ชุมชนเข้มแข็ง อยู่ดีมีสุข มีความสามัคคี เป็นที่ยอมรับของชุมชนต่าง ๆ ดำรงชีพแบบยั่งยืนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
บ้านศาลาลัย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีอายุราว 100 ปีเศษ มีผู้คนอาศัยไม่มากนัก รอบๆ หมู่บ้านเป็นป่ารกทึก ใกล้ๆ หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปี วันดีคืนดีจะมีก้อนหินรูปร่างคล้ายศาลาลอยขึ้นมาให้เห็น เป็นอย่างนี้เนืองๆ ชาวบ้านเรียกว่า "ศาลาลอย" มีผู้เล่าต่อกันมาอีกว่า หากมีคนที่มีคาถามาดื่มน้ำในหนองน้ำแห่งนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ของเวทมนตร์จะเสื่อมไปทันที ต่อมาหมู่บ้านแห่งนี้มีผู้อาศัยเพิ่มมากขึ้น นำความสกปรกให้กับหนองน้ำมากขึ้น ศาลาที่เคยลอยขึ้นมาให้เห็นก็ไม่ปรากฏอีกเลย ชาวบ้านรู้สึกเสียดายและอาลัยเป็นอย่างมาก จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านศาลาลัย"
ชุมชนเข้มแข็ง อยู่ดีมีสุข มีความสามัคคี เป็นที่ยอมรับของชุมชนต่าง ๆ ดำรงชีพแบบยั่งยืนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
บ้านศาลาลัย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีอายุราว 100 ปีเศษ มีผู้คนอาศัยไม่มากนัก รอบ ๆ หมู่บ้านเป็นป่ารกทึก เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่บริเวณกว้าง มีสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ช้าง เสือ เก้ง กวาง เป็นต้น มีผู้เล่ากันว่า ใกล้ ๆ หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปี ชาวบ้านได้อาศัยหนองน้ำแห่งนี้ดื่มกินและใช้ รวมทั้งสัตว์ป่านานาชนิด ก็ได้อาศัยแหล่งน้ำแห่งนี้ด้วย วันดีคืนดีจะมีก้อนหินรูปร่างคล้ายศาลาลอยขึ้นมาให้เห็น เป็นอย่างนี้เนือง ๆ ชาวบ้านเรียกว่า "ศาลาลอย"
มีผู้เล่าต่อกันมาอีกว่า หากมีคนที่มีคาถามาดื่มน้ำในหนองน้ำแห่งนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ของเวทมนตร์จะเสื่อมไปทันที ต่อมาหมู่บ้านแห่งนี้มีผู้อาศัยเพิ่มมากขึ้น นำความสกปรกให้กับหนองน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ลงไปอาบน้ำในหนองน้ำ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของหนองน้ำแห่งนี้เสื่อมลงไป ศาลาที่เคยลอยขึ้นมาให้เห็นก็ไม่ปรากฏอีกเลย ชาวบ้านรู้สึกเสียดายและอาลัยเป็นอย่างมาก จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านศาลาลัย"
บ้านศาลาลัยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 55 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 240 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนบ้านศาลาลัย สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 7 บ้านต้นไทร ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แนวเขตอุทยานสามร้อยยอด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ติดถนนเพชรเกษม
ลักษณะทางกายภาพ
พื้นที่ชุมชนบ้านศาลาลัย เป็นพื้นที่ลุ่ม มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 16,000 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 850 ไร่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา รับจ้างทั่วไป และมีทำเกษตรกรรมในบางครั้ง
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านศาลาลัย จำนวน 65 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 122 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 60 คน หญิง 62 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว
สภาพสังคม ประกอบด้วยสถาบันต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งประกอบกันเป็นสภาพสังคมของหมู่บ้านศาลาลัย สถาบันครอบครัว มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว (พ่อ แม่ ลูก) นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันแบบพี่น้อง
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มน้ำดื่ม เป็นการส่งเสริมให้น้ำดื่ม สามารถส่งจำหน่ายได้ และทำให้ประชาชนในหมู่บ้าน มีน้ำดื่มไว้บริโภค และมีรายได้เสริม
- กลุ่มไร่นาสวนผสม เป็นการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรที่มีนา และข้าวเกิดราคาถูกทำให้ต้องเปลี่ยนความคิดให้กลุ่มเกษตรกรทำนา หันมาปลูกพืชไร่บ้าง เพื่อความยั่งยืนในการทำการเกษตร
- กลุ่มทำนา ชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านศาลาลัย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา จึงรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริม ให้คำปรึกษา แนะนำ การทำนาที่ได้ถูกต้อง
