเอาข้าวหุงฟืน และเหล้า 1 ขวดที่เตรียมไว้ ขึ้นไปไว้ที่บริเวณปะรำพิธีเลี้ยงผีหัวบ้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีที่เฉพาะของตนเอง คนที่จะเข้าไปร่วมทำพิธีนั้น จะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น และต้องไปก่อนที่จะถึงเวลา 20.00 น. หากเลยเวลา 20.00 น. แล้ว ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ ณ เวลาทำพิธี ชาวบ้านผู้ชายทั้งหลายจะช่วยกันนำหมูและไก่ที่ฆ่าแล้วไปต้มหมูที่ต้มสุกแล้วจะถูกแบ่งให้กับทุกๆคนที่เป็นตัวแทนของแต่ละหลังคาเรือนที่เข้าไปร่วมทำพิธีเชื่อกันว่าเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ทำพิธีแล้วจะเป็นเหมือนยารักษาโรค ถ้าได้รับประทานก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง โดยทั้งคืนจะมีการร้องเพลง ดื่มสุรา ทั้งคืน

หลังจากนั้นเวลาประมาณ 24.00 น. เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ผู้ชายที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมพิธีแต่ละคนก็จะนำเนื้อไก่และเนื้อหมูที่ผ่านการทำพิธีแล้ว นำกลับไปบ้านเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้รับประทานกัน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทุกๆคนในครอบครัว ซึ่งในแต่ละปีการประกอบพิธีจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการต้มหมูในแต่ละปี พอหลังจากมาถึงบ้าน ก็จะมีการตะโกนว่า “ถึงบ้านแล้วนะ” ซึ่งถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีกรรมของวันนั้น โดยหลังจากเวลาประมาณ 24.00 น. สามารถเข้ามาในหมู่บ้านได้ 

ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ 

จัดช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมกรณีที่ฝนไม่ตก ชาวบ้านจึงทำพิธีเลี้ยงเพื่อให้ฝนตกซึ่งจะทำในบริเวณลำห้วยในหมู่บ้านและมีแค่ผู้ชายที่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ การเลี้ยงผีขุนน้ำจะเลี้ยงด้วยหมูเท่านั้น เครื่องเซ่นไหว้อื่นๆจะประกอบด้วยเหล้าแกลบข้าวหุงธูปและแป้งเหล้าผสมกัน โดยจะประกอบพิธีตรงอุโมงค์ทางทิศเหนือของหมู่บ้านประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำเป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นเพื่อทำพิธีขอน้ำขอฝนให้กับหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี

ประเพณีนี้จะจัดทำพิธีขึ้นทุกๆ 3 ปี ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำจะจัดทำพิธีขึ้นในช่วงระหว่างเดือน 10 - 11 กล่าวคือระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายนสิ่งที่จะต้องเตรียมเพื่อใช้ในการทำพิธีประกอบไปด้วย หมู 1 ตัว ธูป เทียน สุรา หมาก พลู และแป้งหมักสุรา หมูที่ใช้ในการทำพิธีนั้นชาวบ้านจะเก็บเงินกันซื้อมา 

ประเพณีโปร่งบ้าน (ตีบ้าน)

ใน 3 ปีจะจัดประเพณี 1 ครั้ง มักจะจัดในเดือนเมษายนหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยบ้านแต่ละหลังจะต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วย หมากพลู กล้วยสุก ฝ้าย ข้าวเปลือก ใบมะขาม ใบชะอม พริกแห้ง ปลาร้า หอมแดง หอมขาว เป็นต้น บ้านแต่ละหลังจะนำเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้ วางไว้หน้าบ้านของตน และจะมีคณะผู้นำพิธีกรรมและเหล่าชาวบ้านที่เป็นผู้ชายมาเก็บและเริ่มทำการโปร่งบ้าน โดยจะต้องทำรอบบริเวณบ้าน มีการส่งสัญญาณเริ่มทำพิธี การโปร่งบ้านจะทำทุกหลังคาเรือนแบ่งตามหมวดหรือซอยซึ่งต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 1 วัน

ประเพณีรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่

เป็นประเพณีที่ใช้ขอขมาคนเฒ่าคนแก่ในกรณีที่ได้ประพฤติตนผิดประเพณี

ประเพณีแต่งงาน 

บ้านแม่สินมีประเพณีการแต่งงานที่แตกต่างจากชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในชุมชนอื่นๆ ของตำบลแม่เกิ๋ง โดยหลังจากแต่งงาน 1 วัน พวกผู้ชายจะพากันไปหาปลาที่แม่น้ำยมแล้วประกอบอาหารกิน ณ ที่แห่งนั้น จากนั้นจึงนำปลาที่ได้อีก 1 ส่วนมาที่บ้านของเจ้าสาว ซึ่งทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องนำปลาที่ได้มาประกอบเป็นอาหารแล้วนำไปให้ทางฝั่งบ้านเจ้าบ่าวกิน ประเพณีแต่งงานดังกล่าว  จะมีเฉพาะชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สินเนื่องจากอยู่ใกล้ลำน้ำยม สามารถหาปลาได้ง่าย ซึ่งมีความเชื่อว่าจะทำให้คู่บ่าว-สาว มีชีวิตคู่ที่อยู่เย็นเป็นสุข

1.นายบือ เปียงดี เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โดยความรู้ที่ได้ มาจากบิดา ที่ได้ติดตามบิดาในวัยเด็ก ทำให้ได้มีความรู้ด้านประเพณีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ปัจจุบัน นายบือ เปียงดี ได้มีลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้มากมาย ซึ่งนายบือ เปียงดี มีความสามารถด้านการปัดเป่ารักษาให้กับชาวบ้าน ซึ่งนายบือ เปียงดี ยังเป็นที่นับถือของหน่วยงานราชการเนื่องจากเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีผู้คนรู้จักแพร่หลาย 

2.นายเพ็ชร  เปียงดี ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ซึ่งนายเพ็ชร เปียงดี เป็นผู้มีความรู้ด้านการเป็นผู้นำการปกครอง สามารถปกครองชาวบ้านแม่สินจนทำให้ได้รับการไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหลายสมัย เพราะใช้หลักการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านเวลาได้รับ ความเดือดร้อน โดยนายเพ็ชร เปียงดี ได้รับความรู้จากการเป็นผู้นำในด้านต่างๆ ค่อยๆ สะสมความรู้ ปัจจุบันได้นำความรู้จากการเป็นผู้นำได้ถ่ายทอดให้กับเยาวชนรุ่นหลังเพื่อปกครองชุมชนบ้านแม่สินให้มีความเป็นอยู่ที่ดี

3.นางบุปผา ตองแหว มีความสามารถด้านการย้อมสีธรรมชาติ เนื่องจากชุมชนบ้านแม่สินเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง พอว่างเว้นจากการทำนาก็จะทอผ้า โดยในอดีตสีที่ย้อมต้องมาจากสีธรรมชาติ ซึ่งนางบุปผา ตองแหว ได้รับความรู้จากการย้อมสีธรรมชาติจากการที่ได้ไปฝึกอบรมและนำความรู้ที่ได้จากการอบรมมาพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับกลุ่มสตรีในชุมชน ปัจจุบันได้มีกลุ่มย้อมสีธรรมชาติบ้านแม่สิน จำนวน 20 คน พอว่างเว้นจากการทำนา ก็จะนำฝ้ายมาย้อมสีธรรมชาติและจำหน่ายให้กับลูกค้า ซึ่งทำให้มีหน่วยงานราชการได้ให้ความสนใจ และให้งบประมาณสนับสนุน อีกทั้งยังได้เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานราชการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไป

4.นางสุขเสาร์ ปุ๊ดลอง เป็นผู้มีความรู้ด้านการปัดเป่ารักษาโรค โดยคนในชุมชนมีความเชื่อและศรัทธาในการรักษาของนางสุขเสาร์ ปุ๊ดลอง เพราะในอดีตไม่มีหมอเวลาคนในชุมชนไม่สบายจะอาศัยปราชญ์ชาวบ้านในการรักษาโรค โดยทั่วไปคนที่ไปรักษาหายจากอาการเจ็บป่วย โดยนางสุขเสาร์ ปุ๊ดลอง ได้รับความรู้จากบิดามารดา เนื่องจากพ่อแม่เคยรักษาผู้ป่วย ซึ่งตอนเป็นเด็กได้เห็นบิดารักษาชาวบ้าน อาศัยความจำและการฝึกฝนจนได้ให้มีความรู้ในการท่องจำสามารถปัดเป่ารักษาผู้มีอาการเจ็บป่วยได้

