ชุมชนมีลำธารห้วยสลกไหลผ่านในหมู่บ้าน และมีประเพณีสำคัญ อาทิเช่น ประเพณีกรรมบ้าน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ ประเพณีเลี้ยงผีฝาย ประเพณีส่งเคราะห์บ้าน ประเพณีเลี้ยงผีเหล่า (ผีพญาแก้วเจ้าเนื้อ) ที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต
ชุมชนที่แยกตัวออกจากบ้านสลก ซึ่งชื่อหมู่บ้าน "บ้านค้างคำแสน" มีที่มาจากชื่อของผู้ใหญ่บ้านในอดีต
ชุมชนมีลำธารห้วยสลกไหลผ่านในหมู่บ้าน และมีประเพณีสำคัญ อาทิเช่น ประเพณีกรรมบ้าน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ ประเพณีเลี้ยงผีฝาย ประเพณีส่งเคราะห์บ้าน ประเพณีเลี้ยงผีเหล่า (ผีพญาแก้วเจ้าเนื้อ) ที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต
“บ้านค้างคำแสน” เดิมขึ้นอยู่กับบ้านสลก หมู่ที่ 4 และต่อมาได้แยกหมู่บ้านมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน มีนายบุญตัน ทองดอก เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน อดีตมีบรรพบุรุษอพยพมาจากจังหวัดเชียงราย ประมาณ 20 คน อยู่ในหุบเขาห้วยสลก ต่อมาอพยพลงมาอยู่บริเวณที่ราบตามแนวทางห้วยสลก ต่อมาได้มีประชาชนเพิ่มขึ้น เริ่มก่อตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น เมื่อราวปี พ.ศ. 2439 นี้ เป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (กะเหรี่ยงโป) นับถือผีซึ่งเรียกว่า ”ผีบ้าน-ผีเรือน” ในส่วนของประเพณีนับถือผีนั้นยังคงสืบทอดกันมากระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งทุก ๆ ปีจะมีการทำพิธีตามประเพณี
สถานที่เดิมหมู่บ้านติดกับภูเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มีสายน้ำไหลผ่านจากภูเขา อันเป็นแหล่งต้นน้ำ ต้นกำเนิดของลำธารห้วยสลก
อาณาเขตติดต่อ
บ้านค้างคำแสน ตำบลแม่เกิ๋ง ตั้งอยู่ใน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ห่างจากอำเภอวังชิ้น ไปทิศทางตะวันออก 6 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดแพร่ ไปทิศทางเหนือ 80 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านปันเจน หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ สำนักงานเทศบาลตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเด่น หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ขุนห้วย หมู่ที่ 13 ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
ลักษณะทางภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา มีลำห้วยสลกไหลผ่านในหมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมดไร่ 11,850 ไร่ หรือ 18.96 ตารางกิโลเมตร
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านค้างคำแสน จำนวน 174 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 505 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 251 คน หญิง 254 คน ส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาติพันธุ์ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงทั้งหมด คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
โพล่งโครงสร้างทางสังคม
องค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มหน่อไม้ปี๊บ ได้รับงบประมาณจากพัฒนาสังคมเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท ให้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่ม เนื่องจากพื้นที่ของบ้านสลกเป็นพื้นที่ติดภูเขา ในช่วงเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม มักจะมีหน่อไม้ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ชาวบ้านนิยมรับประทานกันเป็นอย่างมาก สามารถประกอบอาหารได้หลายเมนู เมื่อหมดฤดูหน่อไม้ก็จะไม่แตกหน่อ ทางกลุ่มจึงได้จัดตั้งกลุ่มหน่อไม้ปี๊บขึ้น โดยมีประธานกลุ่มเริ่มแรกคือ นายลูน อิ่นคำ ปัจจุบันมีนางคำใส แปงขา เป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิก 10 คน
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ประธานกลุ่มคือ นายเกษม สาใจ ปัจจุบันมีสมาชิก 189 คน
กลุ่มไม่เป็นทางการ
- กลุ่มเลี้ยงปลาในบ่อดิน ประธานกลุ่มคือ นายสุเทศ คำดอก มีสมาชิก 20 คน
- กลุ่มทอผ้า นางนิต นารุย เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 20 คน แรกเริ่มก่อตั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากอบต.แม่เกิ๋ง ปัจจุบันได้รับงบประมาณจากศูนย์ชาวเขา
- กลุ่มประปาหมู่บ้าน เนื่องจากบ้านค้างคำแสนเป็นหมู่บ้านติดภูเขา อาศัยน้ำจากภูเขามาใช้ในการอุปโภค – บริโภค ชาวบ้านจึงจัดตั้งกลุ่มประปาภูเขาขึ้น โดยมีนายบุญตัน ทองดอก เป็นประธานกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกับบ้านสลก หมู่ 4
- กลุ่มสตรี
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มเยาวชน
- กลุ่ม อปพร.
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีกรรมบ้าน
จะจัดปีละ 2 ครั้งครั้งแรกจัดในเดือนห้าเหนือ (กุมภาพันธ์) โดยใช้หมู 1 ตัว ในการประกอบพิธี แต่ไม่มีการมัดมือครั้งที่ 2 จะจัดช่วงเดือนสิบเหนือ (กรกฎาคม) และมีการมัดมือ ประเพณีดังกล่าวมักจะเรียกกันว่าเป็นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงโดยในวันประกอบพิธีกรรมจะจัดที่บ้านผู้นำศาสนาหรือบ้านเก๊าผี การมัดมือจะมามัดที่บ้านของผู้นำศาสนาหรือหากใครที่อยากจะทำที่บ้านตัวเองก็ทำได้
ความเป็นมาของการใช้หมูในการประกอบพิธีมัดมือ เนื่องจากมีผู้ใหญ่บ้านเป็นคนไปขอตราตั้งหมู่บ้าน ประกอบด้วย ดาบสรีกัญไชย 1 เล่ม ไม้แส้หวาย ซึ่งมีไว้สำหรับการลงโทษเจ้านายข้าราชการที่ประพฤติไม่ดี และกล้าต้นไม้ เช่น ต้นมะขาม ต้นมะปราง เป็นต้น ปัจจุบันต้นมะขามที่ได้รับมายังคงอยู่ เมื่อได้ตราตั้งมาแล้วชาวบ้านก็จัดการเฉลิมฉลองโดยนำหมูมาใช้ในการกินเลี้ยงฉลอง
ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ
จะจัดช่วงประมาณเดือนสิบเอ็ดเหนือ-เดือนสิบสองเหนือ หรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมโดยจะใช้หมูตัวผู้ 1 ตัว การเลี้ยงผีขุนน้ำในแต่ละปีจะต้องดูสภาพอากาศเป็นสำคัญ หากปีนั้นแล้งหนัก ฝนไม่ตก ผู้นำศาสนพิธีและชาวบ้านก็จะปรึกษากันเพื่อจะทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ
ประเพณีเลี้ยงผีฝาย
จะเลี้ยงประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และจะทำก่อนประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ กล่าวคือ เมื่อเลี้ยงผีฝายเสร็จแต่ฝนยังไม่ตกก็จะเลี้ยงผีขุนน้ำต่อ ประเพณีเลี้ยงผีฝาย จะใช้ไก่ 7-8 ตัว เหล้าข้าวตอกดอกไม้ ในการประกอบพิธี ซึ่งจะทำที่ฝายหลวง (ฝายห้วยสลกใกล้รีสอร์ท) ซึ่งมีแค่ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถร่วมพิธีได้ การทำพิธีดังกล่าวจะเป็นการขอน้ำขอฝนจากเจ้าป่าเจ้าเขาให้มีฝนตกตามฤดูกาลเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในการทำเกษตร
ประเพณีส่งเคราะห์บ้าน
ประเพณีสะเดาะเคราะห์หมู่บ้านเป็นอีกประเพณีหนึ่งที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ประเพณีนี้จะทำพิธีกันหลังเสร็จสิ้นวันสงกรานต์ปีใหม่ วันที่จะทำพิธีกรรมนั้นจะต้องไม่ตรงกับวันพระ โดยมีผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านจำนวน 6 คน เป็นเหมือนประธานในการดำเนินการทำพิธีกรรม ผู้อาวุโสทั้ง 6 คนนี้จะต้องอดข้าวตั้งแต่เที่ยงวันไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน
- ประเพณีนี้จะเริ่มทำกันตั้งแต่ตอนเช้า ซึ่งผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ ผู้หญิงและคนต่างถิ่นไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ โดยในพิธีต้องใช้ไก่ขาว 1 ตัว ไก่ดำ 1 ตัว และไก่แดง 1 ตัว ไก่แต่ละตัวต้องเป็นไก่ที่ตัวใหญ่พอสมควร ในช่วงเช้าผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะไปช่วยกันสานแถมที่ศาลาประกอบพิธีกรรม แถมคือวัสดุที่สานจากไม้ไผ่มีความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 1.50 เมตร ผู้เฒ่าผู้แก่จะสานแถมไว้ 4 ชุด และสานซ้อง 1 อันไว้สำหรับทำพิธีกรรม เมื่อแถมสานเสร็จแล้วชาวบ้านทุกหลังคาเรือน ก็จะนำเอาแกงส้ม แกงหวาน หมาก ใบพลู ข้าวเหนียวและตอด้าย ตอด้ายนั้นจะมีด้วยกัน 3 สี คือ สีขาว สีดำ และสีแดงมาไว้ในแถมที่เตรียมไว้
- เมื่อชาวบ้านทุกหลังคาเรือนนำสิ่งของที่กล่าวไว้ข้างต้นมาใส่ลงในแถมครบทุกหลังคาเรือนแล้วผู้ชายในหมู่บ้านก็จะพากันเอาปืนแก๊ปมาที่ศาลาทำพิธีกรรมแล้วยิงปืนขึ้นฟ้าระหว่างที่ยิงปืนขึ้นฟ้านั้นผู้ชายในหมู่บ้านอีกส่วนหนึ่งก็จะพากันเอาแถมไปไว้ตามทิศทั้ง 4 ได้แก่ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเพราะเชื่อกันว่าเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน เมื่อเสร็จสิ้นการยิงปืนขึ้นฟ้าแล้วผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะนำเอาไม้ยาวๆที่เตรียมไว้ไล่ตีศาลาที่ทำพิธีกรรมนั้นแล้วไปไล่ตีบ้านของชาวบ้านทุกหลังคาเรือน หลังจากนั้นก็จะนำเอาไก่ขาว ไก่ดำ และไก่แดงพร้อมทั้งซ้องที่เตรียมไว้นำไปทำพิธีที่ท้ายหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านผู้ชายเท่านั้นช่วยกันเอาไป
- เมื่อถึงท้ายหมู่บ้านผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะช่วยกันเชือดคอกันทั้ง 3 ตัว เป็นการเซ่นสังเวยโดยให้เลือดหยดลงไปในซ้องที่เตรียมไว้ซึ่งในซ้องนั้นจะประกอบไปด้วย เหล้า หมาก ใบพลู แป้งหมักสุรา พิธีสะเดาะเคราะห์หมู่บ้านนี้จะเสร็จสิ้นภายในเวลาประมาณ 4 โมงเย็นเมื่อเสร็จพิธีสะเดาะเคราะห์หมู่บ้านแล้วชาวบ้านที่เป็นผู้ชายก็จะนำเอาไก่ต้มเป็นตัว ประมาณ 20-30 ตัว มาร่วมกินกันที่ท้ายหมู่บ้านรวมทั้งไก่ขาว ไก่ดำ และไก่แดงที่ใช้ทำพิธีด้วย
ประเพณีเลี้ยงผีเหล่า (ผีพญาแก้วเจ้าเนื้อ)
ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยจะจัดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และบูชาเจ้าป่าเจ้าเขาที่ปกป้องชาวบ้าน รวมทั้งเพื่อให้การล่าสัตว์ของชาวบ้านผ่านไปด้วยดี โดยผู้นำศาสนพิธีจะกำหนดวันเลี้ยงผีเหล่า พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ให้ผู้ชายขึ้นไปร่วมประกอบพิธี โดยพิธีจะใช้ไก่ 3 ตัว ในการประกอบพิธี หลังจาก และหลังจากเลี้ยงผีเหล่าเสร็จชาวบ้านที่เป็นผู้ชายจะขึ้นไปประกอบพิธีล่าสัตว์ เมื่อหามาได้ก็จะแบ่งให้กับผู้นำศาสนพิธีแล้วแบ่งกันกินภายในกลุ่มถ้าทำพิธีไม่ดีจะต้องกลับไปทำใหม่
1.นางนิต นารุย อายุ 46 ปี เป็นผู้มีความรู้ด้านการทอผ้า โดยได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ เนื่องจากเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เมื่อว่างจากการทำนาพ่อแม่ก็จะทอผ้าพอได้เห็นจึงเกิดการซึมซับวิธีการทอผ้า สามารถทอผ้าทั้งเสื้อกะเหรี่ยงชาย – หญิง ถุงย่าม และผ้าซิ่นได้ ปัจจุบันได้รับ การฝึกอบรมจากหน่วยงานราชการ สามารถนำผ้าทอมาประยุกต์ใช้ตามความต้องการของลูกค้า และได้เป็นวิทยากรเพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้สืบทอดการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง
2.นางบัวผัด เต็งหล้า อายุ 65 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านการถนอมอาหาร (ถั่วกรอบแก้ว) เนื่องจากชุมชนบ้านค้างคำแสน เมื่อเว้นว่างจากการทำนาจะมีการปลูกถั่วลิสงเพื่อเอาไว้ขายและแปรรูป ปัจจุบันการประกอบอาชีพปลูกถั่วลิสงไม่ค่อยนิยมมากนัก จึงมีบางกลุ่มที่สนใจปลูกถั่วลิสงขึ้นเพื่อนำมาแปรรูปถั่วเป็นถั่วกรอบแก้วโดยจำหน่ายให้กับร้านค้า
3.นายกลิ้ง นุบาง อายุ 65 ปี มีความสามารถด้านการจักสานไม้ไผ่ โดยสืบทอดจากบรรพบุรุษ เมื่อว่างเว้นจากการทำนาก็จะจักสานเพื่อหารายได้พิเศษ
ทุนทางวัฒนธรรม
