ชุมชนพหุวัฒนธรรม 4 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม
ชุมชนพหุวัฒนธรรม 4 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม
ชุมชนบ้านหนองแขม พบโบราณสถานโบราณวัตถุบริเวณวัด ซึ่งในอดีตสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ก่อนย้ายถิ่นฐานด้วยเพราะมีผู้คนล้มตาย จึงเป็นเหตุให้ชาวลัวะคิดว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย
ภายหลัง นายเลาหลู่ กลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ได้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณนี้ โดยอพยพมาจากบ้านถ้ำงอบ อำเภอไชยปราการ เหตุเพราะเกิดจากความขัดแย้งกับชุมชนจึงเดินทางมาตามเส้นทางคาราวาน ซึ่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางนี้เคยเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธของทหารญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2482-2488 สันนิษฐานได้จากการพบอาวุธ เช่น ดาบซามูไร ถนนที่ทำจากหิน กระสูนปืน และเศษเหล็ก และอีกหนึ่งสาเหตุที่ได้ย้ายมาในพื้นที่นี้เพื่อดูงานสัมปทานป่าไม้ของตระกูลชินวัตร จึงได้เลือกพื้นที่แห่งนี้อาศัยอยู่ ในปี พ.ศ. 2505-2506 ได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นอย่างเป็นอย่างทางการ โดยมีประชากรเพียง 7 หลังคาเรือน
หลังจากนั้นมีการอพยพย้ายเครือญาติ โดยนายเลาหลู่ ได้นำรถบรรทุกหกล้อไปรับมาจากอำเภอพาน อำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรายและอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้หมู่บ้านเริ่มมีประชากรเพิ่มขึ้น
ทรัพยากรที่ยังคงอุดมด้วยพรรณไม้ แอ่งน้ำธรรมชาติ และทิวทัศน์โดยรอบหมู่บ้านที่มองเห็นดอยนางนอน ภูเขาที่ทอดยาวตามความงามของธรรมชาติและป่าไม้ที่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็มีตำนานเกี่ยวกับ ถ้ำงู ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังหมู่บ้าน โดยตามตำนานเล่าว่าถ้ำนี้มีงูขนาดใหญ่อาศัยอยู่ภายในถ้ำ เมื่อมีคนเดินทางมาเส้นทางนี้ส่งเสียงดังงูจะออกมากิน ชาวบ้านเลยเชิญคนจีนมาปราบงูตัวนั้น โดยนำหญ้ามาวางบนหัวล่องูออกจากถ้ำแล้วก็ฟันคองูตัวนั้นตาย ซึ่งสาเหตุที่เรียกว่าถ้ำงูนั้น สันนิษฐานว่าบนเพดานถ้ำมีลักษณะเป็นรอยงูขนาดใหญ่เลื้อยผ่านไป
สถานที่สำคัญ
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองแขม
ในปี พ.ศ.2539 ผู้นำชุมชน และคณะกรรมการชุมชนทำหนังสือขอให้กองร้อย ตชด.ที่ 335 เข้ามาทำการสอนหนังสือเด็กและกองร้อย ตชด. ที่ 3 ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลพิจารณาเพื่อส่งครูไปสอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ตชด. จัดส่งครูเข้ามาสอน 3 นาย ชื่อว่าโรงเรียน ตชด บำรุงที่ 107 มีการสอนตั้งแต่อนุบาลถึง ป.3 มีนักเรียนทั้งหมด 52 คน ผู้ชาย 27 ผู้หญิง 25 คนและในปี พ.ศ. 2541 ได้โอนโรงเรียนให้สำนักงานปฐมศึกษาเชียงใหม่และตั้งชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนบ้านหนองแขมเปิดสอนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541 โดยมีจ่าสิบตำรวจ บุญภาคศรีวิชัย เป็นครูใหญ่คนแรกและในปัจจุบันมี พ.ต.ต. ดร.วัชรินทร์ ยศรุ่งโรจน์ เป็นครูใหญ่
หมู่บ้านหนองแขม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มีการอยู่ร่วมกันของ 4 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ลีซู ลาหู่ ไทใหญ่ และจีน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม
จากข้อมูลการสำรวจประชากร พ.ศ. 2565 พบว่ามีจำนวนบ้าน 429 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากร 1,514 คน โดยแบ่งเป็นชาย 738 คน และหญิง 776 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
