อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลูกพืชปลอดสารเคมี ประชาชนสุขภาพดี แหล่งเรียนรู้การเกษตร เก็บออมเป็นทุน อยู่อย่างพอเพียง
ความเป็นมาของชื่อบ้านหนองน้ำกลัด เดิมประชาชนยังอาศัยอยู่แถบบ้านศาลาลัย ใกล้สถานีรถไฟสามร้อยยอด มีอาชีพทำนาและหาของป่าขาย ซึ่งของป่าที่ได้ก็คือไม้ฟืนล่าสัตว์ การตัดฟืนขาย (สมัยก่อนเรียกฟืนหลา) เป็นที่รู้จักกันว่าถ้าไปป่าตัดฟืนจะต้องพักระหว่างทางที่หนองน้ำกัด ชาวบ้านจึงเรียกชื่อนี้จนติดปาก เมื่อมีคนมากขึ้นได้มีการย้ายที่อยู่อาศัยมาทางทิศตะวันตก โดยถางป่าทำไร่ข้าวโพดและสับปะรด เมื่อมีคนมากขึ้นจะเรียกชื่อหมู่บ้านตามที่ได้ยินจากคนตัดฟืนและคนที่อาศัยอยู่ ณ หนองน้ำแห่งนี้ ว่า "บ้านหนองน้ำกัด" เรียกเรื่องมาจนเพี้ยนเป็น "บ้านหนองน้ำกลัด"
อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลูกพืชปลอดสารเคมี ประชาชนสุขภาพดี แหล่งเรียนรู้การเกษตร เก็บออมเป็นทุน อยู่อย่างพอเพียง
ความเป็นมาของชื่อบ้านหนองน้ำกลัด เดิมประชาชนยังอาศัยอยู่แถบบ้านศาลาลัย ใกล้สถานีรถไฟสามร้อยยอด มีอาชีพทำนาและหาของป่าขาย ซึ่งของป่าที่ได้ก็คือไม้ฟืนล่าสัตว์ การตัดฟืนขาย (สมัยก่อนเรียกฟืนหลา) ขายให้กับการรถไฟ ใช้เป็นฟืนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ การเดินทางด้วยเท้าและใช้เกวียนเทียมวัว อาศัยหนองน้ำให้วัวกินน้ำและพักระหว่างทาง พอหน้าฝนการเดินทางน้ำมักจะกัดเท้า ชาวบ้านมักจะพูดว่าถึงหนองน้ำกัดและได้อาศัยพักระหว่างทาง
จนเริ่มเป็นที่รู้จักกันว่า ถ้าไปป่าตัดฟืนจะต้องพักระหว่างทางที่หนองน้ำกัด ชาวบ้านจึงเรียกชื่อนี้จนติดปาก เมื่อมีคนมากขึ้นได้มีการย้ายที่อยู่อาศัยมาทางทิศตะวันตก โดยถางป่าทำไร่ข้าวโพดและสับปะรด เมื่อมีคนมากขึ้นจะเรียกชื่อหมู่บ้านตามที่ได้ยินจากคนตัดฟืนและคนที่อาศัยอยู่ ณ หนองน้ำแห่งนี้ ว่า "บ้านหนองน้ำกัด" เรียกเรื่องมาจนเพี้ยนเป็น "บ้านหนองน้ำกลัด"
ปัจจุบันหนองน้ำแห่งนี้ได้ตื้นเขินจนใช้ประโยชน์ไม่ได้จนปรับพื้นที่สร้างโรงเรียน เรียกว่า โรงเรียนบ้านหนองน้ำกลัด หมู่ที่ 4 ตำบลไร่เก่า ต่อมา พ.ศ. 2538 มีการแยกตำบลจึงเปลี่ยนเป็น หมู่ที่ 5 ตำบลศาลาลัย
บ้านหนองน้ำกลัดอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 56 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 242 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนบ้านหนองน้ำกลัด สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านหนองไพรวัลย์ ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลศาลาลัย เขตเทศบาลตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด
ลักษณะทางกายภาพ
พื้นที่ชุมชนบ้านหนองน้ำกลัด เป็นพื้นที่ราบ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,575 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 2,450 ไร่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านหนองน้ำกลัด จำนวน 164 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 284 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 150 คน หญิง 134 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกันภายในหมู่บ้าน
เนื่องจากยังคงมีวิถีชุมชนเกษตรกรรม ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจึงมีลักษณะแบบเครือญาติ ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส และผู้นำในชุมชน มีความช่วยเหลือเกื้อกูล รักใคร่สามัคคี ปรองดอง และความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมจะมีค่อนข้างสูง ขนาดของครอบครัวในปัจจุบันเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว มีการปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่เป็นครอบครัว ในบริเวณใกล้เคียงกับญาติพี่น้อง
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้ปลูกสับปะรด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 มีคณะกรรมการ 5 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 45 คน เป็นการส่งเสริม สนับสนุน เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ประธาน คือ นายชุบ หลีหลาย
- กลุ่มกองทุนปุ๋ย SML ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีสมาชิก 20 คน เป็นการส่งเสริมให้กู้ยืมเงินซื้อปุ๋ยในการทำการเกษตร ประธาน คือ นายชุบ หลีหลาย
- กลุ่มเกษตรกรก้าวหน้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 มีคณะกรรมการ 15 คน ปัจจุบัน มีสมาชิก 25 คน โดยให้สมาชิกกู้ยืมเงินเพื่อทำการเกษตรและใช้เป็นรายปี ประธาน คือ นายชุบ หลีหลาย
- กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 มีคณะกรรมการ 14 คน มีสมาชิก 15 คน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรได้ใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประธาน คือ นายสำนัก เนียมศร
- กลุ่มขนมหวานแม่บ้านหนองน้ำกลัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2550 มีคณะกรรมการ 10 คน มีสมาชิก 150 คน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม ในการทำขนมหวาน
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยนโยบายของรัฐ ปัจจุบันมีสมาชิก 96 ราย เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้าน ดำเนินการปล่อยกู้เพื่อการประกอบอาชีพ ผลกำไรจัดสรรตามระเบียบของกองทุน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน คณะทำงานที่มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2544 มีคณะกรรมการ 5 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 195 คน เป็นการรวมกลุ่มเพื่อกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพสำหรับสมาชิก ประธาน คือ นายสมชาย คล้ายแก้ว
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประชาชนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ มีวัด 1 แห่ง คือ "วัดศาลาลัย" ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีการปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา และชาวบ้านหนองน้ำกลัดเคารพนับถือศาลเจ้าพ่อต้นเกตุเป็นอย่างมาก มีการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่วนประเพณีที่สำคัญที่ชาวบ้านปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันลอยกระทง เป็นต้น
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำสวน เป็นต้น พืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกัน คือ สับปะรด มะม่วง และบางส่วนมีอาชีพรับจ้าง ถ้ารับจ้างก็จะรับจ้างทำไร่และรับจ้างในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในตำบลศาลาลัย
1.นางมาลี เนียมศร (ป้าเหวี่ยง) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2503 อายุ 63 ปี
ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำขนมหวาน ขนมไทย นางมาลี เนียมศร เป็น อสม. ในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทำขนมหวาน ขนมไทย เช่น สาลี่ ขนมหม้อแกง ขนมชั้น ขนมมงคลต่าง ๆ สำหรับงานบุญ งานบวช และได้ตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านขนมหวาน ซึ่งเป็นประธานกลุ่มอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นร่างทรง "สุวรรณทอง" ช่วยเหลือผู้คนที่ป่วยไม่ทราบสาเหตุ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้หมดไปจากผู้ป่วยที่ป่วยไม่ทราบสาเหตุ ที่หมอแผนปัจจุบันรักษาไม่หาย
2.นายชุบ หลีหลาย (ลุงชุบ) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2483 อายุ 82 ปี
ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม การสานภาชนะจากไม้ไผ่ และด้านการเกษตร เมื่อ พ.ศ. 2545-2546 ลุงชุบเป็นต้นแบบ ของเกษตรอินทรีย์ เกษตรพอเพียง และเกษตรผสมผสาน ได้รับรางวัลจากจังหวัด ซึ่งเป็นเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ปลอดภัย และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับคนที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้และนำกลับไปใช้ได้ อีกทั้งยังมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการสานตะกร้า กระบุง กระจาดที่สามารถใช้ไม้ไผ่สานได้ และทำขายเป็นรายได้เสริม อีกทั้งยังรับสอนสานตะกร้า สำหรับผู้ที่มีความสนใจอีกด้วย
ผู้นำชุมชน
3.นายกิตติโชค แก้วสกุล ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน
4.นายภาคย์พงศ์ สงวนพันธ์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
5.นายนราดุล โพธิรัชต์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
6.นายนิเทศ เอี่ยมสำอางค์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
7.นายสำนัก เนียมศร ตำแหน่ง สมาชิกสภาอบต.ศาลาลัย
ทุนวัฒนธรรม
- ศาลเจ้าพ่อต้นเกตุ บ้านหนองน้ำกลัด มีต้นเกดขนาดใหญ่ อายุมากกว่า 100 ปี ที่ชาวบ้านจะนับถือ และทำศาลเจ้าที่เพื่อเป็นที่สักการะบูชา และมีการทำบุญในวันสงกรานต์ เป็นประจำทุกปี และมีวัดศาลาลัย ที่ประชาชนถือเป็นที่ทำพิธีศาสนกิจทางศาสนาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
- วัดศาลาลัย เป็นวัดที่ประชาชนในตำบลศาลาลัย ได้ให้ความสำคัญและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีความเป็นมายาวนาน โดยมีพระครูสถิตกัลยาณคุณ เป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาลัย
- ศาลาหมู่บ้านหนองน้ำกลัด เป็นสถานที่ประชุม และรวมตัวกันของประชาชนบ้านหนองน้ำกลัด ใช้ทำกิจกรรมหมู่บ้าน เป็นต้น
ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่ภาษาไทยกลาง
คนในชุมชนเริ่มห่างเหินจากความเชื่อสมัยก่อน และการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ค่อยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน การหารือหรือพูดคุยกันเริ่มห่างเหิน ระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็ว เชื่อมโยงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เกิดช่องว่างระหว่างวัย ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความเชื่อ
ชุมชนบ้านหนองน้ำกลัด ยังเผชิญกับความท้าทายด้านภัยธรรมชาติ แห้งแล้ง ไม่มีน้ำเกษตรกรรม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ชุบ หลีหลาย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
แผนชุมชนบ้านหนองน้ำกลัด, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566