Advance search

บ้านแม่ขะปู

ชุมชนดั้งเดิมของชาวลัวะ ที่มีประวัติศาสตร์เรื่องเล่าชุมชนที่น่าสนใจ ภายหลังจึงมีผู้คนชาวปกาเกอะญอเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณชุมชนจนถึงปัจจุบัน

หมู่ที่ 3
แม่ขะปู
บ่อแก้ว
สะเมิง
เชียงใหม่
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
19 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
18 ม.ค. 2024
บ้านแม่ขะปู

ชื่อ “แม่ขะปู” นั้นมาจากชื่อของผักกูด โดยในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “กุปูเคาะ” และเพี้ยนมาเป็น ขะปู และใช้เป็นชื่อชุมชนในปัจจุบัน


ชุมชนดั้งเดิมของชาวลัวะ ที่มีประวัติศาสตร์เรื่องเล่าชุมชนที่น่าสนใจ ภายหลังจึงมีผู้คนชาวปกาเกอะญอเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณชุมชนจนถึงปัจจุบัน

แม่ขะปู
หมู่ที่ 3
บ่อแก้ว
สะเมิง
เชียงใหม่
50250
อบต.บ่อแก้ว โทร. 0-5200-9474, 06-4349-9119
18.794706608708914
98.58681688705492
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว

ชุมชนบ้านแม่ขะปูเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ก่อนที่จะมีคนชนเผ่าปกาเกอะญอเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณบ้านแม่ขะปู บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลั๊วะมาก่อน ซึ่งเห็นได้จากซากวัดเก่า (วัดร้างลั๊วะ) ที่พบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณบ้านแม่ขะปูใน แม่ขะปูเปียง แม่ขะปูหลวง แม่ขะปูเหนือ หรือจากหลักฐานป่าช้าลั๊วะ ในบริเวณ ดอยคริซูโจ๊ะ ม่อย่าโข่ว ก่าโจ๊ะโข่ว ห่อละโจ๊ะโข่ว และภายหลังที่ชาวลั๊วะได้ละทิ้งถิ่นฐานออกไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2287 ชาวไทยภูเขา ปะกาเกอะญอ นำโดย อาเจะ แซเจะ จึงได้เดินทางจากเชียงใหม่ (แม่สาบ) เข้ามาอยู่ในบริเวณนี้โดยชาวปะกาเกอะญอ ได้อาศัยอยู่บริเวณนี้มาแล้ว 7 ช่วงคน หมู่บ้านแม่ขะปู ประกอบไปด้วย 5 หย่อมบ้านคือ แม่ขะปูเหนือ แม่ขะปูหลวง แม่ขะปูเปียง แม่ขะปูใน และห้วยตองสาด

กำเนิดหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง

การกำเนิดหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้นมีอยู่ 2 ความเชื่อหลัก ๆ ได้แก่

  1. ความเชื่อเรื่องก้อนเนื้อ
  2. ความเชื่อเรื่องการย้ายเข้ามาอยู่ของคนดูแลช้างของเจ้าเมือง

ความเชื่อเรื่องก้อนเนื้อมีเนื้อหาโดยสังเขปว่า ในอดีตภายในพื้นที่หมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของคนลั๊วะ หลังจากคนในพื้นที่ทำให้เกิดความเสื่อมของศาสนาจึงมีก้อนเนื้อตกลงมาในหมู่บ้าน ในช่วงแรกชาวบ้านก็เก็บก้อนเนื้อที่ตกลงมาทำอาหาร แต่พอก้อนเนื้อตกลงมาเรื่อย ๆ ก็ไม่สามารถกินไหว ก้อนเนื้อจึงบอกกับชาวบ้านว่า “ถ้าชาวบ้านไม่กิน ก็จะกินชาวบ้านแทน” ชาวบ้านที่เป็นคนลั๊วะจึงได้หนีออกจากพื้นที่นั้นแล้วกระจายไปอยู่อาศัยตามที่ต่าง ๆ และตำนานนี้ก็ส่งผลต่อเนื่องให้กับตำนานก้อนหินที่ไล่ทับคนลั๊วะ

