Advance search

แม่ตะวอ

ชุมชนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ เพราะเป็นบริเวณที่มีการเดินทางไปมาหสู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ จึงมีความหลากหลายของผู้คน แต่คนในชุมชนก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

หมู่ที่ 1
ท่าสองยาง
ท่าสองยาง
ท่าสองยาง
ตาก
ธนากร ทองประดับ
15 มิ.ย. 2023
เปรมพร ขันติแก้ว
25 ก.ย. 2023
จิรัชยา สีนวล
16 ม.ค. 2024
บ้านท่าสองยาง
แม่ตะวอ

เป็นชุมชนที่มีทัศนียภาพที่งดงาม อยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย ที่ติดกับประเทศเมียนมา โดยมีแม่น้ำเมยกั้น ซึ่งระหว่างช่องทางการติดต่อระหว่าสองประเทศนี้มีต้นยางขึ้นอยู่ จึงเรียกกันว่า บ้านท่าช่องยาง แต่มีการเรียกเพี้ยนกันมาว่า บ้านท่าสองยาง แต่บ้างก็ว่าเกิดจากจุดเริ่มต้นของการตั้งหมู่บ้านชาวยาง จำนวน 2 ครอบครัว ที่มาอยู่ก่อนเป็นครอบครัวแรก จึงเป็นที่มาว่าชื่อ บ้านท่าสองยาง


ชุมชนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ เพราะเป็นบริเวณที่มีการเดินทางไปมาหสู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ จึงมีความหลากหลายของผู้คน แต่คนในชุมชนก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ท่าสองยาง
หมู่ที่ 1
ท่าสองยาง
ท่าสองยาง
ตาก
63150
17.57130102
97.91460469
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง

บ้านท่าสองยาง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบที่รายล้อมด้วยภูเขา และมีแม่น้ำเมยไหลผ่าน ประชากรในพื้นที่บ้านท่าสองยางประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งกะเหรี่ยง ล้านนา ไต ตองซู ปะโอ ไทย พม่า ซึ่งผู้คนดังกล่าวได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยตามช่วงเวลาที่มีหมู่บ้านมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การค้าขาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ โดยมีการค้าขายเป็นจุดดึงดูดความสนใจในการตั้งถิ่นฐาน

จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน ผู้คนที่มีการตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกหรือติดพื้นที่บ้านท่าสองยางคือ ชาวกะเหรี่ยง ที่เรียกตัวเอง "ปกาเกอะญอ" โดยมีการตั้งถิ่นฐานจำนวน 2 ครัวเรือน โดยเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณห้วยแม่จวางบริเวณที่บรรจบกับแม่น้ำเมย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า "สบจวาง" โดยคนในพื้นที่จะเรียกบริเวณนี้ว่า "สันกะแก" ในเวลาต่อมา ได้มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนเมือง ไทยล้านนา ซึ่งมาจากอำเภอแม่สะเรียง โดยเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ประจำการในโรงพัก (สถานีตำรวจ) และประจำการที่ที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าสองยาง

จากคำบอกเล่าของผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชน พบว่า กองทัพญี่ปุ่นได้เดินทางผ่านมายังบริเวณบ้านท่าสองยาง เพื่อข้ามแม่น้ำเมยโดยแพไปยังประเทศพม่า(เมียร์มาร์) จากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาวบ้านในประเทศพม่า ซึ่งอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ได้อพยพข้ามแม่น้ำเมยมาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านท่าสองยาง จึงทำให้มีประชาชนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

บ้านท่าสองยางหรือบ้านแม่ตะวอ เคยเป็นกิ่งอำเภอท่าสองยาง อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ได้ย้ายมาอยู่ในเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมทั้งย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ท่าสองยางไป ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ต้าน ซึ่งห่างจากบ้านท่าสองยาง 60 กิโลเมตร ทำให้หมู่บ้าน ลดฐานะลง เป็นตำบลท่าสองยาง ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอท่าสองยางเท่านั้น

จากคำบอกเล่าของชุมชน มีเรือลำแรกที่ใช้ในการติดต่อระหว่างชุมชนของประเทศไทยและประเทศเมียนมา เป็นของนายควาย ปัญญาไว มีไว้เพื่อใช้ในการสัญจรไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ และใช้ขนส่งสินค้าข้ามไปมายังรัฐกะเหรี่ยงของประเทศเมียนมา บ้านแม่ตะวอหรือบ้านท่าสองยาง เป็นหมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำเมย มีชาวบ้านพื้นถิ่นและชาวกะเหรี่ยงฝั่งตรงข้ามเป็นเหมือนพี่น้องกันมายาวนาน ในปี พ.ศ. 2540 เริ่มมีระบบสาธารณูปโภคมีไฟฟ้า ใช้ในปี พ.ศ. 2554 มีการสู้รบกันภายในประเทศเมียนมา เคยมีลูกระเบิดข้ามตกมายังหมู่บ้าน แต่ระเบิดไม่แตก นอกจากนั้นที่บ้านของชาวบ้านในชุมชนจะมีที่หลบภัยสงคราม แต่ปัจจุบันไม่มีผลกระทบจากการสู้รบจากฝั่งประเทศเมียนมาแล้ว เนื่องจากไม่ใช่จุดที่มีการสู้รบกัน ชาวบ้านเล่าว่าบ้านท่าสองยางหรือบ้านแม่ตะวอแห่งนี้เคยเป็นจุดผ่านของทหารญี่ปุ่น ข้ามจากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีครูบาสร้อย พระที่เป็นเกจิอาจารย์ มีศรัทธาและลูกศิษย์จำนวนมาก เป็นพระที่มีชื่อเสียงท่านเริ่มจำวัด ณ วัดมงคลคีรีเขต ตั้งแต่ปี พ.ศ 2498 เป็นพระที่มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตาและของขลัง ปัจจุบันท่านมรณะภาพ ตั้งแต่ปี 2541 แต่ลูกศิษย์ยังคงเก็บสรีระสังขารไว้ในโลงแก้วเพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา

การเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์สำคัญของบ้านท่าสองยาง

  • พ.ศ. 2400 : ก่อตั้งหมู่บ้านสันกะแต
  • พ.ศ. 2462 ก่อตั้งสำนักสงฆ์บ้านท่าสองยาง
  • พ.ศ. 2467 ก่อตั้งโรงเรียนชุมชนบ้านท่าสองยาง (1 พฤษภาคม 2467)
  • พ.ศ. 2470 ปู่โคโย สร้างโรงพักท่าสองยาง (พ่อค้าชาวกะเหรี่ยงที่มีฐานะ ทางเศรษฐกิจดี มีอาชีพค้าไม้ในพื้นที่ตำบลท่าสองยาง)
  • พ.ศ. 2484 ประเทศไทยได้ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นใช้บริเวณท่าข้ามโรงพักในบ้านท่าสองยางเป็นพื้นที่เส้นทางที่ทหารญี่ปุ่นเดินผ่านในสงครามโลกครั้งที่ 2
  • พ.ศ. 2491 กิ่งอำเภอท่าสองยางได้โอนย้ายขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, เปลี่ยนชื่อสถานีตำรวจภูธรท่าสองยาง เป็นสถานีตำรวจภูธรแม่เมย
  • พ.ศ. 2498 ครูบาสร้อย ขันติสาโร (ครูบาผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ) ธุดงค์มาถึงบ้านท่าสองยาง
  • พ.ศ. 2505 เปลี่ยนชื่อ วัดท่าสองยาง เป็น วัดมงคลคีรีเขตร์และ ถนนทางหลวงจังหวัด 1085 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 105) ตัดผ่านบ้านท่าสองยาง
  • พ.ศ. 2509 ก่อตั้งสถานีอนามัย
  • พ.ศ. 2526 ก่อตั้งศูนย์ฟรังซีสอัส ซีซี (โบสถ์คาธาลิก)
  • พ.ศ. 2527 เริ่มก่อตั้ง (Safe Haven Orphanage) ก่อตั้งสถานพักพิงบ้านทัศนีย์
  • พ.ศ. 2533 ก่อตั้งไปรษณีย์ตำบลท่าสองยาง
  • พ.ศ. 2540 แยกบ้านส่วนอ้อยออกจากหมู่ที่ 1 บ้านท่าสองยาง เป็นอีกหมู่บ้านทางการ คือ หมู่ที่ 9 บ้านสวนอ้อย
  • พ.ศ. 2542 ก่อตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง (14 กุมภาพันธ์ 2542)
  • พ.ศ. 2547 ก่อตั้งสำนักสงฆ์ดอยสาวงศ์ (ดอยน้อย)
  • พ.ศ. 2555 ก่อตั้งสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย (องค์กรคริสตจักรความรักนิรันดร์) 

