Advance search

ชุมชนชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอดีตกับพัฒนาการชุมชนสู่สังคมเมืองและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับบริบท ทั้งสภาพสังคม และเศรษฐกิจ

บางยาง
บางยาง
กระทุ่มแบน
สมุทรสาคร
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
24 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
24 ม.ค. 2024
บางยาง


ชุมชนชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอดีตกับพัฒนาการชุมชนสู่สังคมเมืองและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับบริบท ทั้งสภาพสังคม และเศรษฐกิจ

บางยาง
บางยาง
กระทุ่มแบน
สมุทรสาคร
74110
13.658360384202934
100.2161913471881
องค์การบริหารส่วนตำบลบางยาง

จุดเริ่มต้นของพัฒนาการบริเวณตำบลบางยาง เริ่มตั้งแต่มีการขุดคลองภาษีเจริญในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยผู้ริเริ่มขุดคลองดังกล่าวคือพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (เจ๊สัวยิ้ม) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดเส้นทางใหม่ที่สะดวกต่อการขนส่งอ้อยและน้ำตาลจากแหล่งผลิตใหญ่ที่นครชัยศรีมายังกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์เป็นแม่กองงานดำเนินการขุดคลองเมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยเริ่มต้นจากวัดปากน้ำริมคลองบางกอกใหญ่ขุดออกไปทางทิศตะวันตกจรดแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลดอนไก่ดี แขวงเมืองสมุทรสาครซึ่งมีโรงหีบอ้อยของเจ๊สัวยิ้มตั้งอยู่

การเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางน้ำเพื่อเป็นเส้นทางการค้า ทั้งสินค้าทางการเกษตรและสินค้าส่งออก เช่นข้าว ทำให้ตลอดเส้นทางทางน้ำบริเวณนี้ปรากฏชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่มากมาย โดยเฉพาะชุมชนชาวจีน ในระยะแรกผู้คนที่บุกเบิกพื้นที่ริมฝั่งคลองเป็นที่อยู่อาศัยโดยมากจะทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและมีการขุดคลองหลายสายเชื่อมต่อกับคลองหลักไปยังพื้นที่เกษตรกรรมหรือเป็นเส้นทางลัดไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเช่น คลองมะเดื่อ คลองแป๊ะกง เป็นต้น สมัยนั้นพื้นที่แถบบางยางและละแวกใกล้เคียงหนาแน่นไปด้วยพื้นที่สวนและท้องนา ตลอดริมฝั่งคลองเต็มไปด้วยสวนผักสวนผลไม้ประเภทต่างๆ เช่นส้มเขียวหวาน มะนาว หมาก มะพร้าวฯลฯ ส่วนท้องนามีอยู่ทั่วไปตั้งแต่บางยางไปจนถึงดำเนินสะดวก ฯลฯ

ต่อมามีพัฒนาการกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่บริเวณคลองภาษีเจริญ (ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก) คลองกระทุ่มแบน (ทิศใต้) และคลองแป๊ะกง (ทิศเหนือ) โดยสินค้าที่ทำการค้าขายส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ ทุกวันจะคับคั่งไปด้วยเรือสินค้าจำพวกพืชผลต่างๆ ทั้งเรือพายขายผักและผลไม้ของ

ชาวสวนในละแวกดังกล่าว ฯลฯ ตลอดจนเรือจากต่างถิ่นก็มีมา เช่น เรือเอี้ยมจุ๊นบรรทุกใบตองกล้วยหัวปลี มะพร้าว พริก หัวหอม หัวกระเทียมแห้ง ฯลฯ มาจากบางช้างพ่วงต่อกันมาจากคลองดำเนินสะดวกเข้ามาตามคลองภาษีเจริญเรือจากแม่กลองและท่าจีนมีพวกกะปิน้ำปลาปูเค็มปลาเค็มมาขายพ่อค้าแม่ค้าจากอยุธยา นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ล่องเรือลงมาหาซื้อพวกมะพร้าวหมากไปขายต่อยังพื้นที่ตน

