ชุมชนกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ และความท้าทายจากการจัดการพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติที่กระทบต่อสิทธิของชุมชนดั้งเดิม
ชุมชนกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ และความท้าทายจากการจัดการพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติที่กระทบต่อสิทธิของชุมชนดั้งเดิม
บ้านขวัญคีรี หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เดิมชื่อบ้านแม่งาว เกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านจากอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และเนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำงาว จึงเรียกว่าบ้านแม่งาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบ้านข่อย หมู่ที่ 4 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2534 ได้เปลี่ยนเป็นบ้านขวัญคีรี หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง
ชุมชนบ้านขวัญคีรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง ระยะทางห่างจากตัวอำเภองาว ประมาณ 11 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 12,634 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 2,758 ไร่ พื้นที่ป่าชุมชน 9,876 ไร่ พื้นที่ใช้ประโยชน์แยกได้ดังนี้ (1) พื้นที่อยู่อาศัย 35 ไร่ (2) พื้นที่ทำนา 243 ไร่ (3) พื้นที่ป่าไม้ยืนต้น (4) พื้นที่ไร่ถาวร 1,654 ไร่ (5) พื้นที่ไร่หมุนเวียน 284 ไร่ และ (6) พื้นที่ป่าช้า 4 ไร่ โดยพื้นที่ป่าชุมชนแบ่งออกเป็น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 903 ไร่ และพื้นที่ป่าใช้สอย 8,969 ไร่ พื้นที่ชุมชนบ้านขวัญคีรีมีเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านแม่คำหล้า หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านร้อง โดยมีแนวเขตเริ่มต้นที่ลำน้ำงาวขึ้น ไปตามลำน้ำ
- ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านข่อย หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านร้อง
- ทิศใต้ ติดต่อ บ้านห้วยน้ำตื้น หมู่ที่ 10 ตำบลปงเตา อำเภองาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านบ่อสี่เหลี่ยม หมู่ที่ 6 ตำบลปงเตา อำเภองาว
บ้านขวัญคีรี ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีประชากรทั้งหมดจำนวน 367 คน
ปกาเกอะญอ- วิสาหกิจชุมชนกลุ่ม โค กระบือ บ้านขวัญคีรี หมู่ที่ 11
- ทรัพยากรธรรมชาติ ภูเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำ
“เลี้ยงผีฝาย” สืบทอดจิตวิญญาณชาวปกาเกอะญอ “บ้านขวัญคีรี”
น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ การรักษาแหล่งน้ำจึงเป็นความจำเป็นที่ชุมชนต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ชาวปกาเกอะญอที่หมู่บ้านขวัญคีรีนอก จึงมีประเพณีเลี้ยงผีฝายที่จัดขึ้นตามความเชื่อว่า ผีฝายจะช่วยดูแลปกปักรักษาสายน้ำ ให้ชาวบ้านได้กินได้ใช้ตลอดจนเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่ให้อุดมสมบูรณ์
ชาวบ้านขวัญคีรีนอก ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ “พิธีเลี้ยงผีฝาย” หรือที่เรียกในภาษาปกาเกอะญอว่า “ ลื่อทีบอโค๊ะ” ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีของชุมชน ณ บริเวณหัวฝายลำน้ำแม่คำมี ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของน้ำงาว ซึ่งไหลลงไปเป็นแหล่งน้ำของอำเภองาว
ฝายที่ชาวบ้านขวัญคีรีมาทำพิธีเลี้ยงผีนั้น เป็นฝายน้ำล้นที่สร้างจากวัสดุตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญามาแต่ดั้งเดิม สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้พอกินพอใช้ตลอดทั้งปี และเมื่อถึงฤดูฝนเมื่อน้ำป่าหลากมาจะพัดผ่านไปไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากฝายแตกน้ำหลากลงไปทำลายพื้นที่ๆ อยู่ต่ำลงไป
“ฝายของเราเป็นฝายมีชีวิต ทำด้วยไม้ไผ่ เป็นที่เพาะพันธุ์วางไข่ของสัตว์น้ำ มีปลาชุกชุมให้จับกินได้ทั้งปี” ชาวบ้านขวัญคีรีกล่าว