บ้านท่าสองยาง หมู่ 1 มีสถานที่ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านท่าสองยาง กศน.บ้านท่าสองยาง โรงเรียนชุมชนบ้านท่าสองยาง สถานีตำรวจแม่เมย องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง และวัดมงคลคีรีเขตร์ ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ท่าน้ำแม่ตะวอ น้ำตก

ลักษณะทางกายภาพ

ที่ตั้งของตำบลท่าสองยางอยู่ห่างจากอำเภอท่าสองยาง ประมาณ 56 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอท่าสองยาง มีรูปร่างทอดวางตัวแนวตั้ง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำยวม ตำบลแม่วะหลวงและอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่สอง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลแม่วะหลวงและตำบลแม่สอง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำเมย สหภาพเมียนมา

พิกัดที่ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง เส้นรุ้ง (ละติจูด) 384.506 เส้นแวง (ลองจิจูด) 1,942.857 มีพื้นที่โดยทั้งหมดประมาณ 335.16 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 221.975 ไร่ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยางสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 108.23 เมตร (355 ฟุต) 

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่ เป็นที่ราบสูงเชิงเขา มีที่ราบลุ่มบริเวณเชิงเขาเล็กน้อยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน ภูเขา มีเทือกเขาถนนธงชัย ทอดยาวจากเหนือจรดใต้ แม่น้ำ แม่น้ำเมย กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพเมียนมา 

ลักษณะภูมิอากาศ

เนื่องจากอยู่ในเทือกเขาถนนธงชัยและอยู่ร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากทะเลอันดามันพัดผ่าน ทำให้ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อนฝนตกชุกเกือบทั้งปี คือตลอดช่วง 6 เดือน โดยเฉพาะในเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุกมาก ลักษณะภูมิอากาศ เช่นนี้ทำให้มีด้วยกัน 3 ฤดู 

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ร้อนมากที่สุดในเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดใน เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 33 องศาเซลเซียส
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน-ตุลาคม มีฝนตกชุกมากในเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำฝน มากกว่า 100 มม.
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม เนื่องจากอยู่ใน พื้นที่ป่าสมบูรณ์และป่าต้นน้ำ พื้นที่เป็นที่ราบสูง อากาศจึงหนาวเย็นมาก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10-18 องศาเซลเซียส 

ทรัพยากรธรรมชาติ

  • น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ คือ แม่น้ำเมย ซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า ไหลผ่าน และมีน้ำตามธรรมชาติที่อยู่บนภูเขา 
  • ป่าไม้ ตำบลท่าสองยางมีพื้นที่ป่าไม้ตามภูเขาและที่สูงที่สำคัญได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่า ท่าสองยาง และอุทยานแห่งชาติแม่เมย เป็นป่าประเภท ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าแดง ไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นพวก ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็ง และไม้กระยาเลย 
  • ภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน 

ลักษณะของดิน

พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลท่าสองยางอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยางทำให้ประชาชน ไม่สามารถมีเอกสารสิทธิในที่ดินได้ ทำให้มีการใช้ประโยชน์น้อยมาก และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย และดินร่วนอยู่บริเวณสองข้างฝั่งลำห้วย ซึ่งเป็นที่ราบในบริเวณหุบเขาจะพบว่าเป็นดินลูกรังหรือหินก้อนใหญ่ 

ลักษณะของแหล่งน้ำ

ทรัพยากรน้ำ มีแม่น้ำเมยซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพเมียนมา ไหลผ่านยาวประมาณ 70 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำที่สำคัญทั้งที่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น มีดังนี้ แม่น้ำ 1 สาย ห้วย หนอง คลอง บึง 6 แห่ง สระเก็บน้ำ 10 แห่ง ฝาย 4 แห่ง

