Advance search

มูหล่า

ชุมชนชาติพันธุ์ลีซูที่อาศัยอยู่ในพื้นบนดอยที่อยู่ใกล้พื้นที่ตัวเมืองเชียงราย มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและเหมาะสมกับการท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้เรียนรู้ถึงประเพณีและวัฒนธรรมชาติชาติพันธุ์ได้ภายในชุมชน

ดอยล้าน
วาวี
แม่สรวย
เชียงราย
สุกฤต สิมณี
16 ม.ค. 2024
สุกฤต สิมณี
16 ม.ค. 2024
ดอยล้าน
มูหล่า

"ดอยล้าน” คือชื่อของหมู่บ้านในภาษาไทยพราะหมู่บ้านนี้มีพื้นที่ภูเขาหัวโล้นอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน เป็นภูเขาที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ มีเพียงภูเขาโล้น ๆ เท่านั้น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ดอยล้าน”

ส่วนชื่อภาษาลีซู อ่านว่า "มูหล่า" ความหมายของหมู่บ้านน่าจะเป็น “หมู่บ้านเห็นเสือ เพราะ “มู” ในภาษาลีซูแปลว่า เห็น “หล่า” น่าจะย่อมาจากคำว่า “หล่ามา” ซึ่งแปลว่า เสือ


ชุมชนชาติพันธุ์ลีซูที่อาศัยอยู่ในพื้นบนดอยที่อยู่ใกล้พื้นที่ตัวเมืองเชียงราย มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและเหมาะสมกับการท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้เรียนรู้ถึงประเพณีและวัฒนธรรมชาติชาติพันธุ์ได้ภายในชุมชน

ดอยล้าน
วาวี
แม่สรวย
เชียงราย
57180
19.765372242560233
99.55732885365
องค์การบริหารส่วนตำบลวาวี

บ้านดอยล้าน ก่อน พ.ศ. 2464 เป็นที่อยู่อาศัยโดยกลุ่มชาวม้ง ชาวบ้านหลายท่านยังได้ให้ความเห็นว่าชาติพันธุ์ลัวะน่าจะเคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นชาติพันธุ์ม้งคือหลุมฝังศพในหมู่บ้านและบริเวณพื้นที่ทำกินซึ่งก่อหลุมฝังศพด้วยหิน ปัจจุบัน หลุมฝังศพหลายจุดถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านลีซู อีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าเป็นหลุมฝังศพของชาวม้งคือ ลูกหลานของชาวม้งที่ติดตามประวัติศาสตร์บรรพบุรุษของตนเองจนในที่สุดก็ได้พบหมู่บ้านนี้ และหลังจากที่ทราบว่าเป็นบรรพบุรุษของตนเองจึงได้เดินทางที่มาหมู่บ้านและประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษเมื่อปี พ.ศ. 2541

ราว พ.ศ. 2493 ชาวลีซูประมาณ 10-11 ครอบครัว จากตระกูลแซ่ย่าง ตามี่ และแซ่มี่ ได้อพยพออกจากหมู่บ้านดอยช้าง ห้วยส้านและบ้านใหม่พัฒนามาตั้งรกรากใหม่ที่บ้านดอยล้าน โดยในช่วงแรกของการตั้งรกรากได้สร้างความหวาดกลัวให้กับ 10 ครอบครัวดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น เสียงกล่อมลูกในยามค่ำคืน ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าน่าจะเป็นวิญญาณของหญิงชาวม้งที่เสียชีวิตจากการคลอดลูก เสียงคนเล่นกิ่งไม้ ก่อกวนผู้คนที่เดินผ่านใกล้หลุมฝังศพ โดยชาวลีซูมีความเชื่อว่าน่าจะเป็นวิญญาณของเด็กชายม้งที่ซุกซนและต้องการเพื่อนเล่น หรือพบเห็นสิ่งประหลาด เช่น เพลิงที่โผล่ขึ้นมาสักพักแล้วหายไป และเป็นเพลิงที่แสงไม่กระจายเหมือนกับเพลิงของมนุษย์ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าน่าจะเป็นวิญญาณของชายม้งที่ต้องการออกไปทำงานไร่ คนลีซูจึงมีคำพูดเกี่ยวกับการทำงานในแต่ละช่วงเวลาว่า “ชูหมุ่มุลุ หนี่หมุ่หมือเขือ” ซึ่งแปลว่า งานคนกลางวัน งานผีกลางคืน หากออกไปทำงานไร่ในยามค่ำคืนก็ราวกับทำงานเป็นเพื่อนผี ในบางกรณี อาจถึงขั้นเสียชีวิตหลังจากที่กลับมาบ้าน ทั้งนี้ คบเพลิงของผีชายม้งทำให้หมอผีลีซูเห็นตัวตนของพวกเขา และหมอผีกังวลว่าผีเหล่านี้จะก่อกวนความสงบสุขของชุมชน จึงได้ทำการขู่ผีและไล่ผีทั้งหมดด้วยวิธีการยิงปืนขึ้นฟ้าและยิงวิญญาณเหล่านี้ออกจากหมู่บ้านไปจนหมด

ส่วนสาเหตุของการอพยพออกจาก 3 หมู่บ้านที่กล่าวมาข้างต้น ชาวบ้านให้ความเห็นว่าหมู่บ้านเดิมห่างไกลจากตัวเมือง บางท่านก็กล่าวว่าอยู่พื้นที่เดิมนานแล้ว ต้องการย้ายพื้นที่เพาะปลูกใหม่ หรือบางท่านมีความกังวลกับสถานการณ์ในหมู่บ้าน สาเหตุอื่น ๆ นอกจากนี้ เช่น บ้านเรือนโดนไฟไหม้ ที่ดินมีราคาถูก และทุกคนมีความเชื่อว่าการย้ายถิ่นฐานเป็นเรื่องปกติและสามารถย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ฯลฯ

สำหรับการเดินทางจากหมู่บ้านเดิมมาถึงดอยล้านนั้น ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ระหว่างเดินทางจะสร้างกระท่อมเล็ก ๆ เพื่อเป็นที่หยุดพักและเป็นที่พักผ่อนเพื่อเก็บแรงไว้เดินทางสำหรับวันรุ่งขึ้น 

ทำไมต้องดอยล้าน? ผู้อพยพเข้ามากลุ่มแรกกล่าวว่า ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในหมู่บ้าน ได้มีกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้คนที่ชอบล่าสัตว์ตามเขาต่าง ๆ เล่าให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ ทั้งต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ สัตว์ป่าหลากชนิด เช่น เสือ หมูป่า และไก่ป่า อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับเมืองด้วย ด้วยแรงจูงใจเหล่านี้ พวกเขาจึงเริ่มปรึกษาหารือกับแต่ละครอบครัวและแต่ละตระกูลก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางออกจากหมู่บ้านเดิมไปพร้อมกันในเวลาต่อมา

ในส่วนของชื่อหมู่บ้าน ภาษาลีซูเรียกว่า “มูหล่า” แปลในภาษาลีซู “มู” แปลว่า เห็น และ “หล่า” มาจากคาว่า “หล่ามา” ซึ่งหมายถึง เสือ คุณ Otome Klein Hutheesing นักมานุษยวิทยาชาวดัตซ์ ผู้ซึ่งศึกษาหมู่บ้านดอยล้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เรียกหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้าน “เห็นเสือ” ขณะที่ชื่อหมู่บ้านภาษาไทยคือ ดอยล้าน ความหมายของดอยล้าน จากการได้พูดคุยกับชาวบ้านและครูใหญ่ได้ความว่า เป็นเพราะหมู่บ้านนี้มีภูเขาหัวโล้นอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน เป็นภูเขาที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย เห็นโล้น ๆ อยู่บนภูเขาเช่นนั้น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ดอยล้าน

วิถีชีวิตของผู้ที่อพยพเข้ามากลุ่มแรกคือ การปลูกฝิ่น ผู้อาวุโสที่ให้ข้อมูลกล่าวว่า พวกเขาปลูกฝิ่นอย่างเดียว มีการปลูกข้าว ปลูกถั่วปากอ้า และผักแต่ละชนิดเพื่อการยังชีพ และปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงไก่และหมู รวมถึงการต้มเหล้าข้าวโพด ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2494-2498 ได้มีชาวจีนฮ่ออพยพเข้ามาในหมู่บ้าน และการอพยพเข้ามาของชาวจีนฮ่อ ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ในเวลาต่อมา มีผู้หญิงลีซูหลายคนที่ได้พบรักกับชาวจีนฮ่อ ชาวจีนฮ่อเหล่านี้ยังมีความสามารถในการค้าขาย รวมถึงการค้าฝิ่น พวกเขารับซื้อฝิ่นจากชาวลีซูและจำหน่ายให้กับชาวไทยจากจังหวัดต่าง ๆ โดยการจำหน่ายกับชาวไทยนั้นสามารถทำได้ทั้งในหมู่บ้าน และนอกหมู่บ้าน กล่าวคือ ชาวไทยเข้าไปรับซื้อฝิ่นในหมู่บ้านได้โดยตรง หรือชาวจีนฮ่อออกจากหมู่บ้านไปจำหน่ายให้กับชาวไทยตามพื้นที่ต่าง ๆ

สาเหตุที่ชาวลีซูไม่ได้ขายให้คนไทยโดยตรง เป็นเพราะว่าลีซูไม่กล้าคุยกับชาวไทย ทั้งยังไม่สามารถพูดภาษาไทยได้คล่อง จึงทำให้พวกเขาหันไปค้าขายกับชาติพันธุ์อาข่า ซึ่งชาวลีซูสามารถสื่อสารภาษาอาข่าได้ และด้วยความชำนาญในการค้าขาย ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวจีนฮ่อดีกว่าชาวลีซู การเข้ามาของโทรทัศน์เครื่องแรกในหมู่บ้านก็ริเริ่มจากบ้านชาวจีนฮ่อ ซึ่งชาวบ้านมีค่าจ่ายในการเข้าชมครั้งละ 5 บาท นอกจากการค้าขายฝิ่นแล้ว ชาวจีนฮ่อยังได้เปิดร้านขายของชำเป็นร้านแรกในหมู่บ้านด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน ร้านขายของชำในหมู่บ้าน มีทั้งหมด 5 ร้าน โดยแต่ละร้านมีเชื้อสายจีนฮ่อทั้งสิ้น (ยกเว้นร้านขายของชำชาวอาข่า)

พ.ศ. 2499 ทางการประกาศให้ยกเลิกปลูกฝิ่น แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกับชาวบ้านดอยล้านโดยทันที ชาวบ้านยังคงปลูกจนถึงปี พ.ศ. 2527 ในช่วงปี พ.ศ. 2502 -2503 มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของโรงเรียนตารวจตระเวนชายแดนบ้านดอยล้าน การอพยพเข้ามาของลีซูจากหมู่บ้านผาแดงหลวง การเข้าอพยพเข้ามาของกลุ่มอู่โล้อาข่า เป็นต้น

การเข้ามาของโรงเรียนทำให้ชาวบ้านหลายคนได้รับการศึกษา มีหลายคนที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่ 4 และมีหลายคนที่ศึกษาสูงกว่านั้นและสามารถฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี บทบาทเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนนอกจากการเป็นครูสอนหนังสือ ยังทำหน้าที่ปราบปรามฝิ่นในหมู่บ้านอีกด้วย การเข้ามาของอู่โล้อาข่าทำให้เกิดการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ตามมาอีกเช่นกัน แต่เป็นการแต่งงานกับชาติพันธุ์ชาวจีนฮ่อมากกว่าชาติพันธุ์ลีซู

ราว พ.ศ. 2524 ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 50 หลังคาเรือน ระหว่างนั้นนักมานุษยวิทยาชาวดัตซ์ คุณโอโตเม่ ไกล์น ฮัทธิซิงค์ (Otome Klein Hutheesing)เข้าไปศึกษาในหมู่บ้าน โดยคุณโอโตเม่ ต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านเพศสภาวะของชาติพันธุ์ลีซูหลังจากที่ฝิ่นถูกประกาศให้เป็นพืชเสพติด คุณโอโตเม่ ใช้เวลากับการศึกษาหมู่บ้านเป็นเวลา 6 ปี ก่อนที่งานวิจัยของเขาจะถูกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2533 การศึกษาหมู่บ้านในระยะแรก คุณโอโตเม่ ได้รับความช่วยเหลือจากชาวลีซูที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทย และหลังจากที่ได้อยู่กับชุมชนเป็นเวลานานพอสมควร คุณโอโตเม่ จึงได้เก็บข้อมูลด้วยการสนทนาเป็นภาษาลีซูมากขึ้น การเก็บข้อมูลและการสัมภาษณ์ต่าง ๆ คุณโอโตเม่ ใช้วิธีการบันทึกสนามและการบันทึกเทป โดยเฉพาะบทเพลงต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถบันทึกเป็นภาษาเขียนได้

นอกจากการเป็นนักมานุษยวิทยาแล้ว คุณโอโตเม่ ยังเป็นบุคคลแรกที่นาเวชภัณฑ์และเสื้อผ้ามือสองเข้าไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านดอยล้านอีกด้วย โดยการแจกจ่ายเวชภัณฑ์และเสื้อผ้ามือสองนี้ คุณแนนซี่ (Nancy Wigston) ซึ่งเป็นนักเขียนอิสระชาวแคนาดา เพื่อนสนิทของคุณโอโตเม่ ได้ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม การแจกจ่ายเวชภัณฑ์ได้หยุดลงเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากคุณโอโตเม่ อายุมากขึ้นและไม่สามารถกลับขึ้นดอยได้บ่อยครั้งเช่นแต่ก่อน อีกทั้งการคมนาคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการพยาบาลในปัจจุบันมีความสะดวกมากขึ้น ชาวบ้านมีช่องทางในการรักษาโรคภัยต่าง ๆ มากขึ้น ความจำเป็นในการแจกจ่ายเวชภัณฑ์ในหมู่บ้านจึงน้อยลง อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่คุณโอโตเม่ ศึกษาและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านก็ได้ประสบกับความท้าทายหลายอย่าง เช่น การเข้ามาทำลายไร่ฝิ่นของทหารในปี พ.ศ. 2527 มีชาวบ้านหลายคนที่ต้องหลบหนีเข้าไปในไร่ เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม และการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร หรือการพบกับการเพาะปลูกแบบใหม่ที่นำมาซึ่งความหายนะกับป่าและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน ซึ่งก็คือการเพาะปลูกพืชเงินสดทดแทนฝิ่น เช่น มะเขือเทศ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี และกาแฟ ฯลฯ

ราว พ.ศ. 2526 หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ร่วมกับโครงการไทย-เยอรมัน และไทย-เนเธอร์แลนด์ ได้แจกจ่ายต้นกล้ากาแฟ ให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณดอยช้าง-ดอยล้าน ช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านดอยล้านเน้นการเพาะปลูกมะเขือเทศ ผักกาดขาว และกะหล่ำปลี ด้วยเหตุผลความต้องการใช้จ่ายเงินสดอย่างเร่งด่วน จากงานวิจัยของ Jeff และคณะ พบว่าชาวบ้านดอยล้านสับสนกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เข้ามาในชุมชน ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงต้องหยุดปลูกฝิ่น เพราะการหยุดปลูกฝิ่นหมายถึงการขาดรายได้ ชาวบ้านเริ่มกังวลว่าการเพาะปลูกกาแฟจะทำให้พวกเขาไม่มีเงินสดใช้จ่ายทันเวลา เนื่องจากการเพาะปลูกกาแฟจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิตและสามารถเก็บเกี่ยวได้ ชาวบ้านจึงพยายามหาทางปลูกพืชอย่างอื่นเพื่อทดแทนกาแฟที่รอการเติบโต โดยพืชที่ชาวบ้านเลือกปลูกประกอบไปด้วย มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ถั่วแดง ฯลฯ การปลูกพืชดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา อาทิ การใช้ยากำจัดศัตรูพืช การลงทุนซื้อปุ๋ยและยาต่าง ๆ และการเกิดขึ้นของหนี้สิน นอกจากการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาบนที่สูงจากองค์กรต่าง ๆ แล้ว สถานประกาศไมตรีจิตในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสถานประกาศในเครือมิชชั่นก็ได้เริ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

