Advance search

ภูมิทัศน์น่าอยู่ เกษตรกรรมรุ่งเรือง ชุมชนสามัคคี

หมู่ที่ 1
เนินกรวด
ศาลาลัย
สามร้อยยอด
ประจวบคีรีขันธ์
กนกวรรณ สุวัฒนะสถาพร
3 มิ.ย. 2023
ประเสริฐ ไทยอุดมทรัพย์
10 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
23 ม.ค. 2024
บ้านเนินกรวด

ตั้งชื่อหมู่บ้านตามสภาพพื้นที่ของหมู่บ้าน ว่า "บ้านเนินกรวด"


ชุมชนชนบท

ภูมิทัศน์น่าอยู่ เกษตรกรรมรุ่งเรือง ชุมชนสามัคคี

เนินกรวด
หมู่ที่ 1
ศาลาลัย
สามร้อยยอด
ประจวบคีรีขันธ์
77180
12.26957603
99.80742753
องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย

เดิมเป็นป่าไม่มีคนอาศัยอยู่ พื้นที่ทั่วไปเป็นดินโป่ง มีสัตว์ป่าเข้ามากินดินโป่งเป็นจำนวนมาก ใกล้กันเป็นเนินกว้างพื้นที่เป็นดินลูกรังและกรวดไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น พื้นที่นี้จึงเป็นที่ที่นายพรานมักจะมาสร้างห้างสำหรับยิงสัตว์ นอกจากนั้นก็ยังมีชาวบ้านมาตัดไม้เผาถ่าน ทำไร่และหาของป่าขาย ต่อมามีชาวบ้านจากจังหวัดนครปฐมอพยพเข้ามาเห็นทำเลเหมาะในการทำการเกษตร จึงพากันเข้ามาจับจองที่ทำกินในหมู่ญาติ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ครัวเรือน โดยการนำของนายพรม เกิดโพชา และนายหนู ส่องสว่าง โดยมาถากถางป่าทำไร่อ้อย ไร่ละหุ่ง เผาถ่านและหาของป่าขาย เมื่อป่าเสื่อมโทรมมากขึ้นก็มีผู้อพยพเจ้ามาจับจองที่ทำกินจากจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจนเป็นชุมชนและเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกอ้อย ปลูกละหุ่งมาเป็นการทำไร่สับปะรดแทน และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามสภาพพื้นที่ของหมู่บ้าน ว่า "บ้านเนินกรวด"

บ้านเนินกรวดอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 61 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 250 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนบ้านเนินกรวด สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ

อาณาเขตติดต่อ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่บ้านทุ่งเคล็ด หมู่ที่ 2 ตำบลศาลาลัย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่บ้านหนองเป่าปี่ หมู่ที่ 3 ตำบลศาลาลัย

ลักษณะทางกายภาพ

พื้นที่ชุมชนบ้านเนินกรวด เป็นพื้นที่ราบและพื้นที่เชิงเขาเป็นบางส่วน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 15,425 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 9,923 ไร่ ส่วนใหญ่ทำการเกษตร ไร่สับปะรด สวนมะม่วง ปาล์ม เป็นต้น มีน้ำประปาหมู่บ้านใช้ และมีคลองชลประทานใหญ่ ไหลผ่าน ครัวเรือนอยู่ห่างกัน และแออัดเป็นบางแห่ง 

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านเนินกรวด จำนวน 238 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 703 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 351 คน หญิง 352 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว

บ้านเนินกรวดเป็นสังคมแบบเครือญาติ เป็นชุมชนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน เพราะเป็นชุมชนที่มีพื้นเพสังคมชนบท มาจากเครือญาติกันส่วนใหญ่ ให้การช่วยเหลือเอื้ออาทรช่วยเหลือกันและกัน

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้ปลูกสับปะรด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 สถานที่ตั้งกลุ่ม "ศาลาอเนกประสงค์บ้านเนินกรวด" มีคณะกรรมการ 5 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 53 คน ส่งเสริมการทำอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด
  • กลุ่มผู้ใช้น้ำประปาบ้านเนินกรวด ก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2552 มีคณะกรรมการ 7 คน ดำเนินกิจกรรมการบริการน้ำอุปโภคบริโภค ประชาชนในหมู่บ้าน 
  • กองทุนหมู่บ้าน (กองทุน 1 ล้านบาท) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยนโยบายของรัฐ ปัจจุบันมีสมาชิก 100 คน มีคณะกรรมการ 15 คน เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้าน ดำเนินการปล่อยกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ ผลกำไรจัดสรรตามระเบียบกองทุน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน คณะทำงานที่มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง 
  • กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน เป็นกองทุนเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในพื้นที่หมู่บ้านในการจัดการงานศพ ปัจจุบันมีสมาชิก 100 คน มีคณะกรรมการ 7 คน เมื่อมีการเสียชีวิตจะช่วยเหลือค่าทำศพสมาชิก รายละ 5,000 บาท 
  • กองทุนออมเงินวันละบาท (สจส. 14 บ้านเนินกรวด) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 คณะกรรมการ 7 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 46 คน จำนวนเงินทุนปัจจุบัน 126,874.41 บาท เพื่อส่งเสริมการออมให้กับสมาชิก

กลุ่มไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มเต้นแอโรบิก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในหมู่บ้านออกกำลังกาย 
  • กลุ่มดนตรีไทย เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรม และดนตรีไทยให้สืบทอดต่อไปสู่ลูกสู่หลาน

