Advance search

บ้านหาดบ้าย

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมไปถึงผ้าทอด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ 

หมู่ที่ 1 ถนนริมโขง
บ้านหาดบ้าย
ริมโขง
เชียงของ
เชียงราย
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
11 เม.ย. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
11 เม.ย. 2023
บ้านหาดบ้าย

ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ตัวชุมชนสร้างขึ้นบนหาดใหญ่ริมแม่น้ำ รูปร่างหาดนี้คล้ายพัดที่แผ่กว้างออกด้านปลาย ภาษาท้องถิ่นคำว่า “บ้าย” คืออาการผายกางออกไป ชื่อหมู่บ้านจึงได้มาตามลักษณะของหาดแห่งนี้


วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมไปถึงผ้าทอด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ 

บ้านหาดบ้าย
หมู่ที่ 1 ถนนริมโขง
ริมโขง
เชียงของ
เชียงราย
57140
อบต.ริมโขง โทร. 0-5316-0664
20.36979
100.2519
องค์การบริหารส่วนตำบลริมโขง

ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุกล่าวกันสืบมาว่า กาลครั้งหนึ่งมีพี่น้องสองคนหนีมากับคนอื่น ๆ จากสิบสองปันนา มาถึงบ้านสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ คนน้องตั้งถิ่นฐานที่นั้น แต่คนพี่นั้นหนีต่อไปยังประเทศลาว ต่อมาทางประเทศลาวเกิดกลียุค ผู้คนจากหลวงพระบางถูกกดขี่บังคับให้ส่งส่วยหนักขึ้น บางส่วนถูกเกณฑ์ให้ไปช่วยรบ เมื่อเดือดร้อนสุดจะทนก็พากันข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งประเทศไทยภายใต้การนำของพ่อเฒ่าหนานวัง และพ่อเฒ่าใหม่พรม ระยะแรกก็อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง แต่เพราะแม่น้ำกัดเซาะตลิ่งพังบ้านเรือนเสียหาย จึงย้ายเข้ามายังบริเวณที่เป็นหาดบ้ายในปัจจุบัน เมื่อทางราชการให้ไปจดทะเบียนเป็นคนไทย ผู้คนไม่รู้ว่าจะใช้นามสกุลอะไร จึงยืมนามสกุลธรรมรงค์ของพรรคพวกใช้ นามสกุลดังกล่าวกลายเป็นนามสกุลที่มีผู้ใช้มากกว่านามสกุลอื่น ๆ

ชุมชนบ้านหาดบ้ายมีพื้นที่ทั้งหมด 1,560 ไร่ ในจำนวนนั้นแบ่งตามประโยชน์ใช้สอยดังนี้ เป็นพื้นทีไร่ 800 ไร่ เป็นนา 345 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นที่ตั้งบ้านเรือน วัด โรงเรียน ศาลผี อนามัย และอื่น ๆ สภาพภูมิประเทศของชุมชน ด้านทิศตะวันออกคือแม่น้ำโขง ที่ตั้งหมู่บ้านและพื้นที่รอบข้างทั้ง 4 ด้านเป็นที่ราบที่ใช้เป็นทั้งที่นาและที่ปลูกพืชสวน ทางทิศตะวันตกของชุมชนเป็นทิวเขา พื้นที่ตามเชิงเขาคือที่ปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ ด้วยเป็นชุมชนริมลำน้ำ เนื้อดินร่วนปนทรายจึงเหมาะต่อการปลูกพืชล้มลุก ขณะเดียวกันการที่ด้านตะวันตกเป็นทิวเขาลดหลั่นกันลงมาสู่ด้านทิศตะวันออก จึงเกิดลำห้วยหลายสายไหลผ่านชุมชน คือ ห้วยปลิงและห้วยป่าผา ชาวบ้านได้อาศัยน้ำจากลำห้วยเพื่อการอุปโภคบริโภคนอกเหนือจากน้ำฝนและน้ำจากแม่น้ำโขง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรมโดยตรงนัก เพราะฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำโขงลดลงไปจากฝั่งมาก การจะทดแทนน้ำจากแม่น้ำเข้ามาใช้ในชุมชนเป็นไปได้ยาก พอฤดูน้ำหลากมาถึงน้ำมักจะไหลท่วมขึ้นมาถึงตัวชุมชน ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ลำห้วยจึงเป็นแหล่งน้ำที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อชาวบ้านค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการใช้น้ำจากลำห้วยเพื่อเพาะชำต้นกล้าข้าวก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง และมีป่าเขาที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง 6-7 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่มาแห่งปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านแถบนั้นอาคารสถานที่ต่าง ๆ