ลักษณะของไม้และป่าไม้

ทรัพยากรป่าไม้ ตำบลท่าสองยางมีพื้นที่ป่าไม้ตามภูเขาและที่สูงที่สำคัญได้แก่ ป่า สงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง และอุทยานแห่งชาติแม่เมย เป็นป่าประเภท ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าแดง ไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นพวก ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็ง และไม้กระยาเลย สัตว์ป่า ที่พบ เช่น เก้ง กวาง หมูป่า ลิง เลียงผา แต่ไม่เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ของป่า ที่พบเช่น น้ำผึ้ง หน่อไม้ เปลือกไม้ 

การคมนาคมขนส่ง 

ในพื้นที่หมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตและถนนดิน ซึ่งรถยนต์สามารถเข้าถึงได้ทุกหมู่บ้านในฤดูแล้งและในฤดูฝนบางหมู่บ้านรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องเดินทางด้วยเท้าเพราะพื้นที่ของหมู่บ้านส่วนมากอยู่บนพื้นที่สูง รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากถนนเสียหายและมีน้ำกัดเซาะ เส้นทางหลักที่ใช้ติดต่อระหว่างหมู่บ้าน คือ ทางหลวงหมายเลข 105 ถนนบ้านแม่เหว่ย ถึง บ้านแม่ละนา, ถนนบ้านท่าสองยาง ถึงบ้านแม่ลอ และถนนราชประสงค์

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านท่าสองยาง จำนวนประชากรทั้งหมด 3,013 คน แบ่งออกเป็นชาย 1,511 คน หญิง 1,502 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

ปกาเกอะญอ

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่ม อสม.
  • กลุ่มออมทรัพย์
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
  • กลุ่มสตรี
  • กลุ่มฌาปนกิจ

ประเพณีและงานประจำปี การจัดงานบุญ/งานประเพณีต่าง ๆ จะจัดกันตามความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมาทุกปีและตามจารีตประเพณี อาทิ 

  • ประเพณีทำบุญข้าวใหม่
  • ประเพณีสงเคราะห์บ้าน
  • ปรเพณีเดือน 9
  • ประเพณีสรงน้ำ ดำหัว
  • วันเข้าพรรษา/แห่เทียน
  • วันออกพรรษา
  • วันลอยกระทง
  • งานประจำปีครูบาสร้อย

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%2020%20%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99_65a7462b92b48.jpg

1.นายมงคล อาจกิจ อายุ 89 ปี แต่งงานตอนอายุ 20 ปี มีภรรยา 3 คน สามารถสื่อสารได้ 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษากะเหรี่ยง 

  • ช่วงอายุ 16 ปี ช่วยพ่อแม่ทำไร่หาของป่า
  • ช่วงอายุ 49 ปี ประกอบอาชีพสารวัตรกำนัน 
  • ช่วงอายุ 55 ปี เริ่มเป็นโรคความดัน
  • ช่วงอายุ 60 ปี ออกจากการเป็นสารวัตรกำนัน และเริ่มปลูกพืชผักสวนครัว 
  • ช่วงอายุ 79 ปี ขายที่ดิน 1 แปลง 5 ไร่ 
  • ช่วงอายุ 87 ปี เป็นโรคต่อมลูกหมากโต และภรรยาคนสุดท้ายเสียชีวิต 

2.นางดา อายุ 62 ปี แต่งงานกับ นายตศต ปุเชียง อายุ 62 ปี ประกอบอาชีพอาชีพ ทำไร่ ทำสวน 

  • ช่วงอายุ 10 ปี เลี้ยงน้อง แต่งงานตอนอายุ 17 ปี อายุ  18 - 19 ปี  เริ่มมีบุตร
  • ช่วงอายุ 20 ปี เป็นแม่บ้านเลี้ยงบุตร
  • ช่วงอายุ 30 ปี เป็นแม่บ้านเลี้ยงบุตร สามีเสียตอนอายุ 39 ปี เป็นแม่เลี้ยงเดียว
  • ช่วงอายุ 40 ปี รับจ้างทั่วไป
  • ช่วงอายุ 50 ปี เลี้ยงหลาน 
  • ช่วงอายุ 60 ปี เลี้ยงหลาน

