Advance search

ชุมชนชาติพันธุ์ และมีประเพณีสำคัญ อาทิเช่น ประเพณีกำบ้าน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าป่าเจ้าเขา ประเพณีดำหัวฆ้องกบ ที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต  

หมู่ที่ 7
บ้านค้างใจ
แม่เกิ๋ง
วังชิ้น
แพร่
ฤทัยรัตน์ กบเสาร์
4 ส.ค. 2023
พิมพ์ลดา หล้ามา
10 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
12 ม.ค. 2024
บ้านค้างใจ

เดิมชื่อ "แม่เกิ๋ง" เมื่อมีการอพยพจากหมู่บ้านอื่นมาอาศัยอยู่ชั่วคราว พอกลับไปแล้วรู้สึกค้างคาใจ จึงกลับมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง ซึ่งช่วงเวลาประจวบเหมาะพอดีที่จะมีการตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้น จึงเสนอชื่อ "บ้านค้างใจ" จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน


ชุมชนชาติพันธุ์ และมีประเพณีสำคัญ อาทิเช่น ประเพณีกำบ้าน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าป่าเจ้าเขา ประเพณีดำหัวฆ้องกบ ที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต  

บ้านค้างใจ
หมู่ที่ 7
แม่เกิ๋ง
วังชิ้น
แพร่
54160
17.943527118079995
99.60247131011573
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เกิ๋ง

"บ้านค้างใจ" เป็นหมู่บ้านชาวเผ่ากะเหรี่ยง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ หมู่บ้านค้างใจเมื่อครั้งสมัยก่อน เป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ชาวบ้านอาศัยตามเชิงเขาซึ่งอยู่ใกล้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เริ่มแรกมีประชากร 12 ครอบครัว มีบ้านไม่กี่หลังคาเรือน ประชากรไม่ค่อยมีเยอะ สภาพหมู่บ้านเป็นป่าทุรกันดาร เดินทางได้ไม่สะดวก

ในสมัยก่อนจะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโรงเรียน ไม่มีรถยนต์ ไม่มีรถจักรยานยนต์ ไม่มีถนนลาดยาง ทางเดินของชาวบ้านค้างใจสองฝั่งทางจะมีแต่ป่า ต้นไม้และหญ้ารกรุงรัง สมัยก่อนบ้านค้างใจขึ้นอยู่กับ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เวลาที่ชาวบ้านต้องเสียภาษีอากรนั้น ชาวบ้านจะต้องขึ้นเขาลงห้วยไป อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เพื่อไปจ่ายค่าภาษีอากรของชาวบ้านเอง ปี พ.ศ.ใด ชาวบ้านไม่ได้มีการจดบันทึก บ้านค้างใจได้ย้ายโอนมาสังกัดอยู่ที่อำเภอลอง ตอนนั้นยังไม่มีอำเภอวังชิ้นและต่อมาปี พ.ศ.ใด ชาวบ้านไม่ได้มีการจดบันทึกอีกครั้ง ชาวบ้านจำได้เพียงแค่ว่าเขาได้ยกให้อำเภอวังชิ้น เป็นกิ่งอำเภอวังชิ้น และอำเภอวังชิ้นก็มีมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งหมู่บ้านค้างใจก็เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวังชิ้นด้วยเช่นกัน

"บ้านค้างใจ" ตำบลแม่เกิ๋ง ตั้งอยู่ในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ห่างจากอำเภอวังชิ้น ไปทิศทางใต้ 5 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดแพร่ ไปทิศทางเหนือ 82 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่จอก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ป้ากอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่สิน หมู่ที่ 6 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านปันเจน หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

ลักษณะทางกายภาพ หมู่บ้านมีพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ และภูเขา อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย มีลำห้วยไหลผ่านตลอดทั้งปี คือลำห้วยแม่เกิ๋งน้อย และลำห้วยแม่เกิ๋งหลวง

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านค้างใจ จำนวน 333 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 994 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 474 คน หญิง 520 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงทั้งหมด คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

ปกาเกอะญอ

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • ศูนย์ผ้าทอกะเหรี่ยงครบวงจร ปัจจุบันมีนางสาวจันทร์เพ็ญ คำเหลือง เป็นประธานศูนย์ฯ และมีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม จำนวน 11 คน และมีสมาชิก จำนวน 50 คน ซึ่งนางสาวจันทร์เพ็ญ คำเหลือง ได้อุทิศที่ดินส่วนตัวส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ผ้าทอกะเหรี่ยงครบวงจร และเป็นผู้ที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการในการหางบประมาณเพื่อจัดตั้งศูนย์และปรับปรุงศูนย์ฯ โดยปัจจุบันได้มีหน่วยงานราชการได้สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงศูนย์เรียนรู้ฯ ให้มีความพัฒนา เพื่อต่อยอดพัฒนาและกลุ่มมีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลัก โดยศูนย์เรียนรู้ผ้าทอกะเหรี่ยงครบวงจร หมู่ที่ 7 บ้านค้างใจ เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ ทำให้ผู้คนรู้จักศูนย์เรียนรู้ และมีหน่วยงานราชการให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการถักทอ มีหน่วยงานราชการ นักเรียน นักศึกษา มาศึกษาดูงาน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการอนุรักษ์อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ให้คงอยู่สืบต่อไป
  • กลุ่มประปาหมู่บ้าน
  • กลุ่มเครือข่ายหมู่บ้าน

กลุ่มไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่มสตรี
  • กลุ่มเยาวชน

วิถีชีวิตของชาวบ้านค้างใจในสมัยก่อนนั้นจะเป็นแบบเรียบง่าย การทำมาหากินเรียบง่าย ส่วนการทำเกษตรชาวบ้านจะใช้กระบือ (ควาย) เป็นเครื่องมือในการทำนา หรือไถนา ส่วนยานพาหนะนั้นก็จะเป็นเกวียน ใช้สำหรับในการบรรทุกคน สิ่งของ และเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนอาหารการกินนั้นไม่ค่อย มีเยอะเท่าไหร่ อาหารการกินที่ว่านี้ก็คืออาหารประเภทพวกอาหารสำเร็จรูปจะไม่ค่อยมีเยอะเหมือนสมัยนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำมาหากินโดยตามธรรมชาติ เช่น หากินตามป่า ตามเขา ตามลำห้วย เมื่อสมัยก่อนอาหารประเภทสัตว์ป่านี้จะมีเยอะมาก เช่นนก หนู หมูป่า เก้ง กวาง กระต่าย รวมทั้งสัตว์ใหญ่อีกมากมายหลายชนิดนับไม่ถ้วน เพราะสมัยก่อนนั้นหมู่บ้านค้างใจถือว่าเป็นหมู่บ้านป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีกำบ้าน

เป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นในช่วงเดือนสิบหรือเดือน มิถุนายน ขึ้น 10 ค่ำ จัดทำประเพณีทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับทุกคนในหมู่บ้านและประเพณีนี้ถือได้ว่า เป็นปีใหม่ของหมู่บ้าน คนต่างหมู่บ้านหรือคนต่างถิ่นสามารถมาเที่ยวและมาเยี่ยมชมได้ ประเพณีกรรมบ้านหรือมัดมือจะมีการจัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนมกราคมของทุกปี หรือที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า เดือนห้าเหนือ เดือนสิบเหนือ

ในสมัยก่อน ประเพณีกันบ้านจะจัดพิธีกันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน แต่ในปัจจุบันนี้ลดเวลาลงเหลือเพียงแค่ 1 วัน 1 คืน ซึ่งในช่วงระยะเวลา 1 วัน 1 คืนนี้ คนภายนอกจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในหมู่บ้าน ส่วนคนในหมู่บ้านนั้นสามารถออกไปนอกหมู่บ้านได้ แต่ห้ามออกไปนอนค้างคืนที่อื่น กล่าวอีกในหนึ่งก็คือ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” ซึ่งในขั้นตอนของประเพณีกรรมบ้าน