สถานที่สำคัญ

วัดหาดบ้าย เป็นศูนย์รวมของชุมชน บริเวณที่ตั้งวัดอยู่บนที่เนิน เมื่อมองจากภายนอกเข้าไปในชุมชนสามารถองเห็นหลังคาวิหารและหอระฆังได้เด่นชัดกว่าสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในบริเวณวัดมีกุฏิพระเพียง 4 หลัง ซึ่งก็พอบอกได้คร่าว ๆ ว่า ปกติจะมีพระไม่มากนัก ทั้งนี้ก็น่าจะสอดคล้องกับธรรมเนียมของชาวบ้านแถบล้านนาที่นิยมให้บุตรหลานบวชเณร (ลูกแก้ว) มากว่าบวชเป็นพระ พระสงฆ์ที่อยู่จำวัดส่วนใหญ่จึงเป็นพระสูงอายุ ช่วงฤดูร้อนโรงเรียนปิดภาคการศึกษาผู้ปกครองมักให้บุตรหลานบวชลูกแก้วกัน ที่วัดจึงดูคึกคักกว่าระหว่างเข้าพรรษา

โรงเรียนหาดบ้ายดอนทีวิทยา ตั้งอยู่ด้านตรงข้ามกับวัดหาดบ้าย นักเรียนก็คือเยาวชนในชุมชน มีครูในหมู่บ้าน 2-3 ราย ที่เหลือเป็นครูจากต่างถิ่นที่มาทำงานแบบไปเช้า-เย็นกลับ หรือกลับบ้านในวัดสุดสัปดาห์ บางรายอยู่นอกอำเภอเชียงแสนก็อาจพักประจำที่โรงเรียนหลายเดือน และกลับบ้านตอนปิดภาคการศึกษา

สถานีอนามัยตำบลริมโขง นับเป็นแหล่งปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ดีของชาวบ้าน ชาวบ้านรู้หลักการรักษาสุขภาพและการรักษาความเจ็บไข้ตามวิธีการรักษาพยาบาลแผนใหม่ 

การคมนาคม มีการจัดรถยนต์โดยสาร 3 คัน วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากชุมชนเข้าสู่อำเภอเชียงแสนวันละ 2 เที่ยว คือ เวลา 07.30 น. และเวลา 11.30 น. โดยจากอำเภอเชียงแสนเพื่อกลับเข้าหมู่บ้านเที่ยวสุดท้าย เวลา 15.30 น. หรือ สามารถนั่งเรือหางยาวไปยังบ้านหาดบ้าย โดยขึ้นที่ท่าเรือบั๊ก ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.

ประชากร

จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรปี 2565 เป็นชาย 291 คน หญิง 342 คน รวมเป็น 633 คน จาก 385 ครัวเรือน และนอกจากชาวลื้อ-เขิน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านแล้ว ยังมีคนยวน (คนเมือง) และคนลาว (จากประเทศลาว)ปะปนอยู่ด้วย คนเหล่านี้มักได้แก่เขยและสะใภ้ที่แต่งงานเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านตามคู่ครองของตนซึ่งเป็นคนท้องถิ่น

ระบบเครือญาติ

ภายหลังแต่งงาน ฝ่ายชายจะมาอยู่บ้านภรรยาเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นฝ่ายหญิงก็ไปอยู่บ้านฝ่ายชาย 3 ปี เช่นกัน ก่อนที่จะสร้างบ้านใหม่เป็นสัดส่วนของตัวเอง ชาวลื้อหาดบ้ายให้ความสำคัญกับญาติทั้งสองฝ่าย สมาชิกในวงศ์ตระกูลมีโอกาสพบปะกันอยู่เสมอทั้งในเวลาที่ต้องอาศัยแรงงานเพื่อทำนาไร่และช่วยเหลือกันในคราวที่มีพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิต ผู้อาวุโสยังมีบทบาทสำคัญต่อวงศ์วานอยู่มาก ด้วยเฉพาะคนรุ่นลูกหลานยังต้องปรึกษาขอความช่วยเหลือจากผู้อาวุโส 

