Advance search

ชุมชนริมน้ำเก่าแก่ที่โด่งดังมาตั้งแต่สมัยธนบุรี ในฐานะที่เป็นแหล่งเพาะปลูกพลูที่ใหญ่และมีรสชาติดีที่สุด สู่พลวัตการปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งสตรีตฟูดและซื้อขายสินค้าไหว้เจ้าของชาวไทยเชื้อสายจีน จนได้ชื่อว่าเป็น ไชนาทาวน์ฝั่งธนฯ” แห่งเกาะรัตนโกสินทร์

ตลาดพลู
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
วิไลวรรณ เดชดอนบม
26 ธ.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
5 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ม.ค. 2024
ตลาดพลู

ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งปลูกพลูที่ใหญ่ที่สุดในธนบุรี จึงมีตลาดซื้อขายพลูขึ้น และเกิดชุมชนที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า “ตลาดพลู” มานับแต่บัดนั้น


ชุมชนริมน้ำเก่าแก่ที่โด่งดังมาตั้งแต่สมัยธนบุรี ในฐานะที่เป็นแหล่งเพาะปลูกพลูที่ใหญ่และมีรสชาติดีที่สุด สู่พลวัตการปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งสตรีตฟูดและซื้อขายสินค้าไหว้เจ้าของชาวไทยเชื้อสายจีน จนได้ชื่อว่าเป็น ไชนาทาวน์ฝั่งธนฯ” แห่งเกาะรัตนโกสินทร์

ตลาดพลู
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
10600
13.717918
100.475469
กรุงเทพมหานคร

ย่านตลาดพลู นับได้ว่าเป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ที่โด่งดังมาตั้งแต่สมัยธนบุรี ในฐานะที่เป็นแหล่งปลูกพลูที่ใหญ่และมีรสชาติดีที่สุดของธนบุรี เป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมที่มีชีวิตชีวาอยู่ตลอด นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของอดีตนับมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งอาณาจักรอยุธยา ยาวนานมากระทั่งปัจจุบัน โดยตลาดพลูมีการปรับเปลี่ยนตัวเองตามกระแสของการพัฒนาแต่ละยุคสมัย ดังนี้

  • สมัยอยุธยา พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน คือ แผนที่ของชาวฮอลันดา ซึ่งเขียนขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้แสดงถึงชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองด่านซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับย่านตลาดพลู นอกจากนี้ยังมีวัดที่สร้างคู่กับชุมชน เช่น วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือไทย หรือวัดใต้) วัดจันทาราม (วัดกลาง) วัดราชคฤห์ (วัดมอญ) วัดนางชี ฯลฯ

  • สมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงให้ความสำคัญกับตลาดพลูในแง่ที่มีวัดวาอารามเก่าแก่สามารถบูรณะได้ จึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอินทารามและสถาปนาให้เป็นวัดหลวง พร้อมทั้งเสด็จมาปฏิบัติกรรมฐาน ณ วัดแห่งนี้ด้วย และเนื่องจากตลาดพลูเป็นย่านที่มีดินอุดมสมบูรณ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำชาวจีนจากกรุงเก่าจำนวนมากมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในย่านนี้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลิตข้าวปลาอาหารเลี้ยงชาวธนบุรี ส่งผลให้มีชุมชนขุนนางและข้าราชบริพาร ตลอดจนบ้านเรือนที่แทรกตัวอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมทางทิศใต้และตะวันตกของฝั่งธนบุรี ชุมชนบริเวณสองฝั่งคลองบางหลวงมีกิจกรรมการค้าขายตลอดลำคลอง โดยเฉพาะบริเวณคลองด่านถึงวัดบางยี่เรือนอก (วัดอินทาราม) หรือตลาดพลูนั้น เป็นชุมชนนอกเขตพระนครแห่งแรกที่มีบทบาททางการค้าและเป็นต้นทางให้เกิดชุมชนอื่นในยุคถัดไป

  • สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการย้ายศูนย์กลางเมืองหลวงจากธนบุรีไปยังฝั่งพระนคร คือ พื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ทำให้ในสมัยนี้ผู้คนย่านตลาดพลูมีการเปลี่ยนแปลงและอพยพโยกย้ายอยู่เป็นระยะ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ทัด บุนนาค) ไปตีหัวเมืองแขกปัตตานี แล้วกวาดต้อนชาวมุสลิมส่วนหนึ่งมาไว้ริมคลองบางหลวงตลอดแนวปากคลองเรื่อยมาจนถึงวัดเวฬุราชิน หรือบริเวณมัสยิดสวนพลูในปัจจุบัน (บ้างก็ว่าการอพยพนี้เกิดขึ้นราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประกอบกับในช่วงนี้ชาวจีนบางส่วนย้ายไปอยู่แถบย่านสำเพ็ง และมีชาวมุสลิมเข้ามาอยู่แทนที่ โดยชาวมุสลิมเริ่มทำสวนพลูขึ้นในพื้นที่แถบนี้ และมีการขยับขยายมาปลูกสวนพลูกันทั้งชาวมุสลิมและชาวจีนอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ได้ทรงดำเนินนโยบายสืบต่อจากพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยการสนับสนุนให้ชาวจีนเป็นกำลังสำคัญในการค้าขายแทนราชสำนักทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งผลพลอยให้ย่านตลาดพลูยิ่งทวีความคึกคักมากขึ้น กอปรกับมีการขุดคลองภาษีเจริญขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าสู่เมืองหลวง โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ย่านตลาดพลูได้ขยายการผลิตสินค้า อาหาร ทั้งแปรรูปและอุตสาหกรรมครัวเรือน เช่น โรงเต้าเจี้ยว โรงน้ำปลา โรงสี โรงเลื่อย ฯลฯ ตลอดจนเมื่อมีการสร้างทางรถไฟผ่านย่านตลาดพลู (สายมหาชัย-วงเวียนใหญ่) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศูนย์กลางการค้าริมน้ำของชาวตลาดพลูยิ่งทวีความคึกคักขึ้นไปอีก พร้อม ๆ กับการก่อตัวของการค้าทางบกของย่านนี้ ซึ่งส่งผลให้ย่านตลาดพลูกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทั้งทางบกและทางน้ำโดยเฉพาะบริเวณตลาดวัดกลาง (วัดจันทาราม)

  • สมัยรัตนโกสินทร์ตอนปลาย ตลาดพลูเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเริ่มลดบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมทางน้ำลง สาเหตุจากการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเชื่อมฝั่งพระนครและธนบุรีเข้าด้วยกัน และมีการตัดถนนสายต่าง ๆ มาธนบุรี ส่งผลให้ศูนย์กลางความเจริญย้ายมาอยู่ที่วงเวียนใหญ่แทน กระทั่งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลาดพลูได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายการสร้างชาติในการห้ามคนไทยกินหมาก รวมถึงวิกฤตการณ์น้ำท่วม พ.ศ. 2485 ความโดดเด่นของการเป็นแหล่งผลิตพลูและการค้าพลูจึงล่มสลายลงนับตั้งแต่นั้นมา พื้นที่ที่เคยเป็นสวนหมากสวนพลูค่อย ๆ แปรสภาพเป็นบ้านเช่า ห้องแถวไม้ที่มีคนจากต่างถิ่นเช่าอยู่อาศัยอย่างแออัด อย่างไรก็ตาม สภาพปัจจุบันของตลาดพลูยังคงมีการค้าขายอยู่บ้าง หากไม่คึกคักอย่างแต่ก่อน ชื่อเสียงของย่านตลาดพลูในฐานะของการเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำและตลาดค้าส่งพลูได้ละลายหายไปกับสายน้ำของคลองบางหลวง หากแต่ย่านตลาดพลูในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในนามของแหล่งทําขนมกุยช่ายส่งทั่วกรุงเทพฯ เท่านั้น

ชื่อเรียก ตลาดพลู เป็นนามที่บ่งชี้ถึงลักษณะเฉพาะท้องถิ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนจากหลายพื้นที่ หลากชาติพันธุ์ โดยก่อนที่จะเป็นตลาดพลูนั้น พื้นที่แห่งนี้เคยถูกเรียกว่า บางยี่เรือ มาก่อน หลักฐานที่ยืนยันถึงพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของชื่อบางยี่เรือสู่ตลาดพลู คือ

  1. วัดต่าง ๆ ในย่านนี้ที่ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย มักมีคำว่า บางยี่เรือ รวมอยู่ในชื่อด้วย เช่น วัดราชคฤห์ เดิมเรียก วัดบางยี่เรือมอญ (วัดมอญ) วัดจันทารามวรวิหาร เดิมเรียก วัดบางยี่เรือกลาง (วัดกลาง) วัดอินทาราม เดิมเรียก วัดบางยี่เรือไทย (วัดใต้)
  2. หลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ความว่า “…..ณ วัน 6 ฯ 3 ค่ำ เพลา 2 ยาม เสือเข้ามากินเขมรชายซึ่งเฝ้าสวนวัดบางยี่เรือ.....
  3. หลักฐานจากหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2408 เรื่อง รายชื่อผู้ที่ซื้อจดหมายเหตุนี้... เจ้าแบน บ้านอยู่ริมตลาดพลูข้างใน.....
  4. หลักฐานจากหนังสือของกรมไปรษณีย์ สารบาญชีส่วนที่ 2 คือ ราษฎรในจังหวัด ถนน และตรอก จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2426 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 2) ปรากฏคำว่า ถนนตลาดพลู
  5. หลักฐานจากลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ เรื่องสวนของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เขียนบรรยายเอาไว้ว่า .....พลูค้างทองหลาง...ได้เพาะปลูกในตำบลบางไส้ไก่และบางยี่เรือมากที่เหล่านั้นจึงเรียกว่าสวนพลู..... และ .....ในสวนพลูบางไส้ไก่และบางยี่เรือ.....บรรทุกเข่งหาบมาบ้าง บรรจุมาด้วยเรือรวงมาขึ้นที่ ท่าในคลองบางกอกใหญ่ เคียงกับวัดอินทาราม จันทาราม ราชคฤห์ เรียกตามคำสำคัญว่า วัดบางยี่เรือทั้ง 3 วัด หรือัดบางยี่เรือไทย ยี่เรือมอญ ก็เรียก ท่าที่บรรทุกพลูลงมาจำหน่ายนั้นก็กลายเป็นตลาดพลูไป.....