  1. ก่อนที่จะมีการประกอบพิธีประมาณ 5 วัน เวลาประมาณ 20.00 น. ทางผู้นำศาสนพิธีได้เรียกคณะกรรมการประกอบพิธี ประกอบด้วย ผู้นำศาสนพิธีพร้อมด้วยคณะกรรมการ และผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วย เพื่อประชุมปรึกษาหารือ หาฤกษ์งามที่จะประกอบพิธี โดยจะมีการดื่มเหล้าพร้อมด้วยพูดคุยกัน หลังจากนั้นก่อนวันประกอบพิธี เวลาประมาณ 06.00 น. ทางผู้นำศาสนาพิธีจะทำพิธีเป่าบ้าน โดยจะได้มีการประกาศใครที่ไม่ได้อยู่กำบ้าน ให้ออกนอกบริเวณหมู่บ้าน พอเรียกเสร็จค่อยกลับมา
  2. วันที่ 1 ของประเพณีกำบ้าน ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงจะไปหาใบก๋ง หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “มี่ท่อง” เพื่อนำมาทำขนมใบก๋งสำหรับประกอบพิธี และใบตองเพื่อจะนำมาขนมข้าวต้ม หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “มี่บอง” โดยในวันนั้นผู้หญิงจะห่อขนมใบก๋งและขนมข้าวต้มทั้งวันเพื่อเตรียมประกอบพิธีสำหรับผู้ชายจะเตรียมหาไก่เพื่อนำมาประกอบพิธี โดยจะเตรียมไก่สำหรับใช้ประกอบพิธีเป็นคู่ เช่น ไก่ 2 ตัว ต่อ 1 คู่
  3. พอถึงวันเช้ามือของพิธีกรรมบ้าน แต่ละครอบครัวจะตื่นแต่เช้า ผู้ชายจะใช้ไม้เกลี่ยข้าวไปเคาะตรงราวบันได เพื่อเป็นการเรียกขวัญ จากนั้นจะช่วยกันเตรียมไก่เพื่อใช้ประกอบพิธี พอไก่สุก แต่ละบ้านจะไปเรียกผู้เฒ่าผู้แก่ หรือคนที่สามารถท่องคาถาเพื่อมามัดมือ ซึ่งสิ่งของที่จะต้องเตรียมในการประกอบพิธี ประกอบด้วยไก่ต้ม เหล้า น้ำ ขนมก๋ง ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียว พิธีมัดมือจะเริ่มทำกันตั้งแต่เช้า โดยการเชิญผู้อาวุโสที่เป็นชายและเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน มาเป็นผู้มัดข้อมือให้กับสมาชิกของแต่ละครอบครัวในหมู่บ้านเวียนกันไป กล่าวคือ เมื่อบ้านหลังนั้นคนในครอบครัวมัดมือกันเรียบร้อยทุกคนแล้ว ผู้อาวุโสก็จะได้รับการเชิญให้ไปยังบ้านหลังอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ทำพิธีมัดข้อมือ พอมัดมือเสร็จก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน โดยในวันนั้น ทั้งวันจะมีการมัดมือ การกินเลี้ยงสังสรรค์เพื่อความรื่นเริงทั้งวัน ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นสามารถ มาเที่ยวในหมู่บ้านได้ ซึ่งชาวบ้านค้างใจและคนส่วนใหญ่เรียกประเพณีนี้ว่า “ปีใหม่กะเหรี่ยง” สาเหตุที่เรียกว่า ปีใหม่กะเหรี่ยง เนื่องจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมจะมีการละเล่นเหมือนประเพณีปีใหม่
  4. หลังจากมัดมือและกินข้าวเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านแต่ละหลังก็จะเอาหัวไก่ ขาไก่ ข้าวต้มมัด เหล้า นำมารวมกันที่บ้านผู้นำศาสนพิธี (เก้าผี) และในเวลาตอนเย็นประมาณ 16.00 น. ของวันนั้นผู้นำศาสนพิธีพร้อมด้วยคณะกรรมการ และชาวบ้านที่เป็นผู้ชาย จะนำไก่ ข้าวต้มก๋งและเหล้าที่ชาวบ้านมารวมกันที่บ้านผู้นำศาสนาพิธี ไปประกอบพิธีที่ศาลาราชสำหรับทำพิธีกรรม ในตอนเย็นในสมัยก่อนจะมีชาวบ้านผู้ชายซึ่งเป็นตัวแทนของคนในหมู่บ้านจะเอากระบุงไปไล่เก็บหัวไก่ ตีนไก่ เหล้า และข้าวต้มมัดของแต่ละหลังคาเรือน ไปรวมกันไว้ที่ศาลาสำหรับทำพิธีกรรม แต่ในปัจจุบันจะไม่มีตัวแทนไปเก็บ หัวไก่ ตีนไก่ เหล้า และข้าวต้มก๋งตามบ้านเรือนแต่ละหลังคาเรือน ชาวบ้านต้องเอาสิ่งเหล่านี้มารวบรวมไว้ที่บ้านผู้นำศาสนพิธี เนื่องจากสมัยก่อนในหมู่บ้านมีบ้านไม่กี่หลังคาเรือน การเก็บรวบรวมของที่ใช้ทำพิธีเรียกขวัญจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมาก เพื่อความรวดเร็วและทันเวลาในการทำพิธีเรียกขวัญ การให้ชาวบ้านนำของมารวบรวมด้วยตนเองจะสะดวกและรวดเร็วกว่าการส่งตัวแทนไปไล่เก็บของที่ใช้ทำพิธีจากบ้านแต่ละหลัง
  5. เช้าของวันรุ่งขึ้นที่จะประกอบพิธีกรรม โดยผู้ชายในหมู่บ้านหลังคาละ 1 คน จะต้องไปช่วยกันถางหญ้าทำความสะอาดบริเวณปะรำพิธีที่เลี้ยงผีหัวบ้าน ชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือนจะช่วยกันออกเงินหลังคาละ 20 บาท แล้วนำไปซื้อหมูตัวผู้ 1 ตัว โดยในอดีตจะเก็บหลังคาละ 20 บาท แต่ในปัจจุบันเนื่องจากจำนวนครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น หมูที่ใช้ประกอบพิธีไม่เพียงพอ จึงต้องช่วยกันออกเงินหลังคาละ 40 บาท สำหรับคนที่มีครอบครัว สำหรับคนโสดหรือคนเป็นหม้าย หลังคาละ 30 บาท สำหรับผู้นำศาสนพิธีพร้อมด้วยคณะกรรมการ และผู้นำชุมชนจะมาเตรียมสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมตอนเย็น ประกอบด้วย สวยที่ทำจากใบไม้จำนวน คู่ ยาสูบ หมาก ข้าวเปลือกคั่ว ข้าวหุง โดยจะมาทำกันที่บ้านผู้นำศาสนพิธี เมื่อถึงเวลาเที่ยง ผู้ชายแต่ละครอบครัวคนใดคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนจะไปทำพิธี จะต้องนำไก่ตัวผู้เป็น ๆ หลังคาเรือนละ 1 ตัว และหมูตัวผู้ 1 ตัว ที่รวบรวมเงินกันไปซื้อมา นำไปที่ปะรำทำพิธีและช่วยกันฆ่าไก่ ฆ่าหมู เหล่านั้น
  6. จากนั้นก็จะช่วยกันตัดไม้ไผ่ลำยาว ๆ นำไปขวางไว้ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านพร้อมกันนั้น จะเอาเลือดหมู เลือดไก่ และขนไก่ ไปทาหรือติดไว้ที่ไม้ไผ่เหล่านั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกว่า “ห้ามคนนอกเข้ามาในหมู่บ้าน” จากนั้นแยกย้ายเพื่อเตรียมความพร้อมระหว่างที่ผู้ชายขึ้นไปทำพิธีที่ปะรำเหนือหมู่บ้าน ผู้หญิงก็จะอยู่บ้าน เพื่อหุงข้าวไว้ 1 หม้อ เมื่อข้าวหุงสุกแล้วก็จะนำมาใส่ไว้ในถาด ข้าวหุงที่จะใช้ทำพิธีนั้นจะต้องใส่ไว้ในถาดเท่านั้น พอเวลาประมาณ 4 - 5 โมงเย็น ผู้ชายก็จะออกมาจากปะรำพิธีเลี้ยงผีหัวบ้าน กลับไปที่บ้านเพื่อนำเอาข้าวหุง ฟืน และเหล้า 1 ขวด ที่เตรียมไว้ ขึ้นไปไว้ที่บริเวณปะรำพิธีเลี้ยงผีหัวบ้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีที่เฉพาะของตนเอง คนที่จะเข้าไปร่วมทำพิธีนั้น จะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น และต้องไปก่อนที่จะถึงเวลา 20.00 น. หากเลยเวลา 20.00 น. แล้ว ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ ณ เวลาทำพิธี ชาวบ้านผู้ชายทั้งหลายจะช่วยกันนำหมูและไก่ที่ฆ่าแล้วไปต้ม หมูที่ต้มสุกแล้วจะถูกแบ่งให้กับทุก ๆ คนที่เป็นตัวแทนของแต่ละหลังคาเรือนที่เข้าไปร่วมทำพิธีเชื่อกันว่าเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ทำพิธีแล้วจะเป็นเหมือนยารักษาโรค ถ้าได้รับประทานก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง โดยทั้งคืนจะมีการร้องเพลง ดื่มเหล้า ทั้งคืน

หลังจากนั้นเวลาประมาณ 24.00 น. เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ผู้ชายที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมพิธีแต่ละคนก็จะนำเนื้อไก่และเนื้อหมูที่ผ่านการทำพิธีแล้ว นำกลับไปบ้านเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้รับประทานกัน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทุก ๆ คนในครอบครัว ซึ่งในแต่ละปีการประกอบพิธีจะไม่เท่ากัน ขั้นอยู่กับการต้มหมูในแต่ละปี พอหลังจากมาถึงบ้าน ก็จะมีการตะโกนว่า “ถึงบ้านแล้วนะ” ซึ่งถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีกรรมของวันนั้น โดยหลังจากเวลาประมาณ 24.00 น. สามารถเข้ามาในหมู่บ้านได้

ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ

จัดช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ในกรณีที่ฝนไม่ตก ชาวบ้านจึงทำพิธีเลี้ยงเพื่อให้ฝนตกซึ่งจะทำในบริเวณลำห้วยในหมู่บ้านและมีแค่ผู้ชายที่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ การเลี้ยงผีขุนน้ำจะเลี้ยงด้วยหมูเท่านั้น เครื่องเซ่นไหว้อื่น ๆ จะประกอบด้วยเหล้าแกลบข้าวหุงธูปและแป้งเหล้าผสมกัน โดยจะประกอบพิธีตรงอุโมงค์ทางทิศเหนือของหมู่บ้านประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำเป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นเพื่อทำพิธีขอน้ำขอฝนให้กับหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปีประเพณีนี้จะจัดทำพิธีขึ้นทุก ๆ 3 ปี ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำจะจัดทำพิธีขึ้นในช่วงระหว่างเดือน 10 - 11 กล่าวคือระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายนสิ่งที่จะต้องเตรียมเพื่อใช้ในการทำพิธีประกอบไปด้วย หมู 1 ตัว ธูป เทียน เหล้า หมาก พลู และแป้งหมักสุรา หมูที่ใช้ในการทำพิธีนั้นชาวบ้านจะเก็บเงินกันซื้อมา

ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้เรื่องพิธีกรรมจะเป็นผู้ดำเนินการทำพิธีนอกจากนี้คนที่จะไปเข้าร่วมทำพิธีได้นั้นจะต้องเป็นผู้ชายในหมู่บ้านเท่านั้นแม้แต่ผู้หญิงในหมู่บ้านก็เข้าร่วมไม่ได้ดังนั้นคนต่างที่ต่างถิ่นไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็จะเข้าร่วมไม่ได้

ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าป่าเจ้าเขา

เป็นการเลี้ยงเพื่อให้เจ้าป่าเจ้าเขาช่วยปกปักรักษาคนในชุมชนและเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาลเพื่อที่จะได้ทำการปลูกผักผลไม้ ในการทำพิธีจะมีแค่ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถร่วมพิธีได้ การเลี้ยงผีเจ้าป่าเจ้าเขาจะทำปีละ 2 ครั้งคือในเดือนพฤษภาคมจะเป็นการบนเพื่อให้ฝนตก ให้มีน้ำเพียงพอ ต่อการทำการเกษตร จากนั้นในเดือนธันวาคมจะเป็นการเลี้ยงผีเจ้าป่าเจ้าเขาเพื่อแก้บนโดยการนำเอาพืชผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาประกอบพิธีด้วย ในการเลี้ยงผีเจ้าป่าเจ้าเขาคนร่วมพิธีต้องกินข้าวร่วมกันในสถานที่ทำพิธี เมื่ออิ่มแล้วห้ามนำของที่เหลือกลับบ้านเพราะเชื่อว่าจะมีเหตุไม่ดีเมื่อเลี้ยงเสร็จผู้ชายบางกลุ่มจะไปล่าสัตว์ซึ่งจะได้หมูป่ามาแบ่งกันในกลุ่มผู้ล่าและแบ่งให้ผู้นำทั้ง 6 คนนอกจากนี้ยังแบ่งให้เจ้าป่าเจ้าเขาโดยการนำเนื้อชิ้นเล็ก ๆ ใส่ปักไว้ตามป่าการล่าสัตว์จะทำ 3 วัน ในเดือนธันวาคมก็จะทำพิธีเหมือนกันโดยการนำผลผลิตที่ได้ไปรวมกัน และส่งให้เจ้าป่าเจ้าเขาโดยการนำไปไว้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน 

ประเพณีดำหัวฆ้องกบ

จัดในช่วงเดือนมีนาคม ในทุก 3 ปีจะเอาออกมาดำหัว 1 ครั้ง 3 ปีครั้งแรกจะเลี้ยงหมูอีก 3 ปีครั้งถัดไปจะเลี้ยงไก่สลับกัน ฆ้องกบที่บ้านค้างใจเชื่อว่าเป็นตัวแม่ ซึ่งจะมีลักษณะที่ใหญ่กว่าฆ้องกบของหมู่บ้านโป่ง ตำบลแม่ป้ากที่เชื่อว่าเป็นตัวผู้เนื่องจากลักษณะที่ผอมเล็กกว่า ในวันที่ทำพิธีผู้หญิงจะทำขนม ตอนเช้าจะเป็นการนำฆ้องกบมาทำความสะอาด ทาแป้ง จากนั้นจึงมีการเซ่นไหว้แล้วนำไปดำหัวระหว่างวันจะมีการฟ้อนรำด้วย เมื่อประกอบพิธีเสร็จ ฆ้องกบจะถูกนำออกมานอกห้องนอน 3 วันเพื่อให้ประชาชนได้ชมและขอพร จากนั้นจึงจะนำกลับเข้าห้องไว้ที่เดิม ซึ่งในทุกปีช่วงวันสงกรานต์ชาวบ้านจะเข้าไปดำหัวภายในห้องที่เก็บฆ้องกบได้

ประเพณีฆ้องกบเป็นประเพณีที่จัดขึ้นวันเดียววันเดียวกับประเพณีมัดมือ กล่าวคือ ตอนเช้าของวันนั้นจะเป็นประเพณีมัดมือ ตอนบ่ายจะเป็นประเพณีฆ้องกบและตอนเย็นจะเป็นประเพณีเรียกขวัญชาวบ้าน ประเพณี 3 อย่างนี้จะทำในวันเดียวกันฆ้องกบมีลักษณะเหมืองกับกลองชนิดหนึ่ง นายวินัย หล้ามา ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของฆ้องกบว่า เมื่อครั้งอดีตมีพี่น้อง 4 คนในหมู่บ้านค้างใจ พี่น้องทั้ง 4 คน ได้พากันไปซื้อฆ้องกบที่ประเทศพม่า มาไว้ในหมู่บ้านซึ่งตอนนั้นมี 3 หมู่บ้าน ที่พากันไปซื้อฆ้องกบ ได้แก่ บ้านโป่ง บ้านแม่ป้ากและบ้านค้างใจ ในปัจจุบันมีฆ้องกบเหลือเพียงแค่ 2 หมู่บ้านเท่านั้น ได้แก่หมู่บ้านโป่งและหมู่บ้านค้างใจส่วนฆ้องกบของหมู่บ้านแม่ป้ากนั้น ได้ถูกไฟไหม้เสียหายไปหมดแล้วปัจจุบันฆ้องกบจะถูกเลือกไว้ในบ้านของนางปอย ใจติ๊บ ซึ่งเป็นลูกหลานของยายหล้า จีดอก ได้เก็บฆ้องกบไว้ในบ้านหลังใดหลังหนึ่งของหมู่บ้านนั้น ไม่ใช่ว่าจะเก็บรักษาไว้บ้านหลังไหนก็ได้ตามใจชอบ เพราะมีความเชื่อว่าฆ้องกบนั้นจะต้องอยู่ที่บ้านที่เป็นลูกหลานที่เคยอยู่