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประชาชนบ้านเนินกรวด ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีการปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น มีวัดเนินกรวดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในการประกอบพิธีต่างๆ ตามความเชื่อของชาวบ้านในสังคมเกษตร เช่น เชื่อเรื่องบุญกรรม และมีวัดข้างเคียงอีก 2 วัด คือ วัดศรีทุ่งทอง และวัดหนองเป่าปี่ ส่วนประเพณีสำคัญที่ชาวบ้านปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา การแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และชุมชนบ้านเนินกรวดจะมีการทำบุญประจำปี ช่วงเดือนธันวาคม เป็นประจำทุกปี 

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 

บ้านเนินกรวดดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความขยันหมั่นเพียรและความพอเพียง มีการเก็บออมและประกอบอาชีพหลายด้าน เกือบทุกบ้านจะมีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคเอง เป็นการลดรายจ่ายให้กับครอบครัว มีการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียน และเป็นแหล่งออมเงินของชาวบ้าน เป็นการออมเพื่ออนาคต และเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพของประชาชนในหมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่จะทำการปลูกสับปะรดและทำสวนมะม่วง ผลผลิตก็มีราคาตกเป็นบางช่วง ผลผลิตที่ได้มักส่งโรงงานอุตสาหกรรมภายในตำบล การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ ทำเกษตรกรรม ทำไร่สับปะรด ทำสวนมะม่วง ปาล์ม และชาวบ้านส่วนหนึ่งจะรับจ้างทั่วไป ปัจจุบันการทำสวนมะม่วงมีการส่งออกต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำสินค้าเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก

1.นางทัศนีย์ อินทศร (ครูทัศนีย์) ปัจจุบันเป็นครูเกษียณ มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย สอนลูกศิษย์ เป็นนักดนตรีหลายต่อหลายรุ่น 

2.นางระเบียบ สามเพชรเจริญ (ป้าเบียบ) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง การทำประตูเหล็ก 

3.นางแสงจันทร์ สามเพชรเจริญ (ป้าจันทร์) มีความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านจักรสาน 

4.นางน้อย เอี้ยงใจดี (ป้าน้อย) มีภูมิปัญญาชาวบ้านด้านแพทย์แผนไทย การปัดเป่าลมพิษ กวาดยาเด็ก 

5.ผู้นำชุมชน

  • นายวินัย ชาวไร่ ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานกรรมการหมู่บ้าน ประธานกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ดูแลด้านการพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ เป็นแกนนำหลักในการพัฒนาหมู่บ้าน 
  • นายสันติ น่วมอ่วม ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง เป็นกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ ช่วยเหลืองานให้กับชาวบ้านในพื้นที่
  • นายอำนวย คำยิ่งยง ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง เป็นอปพร. เป็นกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ
  • นายสุวนัย ลิ้มเรืองแสง ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ เป็นกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ ช่วยเหลืองานให้กับชาวบ้านในพื้นที่
  • นายศักดิ์ชัย ศรีภูมิ ตำแหน่งเป็นสมาชิก อบต. เป็นกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ
  • นายอรรถพล มีแก้วสุข ตำแหน่งเป็นสารวัตรกำนัน เป็นจิตอาสา คอยช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้าน เป็น อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน เป็นกรรมการหมู่บ้าน

ทุนมนุษย์

  • ผู้นำมีความเข้มแข็ง เสียสละ มีความรับผิดชอบในหน้าที่อย่างจริงจัง 
  • ทีมงานเข้มแข็ง คอยช่วยเหลือสนับสนุน
  • ประชาชน มีความขยัน ซื่อสัตย์ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือทำกิจกรรมเป็นอย่างดี
  • มีกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่เข้มแข็ง หลายองค์กร 

ทุนวัฒนธรรม

วัดเนินกรวด สังกัดคณะสงฆ์ เป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางศาสนาด้านต่าง ๆ ของชาวบ้าน เช่น งานทำบุญตามประเพณี งานบวช งานศพ 

ทุนกายภาพ

บ้านเนินกรวด มีแหล่งน้ำธรรมชาติ สระน้ำสาธารณะ คลองชลประทาน มีการจัดทำฝายกั้นน้ำ ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณหมู่บ้านให้มีความร่มรื่นสวยงาม มีการดูแลรักษาป่าไม้ และป่าชุมชน ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน

ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาไทยกลาง


เดิมคนส่วนใหญ่จะจบการศึกษาภาคบังคับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันจะส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในเขตพื้นที่ใกล้เคียง โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านเนินกรวด คือโรงเรียนบ้านเนินกรวด ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 


คนในชุมชนเริ่มห่างเหินจากความเชื่อสมัยเก่า และการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ค่อยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน การหารือหรือพูดคุยกันเริ่มห่างเหิน ระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็ว เชื่อมโยงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เกิดช่องว่างระหว่างวัย ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความเชื่อ


ชุมชนบ้านเนินกรวด ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านภัยธรรมชาติ แห้งแล้ง ไม่มีน้ำในการทำเกษตรกรรม เกิดความเสียหาย ทำให้การส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหยุดชะงัก ผลผลิตตกต่ำ เป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จนปัจจุบัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

แผนชุมชนบ้านเนินกรวด, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566

โรงเรียนบ้านเนินกรวด, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566 

วินัย ชาวไร่, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566 

องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566