พ.ศ. 2528 มีกลุ่มลีซูจากจังหวัดกำแพงเพชรอพยพเข้ามาในหมู่บ้าน และราวปี พ.ศ. 2534 กลุ่มลอมี๊อาข่าได้อพยพตามเข้ามา โดยกลุ่มผู้อพยพกลุ่มใหม่นี้ตั้งถิ่นฐานใกล้เคียงกัน ปัจจุบัน กลุ่มลอมี๊อาข่าจำนวนกว่า 13 หลังคาเรือนได้สร้างบ้านติดกับกลุ่มลีซูที่อพยพมาจากกำแพงเพชร และการตั้งถิ่นฐานที่ใกล้เคียงในลักษณะนี้ ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ตามมาอีกเช่นกัน การแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ลีซู-อาข่าเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นชายลีซูที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง หรือวัยรุ่นชายลีซูที่ประสบความล้มเหลวจากการแต่งงานกับชาติพันธุ์เดียวกัน การแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ในปัจจุบันประกอบไปด้วย ลีซู-อาข่า, ลีซู-จีน, ลีซู-ลาหู่ และ อาข่า-ลาหู่ ในอนาคต คาดว่าจะมีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ที่อพยพมาจากประเทศพม่ามากขึ้น เช่น ชาติพันธุ์ปะหล่อง และไทใหญ่ เป็นต้น

พ.ศ. 2534 นอกจากการอพยพเข้ามาของกลุ่มลอมี๊อาข่าแล้ว ช่วงเวลาเดียวกันชาวบ้านดอยล้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อบ้านเริ่มออกจากหมู่บ้านเพื่อทำงานเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้พ่อบ้านตัดสินใจจากครอบครัวและหมู่บ้านเพราะผลผลิตพืชทดแทนฝิ่นมีราคาต่ำ อีกทั้งตลาดที่รองรับพืชเงินสดเหล่านั้นก็ไม่มีความมั่นคง โครงการพัฒนาต่าง ๆ ไม่เพียงไปปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูก แต่ยังไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในหมู่บ้านให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วย การออกจากหมู่บ้านเพื่อไปขายแรงงานต่างประเทศเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวังใหม่ให้กับชาวบ้าน และปรากฏการณ์ดังกล่าวยังคงพบได้จนถึงปัจจุบัน แต่เป็นกลุ่มเยาวชนมากกว่ากลุ่มพ่อบ้าน

พ.ศ. 2545 อาศรมบ้านดอยล้านได้ก่อสร้างขึ้น โดยอาศรมนี้เป็นโครงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ สถานที่ตั้งของอาศรมนั้น อยู่บริเวณทิศตะวันตกของหมู่บ้านดอยล้าน มีทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถมองเห็นพื้นที่ไร่ของชาวบ้าน รวมถึงภูเขาอีกมากมายที่สามารถมองเห็นได้จากสถานที่แห่งนี้ บทบาทของอาศรมคือการส่งเสริม การให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในหมู่บ้าน โดยในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาจะเข้าร่วมปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา ณ อาศรมแห่งนี้ นอกจากนี้ เณรและพระจากอาศรมยังออกบิณฑบาตในช่วงเช้าอีกด้วย เป็นที่น่าสนใจว่าการใส่บาตรให้กับพระนั้น ไม่เพียงบุคคลที่ไม่มีตำแหน่งทางสังคม แต่ผู้ที่มีตำแหน่งทางสังคม เช่นหมอเมือง ยังร่วมใส่บาตรในตอนเช้าอีกด้วย

พ.ศ. 2546 โรงงานกาแฟที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันได้ก่อตั้งขึ้น และชาวบ้านดอยล้านได้กลับมาให้ความสำคัญกับกาแฟอย่างจริงจัง โดยการเริ่มเก็บเกี่ยวกาแฟและส่งให้กับโรงงานใกล้หมู่บ้าน ช่วงเวลานั้น ชาวบ้านดอยล้านได้รับเงินสดทันทีจากการขายกาแฟให้กับโรงงาน แต่ในเวลาต่อมากลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อประสบปัญหาชาวบ้านหลายคนจึงหันมาเปิดธุรกิจกาแฟส่วนตัวในหมู่บ้าน บางคนส่งเมล็ดกาแฟให้กับบริษัทอื่น ๆ ที่เข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน บางคนหาช่องทางตลาดเอง ทั้งออนไลน์และการออกงานต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเอง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่เข้าไปศึกษาความเป็นอยู่ของชาวบ้านดอยล้านด้วย

นักศึกษาที่เข้าไปพักกับชุมชน 2-3 วันเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและเข้าใจความเป็นอยู่ของชาวบ้านดอยล้าน เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยช่วงเวลานั้นคุณโอโตไม่ ไกล์น สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยพายัพ และในมหาวิทยาลัยดังกล่าวมีสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาอยู่ด้วย ทางสถาบันและคุณโอโตเม่ ไกล์น มีความตั้งใจที่จะนำนักศึกษาจากสถาบันดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเข้าพักอาศัยอยู่กับชาวบ้านแต่ละบ้าน และนอกจากนักศึกษาต่างชาติแล้ว บางครั้งยังมีนักศึกษาไทย และนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้าไปเที่ยวในชุมชนอีกด้วย

พ.ศ. 2546 หลังจากที่ชาวบ้านได้รับความหวังจากการขายกาแฟให้กับโรงงานใหญ่ใกล้หมู่บ้านแล้ว หลายครัวเรือนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างบ้าน ชาวบ้านหลายคนให้ความสนใจกับการสร้างรั้วบ้านกันมากขึ้น จากการสอบถามกับผู้อาวุโสพบว่า ปรากฏการณ์การสร้างรั้วบ้าน มาจากสาเหตุของการต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ชาวบ้านตีตัวออกห่างจากสังคมที่เคยไปมาหาสู่กันโดยไม่มีรั้วกั้น การสร้างรั้วกั้นยังสื่อให้เห็นว่าชาวบ้านไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน

พ.ศ. 2548 จำนวนหลังคาเพิ่มขึ้นเป็น 140 ครัวเรือน และได้มีการแบ่งศาลเจ้าหรือ “อาปาโหม่ ฮี” ออกเป็นสองหลัง โดยสาเหตุหลักที่ต้องแยกออกเป็นสองหลัง เนื่องจากหมอเมืองคนเดิมซึ่งเป็นชาวลีซูได้ขอลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว และหมอเมืองคนใหม่ซึ่งเป็นชาวจีนฮ่อเข้ารับตำแหน่งแทน ระหว่างนั้นมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอาข่าซึ่งอยู่เหนือศาลเจ้า (ตามหลักแล้ว ที่ตั้งของศาลเจ้าจะต้องอยู่เหนือชุมชน ไม่ควรมีบ้านเรือนใด ๆ อยู่เหนือศาลเจ้า) หมอเมืองคนเดิมและชาวบ้านท่านอื่น ๆ ได้ขอให้ชาวอาข่าย้ายพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน แต่มีผู้คัดค้านด้วยเหตุผลหลายประการ หมอเมืองคนเดิมจึงแยกตัวออกมา ในขณะที่ชาวบ้านท่านอื่น ๆ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวอาข่ายังคงอาศัยอยู่เหนือศาลเจ้า ก็ได้ถอนตัวออกจากการสักการะศาลเจ้าหลังเดิมเช่นกัน ในเวลาต่อมา ซึ่งไม่นานหลังจากที่มีข้อพิพาท หมอเมืองและชาวบ้านท่านอื่น ๆ ก็ได้สร้างศาลเจ้าหลังใหม่ซึ่งอยู่เหนือสุดของหมู่บ้าน แต่ก็ประจำอยู่ที่นั่นได้ไม่นาน เนื่องจากหมอเมืองอายุมากขึ้น และการเดินทางไกลเพื่อปฏิบัติทางพิธีกรรมจึงเป็นอุปสรรคอย่างมาก หมอเมืองและชาวบ้านท่านอื่น ๆ จึงได้ทำพิธีขอย้ายศาลเจ้าหมู่บ้านมาสร้างใกล้กับชุมชนราวปี พ.ศ. 2548

