Advance search

บ้านจัดสรร

การรวมตัวของผู้คนจากหลายชุมชนมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่จัดสรรจากทางการ เนื่องจากผลกระทบการสร้างเขื่อนในที่ชุมชนเดิม สู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่แต่ยังคงรักษาวิถีดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

หมู่ที่ 3, 4
หมู่บ้านจัดสรร
สามเงา
สามเงา
ตาก
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
18 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
18 ม.ค. 2024
ชลประทานรังสรรค์
บ้านจัดสรร

ชาวบ้านที่มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่คือกลุ่มชนชาวบ้านนาที่ย้ายถิ่นจากที่อยู่เดิม ซึ่งรัฐบาลโดยกรมชลประทานได้จัดสรรที่อยู่อาศัยให้ เนื่องจากรัฐบาลประกาศสร้างเขื่อนคอนกรีตกั้นลำน้ำปิงขึ้นใต้ชุมชนเดิม


การรวมตัวของผู้คนจากหลายชุมชนมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่จัดสรรจากทางการ เนื่องจากผลกระทบการสร้างเขื่อนในที่ชุมชนเดิม สู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่แต่ยังคงรักษาวิถีดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

หมู่บ้านจัดสรร
หมู่ที่ 3, 4
สามเงา
สามเงา
ตาก
63130
17.214635346530102
99.04987397614474
เทศบาลตำบลสามเงา

ชุมชนชลประทานรังสรรค์ คือ หมู่บ้านจัดสรร หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตำบลสามเงา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก  เริ่มก่อตั้งเป็นชุมชนอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา ชาวบ้านที่มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ คือกลุ่มชนชาวบ้านนาที่ย้ายถิ่นจากที่อยู่เดิมที่อาศัยอยู่มากว่า 1,000 ปี เพราะแม่น้ำท่วมหมู่บ้านนาทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลประกาศสร้างเขื่อนคอนกรีตกั้นลำน้ำปิงขึ้นใต้ชุมชนหมู่บ้านนาลงไปประมาณ 8 กิโลเมตร  

หมู่บ้านที่บ้านนาทั้ง 9 หมู่บ้าน คือ บ้านใต้ห้วย บ้านเหนือห้วย บ้านโค้งวัดหลวง บ้านท่าเดื่อ บ้านท่าพิมาน บ้านท่าโป่ง บ้านทุ่งจ๊ะ บ้านห้วย และบ้านห้วยบง  ทั้งหมด มีวัด 8 วัด คือ วัดศรีแท่น วัดดอนแก้ว วัดหลวง วัดท่าเดื่อ วัดท่าโป่ง วัดบ้านห้วย วัดอูมวาบ และวัดพระธาตุลอย และ อีก 6 โรงเรียน คือ โรงเรียนผดุงวิทย์ โรงเรียนราษฎร์บำรุง โรงเรียนบ้านท่าโป่ง โรงเรียนบ้านห้วย โรงเรียนบ้านโสมง และโรงเรียนบ้านอูมวาบ  

ชาวบ้านกว่า 500 ครอบครัว ที่อยู่กันมาอย่างสงบสุขและเรียบง่าย ได้รับผลกระทบโดยตรงต้องย้ายถิ่นฐาน ย้ายบ้านย้ายข้าวของ เครื่องมือเครื่องใช้ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ และทรัพย์สินมีค่าของส่วนรวม จาก 8 วัด โดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุในปลียอดพระธาตุลอย พระเจ้าทันใจสามพี่น้อง พระพุทธรูป โบราณวัตถุต่างๆ รวบรวมข้าวของได้ถึง 13 แพ ชาวบ้านนาตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด บางคนเล่าว่าแม้นแต่เสียงลมจากบนภูเขายังฟังเป็นเสียงร่ำไห้ของวิญญาณบรรพบุรุษที่เสียใจ สงสารในชะตากรรมของลูกหลาน ที่จากอ้อมอกของปู่ย่าตายายไปอย่างไม่มีวันหวนกลับมาอีกแล้ว

