ชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโวยจ ชนพื้นเมืองเดิม จากหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในอดีตและยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ สุสานบรรพบุรุษ
โล๊ะบาหรา คือ ชื่อบริเวณที่เรียกว่า "คลองดาว" ในปัจจุบัน โดย "โล๊ะ" แปลว่า อ่าว, คุ้งน้ำ "บาหรา" เป็นคำพื้นเมือง หมายถึงพืชชนิดหนึ่งคล้ายต้นตะไคร้ ชอบขึ้นอยู่ตามชายทะเลทั่วไป
ชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโวยจ ชนพื้นเมืองเดิม จากหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในอดีตและยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ สุสานบรรพบุรุษ
ชุมชนบ้านคลองดาว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโวยจ เป็นชนพื้นเมืองเดิมอาศัยอยู่ จากหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในอดีตและยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ สุสานบรรพบุรุษ
บทเพลงรำมะนา ชื่อ “ลาจัง” ซึ่งใช้ขับร้องในพิธีลอยเรือ มีสำนวนกล่าวถึงการเดินทาง ตั้งแต่ลันตาจนถึงฆูนุงฌึรัย บ่งบอกว่า ในอดีตอย่างน้อย 500 ปีที่ผ่านมาชาวเลอูรักลาโวยจน่าจะเคยมีถิ่นฐานเร่ร่อนอยู่บริเวณน่านน้ำแถบเทือกเขาฆูนุงณึรัย (ปัจจุบัน คือ เมืองไทรบุรี รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย) และได้อพยพขึ้นมาน่านน้ำไทย กระจายตัวอยู่อาศัยในพื้นที่เกาะต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล และกระบี่
นายสมาน หวังผล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะลันตาใหญ่ กล่าวว่า ชาวเลได้อพยพมาตั้งรกร้างเป็นกลุ่มแรก กลุ่มต่อมาเป็นชาวจีน ต่อมามีกลุ่มมุสลิม มลายู มาจากสตูลแล้วมาอาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งอยู่ปะปนกับคนจีนและกลุ่มสุดท้ายคือไทยพุทธ ซึ่งเป็นกลุ่มราชการที่ย้ายมาจากที่อื่น และจากหลักฐานเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนของชุมชนเมืองเก่าลันตา หรือ ชุมชนศรีรายา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นชุมชนเก่าแก่กว่าร้อยปี มีการออกแบบบ้านขึ้นใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์กับพื้นที่ ซึ่งเดิมเคยเกิดโศกนาฏกรรมไฟไหม้มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2472 และปี พ.ศ. 2496 จากเมืองท่าการค้าขายของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากปักฐานจนเกิดเป็นชุมชนเมืองเก่า แสดงให้เห็นว่ามีชาวเลอาศัยอยู่ที่เกาะลันตากว่า 100 ปี
การเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์สำคัญของชุมชนบ้านทุ่งยูง, โล๊ะบาหรา
- ในปี พ.ศ. 2444 จัดตั้งอำเภอเกาะลันตา โดยยกฐานะจากแขวงที่ขึ้นตรงกับอำเภอคลองท่อม เป็นอำเภอ
- ในปี พ.ศ. 2452 เรื่องเล่าของชาวเลเกาะลันตา โดยนายเดียว ทะเลลึก 12 มีนาคม 2566 เล่าว่า เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 (ประมาณ พ.ศ. 2452) ทางราชการเคยเกณฑ์ชาวเลจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต ไปอยู่อาศัยที่เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง จังหวัดสตูล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศเขตสยาม โดยปัจจุบันชาวเลกลุ่มนี้ได้เป็นต้นตระกูลของชาวเลเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง นามสกุล “หาญทะเล” และ “ทะเลลึก”
- ในปี พ.ศ. 2480 บันทึกจดหมายเหตุ โรงเรียนชุมชนบ้านศาลาด่าน กล่าวถึงการก่อตั้งโรงเรียนภายใต้ชื่อ “โรงเรียนประชาบาลตำบลเกาะลันตาใหญ่ 2” ทำการเปิดภาคเรียนเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2480 การชี้แจงเรื่องประโยชน์ของการที่ได้สร้างโรงเรียนขึ้นและโทษของการหลบหลีก ไม่ยอมส่งบุตรของตนให้เข้ามาเล่าเรียน และได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองทุกคน
- ในปี พ.ศ. 2490-2491 เกิดโรคฝีดาษ ระบาดอย่างหนักในกลุ่มชาวเลเกาะลันตา มีคนตายจำนวนมาก จึงฝังโดยไม่ได้ประกอบพิธี เล่าโดยนายมะดีเอ็น ช้างน้ำ เมื่อ 15 มีนาคม 2566
- ในปี พ.ศ. 2512 สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี เสด็จเยี่ยมราษฎรอำเภอเกาะลันตาและชาวเลได้เข้าเฝ้า ได้ทรงพระราชทานนามสกุลให้ชาวเลที่เกาะลันตา คือ “ทะเลลึก”, “หาญทะเล” และ “ช้างน้ำ”
- ในปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จเยี่ยมราษฎรอำเภอเกาะลันตา และมีพระราชดำรัสให้พระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ชาวเล พร้อมกับพระราชทานอนุญาตให้ชาวเลได้รับการยกเว้นในการเกณฑ์ทหาร
- ในปี พ.ศ. 2533 พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินเกาะไม้งามใต้ เกาะตะละเบ็ง เกาะลันตาใหญ่ เกาะไหง เกาะตุกนลิมา เกาะรอกนอก เกาะรอกใน เกาะหินแดง และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลเกาะกลาง ตำบลเกาะลันตาน้อย และตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2533 เพื่อสงวนให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน และเพื่ออำนวยประโยชน์อื่นแก่รัฐและประชาชน
- ในปี พ.ศ. 2536 ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมเริ่มเข้ามาในพื้นที่อำเภอเกาะลันตา
- ในปี พ.ศ. 2540 เกิดธุรกิจแพขนานยนต์ขึ้น เชื่อมการเดินทางบริเวณท่าเรือบ้านหัวหิน ตำบลเกาะกลาง - ท่าเรือคลองหมาก ตำบลเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
- ในปี พ.ศ. 2547 วันที่ 26 ธันวาคม เกิดภัยพิบัติ คลื่นยักษ์สึนามิ เข้าทำลายพื้นที่ และทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น
- ในปี พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีฯ มีมติเห็นชอบแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และ 3 สิงหาคม 2553 โดยมีประเด็นที่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในทุกมิติ ทั้งด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิในการจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ และสิทธิทางวัฒนธรรม
- ในปี พ.ศ. 2559 เปิดการใช้งานสะพานสิริลันตา เป็นสะพานเชื่อมตำบลเกาะกลาง ฝั่งแผ่นดินใหญ่ ไปยังตำบลเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ระยะทาง 2,240 เมตร มูลค่า 1,648 ล้านบาท
- ในปี พ.ศ. 2563 มีการยกฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เป็นเทศบาลตำบลศาลาด่าน และในปีเดียวกันนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19
ชุมชนบ้านคลองดาว หมู่ที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยชุมชนบ้านคลองดาวมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนบ้านในไร่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านพระแอะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อ กับหมู่ที่ 5 บ้านโล๊ะดุหยง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หาดคลองดาว
ในปัจจุบันชุมชนมีสภาพอาคารบ้านเรือนที่มีความมั่นคง แข็งแรง ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ มีสถานศึกษาในชุมชนคือ โรงเรียนชุมชนบ้านศาลาด่าน เปิดสอนระดับ อนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนบ้านศาลาด่าน สังกัดเทศบาลตำบลศาลาด่าน
การเดินทางมายังชุมชน มีถนนคอนกรีตและถนนปูด้วยหิน โดยสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง และเรือยนตร์ โดยมีท่าเทียบเรือศาลาด่านอยู่บริเวณหมู่ที่ 1
ด้านสาธารณูปโภค มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดกระบี่ มีน้ำใช้โดยระบบประปาหมู่บ้าน
ด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านศาลาด่าน และมีร้านจำหน่ายยาโดยเภสัชกร