อย่างไรก็ตาม ที่มาของคำว่า “บางยี่เรือ” ก็ยังไม่แน่ชัดเท่าใดนัก เนื่องด้วยไม่มีบันทึกที่ชัดเจนและนักวิชาการจำนวนมากยังจำเป็นต้องอาศัยการตีความจากเอกสารโบราณ ตำนาน เรื่องเล่า เหตุการณ์ และการเทียบคำ หนึ่งในนั้นคือความเชื่อที่ว่า เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ย่านบริเวณนี้เป็นป่าสะแกทึบติดกับคลองบางกอกใหญ่ที่มีคุ้งน้ำอยู่มาก คุ้งน้ำใหญ่ในบริเวณวัดเวฬุราชินละแวกนี้เหมาะกับการดักซุ่มโจมตีเรือที่ล่องอ้อมคุ้งน้ำผ่านป่าพลุซึ่งเป็นที่โล่ง บริเวณนี้จึงเป็นชัยภูมิของทหารไทยในสมัยอดีต ใช้เป็นที่ซ่อนพลางตัวและซุ่มดักยิงเรือของข้าศึก อาการซุ่มยิงนี้เรียกว่า “บังยิงเรือ” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “ตำบลบางยิงเรือ” และกลายเป็น “แขวงบางยี่เรือ” ในปัจจุบัน

จากหลักฐานที่ค้นพบเหล่านี้ พอจะสันนิษฐานได้ว่าชื่อ ตลาดพลู น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างน้อย โดยก่อนที่จะมาเป็นตลาดพลูนั้น พื้นที่บริเวณนี้เคยถูกเรียกว่า บังยิงเรือ และบางยี่เรือ มาก่อน และชุมชนย่านตลาดพลูแห่งนี้อาจมีความเป็นมาที่หยั่งลึกลงไปในเรื่องราวการตั้งถิ่นฐาน ชาติพันธุ์ การค้า และชุมชน ที่มีพลวัตมากว่า 300 ปี โดยสันนิษฐานว่าในอดีตเคยเป็นป่าสะแกทึบใช้ดักซุ่มโจมตีข้าศึกที่มาจากทางน้ำ ในเวลาต่อมาได้แปรเปลี่ยนเป็นแหล่งสวนพลูซึ่งยังสะท้อนอยู่บนชื่อที่เรียกขาน เป็นตลาดท้องน้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ จวบจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนหลากวัฒนธรรมทั้งไทย มอญ แขก และจีนในปัจจุบัน

สภาพพื้นที่และอาณาเขต

ตลาดพลู เป็นย่านชุมชนแห่งหนึ่งในเขตธนบุรี เป็นที่ราบลุ่มอยู่บริเวณสองฝั่งคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง (บริเวณนี้จะมีรูปร่างคล้ายกระเพาะหมู) ซึ่งเป็นคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกขุดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2065 โดยขุดคลองลัดระหว่างปากคลองบางกอกน้อยจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่เพื่อย่นระยะทางให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการติดต่อค้าขาย ต่อมาสมัยสมเด็จพระเจ้าตากตากสินมหาราชได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี คลองบางกอกใหญ่จึงเป็นที่อยู่อาศัยของข้าหลวง ได้ชื่อว่า คลองบางหลวง นอกจากคลองบางหลวงแล้วย่านตลาดพลูยังมีลำคลองสายเล็ก ๆ ไหลผ่านทั่วบริเวณ เนื่องจากตลาดพลูมีลักษณะเป็น บาง มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านทั่วพื้นที่ ในอดีตเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูกและซื้อขายพลูขนาดใหญ่ ทำให้มีชื่อเรียกว่า ตลาดพลู ต่อมามีถนนเทอดไทตัดผ่าน ตลาดพลูในปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนถนนเทอดไท เขตธนบุรี มีอาณาเขตโดยรอบ ได้แก่

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตจอมทอง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ วัดเวฬุราชิน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองด่าน