ปี พ.ศ. 2500 ประชาชนชาวบ้านนาส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 จาก 9 หมู่บ้าน เริ่มย้ายถิ่นไปอยู่หมู่บ้านจัดสรร หมู่ที่ 3 และ หมู่ที่ 4  ตำบลสามเงา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ซึ่งรัฐบาลโดยกรมชลประทานได้จัดสรรที่อยู่อาศัยให้ ตามที่จับจองกันไว้ในแผนที่พิมพ์เขียวที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หลังจากที่ได้รับแจ้งให้ย้ายออกจากบ้านนา  ชาวบ้านนาออกเดินทางแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ดังนี้  

1.  กลุ่มใหญ่ที่สุด ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านจัดสรร หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตำบลสามเงา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ตามที่กรมชลประทานกำหนดให้

2.  บางครอบครัวถอยร่นขึ้นไปที่สูงพ้นเขตน้ำท่วม  และ ตั้งหมู่บ้านใหม่ คือ บ้านสันป่าป๋วย บ้านห้วยริน บ้านวังคำ และไปอยู่กับหมู่บ้านเดิมเหนือเขื่อนขึ้นไป คือ บ้านโสมง บ้านอูมวาบ  

3.  บางครอบครัวอาศัยอยู่ที่เดิม แต่เปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นชาวแพ

4.  บางครอบครัวย้ายไปต่างจังหวัด เช่น ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย และกำแพงเพชร

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจัดสรรกล่าวตรงกันว่า เมื่อมาตั้งบ้านเรือนช่วง 5 ปีแรก ลำบากมากเพราะต้องแผ้วถางป่า ตัดต้นไม้ใหญ่เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านจัดสรรนี้เดิมเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์จากไม้เหล่านี้นำมาแปรรูปเป็นไม้กระดานเพื่อสร้างบ้านเรือนได้เป็นอย่างดี ทำให้บ้านเรือนของชาวบ้านมีความแข็งแรงทนทานกว่าบ้านเรือนที่บ้านนาที่ส่วนใหญ่ทำมาจากฟากไม้ไผ่ หลังจากเลื่อยไม้แผ่นได้แล้วยังมีไม้ปีกเหลือให้ชาวบ้านนำมาทำเป็นรั้วกั้นอาณาเขตบ้านแต่ละหลัง อีกทั้งยังช่วยป้องกันโจรขโมยซึ่งชุกชุมมากในระยะแรกที่อพยพมา

หมู่บ้านจัดสรร หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตำบลสามเงา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ชุมชนตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง การปลูกสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านที่ย้ายมาจากบ้านนาถูกกำหนดตามแผนผังของหมู่บ้านที่มีถนนตั้งแต่สาย 1 ถึงสาย 8 วางแนวขนานกับแม่น้ำปิง นับจากริมฝั่งแม่น้ำขึ้นไป ถนนในหมู่บ้านแต่ละสายจะตรงและขนานกัน มีถนนเป็นซอยตัดตั้งแต่ซอย 1 เหนือสุดของหมู่ที่ 4 ถึงซอย 10 เลียบคลองชลประทานในหมู่ที่ 3 แผนผังหมู่บ้านเป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในหมู่บ้านไม่มีแปลงไร่นา แต่อาจจะมีไม้ผลปลูกภายในพื้นที่เขตปลูกบ้าน กรมชลประทานได้จัดสรรที่ดินไว้ให้คนบ้านนาครอบครัวละ 1 ไร่ เพื่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย ส่วนที่ทำกินไร่นา จัดให้อยู่โดยรอบหมู่บ้านจัดสรรและกระจายไกลออกไป บางครอบครัวได้ที่ทำกินไกลออกไปถึง 20 กิโลเมตร สภาพหมู่บ้านจัดสรรช่วงปี พ.ศ. 2500-2505 เป็นป่าทึบมีต้นไม้ขนาดใหญ่ 3–4 คนโอบ เป็นจำนวนมาก ถนนในหมู่บ้านเป็นทางดินเดิน มีโจรขโมยชุกชุมปล้นฆ่าชาวบ้านนาไปหลายคนด้วยคิดว่ามีเงินมีทองให้แย่งชิง หมู่บ้านจัดสรรในระยะแรกประมาณ 10 ปี ยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีโรงพยาบาล ในปัจจุบันได้รับการพัฒนาและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

ชุมชนชลประทานรังสรรค์ ประกอบด้วย 2 หมู่บ้านหลัก คือหมูู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตำบลสามเงา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีประชากรดังนี้

