Advance search

มุ่งมั่นพัฒนา ชาวประชามีส่วนร่วม ศูนย์รวมหมู่บ้านเข้มแข็ง เป็นแหล่งเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมเคียงกันต่อต้านยาเสพติด

หมู่ที่ 2
ทุ่งเคล็ด
ศาลาลัย
สามร้อยยอด
ประจวบคีรีขันธ์
กนกวรรณ สุวัฒนะสถาพร
3 มิ.ย. 2023
ประเสริฐ ไทยอุดมทรัพย์
10 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
24 ม.ค. 2024
บ้านทุ่งเคล็ด

มูลเหตุที่ได้ชื่อว่าบ้านทุ่งเคล็ด จากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสวัดศรีทุ่งเทอง (วัดทุ่งเคล็ด) เล่าว่า เมื่อหลายปีก่อนมีต้นเคล็ดอยู่มาก จึงเรียกว่า "ทุ่งเคล็ด" มองไปทางใดก็มีแต่ต้นเคล็ด จนเรียกติดปากกันว่า "บ้านทุ่งเคล็ด" หรือชุมชนทุ่งเคล็ด ปัจจุบันต้นเคล็ดยังมีให้เห็นอยู่บริเวณ วัดศรีทุ่งทอง


ชุมชนชนบท

มุ่งมั่นพัฒนา ชาวประชามีส่วนร่วม ศูนย์รวมหมู่บ้านเข้มแข็ง เป็นแหล่งเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมเคียงกันต่อต้านยาเสพติด

ทุ่งเคล็ด
หมู่ที่ 2
ศาลาลัย
สามร้อยยอด
ประจวบคีรีขันธ์
77180
12.26099623
99.83854115
องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย

มูลเหตุที่ได้ชื่อว่าบ้านทุ่งเคล็ด จากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสวัดศรีทุ่งเทอง (วัดทุ่งเคล็ด) เล่าว่า เมื่อหลายปีก่อนมีต้นเคล็ดอยู่มาก จนเรียกว่า "ทุ่งเคล็ด" มองไปทางใดก็มีแต่ต้นเคล็ด จนเรียกติดปากกันว่า "บ้านทุ่งเคล็ด" หรือชุมชนทุ่งเคล็ด ปัจจุบันต้นเคล็ดยังมีให้เห็นอยู่บริเวณ วัดศรีทุ่งทอง

บ้านทุ่งเคล็ดอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ประมาณ 8 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 57 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 246 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองคาง ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่บ้านหนองไพรวัลย์ หมู่ที่ 6 ตำบลศาลาลัย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่บ้านเนินกรวด หมู่ที่ 1 ตำบลศาลาลัย

ลักษณะทางกายภาพ

พื้นที่ชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด เป็นพื้นที่ราบและพื้นที่เชิงเขาบางส่วน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 18,179 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 7,850 ไร่ ส่วนใหญ่รับจ้าง เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรม และทำการเกษตร ปลูกสับปะรด ทำสวนมะม่วง เป็นต้น มีน้ำประปาหมู่บ้านใช้ ครัวเรือนอยู่ห่างกัน และแออัดเป็นบางแห่ง และที่สำคัญ มีกลุ่มชนชาติพม่า เป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด เนื่องจากทำงานรับจ้างโรงงานสับปะรด (บริษัท เถกิงอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องจำกัด)

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด จำนวน 277 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 812 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 405 คน หญิง 407 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกันภายในหมู่บ้าน

สภาพสังคม ประกอบด้วยสถาบันต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งประกอบกันเป็นสภาพสังคมของหมู่บ้านทุ่งเคล็ด สถาบันครอบครัว มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย (พ่อ แม่ ลูก หลาน) นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันแบบพี่น้อง ผู้คนในชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 

กลุ่มที่เป็นทางการ 

  • กลุ่มผู้ปลูกสับปะรด ส่งเสริมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด มีสมาชิก จำนวน 61 คน
  • กลุ่มแม่บ้านทุ่งเคล็ด มีสมาชิก 63 คน จัดตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 เงินทุน 600,400 บาท เป็นการรวมกลุ่มแม่บ้าน ในการผลิตกระดาษจากใบสับปะรด ให้เป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้าน
  • กองทุนหมู่บ้าน (กองทุน 1 ล้านบาท) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยนโยบายของรัฐ เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้าน ดำเนินการปล่อยกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ ผลกำไรจัดสรรตามระเบียบกองทุน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน คณะทำงานที่มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง 
  • กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ มีสมาชิก จำนวน 47 คน มีเงินทุน 53,800 บาท การรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดสารเคมีในการใช้ทำการเกษตร
  • กลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นการรวมกลุ่มเพื่อการบริหารจัดการการใช้น้ำประปาหมู่บ้าน
  • กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 มีสมาชิก 88 คน จำนวนเงิน 682,300 บาท วัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกรู้จักการออมเงิน และมีแหล่งเงินทุนในการกู้ยืมไปประกอบอาชีพ 

กลุ่มไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มเต้นแอโรบิก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในหมู่บ้านออกกำลังกาย

