Advance search

ชุมชนชาวไทดำที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าพื้นเมืองไทดำ สินค้าโอท็อปประจำชุมชนที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กระทั่งได้รับประกาศเกียรติคุณชมเชยชุดไทยทรงดำร่วมสมัยลายขัด โครงการประกวดผ้าสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ประจำปี 2563 ของจังหวัดนครปฐม 

บ้านดอนทราย
สระกระเทียม
เมืองนครปฐม
นครปฐม
วิไลวรรณ เดชดอนบม
28 ธ.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
5 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ม.ค. 2024
บ้านดอนทราย

เรียกตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่เลือกปลูกสร้างบ้านเรือน คือ เป็นที่ดอนดินทราย น้ำท่วมไม่ถึง ว่า “บ้านดอนทราย” 


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนชาวไทดำที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าพื้นเมืองไทดำ สินค้าโอท็อปประจำชุมชนที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กระทั่งได้รับประกาศเกียรติคุณชมเชยชุดไทยทรงดำร่วมสมัยลายขัด โครงการประกวดผ้าสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ประจำปี 2563 ของจังหวัดนครปฐม 

บ้านดอนทราย
สระกระเทียม
เมืองนครปฐม
นครปฐม
73000
13.74922961
99.97204006
องค์การบริหารส่วนตำบลสระกะเทียม

บ้านดอนทราย ตำบลสระกะเทียม จังหวัดนครปฐม เป็นชุมชนชาวไทยทรงดำหรือไทยโซ่งที่อพยพจากบริเวณภาคเหนือของประเทศเวียดนาม เข้ามาในประเทศไทยด้วยเหตุผลทางสงครามผ่านลงมาทางเวียดนามตอนเหนือและลาว โดยการอพยพของชาวไทยโซ่งเข้าสู่ประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยธนบุรีจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ช่วงที่ไทยมีอำนาจเหนือล้านช้างและสิบสองจุไท เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ก่อนอพยพไปตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก และนครปฐม

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในชุมชน ทราบว่าเดิมชาวไทดำในหมู่บ้านดอนทรายแห่งนี้มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี แต่ต่อมาเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ทำให้พื้นที่ในการทำมาหากินที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการและยังขาดแคลนวัสดุในการสร้างบ้านเรือน เช่น ไม้ อีกทั้งชาวไทยโซ่งกลุ่มนี้ยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยากจะเดินทางกลับสู่ภูมิลําเนาเดิม จึงได้ตัดสินใจออกเดินทางกลับไปเมืองแถนในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองโดยการเดินทางเท้าและยานพาหนะที่หาได้ มุ่งหน้าเดินทางสู่ทางทิศเหนือ แต่การที่ต้องเดินทางไกลมากจึงทำให้ผู้ที่รู้ทางส่วนใหญ่ซึ่งมีอายุมากแล้วเสียชีวิตลงระหว่างทาง เมื่อมาเจอพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ จึงช่วยกันหักป่าถางพงบุกเบิกเพื่อสร้างเป็นชุมชนขึ้น ประกอบกับในสมัยนั้นทางราชการมีนโยบายให้ชาวไทดำขึ้นทะเบียนเป็นคนไทย ทำให้ชาวไทดำได้สัญชาติไทยและมีนามสกุลใช้ ซึ่งไทดำบริเวณนี้ได้เลือกที่จะใช้นามสกุลตามถิ่นฐานเดิมที่เรียกขานในเมืองแถน คือ ตระกูลซิงลอคํา จากคําบอกเล่า เล่าต่อกันมาว่าตระกูลซิงลอคําเป็นตระกูลใหญ่ที่ปกครองบ้านเมืองมาก่อนจะมีการอพยพมาอยู่ประเทศไทย และจะสลับสับเปลี่ยนตระกูลขึ้นปกครองเมืองเรื่อย ๆ โดยตระกูลใดขึ้นปกครองเมืองก็ให้เติมคําหลังนามสกุลว่า “คำ” เช่น ซิงลอคํา ซิงเรืองคํา โดยต้นตระกูลที่เป็นผู้นำการอพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ครั้งนี้ประกอบด้วย 4 ตระกูล ได้แก่ ซิงลอ ซิงเรือง ซิงคา และซิงทอง ต่อมาเมื่อได้รับสัญชาติไทยจึงเปลี่ยนมาเป็น สิงห์ลอ สิงห์เรือง สิงห์คา และสิงห์ทอง ตามอักษรไทย สําหรับการตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นเริ่มแรกเรียกชื่อว่า “บ้านโซ่ง” ต่อมาประชากรมากขึ้น มีการขุดคลองดินส่งน้ำโดยชาวบ้านลงแรงช่วยกันขุดเอง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านรางสระกะเทียม” ภายหลังประชากรเพิ่มมากขึ้นอีกทางราชการจึงตั้งชื่อหมู่บ้านให้ใหม่อย่างเป็นทางการตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่เลือกปลูกสร้างบ้านเรือน คือ เป็นที่ดอนดินทราย น้ำท่วมไม่ถึง ว่า “บ้านดอนทราย” 

บ้านดอนทราย เป็นหมู่บ้านในเขตพื้นที่ปกครององค์การบริหารส่วนตำบลสระกะเทียม พื้นที่บริเวณนี้มีสภาพโดยรวมเป็นที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำธรรมชาติและคลองชลประทานหลายแห่งสำหรับใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม ตลอดจนการอุปโภคและบริโภค ด้านสภาพภูมิอากาศมีลักษณะแบบฝนเมืองร้อน แบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน-มกราคม

สถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลสระกะเทียมแบบแยกรายหมู่บ้านจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 บ้านดอนทราย ทั้งสิ้น 650 คน แยกเป็นประชากรชาย 331 คน ประชากรหญิง 319 คน และจำนวนครัวเรือน 233 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) โดยประชากรในชุมชนคือชาวไทดำที่อพยพมาจากเมืองเพชรบุรีเพื่อจะกลับเมืองแถงภูมิลำเนา แต่เมื่อมาเจอพื้นที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้จึงช่วยกันบุกเบิกสร้างเป็นหมู่บ้าน แรกเริ่มมีจำนวน 4 ตระกูล ได้แก่ สิงห์ทอง สิงห์ลอ สิงห์คา และสิงห์เรือง ซึ่งทั้ง 4 ตระกูลคือบรรพบุรุษของชาวไทดำ บ้านดอนทรายในปัจจุบัน 

ไทดำ

การประกอบอาชีพของชาวไทดำ บ้านดอนทราย ตั้งแต่อดีตจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น การทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ มีการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานในครัวเรือนบ้าง โดยในอดีตนั้นการปลูกข้าวของชาวบ้านดอนทรายเป็นการปลูกข้าวนาปี หว่านและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงปีละครั้งเท่านั้น เนื่องจากในสมัยนั้นระบบชลประทานยังไม่พัฒนา การทำนาต้องพึ่งพาน้ำฝนตามฤดูกาลเพียงอย่างเดียว หากปีใดที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็จะส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ลดน้อยลง แต่ในช่วงราว 30 ปีที่ผ่านนั้น มีการพัฒนาระบบส่งน้ำชลประทานให้ที่ดีขึ้น ชาวบ้านสามารถพึ่งพาน้ำจากคลองชลประทานที่ถูกส่งมาจากลำน้ำแม่กลองแม่กลองมาใช้ในการเกษตร ทําให้ชาวบ้านดอนทรายสามารถทํานาได้ 3 ครั้งต่อปี ส่วนในระยะเวลาที่ว่างเว้นจากการทําการเกษตร คนในชุมชนจะประกอบอาชีพเสริม คือ การทอผ้าพื้นเมืองไทดํา ประยุกต์ผ้าทอเป็นอุปกรณ์ใช้สอยต่าง ๆ เช่น พรมเช็ดเท้า กระเป๋า ลูกช่วง ผ้าขาวม้า ฯลฯ และการจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นสินค้าโอท็อปประจำชุมชน