การใช้ประโยชน์ที่ดิน

ที่ดินในย่านตลาดพลูถูกใช้ประโยชน์เพื่อประกอบกิจการพาณิชยกรรมและสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย อาคารพาณิชยกรรมที่มีลักษณะเป็นเรือนแถวไม้ บ้านไม้ 2 ชั้น บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ และตึกแถวก่ออิฐถือปูน 3-4 ชั้น ทั้งนี้ เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการค้าขาย เป็นที่พักอาศัย และสถานบริการ โดยหนึ่งลักษณะเด่นของอาคารบ้านเรือนในแถบย่านตลาดพลู คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ อาคารพักอาศัยสถาปัตยกรรมเรือนไทย ประดับด้วยไม้ฉลุลายแบบเรือนขนมปังขิง ตึกแถวรูปแบบคลาสสิก ตึกแถวรูปแบบตะวันตกผสมจีน ตลอดจนโรงงานเก่าซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารโครงสร้างขนาดใหญ่ และอาคารศาสนสถานที่ได้รับการส่งเสริมดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในชุมชนเอง  

ย่านตลาดพลู เป็นชุมชนโบราณที่มีอายุมากกว่า 300 ปี ประชาชนในชุมชนเป็นคนเก่าแก่ที่สืบเชื้อสายกันต่อเนื่องมาหลายรุ่น มีความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติหลายกลุ่ม โดยแต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านตลาดพลูมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลสมัย อันเนื่องมาจากการย้ายถิ่นฐานของคนภายนอกเข้ามาตั้งหลักปักฐานในชุมชนเพื่อเป็นแรงงานและทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับย่านตลาดพลูเป็นแหล่งชุมชนที่มีที่พักอาศัยหลายราคาให้ประชาชนที่มีความประสงค์ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ได้เลือกสรรตามความพึงพอใจ เป็นเหตุให้ย่านตลาดพลูมีอัตราประชากรเพิ่มมากขึ้นอยู่เรื่อยมา และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ในปัจจุบันชุมชนย่านตลาดพลูมีกลุ่มประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งเป็นประชากรเก่าแก่ที่อยู่อาศัยในย่านนี้มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในพื้นที่ตลาดพลู ชาวมอญเดิมที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดประดิษฐารามหรือวัดรามัญ ต่อมาได้ขยับขยายมาอยู่บริเวณวัดราชคฤห์ (วัดมอญ) และชาวไทยมุสลิม ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาจากรัฐปัตตานีในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับถือนิกายสุหนี่ และมุสลิมเชื้อสายปาทาน หรือมุสลิมบ้านสวน ที่อพยพมาจากปากีสถาน ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบมุสยิดสวนพลูระหว่างคลองบางไส้ไก่ถึงคลองสำเหร่ 

ประชาชนย่านตลาดพลูส่วนมากประกอบอาชีพค้าขาย เนื่องจากตลาดพลูเป็นย่านการค้าที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตซึ่งส่งต่ออิทธิพลมาถึงผู้คนในปัจจุบัน โดยอาคาร บ้าน ร้านต่าง ๆ ส่วนใหญ่ถูกก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์เพื่อให้เอื้อต่อการทำกิจการการค้าขาย เช่น ร้านขายยาแผนโบราณ ทั้งยาไทยและยาจีนซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ร้านขายเครื่องเซ่นไหว้ที่มีอยู่จำนวนมาก เนื่องจากตลาดพลูเป็นย่านที่มีประชากรชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นประชากรส่วนใหญ่ ทำให้วัฒนธรรมจีนในย่านการค้าแห่งนี้ค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น ตรุษจีน ฯลฯ ร้านขายของเซ่นไหว้ในย่านตลาดพลูยิ่งทวีความคึกคักมากเป็นพิเศษ ด้วยปัจจุบันตลาดพลูได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการซื้อขายของเซ่นไหว้ของประชาชนฝั่งธนบุรี โดยมีตลาดวัดกลางเป็นตลาดสดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญ บริเวณริมทางสถานีรถไฟตลาดพลู เป็นอีกแหล่งหนึ่งของย่านที่มีการซื้อขายอาหารกันเป็นจำนวนมากในช่วงเย็น ตลาดวัดกลางและบริเวณริมทางสถานีรถไฟตลาดพลูจึงเป็นแหล่งสร้างรายได้และแหล่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนย่านตลาดพลูจนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง ตลาดพลูยังเป็นแหล่งชุมชนที่มีโบราณสถานอยู่หลายแห่ง มีวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แก่ วัดอินทรารามวรวิหาร สันติสถานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตลาดเก่าวัดกลาง หรือวัดจันทารามในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตลาดค้าพลูที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ศาลภิรมย์ภักดี วัดเวฬุราชิน วัดโพธิ์นิมิตร ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่5 นอกจากนี้ยังมีวัดราชคฤห์วรวิหาร วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง พระปรางค์บรรจุอัฐิพระยาพิชัย เขามอภายในมีพระพุทธบาทจำลอง โรงเจเซี่ยงเข่งตี๊ว อายุกว่า 100 ปี นอกจากโบราณสถานแล้ว ย่านตลาดพลูยังเป็นแหล่งรวมซื้อขายอาหารขึ้นชื่อ เช่น ร้านหมี่กรอบ ร.5 ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อย ร้านข้าวหมูแดง หมูกรอบ ร้านขนมหวานตลาดพลู กุยช่ายหน้าโรงเจ ร้านขายน้ำใบบัวบก ฯลฯ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนย่านตลาดพลูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการเป็นย่านการค้าที่โด่งดังฝั่งธนบุรี

