Advance search

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับเอกลักษณ์ของพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งอาหาร การแต่งกาย และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเสน่ห์วิถีชีวิตของผู้คนที่น่าสัมผัส

หมู่ที่ 13
ทุ่งบานเย็น
หย่วน
เชียงคำ
พะเยา
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
16 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
16 ม.ค. 2024
บ้านทุ่งบานเย็น


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับเอกลักษณ์ของพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งอาหาร การแต่งกาย และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเสน่ห์วิถีชีวิตของผู้คนที่น่าสัมผัส

ทุ่งบานเย็น
หมู่ที่ 13
หย่วน
เชียงคำ
พะเยา
56110
19.52836801506194
100.30309271296814
เทศบาลตำบลเชียงคำ

ชุมชนทุ่งบานเย็น หมู่ที่ 13 ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา พื้นที่ชุมชนแต่เดิมนั้นเป็นที่รกร้างว่างเปล่า นายจตุรงค์  บุญนัก รองนายกเทศบาลตำบลเชียงคำ เล่าถึงความเป็นไปของชุมชนบ้านทุ่งบานเย็นว่าแต่ก่อนนั้นตามสมัยโบราณท้องทุ่งอันกว้างใหญ่บริเวณนี้ หากจะทำการเกษตรใด ๆ นั้นคงยากด้วยเพราะว่าเมื่อขุดลึกลงไปในดิน มักจะพบแต่ตอไม้และรากไม้ หลายคำบอกเล่าของคนสมัยก่อนเรียกว่า "ทุ่ง" ปัจจุบันมักไม่คุ้นหู พอกาลเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่จึงติดหูหรือคุ้นหูแต่ทุ่งบานเย็น เนื่องจากมีการแยกหมู่บ้านออกมาจากหมู่ที่ 8 (บ้านใหม่บุญนาค) เมื่อปี พ.ศ. 2520 และชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า "บ้านทุ่งบานเย็น" เท่ากับว่าบ้านทุ่งบานเย็นนั้นมีมาเป็นเวลา 42 ปีหากแต่พื้นที่นี้นั้นมีประวัติความเป็นมายาวนานนับตั้งแต่ทศวรรษ 2450 เนื่องจากอยู่บนเส้นทางการค้าของกลุ่มพ่อค้าทางไกลที่เดินทางค้าขายเชื่อมโยงระหว่างพม่า ล้านนา ลาว

เดิมชุมชนบ้านทุ่งบานเย็นเป็นที่รกร้าง มีพ่อหม่องโพธิชิด เข้ามาอยู่เป็นรุ่นแรกๆ โดยการเข้ามาแผ่วถางเมื่อปี พ.ศ. 2450 จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้กล่าวไว้ว่าบริเวณต้นโพธิ์ในวัดนันตาราม ณ ปัจจุบัน ในคืนวันเดือนเพ็ญมักจะมีลำแสงพุ่งออกมาจากบริเวณต้นโพธิ์นั้น ก็ได้มีการตั้งบริเวณจุดนั้นเป็นที่พักจำพรรษาของพระสงฆ์ที่วัดจองคา เพราะมุงด้วยหญ้าคา คือ (วัดนันตาราม) 

