ชุมชนที่ดำรงวิถีตามประเพณีทางภาคอีสาน อีกทั้งยังปรากฏมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หมอลำสินไซ ที่นำมาบูรณาการพัฒนาพื้นที่ป่าสู่อุทยานการเรียนรู้สินไซ
เมื่อสภาพภูมิประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจึงทำให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านคิดที่จะเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น บ้านห้วยหว้า การเปลี่ยนชื่อในครั้งนั้นยึดถือลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ลำห้วยมี ต้นหว้า จำนวนมาก (หว้าขี้มดหรือหว้าสีชมพู) จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากเดิมบ้านป่าดู่มาเป็น บ้านห้วยหว้า
ชุมชนที่ดำรงวิถีตามประเพณีทางภาคอีสาน อีกทั้งยังปรากฏมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หมอลำสินไซ ที่นำมาบูรณาการพัฒนาพื้นที่ป่าสู่อุทยานการเรียนรู้สินไซ
ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านห้วยหว้าปรากฏข้อสันนิษฐานต่างกันแบ่งออกเป็นสองชุดข้อมูล ดังนี้
1. เดิมผู้คนอพยพมาจากบ้านหนองบอนอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองสำโรง หลังจากนั้นช่วงปี พ.ศ. 2406 นายบุษบา ปองลี พร้อมกับชาวบ้าน 6-7 ครัวเรือน ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพื้นที่บ้านห้วยหว้าในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นประดู่และต้นหว้าจำนวนมาก อีกทั้งมีลำห้วยหว้าไหลผ่านสามารถหล่อเลี้ยงผู้คนได้ โดยแต่เดิมหมู่บ้านชื่อว่า บ้านป่าดู่ หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2488 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อบ้านเป็นบ้านห้วยหว้า และในปี พ.ศ. 2489 ได้แยกออกจากตำบลบ้านเหล่า ไปขึ้นกับตำบลโนนฆ้อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 มีการแยกออกจากอำเภอเมืองมา เป็นอำเภอบ้านฝาง บ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง จึงขึ้นกับอำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันบ้านห้วยหว้าแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ ได้แก่ บ้านห้วยหว้า หมู่ 6 และบ้านห้วยหว้า หมู่ 8
2. ในอดีตมีบุคคลอพยพย้ายถิ่นฐานมาที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ 4 ครัวเรือน (ที่พบในเอกสาร มีนายพุทธามนตรี กอง ลี นายบุตรี วงษ์ธรรม นายชม แสนจำลา) ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านหนองบอน ตำบลหัวขวาง ปัจจุบันคือ บ้านหนองบอน ตำบลหนองบอน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม การย้ายถิ่นฐานมาในครั้งแรกได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองสำโรง (หรือที่เรียกกันว่า บ้านหนองโฮง) ปัจจุบันคือ หมู่ที่ 5 ตำบลโนนฆ้อง จากนั้นไม่นานก็มีกลุ่มเพื่อนอพยพตามมาอาศัยด้วยกัน ต่างคนต่างจับจองหาที่ดินทำกินจนขยายออกไปเรื่อย ๆ โดยหนึ่งในสี่ครอบครัวได้มาดูทำเลที่ดอนป่าดู่ มองเห็นความอุดมสมบูรณ์และลำห้วยที่มีน้ำใสสะอาดจึงชักชวนเพื่อนมาอยู่ด้วย ในที่สุดพลเมืองก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทางการจึงได้มีการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านป่าดู่ขึ้นในปี พ.ศ. 2455 โดยยึดถือภูมิประเทศที่มีป่าดู่ (ต้นประดู่) ที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อมีการขยายตัวของประชากรและมีการตัดไม้เพื่อสร้างบ้านเรือน ป่าดู่ขนาดใหญ่ที่เคยอุดมสมบูรณ์จึงค่อยลดจำนวนลง เมื่อสภาพภูมิประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจึงทำให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านคิดที่จะเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น บ้านห้วยหว้า (เดิมมีหมู่บ้านเดียวคือหมู่ที่ 6) การเปลี่ยนชื่อในครั้งนั้นก็ยังยึดถือลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ลำห้วยนั้นมี ต้นหว้า จำนวนมากเรียกได้ว่าตลอดลำห้วยมีแต่ต้นหว้าซึ่งเป็นสภาพทางธรรมชาติ (หว้าขี้มดหรือหว้าสีชมพู) จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านป่าดู่มาเป็นบ้านห้วยหว้า แต่ในระยะแรกยังเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในอำเภอเมืองขอนแก่นอยู่เหมือนเดิม
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น
- ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านโนนฆ้อง ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านสร้างแก้ว ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านหินตั้งและหินฮาว ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น
