มีชนเผ่าพื้นเมือง เลื่องชื่อกาแฟโรบัสต้าป่าช้างขาว แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ
ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงและถือเป็นบุคคลบนพื้นที่สูง โดยอาศัยในบริเวณนี้ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2484 และมีชื่อเรียกอีกหนึ่งชื่อว่า บ้านห้วยตะลุยแพรกซ้าย เพราะอยู่ใกล้ลำห้วยแพรกตะลุยซ้าย ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปราณบุรีในปัจจุบัน โดยในสมัยนั้นมีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ 10 ครัวเรือน และต่อมาได้ตกเป็นพื้นที่อิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
ปี พ.ศ. 2525 สถานการณ์การก่อสร้างร้ายสิ้นสุดลง จึงมีชาว กระเหรี่ยงจากบ้านป่าละอู อำเภอหัวหิน เดินทางเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกับชาวบ้านบ้านป่าหมาก อีกประมาณ 10 ครอบครัว ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้นิยมกินหมาก จึงปลูกหมากไว้เก็บผลกิน ต่อมาตำรวจตระเวนชายแดนจากฐานปฏิบัติการเขาจ้าว ได้ลาดตระเวนไปพบ จึงเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า "บ้านป่าหมาก"
มีชนเผ่าพื้นเมือง เลื่องชื่อกาแฟโรบัสต้าป่าช้างขาว แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ
ประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านป่าหมากถ้าย้อนกลับไปได้อยู่ที่ 4 ชั่วอายุคนซึ่งเป็นเวลาหลายร้อยปีที่ชุมชนได้ดำรงวิถีชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวตามคำบอกเล่าของลุงแดง ใจเย็น อายุ 104 ปี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญคนเดียวที่จะบอกเล่าและให้ข้อมูลได้ในอดีตนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่กันแบบกระจัดกระจายตามแนวแม่น้ำแพรกตะลุยซ้ายและอยู่อาศัยมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานของคนในสมัยนั้นที่ได้มีวิถีชีวิตการดำรงชีพในพื้นที่ดังกล่าวมารุ่นสู่รุ่นและสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีกันมาจนถึงรุ่นลุงแดง
สมัยอดีต
วิถีชีวิตในสมัยนั้นไม่ได้อาศัยกันแบบชุมชนที่หนาแน่นอยู่กันแบบห่างไกลกันระหว่างบ้านแต่ละหลังตามสันเขา ลำห้วยและลำธารตามแต่จะเลือกจัดสรรของแต่ละครอบครัว เมื่อบุตรหลานแต่งงานก็จะออกจากครอบครัวไปอยู่อีกครอบครัวเพราะจำเป็นในการเลือกพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ยังไม่มีผู้ใดอยู่อาศัยและจับจอง ในสมัยนั้นจะทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าว พริก และอื่น ๆ เอาไว้กินภายในครัวเรือนและแต่ละครอบครัวก็จับจองพื้นที่ไม่เกินครัวเรือนละ 4-5 ไร่
การทำการเกษตรแบบหมุนเวียน ในอดีตชาวบ้านป่าหมากทำเกษตรเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มทำการถางและปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะแกการทำการเกษตร จากนั้นก็เริ่มทำการเกษตร โดยการปลูกข้าวไร่หรือข้าวฟ่างพริกกะเหรี่ยง พืชผักสวนครัว เป็นต้น และทำในพื้นที่นั้นไม่เกิน 3 ปีก็จะเปลี่ยนไปทำอีกพื้นที่เพื่อให้พื้นที่เดิมนั้นได้มีการปรับสภาพให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ทำในรูปแบบนี้สลับไปมาเรื่อย ๆ โดยการพึ่งพากันระหว่างวิถีชุมชนคนกับป่า
การค้าขายในอดีตและปฏิสัมพันธ์ของชาวบ้านในชุมชนสมัยนั้น ในอดีตสินค้าที่ชาวบ้านเพาะปลูกจะนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าบางชนิดที่ไม่สามารถผลิตหรือทำเองได้ โดยการเดินเท้าข้ามภูเขาลำธารมาเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับพื้นที่ด้านนอกบางครั้งต้องใช้ระยะทางในการเดินเป็นวัน ๆ