- กลุ่มปุ๋ยน้ำ เป็นการส่งเสริมการทำปุ๋ยน้ำสำหรับฉีดในนาข้าว เป็นปุ๋ยน้ำอินทรีย์ ปลอดสารพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยนโยบายของรัฐ ปัจจุบันมีสมาชิก 166 ราย เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้าน ดำเนินการปล่อยกู้เพื่อการประกอบอาชีพ ผลกำไรจัดสรรตามระเบียบของกองทุน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน คณะทำงานที่มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง
- กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน เป็นกองทุนเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในพื้นที่หมู่บ้านในการจัดการงานศพ ปัจจุบันมีสมาชิก 173 ครัวเรือน เมื่อมีการเสียชีวิตจะเก็บครัวเรือนละ 100 บาทเพื่อมอบให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยนโยบายของรัฐ เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้าน ดำเนินการปล่อยกู้เพื่อการประกอบอาชีพ ผลกำไรจัดสรรตามระเบียบของกองทุน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน
- กองทุนแผ่นดินแม่ เป็นกองทุนที่ได้พระราชทานเงินขวัญถุง จำนวน 8,000 บาท ปัจจุบันมี 33,396 บาท
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประชาชนบ้านศาลาลัย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีการปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่วนประเพณีสำคัญที่ชาวบ้านสืบทอดต่อกันมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันออกพรรษา การแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ ทำนา ทำเกษตรกรรม และชาวบ้านส่วนหนึ่งจะรับจ้างทั่วไป ปัจจุบันพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกัน คือข้าว
1.นายสุรชัย แท่นประเสริฐกุล (เฮียกู้) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 อายุ 70 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร นายสุรชัย แท่นประเสริฐกุล อดีตเคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย และเป็นประธาน อสม. ประธาน อพม. และประธาน โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลศาลาลัย มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ผสมผสาน เศรษฐกิจพอเพียง มีแหล่งเรียนรู้ทางด้านกาเรกษตร
2.นายเฉลิมพันธ์ มอญเกิ้ง (พี่ทร) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2497 อายุ 69 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านศาสนพิธี มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศาสนพิธี พิธีกรสงฆ์ พิธีกรงานพิธีต่าง ๆ
ผู้นำชุมชน
1.นายชาคริต ทรัพย์เจริญกุล ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4
2.นายคมสัน คำหอม ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
3.นายนพพร เนื้อนิ่ม ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
4.นายสมคิด เผือกผุด ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
5.นายอัมพร สมชัย ตำแหน่ง สมาชิกสภา อบต.ศาลาลัย
ทุนทางสังคม
- องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย ตั้งอยู่ในพื้นที่ ของหมู่ที่ 4 บ้านศาลาลัย ให้บริการทั่วไปเกี่ยวกับงานราชการ การขจัดทุกข์บำรุงสุข การขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ การขึ้นทะเบียนผู้พิการ การขึ้นทะเบียนเด็กแรกเกิด เงินสงเคราะห์ต่าง ๆ การสร้าง ปรับปรุง สาธารณูปโภคต่าง ๆ ทำให้ประชาชนในตำบลศาลาลัยสามารถติดต่อราชการได้อย่างสะดวก
- ศาลาหมู่บ้านศาลาลัย เป็นศาลาที่ใช้ในการประชุมหมู่บ้าน จัดกิจกรรมต่าง ๆ
- หอกระจายข่าว เป็นการประชาสัมพันธ์ของหมู่บ้าน ข่าวสารของทางราชการ
ทุนมนุษย์
- ผู้นำเป็นมีความเสียสละ รับผิดชอบ
- กลุ่ม องค์กรมีความเข้มแข็ง
ประชาชนใช้ภาษาไทยกลาง
คนในชุมชนเริ่มห่างเหินจากความเชื่อสมัยเก่า และการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ไม่ค่อยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน การหารือหรือพูดคุยกันเริ่มห่างเหิน ระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็ว เชื่อมโยงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เกิดช่องว่างระหว่างวัย ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความเชื่อ
ชุมชนบ้านศาลาลัย ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านภัยธรรมชาติ แห้งแล้ง ไม่มีน้ำในการทำนา หรือเกษตรกรรม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
แผนชุมชนบ้านศาลาลัย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
อัมพร สมชัย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566