จีน, ไทใหญ่, ลาหู่, ลีซูในอดีตมีการปกครองตามอายุตามความอาวุโส ผู้นำชุมชนเป็นคนมีบทบาทมากที่สุดในหมู่บ้าน ผิดว่ากันไปตามผิดตามการตัดสินใจของผู้นำหมู่บ้าน เมื่อหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีบทบาทในชุมชน จึงมีการเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แทนการปกครองในแบบเดิม แม้การปกครองเป็นไปตามแบบอย่างราชการท้องถิ่นทั่วไป แต่ ผู้อาวุโส ก็ยังคงมีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาชุมชนเช่นเดิม
แต่เดิมพื้นที่บริเวณชุมชน บ้านหนองแขม ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้จากการทำสวนฝิ่นเป็นหลัก ก่อนยกเลิกทำฝิ่นในปี พ.ศ. 2531 ได้รับการพัฒนาจากหลายหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนให้ทำการเกษตร เช่น การปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่ว กาแฟ และพืชผักชนิดต่างๆ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การส่งเสริมรายได้ นอกจากนั้นชาวบ้านยังมีอาชีพเสริม โดยการหาสมุนไพรในป่ามาใช้เป็นยารักษาประจำบ้านและส่งขายนอกพื้นที่
รายได้หลักของคนในพื้นที่ได้มาจากการทำเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวโพด ราคากลางประมาณ 8 บาท รวมรายได้จากการปลูกข้าวโพดเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 – 100,000 บาท ต่อปี ส่วนการปลูกถั่ว ราคาขึ้นลงไม่คงที่และช่วงหลังมีพันธุ์พืชชนิดใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนการปลูกกาแฟ (พันธุ์เชอรี่) ในหมู่บ้านมีประมาณ 6 หลังคาเรือน ที่ปลูกพืชชนิดนี้ มักมีคนเข้ามาติดต่อรับซื้อตลอด เกิดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการทำเกษตรกรรมจะทำรายได้หลักให้กับชาวบ้านแต่พอหมดช่วงฤดูกาลทำการเกษตรชาวบ้านบางคนเลือกที่จะออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เช่น ทำงานรับจ้าง แม่บ้าน ก่อสร้าง และงานอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้เสริม
ในพื้นที่บ้านหนองแขมส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยในแต่ละฤดูกาลหมุนเวียนปลูกพืชตามวงรอบปี อย่าง ข้าวโพด เริ่มปลูกประมาณเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม พืชตระกูลถั่ว เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ส่วนการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟจะเก็บในช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน และเก็บสมุนไพรขายเป็นยารักษาประจำบ้าน บ้างส่งขายนอกพื้นที่ เมื่อว่างเว้นจากการทำการเกษตร จึงประกอบอาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น ก่อสร้าง แม่บ้าน เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว
ชุมชนบ้านหนองแขมเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อันเนื่องจากการแต่งงานข้ามกลุ่ม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ลีซูแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่หรือกลุ่มชาติกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ เป็นต้น ในการนับถือสายตระกูลนั้นเมื่อผู้หญิงเข้ามาเป็นสะใภ้จำต้องเปลี่ยนมานับถือตามฝ่ายชายเท่านั้น แต่ด้วยปัจจุบันข้อปฏิบัติดังกล่าวค่อย ๆ คลี่คลายลง มีการปรับเปลี่ยนให้นับถือทั้งของตนเองและครอบครัวใหม่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ของตนเองมีกิจกรรมทางศาสนาก็แต่งกายชุดของตนเองไป แต่ถ้ากลุ่มชาติพันธุ์ลีซูมีกิจกรรมทางศาสนาก็แต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูไปร่วมงาน