จากคำบอกเล่าของครูจันทร์สาย มั่งมูล  ซึ่งเป็นลูกหลานของพ่อเฒ่าอุบล บุญเจริญ และพ่อหม่องโพธิชิด ได้เข้ามาอยู่บริเวณของบ้านทุ่งบานเย็น เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 ซึ่งพ่อเฒ่าอุบล ได้มาทำการค้าขายในย่านนี้ ซึ่งอยู่ระแวกเดียวกันกับวัดนันตาราม จึงได้ร่วมกันสร้างกุฎิที่พักสงฆ์ ดังที่กล่าวมา โดยพ่อหม่องโพธิ์ชิดได้ไปนิมนต์ “อู วัณณะ” จากจังหวัดลำปางมาจำพรรษาวัดจองคา (วัดนันตาราม) เวลาต่อมาพ่อหม่องโพธิชิด ก็ได้พบกับแม่มะเฉิ่งขิน บุญปั๋น ที่เชียงคำ และได้ย้ายไปประกอบอาชีพที่จังหวัดเชียงราย ในหวงเวลาต่อมาบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ของอังกฤษได้มาทำสัมปทานไม้ในเขตลำปาง พะเยา เชียงราย พ่อเฒ่านันตาอู๋คหบดีชาวพม่ามีเชื้อสายปะโอ (ตองซู) ได้เข้ามาเชียงคำมีศรัทธาที่จะบูรณะวัดจองคาให้เป็นวัดที่ทำศาสนกิจทางศาสนาอย่างถาวร ได้ชักชวนกลุ่มพ่อค้า และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปร่วมบูรณะปฎิสังขรณ์ ในครั้งนี้โดยมีแม่เฒ่าจ๋ำเฮิง บริจาคที่ดิน 5 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา รวมที่เก่าของวัดที่มีอยู่เดิมเป็น 8 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา เมื่อพ.ศ.2468 ได้ออกแบบวิหารและช่างพร้อมคณะมาจากลำปาง (พ่อสล่าตั้น จิตตระกูล) เป็นพ่อของยายตุ๋นแก้ว จินดารัศมี เป็นหัวหน้าช่างทำการสร้างวิหารวัดนันตารามหลังปัจจุบัน ใช้เวลาในการก่อสร้าง 10 ปี จากนั้นพ่อเฒ่านันตาอู๋ได้ไปอันเชิญพระประธานซึ่งทำด้วยไม้สักทองทั้งต้น จากวัดจองเมธา (วัดชาวปะโอ) วัดดอนแก้ว ตำบลออย อำเภอปง จังหวัดพะเยา และได้เป็นพระประธานในวิหารวัดนันตาราม โดยกำหนดแจกทานและเฉลิมฉลองในวันที่ 1-15 มีนาคม พ.ศ. 2477 จากคำบอกเล่าของครูจันทร์ฉาย มั่งมูล และนางสาวประทิน กุลศรี ได้มีโรคระบาดเกิดขึ้นราว พ.ศ. 2480-พ.ศ. 2489 

เมื่อพ .ศ. 2487 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยยายตุ่นแก้ว เล่าว่ามีทหารมาขออาศัยอยู่บริเวณวัดนันตารามด้วย ในขณะนั้นชุมชนก็มีการเพิ่มขยายจำนวนประชากรมากขึ้นตามลำดับ ปี พ.ศ. 2500 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาในเขตสุขาภิบาลหรือเทศบาลตำบลเชียงคำ ต่อมาปี พ.ศ. 2511 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าไหม้ครั้งใหญ่ในพื้นเขตสุขาภิบาลเชียงคำ โดยได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ปี พ.ศ. 2522 หมู่บ้านได้ก่อตั้ง อสม.ในเวลาต่อมาหมู่บ้านก็ได้แยกจากบ้านใหม่ หมู่ 8 มาเป็นหมู่ 13 คือบ้านทุ่งบานเย็นเปลี่ยนจากทุ่งแสนตอ จากคำบอกเล่าของนายชาญ กองจันทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านและประธานผู้สูงอายุ 

ปี พ.ศ.2537 ได้เกิดอุทกภัย วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2537 เวลา 07.00 น. ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้อาจาร์ยบุญเลื่อน วงศ์อนันต์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านหย่วน อายุ 49 ปี ได้ถูกกระแสน้ำพลัดจมไปกับกระแสน้ำแม่ลาวข้างโรงเรียน ต่อมาปี พ.ศ. 2538 เกิดน้ำท่วมอีกครั้งแต่ไม่หนักเหมือนกับปี พ.ศ. 2537 ในปี พ.ศ. 2550 วันที่ 14 มิถุนายน 2550 ได้ก่อตั้งกองทุนหมู่บ้านทุ่งบานเย็นขึ้นและได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติแห่งชาติกองทุนหมู่บ้านชุมชนเมืองแห่งชาติ 2547 โดยนายทวี สุวรรณกุล เป็นประธานกองทุน 

บ้านทุ่งบ้านเย็น ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ตำบลหย่วนอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำลาว ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเชียงคำ พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีแม่น้ำลาวไหลผ่านกลางพื้นที่จากทิศใต้ไปยังทิศเหนือในลักษณะคดเคี้ยวไปมา สภาพภูมิอากาศจัดอยู่ในเขตร้อนแบบสะวันนา อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายน และต่ำสุดอยู่ในเดือนมกราคม 

