Advance search

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ วิถีชีวิตและภูมิปัญญา คนกับธรรมชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืน

หมู่ที่ 1
บ้านใหม่
เมืองคอง
เชียงดาว
เชียงใหม่
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
24 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
24 ม.ค. 2024
บ้านแม่คองซ้าย แม่ป่าเส้า


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ วิถีชีวิตและภูมิปัญญา คนกับธรรมชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืน

บ้านใหม่
หมู่ที่ 1
เมืองคอง
เชียงดาว
เชียงใหม่
50170
19.436914597915983
98.793704616982
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง

ชุมชนบ้านแม่คองซ้าย แม่ป่าเส้า เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ ที่มีประวัติศาสตร์การเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบริเวณชุมชนปัจจุบัน ตั้งแต่ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2479 มีการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับพื้นที่ทางธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อยังชีพตามวิถีชาวไทยภูเขา ทั้งความเชื่อ และภูมิปัญญาที่รักษาและสืบทอดจากบรรพบุรุษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านแม่คองซ้าย ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ทางธรรมชาติ มีภูเขา ป่าไม้ ลำห้วยต่าง ๆ อยู่โดยรอบบริเวณชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ชุมชนตั้งอยู่ห่างจากถนนสายหลัก เส้นเมืองคอง-เชียงดาว ลึกเข้าไปเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และระยะทางห่างจากอำเภอเชียงดาวประมาณ 27 กิโลเมตร เนื้อที่ของชุมชนทั้งหมด 12,816 ไร่ ซึ่งสถานะทางกฎหมายตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดยชุมชนบ้านแม่คองซ้ายมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ห้วยแม่คองซ้าย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ห้วยแม่คองขาว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ดอยผาแดง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ดอยซูโจะ

ชุมชนบ้านแม่คองซ้าย แม่ป่าเส้า ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง ซึ่งเป็นหย่อมบ้านที่เป็นส่วนหนึ่งของ บ้านใหม่ หมู่ที่ 1 ที่มีประชากรรวมจำนวน 309 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 421 คน หญิง 419 คน รวมประชากรทั้งหมด 840 คน โดยหย่อมบ้านแม่คองซ้ายมีประชากรที่อยู่อาศัยจำนวน 26 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 61 คน หญิง 55 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 116 คน

ปกาเกอะญอ

บ้านแม่คองซ้ายเป็นหย่อมบ้านที่ขึ้นอยู่กับ บ้านใหม่ หมู่ที่ 1 ต. เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ซึ่งมีนาย วิเชียร บุญเรือง เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งบ้านแม่คองซ้ายก็มีคณะกรรมการหมู่บ้านที่คอยดูแลความเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม การปลูกข้าว มันฝรั่ง ข้าวโพด ถั่วเหลือง พริก และปลูกพืชตามฤดูกาลชนิดอื่นๆ

เนื่องจากชาวบ้านแม่คองซ้าย แม่ป่าเส้า เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวบ้านจึงมีความเกี่ยวโยงและผูกพันกับธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีเพื่อการดำรงชีวิต ทั้งการเพาะปลูก เกษตรกรรมตามฤดูกาล การหาของป่า ล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อแบบวิถีดั้งเดิม (นับถือผี) ผสมผสานกับศาสนาพุทธ อีกบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ความแตกต่างในการนับถือศาสนาและพิธีกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันเนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน อีกทั้งการเปลี่ยนศาสนาก็มักเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น การสงเคราะห์ด้านการศึกษาบุตร หรือความประหยัดและความสะดวกที่ไม่ต้องเลี้ยงผีซึ่งถือเป็นความสิ้นเปลืองอย่างหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่ยังถือผีอยู่นั้นในแต่ละปีจะต้องใช้ทั้ง หมู และ ไก่ สำหรับประกอบพิธีกรรมเป็นจำนวนมาก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • ทรัพยากรธรรมชาติ : ภูเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำ พืช-สัตว์ป่า 
  • ภูเขา-ป่าไม้ : ดอยผาแดง, ดอยซูโจะ
  • แหล่งน้ำธรรมชาติ : ห้วยแม่คองซ้าย, ห้วยแม่คองขาว
  • พืชพรรณ-สัตว์ป่า
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเดินทางเข้าบ้านแม่คองซ้ายค่อนข้างลำบาก สภาพถนนลูกรัง การเดินทางเข้าหมู่บ้านสามารถเดินทางโดยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ คือการเดินเท้าจากปากทางของ ถนนเส้นเมืองคอง - เชียงดาว ระยะทางถึงหมู่บ้านประมาณ 5 กิโลเมตร ถ้ามองจากเส้นทางเดินบริเวณสันเขาระหว่างทางเดินเข้าหมู่บ้าน จะเห็นว่าบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านล้อมรอบไปด้วยแนวป่าและลำห้วยที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนถึงการจัดการป่าที่ดี และการดำรงชีพของชาวบ้านที่สอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัวได้เป็นอย่างดี


บ้านแม่คองซ้ายเป็นหย่อมบ้านที่ขึ้นอยู่กับ บ้านใหม่ หมู่ที่ 1 ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่ของชุมชนทั้งหมด 12,816 ไร่ ซึ่งสถานะทางกฎหมายตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ซึ่งในขณะนี้ยังมีความขัดแย้งในการรับรองสิทธิในที่ดินของชุมชน โดยชุมชนได้มีข้อเสนอกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโดยดำเนินการไปตามแนวทาง มติ ครม. 3สิงหาคม 2553 ว่าด้วยเรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องการจัดให้มีโฉนดชุมชน