ร้านอาหารชื่อดัง : กุยช่ายอาม่าสวนพลู ข้าวหมูแดง บะหมี่ตงเล้ง บะหมี่นายก้า สรินทร์ทิพย์ ขนมเบื้องไทย ตลาดพลู ขนมบดิน ฯลฯ

ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า : เดอะมอลล์ท่าพระ บิ๊กซี ดาวคะนอง ฯลฯ

พื้นที่ย่านตลาดพลู เป็นชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี มาจนรัตนโกสินทร์ เป็นสถานที่ที่รวบรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มอญ และมุสลิม มีประเพณีวัฒนธรรมสำคัญ ได้แก่ ประเพณีรำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี ประเพณีงานประจำปีที่วัดอินทรารามเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีขบวนแห่เชิดสิงโต การแสดงงิ้ว การเล่นตะกร้อลอดบ่วง การแสดงดนตรี การก่อพระเจดีย์ทราย และงานทักษิณานุปทาน เป็นพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทราราม

นอกจากนี้ ชุมชนย่านตลาดพลูยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่แบ่งออกตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ เป็นต้นว่าชาวไทยซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา สามารถจับจองพื้นที่ริมน้ำ ริมคลอง เพื่อตั้งบ้านเรือน เพาะปลูก และค้าขายได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นที่เข้ามาอยู่ภายหลัง จึงมีวิถีชีวิตและประเพณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น งานชักพระวัดนางชี งานแห่เทียนพรรษาวัดโพธิ์นิมิตร และยังคงมีการสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทยการบรรเลงดนตรีปี่พาทย์ ศิลปะการแทงหยวก การละเล่นท้องถิ่น เช่น กระตั้ว หัวล้านชนกัน กระบี่กระบอง ซึ่งสามารถหาชมได้ตามงานเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ในชุมชน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการละเล่นเหล่านี้จะเป็นเพียงภาพแทนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตที่ถูกนำมาผลิตซ้ำ หากแต่ปรากฏการณ์ดัวกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาวไทยในพื้นที่ย่านตลาดพลูอย่างชัดเจน

ชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในพื้นที่ตลาดพลูปัจจุบัน เป็นเหตุให้เมื่อถึงเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีจีน เช่น ตรุษจีน งานไหว้พระจันทร์ วันสารทจีนเทศกาลไหว้เช็งเม้ง เทศกาลไหว้ขนมจ้างหรือจั่ง เทศกาลกินเจ ประเพณีวันไหว้ขนมบัวลอย เทศกาลไหว้สิ้นปีหรือก๊วยนี้โจ่ย ประเพณีการเชิดสิงโต เทศกาลงานประจำปี ศาลเจ้าพ่อพระเพลิงตลาดพลู ฯลฯ โดยย่านตลาดพลูจะมีความคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณตลาดวัดกลาง พ่อค้าแม่ขายจะนำของคาวหวาน ผัก ผลไม้ มาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าตลาดพลูเป็นศูนย์กลางการค้าขายของไหว้ของผู้คนฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะขนมหวาน เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมเปี๊ยะ ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมจันอับ ฯลฯ ซึ่งมีการผลิตเพื่อส่งขายเป็นจำนวนมากทุกปี

ชาวไทยมุสลิม ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาจากรัฐปัตตานีในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทั่วไปประเพณีของชาวมุสลิมในพื้นที่ย่านตลาดพลูหาได้มีความแตกต่างไปจากประเพณีของชาวมุสลิมในพื้นที่อื่น คือ มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย นับตั้งแต่ประเพณีการเกิด การโกนผมไฟ กาเข้าสุนัต (การขลิบปลายอวัยวะเพศชาย) การเลือกคู่ครอง การแต่งงาน รวมถึงการปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาที่ช่วยทำให้ชาวมุสลิมในพื้นที่เกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น การละหมาด การใช้พื้นที่รอบมัสยิดในการจัดงานตามวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น งานนิสฟูชะบาน งานประเพณีกวนข้าวอาชูรอ งานเมาริด ฯลฯ

ชาวไทยเชื้อสายมอญ เดิมทีตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดรามัญหรือวัดประดิษฐาราม ต่อมาได้ย้ายมาอยู่บริเวณวัดราชคฤห์ (วัดมอญ) ซึ่งในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายมอญกลุ่มนี้ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคล้ายกับคนไทย ทำให้วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมความเป็นมอญค่อย ๆ ถูกกลืนหายจนไม่เหลือร่องรอยความเป็นรามัญเดิม หลงเหลือเพียงคำบอกเล่าที่คงอยู่ในความทรงจำของคนอายุ 70-80 ปี เท่านั้น 