ราว พ.ศ. 2554 ได้มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวได้สร้างความหายนะกับชาวบ้านหลายครอบครัว บางครอบครัวต้องอพยพออกจากถิ่นที่เดิม เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก ทั้งการซ่อมแซมบ้านในพื้นที่เดิมยังสร้างความกังวลว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต บางครอบครัวได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย เช่น รอยร้าวภายในบ้าน ในขณะที่บางครอบครัวต้องเปลี่ยนแท็งก์น้ำเนื่องจากแผ่นดินไหวได้ก่อให้เกิดรอยร้าวและไม่สามารถซ่อมแซมได้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้น ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่นในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่

พ.ศ. 2558 การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาได้เริ่มขึ้น ครอบครัวของเด็ก ๆ ในหมู่บ้านเริ่มสนใจกับการส่งลูกหลานไปเรียนในเมือง เนื่องจากเห็นว่าคุณภาพการศึกษาในหมู่บ้านนั้นไม่มีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนสถานที่เรียนหมายถึงการมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บางครอบครัวต้องดิ้นรนหาช่องทางในการหาค่าเล่าเรียน เช่น การฝากลูกไว้กับพ่อแม่ในหมู่บ้าน และตนเองออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปยังต่างประเทศ บางครอบครัวใช้วิธีการขอความช่วยเหลือจากพี่น้องที่ทำงานประจำอยู่ในเมือง เป็นต้น

พ.ศ. 2560 พบว่ามีแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ปะหล่องและชาติพันธุ์ไทใหญ่ จากประเทศพม่า แรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานหนุ่ม-สาว อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนเพื่อทดแทนแรงงานหนุ่ม-สาวลีซูที่ไม่มีความสามารถในด้านการเกษตร หรือที่อพยพลงไปอยู่ในเมือง การขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่องเร่งด่วนในหมู่บ้าน เนื่องจากผู้สูงอายุหลายคนประสบปัญหาด้านสุขภาพทำให้ทำการเกษตรได้น้อยลง นอกจากเหตุผลของอายุและสุขภาพของผู้สูงอายุแล้ว บางครอบครัวยังต้องการจ้างแรงงานหลายคนเพื่อดูแลและช่วยเก็บเกี่ยวพืชผลหลากชนิดที่ปลูกไว้ หรือบางครอบครัวมีพื้นที่ทำกินมาก ทำให้ต้องจ้างแรงงานเพิ่ม

พ.ศ. 2560 ได้มีโครงการสร้างแท็งก์น้ำในหมู่บ้าน เป็นแท็งก์น้ำที่มีขนาดใหญ่และสามารถเก็บน้ำได้มากและเพียงพอสำหรับการแจกจ่ายให้กับทุกครัวเรือน แต่การมีแท็งก์น้ำนี้ไม่ได้ช่วยให้ชาวบ้านหมดความกังวลเรื่องความแห้งแล้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านมักจะประสบกับปัญหาน้ำไม่พอใช้เป็นประจำทุกปี

พ.ศ. 2561 ตู้น้ำดื่มและปั้มน้ำมันในชุมชนได้เกิดขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้อยู่ในสถานที่เดียวกัน คือบริเวณศูนย์เด็กเล็กบ้านดอยล้าน (เก่า)

ภูมิศาสตร์

สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาและบางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา สลับกับป่าดงดิบ มีการให้บริการน้ำประปาภูเขาและมีลำธารไหลผ่านพอสมควร ทำให้สามารถทำการเกษตรได้

อาณาเขตพื้นที่

  • ทิศเหนือ ติดกับ ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย , ต.แม่นาวาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย,ต.บ้านหลวง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดกับ ต.แม่สรวย  อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

ส่วนใหญ่ประชากรในพื้นดอยล้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งลีซูและกลุ่มชาติพันธุ์จากเมียนมาร์เข้ามาเป็นแรงงาน 

ลีซู

อาชีพหลักของชาวบ้านคือเกษตรกรรม ปลูกข้าว ข้าวโพด กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ถั่วแดง ถั่วดำ และกาแฟ ส่วนอาชีพรับจ้างทั่วไปมีประมาณ 20 %

การนับปฏิทินลีซูและคำอธิบายเกี่ยวกับปฏิทินลีซู

ปฏิทินลีซูเป็นระบบการนับวันเวลาตามแบบจันทรคติ (Lunar calendar) โดยใช้ดิถีของดวงจันทร์เพื่อบอกข้างขึ้นข้างแรมบอกเดือน ชาวลีซูเริ่มนับเดือนแรกในเดือนที่ตรงกับตรุษจีนซึ่งเป็นเดือนของการเฉลิมฉลองปีใหม่ หรือภาษาลีซูเรียกว่า “กู่ฉู่อาบา” กู่ฉู่ มีความหมายว่าปีใหม่ อาบา แปลว่า เดือน โดยการนับเดือนจะล่าช้ากว่าเดือนสากล 1 เดือน ตัวอย่างเช่น เดือนสากลของเดือนสามคือมีนาคม แต่เดือนสามของชาวลีซูคือเดือนเมษายน ในที่นี้จะขอกำกับการนับเดือนเป็นภาษาลีซูไว้ด้วย

การเพาะปลูกและทำกิน

เดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนเฉลิมฉลองปีใหม่ แต่หากผลกาแฟยังมีอยู่ ชาวบ้านสามารถเก็บเกี่ยวกาแฟพร้อมกับทำความสะอาดพื้นที่หลังเพาะปลูก เช่น การตัดตอซังข้าว การพรวนดินเพื่อเพาะปลูกพืชในอีกสองสามเดือน

เดือนมีนาคม-เมษายน เป็นเดือนแห่งการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก (หากไม่มีอุปสรรคเรื่องน้ำ สามารถลงมือเพาะปลูกได้เลย) การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกสามารถทำได้ด้วยการพรวนดิน ดายหญ้า ฟันหญ้า เผาหญ้า ขุดแปลงเพาะปลูก และการพ่นยา เป็นต้น

เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หากฝนตกต้องตามฤดูกาล การเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดจะเริ่มขึ้นภายในสองเดือนนี้ พืชที่เพาะปลูกในหมู่บ้านประกอบไปด้วยกาแฟ กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผักกาดขาว อะโวคาโด มะคาเดเมีย พริก ถั่วแขก ถั่วแดง และถั่วดำ (ถั่วแดงและถั่วดำเคยนิยมปลูกเมื่อหลายปีก่อน แต่ปัจจุบันไม่นิยมปลูกเนื่องจากมีราคาผลผลิตที่ต่ำ) พืชเหล่านี้เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ส่วนข้าว แตงกวา และข้าวโพดนั้นจัดเป็นพืชยังชีพ (มีบางครอบครัวที่ปลูกข้าวโพดเพื่อจำหน่ายแต่ไม่เป็นที่นิยม) โดยแต่ละครอบครัวจะเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใดชนิดหนึ่งหรืออาจจะมากกว่าสองชนิดขึ้นอยู่จำนวนและขนาดของที่ดิน รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละปี ส่วนความนิยมในการปลูกพืชแต่ละชนิดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในแต่ละปี รวมถึงผลตอบแทนในการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ เช่น การนิยมปลูกถั่วแขกในปัจจุบัน มีแรงจูงใจหลายประการที่ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชชนิดนี้มากขึ้น ประการแรก ผู้รับซื้อได้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ถั่วแขกให้กับชาวบ้าน ประการที่สองคือการให้ความช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่ายด้านยาและปุ๋ย (ที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม) และประการสำคัญคือ มีตลาดรองรับที่แน่นอนและราคาผลผลิตดีกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ส่วนปริมาณการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพาะปลูกของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวปลูก 10-20 กิโลกรัม ขณะที่บางครอบครัวสามารถปลูกได้ถึง 20-40 กิโลกรัม

