ชุมชนเก่าแก่ตามหลักฐานคำบอกเล่าของคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในยุคหลังสุดประมาณ 103 ปีและมรดกทางภูมิปัญญาที่สั่งสมเรื่อยมา
หมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณปากน้ำห้วยเกี๋ยง ซึ่งเป็นลำห้วยที่มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ต้นเกี๋ยง” หรือต้นลำเจียก ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า ห้วยเกี๋ยง ซึ่งลำห้วยดังกล่าวได้ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำควร ตามภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “สบเกี๋ยง”
ชุมชนเก่าแก่ตามหลักฐานคำบอกเล่าของคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในยุคหลังสุดประมาณ 103 ปีและมรดกทางภูมิปัญญาที่สั่งสมเรื่อยมา
บ้านสบเกี๋ยง มีประวัติความเป็นมาที่ชัดเจนตามหลักฐานคำบอกเล่าของคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในยุคหลังสุดประมาณ 103 ปี จากการสอบถามประวัติความเป็นมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในหมู่บ้าน คำว่า สบเกี๋ยง มาจากการที่หมู่บ้านตั้งอยู่ตรงปากน้ำห้วยเกี๋ยง ซึ่งเป็นลำห้วยที่มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ต้นเกี๋ยง” หรือต้นลำเจียก ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า ห้วยเกี๋ยง ซึ่งลำห้วยดังกล่าวได้ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำควร ตามภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “สบเกี๋ยง” โดยชาวบ้านกลุ่มแรก ๆ ได้ย้ายครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านสบเกี๋ยง ตามลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน
บริเวณที่ตั้งบ้านสบเกี๋ยง เป็นชุมชนโบราณมาก่อน มีหลักฐานปรากฏในหลายยุคหลายสมัยทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหิน ยุคโลหะ และยุคอาณาจักรล้านนา โดยมีหลักฐานปรากฏในแต่ละยุคสมัย ดังนี้
- ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏมีการพบทั้งซากฟอสซิลช้างงาจอบอายุประมาณ 13-15 ล้านปี ในบริเวณป่าชุมชน ซึ่งปัจจุบันซากฟอสชิลดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ นอกจากนี้ยังพบซากฟอสซิลต้นไม้โบราณอีกหลายต้น
- ยุคหิน พบหลักฐานเครื่องมือมนุษย์ยุคหิน เช่น ขวานหิน ลูกตุ้มหิน กระจายอยู่ทั่วไปตามไร่ ตามสวนของชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านที่พบได้นำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร
- ยุคโลหะ พบหลักฐานเครื่องมือยุคโลหะหลายชนิดที่ชาวบ้านขุดพบในไหตามไร่ตามสวน เช่น จอบ ขวาน อุปกรณ์ทางการช่าง
- ยุคอาณาจักรล้านนา อำเภอปง มีชื่อปรากฏอยู่ในตำนานเมืองพะเยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1639 สมัยพ่อขุนจอมธรรมแยกตัวจากเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน มาตั้งเมืองพะเยาและให้ทำการสำรวจหัวเมืองน้อยใหญ่ ปรากฏชื่อเมืองปง เมืองควร อันเป็นที่ตั้งตำบลขุนควรในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าเป็นเมืองหน้าด่านหรือเส้นทางติดต่อระหว่างเมืองน่าน ตั้งแต่ในอดีต แต่หลักฐานที่พบส่วนใหญ่อยู่ในยุคล้านนา ดังหลักศิลาจารึกที่พบบริเวณวัดเค้าราชฐาน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ หอวัฒนธรรมินทัศน์วัดศรีโคมคำ ซึ่งวัดดังกล่าวตั้งอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านสบเกี๋ยงมากนัก ซึ่งหลักฐานส่วนใหญ่ที่พบตามวัดล้างอยู่ในยุคล้านนา เช่น ซากวัดร้าง ซากอิฐ และพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา โดยในบริเวณรอบหมู่บ้านพบวัดร้างถึง 3 วัด ที่ยังปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่
สภาพภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาเป็นส่วนใหญ่ โดยจะเขาและป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ของพื้นที่ และมีสายร้ำไหลผ่านในพื้นที่ทั้งหมด 4 สาย ได้แก่ ลำน้ำควร ลำน้ำปุก ลำน้ำสาว ลำน้ำแป้ง
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลงิม
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลปงและจังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลควร
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลผาช้างน้อยและจังหวัดน่าน
ประชากรในบ้านสบเกี๋ยงมีทั้งหมด 395 คน แบ่งเป็นเพศชาย 207 คน เพศหญิง 188 คน (สถิติการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563)
ประเพณีปีใหม่เมือง
- เดือน 7 เมือง เป็นวันขึ้นปีใหม่เมือง เป็นวันสำคัญทั้งการทำบุญ รวมญาติ รวมทั้งการเปลี่ยนศักราชเมือง
ประเพณีเลี้ยงผี ปู่ ย่า
- ผีปู่ ย่า หมายถึง ผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษ กล่าวคือถ้า ปู่ ย่า ตา ยาย ล่วงลับไปแล้วพวกลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน หรือในสถานที่ที่เห็นว่าสมควร บนหอจะมีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น (คนโท) วางเอาไว้ ในปัจจุบันคำว่า “ผีปู่ ย่า ตา ยาย” กร่อนลงมาเหลือเพียงคำว่า “ผีปู่ย่า” ซึ่งเพื่อเป็นการสะดวกในการเรียกจะได้ไม่ยาวเกินไป
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
- การลงยันต์อักขระ คุ้มครองบุคคลให้พ้นทุกข์ภัยตามความเชื่อของบุคคลที่นับถือ
ภาษาไทยถิ่นเหนือ แต่จะมีเอกลักษณ์ในบริบทของภาคเหนือฝั่งตะวันออกที่จะมีลักษณะการพูดหรือคำที่ต่างจากภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้บางครั้งจะต้องเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ที่ลดน้อยลง ทำให้อาหารที่เคยหาได้ในป่าเริ่มมีน้อยลง
คลังข้อมูลชุมชน. (2563). ขุนควร จ.พะเยา. [ออนไลน์] จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/KhunKhuan
ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดพะเยา. (ม.ป.ป.). ประเพณีท้องถิ่น. [ออนไลน์] จาก http://www.clm.up.ac.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร. (2558). ประวัติความเป็นมา. [ออนไลน์] จาก https://khunkhuan.go.th/