สถานการณ์เกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2512 เนื่องจากมีนายทุนพยายามเข้ามาสัมปทานป่าไม้ โดยอ้างว่าได้รับการสัมปทานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการตีตราต้นไม้เตรียมตัดและชักลาก แต่โดยการนำของ "ฮีโข่" ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนร่วมกับชาวบ้านช่วยกันคัดค้าน จนโครงการดังกล่าวถูกยกเลิกไป และร่องรอยการตีตราต้นไม้ยังสามารถพบเห็นได้ตามต้นไม้ขนาดใหญ่ในบริเวณชุมชนจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2516 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาวขึ้นในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ซึ่งซ้อนทับพื้นที่ของชุมชนบ้านแม่คองซ้าย และบ้านแม่ป่าเส้า ซึ่งการประกาศไม่มีการแจ้งล่วงหน้าทำให้ไม่มีการกันพื้นที่ชุมชนออกก่อนที่จะมีการประกาศ ต่อมาในปี 2519 กรมป่าไม้ได้ส่งนักวิชาการป่าไม้เข้ามาสำรวจพื้นที่ป่าเชียงดาว เพื่อเตรียมประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และมีการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวในปี 2521 ซึ่งประกาศทับพื้นที่ทั้งหมดของบ้านแม่คองซ้ายอีกชั้นหนึ่ง ส่งผลให้สิทธิชุมชนถูกลิดรอนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและที่ดิน

ปี 2532 มีประกาศปิดสัมปทานป่าไม้ในประเทศไทย และส่งเสริมการอนุรักษ์ให้มีความเข้มงวดขึ้น ในปี 2536 เขตรักษาพันธุ์ป่าดอยเชียงดาวมีแผนการอพยพโยกย้ายชุมชนบ้านแม่คองซ้าย และแม่ป่าเส้าออกจากพื้นที่ ไปอยู่ที่บ้านเมืองคอง หลังการประกาศดังกล่าวชาวบ้านก็มีความกังวลถึงความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน เนื่องจากแผนการอพยพโยกย้ายไม่มีความชัดเจนและหลักประกันที่ชาวบ้านมั่นใจได้ว่าจะอยู่อาศัยได้อย่างปกติสุขหรือไม่ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต

ชาวบ้านได้มีการพูดคุยหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนในที่สุดเมื่อประมาณ ปี 2537 ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่ารวมตัวกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย ส่งตัวแทนหมู่บ้านเข้าร่วมชุมนุมกับเครือข่ายสมัชชาคนจน ปลายปี 2539–2540 จำนวน 99 วัน จนในที่สุดก็สามารถชะลอแผนการอพยพชุมชน โดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเดินรังวัดแนวเขตโดยคณะทำงานระดับอำเภอซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นตามข้อเรียกร้องของชุมชน และเครือข่ายฯ แต่กระบวนการแก้ไขปัญหาก็ไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งมีผลต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

ชาวบ้านเริ่มออกมาเรียนรู้ และเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาระดับนโยบายร่วมกับเครือข่ายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จนถึงปัจจุบันชาวบ้านก็ยังเป็นสมาชิกเครือข่ายประชาชนระดับประเทศในนามของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือที่เรียกว่า P-Move คนในชุมชนยังคงเดินหน้าด้วยการกลับมาสร้างรูปธรรมในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูล เครื่องมือ องค์ความรู้และบุคลากรจากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ชุมชนได้พยายามพัฒนารูปธรรมในการจัดการป่าชุมชนโดยการประยุกต์เอาวิถีปฏิบัติ ความเชื่อดั้งเดิม สู่การจัดทำขอบเขตพื้นที่ประเภทต่างๆ ทั้งป่าชุมชนใช้สอย ป่าชุมชนอนุรักษ์ และที่ทำกิน การร่างกฎระเบียบป่าชุมชน การจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนเพื่อดูแลและควบคุมให้เป็นไปตามข้อตกลงของชุมชนคณะกรรมการป่าฯ ประกอบไปด้วย ผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส และเยาวชน

นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นกิจกรรมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าซึ่งจะเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆที่ยั่งยืนของชุมชนในระยะยาวต่อไป กิจกรรมที่ชุมชนทำเป็นประจำทุกปี ได้แก่ การเดินตรวจป่าชุมชน  การซ่อมแซมติดป้ายแสดงแนวเขตป่าชุมชน การทำแนวกันไฟ ซึ่งจะทำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี การดับไฟป่ากรณีที่เกิดไฟไหม้ไม่มีการยกเว้นแม้แต่ตอนกลางคืน


ดอยเชียงดาว
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คลังข้อมูลชุมชน. บ้านแม่คองซ้าย แม่ป่าเส้า ต.เมืองคอง อ.เชียดาว จ.เชียงใหม่. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/

ปุณญภัส กมลเนตร. (2558). เล่าเรื่องเกี่ยวกับบ้านแม่คองซ้าย ชุมชนเล็กๆ กับการดูแลป่าชุมชน 10,000 กว่าไร่ ทำได้อย่างไร??. รายงานโดย ปุณญภัส  กมลเนตร  ผู้สื่อข่าวชุมชนประเด็นที่ดินภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ; จาก https://ref.codi.or.th/public-relations/

องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง. (ม.ป.ป.) แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). กลุ่มงานวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่.