วัฒนธรรม

การสักแขนและสักข้อมือ

เมื่อสมัยก่อนมีการสักแขนและสักข้อมือ ในผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เหตุที่ต้องสักเพราะสมัยก่อนผู้หญิงทุกคนถ้าจะแต่งงานหรือมีครอบครัวจะต้องมีการสักแขนและสักข้อมือก่อนถ้าใครไม่สักการสักแขนและสักข้อมือก็ไม่สามารถที่จะแต่งงานได้ เพราะบ่งบอกถึงความอดทนที่จะใช้ชีวิตคู่และใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวของสามี มีการยอมรับของคนในครอบครัว ในการสักแขนและสักข้อมือ มีความเชื่อว่าจะทำอาหารได้อร่อย แม่ยายก็ยอมรับในการทำอาหารและจะไม่รังเกียจสะใภ้และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ถ้าคนไหนไม่ได้สักแขนและสักข้อมือ ก็จะไม่มีการยอมรับจากคนในครอบครัวของสามีในเรื่องต่าง ๆ เช่น การทำอาหาร แม่ยายก็จะไม่ยอมรับในการทำอาหารและจะรังเกียจสะใภ้               

แต่ในปัจจุบันนี้จะไม่มีการสักแขนและสักข้อมือของผู้หญิง เพราะมีความเชื่อเหล่านี้ลดลงพร้อมทั้งมีการยอมรับจากคนในครอบครัวของสามีเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงไม่ต้องสักแขนและข้อมือและทำให้ใกล้จะสูญหาย ซึ่งจะหาดูการสักแขนและสักข้อมือได้เฉพาะผู้สูงอายุรุ่นก่อน

วัดพระธาตุพระกัปป์

เนื่องจากชุมชนบ้านแม่สิน ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงนับถือศาสนาพุทธ ในอดีตนับถือเจ้าป่าเจ้าเขาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ต่อมาเมื่อมีวัดเกิดขึ้นชาวบ้านแม่สินก็จะไปทำบุญที่วัดเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ โดยวัดพระธาตุพระกัปตั้งอยู่ภายในทิศใต้ของหมู่บ้าน มีพระธาตุที่สวยงามให้ชาวบ้านได้กราบไหว้เวลาไปวัด  

อาหาร 

แกงเตยหนามใส่ปูนา

ชาวบ้านแม่สินนิยมรับประทานแกงเตยหนามเป็นอย่างมาก ซึ่งเตยหนามเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามริมลำห้วยในอดีตเป็นอาหารที่หาทานง่าย เนื่องจากชุมชนเป็นชาวเขาไม่มีรายได้ หาอาหารตามท้องถิ่นที่มี รับประทานได้ทุกเพศวัย แต่ในปัจจุบันเตยหนามนั้นหายาก เยาวชนรุ่นหลังไม่ค่อยรู้จักและนิยมรับประทาน 

ชาวบ้านแม่สินเป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีภาษาพูดเป็นภาษากะเหรี่ยง แต่ไม่มีภาษาเขียน ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทยในการเขียน ปัจจุบันเด็กและเยาวชนยังคงอนุรักษ์ภาษากะเหรี่ยง สามารถพูดและใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารได้ทุกคน ซึ่งทางโรงเรียนได้ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนใส่ชุดกะเหรี่ยงไปโรงเรียนในวันอังคารด้วยเช่นกัน 


ที่อยู่อาศัย

ในอดีตชุมชนบ้านแม่สิน ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ การสร้างบ้านส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนจะโล่ง จะใช้ไม้จากในป่ามาก่อสร้างบ้าน เสาบ้านก็จะเป็นไม้ ส่วนหลังคาก็มุงด้วยหญ้าคาที่สานเป็นไพ มามุงหลังคาป้องกันแดด ลม ฝน เนื่องจากชุมชนไม่มีงบประมาณในการก่อสร้างบ้าน แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชุมชนเริ่มมีรายได้ และได้รับวัฒนธรรมจากหมู่บ้านอื่น ทำให้เริ่มมีการก่อสร้างบ้านเป็นหลากหลายรูปแบบ ทั้งบ้านไม้สองชั้น บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ บ้านปูนชั้นเดียว บ้านสไตล์โมเดิร์น บ้านปูนสองชั้น ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละครอบครัว

การเคลื่อนย้ายของประชากร

ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่าง ๆ ให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของสังคมในครัวเรือนต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน ตั้งแต่วัยเด็กที่ออกไปศึกษานอกชุมชนจนกระทั่งไปถึงการประกอบอาชีพและการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม จนนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานในต่างถิ่น การเคลื่อนย้ายของประชากรส่งผลโดยตรงต่อระบบวัฒนธรรม จากเดิมที่นับถือผีบรรพบุรุษที่เสื่อมคลายลง เนื่องจากลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่น ไม่มีเวลาเข้าร่วมพิธีกรรม แต่ใช้วิธีการส่งเงินกลับมาให้ญาติที่อยู่ชุมชนดำเนินการแทนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม  

การประกอบอาชีพ

ในอดีตชุมชนบ้านแม่สิน จะประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ โดยการทำไร่ ส่วนใหญ่จะปลูกถั่วลิสง สลับกับการปลูกข้าว แต่พอการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เริ่มมีการประกอบอาชีพ เพิ่มมากขึ้น มีความหลากหลาย เช่น การปลูกแตงโม การปลูกข้าวโพด โดยในอดีตการทำไร่ ทำนา ชุมชนจะใช้ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ แต่ในปัจจุบันเริ่มใช้ปุ๋ยชีวภาพ ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชเพิ่มมากขึ้น เพื่อความรวดเร็วและผลผลิตที่มากกว่าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ทำให้ปัจจุบันมีร้านค้าที่จำหน่ายปุ๋ยชีวภาพเพิ่มมากขึ้น และการปลูกถั่วลิสงที่เป็นอาชีพของเกษตรกรในอดีตแทบจะไม่มีใครปลูกเนื่องจากระยะเวลาและราคาผลผลผลิตที่ตกต่ำ ไม่ค่อยนิยมของท้องตลาด ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากทำนาแล้ว อาชีพรองคือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกแตงโม เนื่องจากได้ผลผลิตที่สูงและระยะเวลาในการปลูกใช้ระยะเวลาน้อยทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการประกอบอาชีพเกษตรกร


การแต่งกาย 

ในอดีตการแต่งกายของชุมชนบ้านแม่สิน จะแต่งตัวตามชนเผ่า โดยการแต่งกายชองผู้ชายจะเป็นเสื้อกะเหรี่ยงชาย ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะแต่งชุดเสื้อมะเดือยกับผ้าถุงสีแดง เพื่อให้รู้ว่าได้แต่งงานแล้ว ส่วนผู้หญิงที่โสดจะสวมใส่ชุดสุ่มร่องสีขาว ซึ่งเดิมเชื่อว่าผู้หญิงที่สวมใส่ชุดสุ่มร่องสีขาวเหมือนเป็นสาวบริสุทธิ์ โดยเครื่องแต่งกายทั้งหมด ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงจะเป็นคนทอและเป็นคนเย็บ แต่ในปัจจุบันการแต่งกายของชุมชนบ้านค้างใจเริ่มมีความหลากหลาย เนื่องจากมีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาประยุกต์ใช้ โดยแทบจะมีชาวบ้านคนไหนที่จะใส่ชุดประจำเผ่า จะใส่เฉพาะแต่เวลามีประเพณีของหมู่บ้าน หรือมีกิจกรรมภายในหมู่บ้านคงเหลือไว้แต่ผู้สูงอายุที่ยังคงแต่งกายชุดชาติพันธุ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและวัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม จึงต้องมีการสวมใส่เสื้อผ้าตามชุมชนพื้นเมือง เพื่อความสะดวกในการทำงาน โดยปัจจุบันเพื่อให้อัตลักษณ์ของชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงไม่สูญหายไปทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รณรงค์ให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยงโดยสวมใส่อาทิตย์ละ 1 วัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายของชาติพันธุ์

ภาษา

เนื่องจากชุมชนบ้านแม่สินเป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งมีภาษาพูดเป็นภาษากะเหรี่ยง การสื่อสารต่างๆ จะใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นหลักเวลาไปโรงเรียนก็จะใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารเป็นหลัก ทำให้ชาวบ้านในอดีตพูดภาษาไทยไม่ชัด     

แต่ปัจจุบันผู้ปกครองของเด็กบางคนเป็นคนพื้นเมือง บางครอบครัวสอนลูกพูดภาษาพื้นเมือง หรือภาษาไทย หรือในโรงเรียนคุณครูจะห้ามพูดภาษากะเหรี่ยง ทำให้เยาวชนบ้านแม่สินปัจจุบัน พูดภาษาไทยได้ชัด แต่ก็ยังคงอนุรักษ์ภาษากะเหรี่ยง โดยเยาวชนบางคน ฟังภาษากะเหรี่ยงได้แต่พูดภาษากะเหรี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ปกครองต้องมาสอนภาษากะเหรี่ยงให้ฟัง

ประเพณีวัฒนธรรม

ในอดีตประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านแม่สิน เช่น พิธีแต่งงาน ซึ่งในอดีตพิธีแต่งงานของชาวกะเหรี่ยง จะยึดถือประเพณีของชาวกะเหรี่ยง การแต่งกายของเจ้าบ่าว เจ้าสาว ก็จะใส่ชุดกะเหรี่ยง แต่ในปัจจุบันชุดเจ้าบ่าว เจ้าสาว แทบจะไม่ค่อยมีการแต่งกาย โดยจะแต่งกายตามยุคสมัย และการแต่งงานในอดีต วันรุ่งขึ้นหลังจากวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องไปทำความสะอาดบ้านญาติของเจ้าบ่าวทุกหลังคาเรือน พร้อมกับตักน้ำใส่ในถัง โดยจะทำอย่างนี้ครบ 3 วัน ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา แต่ในปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม จึงไม่ค่อยเห็นการปฏิบัติเหมือนในอดีต 


การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ในอดีตชุมชนบ้านแม่สิน จะเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ส่วนใหญ่จะแรงงานคน และจะร่วมแรงช่วยกัน ช่วยกันปลูกข้าว ช่วยกันเกี่ยวข้าว โดยไปช่วยกันจนเสร็จ จะไม่มีการจ้างแรงงาน แต่ในปัจจุบันการปลูกข้าวและเกี่ยวข้าวโดยใช้แรงงานคนยังคงมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรมาทดแทน เช่น ใช้หว่านข้าวแทนการปลูกข้าว เนื่องจากลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย ใช้รถสีข้าวแทนการตีข้าว เพื่อลดระยะเวลา ซึ่งในปัจจุบันการลงแขกเกี่ยวข้าวยังมีหลงเหลืออยู่ แต่หากว่าระยะเวลาในการปลูกข้าว การเก็บเกี่ยวพร้อมกัน ทำให้ต้องพึ่งเครื่องจักรและจ้างแรงงานจากหมู่บ้านอื่น เพื่อความรวดเร็วและต้องแข่งกับสภาพอากาศในปัจจุบัน

ความท้าทายของชุมชน

บ้านแม่สิน เผชิญกับความท้าทายด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ เนื่องจากชุมชนอาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยแม่สินและมีอ่างเก็บน้ำห้วยหินแดง ซึ่งอยู่ตอนบนของหมู่บ้าน เวลาเกิดฝนตกหนักทำให้น้ำเอ่อล้นอ่างเก็บน้ำห้วยหินแดง ท่วมเข้าหมู่บ้านแต่ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้สร้างความเสียหายที่รุนแรงต่อชุมชนมากนัก เนื่องจากลักษณะชุมชนอยู่บนพื้นที่สูง 

  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่สิน
  • วัดพระธาตุพระกัปป์
  • ร้านขายของชำ
  • ร้านค้าชุมชน
  • โรงเรียนบ้านแม่สิน
  • ไร่องุ่นภูฟ้าเมาท์เท่นวิว 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกระเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 

บือ เปียงดี, สัมภาษณ์, 3 สิงหาคม 2566

บุปผา ตองแหว, สัมภาษณ์, 3 สิงหาคม 2566

เพ็ชร เปียงดี, สัมภาษณ์, 3 สิงหาคม 2566

ภูวดล พรอมฤต, สัมภาษณ์, 3 สิงหาคม 2566

สุขเสาร์ ปุ๊ดลอง, สัมภาษณ์, 3 สิงหาคม 2566

อนุชาติ เปียงดี, สัมภาษณ์, 3 สิงหาคม 2566