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังวิถีชีวิตของชาวไทดํา บ้านดอนทรายเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไป อาจเนื่องด้วยยุคสมัย การพัฒนาทางสังคม และความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี บางส่วนที่ครอบครัวมีทุนทรัพย์เริ่มหันมาเลี้ยงโคนม ประกอบอาชีพรับราชการ และด้วยสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เจริญเติบโตขึ้นในภาพรวม ก็ดึงดูดให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งในพื้นที่บริเวณจังหวัดนครปฐมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในชุมชนชาติบ้านดอนทรายก็เช่นเดียวกัน เช่น โรงงานข้าวสาร ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ คนในชุมชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ได้เริ่มหันมารับจ้างทํางานในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่างานเหล่านี้ได้ค่าตอบแทนสูงโดยที่ไม่ต้องแลกมาด้วยการตากแดดตากฝนเช่นการทำเกษตรกรรม วิถีการประกอบอาชีพแบบดั้งเดิมของชาวไทดําบ้านดอนทรายจึงค่อย ๆ หายไปพร้อมกับภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่เคยอยู่คู่วิถีชีวิตผู้คนมาตั้งแต่อดีต

กลุ่มทอผ้าบ้านดอนทราย

กลุ่มทอผ้าบ้านดอนทราย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทดำ ผลิตผ้าทอพื้นเมืองไทดำเป็นสินค้าโอท็อปประจำชุมชนจนมีชื่อเสียงโด่งดัง กระทั่งได้รับประกาศเกียรติคุณชมเชยชุดไทยทรงดำร่วมสมัยลายขัด ตำบลสระกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โครงการประกวดผ้าสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ประจำปี 2563 ของจังหวัดนครปฐม 

ประเพณีชุมชน

ชาวบ้านดอนทรายส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และมีการนับถือผีบรรพบุรุษตามความเชื่อ กิจกรรมอันแสดงถึงวัฒนธรรมและประเพณีที่ชาวไทยทรงดําปฏิบัติสืบต่อกัน เช่น ทําบุญกลางบ้าน และกิจกรรมในวันสําคัญทางพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ยังมีพิธีกรรมสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต คติความเชื่อ และมโนทัศน์ดั้งเดิมของชาวไทดำ เช่น พิธีเสนเรือน พิธีปาดตง พิธีปาดตง และพิธีเอาผีขึ้นเรือน

พิธีเสนเรือน คือ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษครั้งใหญ่ของชาวไทดำ การเซ่นไหว้จะใช้ หมู 1 ตัว ที่เจ้าของบ้านหรือผู้ที่ต้องการเสนเรือนจะเลี้ยงไว้สําหรับการเสนเรือนนี้โดยเฉพาะ หลังจากการทําพิธีกรรมเสร็จแล้วจะมีการเลี้ยงอาหารญาติพี่น้อง โดยในปัจจุบันชาวไทดําบ้านดอนทรายยังคงรักษาประเพณีการเสนเรือนนี้ไว้ได้อย่างมั่นคงด้วยแรงศรัทธาและความกตัญญูต่อบิดามารดาและบรรพบุรุษ

ชาวไทดำมีความเชื่อว่า คนเราเมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งจะขึ้นไปอยู่เมืองแถน (เมืองฟ้าหรือเมืองเทวดา) อีกส่วนหนึ่งจะอยู่กับลูกหลานคอยปกป้องดูแลลูกหลานโดยเฉพาะยามเวลาที่คนในบ้านหรือลูกหลานที่อยู่ในบ้านนั้นเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมา ก็จะมีการบอกผีบ้านผีเรือนให้ปกป้องคุ้มครองรักษาให้หายจากอาการนั้น ๆ โดยวิญญาณบรรพบุรุษเหล่านี้ ลูกหลานจะต้องเชิญขึ้นเรือน ผีบรรพบุรุษจะอยู่ในห้องผี เรียกว่า กะล้อห่อง ลูกหลานที่อยู่ในบ้านต้องเซ่นไหว้ตามชนชั้นของตนเอง เรียกว่า การป้าดตง อาหารที่เซ่นไหว้ เป็นอาหารเช่นเดียวกับที่คนในบ้านรับประทาน และใน 1 ปี หรือ 3 ปี จะต้องทําพิธีเซ่นไหว้ครั้งใหญ่ เรียกว่า การเสนเรือน ผู้ที่ทําการเสนเรือนบ่อยครั้งเชื่อว่าจะทําให้มั่งมีศรีสุขเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