นอกจากตลาดในท้องน้ำแล้วริมแม่น้ำท่าจีนยังเป็นที่ตั้งของกิจการร้านค้าต่างๆ เรือนแถวขายของสารพัดอย่างตั้งอยู่หลายร้าน ส่วนใหญ่มีเจ้าของเป็นเถ้าแก่ชาวจีน ส่วนกิจการอื่นๆ ก็มี เช่น กิจการโรงสีข้าว โรงไม้ โรงเชือดหมู เป็นต้น ต่างก็อาศัยแม่น้ำท่าจีนเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญ

การตั้งถิ่นฐานของคนจีนในชุมชนบางยาง ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จึงเกิดขึ้นหลังจากมีการขุดคลองภาษีเจริญเชื่อมเส้นทางคมนาคมทางน้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและท่าจีน โดยพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานเป็นห้องแถวของชุมชนคนจีนบริเวณตลาดศาลเจ้า ตำบลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร สันนิษฐานว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จับจองพื้นที่ทำมาหากิน และมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่สายน้ำมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน 

ศาลเจ้าถือเป็นสัญลักษณ์การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนที่สำคัญมาตั้งแต่แรกเริ่มในสมัยอยุธยา โดยเมื่อชาวจีนเข้ามาก็นำเอาแนวความคิด ความเชื่อ และความศรัทธาเกี่ยวกับเทพเจ้า วิญญาณ และศาสนาติดตัวมาด้วย ทำให้พบศาลเจ้าซึ่งเป็นศาสนสถานที่ชาวจีนใช้ประกอบพิธีกรรมเป็นสถานที่กราบไหว้เทพเจ้าตามคติความเชื่ออยู่เสมอ

โดยในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่พบศาลเจ้าจีนจำนวนทั้งสิ้น 18 ศาล ตั้งกระจายตามบริเวณต่างๆ ทั้งในเขตเทศบาลเมือง และนอกเทศบาลเมือง ครอบคลุมทั้ง 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว โดยในเขตพื้นที่ตำบลบางยางนั้นมีศาลเจ้าที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและมักจะใช้เป็นพื้นที่ในการสักการะและประกอบพิธีกรรม

ศาลเจ้าอาม้าบางยาง

ศาลเจ้าอาม้าบางยาง หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางยาง ตัดกับคลองแป๊ะกง ด้านหน้าของศาลติดกับแม่น้ำท่าจีน คนในชุมชนเรียกศาลนี้ว่าศาลอาม่าใหญ่ หรือศาลอาม่าบน มีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี แต่เดิมปลูกสร้างด้วยไม้ แต่ปัจจุบันได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ สร้างเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีน ด้านหน้ามีศาลาไม้ซึ่งใช้สําหรับการแสดงอุปรากรจีน ภายในศาลเจ้าประดิษฐานเทวรูปอาม่าเป็นองค์ประธาน และเทวรูปเทพสําคัญองค์ต่างๆ

ตำบลบางยางเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน มีความอุดมสมบูรณ์ มีคลองธรรมชาติไหลผ่าน เนื้อดินเป็นดินร่วนปนเหนียว เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ในเขตปริมณฑลใกล้กับกรุงเทพมหานคร ทำให้พื้นที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอุตสาหกรรมและธุรกิจขนส่งทั้งทางน้ำและทางบก ตำบลบางยางมีเนื้อที่ 13.84 ตรรางกิโลเมตร มีเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าไม้ และเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน
  • ทิศตะวันตก ติต่อกับ ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน และตำบลคลองตัน ตำบลเกษตรพัฒนา อำเภอบ้านแพ้ว

เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์จีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บางยางก็ลงหลักปักฐานและสร้างครอบครัวโดยมีทั้งแต่งงานกับคนจีนด้วยกัน หรือแม้แต่สมรสกับชาวไทยท้องถิ่น โครงสร้างทางสังคมดังกล่าวส่งผลต่อการผสมผสานกลมกลืนระหว่างคนจีนและคนไทย

ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลบางยางแบ่งการปกครองออกเป็น 13 หมู่บ้าน โดยมีประชากรรวมทั้งหมดจำนวน 2,065 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 2,577 คน หญิง 2,792 คน รวมประชากรทั้งสิ้นจำนวน 5,369 คน

จีน

ด้วยภูมิศาสตร์ของพื้นที่บางยางเป็นพื้นที่ริมคลอง ติดแม่น้ำ ส่งผลให้ระบบนิเวศวิทยาวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่บางยางผูกพันอยู่กับการทำเกษตรกรรม เช่น การปลูกอ้อย ปลูกมัน ปลูกคราม หรือทำนา รวมถึงการทำประมงพื้นบ้านของคนที่บ้านอยู่ติดริมน้ำ โดยมีการทำโพงพางเพื่อดักปลาดักสัตว์น้ำในแม่น้ำ และกลุ่มชุมชนคนจีนในบ้านบางยางจำนวนหนึ่งยังประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานหีบอ้อย เนื่องจากในบริเวณของพื้นที่เป็นที่ตั้งของโรงหีบอ้อยตามนโยบายของประเทศที่เน้นการผลิตและส่งออกน้ำตาลทำให้แรงงานชาวจีนจำนวนมากตามเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำงานรับจ้างในโรงงานดังกล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจากการคมนาคมทางน้ำถูกเปลี่ยนที่ไปด้วยการคมนาคมทางบก ชาวบ้านบางยางจึงต้องปรับเปลี่ยนตนเองจากวิถีชีวิตดั้งเดิม เช่น การประมงแบบโพงพางเริ่มสูญหายไป เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจนชาวบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้เช่นเดิม หรือเกษตรกรรมก็เปลี่ยนจากการทำนาเป็นทำสวน และเปลี่ยนจากการทำสวนมาเป็นการปลูกกล้วยไม้เพื่อส่งออก ทำให้พืชเศรษฐกิจที่สําคัญของตำบลบางยางได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก

คนจีนในสมุทรสาครนิยมปลูกบ้านเรือนอยู่ใกล้น้ำ ดังนั้นวิถีชีวิตส่วนใหญ่จึงผูกพันกับแม่น้ำ บ้านเรือนเดิมจะหันหน้าออกทางแม่น้ำท่าจีน เพราะผู้คนใช้แม่น้ำเป็นการสัญจรทางหลัก ใช้เรือพ่วงขนส่งสินค้ามาค้าขายหลากหลาย ทั้งร้านโชว์ห่วย เรือขายกุ้ง ขายหอย ขายปู ขายปลา ขายผัก โดยมีการรับสินค้ามาจากมหาชัย ดำเนินสะดวก ราชบุรี และล่องผ่านคลองภาษีเจริญ เพื่อไปขายยังปากคลองตลาด ซึ่งเรือสินค้าส่วนใหญ่จะนำผักใส่เรือแล้วล่องมาเป็นคราวละมากๆ ส่วนเรือเล็กมักจะเป็นเรือขายสินค้าในพื้นที่ในชุมชน ส่วนใหญ่จะขายกับข้าว ขายกาแฟ ขายขนมจีน ซึ่งมีสินค้าตามแต่ฤดูกาล นอกจากค้าขายแล้วนั้น การทํามาหากินของคนจีนบางยางแต่เดิมจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกหมาก ปลูกมะนาว ปลูกกล้วย ปลูกมะพร้าวบ้างประปรายแต่ไม่มากนัก เนื่องมาจากสภาพพื้นที่ที่เป็นสวนและเป็นป่าชายเลน แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง พ.ศ. 2500 ชาวบ้านในพื้นที่จึงเริ่มเปลี่ยนมาทำสวน เนื่องจากไม่ต้องรอฤดูกาลทำนา และทำรายได้มากกว่า

อาชีพอีกประเภทหนึ่งที่พบเห็นได้ในบางยางสมัยอดีตก็คือการรับจ้างเป็นแรงงานปลูกอ้อยและทำน้ำตาล โดยแรงงานเกือบทั้งหมดเป็นชาวจีน โดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋วที่มีความรู้ความชำนาญในการทำน้ำตาลอยู่แต่เดิมแล้ว เมื่ออพยพมาเมืองไทยก็นำความรู้ที่ติดตัวมาใช้ในการดำเนินงานด้วย โดยแบ่งภารกิจหน้าที่ตามความชำนาญของตนเอง เช่น ผู้จัดการ (ในอดีตเรียกว่าหลงจู๊นายโรงหีบ) หัวหน้าคนงาน (เรียกจีนเตง) นายช่าง (เรียกไส้หู) รวมถึงแรงงานทั่วไปเช่น เสมียน กรรมกร (เรียกกุลี) คนครัว และยาม เป็นที่น่าสังเกตว่าโรงงานที่เจ้านายขุนนางลงทุนส่วนใหญ่จะไม่ได้บริหารกิจการเอง แต่จ้างชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่บริหารกิจการให้

  • การตั้งบ้านเรือน/ที่อยู่อาศัย

การปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของชาวจีนนั้นมักจะมีสิ่งสำคัญอยู่ประการหนึ่งคือการนิยมปลูกบ้านอยู่ใกล้ริมน้ำ เรียงตามริมคลอง และอีกประเภทหนึ่งจะตั้งอยู่ตามสวนของตนเอง เป็นลักษณะกระจายกันอยู่ บ้านตามสวนจะปลูกแบบยกพื้นสูงประมาณหนึ่งเมตรขึ้นไป เพราะใต้ถุนบ้านจะใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์หรือเครื่องมือการเกษตรต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นที่เก็บผลผลิตของตนด้วย

  • ปฏิทินประเพณี/เทศกาล/พิธีกรรมสำคัญในรอบปี หรือประเพณี 12 เดือน

ครอบครัวชาวจีนในพื้นที่บางยางยังคงสายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ติดต่อกันอยู่อย่างเหนียวแน่น โดยลูกหลานในรุ่นหลังยังคงให้ความสำคัญในการรักษาประเพณีพิธีกรรมหลักเช่นในอดีต อาทิ วันตรุษจีน สารทจีน วันไหว้บรรพบุรุษ เป็นต้น โดยประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีนที่คนบางยางให้ความสําคัญมักจะเกี่ยวข้องกับประเพณีประจำปีในรอบ 12 เดือน ดังนี้

  • ประเพณีและพิธีกรรมตรุษจีน ประเพณีตรุษจีนถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวจีน โดยในพื้นที่ชุมชนจีนบางยางก็ให้ความสำคัญต่อการทำกิจกรรมตามประเพณี โดยลูกหลานชาวจีนบางยางส่วนมากจะกลับบ้านมาพร้อมหน้าพร้อมตากันเพื่อทำร่วมพิธีกรรมดังกล่าว
  • ประเพณีเชงเม้ง คือการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับของชาวจีน ในแถบบ้านบางยางจะเริ่มไหว้กันได้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม เรียนว่าวันฮุงชุง จนกระทั่งเดือนเมษายน ซึ่งเรียกว่าวันเช็งเม้ง
  • ประเพณีวันสารทจีน เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ลูกหลานชาวจีนที่จะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีการเซ่นไหว้ โดยมีคติความเชื่อว่าประเพณีสารทจีนคือวันที่ประตูนรกเปิดเพื่อให้วิญญาณมารับกุศลผลบุญ
  • ประเพณีวันไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมของชาวจีน จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน ช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม เชื่อกันว่าขนมไหว้พระจันทร์เป็นขนมที่ใช้ส่งสารในการสงคราม จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นวันที่ครอบครัวและคนในตระกูลจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และร่วมกินขนมไหว้พระจันทร์