ในอดีตฆ้องกบได้เอาไว้ในบ้านของยายหล้า จีดอก ปัจจุบันยายหล้า จีดอก ได้เสียชีวิตลง โดยปัจจุบันชาวบ้านได้มีมติให้เก็บไว้ที่บ้านนางปอย ใจติ๊บ ประเพณีก้องกบนี้จะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี พอถึงวันทำพิธีเจ้าของบ้านจะนำก้องกบออกจากห้องที่เก็บไว้ นำฆ้องกบเอาออกมาไว้ในบ้านเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านก็จะได้นำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาสรงน้ำก้องกบ ชาวบ้านบางคนก็จะมาตีก้องกบเพราะเชื่อว่า เป็นสิริมงคลกับตนเองซึ่งสามารถตีทั้งหญิงและชาย

ประเพณีนี้ คนต่างถิ่นหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมได้ เมื่อทำพิธีครบ 3 วัน 3 คืน แล้วเจ้าของบ้านก็จะนำก้องกบเข้าไปเก็บไว้ในห้องที่เก็บรักษาไว้เหมือนเดิม เมื่อเสร็จสิ้นพิธีสรงน้ำฆ้องกบแล้ว ในตอนเย็นในวันนั้น เวลาประมาณ 1 ทุ่ม ผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้านก็จะมารวมตัวกันที่ศาลาสำหรับทำพิธีกรรมการหมู่บ้าน เมื่อผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้านก็จะมารวมตัวกันครบแล้วก็จะเริ่ม ทำพิธีเรียก ขวัญชาวบ้าน ในพิธีก็จะประกอบไปด้วย หัวไก่ ตีนไก่ มีเหล้า น้ำดื่มและข้าวต้มมัด ซึ่งสิ่งของเหล่านั้นได้จากการรวบรวมมาจากชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือน ผู้เฒ่าผู้แก่จะทำพิธีหยาดเหล้าหยาดน้ำและเรียกขวัญชาวบ้าน ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลให้แก่ชาวบ้าน ให้ผีบ้าน ผีเรือนช่วยคุ้มครองให้อยู่ดีมีความสุขกันทุกคน พิธีกรรมนี้เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เมื่อเสร็จสิ้น พิธีกรรมแล้วผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน

ประเพณีส่งเคราะห์บ้าน 

จัดช่วงเดือนเมษายน จะมีอยู่ 2 กรณีคือทำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน ไม่มีการตีบ้านและอีกกรณีจะมีการตีฝาบ้านซึ่งทำ 3 ปี 1 ครั้ง ในการประกอบพิธีจะใช้ไก่ 3 ตัว ที่มีสีขาว สีดำและสีแดงซึ่งประเพณีสงเคราะห์บ้านนั้นชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะได้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากบ้าน รับสิ่งดี ๆ เข้ามา

ประเพณีเลี้ยงผีเรือน

เป็นประเพณีที่เลี้ยงกันเฉพาะในครอบครัวของผู้ที่ต้องการเลี้ยงเท่านั้นไม่ได้เลี้ยงกันทั้งหมู่บ้านเหมือนประเพณีอื่น ช่วงเวลาที่จะทำการเลี้ยงผีเรือนนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ประเพณีเลี้ยงผีเรือนจะจัดทำกันในครัวเรือน แล้วแต่กรณี เช่น กรณีที่ลูกสาวจะแต่งงาน พ่อแม่ก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเรือนก่อนหรือกรณีที่ครอบครัวใดมีลูกหลานเกิดใหม่และอายุได้ประมาณ 8 - 9 เดือน ปู่ย่า ตายาย ของเด็กคนนั้นก็จะต้องเลี้ยงผีเรือน หรือในอีกกรณีหนึ่งถ้ามีใครบางคน ในครอบครัวไม่สบาย บ้านหลังนั้นก็ต้องเลี้ยงผีเรือนด้วยเหมือนกัน คนที่ทำพิธีก็คือ พ่อแม่ ส่วนลูกทุกคนก็ต้องเข้าร่วมทำพิธีด้วยกันเช่นกันจะมีกฎไว้ว่า ลูกสาวของพ่อแม่เอาหลานไปร่วมพิธีได้ แต่ลูกชายของพ่อแม่ ไม่สามารถเอาหลานเข้าร่วมได้ พิธีเลี้ยงผีเรือนนี้จะทำกันบนเรือนในห้องนอนของพ่อแม่เท่านั้น ในห้องนอนของพ่อแม่นั้น พ่อจะทำเตาไว้สำหรับเลี้ยงผีเรือนเพราะการเลี้ยงผีเรือนเวลาจะต้มไก่ หุงข้าว ต้องทำกันในห้องเท่านั้น แม้แต่ตำน้ำพริกที่จะยำไก่ก็ต้องตำในห้องนั้นเช่นกัน

เวลาประมาณ 3 โมงเย็น พ่อกับแม่จะช่วยกันฆ่าไก่แล้วต้มเป็นตัว และหุงข้าว 1 หม้อ การหุงข้าวต้องใช้หม้อดินเช่นกันในพิธีก็จะมีไก่ต้ม 2 ตัว ตัวผู้ 1 ตัว ตัวแม่ 1 ตัว ข้าวหุง 1 หม้อ น้ำ 1 แก้ว แก้วที่ใช้ใส่น้ำนั้นจะทำจากกระบอกไม้ไผ่ กระด้ง 1 ใบ ถ้วย 1 ใบ ช้อน 1 ใบ ช้อนที่ใช้จะต้องทำจากกะลามะพร้าวเท่านั้น ไม้พายสำหรับคนข้าว 1 อัน ไม้พายก็ต้องทำจากไม้ ครก 1 อันไว้สำหรับตำน้ำพริกครกนั้นจะต้องทำจากกระบอกไม้ไผ่ สากครกทำจากไม้และมีกระบอกไม้ไผ่ยาว 42 เซนติเมตร กว้าง 6 เซนติเมตร 1 อัน สำหรับใส่น้ำไว้เทใส่แก้วตอนทำพิธีและจะมีต้นหอม ผักชี แม่จะซอยไว้ใส่ยำไก่ในพิธี และจะมีใบไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งทางบ้านจะเรียกกันว่า “ใบโท่ง” จะนำใบโท่งมา 2 ใบไว้สำหรับใส่ข้าวให้ผีเรือน เครื่องใช้ทุกอย่างทีจะนำมาใช้ในการทำพิธี จะต้องทำขึ้นใหม่หรือซื้อใหม่หมด จะใช้ของภายในบ้านไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น หม้อดิน ช้อน ถ้วย เป็นต้น ระยะเวลาที่ทำพิธีจะใช้เวลา 2 วัน คือของแม่ 1 วัน ของพ่อ 1 วัน แต่ทำพิธีแค่ตอนเย็นเท่านั้น