ในหมู่บ้านหนองแขมมีการนับถือศาสนาอยู่ 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์
1.ศาสนาพุทธ
1.1 ลีซู นับถือผีควบคู่กับศาสนาพุทธ ผีที่สำคัญคือ ผีปู่ผีย่า ส่วนผีที่นับถือและเกรงกลัว คือ ผีที่อยู่ตามธรรมชาติ
พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด ขั้นตอนในการทำพิธี เตรียมเครื่องเซ่นไหว้ โดยใช้หมูหรือไก่นำไปเซ่นไหว้เพื่อแจ้งให้อาปาโหม่ฮีทราบในขณะนี่มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นและมีการเสี่ยงทายโดยการโยนเหรียญเลือกชื่อ
พิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย กลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ไม่มีป่าช้าสำหรับการฝังศพ แต่จะเลือกสถานที่ที่คิดว่าเหมาะสม โดยการโยนไข่ดิบ ถ้าไข่ตกลงมาแตกแสดงว่าผู้ตายพอใจสถานที่นี้ในการฝังศพ แต่ถ้าไข่ไม่แตกแสดงว่าบริเวณนี้ผู้ตายไม่พอใจ
ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ยังมีกิจกรรมวัฒนธรรม และพิธีกรรมความเชื่อแบบดั้งเดิมที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ เช่น เทศกาลปีใหม่ พิธีทำบุญเรียกขวัญ เป็นต้น
ประเพณีสำคัญในรอบปี
- เดือนกุมภาพันธ์ มีงานตรุษจีน/กินวอ โดยมีการจัดในวันที่ 5 ของเดือนโดยจะจัดเป็นเวลา 1 อาทิตย์ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเต้นรำ กินเลี้ยงกันที่บ้านผู้นำศาสนา เป็นปีใหม่ใหญ่มีการแจกอั่งเปาบางบ้าน
- เดือนมีนาคม งานปีใหม่น้อย โดยเฉพาะผู้ชายจะไปศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน จะมีการฆ่าหมูตัวใหญ่เพื่อเซ่นไหว้หลังจากเสร็จพิธี ผู้นำชุมชนจะนำหัวหมูและเครื่องในกลับบ้าน มาจัดงานเลี้ยงมีการเต้นรำ ดื่มกินกันที่บ้านผู้นำชุมชน
- เดือนพฤษภาคม งานล้างหมู่บ้าน โดยจะมีการนำของใช้เช่น เสื้อผ้า สิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไปทิ้งข้างนอกหมู่บ้าน เชื่อว่าเป็นการล้างหมู่บ้านเอาสิ่งที่ไม่ดีออกจากหมู่บ้าน
- เดือนมิถุนายน งานอิดะมาลัว โดยจะมีการบวงสรวงขอให้ได้ผลผลิต ฆ่าหมูไปเซ่นไหว้
- เดือนกรกฎาคม ช่วงปลายเดือนจะมีงานสารทจีน จะมีการเอาผลผลิตไปขอบคุณที่ศาลเจ้า
1.2 ลาหู่
ความเชื่อนับถือผี เช่น การเลี้ยงผี ในช่วงทำเกษตร ประมาณเดือนเมษายน จะทำการเลี้ยงผีทางเข้าสวน ความเชื่อหิ้งผี ใช้เป็นที่เคารพบรรพบุรุษ หิ้งนี้เรียกอีกอย่างว่า ค่อตา วิธีเคารพบรรพบุรุษ จะใช้ไก่ต้ม ข้าวสวย น้ำเปล่า เหล้า และมีบทสวดเชิญบรรพบุรุษ นอกจากความเชื่อแล้วยังมีประเพณีที่น่าสนใจย่าง ประเพณีกินวอ เป็นประเพณีของหนุ่มสาวที่มาเต้นเพื่อมาจีบกัน จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ลาหู่จะมีการจัดขึ้น 7 วัน มีวันที่ 4 เป็นต้นไป สืบทอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
1.3 ไทใหญ่
กลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือในศาสนาพุทธ ไปวัดทำบุญทุกวันพระ ที่วัดภายในหมู่บ้านหนองแขม ชาวไทใหญ่แทบทั้งหมดเข้ามาในหมู่บ้านโดยการแต่งงาน ทำให้วิถีการใช้ชีวิต การใช้ภาษา วัฒนธรรมประเพณี และพิธีกรรม ล้วนทำตามแบบชนเผ่าลีซู แต่ก็ยังมีประเพณีที่ชาวไทใหญ่ยังคงทำอยู่ นั่นคือประเพณีปอยส่างลอง ในช่วงเดือน มีนาคม และเดือนเมษายน ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญทางศาสนา ชาวไทใหญ่จะกลับบ้านไปร่วมงาน และอีกประเพณีที่ชาวไทใหญ่ทำคือ ในช่วงปีใหม่ ชาวไทใหญ่จะกลับบ้าน และรดน้ำดำหัว
1.4 จีน
กลุ่มชาติพันธุ์จีน ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหนองแขมมีการนับถือศาสนาอยู่ 2 ศาสนาคือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ โดยรูปแบบในการปฏิบัติของทั้งสองศาสนานี้มีความเหมือนกัน
- เดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีกินข้าวหรือปีใหม่ตรุษจีน มีการจัดงานเลี้ยงรื่นเริงภายในหมู่บ้าน เหมือนกับชาวลีซูที่มีการฆ่าหมูดำเพื่อถวายแก่ศาลเจ้าและมีการทำขนมที่เรียกว่า ข้าวพุ มีลักษณะคล้ายกับขนมเข่งของคนจีนในช่วงตรุษจีนในที่นี้จะใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก ตำให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันรวยงาบนหน้าขนม ในช่วงปีใหม่เด็กๆรวมถึงผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะเข้าร่วมการเต้นรำรอบหมู่บ้านและภายในโรงเรียน
- เดือนกรกฎาคม ประเพณีเลี้ยงศาลเจ้า เมื่อผ่านพ้นช่วงฤดูของการปลูกพืชผลทางเกษตรออกผลผลิตอุดมสมบูรณ์ตามเป้าหมาย จะมีการเลี้ยงศาลเจ้าโดยจะมีการถวายไก่และอาหารคาวหวาน
- เดือนสิงหาคม ประเพณีไหว้ผีบรรพบุรุษ โดยมีการให้ข้าวปลาอาหารไก่ถวายในบริเวณบ้านและเมื่อถวายเสร็จก็จะนำอาหารมารับประทานกันในครอบครัวโดยมีคำกล่าวว่า "เขาได้กินเราได้กิน” ชาวจีนเชื่อว่าเป็นการดูแลบรรพบุรุษหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว
- เดือนกันยายน ประเพณีไหว้พระจันทร์ โดยการถวายขนมไหว้พระจันทร์และไก่ภายในบริเวณที่โล่งแจ้ง หน้าบ้าน
2.ศาสนาคริสต์
ในหมู่บ้านหนองแขมมีกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยจะมีโบสถ์ 2 ที่ คือ โบสถ์ในบ้านและโบสถ์ใหญ่ โดยจะทำกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ ด้วยการสรรเสริญ และสอนคัมภีร์
การเปลี่ยนแปลงศาสนา สาเหตุของการเปลี่ยนศาสนาจากการสอบถามชาวบ้านได้ความว่า “ศาสนาพุทธมีค่าใช้จ่ายเยอะ เพราะเวลาคนในบ้านเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องไปจ้างปราชญ์ในหมู่บ้านมาทำพิธี และค่าใช้จ่ายในการเซ่นไหว้ต่าง ๆ” จึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านบางกลุ่มเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์
2.1 ลีซู
- เดือนมกราคม มีงานขึ้นปีใหม่สากลโดยจะมีการไปอธิษฐานขอพรที่โบสถ์ จุดพลุ จัดร่วมกับลีซูพุทธช่วยกันจัดงาน แต่ลีซูพุทธไม่สามารถร่วมพิธีกรรมทางศาสนาได้
- เดือนเมษายน งานอีสเตอร์เอ๊ก โดยจะมีการให้เด็กๆ เล่นเกมที่โบสถ์และแจกของรางวัล
- เดือนตุลาคม งานกินข้าวใหม่โดยจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต เอาข้าวโพด ข้าวใหม่ ไปถวายที่โบสถ์และมีการเต้นรำร่วมกัน
- เดือนธันวาคม งานคริสต์มาสโดยจะมีการไปโบสถ์อธิษฐาน จัดงานเลี้ยง
1) นายอาเบ แซ่ลี้ กำนันตำบลเมืองนะ
2) นายจีรชัย พารินธร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
3) วัชริน ยศรุ่งโรจน์ ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
กลุ่มชาติพันธุ์ลีซู
ภาษาที่ใช้พูด : ลีซู
ภาษาที่ใช้เขียน : ลีซูพุทธจะไม่มีตัวหนังสือ ส่วนลีซูคริสต์จะมีตัวหนังสือเนื่องจากมีการดัดแปลงตัวอักษรภาษาอังกฤษมาใช้
กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่
ภาษาที่ใช้พูด : ลาหู่
ภาษาที่ใช้เขียน : ไม่มี
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่
ภาษาที่ใช้พูด : ลีซู
ภาษาที่ใช้เขียน : ไม่มี
ในด้านสาธารณูปโภค เริ่มแรกมีลักษณะเป็นถนนดินแดง ก่อนมีการก่อสร้างถนนคอนกรีตภายหลังการจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้น ในปี พ.ศ. 2546 ส่วนระบบไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในปี พ.ศ. 2552
เอกภักดิ์ จำแน่ และคณะ. (2562). การเก็บรวบรวมข้อมูลและจัดทำหนังสือภาพถ่ายประกอบคำบรรยาย ชุมชนพหุวัฒนธรรม (ลาหู่ ลีซู และม้ง) ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. ค้นคืนเมื่อ 10 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=228
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php