การเลือกช่วงเวลาเพาะปลูก แต่ละครอบครัวจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น สภาพอากาศในช่วงฤดูเพาะปลูก หากสภาพอากาศยังแห้งแล้ง บางครอบครัวเลือกดูแลสวนกาแฟ อะโวคาโด หรือมะคาเดเมีย บางครอบครัวเลือกลงแขกกับครอบครัวอื่นเพื่อที่ตนเองจะได้มีแรงงานเพียงพอเวลาที่ต้องการลงมือเพาะปลูก หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงผี งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ การเลือกช่วงปลูกนี้ยังรวมไปถึงเพื่อนบ้าน หากเห็นว่าเพื่อนบ้านเริ่มลงมือปลูกแล้ว อีกครอบครัวก็จะปลูกตาม ผู้วิจัยได้ฟังชาวบ้านคุยกันเรื่องนี้บ่อยครั้ง “บ้านเธอเริ่มปลูกหรือยัง ถ้ายังฉันจะรอนะ ถ้าบ้านเธอปลูกเมื่อไหร่ บอกฉันด้วยนะ ฉันจะได้ปลูกตาม”

เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พืชประเภทถั่วสามารถเก็บเกี่ยวและจำหน่ายให้กับบริษัทหรือนายทุนที่เข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน มีการทำความสะอาดพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดและเก็บเกี่ยวข้าวโพด ผักกาดขาวและกะหล่ำปลี รวมถึงการกำจัดศัตรูพืชในไร่ข้าว ในเดือนกรกฎาคมจะมีพิธีกรรมสำคัญที่เรียกว่า “วันสารทจีน” หรือกินข้าวโพดใหม่ เป็นพิธีกรรมที่ต้องใช้ข้าวโพด ซึ่งผู้ที่นับถือศาสนาดั้งเดิมหรือนับถือบรรพบุรุษจะต้องทำการเพาะปลูกข้าวโพดรอบแรกภายในเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนเนื่องจากพืชชนิดนี้จะถูกนำมาใช้ในพิธีกรรม

เดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงเก็บเกี่ยวพริก ถั่วต่าง ๆ และมีการแปรรูปอาหาร เช่น การดองผักกาด เป็นต้น มีการกำจัดศัตรูต้นข้าว เตรียมเพาะปลูกข้าวโพดและกะหล่ำปลีรอบที่สอง (ไม่จำเป็นต้องทุกครัวเรือน)

เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เริ่มเก็บเกี่ยวกาแฟ เกี่ยวข้าวและเก็บข้าวโพดที่ปลูกในรอบที่สอง การเก็บข้าวโพดรอบที่สองนั้น สามารถรอการเก็บเกี่ยวได้ กล่าวคือ (สำหรับบางครอบครัวที่ปลูกข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจ) ไม่จำเป็นต้องเก็บเกี่ยวภายในเดือนธันวาคมหากว่าราคาผลผลิตต่ำ แต่สามารถขยายเวลาเก็บเกี่ยวได้จนถึงเดือนมกราคมได้เช่นกัน

เดือนมกราคม เป็นเดือนเก็บเกี่ยวกาแฟ และหากว่างจากการเก็บกาแฟชาวบ้านหลายคนจะเริ่มสีข้าวสารและต้มเหล้าข้าวโพดเพื่อเตรียมตัวเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ มีบางครอบครัวยังคงเก็บเกี่ยวข้าวโพดหากเดือนเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคมยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ประเพณีและพิธีกรรม

เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่เริ่มต้นขึ้นในวันเดียวกับวันตรุษจีน (บางหมู่บ้านอาจเริ่มก่อน ขึ้นอยู่กับความคลาดเคลื่อนของระบบการนับวันและเดือน) โดยวันดังกล่าวจะมีการเต้นรำ ดื่มเหล้าข้าวโพด และดำหัวหมอเมือง มีการตำข้าวปุ๊ก 1 วันก่อนการเฉลิมฉลองปีใหม่ ในเดือนนี้เป็นเดือนที่สามารถทำความสะอาดหิ้งบรรพบุรุษได้ ทั้งนี้ การทำความสะอาดหิ้งบรรพบุรุษนั้นทำให้เพียงสองเดือนคือ เดือนกุมภาพันธ์ และเดือนสิงหาคม เท่านั้น นอกเหนือจากสองเดือนนี้กระทำได้เพียงเปลี่ยนน้ำบรรพบุรุษในวันมงคลเท่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นทุก ๆ 15 หรือ 16 วัน หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับวันมงคล หมอเมืองจะประกาศให้กับชุมชนทราบ หรือหากหมอเมืองลืมประกาศ ชาวบ้านจะใช้วิธีการสอบถามจากเพื่อนบ้าน

เดือนมีนาคม เดือนปีใหม่ผู้ชาย ผู้อาวุโสได้กล่าวเกี่ยวกับปีใหม่ผู้ชายนี้ว่า เป็นเพราะผู้ชายบางคนออกไปทำธุระต่างถิ่นระหว่างที่มีการเฉลิมฉลองปีใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ผู้ชายเหล่านั้นพลาดปีใหม่ครั้งแรก จึงมีการจัดปีใหม่ครั้งที่สองเพื่อผู้ชายอีกครั้ง ในเดือนนี้จะมีการทำบุญศาลเจ้าประจำหมู่บ้านหรือ “อาปาโหม่ ฮี” และศาลเจ้าป่าเจ้าเขา หรือ “อิ๊ดามอ” อีกด้วย

เดือนเมษายน หรือซาฮา เซงเม้ง เดือนนี้เป็นเดือนอัปมงคล ชาวลีซูจะไม่นิยมลงเสาบ้านและไม่นิยมเลี้ยงผีใด ๆ ทั้งยังไม่นิยมหาครอบครัวอีกด้วย

เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนมงคลเหมาะสำหรับทำพิธีไหว้ผีดิน การไหว้ผีดินนี้สามารถกระทำได้ทุกเดือน ยกเว้นเดือนคี่ คือเดือน กุมภาพันธ์ เมษายน มิถุนายน สิงหาคม ตุลาคม และธันวาคม

เดือนมิถุนายน หรือหงั่วฮาตือหวู่ เป็นเดือนคล้ายกับเดือนแห่งวันพืชมงคล โดยในเดือนนี้จะมีการทำบุญศาลเจ้าประจำหมู่บ้านหรือ “อาปาโหม่ ฮี”และศาลเจ้าป่าเจ้าเขา หรือ “อิ๊ดามอ” ครั้งที่สอง เป็นเดือนที่เหมาะสมสำหรับการหาสมุนไพรมารักษาโรคภัยต่าง ๆ ทั้งยังเป็นเดือนมงคลสำหรับการผสมด้ายสีแดง-ดำ-ขาว กล่าวคือ หากมีคนจากตระกูลใดตระกูลหนึ่งไม่สบาย คน ๆ นั้นจะต้องไปหาคนอื่นอีก 3 ตระกูลที่ไม่ใช่ตระกูลเดียวกันเพื่อขอเงินจำนวน 1 หรือ 2 บาท และด้ายสีใดสีหนึ่งจากแต่ละคน จากนั้นคนที่ไม่สบายจะนำด้ายสามสีที่ได้รับจาก 3 คน/ตระกูลไปผสมกันและเย็บออกมาเป็นเครื่องรางและสวมใส่บริเวณลำคอ

เดือนกรกฎาคม ไม่มีพิธีกรรมพิเศษที่จะต้องกระทำภายในเดือนนี้ แต่หากต้องการทำพิธีกรรมใด ๆ ถือว่าทำได้ แต่ต้องเลือกวันมงคล คือวันลิง วันสุนัข วันหนู วันกระต่าย วันมังกร วันม้า วันไก่ วันวัว (นิยมไหว้ผีดิน) และวันแพะ ส่วนวันอัปมงคลคือวันเสือ วันงู และวันหมู