ลักษณะภูมิอากาศ ลักษณะภูมิอากาศของชุมชนบ้านห้วยหว้ามีสภาพอากาศร้อนชื้นแบบมรสุม
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน และมีอากาศร้อนจัดอยู่ในช่วงเดือนเมษายน
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี
ลักษณะแหล่งน้ำ ลำห้วยหว้า แหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งไหลจากบ้านหนองอีเลิงจากอ่างน้ำคาไหลผ่านบ้านหินตั้งและไหลผ่านบ้านห้วยหว้า เนื่องจากสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นที่สูงทางทิศตะวันตกและต้นน้ำก็เกิดทางทิศตะวันตก แหล่งน้ำดังกล่าวมักพบปัญหาตื้นเขิน มีน้ำไม่ตลอดปี บางช่วงของลำห้วยมีโครงการขุดลอก สร้างฝายน้ำล้น จึงทำให้มีน้ำเพียงพอ และมีชลประทานขนาดเล็ก ฝาย คสล. กั้นลำห้วย ซึ่งสามารถปลูกพืชในฤดูแล้งได้ 150 ไร่
จากข้อมูลการสำรวจประชากร พ.ศ. 2565 พบว่าบ้านห้วยหว้า หมู่ 6 มีจำนวนบ้าน 399 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากร 1,083 คน โดยแบ่งเป็นชาย 504 คน และหญิง 579 คน
สำหรับบ้านห้วยหว้า หมู่ 8 มีจำนวนบ้าน 266 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากร 700 คน โดยแบ่งเป็นชาย 345 คน และหญิง 355 คน
คนในชุมชนบ้านห้วยหว้า ในช่วงอายุระหว่าง 18-45 ปี มักเดินทางไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และบริษัทต่าง ๆ ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น โดยเดินทางไปเช้าเย็นกลับ ถือเป็นรายได้ที่แน่นอนและเลี้ยงครอบครัวได้
บ้านห้วยหว้ามีธุรกิจโรงงานกระดาษภายในหมู่บ้าน โดยตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน กลุ่มวัยทำงานรวมทั้งผู้สูงอายุภายในหมู่บ้าน จะเข้าไปทำงานในบริษัทประมาณ 20-30 คน นอกจากนี้ยังมีบริษัทซักล้างเครื่องนุ่งห่มจากโรงพยาบาล ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลตำบลหนองบัว
ชุมชนบ้านห้วยหว้า มีความศรัทธาเลื่อมใสในบุญประเพณีทางภาคอีสาน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษบนพื้นฐานคติความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนา เชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ การปกปักรักษาคุ้มครองหมู่บ้านให้สงบร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งประเพณีฮีตสิบสองเป็นวัฒนธรรมที่ชุมชนบ้านห้วยหว้ายังคงสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณีบุญเดือน 6 ก่อนถึงฤดูกาลทำนา ชาวบ้านห้วยหว้าจะนำ ไก่ต้ม เหล้าขาว ไข่ และใบไม้ที่ชาวบ้านจะพับแทนสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในบ้านเพื่อบอกให้ปกป้องคุ้มครอง โดยทุกครัวเรือนในบ้านห้วยหว้าจะนำไปบ้านเฒ่าจ้ำประจำหมู่บ้านเพื่อเลี้ยง “เจ้าปู่คำแสน” ที่ชาวบ้านเคารพนับถือและเป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดนับตั้งแต่การตั้งหมู่บ้านเป็นต้นมา
ประเพณีฮีต 12
- เดือนอ้าย = ฮีตบุญเข้ากรรม
- เดือนยี่ = ฮีตบุญคูณลาน
- เดือนสาม = ฮีตบุญข้าวจี่
- เดือนสี่ = ฮีตบุญเผวสหรือบุญมหาชาติ
- เดือนห้า = ฮีตบุญสงกรานต์
- เดือนหก = ฮีตบุญบั้งไฟ
- เดือนเจ็ด = ฮีตบุญซำฮะ
- เดือนแปด = ฮีตบุญเข้าพรรษา
- เดือนเก้า = ฮีตบุญข้าวประดับดิน
- เดือนสิบ = ฮีตบุญข้าวสาก
- เดือนสิบเอ็ด = ฮีตบุญออกพรรษา
- เดือนสิบสอง = ฮีตบุญกฐิน
บุคคลสำคัญของชุมชนบ้านห้วยหว้าแบ่งได้เป็นสองลักษณะ คือ หนึ่ง ผู้นำในฐานะที่มีบทบาทด้านการบริหารปกครองหรือผู้นำท้องถิ่น และ สอง ผู้นำด้านจิตวิญญาณ ความเชื่อ
โดยผู้นำด้านการปกครองท้องถิ่นหรือผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยหว้า หมู่ 6 และหมู่ 8 ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้
รายชื่อผู้ใหญ่บ้านห้วยหว้า หมู่ 6 ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
- นายบุญกอง สวัสดิ์ทา ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2518-2539
- นายดาวเรือง พรมจักร ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2539-2544
- นายทองเลื่อน สุนทรชัย ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2546-2548
- นายสมศักดิ์ แสนนาม ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2549-2560
- นางเพ็ญทิพย์ สวัสดิ์ทา ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน
รายชื่อผู้ใหญ่บ้านห้วยหว้า หมู่ 8 ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