วิถีชีวิตเริ่มแปรเปลี่ยน โดยการจัดพื้นที่บริเวณบ้านป่าหมากในปัจจุบันให้เป็นศูนย์กลางในการอพยพและการจัดตั้งหมู่บ้านให้ง่ายในการควบคุมดูแลของหน่วยงานภาครัฐและในเวลาต่อมาก็ได้ประกาศพื้นที่บ้านป่าหมากเป็นพื้นที่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ในอดีตคนกระเหรี่ยงไม่มีการใช้นามสกุลกันส่วนนามสกุลใจเย็นนั้นเอามาจากบรรพบุรุษคนหนึ่ง ชื่อ ปู่กุเย็น ดังนั้นลูกหลานตามสายเลือดจึงใช้นามสกุล "ใจเย็น"
ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใหญ่บ้านจึงมีแต่หัวหน้าเผ่าชื่อ ม่วย ซึ่งหัวหน้าเผ่าม่วยได้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนกระเหรี่ยงตามลำน้ำแพรกตะลุยพวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้แบบเศรษฐกิจทำการผลิตข้าวเปลือกเป็นหลัก ส่วนที่ต้องอาศัยซื้อของจากตลาดในเมืองบ้างก็มีแต่ มีด ขวาน เกลือ ตะกั่ว ดินปะสิว และกำมะถันเท่านั้น กล่าวได้ว่าพวกเขามีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง
พลวัตชุมชนบ้านป่าหมาก
- ในปี พ.ศ. 2525 หน่วยงานรัฐไปพบชุมชนแห่งนี้ครั้งแรก โดยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 145 สังกัด กก.ตชด.14 ในปัจจุบันได้ลาดตระเวนมาพบชาวกระเหรี่ยงบ้านป่าหมากในปี พ.ศ. 2534 และหน่วยงานกอรมน.นำโดยนายทองพูนร่วมกับผู้ช่วยบุญธรรม ชูชาติ หรือชะทู้ (ผู้ช่วยผู้ใหญ่ ม.6 ป่าเด็งในสมัยนั้น) และผู้ใหญ่ ชาย ใจเย็น (พ้านุ้ยบุ๊) (ผู้ใหญ่ที่ยังไม่เป็นทางการในสมัยนั้น)ได้ร่วมประสานงานรวบรวมชาวบ้านตามลำน้ำแพรกตะลุยมาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านในปัจจุบันในปี พ.ศ. 2534 ยังรวมไม่ได้มากเท่าไหร่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536-2537 จึงได้รวมกันเป็นหมู่บ้าน
- ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้บุกเบิกตั้งโรงเรียนบ้านป่าหมากบุคลที่ดำเนินการคือ นางบุญชู คงเหมาะ และนายสาย คงเหมาะ รวมกับคนหมู่บ้านแพรกตะลุยอีกหลายคนตั้งโรงเรียนป่าหมากขึ้นมาทีแรกก็เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ได้งบประมาณจาก กศน.อำเภอปราณบุรี ซึ่งต่อมาภายหลังถึงสร้างโรงเรียนใหม่ขึ้นและครูคนแรกของโรงเรียนบ้านป่าหมาก คือ อาจารย์ไพโรจน์ จันทดี ซึ่งเป็นครูโรงเรียน กศน.ได้รับการสนับสนุนจากคนไทยหมู่บ้านแพรกตะลุยมาช่วยสอนต่อมามีอาจารย์ไพโรจน์ สันพิชัยมาสอนต่อ
- ในปี พ.ศ. 2546 ได้รับการจัดตั้งเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก(สาขาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาจ้าว) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาหน่วยพยาบาลที่มีอยู่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมากในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นสุขสาลาพระราชทาน เพื่อเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของนักเรียนและประชากรในถิ่นทุรกันดารทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉินรวมทั้งช่วยให้เกิดความไว้วางใจในเจ้าหน้าที่รัฐกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่านักเรียนและประชาชนในพื้นที่โรงเรียน ตชด.บ้านป่าหมากมีความยากลำบากในการเดินทางเข้ารับการรักษาพยาบาลเมื่อมีการเจ็บป่วย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่ามาก จำนวน 4 ครั้ง
ในอดีตหมู่บ้านป่าหมากขึ้นกับอำเภอปราณบุรี หมู่ที่ 6 ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้มีการทำบัตรประจำตัวเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยเริ่มทำบัตร 2 ประเภท คือ
- บัตรเขียวขอบแดง (รอสัญชาติ)
- บัตรฟ้าขอบแดง (ได้สัญชาติ)
ในช่วงนั้น นายเพชรพร โกมลฤทธิ์ (ผู้ใหญ่ไต๋) เป็นผู้ใหญ่แพรกตะลุยหมู่ที่ 6 ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ดูแลหมู่บ้านป่าหมากแต่ในปัจจุบันทางการได้โอนหมู่บ้านป่าหมากไปขึ้นอยู่กับหมู่ที่ 8 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในหมู่บ้านป่าหมากบุคคลที่มีบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกมีน้อยมาก จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2547-2548 จึงได้มีการให้สัญชาติทำบัตรประชาชนแก่ชาวบ้านมากขึ้นมาเป็นลำดับก่อนที่จะตั้งหมู่บ้านและหลังตั้งหมู่บ้านแล้วจึงมีการตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยตำรวจตระเวนชายแดน ชื่อ หมวดภาพ และมีผู้ปกครองหมู่บ้านในสมัยนั้นดังนี้
- นายชาย ใจเย็น (แต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ)
- นายปุ๋ย ใจเย็น (แต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ)
- นายกุลเดช อยู่เจริญ (แต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ)
- นายชัยยา ปิติพนา (แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ)
- นายชัยศักดิ์ เตาะไธสง (แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ)
เดิมหมู่บ้านป่าหมากมีจำนวนหลังคาเรือนไม่มากเท่าไหร่ แต่หลังจากปี พ.ศ. 2542 ทางการได้ย้ายชาวสวนทุเรียนมารวมกับชาวบ้านป่าหมากจนกระทั่งทุกวันนี้มีร้อยกว่าหลังคาเรือน ครั้งแรกที่รวมหมู่บ้านสวนทุเรียนมีครูตชด.มาสอนชื่อครู ไสว (ปัจจุบันเป็นผู้กองไสวซึ่งเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก) และ ดต.รัตนะ ศรีคำเป็นครูใหญ่โรงเรียน ตชด.บ้านป่าหมากในสมัยนั้นรวมทั้งทหารชุดแรกที่มาอยู่ คือ กองพลทหารราบที่ 19 จากค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าชุดชื่อ หมวดปราโมทย์ มาทำการรวมชาวบ้านสวนทุเรียนและได้วัดพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวบ้านทั้งหมด
จากการสัมภาษณ์ชาวไทยซึ่งเป็นหนึ่งในการตั้งหมู่บ้านป่าหมาก คือ นายเยาว์ ชูยิ่ง จึงรู้ว่ามีคนไทยมาอาศัยในหมู่บ้านป่าหมากมีจำนวนทั้งหมด 6 คน ให้มีการจัดตั้งหมู่บ้าน โดยมีหัวหน้ากิ่งอำเภอสามร้อยยอด ชื่อนายอยุธยา คล้ายสิงห์ และกำนันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหมู่บ้านป่าหมากและมีสมาชิกก่อตั้งหมู่บ้านดังนี้
- นายเยาว์ ชูยิ่ง
- นายสมบูรณ์ (ไม่ทราบนามสกุล)
- นายกุลเดช อยู่เจริญ
- นายชัยยา ปิติพนา
- นายชัยศักดิ์ เตาะไธส
- นายบุญเติม (ไม่ทราบนามสกุล)
บ้านป่าหมากมีพื้นที่อยู่อาศัย/ที่ดินทำกินรวมทั้งหมด 777.67 ไร่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ประมาณ 76 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 136 กิโลเมตรการเดินทางเข้าพื้นที่บ้านป่าหมากสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และอื่นๆ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านแพรกตะลุยซ้าย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ สหภาพเมียนมาร์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อุทยานกุยบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทือกเขาตะนาวศรี
ลักษณะทางกายภาพ
พื้นที่ชุมชนบ้านป่าหมากเป็นพื้นที่สูงราบลุ่มอยู่ติดกับแม่น้ำแพรกตะลุยซ้าย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่เขื่อนปราณบุรีบ้านป่าหมากมีเส้นทางเข้า-ออกเพียงเส้นทางเดียวเพราะชุมชนอยู่ติดชายแดนไทย เมียนมาประมาณ 50 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านป่าหมากทำการเกษตร เช่น การปลูกพืชกาแฟ ทุเรียน กล้วย ข้าว (ยังมีการปลูกบ้างบางช่วงเวลา) พริกและอื่น ๆ ในปัจจุบันชาวบ้านมีการขยายครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้บางครัวเรือนไม่มีพื้นที่ทำกินและที่ปลูกบ้าน ด้วยพื้นที่บ้านป่าหมากอยู่ในเขตอุทยานกุยบุรี
ในอดีตพื้นที่บ้านป่าหมากค่อนข้างเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านลำบากในช่วงฤดูฝนเนื่องจากเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำท่วม บางปีต้องมีการขอความช่วยเหลือจากพื้นที่ด้านนอกหรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้งให้กับชาวบ้าน ในการเพาะปลูกพืชมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตออกมาขายสู่ตลาดค่อนข้างมากในบางปีแต่ด้วยสภาพพื้นที่ห่างไกลเดินทางลำบากทำให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางกดราคาพืชผลทางการเกษตรชาวบ้านเป็นอย่างมาก
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านเนินกรวด จำนวน 317 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 782 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 405 คน หญิง 377 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกันภายในหมู่บ้าน
ก่อนอื่นก็ต้องกล่าวถึงลุงเงินเพราะลุงเงินเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้านลุงเงินบอกว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นลุงเงินเองมีอายุ 30 กว่า ส่วนลุงแดงซึ่งเป็นน้องชายตอนนั้นเป็นหนุ่มแล้วอายุประมาณ 20 ต้นๆ ลุงเงินและลุงแดงบอกว่าถ้ามาทบทวนความหลังยังพอจำได้ 5 ชั่วคนพอจะร่ายลำดับชื่อบรรพบุรุษดังต่อไปนี้
- แม่ ชื่อ น้อวาซิ
- พ่อ ชื่อ รวยบิ้
- ปู่ ชื่อ พุเค้
- ย่า ชื่อ พิ้จาเป๊
- ตา ชื่อ พื้อกุเย็น
- ยาย ชื่อ น่อดี๊
- ทวดของปู่ ชื่อ พื้อติฮิ
- ทวดหญิง ชื่อ พี้เจเลพลู้
- ทวดทางตา ชื่อ พื้อปรี่อู้
- ทวดหญิง ชื่อ พี้เมะพลู้
ปัจจุบันลุงเงินมีอายุประมาณ 105 ปี มีพี่น้องทั้งหมด 8 คนตายไปตอนเด็ก 2 คน เสียชีวิตก่อน 3 คน ปัจุบันลุงเงินมีพี่น้องเหลือ 3 คน ได้แก่
- ลุงแดง (ยังมีชีวิตอยู่)
- ป้าน่อลุ (ยังมีชีวิตอยู่)
- เงิน (เสียชีวิต)
- ป้าจี้เจ (เสียชีวิต)
- ป้าซ้วยเจ (เสียชีวิต)
ลุงใบมีที่ดินผืนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้มอบให้ส่วนรวมเป็นที่ตั้งหมู่บ้านป่าหมาก โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมากและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ลุงใบมีอายุมากกว่าลุงเงิน 2 ปี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เรียงลำดับชื่อพ่อ แม่ ญาติ พี่ น้อง ดังต่อไปนี้
- พ่อ ชื่อ ทุปุ
- แม่ ชื่อ พ้อทู้
มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน
- จ้วยแต้
- ลุงซึ
- ลุงใบ
- ด๊าเบล๊ะ
- ด๊าน่อ
ภรรยาลุงใบ ชื่อ บีเค่ย มีลูก 3 คน
- ลุงป่อ
- ลุงนุ้ยคึ (เปลี่ยน)
- ลุงเด๊คึ (เสียชีวิต)
องค์กรในชุมชน
หน่วยงานภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นในการดูและพื้นที่และชาวบ้านป่าหมาก มีดังต่อไปนี้
- หน่วยเฉพาะกิจ จงอางศึก ดูแลพื้นที่ตามแนวชายแดน
- กองร้อยตำตรวจตระเวนชายแดนที่ 145 ควบคุมดูแลพื้นที่ชุมชน
- โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก
- สุขศาลาพระราชทาน รักษาฉุกเฉินกรณีเป็นป่วยเล็กน้อย
กลุ่มอาชีพบ้านป่าหมาก
- กลุ่มสตรีทอผ้า จักสาน กลุ่มสตรี และอื่นๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 15 คน
- กลุ่มสมาชิกลานกางเต้นท์ มีสมาชิกทั้งหมด 30 คน
- กลุ่มวิสาหกิจโรบัสต้าป่าช้างขาว บ้านป่าหมาก มีสมาชิกทั้งหมด 20 คน
ทั้งสามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนเกิดรายได้และสร้างอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืนของคนในชุมชนและเกิดการสืบสานต่อคนรุ่นหลังต่อ ๆ ไปในอนาคต
ในส่วนของกลุ่มอาชีพ ในอดีตคนในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร (ทำไร่) ปลูกข้าว พริก แตง เพื่อที่จะไว้ในครัวเรือนมีบางครั้งอาจทำการแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ บ้างในบางส่วนหรือทำแบ่งให้กับญาติพี่น้องในชุมชนและบางส่วนก็เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกในปีถัด ๆ ไป ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพ ทำไร่และรองลงมาก็รับจ้างส่วนใหญ่ เพราะด้วยสภาพสังคมปัจจุบันทำให้คนในชุมชนต้องปรับตัว อาจจะด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีมากนัก
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีไหว้พระจันทร์
จัดขึ้นในช่วงเดือน 11 ของทุกปีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นพิธีกรรมที่เกิดจากความเชื่อของคนกระเหรี่ยงแบบดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นในการประกอบพิธีจะใช้ระยะเวลา 2 วันโดยมีผู้นำทางพิธีกรรม ชื่อนางจะกี้ บุญแขกและนายนก ใจเย็น
- การแต่งกายในการทำพิธีกรรม ผู้ชาย นุ่งขาวห่มขาว โผกหัว ผู้หญิง ใส่เสื้อขาวกับผ้าถุงและโผกหัวด้วยผ้าสีแดงใส่สร้อยคอแบบลูกปัดดั้งเดิม
- อาหารถวายในพิธีกรรม เช่น ข้าวเหนี่ยวห่อใบไผ่ (มีจื้อ มีตอ) ข้าวหลามเผา และอื่น ๆ
- ข้อห้ามในการเข้าร่วมพิธีกรรม ห้ามดื่มสุรา ดื่มเบียร์ เป็นความเชื่อของคนกะเหรี่ยงในสมัยก่อนว่าถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามผู้นั้นจะมีอันเป็นไป
ประเพณีล่องแพแห่พระ
จากการสอบถามผู้เถ้าผู้แก่ในหมู่บ้านท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการล่องแพของชาวกะเหรี่ยง เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนชาวกะเหรี่ยงได้มีการตัดไม้ไผ่แล้วผูกเป็นแพ เพื่อใช้เป็นยานพาหนะแทนเรือล่องตามแม่น้ำ เพื่อให้สะดวกแก่การเดินทางรวมถึงการขนส่ง เช่น ใบตะคร้อ เมื่อล่องมาถึงหมู่บ้านชาวบ้านก็จะนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์เป็นฝาบ้านหรือนำมาใช้ประโยชน์ตามความต้องการ
การล่องแพเป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน จึงไม่ได้จัดเป็นประเพณีของหมู่บ้านตั้งแต่แรกเริ่มเพราะชาวบ้าน ไม่มีความรู้ทางศาสนาและไม่รู้วันสำคัญต่าง ๆ ตามวิถีปฏิบัติของชาวพุทธไม่มีวัดหรือสำนักสงฆ์รวมถึงผู้ให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนา
เมื่อปี พ.ศ. 2549 ได้มีพระปฐมพร ปฐมวโร ธุดงค์จาริกผ่านมาในหมู่บ้านป่าหมาก ผู้นำจึงได้นิมนต์ให้ท่านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางพระพุทธศาสนาให้แก่ชาวบ้านและได้ก่อตั้งที่พักสงฆ์วัดป่าช้างขาวขึ้นมา ต่อมาท่านจึงมีแนวคิดที่จะนำวันสำคัญของพระพุทธศาสนามาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนบ้านป่าหมาก โดยกำหนดให้มีประเพณีล่องแพ แห่พระ ในเทศกาลวันออกพรรษา เพื่อให้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีของชุมชน รวมถึงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาต้นน้ำลำธารให้มีความสะอาด โดยมีการปลูกต้นไม้ ปล่อยปลาในชุมชน เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติสืบต่อไป
การประกอบพิธีและกิจกรรม
- ช่วงเช้า ก่อนจะล่องแพต้องนิมนต์อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นแพล่องแพตามสายน้ำไป-กลับ 3 รอบ และแห่รอบหมู่บ้าน 3 รอบจากนั้นทุกคนเข้าเต๊นท์ทำพิธีทางศาสนาตักบาตร-ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์
- ช่วงบ่าย กิจกรรมเล่นกีฬาพื้นบ้าน มวยทะเล ปีนเสาน้ำมัน ทอแพ
วันคริสต์มาส
จัดขึ้นในวันที่ 25 ของทุก ๆ ปีช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองของคนที่นับถือศาสนาคริสต์โดยจะมีการทำพิธีช่วงกลางคืน เป็นการนมัสการ การละเล่น การแสดง การร้องเพลง และเป็นการรวมผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ทุกแห่งที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงกันได้มาพบเจอและทำความรู้จักกัน
1.นายแดง ใจเย็น อายุ 104 ปี
บทบาทสำคัญและหน้าที่สำคัญในชุมชน
- หัวหน้าเผ่าและเป็นบุคคลสำคัญของชาวบ้านชุมชนบ้านป่าหมากในสมัยก่อนลุงแดงเชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้านรวมทั้งการปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บหรือยาสมุนไพรเสริมกำลัง ยารักษาไข้หวัด ฯ แม้กระทั่งพิธีกรรมบางอย่างก็ต้องอาศัยลุงแดงในการทำพิธี เป็นต้น ด้วยเพราะในสมัยนั้นไม่รู้จักโรงพยาบาลก็เลยรักษากันแบบธรรมชาติ
2.นายทบ ใจเย็น และ 3.นายเปลี่ยน ใจเย็น
บทบาทสำคัญและหน้าที่สำคัญในชุมชน
- เชี่ยวชาญด้านงานฝีมือ เช่น การตีมีดและทำด้านมีดและจักสานอื่น ๆ ลุงทบและลุงเปลี่ยนเล่าว่าที่แกทำงานฝีมือได้ก็เพราะเรียนรู้จากรุ่นพ่อแม่ที่สอนมากว่าจะตีได้ในสมัยนั้นค่อนข้างยากเพราะเครื่องมืออุปกรณ์หายากไม่เหมือนในสมัยนี้มีเครื่องมือครบทุกอย่าง ทำจนสร้างรายได้ให้แก่คนในครอบครัวจนถึงปัจจุบันอาจจะมีสั่งทำน้อยลงอาจด้วยกำลังกายและสายตาทำให้ลุงทั้ง 2 คนรับงานตีมีดได้น้อยลงและอยากให้คนรุ่นหลังอนุรักษ์สืบสานงานฝีมือนี้ไว้ต่อไป
ทุนเศรษฐกิจ
การท่องเที่ยวชุมชนบ้านป่าหมาก
เริ่มก่อตั้งท่องเที่ยวชุมชนบ้านป่าหมาก ปี พ.ศ. 2563 โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการท่องเที่ยวชุมชนแบบเชิงอนุรักษ์ เรียนรู้วิถีชีวิตแบบชาวกะเหรี่ยง โดยมีนายธนภัทร ภัทรโสภณสกุล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดูแลการท่องเที่ยว ในการเปิดการท่องเที่ยวนั้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่ยังมีอยู่ของกะเหรี่ยงบ้านป่าหมากและได้มาเห็นถึงวิถีการทำไร่ กาแฟ แบบเกษตรอินทรีย์ ที่มีความโดดเด่นในปัจจุบันรวมทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ได้นำผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชนมาขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในชุมชน
ทุนวัฒนธรรม
การแต่งกาย การแต่งกายของกะเหรี่ยงบ้านป่าหมากจะมี 2 แบบ
แบบสมัยก่อน
- ผู้ชาย จะใส่เสื้อสีขาวแขนสั้นหรือยาวก็ได้และผ้าขาวม้าสีแดงคาดไปด้านหลังโผกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือสีดำแดงม้วนเป็นจุกและใส่สร้อยลูกปัดที่ทำขึ้นอีกที่มีสีหลากหลาย
- ผู้หญิง จะใส่ชุดกระโปร่งยาวสีดำหรือสีน้ำเงินโผกหัวด้วยผ้าสีแดงหรือสีขาวใส่ต่างหูแบบปล้องไม้ไผ่ที่ทำขึ้นจากเงินแท้ในสมัยนั้นและใส่สร้อยคอที่มีความหลากสีที่ออกแบบกันเองในการถักสร้อยคอ