ความเชื่อเรื่องการย้ายมาอยู่ของคนดูแลช้างของเจ้าเมืองนี้เป็นอีกตำนานหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาโดยสังเขปว่า นอกจากความเชื่อเรื่องก้อนเนื้อแล้วมีความเชื่อว่าพื้นที่แม่ขะปูเปียงนี้ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่เป็นผู้ดูแลช้างให้กับเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ในบริเวณนี้ก็เป็นที่พักช้างที่ถูกใช้แรงงานมาจากในเมือง ซึ่งชื่อ “แม่ขะปู” นั้นก็มาจากชื่อของผักกูด หรือ ในภาษาท้องถิ่นก็คือ “กุปูเคาะ” ส่วน “เปียง” ก็เป็นชื่อของวัดที่อยู่ในบริเวณนี้ แต่ก็มีอีกความเชื่อหนึ่งที่ได้ข้อมูลจากการไปลงพื้นที่สัมภาษณ์พ่ออุ๊ยโซเจ๊ะที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในตอนที่ยังเด็กพ่ออุ๊ยได้ย้ายมามาอาศัยอยู่ที่นี่กับพ่อของพ่ออุ๊ยนั้นมีผู้อยู่อาศัยที่นี่แค่เพียง 2 ครอบครัวเท่านั้น (พระประจักษ์ โสธโน และพ่ออุ๊ย โซเจ๊ะ ; คลังข้อมูลชุมชน ศมส.)

บ้านแม่ขะปู ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวอำเภอสะเมิง ระยะทาง 40 กิโลเมตร โดยประมาณ อยู่ในบริเวณที่ระดับความสูง 980-1,600 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีภูเขาโอบล้อมรอบทำให้ชุมชนตัดขาดจากตัว ตำบลบ่อแก้ว ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักที่จะไปสิ้นสุดที่อำเภอวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยมีขนาดใหญ่จำนวน 5 ดอย แต่ละดอยเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำสำคัญดังนี้

  • ดอยกะโจะ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน เป็นแหล่งกำเนิด ห้วยแม่ขะปู เลอะพะโด่ะโกละ ตะตอโพป่อโกละ จึ่ยพะแลโกละ ลาคือโกละ (ห้วยตองสาด)
  • ดอยโม่ย่าโม่ เป็นแหล่งกำเนิด ห้วยป่อย่าหล่าโกละ มะกอกโกละ หว่าเกรอะโกละม่อนย่าอาพา เป็นแหล่งกำเนิด ห้วยโถ่กอโกละ กะแนเครือโกละ ฉึ่ยบือโสะโกละ บือคาโกละ เส่เทาโจ่โกละ
  • ดอยห้วยน้ำจาง ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของหมู่บ้าน เป็นแหล่งกำเนิดห้วยน้ำจาง ทีบราโกละ โซ่พาทอโกละ คริซูโจะ ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เป็นแหล่งกำเนิดทีโปโพโกละ แนะมือโกละ หน่ออู่หรูโกละ บ่อโคโชโกละ พือโค่โกละ ซึ่งไหลลงน้ำแม่ขะปู น้ำแม่โต๋ น้ำแม่บ่อแก้ว น้ำแม่ขาน น้ำแม่วางน้ำแม่ปิง และเจา้พระยาตามลำดับ ลักษณะทั่วไปของป่าในเขตแม่ขะปูแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ป่าเกอเนอหมื่อ (ป่าดิบเขา) และป่าเกอเนอพา (ป่าเบญจพรรณ)

มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 27,500 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ดอยโกหว่าชูช่า บ้านคริซูใน หมู่ 10 ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ดอยกะโจะโขว่หรือดอยโตน แนวเขตบ้านทุ่งหลวงและบ้านห้วยอีค่าง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ดอยผาลาย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ดอยม่อนยะ

หมู่บ้านแม่ขะปู ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบไปด้วย 5 หย่อมบ้านคือ แม่ขะปูเหนือ แม่ขะปูหลวง แม่ขะปูเปียง แม่ขะปูใน และห้วยตองสาด มีประชากรทั้งหมดจำนวน 1,135 คน แบ่งเป็นชาย 620 คน หญิง 515 คน

