ต้นไทร ไม้มงคลที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเทพารักษ์ ชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น เพื่อเป็นศิริมงคลและเป็นที่พึ่งทางใจ จึงเป็นเหตุให้ขนานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านต้นไทร”
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ราวปี พ.ศ. 2492 - 2494 ได้มีชาวบ้านอพยพมาจากพื้นที่อื่น ได้มาจับจองถางป่าเพื่อปลูกบ้านเรือนและทำไร่เลี้ยงชีพ ประกอบกับพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไผ่หนาแน่น ทั้งยังมีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง มีกิ่งก้านแผ่สาขาเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด ชาวบ้านเชื่อว่า ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นไม้มงคล ย่อมเป็นที่สิงสถิตของเทพารักษ์ จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาล แล้วทำพิธีบวงสรวงเชิญ เทพ-รุกขเทวดาเข้าอาศัยอยู่ เพื่อเป็นศิริมงคลและเป็นที่พึ่งทางใจ ชาวบ้านจึงได้ขนานนามว่า “บ้านต้นไทร”
ต้นไทร ไม้มงคลที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเทพารักษ์ ชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น เพื่อเป็นศิริมงคลและเป็นที่พึ่งทางใจ จึงเป็นเหตุให้ขนานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านต้นไทร”
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ได้ความว่า ราวปี พ.ศ. 2492 - 2494 ได้มีชาวบ้านอพยพมาจากพื้นที่อื่น ที่พอจะเอ่ยนามได้ก็มี นายขวด รอดพยุง นายหร่ำ เผือกผุด นายเหมือน เอี่ยมสำอางค์ รวมแล้วประมาณ กว่า 10 ครอบครัว ได้มาจับจองถางป่าเพื่อปลูกบ้านเรือนและทำไร่เลี้ยงชีพ ประกอบกับพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไผ่ อย่างหนาแน่น มีต้นไม้ใหญ่ ๆ และไม้เบญจพรรณมากมาย มีสัตว์ป่า เช่น กวาง เก้ง หมู เสือ และอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก และในหมู่แม้ไม้เหล่านั้นยังมีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง มีกิ่งก้านแผ่สาขาเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด ชาวบ้านเชื่อว่าต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นไม้มงคล ย่อมเป็นที่สิงสถิตของเทพารักษ์ จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาล แล้วพิธีบวงสรวงเชิญเทพ-รุกขเทวดา เข้าอาศัยอยู่ เพื่อเป็นศิริมงคลและเป็นที่พึ่งทางใจ ชาวบ้านจึงได้ขนานนามว่า “บ้านต้นไทร”
บ้านต้นไทรอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 57 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 240 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนบ้านต้นไทรสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 8 ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ติดกับถนนเพชรเกษม
ลักษณะทางกายภาพ
พื้นที่ชุมชนบ้านต้นไทร เป็นพื้นที่ราบลุ่ม การประกอบอาชีพส่วนใหญ่รับจ้าง ทำนา และเกษตรกรรม ครัวเรือนอยู่ห่างกัน และแออัดเป็นบางแห่ง
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านต้นไทร จำนวน 207 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 630 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 320 คน หญิง 310 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกันภายในหมู่บ้าน
กลุ่มอาชีพบ้านต้นไทร
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มผลิตข้าวชุมชน ส่งเสริมการผลิตข้าว และบริการจัดซื้อเมล็ดพันธ์ุข้าวให้สมาชิกยืมไปทำนา (นายณรงค์ เผือกผุด เป็นประธาน)
- กลุ่มปุ๋ยน้ำชีวภาพ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ เพื่อใช้สำหรับการเกษตรปลอดสารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (นายณรงค์ เผือกผุด เป็นประธาน)
- กลุ่มเลี้ยงสุกร ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม ด้วยการบริการจัดซื้อลูกหมูให้สมาชิกไปเลี้ยงเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน (นายชูชาติ ทองดี เป็นประธาน)
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยนโยบายของรัฐ ปัจจุบันมีสมาชิก 100 กว่าราย เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้าน ดำเนินการปล่อยกู้เพื่อการประกอบอาชีพ ผลกำไรจัดสรรตามระเบียบของกองทุน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน คณะทำงานที่มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง (นายณรงค์ เผือกผุด เป็นประธาน)
- กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน เป็นกองทุนเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในพื้นที่หมู่บ้านในการจัดการงานศพ ปัจจุบันมีสมาชิก 272 กว่าครัวเรือน เมื่อมีการเสียชีวิตจะเก็บครัวเรือนละ 100 บาทเพื่อมอบให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพื่อให้สมาชิกรู้จักเก็บออมเงิน โดยมีการเก็บเงินกลุ่มออมทรัพย์ทุกวันที่ 7 ของเดือน เพื่อนำไปฝากธนาคาร รณรงค์ให้มีการเก็บออมและบริการให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อนำไปประกอบอาชีพ (นายณรงค์ เผือกผุด เป็นประธาน)
- กองทุนแม่ของแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด เป็นกลุ่มที่ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน ให้หมู่บ้านปลอดยาเสพติด (นายณรงค์ เผือกผุด เป็นประธาน)
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประชาชนบ้านต้นไทร ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ การทำบุญส่วนใหญ่จะไปวัด ใกล้ ๆ บ้าน และอีกทั้งยังมีศาลเจ้าพ่อต้นไทร ที่ชาวบ้านต้นไทรนับถือและมีการจัดทำบุญประจำปี ก่อนวันตรุษจีน ของทุกปี
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ ทำเกษตรกรรม ทำไร่สับปะรด ทำสวนมะม่วง ปาล์ม และชาวบ้านส่วนหนึ่งจะรับจ้างทั่วไป ปัจจุบัน การทำสวนมะม่วงมีการส่งออกต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำสินค้าเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก
1.นายณรงค์ เผือกผุด (ณรงค์) อายุ 62 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านศาสนพิธี นายณรงค์ เผือกผุด ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นเวลา 18 ปี ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลศาลาลัยมาเป็นเวลา 6 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัยและ อสม. ประธานกลุ่มกองทุนต่าง ๆ ริเริ่มการเป็นพิธีกรสงฆ์ ได้เข้ารับการอบรมเรื่องการเป็นพิธีกรสงฆ์ ศาสนพิธีต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2550 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา นายณรงค์ เผือกผุด ก็ช่วยงานพิธีกรสงฆ์ งานบุญ งานบวช งานมงคลต่าง ๆ งานศพ
2.นายชูชาติ ทองดี ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร
3.นายวิมุติ โพธิ์ทอง ปราชญ์ชาวบ้านด้านแพทย์แผนไทย (แผนโบราณ) เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเป็นกรรมการหมู่บ้านต้นไทร มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทย การปัดเป่า
4.ผู้นำชุมชน
- นายชั้น เอี่ยมสำอางค์ ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน
- นายสมลักษณ์ แซ่ลิ้ม ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นายแสงเทียน หุ่นงาม ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นายเอกชัย โพธิ์พิจิตร ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นายณรงค์ เผือกผุด ตำแหน่ง เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านศาสนพิธี
- นายเติมดวง ลาภอาภารัตน์ ตำแหน่ง ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย
- ศาลเจ้าพ่อต้นไทร เป็นศาลเจ้าที่ชาวบ้านให้ความเคารพ ยึดเหนี่ยวจิตใจ และทำบุญประจำ ก่อนวันตรุษจีน ทุกๆ ปี
- ศาลาหมู่บ้านต้นไทร เป็นที่ประชุมหมู่บ้านและทำกิจกรรมสำหรับประชาชนหมู่ที่ 7 และมีน้ำดื่มชุมชนที่ราคาถูก สำหรับบริโภคในชุมชน
ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่ภาษากลาง (ภาษาไทย)
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
คนในชุมชนเริ่มห่างเหินจากความเชื่อสมัยก่อน และการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ไม่ค่อยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน การหารือหรือพูดคุยกันเริ่มห่างเหิน ระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็ว เชื่อมโยงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เกิดช่องว่างระหว่างวัย ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความเชื่อ
ชุมชนบ้านต้นไทร ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านภัยธรรมชาติ แห้งแล้ง ไม่มีน้ำในการทำเกษตรกรรมและทำนา เกิดความเสียหาย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ณรงค์ เผือกผุด, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
แผนชุมชนบ้านต้นไทร, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566
องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566