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประชาชนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ มีการปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น มีวัดศรีทุ่งทอง หรือวัดทุ่งเคล็ด เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในการประกอบพิธีต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวบ้านในสังคมเกษตร เช่น เชื่อเรื่องบุญกรรม ส่วนประเพณีที่สำคัญชาวบ้านปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา การแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

ค่านิยมของชาวบ้านเชื่อว่า ทำดีย่อมได้ดี หว่านพืชเช่นไรย่อมได้รับผลเช่นนั้น คือทำในสิ่งที่เป็นคุณย่อมส่งผลประโยชน์แก่ผู้กระทำ เช่นขยันทำมาหากิน รู้จักใช้สอยอย่างประหยัด จะทำให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข แต่หากทำในสิ่งชั่ว เช่นลักเล็กขโมยน้อยย่อมส่งผลเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล  

สถานที่สำคัญของชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด

  • "ศาลเจ้าปุ่นเท่ากง" เป็นเทพเจ้าที่ชาวบ้านทุ่งเคล็ดนับถือและสืบทอดกันมายาวนาน รุ่นสู่รุ่น ปัจจุบัน ศาลเจ้าปุ่นเท่ากง ก็ยังได้รับความดูแลจากผู้ใหญ่ธนโชติ สีระพันธ์ ในการทำนุบำรุง และการทำบุญประจำปี ซึ่งจะทำบุญก่อนวันตรุษจีน 10 วัน 

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 

การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ ทำเกษตรกรรม ทำไร่สับปะรด ทำสวนมะม่วง ปาล์ม และชาวบ้านส่วนหนึ่งจะรับจ้างทั่วไป ปัจจุบัน การทำสวนมะม่วงมีการส่งออกต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำสินค้าเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก

1.นางเซี่ยมหงษ์ ภู่ระย้า (เจ้หงษ์) เกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494 สัญชาติ ไทย อายุ 72 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม (ทำกระดาษจากใยสับปะรด)

บทบาทและความสำคัญต่อชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด 

  • เป็นกรรมการกลุ่มสตรีตำบลศาลาลัย 
  • เป็นเลขานุการศูนย์พัฒนาครอบครัว 
  • กรรมการหมู่บ้านทุ่งเคล็ด
  • ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งเคล็ด (การทำผลิตภัณฑ์จากสับปะรด) 

การริเริ่มกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งเคล็ด

บ้านทุ่งเคล็ด ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสร้างงานอาชีพขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "กลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านทุ่งเคล็ด" ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มนี้มีหลักคิดเกี่ยวกับการสร้างงาน สร้างรายได้ ที่น่าสนใจคือ จัดการแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยการแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำและผลผลิตล้นตลาด อีกทั้งการนำส่วนที่เหลือจากการเกษตรมาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

คุณเซี่ยมหงษ์ ภู่ระย้า รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม เผยที่มาว่า ก่อตั้งมานานร่วม 20 ปี มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวมตัวกันของชาวบ้านทุ่งเคล็ด เพื่อหางานทำ เป็นการสร้างรายได้เสริม ต่อมาทางเจ้าหน้าที่เกษตรได้เข้ามาช่วยแนะนำ และจัดการเพื่อให้เป็นระบบ จากนั้นมีอีกหลายหน่วยงานราชการได้ทยอยเข้ามาส่งเสริมอบรมในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการทำอาชีพเสริม ทั้งนี้ เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ราคาผลสับปะรดตกต่ำ จนมีการสอนให้กลุ่มมีการแปรรูปสับปะรดด้วยการกวนแล้วนำไปขายตามสถานที่ต่างๆ

คุณเซี่ยมหงษ์ กล่าวว่า พันธุ์สับปะรดที่ชาวบ้านนิยมปลูกเป็นพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งเข้าโรงงาน แล้วมีพันธุ์เพชรบุรีฉีกตาที่ขายผลสด นอกจากนั้นชาวบ้านบางรายยังปลูกพันธุ์ภูเก็ต ซึ่งแทบทุกบ้านล้วนปลูกสับปะรดกันในพื้นที่มากน้อยต่างกัน สำหรับคุณเซี่ยมหงษ์แล้วปลูกสับปะรดกว่า 100 ไร่ เน้นสับปะรดปัตตาเวียเป็นหลัก เพื่อส่งโรงงาน ส่วนพันธุ์เพชรบุรีฉีกตาปลูกเล็กน้อย และปลูกด้วยวิธีหยอดแก๊ส เพื่อต้องการให้มีผลผลิตขายได้ทั้งปี คุณเซี่ยมหงษ์ กล่าวว่า ผลผลิตดีทุกคราว แต่เมื่อปีที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาตกต่ำมาก แล้วเพิ่งมาเริ่มดีขึ้นอีกครั้งในปีนี้ (2557) พันธุ์เพชรบุรี ที่เป็นสับปะรดฉีกตายังคงมีราคาดี เพราะปลูกกันไม่มาก อย่างของคุณเซี่ยมหงษ์มีญาติมารับที่สวน ราคา 30 บาท ต่อกิโลกรัม แล้วนำไปขายที่หัวหิน ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท

ส่วนเหตุผลที่นำสับปะรดมาทำกระดาษ เพราะเนื่องจากกลุ่มมีการแปรรูปสับปะรดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ขนม และของใช้ ผลิตภัณฑ์บางชนิดจำเป็นต้องใช้กระดาษเป็นวัสดุหีบห่อเพื่อให้ดูดี มีความเรียบร้อย น่าซื้อ และที่ผ่านมาต้องใช้เงินซื้อกระดาษเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทางกลุ่มจึงมาคุยกันว่าควรจะหาทางลดต้นทุนด้วยการมาผลิตกระดาษขึ้นใช้เองจากใบสับปะรด

เมื่อคิดได้เช่นนั้น ได้ประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่เกษตรเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปดูวิธีการทำกระดาษจากหน่วยงานหลายแห่ง แล้วกลับมาทดลองทำเอง จนแม้ผลที่ได้ในระยะแรกยังไม่ค่อยมีความสมบูรณ์สักเท่าไร กระทั่งเมื่อทำกันบ่อยขึ้น ได้พัฒนาฝีมือจนเกิดความสวยงาม มีคุณภาพจนถึงปัจจุบัน 

กลุ่มผู้นำชุมชน

1.นายธนโชติ สีระพันธ์ ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่างๆ เป็นแกนนำหลักในการพัฒนาหมู่บ้าน กรรมการกองทุนหมู่บ้าน 

2.นายฉลวย สมประสงค์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ

3.นางสาวกรรณิการ์ สีระพันธ์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ

4.นายสมชาย จ้อยร่อย ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ กรรมการกองทุน 

5.นายสมพร น่วมอ่วม ตำแหน่ง เป็นสมาชิก อบต. เป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นกรรมการหมู่บ้าน คอยช่วยเหลืองานพัฒนาหมู่บ้านด้านต่าง ๆ ผู้นำกลุ่มพัฒนาบทบาทสตรี กรรมการกองทุนหมู่บ้าน 

  • วัดเคล็ด (วัดศรีทุ่งทอง) แต่ก่อนเป็นสำนักสงฆ์ทุ่งเคล็ด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 ต่อมาในปี 2520 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดศรีทุ่งทอง" เป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางศาสนาด้านต่างๆ ของชาวบ้าน เช่น งานทำบุญตามประเพณี งานบวช งานศพ
  • ศาลเจ้าปุ่นเท่ากง เป็นสถานที่ที่ราษฎรในหมู่บ้านเคารพนับถือ มีราษฎรส่วนหนึ่งที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงใช้ศาลเจ้าปุ่นเท่ากงในการยึดเหนี่ยวจิตใจ และได้ทำนุบำรุงจากรุ่นสู่รุ่น มีการทำบุญประจำทุกปี ก่อนวันตรุษจีน 10 วัน จะมีการทำบุญ และปัจจุบัน ผู้ใหญ่ธนโชติ สีระพันธ์ เป็นผู้ดูแล และดำเนินการจัดพิธีทำบุญศาลเจ้าปุ่นเท่ากง
  • ประปาหมู่บ้านทุ่งเคล็ด เป็นแหล่งน้ำอุปโภคสำหรับประชาชนบ้านทุ่งเคล็ด และหมู่บ้านใกล้เคียง 
  • ศาลาหมู่บ้านทุ่งเคล็ด ในทุก ๆ วันที่ 3 ของทุกเดือน จะเป็นที่ประชุมประจำเดือน และเป็นสถานที่สำคัญ ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเงินล้าน ประชาชนจะมารวมตัวกันประชุม เป็นประจำทุกเดือน
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งเคล็ด สถานพยาบาลที่เป็นหลักสำคัญให้กับประชาชนในหมู่บ้านทุ่งเคล็ดและทุกหมู่บ้านในตำบลศาลาลัย การรักษาพยาบาลเบื้องต้น มีคลินิกต่าง ๆ สามารถรองรับการรักษาสำหรับประชาชนตำบลศาลาลัย 
  • สนามกีฬาชุมชน เป็นสนามกีฬาที่องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย สำหรับประชาชนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งที่เด็กและเยาวชน รวมตัวกันเล่นกีฬาฟุตบอล ฟุตซอล มีความปลอดภัยเป็นอย่างดี
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คนในชุมชนเริ่มห่างเหินจากความเชื่อสมัยเก่าและการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ไม่ค่อยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน การหารือหรือพูดคุยกันเริ่มห่างเหิน ระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็ว เชื่อมโยงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เกิดช่องว่างระหว่างวัย ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความเชื่อ


ชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านภัยธรรมชาติ แห้งแล้ง ไม่มีน้ำในการทำเกษตรกรรม เกิดความเสียหาย ทำให้การส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหยุดชะงัก ผลผลิตตกต่ำ เป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จนปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ธนโชติ สีระพันธ์, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566 

แผนชุมชนบ้านทุ่งเคล็ด, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566

องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566