วัดโบราณที่มีประวัติที่สัมพันธ์กับชาวมอญในย่านฝั่งธนบุรีในอดีตอย่างใกล้ชิด วัดเทพากร (วัดท่านท้าวทอง/วัดบางพลูบน) คู่กับวัดเทพนารี (วัดท่านท้าวเงิน/วัดบางพลูล่าง ) อันมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิง “วัดพี่วัดน้อง”
เชื่อกันว่าแรกเริ่มเมื่อวัดเทพากรสร้างเสร็จ ก็ได้ชื่อว่า “วัดทอง” กล่าวคือ ให้ชื่อตามนามของผู้สร้าง เจตนาให้เป็นนามคู่กับ “วัดเงิน” หรือวัดเทพนารีในปัจจุบัน เมื่อสร้างเสร็จมีการสมโภชฉลองวัดและได้ทูลเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขณะยังผนวช (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) เสด็จฯ มาในงานและได้ทรงพระราชทานนามวัดอย่างเป็นทางการว่า “วัดท้าวเทพากร” เพื่อให้ตรงกับนามของผู้สร้าง (เข้าใจว่าเวลานั้นนายทองทูลเกล้าถวายเป็นพระอารามหลวง)
วัดโบราณที่มีประวัติที่สัมพันธ์กับชาวมอญในย่านฝั่งธนบุรีในอดีตอย่างใกล้ชิด วัดเทพากร (วัดท่านท้าวทอง/วัดบางพลูบน) คู่กับวัดเทพนารี (วัดท่านท้าวเงิน/วัดบางพลูล่าง ) อันมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิง “วัดพี่วัดน้อง”
จากคำบอกเล่าโดยผู้สูงอายุ ซึ่งเล่าสืบกันมาถึงท้าวเทพากรว่า ชีวิตในวัยเยาว์ของท้าวเทพากร มีความสนิทสนมใกล้ชิดผูกพันกับสมเด็จพระศรีสมโพธิ์หรือท่านขรัวอีโต้วัดเลียบ (วัดราษฎร์บูรณะ) เป็นอย่างมาก ในฐานะศิษย์กับอาจารย์ ซึ่งช่วงเวลาก่อนที่ท่านขรัวอีโต้ถึงแก่มรณภาพลงนั้น (ก่อนปี 2330) ท่านได้สร้างเจดีย์ทรงมอญพร้อมพระเครื่องเนื้อดินเผา ผสมผงสีขาวบรรจุไว้ในเจดีย์เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาจำนวนมาก คาดว่ามีประมาณ 84,000 องค์ หรือมากกว่านั้น ซึ่งท้าวเทพากร (ชื่อเดิม “ทอง”) เป็นชาวมอญได้มีส่วนร่วมเป็นธุระในการสร้างพระเครื่องที่วัดเลียบครั้งนั้นด้วย
ต่อมาราว 40-50 ปีหลังจากนั้น กล่าวคือตรงกับ พ.ศ. 2375 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ท้าวเทพากรได้ทำการสร้าง “วัดเทพากร” ขึ้น เพื่อเป็นมหากุศลแก่ตนเองในบั้นปลายชีวิตตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธ พร้อมกันนี้ได้สร้างเจดีย์ใหญ่ในบริเวณใกล้กันกับพระอุโบสถของวัด และได้ทำการลำเลียงพระเครื่องจาก วัดเลียบ ซึ่งสมเด็จพระศรีมหาโพธิ์หรือท่านขรัวอี้โต้ ได้สร้างไว้ก่อนมรณภาพ โดยขนย้ายมาทางเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อมาบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ใหญ่ดังกล่าว ดังพบหลักฐานเป็นพระรอดขรัวอี้โต้ ที่กรุวัดเลียบและกรุวัดเทพากร เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้นี้ตามลำดับ
เชื่อกันว่าแรกเริ่มเมื่อวัดเทพากรสร้างเสร็จ ก็ได้ชื่อว่า “วัดทอง” กล่าวคือ ให้ชื่อตามนามของผู้สร้างเจตนาให้เป็นนามคู่กับ “วัดเงิน” หรือวัดเทพนารีในปัจจุบัน เมื่อสร้างเสร็จมีการสมโภชฉลองวัดและได้ทูลเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขณะยังผนวช (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) เสด็จฯ มาในงานและได้ทรงพระราชทานนามวัดอย่างเป็นทางการว่า “วัดท้าวเทพากร” เพื่อให้ตรงกับนามของผู้สร้าง (เข้าใจว่าเวลานั้นนายทองทูลเกล้าถวายเป็นพระอารามหลวง)
ต่อมาในสมัยพระอุปัชฌาย์เหมเจ้าอาวาสให้ใช้คำเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดบางพลูบน” หรือ “วัดบน” เพราะตั้งอยู่ปากคลองบางพลู ขณะเดียวกันวัดเทพนารีก็ถูกเรียกว่า วัดบางพลู เช่นกัน จึงมีการพ่วงคำท้ายโดยใช้เกณฑ์จากสภาพภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดเพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ วัดเทพนารีตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดเทพากร จึงเรียกว่า วัดบางพลูล่าง สรุปได้ว่า โดยทั่วไปชื่อวัดมักปรากฏชื่อเดิม (ชื่อพื้นบ้าน) และชื่อใหม่ (ชื่อทางราชการ) โดยภาษาที่ใช้มีความแตกต่างกันทั้งด้านที่มาและความหมาย รวมถึงลักษณะภาษาที่ใช้ กล่าวคือ ชื่อเดิมวัด นิยมใช้ชื่อที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมบริเวณวัด สิ่งที่มีอยู่ในวัดและหรือนามผู้สร้าง ทว่าลักษณะทางภาษาในการให้ชื่อมีต่างกันดังที่ภาษาไทยมักปรากฎในชื่อเดิม ส่วนชื่อใหม่มักนิยมเป็นภาษาบาลี-สันสกฤต อีกทั้งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงแปลงนามวัดเทพนารี เป็น “วัดเทพากรนารี” ดังปรากฏชัดในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งบ้างกล่าวว่าอาจใช้เรียกแทนวัดทั้งสองวัด มากกว่าที่จะใช้เรียกวัดเทพนารีเพียงวัดเดียว
ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเรื่องการแปลงชื่อวัดเป็นผลจากสนธิสัญญาเบาว์ริง อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทยในช่วงดังกล่าว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมตามแบบชาติตะวันตก กล่าวคือ ทางด้านการศาสนาพระองค์ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์เป็นฉบับแรก โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาสูงสุด มีมหาเถรสมาคมให้คำปรึกษา อีกทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและแปลงนามวัดขึ้นหลายแห่ง ในทำนองเดียวกันนี้อาจสังเกตได้ว่าการแปลงชื่อวัดเทพนารี และวัดอื่นๆ มักปรากฏจากการที่พระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ โดยมีความสัมพันธ์กับพระองค์ในทางใดทางหนึ่ง แล้วจึงพระราชทานนามอันสอดคล้องกับสิ่งที่เคยกล่าวไปข้างต้นว่า “เข้าใจว่าเวลานั้นนายทองทูลเกล้าถวายเป็นพระอารามหลวง” ซึ่งถือเป็นวัดที่สำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนาในประเทศเทศสมัยนั้น
“วัดเทพากร” และ “วัดเทพนารี” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ “บางพลัด” ในปัจจุบัน โดยบางพลัดถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่งที่ปรากฏมาแต่ครั้งอดีตอันมี “นิราศภูเขาทอง” บทประพันธ์ของสุนทรภู่ ในปีพุทธศักราช 2373 เปรียบเสมือนประจักษ์พยานสำคัญของการมีอยู่ในพื้นที่ ดังกล่าว ใจความว่า
"ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน"
วัดเทพากร ตั้งอยู่เลขที่ 893 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 68 แขวงบางพลัด กรุงเทพมหานคร อาณาเขตทางทิศเหนือติดกับคลองบางพลู ทางทิศใต้ติดกับลำประโดง ทางทิศตะวันตกติดกับที่ดินเลขที่ 83/29 ทางทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา
- ศูนย์ฝึกอาชีพศิลปหัตถกรรมหัวโขนวัดเทพากร
ศูนย์ฝึกอาชีพศิลปหัตถกรรมหัวโขนวัดเทพากร ของดีบางพลัด เปิดสอนสำหรับผู้ที่สนใจที่จะเรียนรู้วิธีการทำหัวโขน ศิลปหัตถกรรม หน้ากาก งานฝีมือที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และสั่งซื้อสินค้าได้ เป็นการสืบสาน รักษา อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป
- บ่อเต่าวัดเทพากร
บ่อเต่าวัดเทพากร เป็นบ่อน้ำที่อยู่คู่กับวัดเทพากรที่อยู่คู่มาชช้านานและในยุคก่อนในใช้เป็นที่จอดเรือที่พระสงฆ์ใช้ในการบิณฑบาตรทางน้ำแล้วจะมีเต่าและปลานานาชนิดอีกมากมายที่ชาวชุมชนและผู้ที่ทำบุญปล่อยเต่าปล่อยปลามาปล่อยไว้ต่อมาทางวัดได้ยกเลิกการบิณฑบาตทางน้ำไปแล้วแต่ปัจจุบันทางวัดและชุมชนก็ยังอนุรักษ์ไว้และได้ทำนุบำรุงเลื้อยมาและในครั้งนี้ก็เป็นการปรับแต่งภูมิทัศน์โดยดำริของ พระสุธี ธรรมโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพฯและเจ้าอาวาสวัดเทพากรให้พระอาจารย์รักษ์อนาลโยเจ้าคณะแขวงบางอ้อบางพลัดเขต 1 และรองเจ้าอาวาสวัดเทพากรได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยปรับพื้นกันขอบบ่อปู่ย่าปลูกต้นไม้และสร้างน้ำตกให้ดูสวยงามโดยถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระพันปีหลวง ด้วยความร่วมแรงร่วมใจบ้างก็ออกเงินบ้างก็ออกแรงและความคิดแสดงถึงความสามัคคี โดยมีช่างอ๋อยช่างบอยช่างเทินช่างโอ๊ตและช่างพงษ์เป็นผู้ดำเนินการในงานครั้งนี้
คลังข้อมูลชุมชน. วัดเทพากร แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/WatThephakon
คลังข้อมูลชุมชน. เรื่องเล่าชุมชน : บ่อเต่าวัดเทพากร. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/blog/159