พิธีปาดตง คือ พิธีการเลี้ยงข้าวใหม่แก่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ เนื่องจากชาวไทดำมีความเชื่อว่า เมื่อจะเก็บข้าวในนา หรือเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องทำพิธีเซ่นไหว้แม่โพสพ ซึ่งเป็นเทวดาพระจำพืชผลในนา เพื่อการบูชาหรือขอบคุณการให้ผลผลิตของคนได้ผลอย่างสมบูรณ์ โดยปกติจะทำระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือนยี่

พิธีแปงขวัญ คือ พิธีเสนเรียกขวัญ ตามขวัญผู้ป่วย ตามความเชื่อของชาวไทดําที่ว่าสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และในปัจจุบันนี้ก็ยังนิยมปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมา คือ เมื่อคนเราตกใจมาก ๆ หรือเจ็บป่วยมาก ขวัญจะหายไปจากร่าง จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญให้กลับคืนมาเข้าร่าง โดยผู้ที่ทําพิธีต้องเป็นมดมนต์ (แม่มด) ผู้ทําพิธีใช้จิตของแม่มดหรือมดมนต์ในโลกมนุษย์ติดต่อสื่อสารกับผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ของตนเอง หรือผู้ที่มีฤทธิ์มากกว่าให้ตามขวัญของผู้ที่กําลังเจ็บป่วยกลับคืนมา โดยมีระยะเวลาในการติดตาม 3 คืน หากพบก่อนอาจไม่ถึง 3 คืน หากพ้น 3 คืนแล้วตามขวัญไม่พบ คนเจ็บนั้นจะไม่สามารถมีชีวิตต่อไปได้

พิธีเอาผีขึ้นเรือน คือ การเชิญดวงวิญญาณคนในครอบครัวผู้ล่วงลับขึ้นเรือนเพื่ออยู่ใน กะล้อห่อง หรือห้องที่ทำไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ โดยชาวไทดําจะจัดทําพิธีกรรมนี้ก็ต่อเมื่อมารดาหรือบิดาของตน หรือญาติผู้ใหญ่ในบ้านเสียชีวิตเท่านั้น เนื่องจากเป็นความเชื่อว่าเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ตาย มิให้วิญญาณของบรรพบุรุษต้องเร่รอน แต่จะต้องมีพิธีกรรมเชื้อเชิญวิญญาณให้เข้าไปอยู่รวมกันกับบรรพบุรุษผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้วนั้นทั้งหมดในห้องผีเรือนเดียวกัน ที่เรียกว่า กะล้อห่อง เพื่อที่วิญญาณบรรพบุรุษจะได้คุ้มครองคนที่อยู่ในบ้านและลูกหลานทุกคนให้อยู่รอดปลอดภัยและเกิดความเจริญรุ่งเรือง

ทั้งนี้ บ้านดอนทรายมีวัดประจําชุมชน เดิมชื่อ “วัดรางสระกะเทียม” เพื่อให้สอดคล้องกับท้องถิ่นเดิมที่เข้ามาอยู่รวมกันว่า “ตําบลสระกะเทียม” ต่อมาทางคณะกรรมการวัดเห็นว่าชื่อวัดไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับชื่อของหมู่บ้าน จึงเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น “วัดใหม่ดอนทราย” โดยวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้กับชาวบ้าน ในช่วงวันพระและวันสําคัญทางพระพุทธศาสนา จะมีชาวบ้านที่เป็นอุบาสกและอุบาสิกามาถือศีล ฟังธรรม และนอนค้างคืนที่วัดเป็นประจํา โดยปกติชาวบ้านจะใส่บาตรทําบุญทุกเช้าเป็นประจํา และวัดยังเป็นสถานที่ในการศึกษาเล่าเรียนมาก่อนที่จะมีการก่อตั้งโรงเรียนขึ้น