สมาชิกในครอบครัวร่วมมือกันทำกิจกรรมทางการผลิต ปกติจะมีการแบ่งงานตามเพศและวัย ผู้หญิงจะรับผิดชอบการงานในบ้าน การปลูกพืชผลและเก็บเกี่ยวผลผลิต งานในบ้านนั้นรวมถึงงานเกือบทุกอย่างทั้งการทำอาหาร ซักเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หาน้ำมาเติมในโอ่งไห หาฟืนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มอาหาร กำจัดวัชพืชในไร่และทอผ้า หากมีบุตรสาวที่เริ่มโตก็จะเป็นกำลังช่วยแบ่งเบาภาระแม่ได้บ้างแม้จะเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เก็บฝ้าย และให้อาหารสัตว์ บางวันแม่หรือยายอาจฝึกให้ลูก-หลานสาวเริ่มทอผ้าอย่างง่าย ส่วนบุตรชายก็จะไปนาไร่กับพ่อเพื่อคอยดูแลวัวควายระหว่างที่หยุดพักทำงาน พอเติบโตมาเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็อาจไถนาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่แทนพ่อได้บ้าง เวลาผู้ใหญ่เข้าป่าเพื่อหาสิ่งของที่จะนำกลับมาดัดแปลงเป็นเครื่องใช้ ลูกชายก็จะเดินตามไปกับพ่อและพรรคพวกเสมอ ไม่นานก็รู้จักบังคับวัวควายให้ทำงานต่าง ๆ ได้ 

ไทยวน, ไทลื้อ

ชุมชนบ้านหาดบ้ายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าแบบขายส่งที่มีระบบการจัดการและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายระดับ หากแต่ชาวบ้านอาจไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับบุคคลเหล่านั้น แต่การอยู่ในเครือข่ายก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการผลิตของชุมชนเป็นอย่างมาก

ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำนาได้ปีละครั้ง ข้าวที่ปลูกคือข้าวเหนียว การทำนาจะเริ่มลงมือในเดือนมิถุนายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตเก็บเกี่ยวจากพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ จะได้ข้าวเปลือกประมาณ 100 ถัง รายได้หลักจะมาจากผลผลิตพืชไร่ ซึ่งมีทั้งการทำไร่ยาสูบ ข้าวโพด และพักกาดเขียวปลี (ที่จะนำไปทำผักกาดดอง) การทำไร่ข้าวโพดจะเริ่มต้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ด้วยการถางหญ้า ตระเตรียมพื้นที่ เมื่อมีฝนตกมา 1-2 ครั้ง ก็เริ่มหยอดเมล็ด จากนั้นเมื่อเดือนกันยายน-ตุลาคมมาถึงก็เป็นเวลาที่เก็บฝักข้าวโพดแก่ได้ ต่อจากนั้นก็จัดการถางหญ้าในไร่เอาตอซังข้าวโพดออกไปเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกยาสูบและผักกาด ซึ่งจะเจริญงอกงามดีในเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ด้วยระยะเวลาที่มีน้ำค้างมากพอที่จะหล่อเลี้ยงพืชผลได้ จนกระทั่งได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวในราวตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยไป หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว บางคนที่ไม่ได้ทำไร่ข้าวโพด หรือไร่ยาสูบพอจะมีเวลาว่างบ้างก็จะเริ่มลงมือทอผ้ากัน และจะทอกันมากยิ่งขึ้นในราวเดือนมีนาคม-เมษายน

ในเทศกาลที่ระบุอยู่ในปฏิทินประเพณีในรอบปี คือ กิจกรรมหลักของการเป็นพุทธศาสนิกชน การทำบุญใส่บาตรพระตอนเช้า ช่วงออกพรรษาพระที่ยังคงเหลือประจำวัดมักได้แก่ พระผู้สูงอายุเพียง 2-3 รูป และอาจจะไม่ออกมารับบิณฑบาตเหมือนตอนเข้าพรรษา ชาวบ้านก็จะจัดอาหารคาวหวานไปถวายที่วัดแทน