1.อาทร พูลสิริ หรือลุงตุ๋ย เจ้าของผลิตภัณฑ์งานโมเดลจำลองทำด้วยมือของทหารผ่านศึก ผู้ใช้ทักษะช่างไม้ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต แกะสลักออกแบบโมเดลจำลองจากไม้

2.นภดล สรแพทย์ หรือหมอเล็ก ปราชญ์แห่งยาสมุนไพร วัย 60 ปี เจ้าของร้าน “อินทรโอสถ บางยี่เรือ ธนบุรี” ร้านยาเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 100 ปี ร้านยาสมุนไพรไทยในตำนานแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในใจกลางตลาดพลู

3.บังดี้ คนเล่นว่าว อดีตแชมป์ว่าวปักเป้าแห่งประเทศไทย จากคนมีว่าวเป็นเพื่อนในวัยเด็กสู่เซียนว่าวแห่งย่านตลาดพลู

ย่านตลาดพลู ย่านตลาดพลูชุมชนเก่าแก่ริมน้ำที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมที่มีความคึกคักอยู่ตลอด อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกและค้าพลูที่ใหญ่ที่สุดในเมืองบางกอก แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่ย่านตลาดพลูจะไร้ซึ่งร่องรอยของสวนพลู และธุรกิจค้าพลูก็ซบเซาลงเหลือเพียงธุรกิจขนาดย่อม ทว่า บทบาทของการเป็นแหล่งการค้ายังคงส่งอิทธิพลมาถึงลูกหลานชาวตลาดพลูในปัจจุบัน

การค้าขายเปรียบเสมือนพันธุกรรมที่ส่งต่อทางสายเลือด แม้ว่าปัจจุบันตลาดพลูจะไม่ได้คึกคักดังเช่นในอดีต แต่เพื่อประชาชนย่านตลาดพลูส่วนมากก็ยังคงทำการพาณิชย์เป็นแนวทางการเลี้ยงชีพ โดยปรับเปลี่ยนประเภทสินค้าให้เหมาะแก่ยุคสมัย ประกอบกับตลาดพลูเป็นย่านที่มีชื่อเสียงด้านการค้าอยู่เป็นทุนเดิม ส่งผลให้แม้ว่าย่านการค้าเก่าแก่อย่างตลาดพลูจะเงียบเหงาลงมากอย่างไร หากแต่มิได้สิ้นสูญไป ลูกหลานชาวตลาดพลูยังสามารถใช้เรื่องราวความโด่งดังในการเป็นศูนย์กลางการค้ามาปรับเปลี่ยนสู่ตลาดขายอาหารที่มีชื่อเสียงของฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะอาหารของชาวจีนแต้จิ๋ว ด้วยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน จนได้ชื่อว่าเป็น ไชนาทาวน์ฝั่งธนฯ มีนายทุนเข้ามาลงทุนทำธุรกิจมากมาย ทั้งห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ ร้านค่า ร้านอาหารต่าง ๆ จนมีคำกล่าวที่ว่า เยาวราชมีอะไร ตลาดพลูก็ต้องมีอย่างนั้น

ปัจจุบัน ย่านตลาดพลูมีตลาดวัดกลางเป็นตลาดใหญ่ที่ยังคงขายอาหารสดและอาหารแห้ง รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค โดยภายในตลาดมีทั้งแผงขายของและเรือนแถวไม้กับตึกแถว ส่วนแนวทางเดินริมเขื่อนที่เป็นถนนในมีร้านขายยา ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องจักสาน ไปจนถึงหลังวัดราชคฤห์ ตลาดวัดกลางจะคึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนสายตลาดก็จะวาย ขณะเดียวกันร้านค้าบริเวณสองฝั่งถนนเทอดไทยังมีคลินิก ร้านค้าเปิดขายอยู่ ในบริเวณที่ใกล้กับสถานีรถไฟตลาดพลูไปจนจรดใต้ถนนรัชดาภิเษกจะค่อนข้างคึกคัก เพราะเป็นตลาดขายอาหาร มีร้านก๋วยเตี๋ยว หอยทอด ผัดไท ข้าวราดแกงต่าง ๆ นอกจากชื่อเสียงในด้านของกินแล้ว ตลาดพลูยังเป็นหนึ่งในย่านที่มีคอนโดมิเนียมเกิดใหม่จำนวนมากบริเวณใกล้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือ BTS (Bangkok (Mass) Transit System Skytrain) สถานีตลาดพลู และสถานีโพธิ์นิมิตร จึงนับได้ว่า ชุมชนย่านตลาดพลูยังคงมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่จะมาเยือนอยู่ตลอดเวลา 