สถาปัตยกรรมและศิลปะท้องถิ่น

ชาวไทดํา บ้านดอนทราย มีการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เรียกว่า “กว๊านตุ๊บ” หรือ “เฮือนลาว” มีอยู่ด้วยกันสามส่วน ส่วนหน้า เรียกว่า “กว๊าน” ใช้สําหรับต้อนรับแขก ส่วนช่วงกลาง ใช้สําหรับนอนและประกอบอาหาร ส่วนหลังบ้านใช้สําหรับเป็นที่พักรับแขกชั่วคราว ที่มุมห้องจะมีกะล้อห้อง ซึ่งเป็นกลาโหมของบ้าน คือ เป็นที่อยู่อาศัยของผีเรือนที่คอยคุ้มครองคนที่อยู่ในบ้านและลูกหลาน ใต้ถุนบ้านจะสูงโล่ง มีที่ตําข้าวด้วยครกกระเดื่อง หูกทอผ้า เครื่องปั่นด้าย นอกชายคาบ้านจะมีแคร่ไว้เก็บไหปลาร้า ซึ่งตั้งไว้กลางแดดเพื่อป้องกันหนอน ไม่ให้อยู่ในร่มโดยเด็ดขาด และยังมีไหอาหารจําเป็น เช่น ไหเกลือ ไหมะขามเปียก และไหหน่อไม้ อยู่ในร่มหลังคา หน้าจั่วจะมีลักษณะคล้ายเขาวัวโค้งงอเข้าหากัน เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและ ความสําเร็จตลอดจนถึงความรุ่งเรือง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวไทดำมีภาษาพูดและภาษาเขียนที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษ ซึ่งเคยจารึกลงบนคัมภีร์ใบลาน กระดาษข่อย และวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถหามาได้ เพื่อบันทึกเอาไว้ให้เป็นลายลักษณ์อักษรแก่ชนรุ่นหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะสอนแต่เพียงภาษาพูดแก่ทารกที่เกิดใหม่จนสามารถพูดได้ แต่ก็ไม่ได้เน้นทางการอ่าน การเขียน ชาวไทดำที่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทดำได้จึงมีจํานวนน้อยลงทุกที ปัจจุบัน บ้านดอนทรายจึงมีชาวไทดําที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปบางคนเท่านั้นที่ยังพออ่านและเขียนภาษาไทดําได้ ประกอบกับตําราที่เป็นภาษาไทดํามีให้อ่านน้อยมาก ส่วนมากจะเป็นตํานานเก่า ตํารายาแผนโบราณ และบทขับกล่อมตอบโต้กันระหว่างหญิงชาย บางกลุ่มก็พูดผสมกันระหว่างไทดํากับภาษาไทยกลาง โดยภาษาไทดํานี้มีสําเนียงคล้ายกับภาษาลาวเวียงจันทน์และไทยอีสาน แต่ในปัจจุบันได้มีการเรียนการสอนให้ฝึกเขียน ฝึกอ่าน และฝึกท่องจําภาษาไทดำเพื่อเป็นการฟื้นฟูและรักษาภาษาชาติพันธุ์เอาไว้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ไทดำ ในการรับรู้ของราชสำนักสยาม