ผู้ที่มาบุกเบิกพื้นที่บริเวณบางยางตั้งแต่เดิมมีหลากหลายตระกูล เช่น ตระกูลแซ่ตั้ง แซ่เซียว แซ่ลิ้ม และจากการพูดคุยกับกำนันพิษณุ สำรวยรื่น พบว่ากลุ่มสายตระกูลดั้งเดิมที่สำคัญในชุมชนที่สืบเรื่องราวได้มี 2 ตระกูล คือ 1. ตระกูลระหงษ์ 2. ตระกูลสีบุญเรือง โดยกลุ่มตระกูลทั้งหลายต่างเข้ามามีความสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานกับคนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง

ทั้งสองตระกูลเป็นคนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในบริเวณแถบนี้ คาดประมาณว่าตั้งถิ่นฐานมากว่า 100 ปี และพบว่ามีกลุ่มเครือญาติที่เกี่ยวเนื่องกันผ่านกลุ่มคน 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม
  2. กลุ่มชาวจีนที่ล่องเรือสำเภามาจากประเทศจีน ทั้งเพื่อการค้าขายและเพื่อมาหางานทำ
  3. กลุ่มชาวจีนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากบริเวณกรุงเทพฯ หรือพื้นที่อื่นๆ

โดยความสัมพันธ์ของคนทั้ง 3 กลุ่มนั้นได้ผสมผสานกันผ่านการแต่งงาน ทำให้กลุ่มคนต่างๆ ในหมู่บ้านมีลักษณะเสมือนเครือญาติกัน และการสืบทอดของตระกูลต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่น จากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้เองจึงทำให้เกิดการเกี่ยวดองกันของคนในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น

  • ตระกูลระหงษ์ เล่าก๋งโหงว (รุ่นทวด) เป็นชาวจีน ที่อพยพมากับเรือสินค้ามาขึ้นที่นครศรีธรรมราช พบกับภรรยา (ย่าเหนียว) แล้วจึงมาตั้งครอบครัวอยู่ที่ตำบลบางยาง เล่าก๋งโหงวมาทำนานอยู่ที่บริเวณหนองท่าจีน ลูกหลานก็ทำนาต่อกันมา (สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ และคณะ, 2560, น.9)
  • ตระกูลสีบุญเรือง ตระกูลสีบุญเรือง นามสกุลเดิมคือแซ่เซียว มาจากมณฑลเหอหนาน ทางเหนือของประเทศจีน บรรพบุรุษรุ่นแรกคือ นายเซียวอิ้วไช้ อพยพลงมาที่สยาม และจดนามสกุลว่าสีบุญเรืองในปี พ.ศ.2463

  • แหล่งน้ำ ในเขตพื้นที่ตำบลบางยางมีคลองน้ำมากกว่า 20 สาย และมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำท่าจีน
  • พื้นที่ทางการเกษตร สวนผลไม้ เช่น มะพร้าว มะม่วง ฝรั่ง และสวนไม้ดอกไม้ประดับ เช่น สวนกล้วยไม้
  • โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ
  • วัฒนธรรมชุมชนชาวจีน ความเชื่อ ประเพณี เทศกาล ฯลฯ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สําหรับการรวมกลุ่มของเกษตรในจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนรวม 148 กลุ่ม รวมทั้งมีศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีประจําตําบล จํานวน 36 แห่ง และศูนย์การจัดการศัตรูพืช จํานวน 14 แห่ง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการให้แก่เกษตรกร ซึ่งกลุ่มเครือข่ายที่ค่อนข้างมีความสำคัญต่อชาวบ้านในชุมชนบางยาง คือ กลุ่มเกษตรกรกล้วยไม้ เนื่องจากรูปแบบของเกษตรกรรมในปัจจุบันของบ้านบางยางได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการทำสวนกล้วยไม้เพื่อส่งออก


ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบางยางนั้นผูกพันอยู่กับริมน้ำ การประมง และการเกษตร มาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวบางยางเปลี่ยนไปในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนจากการพึ่งพาและผูกพันกับสายน้ำ หลังจากการคมนาคมทางน้ำถูกเปลี่ยนที่ไปด้วยการคมนาคมทางบก ชาวบ้านบางยางจึงต้องปรับเปลี่ยนตนเองจากเดิม การประมงแบบโพงพางเริ่มสูญหายไปจากทั้งสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจนชาวบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้เช่นเดิม และนโยบายจากรัฐที่เข้ามาควบคุมประมงโพงพางด้วยเหตุผล คือ ขัดขวางการเดินเรือพาณิชย์และการขนส่งทางน้ำ และทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ทำลายลูกพันธุ์สัตว์น้ำ กีดกันการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และ พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 นโยบายดังกล่าวส่งผลให้รูปแบบวิถีชีวิตของชาวประมงโพงพางบางยางต้องเปลี่ยนแปลง 

ในส่วนเรื่องเกษตรกรรมที่เปลี่ยนจากการทำนาเป็นทำสวน และเปลี่ยนจากการทำสวนมาเป็นการปลูกกล้วยไม้เพื่อส่งออก ทำให้พืชเศรษฐกิจที่สําคัญของตำบลบางยาง จังหวัดสมุทรสาคร ได้เปลี่ยนแปลงไป อาทิเช่น การปลูกมะพร้าวน้ำหอม กลายเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกันอย่างกว้างขวาง และกล้วยไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สําคัญชนิดหนึ่งของจังหวัด แหล่งปลูกที่สําคัญ ได้แก่ อําเภอเมืองสมุทรสาคร อําเภอบ้านแพ้ว และอําเภอกระทุ่มแบน 

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ในปัจจุบันบ้านบางยางก็พบกับปัญหาสถานการณ์น้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำท่าจีน จนเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ น้ำเค็มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นไม่สามารถที่จะนำน้ำในแม่น้ำท่าจีนมาใช้รดกล้วยไม้ได้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมที่ทำสวนกล้วยไม้ในพื้นที่ตำบลบางยางเป็นอย่างมาก

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในตำบลบางยาง

วัดบางยาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย ในรายงานทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า สร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2364 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งล่าสุด วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระครูสาครธรรมโกศล (คุณ เมตฺติโก)

อาคารเสนาสนะในวัด

  • อุโบสถเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อแดง เป็นประธาน
  • ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นอาคารไม้ทรงไทย ส่วนฐานมีการปรับปรุงโดยก่อคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • อุโบสถใหม่ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2557 ปิดทองฝังลูกนิมิตปี พ.ศ. 2559
  • กุฏิสงฆ์ไม้เรือนไทย ไม่ระบุปี พ.ศ.ที่สร้าง เป็นอาคารไม้ทรงไทย
  • กุฏิธรรมกิจกุศล สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น
  • ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก - เมรุ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • วิหารหลวงพ่อศรีธรรมราช เป็นอาคารจัตุรมุข สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในประดิษฐานหลวงพ่อศรีธรรมราช พระพุทธรูปปางสมาธิ บริเวณพื้นที่เสาและหน้าอุดปีกนกด้านในมีการวาดภาพจิตกรรมลวดลายเทพนม และลวดลายพันธุ์พฤกษา
  • วิหารหลวงพ่อสังกัจจายย์ สร้างเมื่อ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • วิหารหลวงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • ศาลาท่าน้ำ มีจำนวน 4 หลัง ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัด ริมคลองดำเนินสะดวก อาคารไม้ทรงไทย 2 หลัง ระบุปี พ.ศ. สร้างเมื่อ พ.ศ. 2508 และ พ.ศ. 2510 อีก 2 หลังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องดินเผา 1 หลัง ไม่ระบุปี พ.ศ. ที่สร้าง ส่วนอีกหนึ่งหลังมุงหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ลอน ระบุสร้างปี พ.ศ. 2535
  • โรงเรียนในเขตวัด 1. โรงเรียนบางยางวิทยาคาร 2. โรงเรียนกุศลวิทยา

พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ

  • หลวงพ่อศรีธรรมราช ภายในวิหารหลวงพ่อศรีธรรมราช พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา กราบไหว้ขอพร
  • หลวงพ่อแดง พระประธานประจำอุโบสถหลังเก่า

วัดท่ากระบือ

เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอู่ริมแม่น้ำท่าจีน ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน แต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ยกฐานะขึ้นเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2439 เดิมทีชาวบ้านเรียกว่า “วัดท่าควาย” เนื่องจากบริเวณนี้แต่เดิมเป็นท่าน้ำสำหรับให้วัวควายลงกินน้ำ และใช้ข้ามไปมาที่บริเวณด้านหน้าวัด พระไพโรจน์วุฒาจารย์ (หลวงปู่รุ่ง ติสฺสโร) ได้ก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ขึ้นใน พ.ศ. 2441 เป็นต้นมา (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 144)

สถานที่สำคัญภายในวัด (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 144)

  • อุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 ปัจจุบันได้รับากรบูรณะใหม่ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องซ้อนกันชั้นละ 3 ตับ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันไม้แกะสลักประดับกระจกสามสี ด้านหน้ามีมุขลด รองรับโครงหลังคาด้วยปูนสี่เหลี่ยม ด้านข้างมีคันทวย ผนังก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูทรงมณฑป ผนังตอนบนระหว่างซุมหน้าต่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยรอบอาคารเป็นระเบียงทางเดินและมีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้าและด้านข้าง ภายในอุโฐถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ บริเวณฝาผนังมีจิตรกรรมที่เขียนขึ้นใหม่
  • วิหาร 2 หลัง ตั้งอยู่ด้านข้างอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน หลังคาเคร่องไม้ทรงจั่วลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องซ้อนกันชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้นาหน้ามีมุขลด รองรับโครงหลังคาด้วยเสา 4 ต้น ด้านข้างมีชายคาปีกนก เสาหลอกและคันทวย ผนังอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว
  • เจดีย์ราย ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอุโบสถ จำนวน 4 องค์ เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานรูปเรือ 3 องค์ และด้านข้างวิหาร 8 องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานบัว ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์ และมีบังรองรับปากระฆัง องคระฆังงย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มเถา ปล้องไฉน และปลียอด บางองค์ส่วนยอดชำรุดหักพัง
  • ปรางค์ จำนวน 4 องค์ ตั้งอู่ด้านตะวันออกของอุโบสถ ติดกับแม่น้ำท่าจีน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ตั้งอยู่บนฐานเขียง ที่ฐานมีคำอุทิศจารึกอยู่บนแผ่นหินอ่อน ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์ เรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ส่วนยอดทรงปรางค์ มีนพศูลโลหะปักอยู่
  • ศาลาการเปรียญ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2462 และได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2533 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยยกพื้นสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกโดยรอบ
  • ศาลาทรงจตุรมุข ลักษณะเป็นศาลาไม้ทรงจตุรมุข ด้านล่างโปร่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง บริเวณหน้าบัน ชายคา และไม้คอสอง ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย

คลังข้อมูลชุมชน. บางยาง จ.สมุทรสาคร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BangYang

ฐานข้อมูลศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์. (2563). วัดท่ากระบือ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://db.sac.or.th/samutsakhon/religiousplace/

ฐานข้อมูลศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์. (2564). วัดบางยาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567 จาก https://db.sac.or.th/samutsakhon/religiousplace/

องค์การบริหารส่วนตำบลบางยาง. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร. จาก https://www.bangyang.go.th/