เมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาและป่าไม้ และยังเป็นพื้นที่ก่อสร้างฝายกั้นน้ำแห่งแรกของประเทศไทย
"ฝายหลวง" เป็นฝายกั้นน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดยนายทองอิน (ภายหลังได้เป็นพระศรีพนมมาศ) เป็นผู้ให้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ. 2444 และพระราชดำเนินมาที่เมืองลับแล ทรงเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2463 (อุตรดิตถ์ 24 ชั่วโมง, 2559)
เมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาและป่าไม้ และยังเป็นพื้นที่ก่อสร้างฝายกั้นน้ำแห่งแรกของประเทศไทย
แต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองพิไชยเป็นเมืองโท ซึ่งเป็นเมืองในความปกครองของมณฑลเทศาภิบาลพิษณุโลก มีเมืองในความปกครองขึ้นต่อเมืองพิไชยถึง 13 เมือง อันได้แก่ เมืองพิพัฒน์ เมืองปัตะบูรณ เมืองพิมูล เมืองขุนกัน เมืองอุตรดิตฐ เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแล เมืองด่านนางพูน เมืองฝาง เมืองตรอน เมืองน้ำปาด เมืองเชียงคาน และเมืองแมด
จนกระทั่ง เมื่อปี ร.ศ. 115 กระทรวงมหาดไทยส่งร่างข้อบังคับลักษณะปกครองท้องที่ไปใช้ทดลอง เห็นควรจะต้องจัดตามแบบลักษณะปกครอง ควรให้กรมการอำเภอได้รับพระราชทานเงินเดือน จึ่งได้ลงมือจัดคือ ได้สมทบเมืองขึ้นสองเมืองบ้างสามเมืองบ้างรวมเป็นรวมเข้าเป็น 1 อำเภอใหญ่ โดยเมืองพิไชยให้เหลือ 5 อำเภอ
ในการรวบรวมเมืองขึ้นให้เหลือ 1 อำเภอนั้น มีข้อสันนิษฐานในการยุบเมืองขึ้นเหลือเป็นอำเภอนั้นอาจจะต้องอาศัยที่ตั้งอาณาบริเวณเมืองที่ใกล้เคียงกันไม่มากนัก โดยได้ดูตำแหน่งเมืองจากแผนที่ของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคาร์ที) ตามลำดับดังนี้
- ยุบเมืองฝาง (บ้านพระฝาง) เมืองพิมูล (บ้านขุนฝาง) และเมืองอุตรดิตฐ (บางโพ) เป็นอำเภออุตรดิตฐ
- ยุบเมืองน้ำปาด และเมืองแมด (แขวงไชยบุรี) เป็นอำเภอน้ำปาด
- ยุบเมืองลับแล เมืองทุ่งยั้ง เมืองด่านนางพูน (ตำบลแม่พูล) (ภายหลังใช้เป็น ล) เป็นอำเภอลับแล
- ยุบเมืองพิไชย เมืองปัตะบูรณ (ตำบลบ้านโคน) เมืองขุนกัน (ตำบลนาอิน นายาง) เป็นอำเภอพิไชย
- ยุบเมืองตรอน เป็น อำเภอตรอน (ภายหลังในการแยกเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอทองแสนขัน เมื่อ พ.ศ. 2526)
ในส่วนเมืองเชียงคาน (อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย) ให้คงมีผู้ว่าราชการเมืองดังเดิม
ดังนั้นตั้งแต่ ปลาย ร.ศ.119 เป็นต้นมา เมืองพิไชยจึงได้เหลือ 5 อำเภอ ตามที่พระยาศรีสุริยาราชสรานุวัตร พิพัฒนพิไชย อภัยพิริพาหุ (เขย) ผู้สำเร็จราชการเมืองพิไชยและข้าหลวงเทศาภิบาลมรฑลพิษณุโลก ได้ยุบรวมเพื่อง่ายต่อการปกครองและเพื่อให้ข้าราชการกรมการอำเภอได้รับพระราชทานเงินเดือนนั้นเอง
ตำบลฝายหลวงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอําเภอลับแล ห่างจากอําเภอลับแล 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 83 ตารางกิโลเมตร 51,875 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและภูเขาสูง ลักษณะดินตำบลฝายหลวงเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำทุก ๆ ปี เป็นดินลึก เนื้อดินส่วนใหญ่ เป็นดินร่วนปนทราย ดินร่วนถึงดินเหนียวและมีการทับถมของตะกอนลำน้ำในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ดินมีการระบายน้ําดี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง ใช้ประโยชน์ที่ดินในการทํานา ปลูกพืชไร่ และพืชผัก ตำบลฝายหลวงมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลตำบลหัวดง, ตำบลแม่พูล และตำบลนานกกก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลศรีพนมมาศ และตำบลชัยจุมพล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าเสา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อําเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แบ่งการปกครองออกเป็น 13 หมู่บ้าน มีประชากรรวมทั้งหมด 9,669 คน
ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แบ่งการปกครองออกเป็น 13 หมู่บ้าน วิถีชีวิตและอาชีพของชาวตําบลฝายหลวง อําเภอลับแล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม การทําสวนผลไม้ เช่น ลองกอง ลางสาด ทุเรียน มังคุด กาแฟ ปลูกหอมแดง ปลูกข้าว พืชฤดูแล้ง ฯลฯ และมีการรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในแต่ละชุมชน ดังนี้
- กลุ่มอาชีพข้าวแคบ
- กลุ่มอาชีพหัตถกรรมไม้กวาด
- กลุ่มอาชีพผ้านวม
- กลุ่มอาชีพแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาล
- กลุ่มอาชีพสานเข่ง
- กลุ่มอาชีพปลูกหอมแดง
- กลุ่มอาชีพปลูกไม้ผล
ประชาชนชาวตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา มีความเราเคารพในบรรพชน มีวิถีชีวิตและวิถีปฏิบัติเกี่ยวข้องและยึดโยงกับความเชื่อในพระพุทธศาสนา และความเชื่อท้องถิ่น และมีประเพณีที่สำคัญคือ ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง และประเพณีอื่นๆ เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงการนต์ ฯลฯ
- ประเพณีแห่น้ําขึ้นโฮง หรือบางตําราบันทึกไว้ว่า ประเพณีแห่น้ําขึ้นโรง เป็นประเพณีของชาวลับแลที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาอันยาวนาน เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีที่เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารมีต่อประชาชนชาวลับแล ก่อนจะมีการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารขึ้นในปี พ.ศ. 2526 แม้จะพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกาลสมัย แต่ก็ยังคงรักษาคุณธรรมตามวิถีชีวิตตั้งเดิมด้วยการแสดงความเคารพนับถือผู้ที่มีพระคุณที่ประกอบคุณงามความดีแม้ล่วงลับไปแล้ว
- ทรัพยากรธรรมชาติ : ภูเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำ
- ทรัพยากรท้องถิ่น : สวนผลไม้ พืชพรรณหลากหลายชนิด
- การพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น : กลุ่มอาชีพแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาล
- ภูมิปัญญาท้องถิ่น : กลุ่มอาชีพหัตถกรรมไม้กวาด, กลุ่มอาชีพสานเข่ง, ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง ฯลฯ
อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร
อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร เป็นอนุสาวรีย์ของปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองลับแล เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารบุตรของพระเจ้าเรืองไทธิราช กษัตริย์แคว้นโยนกนคร เมืองเชียงแสน ได้รับโปรดเกล้าให้มาครองเมืองลับแล ปกครองบ้านเมืองให้สงบสุข และปกป้องให้รอดพ้นจากการรุกรานของกำโภชนคร (ขอม) ชาวอำเภอลับแลจึงได้สร้างพระรูปและนำอัฐิมาบรรจุไว้ ณ ม่อนอารักษ์ เพื่อเป็นที่สักการะบูชา และเกิดเป็นประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง สักการะเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารสืบต่อมา
อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ตั้งอยู่ที่บ้านท้องลับแล หมู่ที่ 7 ตำบลฝายหลวง ห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 12 กิโลเมตร บนเนินเขาด้านหลังอนุสาวรีย์ มีทางขึ้นไปยังจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพของเมืองลับแลได้อย่างงดงาม ส่วนฝายหลวง ฝายชลประทานแห่งแรกของประเทศไทยที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับอนุสาวรีย์จ้าฟ้าฮ่ามกุมาร
คลังข้อมูลชุมชน. ฝายหลวง จ.อุตรดิตถ์. ศูนย์มานุยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์.
องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง. (ม.ป.ป.). สถานที่สำคัญ : อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร. องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์.