  • บ้านสันประปา หมู่ที่ 3 มีจำนวน 82 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 113 คน หญิง 116 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 229 คน
  • บ้านที่โป่ง หมู่ที่ 4 มีจำนวน 150 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 172 คน หญิง 197 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 369 คน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คนบ้านนายึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนาสูงสุด ดำเนินวิถีชีวิตตามขนบธรรมเนียนประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของชาวพุทธ ประพฤติปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด แม้นจะย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่หมู่บ้านจัดสรรแล้วก็ตาม ก็ยังคงดำเนินชีวิตเหมือนครั้งอยู่บ้านนาไม่เปลี่ยนแปลง ได้นำพาลูกหลานที่มาเกิดที่หมู่บ้านจัดสรรประพฤติปฏิบัติตามทุกงานบุญประเพณีต่างๆ ตลอดปี โดยกรมชลประทานได้กำหนดพื้นที่สร้างวัดไว้แล้ว ให้ชื่อว่า วัดชลประทานรังสรรค์ โดยรวม 8 หัววัดในน้ำจากบ้านนาในน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล เหลือเพียงวัดเดียว การก่อสร้างวัดนำโดยครูบาขาวปี คณะสงฆ์ ชาวบ้านนาที่พอจะช่วยกันได้ และจ้างช่างหรือสล่าด้วย เริ่มวางแปลนลงมือก่อสร้างและแล้วเสร็จระหว่างปี พ.ศ. 2502–2505 ในระยะแรกนี้ ศาลาวัดที่สร้างเสร็จพอจะเป็นห้องเรียนชั่วคราวได้ ให้เป็นที่เรียนหนังสือของนักเรียนที่ย้ายมาจาก 6 โรงเรียนในหมู่บ้านนาด้วย จนกว่าโรงเรียนชลประทานรังสรรค์จะสร้างเสร็จ

วัดชลประทานรังสรรค์จึงเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน และพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และประเพณีปฏิบัติของชาวบ้านยังคงสืบทอดและรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยมีกิจกรรมที่สำคัญคือ

  • งานเดือนห้า งานประจำปีเพื่อนมัสการพระเจ้าทันใจสามพี่น้อง
  • งานสงกรานต์ จะมีการแห่หลวงพ่อทันใจ
  • งานกินฮ้าว เพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน
  • งานนมัสการพระธาตุลอย มีการแห่ผ้าแว้ง (ผ้าห่มพระธาตุ)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • วัดชลประทานรังสรรค์
  • งานประเพณีเทศกาลประจำปี
  • ศิลปะการแสดง เพลงจ้อย เล่าค่าว
  • ภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่น
  • โรงเรียนชลประทานรังสรรค์
  • ตลาดเทศบาล 1 บ้านจัดสรร
  • ทรัพยากรน้ำ แม่น้ำปิง
  • ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้บริเวณชุมชน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แรกเริ่มการย้ายถิ่นฐานของชุมชน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับชาวบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประกอบอาชีพ เพราะที่ดินที่ได้รับจัดสรรยังเป็นป่าไม้ไม่สามารถทำนาทำไร่ได้ในทันที และอยู่ไกลออกไปจากหมู่บ้าน ประกอบกับมีการจ้างแรงงานผู้ชายให้เป็นลูกจ้างสร้างเขื่อนภูมิพล โดยรับแรงงานทั้งหมดที่สมัครใจทำงาน ได้เงินค่าจ้างวันละ 12 บาท จ่ายเงินเป็นวิค (สองสัปดาห์ต่อครั้ง) ระยะทางจากหมู่บ้านไปถึงที่ทำงานบริเวณสร้างเขื่อนไกลเกินกว่าจะเดินด้วยเท้าได้ เป็นถนนลูกรัง ทำให้คนงานที่ไปรับจ้างสร้างเขื่อนต้องซื้อรถจักรยานขี่ไปทำงาน ส่วนผู้หญิงถ้าหากใครสนใจสมัครจะทำงานที่เขื่อนก็จะได้เป็นคนสวนปลูกดอกไม้ เป็นแม่บ้านทำความสะอาด หรืออาจจะได้เป็นคนเดินหนังสือในที่ทำการของเขื่อน เงินค่าจ้างตามความหนักเบา ความรับผิดชอบในแต่ละงานต่างกันไปแต่มีรายได้แน่นอน ไม่เหมือนการทำการเกษตร ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ แมลงศัตรูพืชหรือภัยธรรมชาติ แต่ก็ยังมีบางครอบครัวที่มุ่งมั่นจะทำอาชีพทางการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ เมื่อหักร้างถางพงจนได้แปลงนาแล้วลงมือทำนา ในช่วง 10 ปีแรก ชาวบ้านยังทำนาด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมเหมือนที่บ้านนา เช่น การเอาแรงช่วยกันหรือที่เรียกว่าการ การลงแขก เมื่อถึงเวลาไถนา หว่านข้าว เก็บเกี่ยว นวดและตีข้าว ชาวบ้านจะไปเอาแรงช่วยกัน การตีข้าวในที่นาจะตีเวลากลางคืน เพราะอากาศเย็นสบายและความมืดทำให้มองไม่เห็นฝุ่นละออง ประกอบกับมีน้ำค้างลงบ้างทำให้ฝุ่นละอองน้อยลง ในขณะที่ผู้ชายช่วยกันตีข้าว ผู้หญิงจะช่วยกันทำอาหาร  เด็กๆ ช่วยกัน และบ้างก็เล่นก่อกองฟาง หญิงชายจะร่วมกันร้องเพลงจ้อย เล่าค่าว เกี้ยวพาราสีกัน หรือบางเพลงก็รำพึงรำพันถึงความสุข ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านนาที่จากมา เพลงจ้อยเล่าค่าวยิ่งดึกยิ่งเสียงดังก้องท้องทุ่งได้ยินทั่วหมู่บ้านจัดสรร ได้ฟังแล้วเกิดความรู้สึกอบอุ่นในความรักความเอื้อเฟื้อกันในหมู่ญาติมิตร