เดือนสิงหาคม เดือนสารทจีน (ชือแป๊ะกั๊วะ) หรือกินข้าวโพดใหม่ การทำพิธีสารทจีนจำเป็นต้องทำความสะอาดหิ้งบรรพบุรุษ ดังนั้น จึงเป็นอีกเดือนหนึ่งที่สามารถตกแต่งหิ้งบรรพบุรุษได้

เดือนกันยายน หากต้องการทำพิธีกรรมใด ๆ ถือว่าทำได้ แต่ต้องเลือกวันมงคล คือวันลิง วันสุนัข วันหนู วันกระต่าย วันมังกร วันม้า วันไก่ วันวัว (นิยมไหว้ผีดิน) และวันแพะ

เดือนตุลาคม เป็นเดือนอัปมงคล ไม่นิยมแต่งงานและห้ามไม่ห้ามฝังศพ เพราะมีความเชื่อว่าหากฝังแล้วผีจะกลับมาสู่โลกมนุษย์ ดังนั้น หากมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น จะต้องเผาก่อนและให้เก็บกระดูกไว้จนกว่าจะพ้นเดือนอัปมงคลนี้

เดือนพฤศจิกายน มีการทำบุญศาลเจ้าประจำหมู่บ้านหรือ “อาปาโหม่ ฮี”และศาลเจ้าป่าเจ้าเขา หรือ “อิ๊ดามอ” ครั้งที่สาม

เดือนธันวาคม ไม่มีพิธีกรรมพิเศษที่จะต้องกระทำภายในเดือนนี้ แต่หากต้องการทำพิธีกรรมใด ๆ ถือว่าทำได้ แต่ต้องเลือกวันมงคล คือวันลิง วันสุนัข วันหนู วันกระต่าย วันมังกร วันม้า วันไก่ วันวัว และวันแพะ ส่วนวันอัปมงคลคือวันเสือ วันงู และวันหมู นอกจากนี้ ชาวบ้านจะมีการเตรียมเย็บผ้า เตรียมเครื่องกายสำหรับเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ บางคนเตรียมหาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เข้ามาขายในหมู่บ้าน

เดือนมกราคม ไม่มีพิธีกรรมพิเศษที่จะต้องกระทำภายในเดือนนี้ แต่หากต้องการทำพิธีกรรมใด ๆ ถือว่าทำได้ แต่ต้องเลือกวันมงคล คือวันลิง วันสุนัข วันหนู วันกระต่าย วันมังกร วันม้า วันไก่ วันวัว (นิยมไหว้ผีดิน) และวันแพะ ส่วนวันอัปมงคลคือวันเสือ วันงู และวันหมู นอกจากนี้ ชาวบ้านจะมีการเตรียมเย็บผ้า เตรียมเครื่องกายสำหรับเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ บางคนเตรียมหาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เข้ามาขายในหมู่บ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

  • มีทัศนียภาพและภูมิศาสตร์ที่ดี 

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

การทอผ้า/ลายผ้า

  • คัวะเพียะคว้า (ลายหางธนู) หมายถึง แป้นสี่เหลี่ยมหลังลูกธนู ลักษณะลวดลายคล้ายลายสามเหลี่ยมเล็กๆ สี่อัน หันมุมยอดชนกัน กลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า ลวดลายลักษณะเช่นนี้ใช้เทคนิคการตัดผ้าเป็นชิ้นเล็กๆ มาเย็บประกอบต่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า จินตนาการนี้มาจากลักษณะแท่งสี่เหลี่ยมที่อยู่หลังลูกธนูในสมัยโบราณ นิยมนำลวดลายคัวะเพียะคว้า มาประดับตามเสื้อ หมวก และเข็มขัดของผู้หญิง
  • อ๊ะหน่ายือ (ลายเขี้ยวหมา) เป็นลายโบราณดั้งเดิมของลีซู เป็นลายที่ทำเลียนแบบลักษณะเขี้ยวของสุนัข ลักษณะของลวดลายมีลักษณะสามเหลี่ยมเล็กๆ การสร้างสรรลวดลายทำโดยนำที่ตัดผ้าเป็นชิ้นเล็กๆ พับเป็นสามเหลี่ยม นำมาเย็บติดต่อกันเป็นสามเหลี่ยมซิกแซกดูคล้ายฟันของสุนัข เย็บเลียงต่อกันเป็นแถวยาว ลายนี้ยิ่งทำเขี้ยวได้เล็กมากเท่าไหร่ แสดงว่าผู้ทำมีฝีมือมากเท่านั้น สำหรับชาวลีซูแล้วมีความผูกพันกับสุนัขมาก
  • อี๊เมียจือนี้ต่า (แถบสี) เป็นลายสำคัญที่ต้องใช้ในผ้าทุกผืน เป็นเทคนิคการตัดผ้าสีสดใสเป็นแถบยาวๆ แล้วนำมาเย็บสลับสีสันต่อกันเป็นชั้นๆ หากต้องการเย็บปะติดผ้าเป็นลวดลายเอกลักษณ์อื่นๆ บนผืนผ้ามากกว่าหนึ่งลาย จะต้องเย็บลายอี๊เมียจือนี้ต่าทุกครั้งในการขึ้นลวดลายบนผืนผ้า และทุกครั้งเมื่อต้องสลับลวดลายหนึ่งไปยังอีกลวดลายหนึ่ง จะใช้ลายนี้เป็นลวดลายในการจบชิ้นงานด้วยเสมอ เป็นลวดลายแรกที่หญิงสาวลีซูจะต้องหัดเย็บเป็นก่อนลายอื่นๆ จึงกล่าวกันว่าหากหญิงลีซูคนใดยังเย็บลายนี้ไม่ได้ ถือว่ายังไม่ใช่ผู้หญิงลีซูที่แท้จริง
  • อ๊ะหน่ายือ (ลายเขี้ยวหมา) เป็นลายโบราณดั้งเดิมของลีซู เป็นลายที่ทำเลียนแบบลักษณะเขี้ยวของสุนัข ลักษณะของลวดลายมีลักษณะสามเหลี่ยมเล็กๆ การสร้างสรรลวดลายทำโดยนำที่ตัดผ้าเป็นชิ้นเล็กๆ พับเป็นสามเหลี่ยม นำมาเย็บติดต่อกันเป็นสามเหลี่ยมซิกแซกดูคล้ายฟันของสุนัข เย็บเลียงต่อกันเป็นแถวยาว ลายนี้ยิ่งทำเขี้ยวได้เล็กมากเท่าไหร่ แสดงว่าผู้ทำมีฝีมือมากเท่านั้น สำหรับชาวลีซูแล้วมีความผูกพันกับสุนัขมาก