ปกาเกอะญอ, ม้ง

ประชากรในเขตตำบลบ่อแก้วส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การเกษตรเป็นอาชีพหลักคือ การทำไร่ ทำนา การทำนาจะอยู่ตามที่ราบ ตามเนินเขาจะทำแบบขั้นบันได อาชีพรอง คือ การปลูกพืชผัก สตรอว์เบอร์รีและไม้ผล การปลูกพืชผักส่วนใหญ่จะปลูกกะหล่ำปลี แครอท ผักกาดหางหงษ์ ผักกาดขาวปลี ปัจจุบันพืชที่ทำรายได้ให้แก่ตำบลตอนนี้คือ สตรอว์เบอร์รี ส่วนไม้ผลจะปลูกไม้ผลเมืองหนาว เช่น สาลี่, ท้อ,พลับ เป็นส่วนใหญ่

การปศุสัตว์ ในพื้นที่ตำบลบ่อแก้ว มีสัตว์ที่เป็นสัตว์ทางการเกษตร เช่น หมู ไก่ วัว ควาย เป็นส่วนมากจะมีการฉีดวัคซีนให้แก่ สัตว์โดย ปศุสัตว์อำเภอสะเมิง ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว เป็นผู้ให้ความรู้เรื่องการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ และการดูแลสัตว์ให้ประชาชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ความเชื่อภายในหมู่บ้านแม่ขะปู

ความเชื่อภายในหมู่บ้านแม่ขะปูนั้นมีทั้งความเชื่อทั้งแบบการนับถือผี และนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งในปัจจุบันผู้คนในหมู่บ้านก็หันมานับถือศาสนาพุทธกันมากขึ้น เห็นได้ชัดจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ “พิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่ย่า” ที่ในอดีตเคยมีความสำคัญมากถึงขนาดที่ว่า ไม่ว่าสมาชิกครอบครัวจะอาศัยอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้เมื่อที่บ้านมีพิธีเลี้ยงผีปู่ย่าก็ต้องกลับมาร่วมพิธีอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกคน แต่ในปัจจุบันเมื่อคนในหมู่บ้านเปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนากันมากขึ้นพิธีกรรมนี้ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ย่าถูกลดความสำคัญลงเป็นเพราะต้องใช้กำลังทรัพย์ในการใช้จ่ายซื้อของมาใช้ในการทำพิธีค่อนข้างสูง และสมาชิกหลาย ๆ คนในครอบครัวไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมพิธีกรรมแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ชาวบ้านภายในหมู่บ้านแม่ขะปูที่หันมานับถือพุทธศาสนาจึงหันมาทำบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับหรือเรียกอีกอย่างว่าการ “ทานขันข้าว” นอกจากความเชื่อในด้านศาสนาแล้วภายในหมู่บ้านแม่ขะปูนั้นยังมีความเชื่อเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในหมู่บ้าน ในหมู่บ้านแม่ขะปูนั้นมีแหล่งน้ำอยู่หลายแห่ง แต่ที่มีความเชื่ออย่างเคร่งครัดเลยก็คือ “น้ำตกท้ายหมู่บ้าน” ที่มีความเชื่อกันว่าห้ามไปเล่นน้ำในวันอาทิตย์ และวันพระ (วันศีล) แต่จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ได้ข้อมูลว่าสาเหตุที่แท้จริงในการห้ามเล่นน้ำตกในวันอาทิตย์ และวันพระนั้นเป็นเพราะ ส่วนมากเด็ก ๆ ในหมู่บ้านที่ไปเล่นน้ำบริเวณน้ำตกในวันอาทิตย์แล้วกลับบ้านมาส่วนมากจะไม่สบาย ส่วนที่ห้ามไปเล่นน้ำตกในวันพระนั้นเป็นเพราะว่ามีผู้สูงอายุมีอาการลมชัก หรือลมบ้าหมูแล้วเสียชีวิตบริเวณน้ำตกในวันพระ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คลังข้อมูลชุมชน. บ้านแม่ขะปูเปียง จังหวัดเชียงใหม่. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BanMaeKhaPuPiang

มูลนิธิสยามกัมมาจล. (ม.ป.ป.). ข้อมูลชุมชนบ้านแม่ขะปู ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. (ไม่ได้ตีพิมพ์). สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ; จาก https://www.scbfoundation.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่.