ทุนทางวัฒนธรรม

วัดมงคลคีรีเขตร์ 

ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายแม่สอด-ท่าสองยาง-แม่สะเรียง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 136 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสองยาง อยู่ติดกับลำห้วยแม่จวง สักการะร่างของพระครูบาสร้อยที่แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว แต่ร่างของท่านกลับไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปกราบนมัสการขอพรเพื่อสิริมงคลได้ทุกวัน รู้จัก "พระครูบาสร้อย" พระครูบาสร้อยคือภิกษุผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2472 ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเส็ง ตำบลละหานทราย อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่ออายุ 7 ขวบ บิดามารดาได้ถึงแก่กรรมท่านจึงอยู่ในความดูแลของคุณยาย ในวัยเด็กท่านมีโอกาสถวายน้ำตาล แด่พระธุดงค์ และพระธุดงค์รูปนั้นได้กล่าวกับท่านว่าเมื่อโตขึ้นให้บวช จนกระทั่งท่านเรียนจบประถม 4 คุณยายจึงพาไปบวชเณรที่วัดชุมพรใกล้บ้าน มีหลวงพ่อมั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่ออายุ 22 ปี จึงอุปสมบท มีหลวงพ่อมั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อสุข เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อสุตเป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้รับฉายาว่า "ขันติสาโร"

หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้กราบลาหลวงพ่อมั่น เพื่อไปฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงพ่อสุข รวมทั้งเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ที่สำคัญ ต่อมาใน พ.ศ. 2497 หลวงพ่อสร้อยได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และจำพรรษา ที่วัดมหาธาตุ ศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ถึง 7 เดือน จึงลาพระอาจารย์ชาดกกลับไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดกลางนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พอออกพรรษาท่านได้ล่ำลาญาติโยมเพื่อออกรุกขมูลไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าว่า ใน พ.ศ. 2503 หลังฉันอาหารเช้า ท่านเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวจึงไปพักผ่อน ปรากฏว่าวิญญาณท่านได้ออกจากร่างเป็นครั้งที่ 2 แต่แค่เพียง 1 วันเท่านั้น ท่านก็ฟื้นขึ้นมา ต่อมาใน พ.ศ. 2505 ท่านจึงได้สร้างวัดเพื่อให้ถูกต้องมีวิสุงคามวาสี เหมือนกับเทวดาที่รักษาวัดจะทราบเรื่องราว คืนนั้นในสมาธิเทวดาซึ่งเป็นเจ้าที่ได้มาปรากฏและถามท่านถึงความต้องการ ท่านจึงบอกไปว่าจะทำการบูรณะปรับปรุงวัดให้ดีขึ้น ช่วงกำลังก่อสร้าง มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนถึง พ.ศ. 2506 จึงสร้างเสร็จ นับว่าท่านเป็นพระที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับชาวบ้านและลูกศิษย์อย่างมากมาย จนกระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2541 เวลา 07.19 น. ท่านได้หยุดดับธาตุขันธ์ เมื่ออายุ 69 ปี เหลือไว้แต่คุณงามความดีที่ยังคงประทับอยู่ในหัวใจของลูกศิษย์อยู่เสมอ

ทุนทางกายภาพ

ท่าน้ำแม่ตะวอ 

"ฤดูฝน น้ำหลาก ต้องขับหลบหลีกกิ่งไม้ที่ไหลลงมาพร้อมกับน้ำเชี่ยวกรากไปพร้อม ๆ กับหลบหลุมแก่ง ที่จะคอยดูดเรือ ฤดูร้อน ต้องหลบขดหินที่อยู่ใต้น้ำ เพราะอาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ท้องเรือรั่ว ชีวิตไม่เคยง่าย" ใจความสำคัญของการนั่งคุยกับคนขับเรือแม่ตะวอคนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตทำมาหากินกับแม่น้ำเมยสายนี้กว่า 20 ปี แม่น้ำเมยมีต้นกำเนิดจากอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ระยะทางรวมกว่า 370 กิโลเมตร ไหลผ่าน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพบพระ แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง และสบเมย ซึ่งไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวินที่บ้านแม่สามแลบ ตลอดเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน จะเกิดอาชีพตามวิถีชุมชนริมน้ำ และที่นี่บ้านสวนอ้อย หรือที่รู้จักในชื่อ "แม่ตะวอ" เป็นท่าเรือสำคัญและมีจำนวนมากขึ้น 100 กว่าลำในช่วงฤดูร้อน มีทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรือยนต์ อาชีพของคนขับเรือที่นี่โดยทั่วไปเป็นการรับจ้างแบบประจำเส้นทาง และนอกเส้นทาง หมายความว่าจะมีเรือที่เข้าคิวเพื่อรับส่งผู้โดยสารข้ามไปมาระหว่างประเทศ และการรับจ้างขนหน่อไม้ หรือขนส่งผู้โดยสารไปยังแม่ลอ หรือไปทางทิศเหนือ ท่าเรือที่นี่เกิดขึ้นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองที่มีกองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเพื่อส่งเสบียงไปยังพม่า เส้นทางนี้จึงเกิดขึ้นในช่วงนั้น โดยเริ่มแรกเป็นเพียงแพรไม้ไผ่ และเป็นเรือขูด และพัฒนาเป็นเรือยนต์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีเรือมากขึ้นในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา เพราะเส้นทางนี้สามารถทะลุไปรัฐกะเหรี่ยง "เหมี่ยวจีหงู่" ซึ่งเป็นเส้นทางผ่อนปรน ไม่มีการตรวจบัตรแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีการข้ามโดยขออนุญาตในพื้นที่