“แต่ตอนนี้กรมชลประทานมีแผนจะสร้างเขื่อนซึ่งทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ป่าจะถูกน้ำท่วมและรุกขึ้นมาท่วมที่ทำกิน ไร่ สวน โรงเรียน และอาจขึ้นมาถึงที่หมู่บ้านด้วย” พ่อหลวงศรีทอง สมพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านขวัญคีรีเล่าให้ฟังถึงโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาวของกรมชลประทาน
จากเอกสารสรุปลักษณะโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อำเภองาว จังหวัดลำปาง ระบุวัตถุประสงค์ไว้สามประการได้แก่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค และเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากในพื้นที่
พ่อหลวงศรีทอง สมพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านขวัญคีรี ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เห็นความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่อยู่กับป่ามาเป็นร้อยปีแล้ว เรารักป่าไม้และแม่น้ำ ชาวกะเหรี่ยงมีภูมิปัญญาในการจัดการดูแลรักษาป่าไม้และต้นน้ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะการทำฝายน้ำล้น ที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำเกษตรกรรมได้ทั้งปี นอกจากนี้ยังช่วยให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์อีกด้วย
สถานการณ์ชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า , และการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ(ถ้ำผาไท) จะประกาศพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่าที่ชุมชนรักษา ซึ่งจะกลายเป็นการใช้กฎหมายที่รุนแรงกระทบสิทธิชุมชนของชาวบ้าน อีกทั้งสถานการณ์ที่ยากลำบากมาโดยตลอดนั้นคือชุมชนไม่สามารถพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ โดยเฉพาะ ถนน เส้นทางเข้าชุมชน เนื่องจากติดพื้นที่ป่า ไม่สามารถพัฒนาได้ส่งผลให้ชุมชนเดินทางสัญจรไปมาอย่างยากลำบาก
ถ้ำผาไท
อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและพื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง มีสวนสักกระจายอยู่ทั่วไป ยอดเขาสูงที่สำคัญ คือ ดอยกิ่วลม สูง 1,202 เมตร รองลงมาคือ ดอยสันกลาง สูง 1,022 เมตร ดอยผาหวด สูง 975 เมตร ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณสลับกับป่าเต็งรัง ส่วนทิศใต้ ได้แก่ ดอยหลวง สูง 1,100 เมตรทางทิศตะวันออกของพื้นที่เป็นแหล่งผลิตผลทางด้านเกษตรกรรมที่สำคัญ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง น้ำจากลำห้วยและลำธารสายต่าง ๆ ที่ไหลไปทางทิศตะวันตกจะไหลลงสู่แม่น้ำวัง ส่วนที่ไหลไปทางด้านทิศตะวันออกจะไหลลงสู่แม่น้ำงาวเป็นส่วนใหญ่
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ป่าไม้ที่พบ ได้แก่ ป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่พบ คือ ตะเคียน ไม้ตระกูลยาง ไม้ตระกูลไม้ก่อ ยมหอม อบเชย ดีหมี ฯลฯ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบเห็น คือ ประดู่ มะค่าโมง แดง อ้อยช้าง ชิงชัน ไผ่ชนิดต่าง ๆ ตุ้มกว้าว อุโลก สะแก และหญ้าแพก เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบได้แก่ กระทิง หมูป่า ลิง เม่นใหญ่ ตุ่น อีเห็น อ้น กระต่ายป่า แย้ กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า งู กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก และนกนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดต่าง ๆ หลายชนิด
คลังข้อมูลชุมชน. บ้านขวัญคีรีนอก จ.ลำปาง. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. “เลี้ยงผีฝาย” สืบทอดจิตวิญญาณชาวปกาเกอะญอ “บ้านขวัญคีรี”. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ; จาก https://opengrant.thaihealth.or.th/
สำนักงานอุทยานแห่งชาติ. อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ). สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ; จาก https://portal.dnp.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง.