Advance search

ชุมชน ผู้คน และธรรมชาติ วิถีชีวิตที่ผูกพันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ และวิกฤตปัญหาสภาพแวดล้อมสู่การจัดการพื้นที่เขตอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศอย่ายั่งยืน

หมู่ที่ 7
ม่วงชุม
ครึ่ง
เชียงของ
เชียงราย
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
15 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
15 ม.ค. 2024
บ้านม่วงชุม

บริเวณชุมชนเป็นป่าทึบ มีต้นมะม่วงหลายชนิดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อชุมชนว่า "บ้านม่วงชุม"


ชุมชน ผู้คน และธรรมชาติ วิถีชีวิตที่ผูกพันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ และวิกฤตปัญหาสภาพแวดล้อมสู่การจัดการพื้นที่เขตอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศอย่ายั่งยืน

ม่วงชุม
หมู่ที่ 7
ครึ่ง
เชียงของ
เชียงราย
57140
20.10207486804149
100.40368793727298
เทศบาลตำบลครึ่ง

บ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีประวัติการก่อตั้งชุมชนเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2440 โดยมีชาวบ้านจำนวน 5 ครอบครัว มาตั้งบ้านเรือนและเลี้ยงควาย ต่อมาก็มีผู้คนย้ายเข้ามาเพิ่มเติมเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2504 ชาวบ้านได้ย้ายไปอยู่บริเวณท่าแสนสาว ริมฝั่งแม่น้ำอิง ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของป่าชุมชนหนองขอนแก่น พ.ศ. 2509 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ชาวบ้านจึงอพยยพจากท่าแสนสาวไปยังที่ดอนซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านม่วงชุมในปัจจุบัน โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าทึบมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก และมีต้นมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ขึ้นเต็มในบริเวณนั้น เช่น มะม่วงฝ้าย มะม่วงจี้หี้ด มะม่วงไข่ มะม่วงแก้มแดง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อชุมชนว่า "บ้านม่วงชุม" เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2512 จึงได้แบ่งเขตการปกครองของชุมชนออกจากบ้านตอง หมู่ที่ 6 เป็นบ้านม่วงชุมหมู่ที่ 7 และแบ่งออกเป็น 6 ป๊อก หรือ 6 คุ้มบ้าน โดยบ้านม่วงชุมมีผู้คนอพยพมาจากหลากหลายพื้นที่มาอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน

บ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิงตอนล่าง บนถนนเส้นอำเภอเทิง-เชียงของ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร ทิศตะวันออกขนาบข้างด้วยเทือกเขาดอยยาว ทิศตะวันตกขนาบข้างด้วยแม่น้ำอิง ไหลจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพพื้นที่จึงเป็นที่ราบเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งลาดเทจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก และชุมชนตั้งอยู่ระหว่างลำห้วย 2 สาย คือ ห้วยม่วงชุม และห้วยซาง ที่ไหลมาจากดอยยาวลงสู่แม่น้ำอิงผ่านทางทิศเหนือและทิศใต้ ชุมชนจึงเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าบกบนภูเขา ภูเขา แม่น้ำ ลำห้วย และป่าชุ่มน้ำริมฝั่งแม่น้ำอิง และชุมชนยังตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงออกไปประมาณ 23 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 351-900 เมตร พื้นที่เนินมีสภาพดินเป็นดินตะก่อนเศษหินเชิงเขา กรวด ทราย และลูกรัง ซึ่งดอยยาวมีโครงสร้างเป็นหินอัคนี ส่วนที่ลุ่มแม่น้ำมีสภาพดินเป็นดินเหนียวเหมาะสำหรับทำการเพาะปลูกทำการเกษตร บ้านม่วงชุมมีพื้นที่ทั้งหมดโดยประมาณ 5,550 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 180 ไร่ พื้นที่ทำนา 850 ไร่ พื้นที่ทำสวน 150 ไร่ พื้นที่สารธารณประโยชน์ (ป่าชุ่มน้ำ) 500 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ (ป่าภูเขา) 3,870 ไร่ และมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านตองเก้า ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านศรีล้านนา ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ดอยยาว
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำอิง

บ้านม่วงชุม หมู่ที่ 7 ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่มีผู้คนอพยพมาอยู่อาศัยจากหลากหลายพื้นที่ จึงทำให้เป็นมีการผสมผสานระหว่างผู้คนที่หลากหาย ทั้งคนพื้นถิ่น คนเมือง(ไท-ยวน) ไทลื้อ ผู้คนจากพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และจากประเทศลาว โดยมีประชากรหลักเป็นคนเมือง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 175 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 270 คน หญิง 267 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 537 คน 