- นายคำจันทร์ กองลี ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2539-2544
- นายประยุง ยุรรัช ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2544-2548
- นายมละ บุตรทา ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2548-2553
- นายวิษณุ คำภู ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2553-ปัจจุบัน
ผู้นำด้านจิตวิญญาณ ความเชื่อ
- นายสมัย จันทร์ดาลุน เฒ่าจ้ำบ้านห้วยหว้า ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางติดต่อสื่อสารระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์และชาวบ้าน ทั้งยังต้องประกอบพิธีกรรม และกำหนดวันในการทำพิธี โดยตำแหน่งเฒ่าจ้ำนี้มีที่มาจากสองลักษณะ คือ 1) ต้องได้รับฉันทามติหรือได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในหมู่บ้าน 2) การสืบทอดสายตระกูลเฒ่าจ้ำโดยตรง ดังเช่นตระกูลจันทร์ดาลุน
ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน
- คณะกลองยาวกลุ่มสตรีบ้านห้วยหว้า ซึ่งได้เข้าการแข่งขันจนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดขอนแก่น
- คณะฟ้อนรำกลองยาวกลุ่มสตรีบ้านห้วยหว้า
- ศิลปินหมอลำสินไซ, หมอลำเพลิน จากอดีตคณะหมอลำภายในพื้นที่
การเกิดขึ้นของคณะหมอลำสินไซมีมาก่อน พ.ศ. 2500 ขณะที่คณะหมอลำสินไซ ในชุมชนห้วยหว้ามี 2 คณะ คือ คณะบู่บันเทิงศิลป์ และคณะชารีบันเทิงศิลป์ การได้รับความนิยมของหมอลำสินไซนั้นได้รับความนิยมเพียงระยะเวลาสั้นประมาณ พ.ศ. 2508 ความนิยมลดลง เข้าสู่ยุคหมอลำเพลินและหมอลำซิ่ง
ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
- กลุ่มผู้สูงอายุทอผ้าไหมท้องถิ่น
- กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านห้วยหว้า
- การทำหัตถกรรมใบตอง
อาหารและการบริโภคพื้นบ้าน
- การทำกล้วยฉาบ
- การทำข้าวหมาก
จากการดำเนินงานภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าสมุนไพรชุมชนสู่อุทยานการเรียนรู้สินไซ : กรณีศึกษาสวนป่าดอนปู่ตาเจ้าปู่คำแสน (สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9) บ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดความตระหนักและเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ป่าดอนปู่ตานั้น ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน เด็กและเยาวชนภายในชุมชน เข้ามาพัฒนาบูรณะฟื้นฟูป่าให้มีความร่มรื่น และได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหมอลำสินไซที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญภายในชุมชนมาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน โดยจัดให้มีกิจกรรม เช่น พิธีบวงสรวงเจ้าปู่คำแสน ในสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ก่อนการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ป่าเจ้าปู่คำแสน นำโดย พ่อสมัย จันทร์ดาลุน เฒ่าจ้ำบ้านห้วยหว้า และชาวบ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นที่มีความสมบูรณ์ และเป็นการขอขมาลาโทษต่อเจ้าปู่คำแสน
ภายหลังจากการพัฒนาพื้นที่ได้ส่งผลให้ป่ากลับมามีชีวิตมากขึ้น ด้วยการร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วน เกิดการบุกเบิกเส้นทางการเดินป่าที่สำคัญ และทางคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการติดตั้งฐานการเรียนรู้ที่เป็นการประยุกต์จากวรรณกรรมสินไซ และหมอลำสินไซภายในพื้นที่ โดยมีทั้งหมด 9 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานที่ 1 งูซวง (พญานาค), ฐานที่ 2 ยักษ์กันดาร, ฐานที่ 3 พญาช้าง, ฐานที่ 4 ยักษ์ 4 ตน, ฐานที่ 5 ยักษ์ขินี, ฐานที่ 6 นารีผล, ฐานที่ 7 ยักษ์อัศมุขี, ฐานที่ 8 เทพกินรีและฐานที่ 9 ยักษ์กุมภัณฑ์ เป็นการผจญภัยเพื่อตามหานางสุมลฑา โดยด่านดังกล่าวได้สอดแทรกคำสอนวรณกรรมและภาพวาดที่ได้จากศิลปินหมอลำสินไซบ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง อำเภอ บ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ไปในแต่ละด่านประกอบกัน
สุรชัย ทาระคุณ และคณะ. (2562). การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าสมุนไพรชุมชนสู่อุทยานการเรียนรู้สินไซ: กรณีศึกษาสวนป่าดอนปู่ตาเจ้าปู่คำแสน (สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9) บ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ค้นคืนเมื่อ 10 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=231
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php