ข้อมูลประชากรจากที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา พ.ศ. 2564 พบว่า หมู่ที่ 1 บ้านศาลาด่าน มีประชากรทั้งหมดจำนวน 1,181 คน แบ่งเป็นชาย 600 คน และหญิง 581 คน โดยเป็นประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านในไร่ จำนวนทั้งหมด 472 คน (คิดเป็นร้อยละ 39.97) แบ่งเป็นชาย 255 คน และหญิง 217 คน ส่วนพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านทุ่งยูง มีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,507 คน แบ่งเป็นชาย 772 คน และหญิง 735 คน เป็นประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านคลองดาว จำนวนทั้งหมด 273 คน (คิดเป็นร้อยละ 18.12) แบ่งเป็นชาย 140 คน และหญิง 133 คน
ทั้งนี้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ได้สำรวจข้อมูลผังเครือญาติของคนในชุมชน โดยมีผู้ให้ข้อมูล คือ นายเดียว ทะเลลึก และนายโอ้น ช้างน้ำ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นลูกพี่ลูกน้องกันในระบบเครือญาติ และได้ให้ข้อมูลแสดงช่วงอายุของเครือญาติอยู่ที่ 5 รุ่น ดังปรากฏรายละเอียดตามภาพที่ 10 ผังเครือญาติ หมู่ที่ 1 ชุมชนบ้านในไร่
อูรักลาโวยจผู้คนในชุมชนบ้านคลองดาว มีการรวมกลุ่มกันแบบไม่เป็นทางการในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มทำเรือปลาจั๊ก
- กลุ่มการแสดงพื้นบ้าน (รำมะนา, รอเง็ง)
- กลุ่มประมงพื้นบ้าน
- กลุ่ม อสม.
- กลุ่มพิธีกรรม สุสาน
การรวมกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- การรวมกลุ่มกันในการประกอบพิธีลอยเรือ ชุมชนบ้านคลองดาว หมู่ที่ 3 มีการรวมกลุ่มกันทำพิธีบริเวณศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- ประเพณีลอยเรือของชาวเล จัดขึ้นปีละสองครั้ง คือทุกวันเพ็ญ เดือน 6 และวันเพ็ญ เดือน 11 ของทุกปี พิธีนี้มีครั้งละ 3 วัน เป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวเองและญาติพี่น้อง อีกทั้งเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้แก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว
- ประเพณีทำบุญเดือน 5 ของชาวเล (แต่งเปลว) เป็นประเพณีที่จัดขึ้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงญาติพี่น้อง หรือบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว มีกิจกรรมแต่งป่าช้า
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันชาวเลยังคงทำมาหากินทางทะเล แต่เปลี่ยนรูปแบบจากเศรษฐกิจแบบหาเลี้ยงชีพ เป็นการประมงในรูปแบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า โดยนำสินค้าจากทะเลไปขายให้กับกลุ่มชุมชนอื่นทั้งชาวจีน ชาวมุสลิม และชาวไทย นอกจากนั้นชาวเลเริ่มประกอบอาชีพรับราชการ รับจ้างทั่วไป บริการเรือหางยาวนำเที่ยวทางทะเล และเป็นพนักงานสถานประกอบการท่องเที่ยว
1.นางเติมสี ช้างน้ำ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2495 ที่บ้านหัวแหลม เกาะลันตา พออายุได้ 7 ปี มีการย้ายมาอาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านในไร่ ก่อนจะย้ายตามสามีเข้ามาแต่งงานเป็นสะใภ้อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านคลองดาว เมื่อตอนอายุ 17 ปี มีลูกทั้งหมด 5 คน โดยคนที่ 1-3 คลอดด้วยหมอตำแยที่เป็นชาวเลด้วยกัน (ปัจจุบันไม่มีหมอตำแยในชุมชนแล้ว) และลูกคนที่ 3 ปัจจุบันทำงานเป็นครูอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนบ้านศาลาด่าน
ทุนวัฒนธรรม
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เฉพาะตัวอย่างพื้นที่ชายฝั่งทะเล ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น ทั้งวิถีชีวิต ประเพณี และความเชื่อ โดยยึดโยงระหว่างธรรมชาติกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น
- วิถีการทำประมงแบบพื้นบ้าน
- วิถีการเดินเรือ การต่อเรือ
- การทำเครื่องมือดักจับสัตว์ทะเล
- ประเพณีลอยเรือ
- การประกอบพิธีศพ
- ความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
ชาวเลชุมชนบ้านในไร่ ใช้ภาษาถิ่น (ภาษาใต้) เป็นภาษาพูดในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันกลุ่มชาวเลด้วยกันและบุคคลภายนอก ร่วมกับการใช้ภาษาพูดเฉพาะกลุ่มที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เรียกว่า ภาษาอูรักลาโวยจ
ชาวเลยังคงทำมาหากินทางทะเล ด้วยการทำประมงพื้นบ้าน แต่เปลี่ยนรูปแบบจากเศรษฐกิจแบบหาเลี้ยงชีพ เป็นการประมงในรูปแบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า โดยนำสินค้าจากทะเลไปขายให้กับกลุ่มชุมชนอื่น ทั้งชาวจีน ชาวมุสลิม และชาวไทย นอกจากนั้นชาวเลในปัจจุบันเริ่มประกอบอาชีพรับราชการ รับจ้างทั่วไป บริการเรือหางยาวนำเที่ยวทางทะเล และเป็นพนักงานสถานประกอบการท่องเที่ยว
ประเพณีลอยเรือ
การประกอบประเพณีลอยเรือ การกลืนกลายเข้ามาของวัฒนธรรมไทย ทั้งเพลง การแต่งกาย และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปส่งผลให้รูปแบบของการประกอบพิธีกรรมเริ่มเปลี่ยนไป เช่น การขาดผู้บรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงรำมะนาในเด็กรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นโต๊ะหมอในการประกอบพิธีกรรมในรุ่นถัดไป โดยวิถีดังเดิมชาวเลมีเพียงภาษาพูด ไม่ได้มีการจดบันทึก จึงส่งผลต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้เฉพาะเหล่านี้ให้กับรุ่นลูกหลานรุ่นต่อไป
มรดกภูมิปัญญา /ปราชญ์ชาวบ้าน
ทิศลม วิธีการจับสัตว์ทะเล และประเพณีนอนหาดที่ชาวเลกำลังจะเลือนหายไป ในขณะที่ชาวเลอยากกลับมาประกอบประเพณีนอนหาดและรักษาไว้มรดกภูมิปัญญานี้ไว้ แต่ด้วยข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ทั้งเป็นพื้นที่เกาะที่มีนักธุรกิจเป็นเจ้าของที่ดิน พื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเกาะลันตา ทำให้ไม่สามารถประกอบประเพณีนี้ได้ เนื่องจากไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้
ภาษา
ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจ ภายใต้การดำเนินงานโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในโครงการ “แนวทางในการศึกษาศักยภาพของชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมของชาวเลอูรักลาโวจย บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่” ในกระบวนการพัฒนาระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และชุมชนเจ้าของภาษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนเจ้าของภาษาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกใช้ตัวอักษรด้วยตนเอง ทำให้ได้ระบบเขียนพยัญชนะต้น 22 เสียง พยัญชนะสะกด 11 เสียง สระเดี่ยว 8 เสียง และเสียงสระประสม 2 เสียง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องชาวเล ผู้กล้าแห่งอันดามัน. จาก https://shop.sac.or.th/
ประยูร เวชยันต์ และคณะ. (2549). มรดกทางวัฒนธรรม “วิถีชีวิต ชาวเล”. กระบี่ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่.
ปรีดา คงแป้น และคณะ. (2555). วิกฤติ วิถีชาวเล. กรุงเทพฯ : มูลนิธิชุมชนไท.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่. (2564). กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดกระบี่. กระบี่ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่.
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). ศรีรายา. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
THECITIZEN.PLUS. (2565). เป็น อยู่ คืออูรักลาโวยจ เกาะลันตา. จาก https://thecitizen.plus/
ฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวสูงอายุ ในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวภาคใต้ตอนบน. (ม.ป.ป.). หาดคลองดาว (หาดโล๊ะบาหรา). ค้นจาก https://www.me-fi.com/tourismdb/