ส่วนอาชีพค้าขายที่หมู่บ้านจัดสรร มีร้านค้าที่เปิดบริเวณหน้าบ้านของคนที่ต้องการขายของ ยังไม่มีตลาดเป็นศูนย์รวมการค้าขายในหมู่บ้าน ถ้าหากชาวบ้านต้องการซื้อสินค้าที่ครบครันแบบสังคมเมือง  ก็จะนั่งรถยนต์โดยสารไปซื้อที่ตลาดเขื่อนภูมิพล หรือที่จังหวัดตาก ซึ่งการคมนาคมโดยรถยนต์โดยสารประจำทางที่เรียกว่า รถคอกหมู ถ้าจากหมู่บ้านจัดสรรไปเขื่อนภูมิพล จะมีวันละ 2 เที่ยว เช้าเย็น เพื่อรับคนงานที่ไปทำงานที่เขื่อนภูมิพลด้วย

วัดชลประทานรังสรรค์

วัดชลประทานรังสรรค์ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดจัดสรร" เพราะตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่ทางราชการจัดให้ ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2505 วัดสร้างขึ้นโดยกรมชลประทานเพื่อทดแทนวัดเดิมในตำบลบ้านนา 8 วัด คือ วัดท่าโป่ง วัดท่าเดื่อ วัดหลวง วัดศรีแท่น วัดบ้านห้วย วัดดอนแก้ว วัดธาตุลอย และวัดอุมวาบ เนื่องจากบริเวณที่ตั้งเดิมอยู่ในเขตที่จะถูกน้ำท่วมตามโครงการสร้างเขื่อนภูมิพล โครงการไฟฟ้าพลังน้ำยันฮี ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เมื่อได้จัดสร้างแล้วได้มีการขนานนามเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ในการก่อสร้าง ว่า "วัดชลประทานรังสรรค์" สำหรับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดชลประทานรังสรรค์นั้นเกิดจากการสนับสนุน ของนักวิชาการมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำการบูรณาการตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น ในส่วนของศิลปะโบราณวัตถุเก่าที่มีมาแต่ยุคก่อนสุโขทัยของชาวชุมชนบ้านนา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 800 ชิ้น ได้มีการนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑธสถานแห่งชาติในช่วงที่น้ำท่วม

คลังข้อมูลชุมชน. สามเงา จ.ตาก. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/SamNgao

ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2555). พิพิธภัณฑ์นิธิวิจิตรพิพัฒโนดม (วัดชลประทานรังสรรค์). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ; จาก https://db.sac.or.th/museum/

เทศบาลตำบลสามเงา. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). เทศบาลตำบลสามเงา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก