ชุมชนน่าอยู่ อาชีพมั่นคง เกษตรก้าวหน้า สุขภาพดี อุตสาหกรรมช่วยเศรษฐกิจ นำสู่ความเจริญ
หมู่บ้านหนองไพรวัลย์ ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2495 เดิมชื่อ “บ้านหนองไข่เน่า” ภายหลังมีการขอแรงชาวบ้านตัดถนนเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านได้พูดคุยกันถึงชื่อหมู่บ้านว่าไม่มีความไพเราะไม่น่าฟัง จึงได้มีความเห็นเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเสียใหม่ โดยใช้ชื่อผู้นำในสมัยนั้นที่มาอยู่ก่อน คือ นายไพร ประกอบกับเป็นป่ารก เติมคำว่าวัลย์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านใหม่ "บ้านหนองไพรวัลย์" มาจนกระทั่งปัจจุบัน
ชุมชนน่าอยู่ อาชีพมั่นคง เกษตรก้าวหน้า สุขภาพดี อุตสาหกรรมช่วยเศรษฐกิจ นำสู่ความเจริญ
หมู่บ้านหนองไพรวัลย์ ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2495 เดิมชื่อ “บ้านหนองไข่เน่า” ประชาชนที่เข้ามาอยู่อาศัยได้อพยพมาจากจังหวัดนครปฐม โดยเขามาจับจองที่ดินทำกินซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าเป็นป่ารก ภายหลังจึงได้ชวนหมู่ญาติพี่น้องเข้ามาจังจองที่ดินทำกินตามกำลังที่จะทำได้ประกอบอาชีพการปลูกพืชไร่ ตามประวัติศาสตร์การอพยพของชนชาติไทยเมื่อจะไปตั้งถิ่นฐานอยู่ใหม่จะตั้งถิ่นฐานบริเวณที่มีแหล่งน้ำเพราะเชื่อว่าบริเวณที่มีแหล่งน้ำเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรในดินและในน้ำ
ประกอบกับน้ำยังเป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นผู้ที่อพยพมาอยู่จึงตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ แหล่งน้ำ และมีต้นไข่เน่า ซึ่งเป็นไม้ผลลูกสีดำ รับประทานได้เมื่อผลสุก โดยมี นายไพร สมัครัตน์ เป็นผู้มาจับจองที่ดินบริเวณนี้ ทำกินอยู่ก่อน ภายหลังมีการขอแรงชาวบ้านตัดถนนเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านได้พูดคุยกันถึงชื่อหมู่บ้านว่าไม่มีความไพเราะไม่น่าฟัง จึงได้มีความเห็นเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเสียใหม่ โดยใช้ชื่อผู้นำในสมัยนั้นที่มาอยู่ก่อน คือ นายไพร ประกอบกับเป็นป่ารก เติมคำว่าวัลย์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านใหม่ "บ้านหนองไพรวัลย์" มาจนกระทั่งปัจจุบัน
บ้านหนองไพรวัลย์อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 55 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 241 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนบ้านหนองไพรวัลย์ สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านหนองน้ำกลัด ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ติดถนนเพชรเกษม อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด
ลักษณะทางกายภาพ
พื้นที่ชุมชนบ้านหนองไพรวัลย์ พื้นที่ราบลุ่มและมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่เหมาะต่อการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ เช่น สับปะรด มะม่วง ปาล์ม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำเกษตรกรรม ทำสวน รับจ้างทั่วไป และบางพื้นที่สามารถทำนาข้าวได้
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านหนองไพรวัลย์ จำนวน 569 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,306 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 659 คน หญิง 647 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกันภายในหมู่บ้าน
องค์กรชุมชน
- ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรด้านต่างๆ
- กศน.ตำบลศาลาลัย ศูนย์ กศน. เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่ศึกษาต่อ
- ศูนย์ ศพก. เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ร่วมกับอำเภอ
กลุ่มอาชีพบ้านหนองไพรวัลย์
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด มีสมาชิก 85 คน เป็นการส่งเสริมการทำปุ๋ยชีวภาพปั้นเม็ด ซึ่งปลอดสารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ตั้งเมื่อปี 2544 โดยนโยบายรัฐบาล เป็นแหล่งเงินทุนกู้ยืมให้กับสมาชิกเพื่อการประกอบอาชีพและมีมีสวัสดิการ ให้กับสมาชิก
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ศาสนสถานสำคัญของชุมชนบ้านหนองไพรวัลย์
- พื้นที่หมู่ที่ 6 ไม่มีวัด แต่ประชาชนสามารถไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาได้ในพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียง ได้แก่ "วัดศาลาลัย" ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลศาลาลัย ซึ่งเป็นวัดที่ก่อตั้งมานานประชาชนมีความคุ้นเคยมาแต่เริ่มแรก และมีวัดตั้งขึ้นใหม่ในภายหลัง ได้แก่ วัดศรีทุ่งทองตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 2 โดยประชาชนสามารถเลือกกระทำกิจกรรมทางศาสนาได้ตามความสะดวก
ด้านประเพณี
- โดยส่วนใหญ่ประชาชนจะประกอบพิธีกรรมคล้าย ๆ กับหมู่บ้านอื่น ๆ ไม่มีอะไรที่แตกต่าง ส่วนใหญ่จะธำรงรักษาสืบทอดไว้ เช่น การบวชนาค การขึ้นบ้านใหม่ แห่เทียนพรรษา เข้าพรรษา ออกพรรษา ทอดกฐิน การกินเจ การแต่งงาน การตาย
- พิธีแต่งงานแยกเป็น 2 อย่าง คือ การแต่งงานแบบจีน และการแต่งงานแบบไทย
- พิธีจัดงานศพ แยกเป็น 2 อย่าง คือ การจัดพิธีการสวดแบบไทย และการจัดการพิธีศพแบบจีน ซึ่งเรียกว่าพิธีกงเต็ก
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ ทำเกษตรกรรม ทำไร่สับปะรด ทำสวนมะม่วง ปาล์ม และชาวบ้านส่วนหนึ่งจะรับจ้างทั่วไป ปัจจุบัน การทำสวนมะม่วงมีการส่งออกต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำสินค้าเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก
1.นายพิธี ทองสวัสดิ์ (ลุงพิธี) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2489 อายุ 77 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
บทบาทและหน้าที่สำคัญในชุมชน
- เป็นวิทยากรบรรยาย เกี่ยวกับการผลิตพืชมาประกอบอาหาร แบบปลอดสารพิษ การป้องกันแมลงศัตรูพืชที่มาทำลายพืช และวิธีกำจัดศัตรูพืช แบบรักษาสิ่งแวดล้อม สะอาดและมีคุณภาพดี
- เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ประจำ อำเภอสามร้อยยอด
- เป็นประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองไพรวัลย์ ปี 2560 เพื่อให้ ประชาชนที่มีความสนใจ หรือผู้ศึกษาดูงานได้ศึกษาหาความรู้และนำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิต
- ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศูนย์พัฒนาครอบครัวตำบลศาลาลัย ดำเนินการด้านพัฒนาครอบครัว
- การสอนเกษตรกรให้มีการวางแผนการผลิตหาที่ดินที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด สร้างแหล่งน้ำและใช้น้ำอย่างถูกต้อง และประหยัด หาพันธุ์พืชที่ดีและปลอดโรค หาแรงงานให้พอดีกับงาน การหาแหล่งเงินทุนที่เชื่อถือได้ ศึกษาการตลาดให้มีความเหมาะสม การคำนวณต้นทุนการผลิต ศึกษาผู้บริโภคต้องการอะไร อย่างไร การศึกษาภาวะอากาศ ศึกษาผลกระทบต่อชุมชน และสุดท้าย ต้องคำนึงถึงสุขภาพของผู้ผลิต ห่วงใยผู้บริโภค สามารถทำให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ได้อย่างยั่งยืน และประสบความสำเร็จ
- เป็นเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญและสร้างสรรค์ผลงานด้านการเกษตร การผลิตพืชอย่างมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ 100% ปลอดภัย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทุกระดับ
- การปฏิบัติตนเป็นจิตอาสา โดยไม่หวังผลตอบแทน การส่งต่อภูมิปัญญาการให้ความรู้กับผู้ที่มีความสนใจ หรือกลุ่ม หรือคณะผู้มาศึกษาดูงานในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองไพรวัลย์ หากได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ ก็จะสละเวลาส่วนตน สำหรับการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับการแต่งตั้ง อย่างเต็มความสามารถ โดยไม่หวังผลตอบแทน
รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณที่ผ่านมาของ นายพิธี ทองสวัสดิ์
ลำดับที่ |
รางวัลหรือเกียรติคุณที่ได้รับ | องค์การ/หน่วยงานที่ให้ | ได้รับเมื่อ พ.ศ. |
1 | เกียรติบัตร เป็นผู้ที่มีคุณธรรม ทำประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมส่วนรวม | องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย | 2550 |
2 | รางวัลชนะเลิศ การประกวดเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ระดับเขต ประจำปี 2552 | สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 ราชบุรี | 2552 |
3 | ประกาศนียบัตร รางวัลชมเชย การคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน ประจำปี 2552 | กรมส่งเสริมการเกษตร | 2552 |
4 | โล่ประกาศเกียรติคุณ เกษตรกรดีเด่น สาขา การใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ประจำปี 2554 | กรมวิชาการเกษตร | 2554 |
5 | โล่ประกาศเกียรติคุณ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ประจำปี 2554 | กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | 2554 |
6 | ประกาศนียบัตร รางวัลชนะเลิศ เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรดีเด่น ระดับอำเภอ ประจำปี 2558 | อำเภอสามร้อยยอด | 2558 |
7 | ประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2558 | จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | 2558 |
8 | เกียรติบัตร เกษตรกรสัมมาชีพดีเด่น ระดับอำเภอ ปี 2557 | สภาเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | 2558 |
9 | ประกาศเกียรติคุณ เป็นเกษตรกรผู้ทำคุณประโยชน์ สาขาปราชญ์เกษตรกรดีเด่น | จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | 2559 |
10 | ประกาศเกียรติคุณ เป็นเกษตรกรผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการเกษตร สาขาเกษตรกรต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) | จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | 2559 |
11 | โล่ประกาศเกียรติคุณ บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการบัญชี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | 2559 |