ระหว่างที่ทำพิธี 2 วันนี้ พ่อกับแม่และลูกหลานทุกคนที่เข้าร่วมพิธีจะต้องนอนในบ้านหลังนั้นเท่านั้นไม่สามารถไปนอนค้างที่อื่นได้ เวลาประมาณ 6 โมงเย็น ก็จะเริ่มทำพิธีกัน วันแรกจะทำพิธีของแม่ก่อน พ่อกับแม่จะเรียกลูกหลานทุกคนที่เข้าร่วมพิธีเข้าไปในห้องทำพิธีเมื่อมาครบทุกคนแล้ว พ่อกับแม่จะนำกระด้งวางไว้แล้วก็จะตักข้าวหุงที่จะทำพิธีใส่กระด้ง ตักไก่ที่ต้มแล้วใส่ถ้วยแล้วเอาวางไว้ในกระด้ง แล้วแม่ก็จะเอาแก้วที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่มาวางไว้ข้าง ๆ กระด้งแล้วก็จะเอาน้ำที่ใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่เทใส่แก้วกระบอกไม้ไผ่ที่วางไว้ข้างกระด้ง แล้วจะเอาใบโท่ง 2 ใบที่เตรียมไว้มาเสียบใต้กระด้ง เสียบเข้าไปแค่ครึ่งใบ แล้วแม่จะหยิบเอาข้าวหุงกับไก่ต้มที่เตรียมไว้ในกระด้งหยิบเอาอย่างละนิดมาใส่ในใบโท่ง ระหว่างที่แม่หยิบเข้าหุงกับไก่ต้มนั้น  แม่ก็จะเรียกขวัญ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ล่วงลับไปแล้วให้มากินข้าวที่เราทำพิธีกัน เสร็จแล้วก็จะนำน้ำที่ใส่แก้วไว้เทลงในใบโท่งที่มีข้าวหุงและไก่ต้มที่แม่หยิบมาไว้จนน้ำหมดแก้ว แล้วแม่จะเอาน้ำเทใส่แก้วใหม่อีกครั้ง และแม่ก็จะบอกพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ล่วงลับไปแล้ว ว่าเมื่อกินข้าว กินน้ำเสร็จ ขอให้เอายาสมุนไพรหยดลงไปในแก้วน้ำ เพื่อให้ลูกหลานได้กินกันและให้ลูกหลานทุกคนหาย จากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ แล้วแม่ก็จะหยิบข้าวหุงและไก่ต้มกิน 1 คำ ส่วนพ่อก็จะหยิบกินข้าวหุงกับไก่ต้ม 1 ตัว เช่นกัน

เมื่อพ่อกับแม่กินเสร็จก็จะให้ลูกหลานที่เข้าร่วมพิธีกินกันทุกคน แต่มีกฎว่าต้องกินทีละคนเรียงจากลูกคนโตกินก่อน จนถึงลูกคนสุดท้อง เมื่อกินข้าวครบทุกคนแล้วก็จะกินน้ำ แม่จะเป็นคนกินก่อน แล้วพ่อก็กินด้วย ส่วนลูกหลานก็จะกินน้ำเรียงตามลำดับเหมือนตอนกินข้าว เสร็จแล้วแม่ก็จะเอาใบโท่งที่มีข้าวหุงไก่ต้มที่แม่จัดไว้ห่อแล้วทิ้งลงใต้ถุนบ้าน จากนั้นพ่อกับแม่จะช่วยกันฉีกไก่ทั้ง 2 ตัว ใส่หม้อที่มีน้ำซุปจนหมด แล้วใส่ต้นหอม ผักชี เสร็จแล้วแม่ก็จะตักใส่ถ้วยมาวางไว้ในกระด้งที่มีข้าวหุงอยู่ แล้วจะกินกันคนละ 2-3 คำ พอเสร็จแม่ก็จะกระด้งออกมานอกห้อง หลังจากออกจากห้องทำพิธีแล้วก็จะกินข้าวพร้อมกันหมด กินจนไก่และข้าวหุงหมดแล้วลูกหลานทุกคนก็จะลงจากบ้านได้ ระหว่างที่ขึ้นไปทำพิธีกันในห้องนั้นจะไม่ให้ใครขึ้นมาบนบ้านเด็ดขาด ถ้ามีใครขึ้นบ้านตอนทำพิธีกัน ก็จะต้องทำพิธีใหม่อีกครั้ง แต่ทำอีกวันหนึ่งไม่ใช่วันเดียวกัน วันที่สอง ก็จะทำพิธี พิธีของพ่อนั้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้หรือวิธีการทำพิธีก็เหมือนกับของแม่ เพียงแต่ทำกันคนละวัน พิธีเลี้ยงผีเรือนนี้เป็นความเชื่อของชาวบ้าน

1.นายติ๊บ คำเหลือง อายุ 68 ปี

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน เล่าว่าตนเองนั้นเริ่มจักสานตั้งแต่ยังหนุ่ม โดยเชี่ยวชาญการจักสานที่รองก้นหม้อซึ่งได้รับการสอนจากลุงเติง ปัจจุบันได้ฝึกฝีมือและสามารถพัฒนาการจักสานเพิ่มมากขึ้น เช่น สุ่มไก่ ตะกร้าไม้ไผ่ ที่ใส่แก้วกาแฟ เป็นต้น นอกจากฝีมือด้านการจักสานทำให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว นายติ๊บ คำเหลือง ยังได้มีโอกาสเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการจักสานให้กับชุมชนอื่น ๆ ในตำบลแม่เกิ๋งอีกด้วย 

2.นายวินัย หล้ามา อายุ 75 ปี

ปราชญ์ชาวบ้านด้านพิธีกรรมและการจักสาน อีกทั้งยังเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ซึ่งคณะกรรมการในการประกอบพิธีจะมี 6 คนประกอบด้วยประธานรองประธานกรรมการ 2 คนและผู้ช่วย 2 คน ในอดีตนายวินัย หล้ามาได้ทำหน้าที่ตำแหน่งกรรมการจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีในการประกอบพิธีจึงได้ขยับขึ้นมาตามลำดับขั้นปัจจุบันจึงได้เป็นประธานวัฒนธรรมในการประกอบพิธีประเพณีกรรมบ้านซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษและยังมีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงผีกรณีที่เด็กหรือคนในครอบครัวไม่สบายก็ได้มีการไปช่วยประกอบพิธีให้หายจากอาการเจ็บไข้ซึ่งการเลี้ยงผีก็เป็นความเชื่อของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง

ในด้านการจักสานนายวินัย หล้ามาสามารถประดิษฐ์งานได้หลายชนิด เช่น ไม้กวาดดอกหญ้าไม้กวาดก้านมะพร้าวที่เก็บมีด ข้องใส่ปลาไซดักปลา กระบวยตักน้ำที่รองก้นหม้อ และหมวกใบลานโดยได้รับความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่และลองหัดทำจนมีฝีมือ ปัจจุบันได้รับการอบรมเพิ่มเติมจากหน่วยงานราชการทำให้มีฝีมือในการจักสานมากขึ้นและยังได้เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานราชการเพื่อถ่ายทอดให้กับชุมชนอื่น ๆ ทั้งเด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดการสืบทอดต่อไปการจักสานยังเป็นอาชีพเสริมหลังว่างเว้นจากการประกอบอาชีพทางการเกษตร

3.นางสาวปทุมทิพย์ จีดอก อายุ 39 ปี

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำขนมข้าวต้มก๋ง เนื่องจากบ้านค้างใจเป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงซึ่งจะมีการประกอบประเพณีกรรมบ้าน ในพิธีดังกล่าวต้องมีการใช้ขนมใบก๋งที่ทุกบ้านจะต้องใช้ในการประกอบพิธีการทำขนมใบก๋งในสมัยก่อนจะได้รับการสอนจากพ่อแม่ในอดีตจะมีส่วนประกอบแค่ข้าวสาร เมล็ดถั่วฝักยาว และมะพร้าว แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาขนมใบก๋งขึ้น โดยมีส่วนประกอบที่เพิ่มเติมเช่นน้ำตาลทรายงาถั่วลิสงกล้วยตากแห้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการมาติดต่อเพื่อขอไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดการทำขนมใบก๋งให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักขนมข้าวต้มใบก๋งอีกทั้งยังมีการจัดทำเป็นอาหารว่างสำหรับการประชุมอบรมสัมมนาทั้งในและนอกพื้นที่ตลอดจนใช้รับรองผู้มาเยี่ยมชมและเป็นของฝากให้กับผู้มาเยี่ยมชมใบก๋งสามารถหาได้ง่ายตามข้างทางคันสระในอดีตข้าวต้มใบก๋งจะนิยมทำเป็นชิ้นใหญ่