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย 


จากสวนพลู สู่ตลาดพลู กับการเปลี่ยนแปลงในวันที่ไร้พลู

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าย่านตลาดพลูนับได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าฝั่งธนบุรีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และรุ่งเรืองถึงขีดสุดตั้งแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มก้าวเข้าสู่การปรับตัวตามกระแสความเจริญจากชาติตะวันตก พลู ยังคงเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาด การค้าพลูในช่วงนี้ยังคงทวีความคึกคักมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบรรดาชาวสวนพลูที่นำพลูมาวางขาย รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อพลูจากย่านนี้เพื่อส่งขายไปยังที่ต่าง ๆ นอกจากการค้าพลูแล้วย่านตลาดพลูแห่งนี้ยังมีธุรกิจการค้าอื่น ๆ เกิดขึ้นจนมีสภาพเป็นแหล่งการค้า โดยเฉพาะภายหลังมีการตัดถนนเทอดไทเข้ามาถึงย่านตลาดพลูในช่วง พ.ศ. 2490 ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่ย่านตลาดพลูรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีการเติบโตทางธุรกิจการค้าของผู้ประกอบการต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นธุรกิจที่มีชาวจีนเป็นเจ้าของเกือบทั้งหมด เริ่มมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต่อมาได้กลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมทั่วไป เช่น ยาหม่องตราถ้วยทอง ยาหอมตรา 5 เจดีย์ ด้านการค้าพลูซึ่งเป็นผลิตผลหลักยังคงสร้างรายได้หลักและชื่อเสียงให้แก่ย่านตลาดพลูอยู่เรื่อยมา แม้ว่าจะมีพื้นที่สวนพลูบางส่วนถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นที่เช่าปลูกบ้านพักอาศัย ทว่า การค้าพลูยังคงเป็นแหล่งรายได้ของประชาชนในย่าน เนื่องจากในช่วงนี้ผู้คนยังนิยมกินหมากพลูโดยเฉพาะในต่างจังหวัด

หลังปี 2498 ตลาดพลูเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ผู้คนกินหมากพลูน้อยลง ธุรกิจการค้าพลูเกิดความซบเซา ส่งผลให้ชาวสวนพลูประสบปัญหาขาดทุนจากการทำสวน ชาวสวนเริ่มทำการการขายที่สวนพลูและให้เช่าแก่นายทุนเพื่อทำเป็นธุรกิจบ้านเช่า อาคารพาณิชย์ หรือชาวสวนพลูบางส่วนที่เลิกธุรกิจค้าพลูไปแต่ยังไม่ได้ปล่อยเช่าหรือปล่อยซื้อที่ดินสวนพลูให้แก่นายทุน ก็ได้เปลี่ยนที่สวนพลูเป็นสวนผลไม้อื่นเป็นการชดเชย เช่น ชมพู่ มะละกอ กล้วย ฯลฯ ซึ่งเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนการทำสวนพลู

สภาพเศรษฐกิจย่านตลาดพลูได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดใน พ.ศ. 2526 เมื่อรัฐบาลได้มีโครงการตัดถนนและสะพานยกระดับสายรัชดา-ท่าพระ ผ่านบริเวณศูนย์กลางการค้าย่านตลาดพลูและย่านชุมชน รวมทั้งมีการเวนคืนที่ดินสวนพลูเพื่อตัดถนน ทำให้ผู้คนในย่านตลาดพลูหลายร้อยหลังค้าเรือนต้องย้ายออกจากพื้นที่ บริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ บริเวณย่านตลาดซึ่งมีกิจการร้านค้าต่าง ๆ ทั้งโรงภาพยนตร์ ตลาดสด ซึ่งบริเวณดังกล่าวนี้เป็นทำเลการค้าที่ดีที่สุดในย่านตลาดพลู ส่งผลให้ธุรกิจหลายแห่งต้องเลิกกิจการไป ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว ความนิยมของผู้ที่กินหมากพลูเสื่อมลงไปเกือบหมดแล้ว คงเหลือเพียงผู้สูงอายุที่ติดการกินหมากอยู่ ทว่า เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น อาชีพการทำสวนพลูที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดและมีปริมาณการซื้อขายน้อยมากเป็นทุนเดิมจึงค่อย ๆ หายไป

กระทั่ง พ.ศ. 2538 มีการตัดถนนสายตากสิน-เพชรเกษมผ่านย่านตลาดพลู ส่งผลให้สวนพลูสวนสุดท้ายของย่านตลาดพลูสูญหายไปอย่างถาวร ธุรกิจการค้าพลูซึ่งเคยสร้างชื่อเสียงและรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตชาวตลาดพลูมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ ปัจจุบันได้กลายเป็นเพียงธุรกิจขนาดเล็ก เป็นอาชีพที่ใกล้จะหายไปจากย่านตลาดพลูเช่นเดียวกับสวนพลู หรือแหล่งเพาะปลูกพลูที่เคยสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองบางกอก ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวสวนพลูที่ปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนเป็นเพียงอดีตของย่านตลาดพลูไปแล้ว 