ไทยวน, ไทลื้อ

บ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันและเกี่ยวโยงกับธรรมชาติเป็นหลัก ประชากรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร โดยมีประชากรที่ทำนาเป็นอาชีพหลักจำนวนมากที่ส่วน และมีประชากรที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ ทำสวน ทำไร่ ประมงพื้นบ้าน หาของป่า รับจ้างทั่วไป ฯลฯ

บ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในรอบปีจะมีการประกอบพีธีกรรม ประเพณีทางพุทธศาสนา ที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต และยังมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษณ์ธรรมชาติ การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนที่ผูกพันกับธรรมชาติ และมีรายละเอียดตามปฏิทินประเพณี/กิจกรรม บ้านม่วงชุม ดังตารางต่อไปนี้

มกราคม- ประเพณีตานข้าวใหม่
มีนาคม- ประเพณีบวชพระ
เมษายน

- ประเพณีสงกรานต์

  • การส่งเคราะห์บ้าน สืบชะตาบ้าน
  • ขนทรายเข้าวัด
  • คาราวะดำหัวผู้ใหญ่
  • บายศรีสู่ขวัญ
  • การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ
มิถุนายน

- ประเพณีเลี้ยงผีดงชาวบ้าน (ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ)

- ประเพณีเลี้ยงผีขุนห้วย (ผีอ่าง)

- ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า

กรกฎาคม- ประเพณีวันเข้าพรรษา
กันยายน- ประเพณีตานสลากพัต
ตุลาคม-ประเพณีวันออกพรรษา
พฤศจิกายน

- ประเพณียี่เป็ง การฟังเทศน์ธรรมมหาชาติ

- ประเพณีจิกองหลัว และสรงน้ำพระพุทธเจ้า

และเนื่องจากชุมชนบ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงมีปฏิทินชุมชนเกี่ยวกับภาคการเกษตร ดังตาราต่อไปนี้

มกราคม

- ปลูกหอม กระเทียม

- ผักสวนครัว เช่น มะเขือ ผักกาด

กุมภาพันธ์

- เก็บผลผลิต มะเขือ ผักกาด

- เก็บข้าวโพดรอบสอง

มีนาคม

- ต้นเดือน เก็บผลผลิต หอมแดง กระเทียม

- กลางเดือน เพาะปลูกพริก

- ปลายเดือน ปลูกข้าวโพดบริเวณริมแม่น้ำอิง             

เมษายน

- ต้นเดือน ปลูกข้าวโพด

- กลางเดือน ปลูกพริก

- ปลายเดือน หว่านข้าวเปลือก

พฤษภาคม

- ปลูกพริก

- กลางเดือน ปลูกข้าวโพดบริเวณที่ดอน

มิถุนายน- ปลูกข้าว ดำนา
กรกฎาคม- ทำนา - เก็บพริก - เก็บลำไย
สิงหาคม

- เก็บข้าวโพด - เก็บลำไย

กันยายน- เตรียมดินปลูกข้าวโพดรอบสอง
ตุลาคม- ข้าวเริ่มตั้งท้อง
พฤศจิกายน- เก็บเกี่ยวข้าว
ธันวาคม- เก็บเกี่ยวข้าว

1.นายเมือง ศรีสม ประธานคณะกรรมการดูแลรักษาเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำอิง

2.นายปัญญา เป้าพรหมมา ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านม่วงชุม

3.นายปัญญา เป้าพรหมมา ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านม่วงชุม

4.นายพิพัฒน์ ศรีสุข ประธานคณะกรรมการกลุ่มเยาวชนรักษ์ม่วงชุม

  • ทรัพยากรป่าไม้ : ป่าต้นน้ำ ป่าดอยยาว ป่าหนองขอนแก่น 
  • ทรัพยากรดิน : ที่ราบเชิงเขา ที่ราบลุ่มน้ำ
  • ทรัพยากรน้ำ : แม่น้ำอิง ห้วยม่วงชุม ห้วยซาง หนองขอนแก่น หนองต้นผึ้ง หนองไก่ให้
  • ทรัพยากรสัตว์ : สัตว์เลี้ยง สัตว์ตามแหล่งธรรมชาติ
  • ทรัพยากรการเกษตร : พืชเศรษฐกิจ ข้าว ข้าวโพด ลำไย พริก หอม กระเทียม ฯลฯ
  • ทรัพยากรวัฒนธรรม : ประเพณีท้องถิ่น วิถีชุมชน

บ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยจากหลากหลายพื้นที่ จึงทำให้เป็นชุมชนที่มีภาษาที่หลากหลายในการสื่อสาร โดยมีภาษาหลักคือภาษาคนเมืองหรือภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ


ความเชื่อท้องถิ่นกับการอนุรักษ์

  • ผีขุนห้วย (ผีอ่าง) ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในลำห้วยม่วงชุม มีอิทธิฤทธิ์ในการทำให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล มีน้ำท่าสมบูรณ์ในการทำไร่นา และมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านจะเลี้ยงผีขุนห้วยเพื่อขอให้ฝนตก โดยบูชาด้วยเนื้อกว๋างคำ (สุนัข) ปัจจุบันจะเลี้ยงเฉพาะเมื่อฝนไม่ตกตามฤดูกาล และเปลี่ยนจากเนื้อกว๋างคำมาเป็นเนื้อวัวแทน การเลี้ยงผีห้วยจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม
  • ผีเจ้าที่ป่า เชื่อกันว่าสิงสถิตอยู่ในป่าชุมชนหนองขอนแก่น ชาวบ้านจะกราบไว้บูชาเพื่อบอกกล่าวขอให้ปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดเหตุร้าย ไม่ให้หลงป่าเวลาเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ในป่า เช่น การเลี้ยงวัว-ควาย หาของป่า การอนุรักษ์ผืนป่า รวมถึงให้ปกป้องป่าจากการเสื่อมโทรมและถูกทำลาย
  • ผีเจ้าที่น้ำอิง ชาวบ้านเชื่อกันว่าในแม่น้ำอิงมีเจ้าที่ดูแลรักษาปลาและแม่น้ำ ชาวบ้านที่หาปลาจะมีบริเวณที่หาปลาเป็นหลักและจะมีแท่นบูชาเล็ก ๆ ไว้ที่ริมแม่น้ำเพื่อวางเครื่องเซ่นไหว้ และขอพรให้หาปลาได้มาก ๆ เมื่อได้ตามที่ขอก็จะนำอาหารหวานคาวมาเลี้ยงผีเจ้าที่น้ำอิง


การอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำ

ป่าชุ่มน้ำหนองขอนแก่น มีเนื้อที่ 406 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ป่ากว้างประมาณ 1.28 กิโลเมตร ช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะเข้าท่วมผืนป่า ทำให้ป่าที่เต็มไปด้วยพรรณไม้หนาแน่น ประกอบกับหนองน้ำโดยรอบกลายเป็นพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ที่หลบภัย วางไข่ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ เมื่อน้ำลดจะมีพืชเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งแมลงและสัตว์อื่น ๆ และยังมีหนองน้ำในป่าเป็นที่อยู่ของปลาประจำถิ่น และปลาที่กลับลงแม่น้ำไม่ทัน เป็นแหล่งอาหารของผู้คน และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านมีคณะกรรมการดูแลป่า และกฎระเบียบแนวปฏิบัติเพื่อการรักษาทรัพยากรให้ยั่งยืน

การอนุรักษ์ป่าบก

ป่าบกที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์มี 2 แห่ง คือ ป่าต้นน้ำสาขา พื้นที่ 3,720 ไร่ และป่าดอยโตน พื้นที่ 97 ไร่ โดยป่าทั้งสองตั้งอยู่บนดอยยาว ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เป็นแหล่งกำเนิดห้วยม่วงชุม และห้วยซาง ชาวบ้านใช้น้ำจากลำห้วยในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร มีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ พรรณไม้สำคัญ เช่น ต้นตึง ต้นเปา ต้นประดู่ ต้นยาง ฯลฯ ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการปิดป่าเพื่ออนุรักษ์ป่าบนดอย มีการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ดูแลพื้นที่ด้วยการปลูกป่าเสริม ทำแนวกันไฟ ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 5,000 เมตร ในปี พ.ศ. 2553 ได้รับการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ และมีคณะกรรมชาวบ้านดูแลป่าบนดอยทั้งสองแห่ง พร้อมทั้งตั้งระเบียบป่าชุมชนสำหรับเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน

การบริหารจัดการแหล่งน้ำ

บ้านม่วงชุมตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำอิงกับลำห้วย โดยรอบเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ มีพื้นที่ชุ่มน้ำเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ แม่น้ำ ลำห้วย คลอง หนอง อ่างเก็บน้ำ และคลองส่งน้ำ ที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าชุ่มน้ำและป่าบกบนภูเขา ชุมชนมีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นนำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในส่วนต้นน้ำมีการดูแลป่าต้นกำเนิดของลำห้วย มีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น 100 ฝาย ฝายชะลอน้ำ 18 ฝาย และบ่อตักตะกอน ต่ำลงมาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาด 300,000 ลูกบาศก์เมตร ในส่วนกลางน้ำมีการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีที่ส่งน้ำไปยังภาคครัวเรือน และภาคการเกษตร นอกจากนี้ยังมีแก้มลิง สระน้ำประจำไร่นา และหนองน้ำในป่าชุ่มน้ำ ในส่วนของปลายน้ำในที่ป่าชุมชนและแม่น้ำอิง มีหนองน้ำในป่า 3 แห่ง ทำหน้าที่เป็นแก้มลิง และมีการสร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลายาวประมาณ 500 เมตรในแม่น้ำอิง

การอนุรักษ์ดิน

การอนุรักษ์ดินของชุมชนบ้านม่วงชุม เป็นการจัดการดินในป่าชุ่มน้ำ ชุมชนจะปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูดินโดยไม่เผาทำลายหน้าดิน ไม่ขุดหน้าดิน ปล่อยให้ใบไม้ทับถมกันตามธรรมชาติให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในการฟื้นฟูตัวเอง


เขตป่าสงวนแห่งชาติแม่อิงฝั่งขวา และป่าแม่งาว

ปลาและนากกับตัวชี้วัดความสำเร็จ

มีชนิดพันธุ์ปลาและสัตว์ชนิดสำคัญหลายชนิดที่เป็นตัวชี้วัดหรือสิ่งยืนยันความสำเร็จของชุมชนที่ร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติกว่าหลายสิบปี เช่น ปลาค้าวดำ ปลาค้าวขาว ปลาดาบลาว ปลาแค้ดำ ปลาบ้า ปลาแกก นาก ฯลฯ

  • บ้วน (นาก) นาก หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นภาคเหนือว่า "บ้วน" เป็นสัตว์ที่กินปลาเป็นอาหาร อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำโดยเฉพาะบริเวณที่ไม่ถูกรบกวน เป็นสัตว์ฉลาด ขี้อาย พบตัวได้ยาก ส่วนมากจาหากินในเวลากลางคืน การพบนากเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณนั้นมีปลาและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ถูกรบกวนจากผู้คน ชุมชนให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ ในประเทศไทยพบนากทั้งหมด 4 ชนิด ทั้งหมดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หนึ่งในนั้นพบได้ยากมากพบเพียงไม่กี่แห่งในภาคใต้ของไทย อีก 3 ชนิด พบกระจายตัวตามแหล่งน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบันเป็นสัตว์หายากและพบแหล่งอาศัยไม่มากนัก จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าในกลุ่มน้ำอิงตอนล่างมีจุดพบนากอย่างน้อย 10 จุด ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่บริเวณป่าชุ่มน้ำและเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาใกล้ชุมชนบ้านม่วงชุม พบนาก 2 ชนิดคือ นากใหญ่ธรรมดา และนากใหญ่ขนเรียบ และเป็นไปได้ว่าอาจพบทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากยังมีการสำรวจไม่มากนัก และในป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุมพบนากทั้ง 2 ชนิด อาศัยและหากินร่วมกัน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของชุมชนในการอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติ
  • ปลาดาบลาว เดิมปลาชนิดนี้เคยมีชุกชุมในหลายพื้นที่ของไทยรวมถึงในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นปลาหายากในประเทศไทย โดยแม่น้ำอิงตอนล่างเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังพบปลาชนิดนี้ได้ง่าย
  • ปลาค้าวดำ จัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน เดิมเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ ต่อมาสามารถเพาะพันธุ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันมีสถานภาพหายากปานกลาง เป็นปลาชนิดหนึ่งที่เคยหายไปจากแม่น้ำอิงและกลับมาพบอีกครั้งหลังจากการทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา
  • ปลาค้าวขาว จัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อนแต่คนละสกุลกับปลาค้าวดำ มีสถานภาพหายากปานกลาง พบจำนวนมากขึ้นหลังจากทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา และมีขนาดใหญ่ขึ้นจาก 12 กิโลกรัม เป็น 15 กิโลกรัม จากสถิติการจับได้ก่อนและหลังทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา
  • ปลาบ้า อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน จัดเป็นปลาซิวที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในโลก พบตามแม่น้ำสายใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา มีสถานภาพหายากปานกลาง
  • ปลาแกก อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ เป็นปลาอพยพจากแม่น้ำโขงเพื่อเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำอิง โดยปกติจะพบได้มากในช่วงน้ำหลาก แต่ในปี พ.ศ. 2562 กลับพบได้มากในช่วงน้ำลงหน้าแล้ง สันนิษฐานว่าเป็นปลาที่กลับออกสู่แม่น้ำโขงไม่ทัน
  • ปลาแค้ดำ จัดอยู่ในวงศ์ปลาแค้ พบในแม่น้ำอิงหลายชนิด เช่น ปลาแค้ดำ ปลาแค้เหลือง และปลาแค้หรือปลาแค้ติดหิน ในช่วงน้ำลงหน้าแล้งปี พ.ศ. 2562 พบปลาแค้เป็นจำนวนมาก มีขนาดประมาณ 1 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าเป็นปลาที่กลับออกสู่แม่น้ำโขงไม่ทัน

สถาบันลูกโลกสีเขียว. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านม่วงชุม ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงรายสถาบันลูกโลกสีเขียว. (ไม่ได้ตีพิมพ์).

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต. (2563). การอนุรักษ์พันธุ์ปลาอย่างเป็นองค์รวมของชุมชนบ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย. เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์.