  • ภาษาพูด ของคนในชุมชนบ้านท่าสองยาง (แม่ตะวอ) มีทั้งหมด 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยและภาษาคำเมือง
  • ภาษาเขียน ภาษาเขียนของคนในชุมชนบ้านท่าสองยาง (แม่ตะวอ) มีทั้งหมด 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาปกาเกอะญอ และภาษาไทย

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านท่าสองยาง

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นสถานบริการทางสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งให้บริการด้านการรักษาพยาบาล งานควบคุมป้องกันโรค งานส่งเสริมสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในเขตรับผิดชอบ ตั้งแต่เกิดจนตาย เดิมเรียกว่าสุขศาลา มาเปลี่ยนเป็นสถานีอนามัย และปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นศูนย์สุขภาพชุมชน ตำบล 

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านท่าสองยางรับผิดชอบ งานบริการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น ตรวจรักษาพยาบาลขั้นต้น การฝากครรภ์ การให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ฉีดวัคซีนเด็ก การดูแลโภชนาการเด็ก งานอนามัยโรงเรียน ตรวจสุขภาพเบื้องต้นสำหรับนักเรียน คัดกรองภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต คัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ การดูแลผู้พิการ การดูแลวัยทำงาน การดูแลผู้สูงอายุ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น งานฟื้นฟูสมรรถภาพ และอีกมากมายภาระหน้าที่ เป็นสถานที่ดูแลประชาชนด้านสุขภาพที่ดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เกิด จนตาย

ความท้าทายของชุมชนบ้านท่าสองยาง

ด้านขยะ เมื่อชุมชนแออัดขยะก็มากขึ้นด้านสาธารณสุข หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงอยู่บน เขา ทำให้การเดินทางไม่สะดวกในการมารักษา การแก้ไขปัญหา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยางได้จัดทำ โครงการเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เช่น โครงการจัดหาถังขยะ รองรับขยะให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ โครงการปลูกต้นไม้ในวันสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ของตนเอง และการให้ความรู้ด้าน สาธารณสุข เป็นต้น


คุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ของตำบลท่าสองยางส่วนมากเป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ราบสำหรับเพาะปลูก ที่อยู่อาศัย ร้านค้า สถานประกอบการ ตามลำดับ และมีพื้นที่เพียงเล็กน้อยที่เป็นพื้นที่เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ได้แก่ ดิน น้ำ ต้นไม้ อากาศที่ไม่มีมลพิษ มีน้ำเพียงพอในการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำฝนตก

น้ำตกทีมอโบ

ตั้งอยู่ริมถนนสายธรรมชาติ ทางหลวงแผ่นดิน 105 เส้นทางที่อยู่ระหว่าง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มุ่งสู่อำเภอสบเมย-อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขตบ้านแม่ตะวอ-แม่จวาง ท่าสองยาง ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาก มีความสวยงามและโดดเด่น เสน่ห์แห่งความงดงาม เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นที่นิยมและจุดถ่ายภาพเพื่อลงในโซเซียลของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการการขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกระเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก. (2566). บ้านท่าสองยาง. ตาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี. (2558). ความเข้าใจในคุณค่าของถิ่นฐานกำเนิด กรณีศึกษาบ้านท่าสองยางและบ้านสวนอ้อย (แม่ตะวอ) ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก. ปริญญานิพนธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