ตำนาน/นิทาน

เสียงร้องจักจั่น

นานมาแล้ว ได้มีจักจั่นตัวหนึ่ง จักจั่นตัวนี้ก็เหมือนสัตว์ทั่วไปที่ลำตัวประกอบไปด้วย ลำไส้ ปอด ตับ หัวใจ และอุจจาระ อยู่มาวันหนึ่ง จักจั่นตัวนี้มันรู้สึกเหงา มันจึงส่งเสียงร้อง เสียงร้องที่ดังมากของจักจั่นทำให้เก้งที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตกใจ และเมื่อเก้งตกใจมันจึงวิ่งหนีและไปขุดหลุมของหนู หนูก็สะดุ้งและถามเก้งว่า “มาขุดหลุมฉันทำไม” เก้งก็ตอบไปว่า “ฉันไม่รู้ว่ามีจักจั่นอยู่ มันร้องเสียงดังฉันก็เลยตกใจจึงวิ่งหนีมา” หนูก็ตกใจกับเก้ง หนูจึงวิ่งไปและไปเจอกับฟักทอง หนูจึงแทะคั่วฟักทอง ส่งผลให้ฟักทองกลิ้งตกลงไปชนกับต้นกล้วย ทำให้ค้างคาวซึ่งกำลังสนุกสนานกับการดูดน้ำหัวปลีอยู่นั้นสะดุ้ง กลุ่มค้างคาวเหล่านั้นถามฟักทองกลับไปว่า “ทำไมถึงกลิ้งมาชนพวกเรา” ฟักทองก็ตอบกลับไปว่า “ไม่ใช่ฉันนะ โน่น ต้องไปถามหนูโน่น หนูมันแทะคั่วของฉัน” ค้างคาวตกใจกับเหตุการณ์นี้จึงบินหนีไปอยู่ที่รูจมูกช้าง ช้างก็อยู่ไม่เป็นสุข ช้างเริ่มตีและทำลายข้าวของชาวบ้านด้วยงวงช้าง ชาวบ้านทุกคนก็เดือดร้อนและถามช้างว่า “เป็นอะไรไปเจ้าช้าง ทำไมถึงเที่ยวทำลายบ้านของพวกข้าล่ะ” ช้างก็ตอบไปว่า “ถ้าพวกเธอไม่ยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไปบอกกับค้างคาวเพราะว่าค้างคาวมันเข้าไปในรูจมูกของฉัน” ค้างคาวก็บอกว่า “ไปบอกกับฟักทองโน่น” ฟักทองก็บอกว่า “ไปบอกกับหนูโน่น” หนูก็บอกว่า “ไปบอกกับเก้งโน่น” สุดท้ายเก้งก็บอกว่า “ถ้าพวกเธอไม่ยอมจริง ๆ ก็ไปบอกกับจักจั่นโน่น” จักจั่นก็บอกว่า “ถ้าพวกเธอยอมไม่ได้จริง ๆ ก็เอาขี้ที่มีอยู่ 3 ท่อนของข้าไปนึ่งกินสิ” จักจั่นเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายในครั้งนี้จึงถูกชาวบ้านควักลาไส้ออกไปจนหมด

นิทาน พ่อตากับลูกเขย

นานมาแล้ว มีพ่อตากับลูกเขยอยู่คู่หนึ่ง เขาสองคนได้นั่งคุยกันเกี่ยวกับข้าวโพดที่เก็บไว้ในสวน พ่อตาเอ่ยกับลูกเขยว่า “เขยเอ้ย มัวแต่อยู่บ้าน อยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว ไม่ไหวแล้ว” ลูกเขยจึงถามกลับไปว่า “มีอะไรหรือครับพ่อตา” พ่อตาก็ตอบกลับไปว่า “ข้าวโพดในยุ้งฉางของเรา พวกฝูงลิงมากินใกล้จะหมดแล้ว พรุ่งนี้เช้ารีบ ๆ ตื่น เตรียมลับมีดให้คม เราจะไปล้อมรั้วไม่ให้ลิงเข้ามากินข้าวโพด” วันรุ่งขึ้นลูกเขยก็ตระเตรียมสิ่งของตามที่พ่อตาสั่งแล้วออกเดินทางพร้อมกับพ่อตา ระหว่างทางพ่อตาได้กำชับกับลูกเขยว่า “เมื่อถึงสวนแล้วต้องฟังพ่อตาอย่างเดียว อย่าฝืนคำสั่ง พ่อตาสั่งอะไรก็ให้ทำตามที่พ่อตาสั่งนะ อย่าเถียงเด็ดขาด” เมื่อเดินทางไปถึงสวนก็พากันไปตัดไม้ไผ่ ตัดรวมกันแล้วแบกไม้ไผ่กองรวมกันไว้ที่กระท่อมเพื่อตัดแต่งไม้ไผ่กัน ระหว่างที่ตัดแต่งไม้ไผ่อยู่นั้น เศษไม้ไผ่ได้กระเด็นเข้าตาของพ่อตา พ่อตาจึงเดินไปหาลูกเขย และเปิดม่านตาหมายจะให้ลูกเขยเป่าเศษไม้ไผ่ออกจากตา แต่ปรากฏว่าลูกเขยทำตามพ่อตา พ่อตาเลยเปล่งไปว่า “ถุ๊ย” ลูกเขยก็เปล่งกลับว่า “ถุ๊ย” พ่อตาเห็นท่าไม่ดีเลยพากันกลับบ้าน เมื่อถึงบ้าน พ่อตา ก็บอกลูกเขยว่า “ทำไม! บอกให้ช่วยเอาเศษไม้ไผ่เข้าออกจากตาให้หน่อยแล้วมา ถุ๊ยใส่ ทำไม ทำตามพ่อตาทำไม” ลูกเขยจึงบอกกับพ่อตากลับไปว่า “ก็พ่อตาสั่งมาว่า ให้ทำตามที่พ่อตาสั่งทุกอย่าง อย่าเถียง อย่างฝ่าฝืน ทำอะไรก็ให้ทำตาม ลูกเขยก็ไม่กล้าเถียงพ่อตา เถียงได้อย่างไรกับพ่อตาทั้งคน” เกือบมีการลงไม้ลงมือกันระหว่างพ่อตากับลูกเขยแล้ว

หมา ช้าง เสือและคน

นานมาแล้ว มีหมาอยู่ตัวหนึ่ง มันเป็นหมาที่ไม่เคยมีเจ้าของ อยู่มาวันหนึ่งมันก็คิดอยากจะมีเจ้าของบ้าง อยากไปอยู่อาศัยกับคนอื่น ๆ บ้าง มันก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี อยู่มาวันหนึ่งมันก็พบกับช้าง เมื่อเห็นช้าง มันก็คิดว่าช้างน่าจะดูแลมันได้ ให้ที่พักพิงและปกป้องมันได้เพราะช้างตัวใหญ่ มันจึงไปอยู่กับช้าง พอตอนดึก หมาก็ไปนอนกับช้างและหมามันได้เจอสิ่งแปลกประหลาดมันจึงเห่า ช้างก็บอกกับหมาทันทีที่มันเห่าว่า “อย่าเห่านะ เดี๋ยวเสือมา” หมาก็ตอบกลับไปว่า “โห ตัวท่านใหญ่ขนาดนี้ยังจะกลัวเสืออยู่อีกหรือ แบบนี้เราไม่กล้าอยู่กับท่านแล้วล่ะ” หลังจากนั้น หมาก็ไปหาเสือ ไปอยู่กับเสือและอีกเช่นเคย พอตอนดึก หมามันก็เห่า เสือก็ทักไปว่า “เอ เงียบ ๆ หน่อยสิ เดี๋ยวคนได้ยินแล้วจะมาหาพวกเรานะ พวกเขาจะมาทำร้ายพวกเรา และจะมาฆ่าพวกเรานะ” หมาก็ตอบกลับไปว่า “อ้าว ท่านเป็นเสือ ท่านยังกลัวคนอีกหรือ” หมาก็บอกกับเสือออกไปอีกว่า “ถ้าท่านกลัวคน เราจะไม่ขอพึ่งพาท่านและไม่อาศัยอยู่กับท่านแล้วล่ะ เราจะไปพึ่งพาอาศัยอยู่กับคนดีกว่า” หมาจึงไปพึ่งพาอาศัยอยู่กับคนจนถึงปัจจุบันนี้

การตั้งชื่อเด็กแรกเกิด

นานมาแล้ว มีเด็กเกิดใหม่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กลุ่มผีสุสานทั้งหลายจึงชวนกันไปหมู่บ้านนั้นเพื่อไปหาเด็กที่เพิ่งเกิด ผีสุสานตนหนึ่งบอกว่า “ตอนนี้มีเด็กเกิดใหม่ในหมู่บ้านหนึ่งคน ไป เราไปกันเถอะ ไปร่วมงานวันเกิด ไปร่วมตั้งชื่อเด็กที่เกิดใหม่ด้วยกัน” ผีสุสานอีกตนหนึ่งตอบกลับไปว่า  “เอ คืนนี้เรามีแขกนะ เราไปไม่ได้ พวกเธอไปกันเถอะ” ผีสุสานจึงไปหาเด็กที่หมู่บ้าน หลังจากนั้นก็กลับไปหาผีสุสานที่ไม่ได้ไปร่วมดูเด็ก ทันทีที่เห็นผีสุสานเหล่านี้กลับมา ผีสุสานตนนี้ก็ถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง” ผีสุสานอีกกลุ่มก็ตอบกลับไปว่า “เฮ้อ พวกเราไปสาย เสือลายก็เลยได้ตั้งชื่อเด็กไป” ผีสุสานถามต่อไปอีกว่า “เสือมันนัดเด็กไว้เมื่อไร” ผีสุสานอีกกลุ่มตอบไปว่า “เสือกำหนดช่วงที่เด็กสามารถเจาะหลุมกระบะใส่อาหารหมูได้” 

