บ้านเลอตอ พื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จึงมีการการส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ภายหลังการสร้างศูนย์โครงการหลวงเลอตอและข้อจำกัดที่เกิดจากการประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ชุมชนจึงหันมาเพาะปลูกพืชไร่และไม้ยืนต้นแทนการปลูกฝิ่นและการทำไร่หมุนเวียน
ในพื้นที่ของหมู่บ้านมีหินขนาดใหญ่ 2 ก้อนซ้อนทับกันอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านซึ่งในภาษาท้องถิ่นชนเผ่ากะเหรี่ยงเรียกหินที่ซ้อนทับกันว่า “เลอตอ” จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านและหมู่บ้านเลอตอจนถึงในปัจจุบัน
บ้านเลอตอ พื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จึงมีการการส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ภายหลังการสร้างศูนย์โครงการหลวงเลอตอและข้อจำกัดที่เกิดจากการประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ชุมชนจึงหันมาเพาะปลูกพืชไร่และไม้ยืนต้นแทนการปลูกฝิ่นและการทำไร่หมุนเวียน
กลุ่มหมู่บ้านเลอตอปรากฏว่าตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่นี้มานานแล้ว แต่ไม่ทราบที่มาชัดเจนแน่นอน ภายหลังมีการรวมกลุ่มหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกนี้ขึ้นเป็นหมู่บ้านเดียวกันโดยใช้ชื่อว่าหมู่บ้านเลอตอ
ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประมาณปี พ.ศ. 2560 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้อย่างจริงจัง โดยสังกัดกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงจังหวัดเชียงใหม่ คนงานประจำเป็นชาวกะเหรี่ยงที่มาจากอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และมีชาวบ้านเลอตอที่ได้รับผ่านการสมัครคัดเลือกเข้ามาร่วมโครงการมาช่วยงาน
ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้กล่าวเสริมว่า การเข้ามาของโครงการหลวงเริ่มมาราวสิบปีแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้แถบบริเวณตำบลแม่ตื่นยังมีเรื่องของการปลูกฝิ่นและทำไร่หมุนเวียนเป็นหลัก จากนั้นจึงได้เริ่มปลูกกาแฟกันเมื่อปี พ.ศ. 2551 ต่อมามีการปลูก ผักกาด ผักคะน้า มากขึ้น โดยจะมีพ่อค้าชาวมูเซอ ม้ง ขับรถมารับผลผลิต ส่วนต้นเสาวรสที่ได้รับการส่งเสริมยังไม่ได้ผลดีนักโดยเฉพาะในฤดูฝน หลังจากพื้นที่บริเวณนี้ได้รับการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ทำให้การขออนุญาตในเรื่องการทำถนนเข้าหมู่บ้าน รวมถึงการใช้พื้นที่ทำกินรอบหมู่บ้านมีข้อจำกัด แตกต่างจากที่เคยใช้ที่ดินเพื่อทำไร่หมุนเวียนดังเช่นในอดีต
พื้นที่ขยายผลโครงการหลวง เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนมีความสูงเฉลี่ยบริเวณกลางหมู่บ้านความสูง 900 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ฝนตกชุกเกือบทั้งปี โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุกมาก
บ้านเลอตออยู่ห่างอำเภอแม่ระมาด 45 กิโลเมตร เป็นถนนคอนกรีตสลับถนนลูกรัง ใช้เวลาเดินทางจากอำเภอแม่ระมาดประมาณ 5 ชั่วโมง และอีกเส้นทางจากตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
สถานที่สำคัญ
ศาลปู่เลอตอ ศูนย์รวมจิตใจของหมู่บ้านเลอตออยู่ที่ ศาลปู่เลอตอ ศาลมีลักษณะเป็นศาลาขนาดเล็กตั้งอยู่ในตำแหน่งกลางหมู่บ้าน แสดงให้เห็นถึงลักษณะความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ เชื่อว่าเป็นตัวแทนของผีเจ้าป่าเจ้าเขา ชาวบ้านจึงได้เชิญผี ดังกล่าวให้มาอยู่ในศาลเป็นที่เป็นทางเพื่อไม่ให้ออกไปรบกวนคนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน เพราะเคยมีเรื่องเล่ากันมาว่าเมื่อครั้งที่ยังไม่ได้ตั้งศาลและเชิญผีเจ้าป่าเจ้าเขาเข้ามาอยู่ในศาล ชาวบ้านจะได้ยินเสียงวิ่งไปวิ่งมาบนเรือนอยู่เป็นประจำ ภายหลังมาได้รับคำแนะนำจากพระสงฆ์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ได้แนะนำให้ตั้งศาลเพื่อให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาอยู่เป็นที่เป็นทาง (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น. 115)
โครงสร้างครอบครัวและระบบเครือญาติของชาวกะเหรี่ยงบ้านเลอตอมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านใกล้เคียง ได้แก่ บ้านห้วยขนุน บ้านห้วยโป่ง ในตำบลเดียวกัน เนื่องจากตำบลแม่ตื่นเป็นตำบลที่มีพื้นที่ติดกับเขตอำเภออมก๋อยของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีเครือญาติที่เกี่ยวข้องกันกับชาวกะเหรี่ยงในเขตอำเภออมก๋อยด้วย เช่น กรณีของแม่ของผู้ใหญ่บ้านก็มีพื้นเพดั้งเดิมมาจากอำเภออมก๋อย (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น. 113) ส่วนการสืบสายตระกูลของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านเลอตอสืบตามสายตระกูลของแม่และภรรยาเป็นหลัก
กลุ่มหมู่บ้านเลอตอหมีทั้งหมด 110 หลังคาเรือน ประชากร 424 คน ปรากฏว่าตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่นี้มานานแล้ว แต่ไม่ทราบที่มาชัดเจนแน่นอน ภายหลังมีการรวมกลุ่มหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกนี้ขึ้นเป็นหมู่บ้านเดียวกันโดยใช้ชื่อว่าหมู่บ้านเลอตอ แต่กลุ่มบ้านต่าง ๆ ซึ่งแยกออกไปตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงประกอบด้วยกลุ่มบ้าน 7 กลุ่ม หรือที่เรียกว่า 7 ป๊อกบ้าน ซึ่งหากรวมประชากรทั้ง 7 ป๊อกนี้ด้วยจะมีมากถึง 1,000 คน
1) ป๊อกบ้านเลอตอ 110 หลังคาเรือน ประชากร 424 คน
2) ป๊อกบ้านวะกะเลโคะ 68 หลังคาเรือน ประชากร 265 คน 113
3) ป๊อกบ้านเกล้มอคี 45 หลังคาเรือน ประชากร 205 คน
4) ป๊อกบ้านห้วยขนุน 43 หลังคาเรือน ประชากร 183 คน
5) ป๊อกบ้านวะเบเด 36 หลังคาเรือน ประชากร 162 คน
6) ป๊อกบ้านตะยะเด 21 หลังคาเรือน ประชากร 76 คน
7) ป๊อกบ้านทีเนาะเบล้อคี 7 หลังคาเรือน ประชากร 36 คน
ปกาเกอะญออาชีพดั้งเดิมของกะเหรี่ยงชุมชนบ้านเลอตอ คือ การเกษตรกรรมทำไร่หมุนเวียน ภายหลังในระยะประมาณสิบปีที่ผ่านมาได้มีการปลูกพืชผักและพืชยืนต้น เช่น กาแฟ โดยการเข้ามาแนะนำส่งเสริมจากโครงการหลวง ทำให้ชาวบ้านบางครอบครัวเริ่มมีรายได้จากอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำไร่หมุนเวียน (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น.114) โครงการหลวงมาตั้งศูนย์ในพื้นที่หมู่บ้านเลอตอ เพื่อพยายามส่งเสริมการเกษตรเพาะปลูกพืชเสริมจากไร่หมุนเวียนในฤดูกาลหลักภายในพื้นที่ตำบลนี้ แต่ก็ยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นโครงการที่ยังไม่ได้เห็นผลของการส่งเสริมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การเข้ามามีบทบาทของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมู่บ้านเลอตอในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผลสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือประสานงานในภาคส่วนราชการหลายส่วนมากยิ่งขึ้นต่อการเข้ามาพัฒนาปรับปรุงในพื้นที่ของตำบลแม่ตื่น (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น.141-142)
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนี้อย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยสังกัดกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงจังหวัดเชียงใหม่ คนงานประจำเป็นชาวกะเหรี่ยงที่มาจากอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และมีชาวบ้านเลอตอที่ได้รับผ่านการสมัครคัดเลือกเข้ามาร่วมโครงการ มาช่วยงานประมาณ 10 ครอบครัว นอกจากนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คน และหัวหน้าโครงการฯ เลอตอ ในอดีตเมื่อเริ่มก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการหลวงได้เป็นผู้เข้ามาช่วยกำกับวางแนวทางการทำงาน ปัจจุบัน พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลพืชที่เตรียมทดลองส่งเสริมในพื้นที่ ได้แก่ เสาวรส เนื่องจากมีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวไม่นาน หลังจากปลูกประมาณ 6 เดือน ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ ราคาของเสาวรสอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-60 บาท ในส่วนของผักที่นิยมส่งเสริมให้ปลูก ได้แก่ ผักเบบี้ฮ่องเต้ ผักกวางตุ้ง คะน้าฮ่องกง กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ฟักทองญี่ปุ่น ทางโครงการหลวงฯ จะรับผลผลิตเหล่านี้ไปช่วยจำหน่าย ส่วนใหญ่พืชที่ส่งเสริมมักจะเป็นพืชที่ให้ผลมากกว่าพืชใบและยังมีพืชยืนต้น เช่น กาแฟ จันเทศ ไผ่ เนื่องจากยังมีปัญหาในเรื่องเส้นทางการขนส่งที่ยังไม่สะดวกและมีระยะไกลทำให้พืชใบได้รับความเสียหายเร็วและง่ายกว่า
หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงในละแวกนี้ที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงเลอตอ ได้แก่ แถบตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด ซึ่งมักจะนิยมให้ปลูกพืชยืนต้นในกลุ่มกาแฟ ไผ่ จันเทศ ส่วนในเขตอำเภอท่าสองยางที่อยู่ใกล้กับเส้นทางขนส่งคมนาคมจะส่งเสริมการปลูกผักต่าง ๆ เช่น ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี ในหมู่บ้านแม่ลาคีและบ้านกาหม่าผาโด้ ส่วนที่บ้านจอคีส่งเสริมปลูกผักและฟักทองญี่ปุ่น (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น.140-141)
พุทธศาสนาเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อพลวัตทางความเชื่อศาสนา ตลอดจนพลวัตทางสังคมของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บริเวณนี้เป็นอย่างมาก สำหรับหมู่บ้านเลอตอ ศาสนาพุทธ มีสำนักสงฆ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารชั้นเดียวผนังโปร่งรอบด้านทำหน้าที่เป็นทั้งวิหารและศาลาไปในคราวเดียวกัน ด้านหลังวิหาร/ศาลาเป็นพระเจดีย์สีทอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงซ้อนกันสองชั้น ตัวเจดีย์เป็นทรงลังกาแปดเหลี่ยมเหนือฐานแปดเหลี่ยมที่ตั้งอยู่บนฐานสูงสี่เหลี่ยมอีกทีหนึ่ง รูปทรงทั่วไปของเจดีย์คล้ายกับเจดีย์ทางล้านนา สำนักสงฆ์แห่งนี้มีพระสงฆ์ที่เป็นสายพระป่าลูกศิษย์หลวงตามหาบัวจากจังหวัดอุดรธานี เดินทางมาจำวัดอยู่เป็นประจำ และมีโครงการที่จะย้ายบริเวณที่ตั้งวัดออกไปอยู่นอกเขตหมู่บ้าน เนื่องจากพระสงฆ์รูปดังกล่าวเห็นว่าตัววัดตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน (บนเนินสูงตรงข้ามกับบ้านผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งไม่เหมาะสมกับการเป็นวัดแบบวัดสายพระป่า (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น. 116)
เดิมทีก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามาตามบริบทของสังคมไทย หมู่บ้านเลอตอที่มีการนับถือพุทธศาสนาก็ยังมีการถือผีร่วมอยู่ด้วย เช่น การนับถือผีธรรมชาติผีเจ้าป่าเจ้าเขา มีการตั้งศาลปู่เลอตอที่กลางหมู่บ้านเพื่อแสดงถึงการเคารพนับถือผีเจ้าป่าเจ้าเขา ในเวลาที่เจ็บป่วยไม่สบายจะมีการเลี้ยงผีเพื่อรักษาโรค โดยเริ่มจากการทำพิธีเลี้ยงผีปู่ย่าตายาย(ผีบรรพชน) ด้วยการใช้ไก่ต้มและข้าวหนึ่งหม้อ บางครั้งมีการเลี้ยงหมูเพิ่มเข้ามา พิธีเลี้ยงผีเพื่อการรักษาส่วนใหญ่จะทำกันในช่วงเวลาเย็น อาหารที่ผ่านการทำพิธีเลี้ยงผีเสร็จแล้วจะนำไปไว้บนหัวที่นอน เมื่อทำพิธีเสร็จมีข้อห้ามไม่ให้คนในออกจากบ้านและไม่ให้คนนอกเหนือจากสมาชิกในครอบครัวเข้าบ้านด้วย (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น. 115)
ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านเลอตอ ส่วนมากจะเป็นข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับการทำพิธีกรรม ข้อห้ามไม่ให้คนในออกจากบ้านและไม่ให้คนนอกเหนือจากสมาชิกในครอบครัวเข้าบ้านด้วยระหว่างในช่วงหลังทำพิธีเลี้ยงผี
พิธีแต่งงาน การแต่งงานของชาวกะเหรี่ยงบ้านเลอตอ จะเริ่มตั้งแต่ฝ่ายหญิงต้องไปขอฝ่ายชาย จากนั้นงานแต่งงานจะจัดที่ขึ้นที่บ้านของฝ่ายหญิง ในพิธีแต่งงานเจ้าสาวจะใส่ชุดกะเหรี่ยงสีขาว ช่วงเวลาเช้าเป็นพิธีดื่มเหล้า มีญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย ได้แก่ พ่อ แม่ ลุง เจ้าบ่าวเจ้าสาวร่วมกันรินเหล้าให้กับฝ่ายพ่อตาแม่ยายอย่างน้อย 3 ขวด หลังจากการกินเหล้าให้ญาติผู้ใหญ่เสร็จแล้วก็เป็นการกินข้าว จากนั้นเวลาค่ำประมาณสองทุ่มจะมีพิธีมัดมือและเข้าห้องหอ เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจะอยู่ด้วยกันในบ้าน 2 วัน เมื่อถึงวันที่ 3 จะพากันเข้าป่าเพื่อออกไปหากินกันในป่า โดยจะมีผู้ติดตามไปด้วย ที่บ้านเลอตอนิยมให้ผู้ติดตามที่จะเป็นคู่บ่าวสาวรายต่อไปเป็นผู้ร่วมเดินทางเข้าป่าไปกับคู่ที่แต่งงาน หลังจากกลับมาจากพิธีเข้าป่าแล้วก็จะเป็นการไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่เจ้าสาว (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น. 115)
พิธีศพ เมื่อมีคนตายในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านเลอตอ จะมีการนำศพไปฝังไว้ที่ป่าช้านอกหมู่บ้าน ในพิธีศพจะมีการร้องเพลงในเพลงนั้นจะร้องเกี่ยวกับคนตาย ซึ่งเพลงดังกล่าวหากไม่มีคนตายจะห้ามร้องโดยเด็ดขาด ในงานศพคนร่วมงานที่เป็นคนหนุ่มสาวจำนวนมาก 50-60 คนจะร่วมกันร้องเพลงรอบศพนั้น การแต่งกายในงานศพไม่มีการบังคับสีที่จะใส่ไปร่วมงานศพ (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น. 115)
พิธีเลี้ยงผี ชาวกะเหรี่ยงชุมชนบ้านเลอตอมีพิธีเลี้ยงผีเพื่อการรักษาซึ่งทำกันในครอบครัว ส่วนใหญ่จะทำกันในช่วงเวลาเย็น อาหารที่ผ่านการทำพิธีเลี้ยงผีเสร็จแล้วจะนำไปไว้บนหัวที่นอน เมื่อทำพิธีเสร็จมีข้อห้ามไม่ให้คนในออกจากบ้านและไม่ให้คนนอกเหนือจากสมาชิกในบ้าน (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น. 115)
พิธีมัดมือ หรือ ผูกข้อมือ เป็นพิธีที่ชาวกะเหรี่ยงชุมชนบ้านเลอตอทำประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมเป็นรอบแรกของปี และในช่วงหลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นรอบที่สองของปี ในการทำพิธีมัดมือจะเป็นบทบาทของผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้อาวุโสในหมู่บ้านเป็นผู้ทำการมัดมือให้พร ด้ายที่มัดมือก็จะผูกไว้ที่ข้อมืออย่างน้อยเป็นเวลา 3 วันจึงจะถอดด้ายออก (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น. 114)
1.นายกรวุฒิ เกาะเจริญสุข ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านเลอตอ
กะเหรี่ยงชุมชนบ้านเลอตอ พูดภาษากะเหรี่ยงสะกอ การเข้ามาตั้งของโรงเรียนทำให้เยาวชนชาวกะเหรี่ยงเรียนรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้มากขึ้นแต่พูดภาษากะเหรี่ยงสะกอน้อยลง
ในภาพรวมของชาวกะเหรี่ยงในตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลตัวเมืองจังหวัดตากมากที่สุด เส้นทางคมนาคมเข้าสู่หมู่บ้านหลายแห่งยังลำบาก เป็นทางดินและทางตัดเข้าไปในป่า มีบางส่วนเท่านั้นที่เป็นทางราดคอนกรีต ซึ่งส่วนหนึ่งยังอยู่ในระหว่างโครงการพัฒนาเส้นทางขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ยังมีงบประมาณจำกัด การเข้าถึงของสาธารณูปโภค เช่น ระบบน้ำประปายังคงใช้น้ำประปาภูเขา และต้องอาศัยการก่อสร้างแท็งค์เก็บกักพักน้ำของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งหลายหมู่บ้านก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาและเดินสายท่อประปาภูเขา ดังนั้นน้ำที่ใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่าที่จำเป็น ส่วนน้ำที่ใช้ในการเกษตรกรรมยังคงอาศัยน้ำจากธรรมชาติเป็นหลัก ได้แก่ น้ำฝนและน้ำจากลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ตำบลแม่ตื่น