ชุมชนโบราณมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เกี่ยวเนื่องกับเมืองสำคัญในภาคเหนือของประเทศไทย แหล่งผลิตอาวุธส่งออกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในอดีต แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสัมผัส
ได้มีตำนานบอกเล่าและตำนานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องราวของพระนางจามเทวี เสด็จมาพักบริเวณผาขวางในยามฤดูหนาว และเอาผ้ามาตุ้ม (เอาผ้ามาห่ม) ต่อมาบริเวณนี้จึงเรียกว่า "บ้านนางตุ้ม" และกร่อนเป็น "บ้านนาตุ้ม" จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนโบราณมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เกี่ยวเนื่องกับเมืองสำคัญในภาคเหนือของประเทศไทย แหล่งผลิตอาวุธส่งออกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในอดีต แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสัมผัส
บ้านนาตุ้มเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งอยู่นอกเวียงลองรุ่นแรก (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 - พ.ศ. 2020) ด้านทิศตะวันตก ที่บางครั้งเรียกว่า เวียงเชียงชืน (ออกเสียง “เวียงเจียงจืน”) หรือเวียงเชียงเหล็กเชียงชืน หรือเวียงเชียงเหล็ก
ก่อนจะมาเป็นชุมชนที่เรียกว่า บ้านนาตุ้ม บริเวณพื้นที่นี้เป็นที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณก่อนพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นชุมชนของชาวลัวะที่ทำการโลหะกรรมเหล็กที่บ่อเหล็กลอง ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมเลี้ยงเจ้าพ่อบ่อเหล็กและเลี้ยงผีลัวะจนถึงทุกวันนี้ จนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มมีชาวเม็ง(มอญ) จากแคว้นเขลางค์นครเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกับชุมชนลัวะ เริ่มก่อตั้งชุมชนบ้านนาตุ้ม มีแสนเมือง (ชาวเม็ง) เป็นหัวหน้าชุมชน ใกล้เคียงกับการก่อตั้งเมืองลอง มีเวียงศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่บ้านไฮสร้อย (ต.ปากกาง อ.ลอง จ.แพร่) โดยผู้สร้างเมืองลองก็คือพญาศรีกุกุฏฏะ ราชบุตรของกษัตริย์แคว้นเขลางค์นคร มีการสร้างวัดทุ่งเก๊าศรี (วัดนาตุ้มใต้) และส่งส่วยเหล็กเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายให้กษัตริย์แคว้นเขลางค์นคร
มาในยุคราชวงศ์มังราย พญามังราย กษัตริย์แคว้นโยนกองค์ที่ 25 และปฐมกษัตริย์ล้านนาได้ยึดแคว้นหริภุญไชย แคว้นเขลางค์นครและเมืองลองเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรล้านนาเมื่อ พ.ศ. 1824 เมืองลองจึงมีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศตะวันออกของอาณาจักรล้านนา และต้องส่งส่วยเหล็กถวายให้กษัตริย์ล้านนาที่เมืองเชียงใหม่ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับบ้านนาตุ้มโดยตรงคือ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาได้ส่งพญาหัวเมืองแก้วจากเมืองเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าเมืองลองแทนพญาเป๊กขะจาที่ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. 2020 แม่นางคำฟุ่น แม่นางคำเฟือย ชายาของเจ้าพญาเป๊กขะจาอดีตเจ้าเมืองลอง พร้อมครอบครัวและชาวเมืองลองบางส่วนจึงได้ย้ายออกจากเวียงลองบ้านไฮสร้อยมาอยู่บ้านนาตุ้ม ส่วนชาวเมืองเชียงใหม่ที่ติดตามมากับพญาหัวเมืองแก้วบางกลุ่มออกมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาตุ้ม ส่วนพญาหัวเมืองแก้ว เจ้าเมืองลองได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองเมืองลองจากบ้านไฮสร้อยไปตั้งที่บ้านก่อนดอนหัวนา (ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่)
ในยุคประเทศราชพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาและเมืองลองที่เป็นหัวเมืองบริวารตกเป็นประเทศราชของพม่า ต่อมาได้มีชาวเชียงใหม่และชาวลำพูนบางกลุ่มอพยพหนีศึกสงครามมาอยู่บ้านนาตุ้ม เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากพม่า และมีเชื้อสายชาวเมืองเชียงใหม่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ยุคนี้เมืองลองได้ส่งส่วยเหล็กถวายกษัตริย์พม่าและกษัตริย์ล้านนาที่เมืองเชียงใหม่ และย้ายวัดจากวัดนาตุ้มใต้ (วัดทุ่งเก๊าศรี) มาตั้งวัดทุ่งเจดีย์ (วัดทุ่งก๊างบอกไฟ) ซึ่งอยู่ตรงข้ามน้ำแม่ลองทางทิศตะวันออกกับวัดนาตุ้มในปัจจุบัน และยุคลำปางเป็นรัฐอิสระ พ.ศ. 2275 เมืองลองขึ้นตรงต่อเมืองลำปางช่วงเจ้าพญาสุลวะลือไชยสงคราม (เจ้าหนานทิพจักร) เป็นกษัตริย์นครลำปาง (พ.ศ. 2275) เมืองลองส่งส่วยเหล็กถวายกษัตริย์เมืองนครลำปาง จนสืบเนื่องมาถึงยุคประเทศราชสยามตั้งแต่ พ.ศ. 2317
ยุคนี้พม่าตีเมืองเชียงใหม่แตก ชาวเมืองเชียงใหม่หนีมาอยู่บ้านนาตุ้มอีกครั้ง รวมถึงชาวเมืองทางตอนเหนือหลายเมือง เช่น ชาวเมืองนครเชียงตุงถูกตีเมืองแตก ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาตุ้ม และบางส่วนได้ไปตั้งถิ่นฐานทำการฟื้นฟูเมืองลองเก่าที่บ้านไฮสร้อย เมื่อ พ.ศ. 2345 และชาวเมืองเชียงแสนถูกตีเมืองแตก ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านนาตุ้ม พ.ศ. 2347 เป็นต้น ครูบานาตุ้มใต้ย้ายวัดจากวัดทุ่งเจดีย์ (วัดทุ่งก๊างบอกไฟ) มาอยู่วัดนาตุ้มในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2350 พร้อมกับได้นำต้นโพธิ์ 2 ต้นมาปลูกที่หน้าวัดนาตุ้มและภายในวัดนาตุ้ม
บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ที่มีการอยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน ทำให้ชุมชนมีขนาดใหญ่มากจึงแบบการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้านดังนี้
- บ้านนาตุ้ม หมู่ที่ 1 มีจำนวน 155 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 267 คน หญิง 295 คน รวมประชากรทั้งหมด 562 คน
- บ้านนาตุ้ม หมู่ที่ 2 มีจำนวน 190 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 310 คน หญิง 329 คน รวมประชากรทั้งหมด 639 คน
- บ้านทุ่งเจริญ หมู่ที่ 3 มีจำนวน111 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 173 คน หญิง 163 คน รวมประชากรทั้งหมด 336 คน
- บ้านนาตุ้ม หมู่ที่ 9 มีจำนวน 141 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 268 คน หญิง 287 คน รวมประชากรทั้งหมด 555 คน
บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นชุมชนโบราณมีวิถีชีวิตเกี่ยวกับการผลิตอาวุธ จึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับบ่อเหล็กซึ่งเป็นความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ในเดือน 3 ออก 3 ค่ำเหนือ ฤกษ์ยามสำหรับประกอบพิธี "เปิดบ่อสร้างต๊างคำ" หรือ "พิธีเปิดบ่อ เลี้ยงผีเจ้าพ่อบ่อเหล็กลอง" เพื่อบูชา พลีกรรมบอกกล่าวดวงวิญญาณเจ้าพ่อบ่อเหล็กเมืองลอง และดวงวิญญาณที่สถิตรักษาอยู่บนดอยบ่อเหล็กลอง ซึ่งในอดีต ถือเป็นสัญญาณบอกกล่าวแก่ชาวเมืองว่าวันเวลาได้มาถึงช่วงของการดำเนินอุตสาหกรรมเหล็กเมืองลอง ไปอีกหกเดือน
แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม
เอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุว่าเมืองลองโบราณเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครลำปาง (จังหวัดลำปาง) มีพันธะที่จะต้องส่งส่วยเหล็กทุกๆ ปี ปีละ 40 หาบ (2,600 กิโลกรัม) ดังปรากฎในเอกสารจดหมายเหตุความว่า “...ที่เมืองลองเสียส่วยแก่เมืองนคร (ลำปาง) มีแต่เหล็กสิ่งเดียว...เรียกส่วยปีละ 40 หาบเท่านั้น...” การถลุงเหล็กจะทำขึ้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็ก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีดอยเหล็กซึ่งเป็นเหมืองแร่เหล็กประมาณ 1 กิโลเมตร โดยปรากฏในเอกสารของชาวต่าวชาติกล่าวถึงเหล็กของดอยเหล็กว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพ เช่น บันทึกของคาร์ล อัลเฟรด บ็อค (Carl Alfred Bock) พ.ศ. 2524 ความว่า “...เห็นได้ชัดว่าเมืองละครนี้ร่ำรวย ไม่เพียงแต่ร่ำรวยป่าไม้เท่านั้นแต่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ ใกล้ตัวเมือง (เมืองลอง) มีเหมืองแร่เหล็กที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง...”