แต่ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ให้มีขนาดเล็กลงตามความต้องการของผู้บริโภคปัจจุบันข้าวต้มใบก๋งได้ถูกใช้เป็นขนมรับรองในครั้งที่ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอกะเหรี่ยงครบวงจรบ้านค้างใจ ได้จัดกิจกรรมประชุมหรืออบรม ขนมข้าวต้มใบก๋งมีวิธีการทำที่ค่อนข้างง่ายโดยการเอาส่วนผสมทั้งหมดมาผสมให้เข้ากัน จากนั้นจึงนำใบก๋งมาม้วนเป็นรูปทรงกรวย แล้วใช้ช้อนตักส่วนผสมมาใส่ในใบก๋งที่ม้วนไว้ ใช้ปลายใบก๋งพับลง ทำอย่างนี้ ให้ได้ 3 หรือ 4 ชิ้น แล้วเอาตอกมามัดรวมกัน จากนั้นจึงนำไปต้มประมาณ 1 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะสุก ข้าวต้มใบก๋งที่มัดรวมกันนี้ยังสื่อถึงความรัก ความสามัคคีของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่มีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหมือนข้าวต้มมัดใบก๋งที่มัดรวมกัน

4.นางสาวจันทร์เพ็ญ คำเหลือง อายุ 51 ปี

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการถักทอ เนื่องจากชุมชนบ้านค้างใจเป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง พอว่างเว้นจากการทำนา แม่บ้านจะทอผ้าไว้สวมใส่ เช่น เสื้อกะเหรี่ยง ผ้าทอ ชุดสุ่มร่อง ซึ่งในอดีตแม่บ้านจะทอผ้าสำหรับสวมใส่เท่านั้น ปัจจุบันผ้าทอกะเหรี่ยงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยการนำของนางสาวจันทร์เพ็ญ คำเหลือง ซึ่งนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้จากแม่ และเกิดจากความรัก ความชอบ ความสนใจในผ้าทอกะเหรี่ยง จึงได้รวมกลุ่มกับแม่บ้านในหมู่บ้าน ได้จัดตั้งกลุ่มมีชื่อว่า “ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอกะเหรี่ยงครบวงจร” โดยปัจจุบัน นางสาวจันทร์เพ็ญ คำเหลือง ได้ไปศึกษา อบรม สัมมนา เกี่ยวกับผ้าทอกะเหรี่ยง เพื่อนำมาพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยงให้เป็นที่รู้จัก และแปรรูปผ้าทอกะเหรี่ยงให้มีความหลากหลาย ทั้งนี้ปัจจุบันนางสาวจันทร์เพ็ญ คำเหลือง ได้ไปเป็นวิทยากรเกี่ยวกับผ้าทอกะเหรี่ยงทั้งในตำบลแม่เกิ๋ง ต่างตำบลแม่เกิ๋ง รวมทั้งนอกอำเภอวังชิ้น เพื่อพัฒนาความรู้และสืบสานอัตลักษณ์การทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงต่อไป

ทุนทางวัฒนธรรม

การสักแขนและสักข้อมือ 

เมื่อสมัยก่อนมีการสักแขนและสักข้อมือ ในผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เหตุที่ต้องสักเพราะสมัยก่อนผู้หญิงทุกคนถ้าจะแต่งงานหรือมีครอบครัวจะต้องมีการสักแขนและสักข้อมือก่อน ถ้าใครไม่สักการสักแขนและสักข้อมือก็ไม่สามารถที่จะแต่งงานได้ เพราะบ่งบอกถึงความอดทนที่จะใช้ชีวิตคู่และใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวของสามี มีการยอมรับของคนในครอบครัว ในการสักแขนและสักข้อมือ มีความเชื่อว่า จะทำอาหารได้อร่อย แม่ยายก็ยอมรับในการทำอาหารและจะไม่รังเกียจสะใภ้และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ถ้าคนไหนไม่ได้สักแขนและสักข้อมือ ก็จะไม่มีการยอมรับจากคนในครอบครัวของสามีในเรื่องต่าง ๆ เช่น การทำอาหาร แม่ยายก็จะไม่ยอมรับในการทำอาหารและจะรังเกียจสะใภ้

แต่ในปัจจุบันนี้ จะไม่มีการสักแขนและสักข้อมือของผู้หญิง เพราะมีความเชื่อเหล่านี้ลดลง พร้อมทั้งมีการยอมรับจากคนในครอบครัวของสามีเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงไม่ต้องสักแขนและข้อมือและทำให้ใกล้จะสูญหาย แต่สามารถหาดูการสักแขนและสักข้อมือได้ในผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและเป็นผู้สูงอายุในหมู่บ้านค้างใจ

กะเหรี่ยงหูยาน 

ชาวบ้านค้างใจเป็นชาวกะเหรี่ยงอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีหูยาน "การทำหูยาน" นี้ในปัจจุบันจะมีเฉพาะหญิงชราเท่านั้นที่มีหูยาน โดยผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงชราคนหนึ่งในหมู่บ้านค้างใจ ได้เล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่หญิงชราในหมู่บ้านมีหูยานนั้นเป็นเพราะว่า เมื่อครั้งอดีตชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้าใครไม่เจาะหูและใส่ตุ้มหูจะเป็นคนหูเบาเชื่อคนง่ายจะทำให้ถูกหลอกได้ง่ายโดยเฉพาะผู้หญิง ดังนั้นผู้หญิงทุกคนในหมู่บ้านจึงต้องเจาะหูกันหมด 

ริ่มต้นจากการเจาะหูให้เป็นรูเล็ก ๆ โดยใช้ไม้ที่เหลาแล้วตัดเป็นท่อน ๆ ให้มีขนาดพอเหมาะกับรูหูที่เจาะไว้แล้วเสียบท่อนไม้นั้นให้เข้าไปในรูหู เมื่อรูหูเริ่มขยายกว้างขึ้นก็จะเปลี่ยนท่อนไม้ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นใส่เข้าไปแทนท่อนไม้อันเก่าตามขนาดของรูหูที่กว้างขึ้น การเปลี่ยนท่อนไม้ที่ใช้เสียบรูหูจะทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งรูหู มีขนาดใหญ่และหูเริ่มยานอันเป็นที่พึงพอใจของแต่ละบุคคลเนื่องจากมีการเชื่อว่าการใส่ตุ้มหูที่หนักจะทำให้เป็นคนไม่หูเบา ไม่เชื่อคนง่าย และจะได้ไม่ถูกใครหลอก ดังนั้นตุ้มหูยิ่งใหญ่และหูยิ่งยานก็ยิ่งดี นอกจากนี้ในสมัยก่อนผู้หญิงในหมู่บ้านบางคนจะใช้งาช้างทำเป็นตุ้มหู ซึ่งมีคนต่างถิ่นนำมาขายโดยการนำงาช้างมาทำแผ่นทรงกลมให้พอดีกับขนาดความกว้างของรูหูและคนที่จะใช้งาช้างมาทำเป็นตุ้มหูนั้นจะต้องเป็นคนมีฐานะที่ดีในสังคมในสมัยก่อนนั้น กล่าวคือคนไหนมีฐานะดีก็จะมีตุ้มหูงาช้างใส่

ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะไม่มี การหูยานให้เห็นเนื่องจากสมัยนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากดังนั้นเราจึงเห็นกะเหรี่ยงหูยานจะมีให้เห็นเฉพาะผู้หญิงสูงอายุเท่านั้น