ไทดำ หรือไตดำ ในการรับรู้ของราชสำนักสยามว่า ลาวทรงดำหรือ ลาวโซ่ง ซึ่งในภายหลังพยายามเรียกว่า ไทยทรงดำคือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ด้วยเหตุผลของการกวาดต้อนผู้คน เพื่อมาเติมเต็มพื้นที่ภาคกลางของสยาม เพื่อเพิ่มประชากร เพื่อเป็นเเรงงาน หลังไทสยามถูกพม่ากวาดต้อนไปเเทบเเปนเปล่าจากพื้นที่ภาคกลาง ตามการรับรู้ของสยามในขณะนั้น เข้าใจว่าผู้คนเหล่านี้คือคนลาว เนื่องด้วยว่าเมืองที่ไปกวาดต้อนนั้นขึ้นกับเมืองหลวงพระบาง จึงเรียกขานคนกลุ่มนี้ว่า ลาวส่งดำ ลาวซ่งดำ ลาวส่วงดำ หมายความว่า กลุ่มลาวที่นุ่งกางเกงหรือเครื่องนุ่งสีดำ เพราะคำว่า ส่ง ซ่ง ส่วง หมายถึง กางเกง ภายหลังก็เพี้ยนเป็น ทรง เป็น โซ่ง เช่น ลาวทรงดำ ลาวโซ่ง จนต่อมาเรียกกันว่า ไทยทรงดำ ซึ่งสยามเริ่มรับรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ เเละเริ่มเเยกเเยะคนกลุ่มนี้ออกจากกลุ่มคนลาว ในคราวที่สยามยกทัพไปปราบฮ่อที่หัวพันเเละเมืองเเถง สมัยรัชกาลที่ 5

ในบันทึกของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เเม่ทัพใหญ่ที่ยกทัพไปปราบฮ่อที่หัวพันเเละเมืองเเถง ได้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ไตหรือผู้ไทดำ ซึ่งเป็นความพยายามจะเเยกคนกลุ่มนี้ออกจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า ผู้ไตด่อนหรือผู้ไทขาว ตามคำให้การของลูกชายเจ้าเมืองไล (ที่ยกทัพมายึดได้เมืองเเถง) ที่เเยกกลุ่มคนที่เมืองเเถงออกจากเมืองไล โดยเรียกคนเมืองเเถงว่า ไตดำเเละเรียกคนเมืองไลว่า ไตด่อนหรือไตขาว บางครั้งก็เรียกว่า ไตหรือไทไล

การได้ชื่อว่า ลาวส่วงดำ ลาวส่งดำ ลาวซ่งดำ นั้น เพราะชาวสยามเรียกเหมารวมว่าเป็นกลุ่มลาวที่นุ่งกางเกงซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มลาวอื่น ๆ ที่เข้ามาในสยามในสมัยนั้น ผู้หญิงนุ่งซิ่นสีดำ ส่วนผู้ชายก็นุ่งโสร่งสีดำ ที่ชัดคือผู้หญิงจะใส่กางเกงใว้ด้านในก่อนนุ่งซิ่นทับเข้าไปอีกครั้ง ลาวส่งดำ ลาวซ่งดำ ลาวส่วงดำ จึงมีที่มาจากการที่คนลาวกลุ่มนี้นิยมใส่กางเกง ผ้าซิ่น และผ้าโสร่งสีดำดำทั้งหญิงและชาย

ชวนเที่ยวคอนหวัน. (2563). พิธีปาดตง ประเพณีของชาวไทยทรงดำ (ไทดำหรือลาวโซ่ง). สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

ชุติมา เชนะโยธิน. (2551). ชุมชนชาวไทยโซ่งหมู่บ้านดอนทราย จังหวัดนครปฐม : การศึกษาพัฒนาการทางเศรษฐกิจของชุมชนระหว่างปี พ.ศ. 2504-2549. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ชุมชนท่องเที่ยว Otop นวัตวิถี บ้านดอนทราย หมู่ 9 ต.สระกะเทียม. (2561). สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์. (ม.ป.ป.). การรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าพื้นเมืองชาติพันธุ์ไทยทรงดำบ้านดอนทราย ตำบลสระกะเทียม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

ศุลชัย สระทองหัก. (2564). กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนชาติพันธุ์ไทยทรงดำ บ้านดอนทราย ตำบลสระกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  

ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณ. (2566). สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลสระกะเทียม. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2567, จาก https://www.srakathiam.go.th/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2567, จาก https://earth.google.com/web/