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร สำรวจพบแหล่งเนินตะกรันเหล็กแหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม ในปี พ.ศ. 2561 จากการสำรวจทางโบราณคดีพบซากเตาถลุงเหล็ก ปลายหุ้มท่อลมดินเผา (tuyère) พะเนินหิน ทั่งหิน เศษแร่ และตะกรันก้นเตาจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ได้ดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดี จากการขุดค้นพบเตาถลุงเหล็กจำนวน 8 เตา เรียงตัวเป็นแนวเดียวกันในทิศเหนือ - ใต้ และการขุดค้นในปี พ.ศ. 2565 พบเตาถลุงเหล็กเพิ่มเติมอีกจำนวน 11 เตา เรียงตัวในแนวเดียวกันกับกลุ่มเตาที่ขุดค้นพบในระยะที่ 2
จากการนำตัวอย่างถ่านภายในก้อนตะกรันก้นเตาไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS ได้ค่าอายุได้ค่าอายุที่ 202±16 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ. 2347 – 2379 ซึ่งค่าอายุมีความสอดคล้องกับเศษเครื่องถ้วยจีน เนื้อแกร่ง เขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบจากแหล่งเตามณฑลฝู้เจี่ยนที่ขุดค้นพบโดยกำหนดอายุอยู่ในปลายรัชศกเจียฉิ้งถึงต้นรัชศกเต้ากวงแห่งราชวงศ์ชิง ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 และเมืองลองมีการถลุงเหล็กต่อเนื่องมาจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่พบและข้อมูลทางโบราณโลหวิทยา สันนิษฐานว่า เตาถลุงเหล็กบ้านนาตุ้มเป็นเตาถลุงเหล็กทรงสูง (Sharft Furnance) สูงประมาณ 80 เซนติเมตร ใช้ระบบลมแบบสองลูกสูบ (เส่า) หรือ “Double piston bellow” โดยมีช่องสอดท่อลมและปลายหุ้มท่อลมดินเผาอยู่ทางด้านหลังเตาเพียงช่องเดียว สำหรับเทคนิคการถลุงเป็นการถลุงเหล็กทางตรง (Direct Process) ที่มีอุณหภูมิอยู่ประมาณ 1,100 - 1,200 องศาเซลเซียส เหล็กที่ได้จะถูกขนส่งไปยังราชสำนักเมืองนครลำปาง โดยในท้องตลาดถือว่าเหล็กเมืองลองเป็นเหล็กที่มีคุณภาพ ดังปรากฏในงานวรรณกรรม เช่น ค่าวฉลองคุ้มหลวงของเจ้าหลวงนครแพร่ของศรีวิไชยกวีในราชสำนักแพร่ เมื่อ พ.ศ. 2453 ความว่า “...ห้าสิบสอง เหล็กลองไหลดั้นข่ามคงกะพันมากนัก...” หรือสำนวนของชาวล้านนาที่กล่าวว่า “เหล็กดีเมืองลอง ตองดีเมืองพะเยา” เป็นต้น
ตำนานบ้านนาตุ้ม
บริเวณลำห้วยแม่ลองด้านหน้าวัดนาตุ้ม มีแนวหินผาทอดตัวในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตกกระจายอยู่ทั่วไป ได้มีตำนานบอกเล่าและตำนานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องราวของพระนางจามเทวี เสด็จมาพักบริเวณผาขวางในยามฤดูหนาวและ เอาผ้ามาตุ้ม (เอาผ้ามาห่ม) ต่อมาบริเวณนี้จึงเรียกว่า บ้านนางตุ้ม และกร่อนเป็น บ้านนาตุ้ม จนถึงปัจจุบัน เมื่อสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้นจึงเรียกว่า วัดนาตุ้ม ตามชื่อหมู่บ้าน ซึ่งตำนานนี้บางครั้งก็เปลี่ยนจากพระนางจามเทวีเป็นพระเจ้ากกุสันธะ แต่ที่น่าสังเกตก็คือตำนานทุกเรื่องจะกล่าวถึง “พระเจ้ากกุสันธะ” ปฐมพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ และ “พระนางจามเทวี” ปฐมกษัตริย์แคว้น หริภุญไชยนครสลับกันไปโดยใช้โครงเรื่องเดียวกัน ทิศทางการเสด็จมาในตำนานก็จะมีทั้งทิศเหนือสู่ทิศใต้ คือ ลำปาง - บ้านนาอุ่นน่อง - บ้านนาตุ้ม - บ้านไฮสร้อย - แม่น้ำยม และทิศใต้สู่ทิศเหนือ คือ แม่น้ำยม - บ้านไฮสร้อย - บ้านนาอุ่นน่อง
ตำนานเหล่านี้อาจไม่ใช่การบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ต้องการเสนอความจริงทั้งหมด แต่ผู้คนในอดีตใช้เป็นการอธิบายถึงที่มา ให้ความสำคัญ และเน้นย้ำความเก่าแก่ของสถานที่ ของชุมชน และประการสำคัญ สามารถเป็นภาพสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของเมืองลองกับแว่นแคว้นด้านทิศเหนือที่มีมาตั้งแต่โบราณ คือ แคว้นหริภุญไชยนครที่มีเมืองหริภุญไชยนคร (ลำพูน) เป็นเมืองหลวง มีความสัมพันธ์ผ่านมาทางเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) มาสู่เมืองเววาทะภาษิต (ลอง) เนื่องจากตำนานต่างๆ ของเมืองลำปางก็ล้วนกล่าวเชื่อมโยงถึงพระนางจามเทวีเช่นกัน ดังเช่น ตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระธาตุเสด็จ และตำนานพระธาตุจุมพิต (พระธาตุจอมปิง) เป็นต้น ขณะเดียวกันภายหลังก็มีปฏิสัมพันธ์กับแว่นแคว้นทางด้านทิศใต้ คือ แคว้นสุโขทัย โดยมีเมืองสุโขทัยเป็นเมืองหลวง ที่ติดต่อสัมพันธ์ตามลำน้ำยมขึ้นมาผ่านทางเมืองศรีสัชนาลัย - เมืองตรอกสลอบ - เมืองลอง ซึ่งปรากฏหลักฐานศิลาจารึกอักษรสุโขทัยที่วัดพระธาตุไฮสร้อย ดังนั้นตำนานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนบริเวณวัดพระธาตุไฮสร้อยและชุมชนบริเวณน้ำแม่ลอง จึงได้ใช้ “พระเจ้ากกุสันธะ” หรือ “พระนางจามเทวี” เป็นสัญลักษณ์ของผู้นำความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเข้ามาสู่แถบบริเวณนี้ โดยเฉพาะพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แคว้นหริภุญไชยนคร จะเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำสังคมวัฒนธรรมแบบใหม่เข้ามาสู่เมืองลอง จึงปรากฏตำนานทั้งหลายในเมืองลองนิยมกล่าวเชื่อมโยงกับพระนางจามเทวีอยู่เสมอ
คลังข้อมูลชุมชน. บ้านนาตุ้ม ต.บ่อเหล็กลอง อ.ลอง จ.แพร่. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/
พลพยุหะ ไชยรส. (2565). แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ : การขุดค้นทางโบราณคดีระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2565. สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ; จาก https://www.finearts.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเหล็กลอง. ข้อมูลหน่วยงาน : สภาพทั่วไป. องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่.