ปฏิทินประเพณีพิธีกรรม

  • เดือนเจ๋ง (เกี๋ยง) = ตานธรรมเดือนเจ๋งปิง
  • เดือนยี่ = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือน 3 = ตานข้าวใหม่ (เป็นการทำบุญฉลองผลผลิตข้าวที่เพิ่งจะเก็บได้ในปีนั้น)
  • เดือน 4 = ทานธรรมมหาชาติ (เทศมหาชาติ) แห่ข้าวปั้นก้อน
  • เดือน 5 = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือน 6 = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือน 7 = สงกรานต์
  • เดือน 8 = เข้ากรรมเมือง (เลี้ยงผีบ้าน)
  • เดือน 9 = เข้าพรรษา
  • เดือน 10 = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือน 11 = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือน 12 = ตานก๋วยสลาก (สลากพัตร)

ประเพณีเลี้ยงผี 

ชาวหาดบ้ายมีพิธีกรรมเมือง (เลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน) ทุกปี จุดประสงค์เพื่อให้ผีระดับชุมชนพึงพอใจกับการจัดงานเลี้ยงฉลอง ตามความเชื่อของท้องถิ่นนั้น ผีเสื้อบ้านเป็นผู้มีอำนาจกว้างขวางกว่าผีทั้งหลายในท้องถิ่นนั้น และอาจให้โทษได้ หากมีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนขนบธรรมเนียมประเพณี จะทำพิธีบริเวณตรงศาลประจำหมู่บ้าน เริ่มพิธีประมาณ 6 โมงเย็น โดยกว๋านจ้ำ (คนนำเลี้ยงผี) นำไก่ (ที่ยังมีชีวิต) ดอกไม้ ธูปเทียน จากชาวบ้านมารวมกัน ณ บริเวณศาลเพื่อเซ่นไหว้ผีในเวลาเดียวกันก็ปักตาเหลวทั้ง 4 ทิศรอบหมู่บ้าน โดยเฉพาะทางเข้า-ออกของหมู่บ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่ากำลังทำพิธี คนที่อยู่นอกหมู่บ้านจะเข้ามาไม่ได้ และคนที่อยู่ในหมู่บ้านก็จะออกไปไม่ได้เช่นกัน เช้าวันรุ่งขึ้นก็นำไก่ที่ฆ่าเอาเลือดสังเวยผีเสื้อบ้านแล้วนำมาทำอาหารเลี้ยงกัน งานจะดำเนินไปเช่นนี้เป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน นับเป็นเวลาที่หมู่บ้านจะเงียบสงัดเพราะห้ามทำกิจการงานใด ๆ ทิ้งสิ้น นอกเหนือจากการหุงหาอาหารประจำวันละทำธุระส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเสร็จพิธีจึงนำตะเหลวทั้ง 4 ออก หมู่บ้านก็จะกลับมาคึกอีกครั้ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หลังจากที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่น การทอพื้นบ้านของหาดบ้ายก็กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ซึ่งผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของหาดบ้ายได้แก่ ผ้าซิ่นตีนจก มีอยู่ 5 แบบ คือ (1) ซิ่นลาว (2) ซิ่นดอกเกาะหรือซิ่นเกาะแหย่หางปลา (3) ซิ่น 3 ดอก (4) ซิ่นตาปิ๋ง และ (5) ซิ่นดอกโตน  ซิ่นที่ชาวหาดบ้ายใส่มี 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนหัว - ผ้าแผ่นสีขาวหรือผ้าดิบ
  2. ส่วนตัว - ผ้าทอลายทางขวาง (ผ้าลาย 2) สีสันต่าง ๆ
  3. ส่วนตีน - ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการจกยกดอก

โดยต้องนำทั้ง 3 ส่วน มาต่อกันด้วยตะเข็บชนิดหนึ่งที่มีความแข็งแรงมาก ๆ เช่น ตะเข็บสันปาซ่อน ลวดลายที่นิยมทอจกให้เป็นตีนซิ่น คือ ลายดอกฮ่อ ลายรูปหงส์ ลายรูปม้า ลายรูปช้าง และลายดอกขอใหญ่ ซึ่งทำสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ

ภาษาพูด : ลื้อ

ภาษาเขียน : ตัวอักขระเป็นแบบเดียวกับภาษาของชาวล้านนา อักษรระบบการสะกดเหมือนกัน

กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน

ภาษาพูด : เขิน

ภาษาเขียน : ใช้อักษรชนิดเดียวกันกับล้านนา (ตัวเมือง)


มีการสร้างถนนเชื่อมกับหมู่บ้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมระดับอำเภอ อย่างอำเภอเชียงแสน การคมนาคมที่รวดเร็วย่อมส่งผลให้มีสิ่งใหม่ ๆ หลั่งไหลเขาสู่หมู่บ้าน เห็นได้ชัดจากการขยายพื้นที่ตามไหล่เขาที่เคยปลูกพืชเพื่อยังชีพ เช่น ฝ้ายและพริกชี้ฟ้าหรือพริกขี้หนูเพื่อทำพริกแห้ง ชาวบ้านได้ลดหรือเลิกปลูกพืชเหล่านี้โดยปลูกข้าวโพด ยาสูบ ผักกาดเขียวปลีและกะหล่ำปลีแทน ซึ่งการปลูกพืชเพื่อส่งออก ทำให้ผู้ที่มีทุนเริ่มซื้อรถไถนา และใช้รถลากจูงตัวถังที่สามารถบรรทุกสิ่งของรวมคนได้คราวละหลาย ๆ คน รวมไปถึงการปลูกพืชผลใหม่ ๆ ที่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้พืชผลมีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ความจำเป็นนี้ทำให้ชาวบ้านต้องออกไปหาซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อการเกษตรจากตลาดในเมือง ขณะเดียวช่วงการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนแถบสามเหลี่ยมทองคำและหมู่บ้านต่าง ๆ  ริมแม่น้ำโขงในละแวกนั้นโดยตรง ซึ่งผู้คนในชุมชนหาดบ้ายก็ตื่นตัวไปกับปรากฎการณ์นั้นด้วย เพราะคาดหวังว่าถ้าการท่องเที่ยวขยายตัวมาถึงชุมชนหาดบ้ายและมีการซื้อที่ดินกันอย่างคึกคักเหมือนเช่นแถบสามเหลี่ยมทองคำ



การประกาศพื้นที่ป่าเขาส่วนใหญ่เป็นเขตอนุรักษ์ทำให้จากที่เคยขยายพื้นที่ปลูกพืชตามไหล่เขานั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะเป็นเขตป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ ประชากรท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นจึงประสบปัญหาที่ทำกิน บางส่วนต้องเคลื่อนย้ายจากชุมชนเพื่อไปหางานทำตามเมืองต่าง ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ( ม.ป.ป.). บ้านหาดบ้าย. ค้นคืนเมื่อ 11 เมษายน 2566, https://thai.tourismthailand.org

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 11 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research

เชียงรายโฟกัส. (2559). บ้านหาดบ้าย. ค้นคืนเมื่อ 11 เมษายน 2566, จาก http://www.chiangraifocus.net

ฐาปนีย์ เครือระยา. (2563). ไทเขิน. ค้นคืนเมื่อ 11 เมษายน 2566, จาก https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/1250

แนวหน้า. (2565). ‘ เชียงราย’ฟื้นท่องเที่ยว‘ทอสายบุญ จุลกฐิน ถิ่นไทลื้อโบราณ’บ้านหาดบ้าย เชียงของ. ค้นคืนเมื่อ 11 เมษายน 2566, จาก https://www.naewna.com/likesara/688197 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต. ( ม.ป.ป.). หาดบ้าย หาดทรายทอง วิถีชีวิตบนเกษตรริมโขง. ค้นคืนเมื่อ 11 เมษายน 2566, จาก http://www.livingriversiam.org

chiangkhong. (2563). อำเภอเชียงของ ชู ไทลื้อหาดบ้าย หาดทรายทอง แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ล่องเรือแม่น้ำโขง นั่งอีแต๋นชมธรรมชาติ กระตุ้นการท่องเที่ยวไทย คาดหนาวนี้นักท่องเที่ยวคึกคัก. ค้นคืนเมื่อ 11 เมษายน 2566, จาก https://district.cdd.go.th/chiangkhong