เจ้าพ่อพระเพลิง มังกรทองแห่งตลาดพลู

เจ้าพ่อพระเพลิง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่ถิ่นฐานย่านตลาดพลูมาอย่างยาวนาน โดยชาวตลาดพลูมีความเชื่อว่ามังกรทองซึ่งเป็นเทพเเห่งน้ำ จะช่วยคุ้มครองคนในย่านจากเหตุเพลิงไหม้ ทุกปี ชาวตลาดพลูและผู้ศรัทธา จะจัดงานแห่องค์เจ้าพ่อไปรอบชุมชนด้วยขบวนมังกรและสิงโต สิ่งมงคลตามความเชื่อแบบคนไทยเชื้อสายจีน เป็นงานประจำปี

การแสดงเชิดมังกรทองตลาดพลู ขึ้นชื่อว่าสมจริง ดุดัน สวยงาม เข้มแข็ง และทรงพลังเสมือนมีชีวิต สร้างความตื่นตาตื่นใจและสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม และจากการแสดงที่ดุดันสมจริงทำให้ในแต่ละปี มังกรจะเกิดความชำรุดเสียหายจากพลุไฟ การเสียดสี ฉีกขาด จึงต้องมีการซ่อมแซมก่อนวันงานทุกปี โดยการซ่อมแซมมังกรทองจะมาจากแรงศรัทธาและความเคารพรักในองค์เจ้าพ่อพระเพลิง ซึ่งจะมาซ่อมให้ด้วยใจรักและแรงศรัทธา ไม่มีค่าแรง เพราะประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านตลาดพลูเชื่อว่าเจ้าพ่อพระเพลิงตลาดพลูและมังกรทองตลาดพลู เปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่ชาวตลาดพลูนั่นเอง

กวี รักษ์พลอริยคุณ. (2546). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนย่านตลาดพลู. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สถาบันราชภัฏธนบุรี].

กรกมล ศรีวัฒน์ และ ทิพย์มณี ตราชู. (2561). บังดี้ คนเล่นว่าว ของเล่นเจ้าเวหา. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.sarakadee.com/

กฤศนุ สมบุศย์รุ่งเรือง. (2553). การศึกษาอัตลักษณ์สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมของย่านชุมชนตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู. (2566). บางกอกบานฉ่ำเย็นย่ำตลาดพลูดูดี. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

ถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู. (2566). มังกรทองตลาดพลู. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

ธันยพร วงศ์ธิติโรจน์ และ จิตราภา บำรุงใจ. (2561). ลิฟต์ ยา บันได. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.sarakadee.com/

ปิ่น บุตรี. (2566). มิติใหม่ “ตลาดพลู-วงเวียนใหญ่” สานต่อ “คุณค่า” วัฒนธรรมเชื่อมคน 2 รุ่น. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://mgronline.com/travel/

ไปด้วยกัน. (2566). มา-หา-นคร  เที่ยวย่านตลาดพลู สัมผัสวิถีชุมชนเก่า หาของกินอร่อย. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.paiduaykan.com/

พวงร้อย กล่อมเกลี้ยง, มนัสสวาท กุลวงศ์, และ โชคชัย วงษ์ตานี. (ม.ป.ป.). โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นวิถีวัฒนธรรมริมน้ำย่านตลาดพลูจากคลองบางหลวงถึงคลองด่าน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ. (2558). หนังสือรวบรวมผลงาน VERNADOC อาคารในย่านตลาดพลู. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

สง่า กาญจนาคพันธุ์. (2540). 100 ปี ขุนวิจิตรมาตรา เด็กคลองบางหลวง เล่ม 1. สารคดี.

สิงหนาท แสงสีหนาท. (2565). ชุมชนตลาดพลู จาก “บังยิงเรือ” มาสู่การจาริกแสวงบุญใน “ไชน่าทาวน์” ฝั่งธน. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.urbanally.org/

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2548). กรุงเทพฯ มาจากไหน (พิมพ์ครั้งที่ 2). มติชน.

อนุศาสน์ ทวีศรี. (2562). การรับรู้องค์ประกอบทางจินตภาพบริเวณย่านตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร].

Estopolis. (2562). Match วิถีชีวิตร่วมสมัย พาสำรวจ ‘ตลาดพลู’ ย่านเก่าเคล้าใหม่จากฝั่งธนฯ. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.estopolis.com/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้น 13 มกราคม 2567จาก https://earth.google.com/

Sareerarote Sukamolson. (2566). ลัดเลาะตลาดพลู ...เยาวราชแห่งฝั่งธน. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

Savarin. (2565). ส่องทำเลตลาดพลู พื้นที่ของอร่อย หนึ่งในแหล่งเศษฐกิจสำคัญย่านฝั่งธน. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://propertyscout.co.th/