12 | ประกาศเกียรติคุณ บุคคลผู้ปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง | องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย | 2562 |
13 | โล่ประกาศเกียรติคุณ คลังปัญญาผู้สูงอายุดีเด่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | 2563 |
14 | โล่ประกาศเกียรติคุณ ผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม | กรมกิจการผู้สูงอายุ | 2566 |
2.นางติ๋ม นุ่มสาลี (ป้าส่ง) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2502 อายุ 63 ปี
บทบาทและหน้าที่สำคัญในชุมชน
- ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย (นวดแผนโบราณ) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการนวดแผนไทย โดยใช้วิชาจากกุมาร ใช้แรงในการนวดจากกุมาร และมีใบรับรองจากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีศาสตร์ในการปัดเป่า
3.นายเมือง กุลทอง (ลุงเบรก) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2500 อายุ 66 ปี
บทบาทและหน้าที่สำคัญในชุมชน
- ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาคนไข้ ด้วยศาสตร์ของร่างทรงแป๊ะกง ที่ใช้การรักษาด้วยลูกประคำ
ผู้นำชุมชน
- นายประเสริฐ ไทยอุดมทรัพย์ ตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย
- พระครูสถิตกัลป์ยาณคุณ ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดศาลาลัย (เจ้าคณะตำบลศาลาลัย)
- นายสุชาติ ไทยอุดมทรัพย์ ตำแหน่ง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย
- นายสุภาพ ไทยอุดมทรัพย์ ตำแหน่ง กำนันตำบลศาลาลัย
- นางสาวคชาภา โพธิรัชต์ ตำแหน่ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- นายสำเภา แป้นคุ้มญาติ ตำแหน่ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย
- นายสุวัจชัย ไทยอุดมทรัพย์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นายวรรณพล ชูวงศ์วาล ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นายเอกชัย คล้ายแก้ว ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นางนรา ฐปนกุลพูนสุข ตำแหน่ง แพทย์ประจำตำบลศาลาลัย
ทุนวัฒนธรรม
วัดศาลาลัย เป็นศูนย์รวมจิตใจในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำบุญ ตักบาตร งานศพ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
ศาลาหมู่บ้านหนองไพรวัลย์ ปัจจุบันได้มอบให้องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย เป็นผู้รับผิดชอบดูแล จึงเป็นศูนย์รวมกิจกรรม ในตำบล ประชุมหมู่บ้านประจำเดือน ทุกวันที่ 7 ของทุกเดือน และเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลศาลาลัย และเป็นสถานที่ประชุม รับผู้เข้าประชุมได้ 80 คน
สนามกีฬาบ้านหนองไพรวัลย์ เป็นศูนย์รวมของกลุ่มเด็กและเยาวชน และชุมชนคนงานพม่า ได้มาออกกำลังกาย เล่นกีฬา และเป็นสถานที่แข่งขันกีฬาขององค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย
โรงเรียนบ้านหนองขาม (สันติกาญจน์ราษฎร์บำรุง) ชื่อในวงเล็บเป็นความร่วมมือของผู้มีพระคุณในระยะที่มีการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรก โดยคำว่า "สันติกาญจน์" เป็นนามสกุลของผู้ยกที่ดินให้ก่อสร้างโรงเรียน คือนายบุญทอง สันติกาญจน์ และชาวบ้านร่วมมือช่วยกันสละเงิน และสิ่งของ แรงงาน ปลูกสร้าง ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนในระดับอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัด สพฐ. และเป็นโรงเรียนในฝันที่มีคุณภาพมาตรฐาน ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย ที่รับเด็กปฐมวัย 2 ปีครึ่ง - 3 ขวบ
ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทย และมีชาวเมียนมาส่วนหนึ่งที่เข้ามารับจ้างทำงานบริษัท ไทยยอดทิพย์ จำกัด จึงมีภาษาพม่าในการพูดคุยและสื่อสารเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
คนในชุมชนเริ่มห่างเหินจากความเชื่อสมัยเก่า และการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ไม่ค่อยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน การหารือหรือพูดคุยกันเริ่มห่างเหิน ระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็ว เชื่อมโยงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เกิดช่องว่างระหว่างวัย ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความเชื่อ
ชุมชนบ้านหนองไพรวัลย์ ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านภัยธรรมชาติ แห้งแล้ง ไม่มีน้ำในการทำเกษตรกรรม เกิดความเสียหาย ทำให้การส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหยุดชะงัก ผลผลิตตกต่ำ เป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จนปัจจุบัน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ประเสริฐ ไทยอุดมทรัพย์, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
สุชาติ ไทยอุดมทรัพย์, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
แผนชุมชนบ้านหนองไพรวัลย์, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566