วัดสลกธรรมาราม ชาวบ้านค้างคำแสน ถึงแม้จะเป็นชุมชนชาติพันธุ์ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง แต่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งวัดสลกธรรมารามเป็นวัดที่ชาวบ้านสลกและชาวบ้านค้างคำแสนนับถือ ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นวัดที่โดดเด่น เนื่องจากลักษณะของโบสถ์ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ได้เห็นวิวภายในหมู่บ้าน ปัจจุบันได้มีสุธรรมวรวัฒน์ (ธนพล) ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวบ้านสลก เป็นเจ้าอาวาส ทำให้ชาวบ้านได้ไปทำบุญเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านมีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
อาหาร
น้ำพริกตาแดง ผักนึ่ง เนื่องจากชาวบ้านสลกเป็นชุมชนชาติพันธุ์ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งวิถีชีวิตในการประกอบอาหารมักจะมีน้ำพริก เป็นเมนูหลัก เนื่องจากมีวิถีชีวิตในการทำงาน เพราะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
บ้านค้างคำแสน เป็นชุมชนที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเกรี่ยงซึ่งมีภาษาพูดเป็นภาษากะเหรี่ยงแต่ไม่มีภาษาเขียนในการเขียนจึงใช้ภาษาไทยสื่อสารระหว่างกัน เด็กและเยาวชนจึงสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้ทั้งภาษาถิ่นที่เป็นภาษากะเหรี่ยง และภาษาไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากการเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน นอกจากนี้ยังใช้ภาษาถิ่นเหนือ (คำเมือง) ได้เป็นอย่างดี
การเคลื่อนย้ายของประชากร
ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆ ให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของสังคมในครัวเรือน ต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน ตั้งแต่วัยเด็กที่ออกไปศึกษานอกชุมชน จนกระทั่งไปถึงการประกอบอาชีพ และการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม จนนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานในต่างถิ่น การเคลื่อนย้ายของประชากรส่งผลโดยตรงต่อระบบวัฒนธรรม จากเดิมที่นับถือผีบรรพบุรุษที่เสื่อมคลายลง เนื่องจากลูกหลาน ที่ไปทำงานต่างถิ่น ไม่มีเวลาเข้าร่วมพิธีกรรม แต่ใช้วิธีการส่งเงินกลับมาให้ญาติที่อยู่ชุมชนดำเนินการแทน การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม
ที่อยู่อาศัย
ในอดีตชุมชนบ้านค้างคำแสน ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จะอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ การสร้างบ้านส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนจะโล่ง จะใช้ไม้จากในป่ามาก่อสร้างบ้าน เสาบ้านก็จะเป็นไม้ ส่วนหลังคาก็มุงด้วยหญ้าคาที่สานเป็นไพมามุงหลังคาป้องกันแดด ลม ฝน เนื่องจากชุมชนไม่มีงบประมาณในการก่อสร้างบ้าน แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชุมชนเริ่มมีรายได้ และได้รับวัฒนธรรมจากหมู่บ้านอื่น ทำให้เริ่มมีการก่อสร้างบ้านเป็นหลากหลายรูปแบบ ทั้งบ้านไม้สองชั้น บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ บ้านปูนชั้นเดียว บ้านสไตล์โมเดิร์น บ้านปูนสองชั้น ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละครอบครัว
การประกอบอาชีพ