ไม่มีลำน้ำขนาดใหญ่ ยกเว้นลำน้ำแม่ตื่นสายเดียวที่มีขนาดใหญ่กว่าลำห้วยที่ไหลผ่านในแต่ละหมู่บ้าน จึงทำให้พื้นที่ทำการเกษตรมีข้อจำกัดและยังไม่สามารถทำการเกษตรนอกฤดูกาลได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีโครงการหลวงมาตั้งศูนย์ในพื้นที่หมู่บ้านเลอตอ เพื่อพยายามส่งเสริมการเกษตรเพาะปลูกพืชเสริมจากไร่หมุนเวียนในฤดูกาลหลักภายในพื้นที่ตำบลนี้ แต่ก็ยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นโครงการที่ยังไม่ได้เห็นผลของการส่งเสริมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สภาพปัญหาทั่วไปของพื้นที่นี้จึงอยู่ในระหว่างการส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางคมนาคม ถนน ไฟฟ้าและน้ำประปา รวมถึงการส่งเสริมอาชีพเสริมในการทำการเกษตร การเข้ามามีบทบาทของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมู่บ้านเลอตอในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผลสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือประสานงานในภาคส่วนราชการหลายส่วนมากยิ่งขึ้นต่อการเข้ามาพัฒนาปรับปรุงในพื้นที่ของตำบลแม่ตื่น (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น.141-142)
ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้ยังรักษาความเชื่อในการนับถือผี โดยเฉพาะในกรณีผีธรรมชาติ เช่น ผีเจ้าป่าเจ้าเขา และผีบรรพชน ควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา ดังปรากฏว่ามีการสร้างวัดและเจดีย์ในชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่งในตำบลนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเผยแพร่พุทธศาสนาจากล้านนาสายครูบาศรีวิชัย โดยลูกศิษย์ครูบาศรีวิชัยที่มีบทบาทสำคัญในการนำพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในบริเวณตำบลนี้คือครูบาชัยวงศา แห่งวัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ทำให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายพุทธศาสนาสายครูบาชัยวงศาอย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในระยะหลังได้มีพระสงฆ์สายพระป่าลูกศิษย์หลวงตามหาบัวจากจังหวัดอุดรธานี ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่นี้อีกสายหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่ามีการเข้ามาบูรณะวัดที่หมู่บ้านเลอตอและมีโครงการที่จะพัฒนาวัดเดิมที่หมู่บ้านเลอตอให้กลายเป็นวัดสายพระป่าในพื้นที่นี้ในอนาคต การนับถือคริสตศาสนาในเขตตำบลแม่ตื่นยังมีจำนวนไม่มาก พบที่ตั้งโบสถ์ของศาสนาคริสต์ในหมู่บ้านบางแห่ง เช่น บ้านห้วยมะพร้าวซึ่งระบุชื่อโบสถ์ว่าโบสถ์ห้วยน้ำหอม เป็นต้น (พิเชฐ สายพันธ์, 2562, น.142)
หลังจากพื้นที่บริเวณนี้ได้รับการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ทำให้การขออนุญาตในเรื่องการทำถนนเข้าหมู่บ้าน รวมถึงการใช้พื้นที่ทำกินรอบหมู่บ้านมีข้อจำกัดแตกต่างจากที่เคยใช้ที่ดินเพื่อทำไร่หมุนเวียนได้เช่นในอดีต อีกทั้งมีการจัดตั้งโครงการในโรงเรียน ตชด. ที่หมู่บ้านเลอตอ มีการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาไทย ทำให้เด็กรุ่นใหม่เริ่มพูดภาษากะเหรี่ยงได้น้อยลง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น
ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ระมาด
พิเชฐ สายพันธ์. (2562). พลวัตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ในเขตตอนบนจังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชร ชุดโครงการศึกษาวิจัยพลวัตของชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่วัฒนธรรมมีชีวิต ปีที่ 1 (พ.ศ. 2562). ปทุมธานี: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ค้นคืนเมื่อ 28 ธันวาคม 2565, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=235