  • ฤดูร้อน อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ร้อนสุดอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
  • ฤดูฝน อยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ 
  • ฤดูหนาว อยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ หนาวเย็นและแห้งแล้งมาก เนื่องจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

บ้านทุ่งบ้านเย็น ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีประชากรทั้งหมดจำนวน 386 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 178 คน หญิง 242 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 420 คน

ไทลื้อ, ไทใหญ่

บ้านทุ่งบ้านเย็น หมู่ที่ 13 ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลเชียงคำ เป็นชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ประชากรมีกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย ได้แก่ รับจ้างทั่วไป ค้าขาย พนักงานทั่วไป รับราชการ ธุรกิจส่วนตัว เกษตรกร และอื่น ๆ โดยมีรายได้เฉลี่ย/คน/ปี ของประชากรในชุมชน ประมาณ 122,214 บาท

ประเพณีและวัฒนธรรมในเขตเทศบาลตำบลเชียงคำ

มกราคมประเพณีตานข้าวใหม่
กุมภาพันธ์วันสารทจีน/วันมาฆบูชา
มีนาคมประเพณีสมโภชพระเจ้าหิน/ตั้งธรรมมหาชาติ
เมษายนประเพณีสงกรานต์
พฤษภาคมวันวิสาขบูชา/ประเพณีสรงน้ำองค์พระธาตุสบแวน
กรกฎาคมวันเข้าพรรษา
ตุลาคมประเพณีตานข้าวสลากภัตร/วันออกพรรษา/เทศกาลกินเจ                                                                                                                
ตุลาคม-พฤศจิกายนประเพณีต่างซอมต่อโหลง
พฤศจิกายนประเพณีลอยกระทง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดนันตาราม ศิลปะไทใหญ่

  • วิหารไม้สักทอง
  • พระพุทธรูปไม้สักทอง
  • พระเจ้าแสนแซ่
  • พระพุทธรูปเกสรดอกไม้
  • พิพิธภัณฑ์วัดนันตาราม

วัฒนธรรมชุมชน

  • การแต่งกายชาติพันธุ์
  • การตีกลองปู่เจ่ประกอบฟ้อนกิงกะหร่า
  • เต้นโต
  • ฟ้อนเจิงฟ้อนดาบ
  • ฟ้อนขันดอกไม้ก๋ายลาย

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

  • การทำดอกไม้ดินไทย
  • การทำโคมพื้นเมือง
  • การทำกาละแม
  • การทำตุ๊กตาชาติพันธุ์

อาหารพื้นบ้าน

  • แกงฮังเล
  • น้ำพริกคั่วปะโอ
  • ไข่ปาม

บ้านทุ่งบ้านเย็น ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีภาษาไทยถิ่นเหนือ (กำเมือง) เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดนันตาราม

ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้กล่าวไว้ว่า แต่เดิมละแวกนี้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ราวปี พ.ศ.2450 พ่อหม่องโพธิชิตอริยภา ซึ่งเป็นช่างซ่อมจักรเย็บผ้า (เป็นชาวปะโอ มาจากเมืองสะเทิม พม่า) ซึ่งเดินทางค้าขายในเส้นทางการค้า “คาราวานวัวต่างม้าต่าง” เส้นทาง “แม่สะเรียง เชียงใหม่ ลำปาง อ่านคาราวานทางไกล” เข้ามาแผ้วถางพื้นที่ละแวกนี้เพื่อใช้เป็นจุดพักระหว่างการเดินทาง  ซึ่งบริเวณนี้มีต้นโพธิ์ใหญ่ (ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณวัดนันตาราม) ผู้เดินทางยุคนั้นต่างเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการบุกเบิกแผ่วถางเป็นที่พักพระสงฆ์ที่เดินทางร่วมกับคาราวานพ่อค้า หรือพระสงฆ์ที่เดินทางธุดงค์ในเส้นทางสายนี้  โดยมีพ่อเฒ่าอุบล บุญเจริญ พื้นเพเป็นชาวเชียงตุง อาชีพเป็นสล่า มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ดูแบบก่อสร้างบ้านและอาคารต่างๆ  เป็นช่างฝีมือ เดินทางมาร่วมกับขบวนพ่อค้า ได้ร่วมกับพ่อหม่องโพธิชิต อริยภา สร้างกุฎิที่พักสงฆ์ดังที่กล่าวมาการสร้างที่พักสงฆ์ในครานั้นเป็นแบบสร้างด้วยไม้มุงด้วยใบคา จึงเรียกว่า “จองคา” โดยคำว่า “จอง=เจาง์” มาจากภาษาพม่า หมายถึงวัด หรืออาคาร คำว่า “คา” มาจาก การใช้ใบคา คือหญ้าคามาใช้มุงหลังคานั่นเอง  วัดจองคา จึงเป็นชื่อเรียกขานที่พักสงฆ์แห่นี้นับแต่นั้นมา