เครื่องแต่งกาย

ถือเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในแต่ละกลุ่มชน ที่ได้ใช้ภูมิปัญญาในการสืบสานและถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยชาวกะเหรี่ยงบ้านค้างใจ มีชุดประจำหมู่บ้าน เรียกว่า ชุดกะเหรี่ยง โดยชุดกะเหรี่ยงได้ถูกออกแบบให้มีหลายรูปแบบ ได้แก่ เสื้อมะเดือย ผ้าถุง ชุดสุ่มร่อง เสื้อกะเหรี่ยงชาย กางเกงผ้าทอกะเหรี่ยง ทั้งนี้ชุดกะเหรี่ยงแต่ละรูปแบบชาวบ้านจะถักทอและเย็บกันเอง ปัจจุบันชาวบ้านได้ออกแบบลวดลายใหม่ จึงทำให้ชุดกะเหรี่ยงมีความสวยงามและโดดเด่นมากขึ้น ดังนี้ 

  • เสื้อมะเดือย เป็นเสื้อใช้สวมใส่เฉพาะผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีครอบครัวแล้ว โดยความเป็นมาที่เรียกเสื้อมะเดือยเพราะชาวบ้าน จะนำเอาเม็ดมะเดือยที่ปลูกไว้ แล้วคัดเฉพาะที่แก่จัด เพื่อนำมาตากแห้ง จนเม็ดมะเดือยแห้ง ทั้งนี้ลักษณะเม็ดมะเดือยที่แห้งจะมีสีขาว จากนั้นจะนำไปเย็บกับเสื้อที่เตรียมไว้และตกแต่งอย่างสวยงาม ส่วนผ้าที่ใช้ทำตัวเสื้อ ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าฝ้ายสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มที่ผ่านการทอ แล้วนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อตามรูปของอัตลักษณ์กะเหรี่ยงและนำเม็ดมะเดือยมาเย็บแต่งลายให้สวยงามตามลักษณะของลายที่เป็นมงคล หรือตามใจชอบ
  • ผ้าถุงกะเหรี่ยง ผ้าถุงกะเหรี่ยงเป็นผ้าที่ใช้สำหรับใส่เฉพาะผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วเช่นกัน ส่วนผ้าที่ใช้ทำตัวผ้าถุงกะเหรี่ยงนั้น ส่วนมากชาวบ้านจะใช้ฝ้ายสีแดง วิธีการทำก็จะนำด้ายมาทอเป็นผืนก่อน เมื่อทอเสร็จก็จะตัดเย็บเป็นผ้าถุงกะเหรี่ยง อีกทั้งตรงบริเวณชายของผ้าถุงกะเหรี่ยงจะทอแบบมีลวดลาย โดยเน้นการใช้ฝ้าย 2 สี คือ สีขาวกับสีดำ ซึ่งจะทำให้ผ้าถุงดูสวยงามยิ่งขึ้น ปัจจุบันชาวบ้านได้พัฒนาผ้าถุงกะเหรี่ยง โดยใช้ฝ้ายหลากหลายสี เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน สีชมพู หรือสีน้ำตาล เพื่อสร้างสินค้าใหม่ ๆ และตอบโจทย์ผู้ซื้อมากขึ้น
  • ชุดสุ่มร่อง เป็นชุดสำหรับผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือยังไม่มีครอบครัว รวมถึงการใช้เป็นชุดของเด็กผู้หญิงอีกด้วย ชุดสุ่มร่องมีลักษณะเป็นชุดสีขาวที่คลุมยาวถึงข้อเท้า เป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ของความบริสุทธิ์ วิธีการทำ จะนำฝ้ายมาทอเป็นผืนสี่เหลี่ยม จากนั้นนำมาตัดเย็บเป็นชุดสุ่มร่อง โดยชาวบ้านจะต้องเลือกใช้เฉพาะฝ้ายที่มีสีขาวเท่านั้น จะใช้ฝ้ายสีอื่นไม่ได้ ปัจจุบันได้มีการผลิตชุดสุ่มร่องแบบมีลวดลายที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อสร้างความพึงพอใจในสีสันและลวดลายที่แตกต่าง สวยงามและทันสมัย สามารถปรับตามความต้องการของแต่ละคน โดยการผลิตจะเป็นฝ้ายสีอะไรก็ได้ ตามแต่ความชอบของแต่ละคน (Make to Oder)
  • เสื้อกะเหรี่ยงผู้ชาย มีลักษณะเป็นผ้าทอสีขาวลายแดง โดยเสื้อกะเหรี่ยงชาย จะใส่ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งในอดีตเสื้อกะเหรี่ยงชายจะใส่กันเฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถสวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง ทั้งนี้ชาวบ้านสามารถดัดแปลงลายของเสื้อสีต่าง ๆ ได้แก่ สีเขียว สีม่วง สีฟ้า จึงทำให้เสื้อมีความโดดเด่นและสวยงามมากขึ้น

อาหาร

  • ยำเย็น เป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก โดยชาวบ้านหาทำได้ง่าย ซึ่งส่วนประกอบที่หลัก คือ ปลา กบ หรือเขียด ที่หาได้ง่าย ตามทุ่งนา จะมีรสเปรี้ยวโดยใส่มะกอกหรือมะนาว ใส่เกลือ พริกสดที่เผา แล้วมารวมกัน ชาวบ้านมักนำมาประกอบเป็นอาหารมื้อกลางวัน หรือมื้อเย็น ถือว่าเป็นอาหารหลักของชาวบ้านค้างใจ ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม สามารถทานได้ทุกเพศ ทุกวัย
  • ตำหน่อหวาย เนื่องจากชาวบ้านค้างใจได้ปลูกหน่อหวาย ซึ่งเป็นไม้เลื้อย โดยมีหน่อนำมารับประทานเป็นอาหาร จะนำมาประกอบเป็นแกง หรือนำมาตำ โดยมีรสขม ซึ่งชาวบ้านที่นำมาตำจะนำหน่อหวายมาเผาก่อน แล้วนำเครื่องปรุงมาผัดรวมกัน โดยส่วนประกอบจะคล้ายกับตำขนุน แล้วนำไปผัด ปรุงรสเพื่อลดความขม นำมาทำเป็นเมนูให้นักท่องเที่ยวได้ชิม

สถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนบ้านค้างใจ

  • ที่พักสงฆ์โกสัย เนื่องจากชุมชนบ้านค้างใจ ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง นับถือศาสนาพุทธในอดีต นับถือเจ้าป่าเจ้าเขา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้ไม่มีวัดในพื้นที่ โดยชาวบ้านได้ไปวัดพระธาตุพระกัปป์ ซึ่งเป็นวัดของบ้านแม่สิน โดยปัจจุบันทางเจ้าคณะอำเภอวังชิ้น ได้ก่อสร้างที่พักสงฆ์โกสัย เพื่อให้ชาวบ้านค้างใจได้ไปทำบุญเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านมีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ถึงแม้ที่พักสงฆ์โกสัยจะอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านก็ยังคงศรัทธาไปทำบุญที่วัดดังกล่าว 

บ้านค้างใจเป็นชุมชนที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเกรี่ยงซึ่งมีภาษาพูดเป็นภาษากะเหรี่ยงแต่ไม่มีภาษาเขียน ในการเขียนจึงใช้ภาษาไทยสื่อสารระหว่างกัน เด็กและเยาวชนจึงสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้ทั้งภาษาถิ่นที่เป็นภาษากะเหรี่ยง และภาษาไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากการเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน นอกจากนี้ยังใช้ภาษาถิ่นเหนือ (คำเมือง) ได้เป็นอย่างดี 


ที่อยู่อาศัย 

ในอดีตชุมชนบ้านค้างใจ ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จะอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ การสร้างบ้านส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนจะโล่ง จะใช้ไม้จากในป่ามาก่อสร้างบ้าน เสาบ้านก็จะเป็นไม้ ส่วนหลังคาก็มุงด้วยหญ้าคาที่สานเป็นไพ มามุงหลังคาป้องกันแดด ลม ฝน เนื่องจากชุมชนไม่มีงบประมาณ ในการก่อสร้างบ้าน แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชุมชนเริ่มมีรายได้ และได้รับวัฒนธรรมจากหมู่บ้านอื่น ทำให้เริ่มมีการก่อสร้างบ้านเป็นหลากหลายรูปแบบ ทั้งบ้านไม้สองชั้น บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ บ้านปูนชั้นเดียว บ้านสไตล์โมเดิร์น บ้านปูนสองชั้น ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละครอบครัว

การเคลื่อนย้ายของประชากร 

ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆ ให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของสังคมในครัวเรือน ต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน ตั้งแต่วัยเด็กที่ออกไปศึกษานอกชุมชน จนกระทั่งไปถึงการประกอบอาชีพ และการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม จนนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานในต่างถิ่น การเคลื่อนย้ายของประชากรส่งผลโดยตรงต่อระบบวัฒนธรรม จากเดิมที่นับถือผีบรรพบุรุษที่เสื่อมคลายลง เนื่องจากลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่น ไม่มีเวลาเข้าร่วมพิธีกรรม แต่ใช้วิธีการส่งเงินกลับมาให้ญาติที่อยู่ชุมชนดำเนินการแทนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม

การประกอบอาชีพ

ในอดีตชุมชนบ้านค้างใจ จะประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ โดยการทำไร่ ส่วนใหญ่จะปลูกถั่วลิสง สลับกับการปลูกข้าว แต่พอการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เริ่มมีการประกอบอาชีพ เพิ่มมากขึ้น มีความหลากหลาย เช่น การปลูกแตงโม การปลูกข้าวโพด โดยในอดีตการทำไร่ ทำนา ชุมชนจะใช้ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ แต่ในปัจจุบันเริ่มใช้ปุ๋ยชีวภาพ ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชเพิ่มมากขึ้น เพื่อความรวดเร็วและผลผลิตที่มากกว่า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ทำให้ปัจจุบันมีร้านค้าที่จำหน่ายปุ๋ยชีวภาพเพิ่มมากขึ้น และการปลูกถั่วลิสงที่เป็นอาชีพของเกษตรกรในอดีตแทบจะไม่มีใครปลูกเนื่องจากระยะเวลาและราคาผลผลผลิตที่ตกต่ำ ไม่ค่อยนิยมของท้องตลาด ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากทำนาแล้ว อาชีพรองคือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกแตงโม เนื่องจากได้ผลผลิตที่สูงและระยะเวลาในการปลูกใช้ระยะเวลาน้อยทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการประกอบอาชีพเกษตรกร


การแต่งกาย

ในอดีตการแต่งกายของชุมชนบ้านค้างใจ จะแต่งตัวตามชนเผ่า โดยการแต่งกายของผู้ชายจะเป็นเสื้อกะเหรี่ยงชาย ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะแต่งชุดเสื้อมะเดือยกับผ้าถุงสีแดง เพื่อให้รู้ว่าได้แต่งงานแล้ว ส่วนผู้หญิงที่โสดจะใส่ชุดสุ่มร่องสีขาว ซึ่งเดิมเชื่อว่าผู้หญิงที่ใส่ชุดสุ่มร่องสีขาวเหมือนเป็นสาวบริสุทธิ์ โดยเครื่องแต่งกายทั้งหมด ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงจะเป็นคนทอและเป็นคนเย็บ แต่ในปัจจุบันการแต่งกายของชุมชนบ้านค้างใจเริ่มมีความหลากหลาย เนื่องจากมีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาประยุกต์ใช้ โดยแทบจะมีชาวบ้านคนไหนที่จะใส่ชุดประจำเผ่า จะใส่เฉพาะแต่เวลามีประเพณีของหมู่บ้าน หรือมีกิจกรรมภายในหมู่บ้าน คงเหลือไว้แต่ผู้สูงอายุที่ยังคงแต่งกายชุดชาติพันธ์ุ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและวัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม จึงต้องมีการสวมใส่เสื้อผ้าตามชุมชนพื้นเมือง เพื่อความสะดวกในการทำงาน โดยปัจจุบันเพื่อให้อัตลักษณ์ของชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงไม่สูญหายไป ทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รณรงค์ให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยงโดยสวมใส่อาทิตย์ละ 1 วัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายของชาติพันธุ์

ภาษา

เนื่องจากชุมชนบ้านค้างใจเป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งมีภาษาพูดเป็นภาษากะเหรี่ยง การสื่อสารต่าง ๆ จะใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก เวลาไปโรงเรียนก็จะใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารเป็นหลัก ทำให้ชาวบ้านในอดีตพูดภาษาไทยไม่ชัด แต่ปัจจุบันผู้ปกครองของเด็กบางคนเป็นคนพื้นเมือง บางครอบครัวสอนลูกพูดภาษาพื้นเมือง หรือภาษาไทย หรือในโรงเรียนคุณครูจะห้ามพูดภาษากะเหรี่ยง ทำให้เยาวชนบ้านค้างใจปัจจุบัน พูดภาษาไทยได้ชัด แต่ก็ยังคงอนุรักษ์ภาษากะเหรี่ยง โดยเยาวชนบางคนฟังภาษากะเหรี่ยงได้แต่พูดภาษากะเหรี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ปกครองต้องมาสอนภาษากะเหรี่ยงให้ฟัง

ประเพณีวัฒนธรรม 

ในอดีตประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านค้างใจ เช่น พิธีแต่งงาน ซึ่งในอดีตพิธีแต่งงานของชาวกะเหรี่ยง จะยึดถือประเพณีของชาวกะเหรี่ยง การแต่งกายของเจ้าบ่าว เจ้าสาว ก็จะใส่ชุดกะเหรี่ยง แต่ในปัจจุบันชุดเจ้าบ่าว เจ้าสาว แทบจะไม่ค่อยมีการแต่งกาย โดยจะแต่งกายตามยุคสมัย และการแต่งงานในอดีต วันรุ่งขึ้นหลังจากวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องไปทำความสะอาดบ้านญาติของเจ้าบ่าวทุกหลังคาเรือน พร้อมกับตักน้ำใส่ในถัง โดยจะทำอย่างนี้ครบ 3 วัน ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา แต่ในปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม จึงไม่ค่อยเห็นการปฏิบัติเหมือนในอดีต 


การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ในอดีตชุมชนบ้านค้างใจจะเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ส่วนใหญ่จะแรงงานคน และจะร่วมแรงช่วยกัน ช่วยกันปลูกข้าว ช่วยกันเกี่ยวข้าว โดยไปช่วยกันจนเสร็จ จะไม่มีการจ้างแรงงาน แต่ในปัจจุบันการปลูกข้าวและเกี่ยวข้าวโดยใช้แรงงานคนยังคงมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรมาทดแทน เช่น ใช้หว่านข้าวแทนการปลูกข้าว เนื่องจากลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย ใช้รถสีข้าวแทนการตีข้าว เพื่อลดระยะเวลา ซึ่งในปัจจุบันการลงแขกเกี่ยวข้าวยังมีหลงเหลืออยู่ แต่หากว่าระยะเวลาในการปลูกข้าว การเก็บเกี่ยวพร้อมกัน ทำให้ต้องพึ่งเครื่องจักรและจ้างแรงงานจากหมู่บ้านอื่น เพื่อความรวดเร็วและต้องแข่งกับสภาพอากาศในปัจจุบัน

ความท้าทายของชุมชน

บ้านค้างใจเผชิญกับความท้าทายด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ เนื่องจากชุมชนอาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยแม่เกิ๋ง เวลาเกิดฝนตกหนักทำให้น้ำเอ่อล้นลำห้วยเข้าท่วมไร่นาที่ใกล้กับลำห้วย แต่ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้สร้างความเสียหายที่รุนแรงต่อชุมชนมากนัก เนื่องจากลักษณะชุมชนอยู่บนพื้นที่สูง 

  • ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอกะเหรี่ยงครบวงจร
  • ร้านก๋วยเตี๋ยว
  • ร้านขายของชำ
  • แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน (แล้งเชิง)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกระเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 

จันทร์เพ็ญ คำเหลือง, สัมภาษณ์, 4 สิงหาคม 2566

โชคชัย ปาคำ, สัมภาษณ์, 4 สิงหาคม 2566

ติ๊บ คำเหลือง, สัมภาษณ์, 4 สิงหาคม 2566

วินัย หล้ามา, สัมภาษณ์, 4 สิงหาคม 2566

ปทุมทิพย์ จีดอก, สัมภาษณ์, 4 สิงหาคม 2566