ในอดีตชุมชนบ้านค้างคำแสน จะประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ โดยการทำไร่ ส่วนใหญ่จะปลูกถั่วลิสง สลับกับการปลูกข้าว แต่พอการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เริ่มมีการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น มีความหลากหลาย เช่น การปลูกข้าวโพด การปลูกแตงโม โดยในอดีตการทำไร่ ทำนา ชุมชนจะใช้ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ แต่ในปัจจุบันเริ่มใช้ปุ๋ยชีวภาพ ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชเพิ่มมากขึ้น เพื่อความรวดเร็วและผลผลิตที่มากกว่า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ทำให้ปัจจุบันมีร้านค้าที่จำหน่ายปุ๋ยชีวภาพเพิ่มมากขึ้น และการปลูกถั่วลิสงที่เป็นอาชีพของเกษตรกรในอดีตแทบจะไม่มีใครปลูกเนื่องจากระยะเวลา และราคาผลผลผลิตที่ตกต่ำ ไม่ค่อยนิยมของท้องตลาด ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากทำนาแล้ว อาชีพรองคือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกแตงโม เนื่องจากได้ผลผลิตที่สูงและระยะเวลาในการปลูกใช้ระยะเวลาน้อยทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการประกอบอาชีพเกษตรกร
การแต่งกาย
ในอดีตการแต่งกายของชุมชนบ้าน จะแต่งตัวตามชนเผ่า โดยการแต่งกายชองผู้ชายจะเป็นเสื้อกะเหรี่ยงชาย ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะแต่งชุดเสื้อมะเดือยกับผ้าถุงสีแดง เพื่อให้รู้ว่าได้แต่งงานแล้ว ส่วนผู้หญิงที่โสดจะใส่ชุดสุ่มร่องสีขาว ซึ่งเดิมเชื่อว่าผู้หญิงที่ใส่ชุดสุ่มร่องสีขาวเหมือนเป็นสาวบริสุทธิ์ โดยเครื่องแต่งกายทั้งหมด ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงจะเป็นคนทอและเป็นคนเย็บ แต่ในปัจจุบันการแต่งกายของชุมชนบ้านค้างคำแสนเริ่มมีความหลากหลาย เนื่องจากมีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาประยุกต์ใช้โดยแทบจะมีชาวบ้านคนไหนที่จะใส่ชุดประจำเผ่า จะใส่เฉพาะแต่เวลามีประเพณีของหมู่บ้าน หรือมีกิจกรรมภายในหมู่บ้าน คงเหลือไว้แต่ผู้สูงอายุที่ยังคงแต่งกายชุดชาติพันธ์ ซึ่งขนาดผู้สูงอายุในปัจจุบันแทบจะไม่ได้ใส่ชุดประจำเผ่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและวัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม จึงต้องมีการสวมใส่เสื้อผ้าตามชุมชนพื้นเมือง เพื่อความสะดวกในการทำงาน โดยปัจจุบันเพื่อให้อัตลักษณ์ของชาติพันธ์กะเหรี่ยงไม่สูญหายไป ทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รณรงค์ให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยงโดยสวมใส่อาทิตย์ละ 1 วัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายชองชาติพันธุ์
ภาษา
เนื่องจากชุมชนบ้านค้างคำแสน เป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งมีภาษาพูดเป็นภาษากะเหรี่ยง การสื่อสารต่าง ๆ จะใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก เวลาไปโรงเรียนก็จะใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารเป็นหลัก ทำให้ชาวบ้านในอดีตพูดภาษาไทยไม่ชัด แต่ปัจจุบันผู้ปกครองของเด็กบางคนเป็นคนพื้นเมืองบางครอบครัวสอนลูกพูดภาษาพื้นเมือง หรือภาษาไทย หรือในโรงเรียนคุณครูจะห้ามพูดภาษากะเหรี่ยงทำให้เยาวชนบ้านสลกปัจจุบันพูดภาษาไทยได้ชัดซึ่งในหมู่บ้านค้างคำแสนถือว่ายังคงอนุรักษ์ภาษากะเหรี่ยง โดยมีการสอนลูกหลานให้พูดภาษากะเหรี่ยง โดยแตกต่างกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงบ้านอื่น ที่ไม่ค่อยสอนให้ลูกหลานพูดภาษากะเหรี่ยง โดยสังเกตว่าหมู่บ้านค้างคำแสนเยาวชนเด็กรุ่นหลังยังสามารถพูดภาษากะเหรี่ยงได้อยู่
ประเพณีวัฒนธรรม
ในอดีตประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านค้างคำแสน เช่น พิธีแต่งงาน ซึ่งในอดีตพิธีแต่งงานของชาวกะเหรี่ยง จะยึดถือประเพณีของชาวกะเหรี่ยง การแต่งกายของเจ้าบ่าว เจ้าสาวก็จะใส่ชุดกะเหรี่ยง แต่ในปัจจุบันชุดเจ้าบ่าว เจ้าสาว แทบจะไม่ค่อยมีการแต่งกาย โดยจะแต่งกายตามยุคสมัย และการแต่งงานในอดีต วันรุ่งขึ้นหลังจากวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องไปทำความสะอาดบ้านญาติของเจ้าบ่าวทุกหลังคาเรือน พร้อมกับตักน้ำใส่ในถัง โดยจะทำอย่างนี้ครบ 3 วัน ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา แต่ในปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม จึงไม่ค่อยเห็นการปฏิบัติเหมือนในอดีต
ประเพณีวัฒนธรรมการทำนา
ในอดีตชุมชนบ้านค้างคำแสน พอถึงฤดูทำนา ผู้ชายจะใช้ควายในการไถนา ทำให้ใช้เวลานานในการไถนา แต่ในปัจจุบันผู้คนเริ่มใช้เครื่องจักร เช่น รถแทรกเตอร์ รถไถนา ในการไถนา ทำให้ลดระยะเวลาในการทำนา และพอถึงการปลูกข้าว ในอดีตผู้หญิงจะช่วยกันปลูกข้าวแบบดำนาทุกครัวเรือน แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพอากาศ เวลาจะทำนามีการทำพร้อมกัน การไปช่วยกันปลูกข้าวแบบดำนา แทบจะไม่ค่อยนิยมกัน ส่วนใหญ่จะใช้วิธีหว่านข้าว เพื่อลดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่าย แต่วิธีการปลูกข้าวแบบดำนา ยังคงมีให้เห็นอยู่
อัตลักษณ์บนเรือนร่าง
ชุมชนบ้านค้างคำแสน ซึ่งเป็นชุมชนชาติพันธุ์ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ การสักบนเรือนร่าง ในอดีตผู้หญิงที่จะแต่งงานต้องมีการสักแขนและมือ โดยจะมีช่างสักที่มาจากจำหวัดลำปาง จะทำการสักให้ โดยคิดค่าสักแต่ค่าน้ำหมึก ส่วนผู้ชายจะสักเป็นรูปสัตว์
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ในอดีตชุมชนบ้านค้างคำแสนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ส่วนใหญ่จะแรงงานคน และจะร่วมแรงช่วยกัน ช่วยกันปลูกข้าว ช่วยกันเกี่ยวข้าว โดยไปช่วยกันจนเสร็จ จะไม่มีการจ้างแรงงาน แต่ในปัจจุบันการปลูกข้าวและเกี่ยวข้าวโดยใช้แรงงานคนยังคงมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรมาทดแทน เช่น ใช้หว่านข้าวแทนการปลูกข้าว เนื่องจากลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย ใช้รถสีข้าวแทนการตีข้าว เพื่อลดระยะเวลา ซึ่งในปัจจุบันการลงแขกเกี่ยวข้าวยังมีหลงเหลืออยู่แต่หากว่าระยะเวลาในการปลูกข้าว การเก็บเกี่ยวพร้อมกัน ทำให้ต้องพึ่งเครื่องจักรและจ้างแรงงานจากหมู่บ้านอื่น เพื่อความรวดเร็วและต้องแข่งกับสภาพอากาศในปัจจุบัน
ความท้าทายของชุมชน
บ้านค้างคำแสนเผชิญกับความท้าทายด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ เนื่องจากชุมชนอาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยสลก ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เวลาเกิดฝนตกหนักทำให้น้ำเอ่อล้นลำห้วยเข้าท่วมหมู่บ้านที่อาศัยติดลำห้วยเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ต่ำ แต่ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้สร้างความเสียหายที่รุนแรงต่อชุมชนมากนัก
- รพ.สต.บ้านสลก
- ร้านก๋วยเตี๋ยว
- วัดสลกธรรมาราม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการการขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกระเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
แก้ว ดอกชิต, สัมภาษณ์, 5 สิงหาคม 2566
นิต นารุย, สัมภาษณ์, 5 สิงหาคม 2566
บุญตัน ทองดอก, สัมภาษณ์, 5 สิงหาคม 2566
พชร วันตา, สัมภาษณ์, 5 สิงหาคม 2566