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2451 พ่อหม่องโพธิชิตอริยภา ได้ไปนิมนต์  “อู วัณณะ” พระภิกษุชาวปะโอ ซึ่งขณะนั้น เดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างพม่าล้านนา และลำปาง มาจำพรรษาวัดจองคา โดย “อู วัณณะ”นั้น พื้นเพเป็นพระชาวปะโอจากเมืองตองจี รัฐฉานใต้ ประเทศพม่า วัดจองคาได้ถูกตั้งเป็นที่พักสงฆ์ที่ขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์พม่า(ในจังหวัดลำปางขณะนั้น) อย่างไรก็ตาม คนท้องถิ่นลานนาหรือละแวกใกล้เคียงเรียกว่าวัดม่าน ซึ่งมาจากคำว่า”มะล่าน” ในภาษาล้านนาที่หมายถึงพม่า หรือเรียกว่าวัดจองเหนือ  เพราะอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำลาว หากแต่เวลาต่อมาพ่อหม่องโพธิชิตอริยภา ได้พบกับแม่มะเฉิ่งขิ่น หรือแม่บุญปั๋นที่เชียงคำเมื่อแต่งงานแล้วจึงย้ายไปประกอบอาชีพที่จังหวัดเชียงราย การบูรณะบำรุงวัดจองคาจึงห่างหายไประยะหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 พ่อเฒ่าตะก๋าจองนันตา คหบดีชาวพม่าเชื้อสายปะโอซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขาย ในเส้นทางนี้  รวมถึงเข้ามารับจ้างขนส่งไม้ให้กับบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ของอังกฤษได้มาทำสัมปทานไม้ในเขตลำปาง พะเยา เชียงราย ท่านมีศรัทธาที่จะบูรณะวัดจองคาให้เป็นวัดที่ทำศาสนกิจทางศาสนาอย่างถาวร ได้ชักชวนกลุ่มพ่อค้าอำเภอเชียงคำ และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์และร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างวิหารหลังใหม่ในครั้งนี้โดยมีแม่เฒ่าจ๋ามเฮิง ประเสริฐกุล บริจาคที่ดิน 5 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา รวมที่ดินเก่าของวัดที่มีอยู่เดิมสามไร่เศษ  เป็นพื้นที่ทั้งหมดเป็น 8 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวาโดยได้นำแบบแปลนการสร้างวิหารมาจากจังหวัดลำปางพร้อมช่าง โดยมีพ่อสล่าตั้น จิตตระกูล (ชาวพม่า)  ซึ่งเป็นพ่อของยายตุ๋นแก้ว จินดารัศมี ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าช่างชุดแรกในการสร้างวิหารวัดนันตารามหลังปัจจุบัน โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 10 ปี จากนั้นพ่อเฒ่าตะก๋าจองนันตาได้ไปอันเชิญพระประธานซึ่งทำด้วยไม้สักทองทั้งต้น จากวัดจองเหม่ถ่า บ้านดอนแก้ว ตำบลออย อำเภอปง จังหวัดพะเยา (ซึ่งพ่อเฒ่าจองเหม่ถ่าเป็นสหายค้าไม้ในเขตอำเภอปงได้สั่งเสียไว้ว่าหากได้เสียชีวิตลงให้นำพระประธานมาไว้วัดนันตาราม) โดยมีขบวนฆ้องกลองแห่นำตลอดเส้นทาง

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. บ้านทุ่งบานเย็น ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/

เทศบาลตำบลเชียงคำ. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). เทศบาลตำบลเชียงคำ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา.

พะเยาทีวี. (2565). เที่ยววัฒนธรรมล้ำค่า บ้านทุ่งบานเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ; จาก https://www.facebook.com/phayaotv