แบบสมัยใหม่
- เป็นการทอแบบประยุกต์ให้เสื้อผ้ามีความหลากหลาย สีสันที่สดใสเพื่อผสมผสานกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันให้มีความหลากหลายเพื่อให้ดูสีสวยงามและง่ายในการขายสินค้า
อาหารพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง
- น้ำพริกปลา (ตะไรวี) วัตถุดิบ เช่น ปลาแม่น้ำ พริก กะปิปลา มะอึก ผงชูรส เกลือ (แบบดั่งเดิม) แต่ในปัจจุบันด้วยสภาพความเป็นอยู่ทำให้เมนูอาหารต่าง ๆ ของชาวกะเหรี่ยงมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบเนื่องจากสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ทำให้การหาของกินแบบวิถีชีวิตเดิมยากขึ้น
การเคลื่อนย้ายของประชากร
ในอดีตหมู่บ้านป่าหมากอยู่อาศัยกันแบบครอบครัว และมีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้กับสมาชิกในครัวเรือนและครอบครัวอื่น ๆ ได้เห็นและร่วมพิธีกรรมทางศาสนารวมทั้งให้คนในครอบครัวเรียนรู้และสืบทอดพิธีกรรมดังกล่าวรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันสังคมมีความทันสมัยมากขึ้นทำให้คนในครอบครัวหรือญาติมิตรแยกย้ายถิ่นฐานออกมายังพื้นที่ภายนอกมากขึ้นและลูกหลานที่ออกไปศึกษานอกชุมชน ส่งผลต่อวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงการประกอบพิธีกรรมนั้นเริ่มสูญหาย แต่ปัจจุบันก็คงมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมนี้ไว้
การเปลี่ยนแปลงของสังคมนำไปสู่ความทันสมัย ซึ่งส่งต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมคนในชุมชน
ทำให้คนในชุมชนต้องมีการเปลี่ยนแปลงการสร้างที่อยู่อาศัยให้มีความทันสมัย (บ้านปูน) เพื่อความมั่นคงของการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นและไม่ต้องสร้างบ้านบ่อย ๆ ส่งผลให้วิถีชีวิตแบบดั่งเดิมมีความเปลี่ยนแปลงตาม รวมทั้งอิทธิพลของสื่อโซเชียลที่มีความทันสมัยขึ้นทำให้การเชื่อมระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเชื่อฟังและไม่อนุรักษ์วัฒนธรรมตนเองไว้ โดยเฉพาะการศึกษาที่สอนแต่หลักการทางวิชาการ ซึ่งไม่มีการนำภาษาวัฒนธรรมของท้องถิ่นเข้าไปประยุกต์ทำให้เกิดความคิด ความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
ความท้าทายของชุมชนบ้านป่าหมาก
บ้านป่าหมากปัจจุบันเกิดความท้าทายด้านทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินที่อยู่อาศัย ซึ่งบ้านป่าหมากนั้นเป็นพื้นที่ ๆ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทำให้ชุมชนถูกจำกัดด้านการใช้ทรัพยากรจากหน่วยงานดังกล่าว แต่ทางชุมชนก็พยายามที่จะปรึกษาหารือกับส่วนราชการต่าง ๆ ต่อความคืบหน้าที่จะช่วยแก้ปัญหานั้นน้อยมาก อาจจะด้วยข้อกฎหมายต่าง ๆ ของอุทยาน และทำให้ชาวบ้านหลาย ๆ ครอบครัวต้องมีการปรับตัวในการดำเนินวิถีและวัฒนธรรม
กุยบุรี
ชุมชนบ้านป่าหมากมีจุดที่น่าสนใจ ในการเข้าท่องเที่ยวในชุมชน เช่น สำนักสงฆ์วัดป่าช้างขาว (ไหว้พระขอพร) ลานกางเต้นท์บ้านป่าหมาก (เล่นน้ำริมคลอง) ร้านกาแฟโรบัสต้าป่าช้างขาวบ้านป่าหมาก(ชิมกาแฟที่ปลูกดด้วยตนเอง) สะพานแขวนสีเหลือง(จุดเช็คอิน) ชมไร่การแฟและไร่สวนทุเรียน ร้านอาหารบ้านขวัญใจ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2566). ปกาเกอะญอ. สืบค้น 3 มิถุนายน 2566. https://th.wikipedia.org/wiki/
ท่องเที่ยวชุมชนบ้านป่าหมาก ลานกางเต็นท์. (2566). การท่องเที่ยวชุมชนบ้านป่าหมาก. สืบค้น 3 มิถุนายน 2566. https://www.facebook.com/people/