ต่อมา เด็กหนุ่มที่เกิดในวันนั้นก็ได้เติบใหญ่ พ่อของเขาจึงพาลูกไปตัดท่อนไม้เพื่อทำหลุมกระบะใส่อาหารหมู ระหว่างที่ลูกชายกำลังเจาะหลุมกระบะใส่อาหารหมูนั้นก็ได้มีเสือตัวหนึ่งมาด่อม ๆ มอง ๆ หมายจะกัดกินเด็กหนุ่ม เสือพยายามจะกัดกินเด็กหนุ่มหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้จังหวะที่ดี พ่อของเด็กหนุ่มซึ่งถือปืนพอเห็นท่าทีของเสือที่พยายามจะกัดกินลูกชายตัวเอง จึงได้หันปากกระบอกปืนไปยังเสือตัวนั้นและโดนจุดสำคัญของเสือ ทำให้เสือตายทันที หลังจากนั้น พ่อของเด็กก็ให้ลูกชายตัวเองขึ้นค่อมศพของเสือตัวนั้นและพูดขึ้นมาว่า “ลูกของเราอายุยืนแล้ว จะตายไม่ได้แล้ว” ทันทีที่พูดเสร็จ เด็กหนุ่มคนนี้ก็เอามือไปลูบคลำตัวเสือและนิ้วมือไปโดนหนวดเสือบาด ทำให้เด็กเสียชีวิตทันทีเช่นกัน 

หมายเหตุ ตำนานนี้เป็นตำนานที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการตั้งชื่อเด็กแรกเกิด เรียกว่าพิธี  “ฉาจัวเดื๋อ” พิธีกรรมควรถูกจัดขึ้นภายใน 3 วันหรือ 7 วัน หลังคลอด เพราะชาวลีซูเชื่อว่าหากไม่รีบทำพิธีกรรมดังกล่าว เสือจะเอาชื่อของเด็กไปหรือเด็กจะจบชีวิตดังเช่นตำนานนี้

ขว่า ตา ซาผะผู้เจ้าเล่ห์

นานมาแล้ว ชาวบ้านคนหนึ่งขอแรงพี่น้องในหมู่บ้านไปช่วยปลูกข้าวในไร่ของตน ในบรรดาชาวบ้านที่มาช่วยงาน มีชายคนหนึ่งชื่อนายขว่า ตา ซาผะ เจ้าของไร่ขอให้นายขว่า ตา ซาผะเป็นผู้ดูต้นทาง และกำชับว่า “ถ้าตำรวจมา ช่วยตะโกนบอกด้วยนะ” ทั้งสองตกลงกันเรียบร้อย ครั้นเวลาเที่ยง เจ้าของไร่เตรียมอาหารหลายอย่าง เช่น ลาบหมู น้ำพริก เนื้อหมูย่าง พร้อมทั้งเหล้า เพื่อเลี้ยงตอบแทนชาวบ้านที่มาช่วยงาน ขณะที่ชาวบ้านและเจ้าของไร่กำลังจะลงมือกินข้าว นายขว่า ตา ซาผะก็ตะโกนว่า “ตำรวจมา ๆ” (ต่า หนุ่ เล้า ๆ) ซ้ำไปซ้ำมา ทุกคนได้ยินก็ตกใจ พากันวิ่งหนีโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

จังหวะนั้นขว่า ตา ซาผะก็วิ่งไปเก็บอาหารและเหล้าทั้งหมดมาห่ออย่างดี แล้วนำไปฝังไว้หลาย ๆ ที่ จากนั้นจึงเดินกลับบ้าน ระหว่างทางกลับบ้านเขาปะชายชราคนหนึ่งเดินยันไม้เท้ามา ขว่า ตา ซาผะเห็นว่าไม้เท้านั้นทำจากเงิน นายขว่า ตา ซาผะถามชายชราว่า “อาปาจะไปไหน” (อาปา หมายถึงปู่หรือตาในภาษาลีซู) “อาปาอยากได้อะไรไหม จะเอาน้ำหรือจะเอาเนื้อ หรือจะเอาลาบ หรือจะเอาข้าว” ชายชราถอนใจ แล้วรำพึงว่า “ตาหิวข้าวเหลือเกิน” นายขว่า ตา ซาผะถามอีกว่า “อาปา เอาไม้เท้าเงินของอาปามาแลกกับไม้เท้าของผมไหม” ชายชราตอบว่า “ไม้เท้าของอาปานี้เป็นไม้เท้าเงิน แต่ไม้เท้าของเจ้าเป็นไม้ธรรมดาเท่านั้น” นายขว่า ตา ซาผะ จึงออกอุบาย “อาปาลองดูนะว่าไม้เท้าของผมกับของอาปา ของใครดีกว่ากัน”

จากนั้นเขาก็ท้าชายชราว่า “อาปาลองเอาไม้เท้าของอาปาไปทิ่มดินดูนะ ดูว่าจะมีอาหารที่อยากกินออกมาไหม” ชายชราทำตามที่นายขว่า ตา ซาผะแนะนำ แต่ก็ไม่มีอะไรออกมาจากพื้นดิน จากนั้น นายขว่า ตา ซาผะถามชายชราว่า “อาปาอยากกินอะไรไหม อยากกินเนื้อหมูไหม” นายขว่า ตา ซาผะ ทิ่มปลายไม้เท้าลงดินตรงที่ตนฝังเนื้อหมูไว้ เนื้อหมูจึงปรากฎตามใจนึก “เห็นไหมอาปา ไม้เท้าข้าดีขนาดไหน” แล้วเขาก็ถามชายชราต่อ “อาปาอยากดื่มเหล้าไหม” ชายชราตอบว่า “อยากสิ” นายขว่า ตา ซาผะจึงทิ่มปลายไม้เท้าลงดินตรงที่ตนฝังเหล้าไว้ก่อนหน้านี้ ปรากฏว่าก็ได้เหล้าตามใจนึกอีก นายขว่า ตา ซาผะท้าชายชราอีกครั้ง “เอาล่ะ ลองใช้ไม้เท้าอาปาทิ่มดินดูอีกครั้งนะ ดูสิว่าจะเหมือนของผมไหม” แน่นอนว่าไม้เท้าของชายชราไม่อาจทำได้อย่างไม้เท้าของนายขว่า ตา ซาผะ ชายชราจึงตัดสินใจแลกไม้เท้าเงินของตนกับไม้เท้าธรรมดาของนายขว่า ตา ซาผะ หลังจากนั้น ชายชราก็ถือไม้เท้าของนายขว่า ตา ซาผะ แล้วเดินทางต่อ ระหว่างทางชายชราเกิดหิวขึ้นมาจึงทิ่มไม้เท้าลงดิน แต่กลับไม่มีอาหารโผล่จากพื้นดินเลย ไม่ว่าจะทิ่มลงไปตรงไหน สุดท้ายชายชราผู้นี้ก็ต้องตายไปเพราะอดอาหาร

ใช้ภาษาลีซู ในการสื่อสารในชุมชน แต่ก็สามารถสื่อสารภาษาไทยได้จากการที่ทางราชการได้สร้างโรงเรียนตะเวนชายแดน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2564). บ้านดอยล้าน. คลังข้อมูลชุมชน, จาก http://https://communityarchive.sac.or.th/community/BanDoiLan

อะมีมะ แซจู และคณะ. (2562). โครงการศึกษาตำนานและความเชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูผ่านประวัติศาสตร์บอกเล่า ในพื้นที่บ้านดอยล้าน ตาบลวาวี อาเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.