บากันเคย หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งแปรรูปกะปิที่อร่อยที่สุดในเมืองสตูล ชุมชนชาวเลที่ยังคงวิถีการทำประมงพื้นบ้านด้วยภูมิปัญญา “การย่ำกั้ง” กรรมวิธีการหากั้งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน แหล่งกำเนิดธนาคารกั้งแห่งแรกในประเทศไทย จุดเริ่มต้นนำพาบ้านบากันเคยสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวอย่างลงตัว
“บากัน” เป็นคำในภาษามลายู แปลว่า ที่พักพิง ที่หลบฝน หลบพายุ ของชาวประมงกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร 3 คน ส่วน “เคย” เป็นภาษาไทยถิ่นใต้แปลว่า “กะปิ” สอดคล้องกับอาชีพของชาวบ้านในสมัยที่มีอาชีพรุน (จับ) กุ้งเคย (กุ้งตัวเล็ก) เพื่อนำมาทำกะปิ เนื่องจากพื้นที่แถบชุมชนบากันเคยสมัยนั้นมีกุ้งเคยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น “บากันเคย” จึงหมายถึงที่พักเพื่อทำกะปิ
บากันเคย หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งแปรรูปกะปิที่อร่อยที่สุดในเมืองสตูล ชุมชนชาวเลที่ยังคงวิถีการทำประมงพื้นบ้านด้วยภูมิปัญญา “การย่ำกั้ง” กรรมวิธีการหากั้งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน แหล่งกำเนิดธนาคารกั้งแห่งแรกในประเทศไทย จุดเริ่มต้นนำพาบ้านบากันเคยสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวอย่างลงตัว
“บากันเคย” เป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กติดชายฝั่งทะเลอันดามันทางใต้สุดของประเทศไทย มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลอันดามัน ทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดสตูล ชายแดนฝั่งทะเลติดกับเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านบากันเคยจะเป็นป่าชายเลน สภาพยังคงความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในอดีตไม่มีเส้นทางสัญจรทางบกจึงจำเป็นต้องใช้การสัญจรไป-มาทางน้ำเป็นหลัก โดยอาศัยเรือแจวและเรือใบเป็นพาหนะ เนื่องจากรอบชุมชนมีลำคลองเล็ก ๆ หลายสายที่ไหลมาบรรจบลงทะเลบริเวณชุมชนบากันเคย และด้วยภูมิประเทศของชายฝั่งที่เป็นอ่าว แม้จะเป็นอ่าวขนาดเล็ก (ชาวบ้านเรียก “อ่าวตันหยงโป”) ทว่า กลับทำให้ชุมชนบากันเคยแห่งนี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของอันดามัน
เดิมทีหมู่บ้าน “บากันเคย” รู้จักกันในนาม “บากันบือลาจัน” โดย “บากัน” เป็นคำในภาษามลายู แปลว่า ที่พัก ในอดีตชาวบ้านจะเรียกพื้นที่แห่งนี้เพียงสั้น ๆ ว่า “บากัน” ในที่นี้อาจหมายถึงที่พักพิงสำหรับชาวบ้าน เป็นที่หลบฝน หลบพายุ ของชาวประมงกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร 3 คน ได้แก่ โต๊ะหมานจะเกาะฮุ จากไทรบุรี (รัฐเคดาร์ ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) ต้นตระกูล “มะสมัน” โต๊ะอาเจะฮุ จากอาเจะฮุ (ปัจจุบันคือจังหวัดหนึ่งในประเทศมาเลเซีย) ต้นตระกูล “ยุเหล่” และโต๊ะสาเระฮุ (บ้างเรียกโต๊ะเซฮัด) ในเวลาต่อมาก็ได้มีกลุ่มคนจากเกาะลิบง จังหวัดตรัง เดินทางอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ส่วน ”เคย” เป็นภาษาไทยถิ่นใต้แปลว่า “กะปิ” ดังนั้น “บากันเคย” จึงหมายถึงที่พักเพื่อทำกะปิ สอดคล้องกับอาชีพของชาวบ้านในสมัยนั้นเพราะชาวบ้านมีอาชีพรุน (จับ) กุ้งเคย (กุ้งตัวเล็ก) เพื่อนำมาทำกะปิ เนื่องจากพื้นที่แถบชุมชนบากันเคยสมัยนั้นมีกุ้งเคยเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บากันเคย” มาจนปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศและอาณาเขต
บ้านบากันเคยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ดินเป็นดินเหนียวปนดินกรวด เนื้อที่ทั้งหมดของหมู่บ้านมีประมาณ 900 ไร่ รวมป่าชายเลนและบริเณล้อมรอบป่าชายเลน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเจ๊ะบิลัง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลควนขัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลตันหยงโป
บ้านบากันเคยมีท่าเทียบเรือ 2 แห่ง บริเวณโดยรอบหมู่บ้านเป็นที่จอดเรือตลอดแนว สภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้นทั้งกลางวันและกลางคืนตามแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมกราคม-เมษายนจะแห้งแล้ง และร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม
สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านบากันเคย เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะป่าชายเลน มีป่าไม้อนุรักษ์ ทรัพยากรทางทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา สำหรับป่าชายเลนหรือฮูตันบาเถาในภาษามลายู นับว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศชายฝั่งและการทำประมงของชาวบ้านเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด อาทิ ค่างหน้าขาว ลิงแสม นาก หอยตาแดง ปูดำ นกสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงพันธุ์ไม้หลายชนิด อาทิ โกงกางใบใหญ่ ถั่วขาว ถั่วดำ ตะบูนขาว แสมทะเล ลำแพนทะเล ตาตุ่มทะเล เป้ง ปรงทะเล เหงือกปลาหมอ ฯลฯ
สถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงโปแบบแยกรายหมู่บ้านจากสำนักทะเบียนราษฎร์ รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านบากันเคย ทั้งสิ้น 662 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 314 คน ประชากรหญิง 348 คน และจำนวนครัวเรือน 169 ครัวเรือน
การประกอบอาชีพ
การทำประมงพื้นบ้าน คือ อาชีพที่อยู่คู่วิถีชีวิตและเป็นอาชีพหลักหล่อเลี้ยงครัวเรือนชาวบากันเคยมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ โดยสัตว์น้ำที่จับได้นอกจากจะนำไปขายสดในตลาดปลา หรือขายให้แก่พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อถึงในหมู่บ้านแล้ว ส่วนหนึ่งจะนำไปทำเป็นอาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลาแห้ง หมึกแห้ง ซึ่งสามารถขายได้ราคาดีกว่าและเก็บได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะ “กะปิ” ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอาหารทะเลที่มีชื่อเสียงที่สุดของบ้านบากันเคย เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านมีเคยหรอย (กะปิอร่อย) ที่สุดของจังหวัดสตูล ด้วยชื่อเสียงความอร่อยของตัวเคย (ตัวกุ้งขนาดเล็ก) ทำให้บ้านบากันเคย ทำกะปิขายเป็นรายได้หลักนอกเหนือจากการทำประมงพื้นบ้าน
เนื่องด้วยบ้านบากันเคยมีทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน อีกทั้งยังมีทรัพยากรป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ และทัศนียภาพที่งดงาม มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ เกาะมดแดง เกาะหินเหล็ก ผานางคอย ทะเลแหวกหรือสันหลังมังกร เกาะหัวมัน จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกลานกั้งยักษ์ ฯลฯ ปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลให้บ้านบากันเคยเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวอันเป็นผลตอบแทนจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรภายและโดยรอบชุมชนให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และธนาคารกั้งแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นที่หมู่บ้านบากันเคย โดยนายอิดริส อุเส็น ผู้นำชุมชนในขณะนั้น เป็นผลต่อเนื่องให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มรีสอร์ทชุมชน ตลอดจนกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาดูงานธนาคารกั้งและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตชาวประมง ณ บ้านบากันเคย มีการจัดกิจกรรมมากมายเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว อาทิ การย่ำกุ้ง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่เยาวชนในชุมชนมากถึงวันละกว่าหนึ่งพันบาท อีกทั้งชาวบ้านยังสามารถนำผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปอาหารทะเล อาหารทะเลสด และผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญา อาทิ หมวกใบจาก มาวางขายให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยว หรือจะเป็นธุรกิจร้านอาหารที่เกิดขึ้นอย่างมากมายภายหลังการพัฒนาบ้านบากันเคยเป็นชุมชนท่องเที่ยว จนอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบัน ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและรายได้ของชาวบ้านบากันเคย
กลุ่มองค์กรชุมชน
- กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้อย่างยั่งยืน ให้ชาวบ้านใช้เครื่องมือประกอบอาชีพที่ไม่ทำลายล้าง ไม่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศทางทะเลและป่าชายเลน สร้างภาคีภาครัฐและประชาชนให้รัฐช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยกลุ่มอนุรักษ์บ้านบากันเคยมีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านประมงอาสาขึ้นมาใน พ.ศ. 2549 จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธนาคารกั้ง และธนาคารปูไข่ใน พ.ศ. 2550 จัดตั้งกลุ่มรีสอร์ทชุมชนใน พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนซ่อมแซมเรือประมงพื้นบ้าน กลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านบากันเคย กลุ่มผู้สูงอายุผลิตหมวก (ตุดง) และกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบากันเคย พร้อมกับมีการกำหนดกฎกติกาของพื้นที่ เช่น ห้ามทำประมงในพื้นที่ที่ห่างจากฝั่ง 300 เมตร เพื่อเป็นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จัดให้มีการวางปะการังแบบพื้นบ้าน เพื่อเป็นสถานที่ให้สัตว์น้ำเข้ามาวางไข่และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน มีการแบ่งโซนการใช้เครื่องมือประมงในแต่ละประเภท มีการปลูกป่าชายเลนเพิ่ม โดยผู้ที่ตัดไม้ชายเลนมาใช้สอย 1 ต้น ต้องปลูกเพิ่ม 10 ต้น โดยจะปลูกเพิ่มเติม ปีละ 2 ครั้ง มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ปีละ 2 ครั้ง พร้อมออกตรวจตราป้องปรามผู้ประกอบอาชีพ ประมงที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมทั้งผลักดันให้กลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านบากันเคยเข้ามามีบทบาท เพื่่อที่จะเป็นการสืบทอดองค์ความรู้ตลอดจนสามารถเป็นไกด์นำเที่ยวแก่ผู้ที่แวะมาเยี่ยมเยียนในพื้นที่อีกด้วย
- กลุ่มแม่บ้านประมงอาสา ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการจัดทำผลิตภัณฑ์กะปิ อาหารทะเลปรุงรส เสริมรายได้ให้แก่ครอบครัว และจัดสรรรายได้แบ่งให้สมาชิก 70% ค่าน้ำ-ค่าไฟ 20% สนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์ 5% และเป็นทุนสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสและเด็กกำพร้า 5%
- กลุ่มธนาคารกั้ง หรือศูนย์เรียนรู้ธนาคารกั้ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำกั้งขนาดเล็กที่มีอยู่ในพื้นที่ชุมชนและบริเวณโดยรอบมาเลี้ยงให้โตจึงค่อยนำมาขายสร้างรายได้ และยังทำให้ปริมาณกั้งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกั้งบ้านบากันเคยยังเป็นต้นแบบและธนาคารกั้งแห่งแรกของโลกด้วย
- กลุ่มรีสอร์ทชุมชน บ้านบากันเคย ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดในการสร้างรีสอร์ทชุมชนขึ้นมาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้เข้ามาศึกษาดูงานเรื่องธนาคารกั้ง โดยก่อสร้างในลักษณะบ้านพักริมทะเลเรียบง่าย เพื่อให้ผู้เข้าพักได้ร่วมสัมผัสบรรยากาศและวิถีชีวิตของชาวประมงชุมชนบ้านบากันเคยอย่างแท้จริง
บ้านบากันเคยนับว่าเป็นหมุ่บ้านมุสลิมขนานแท้ เนื่องจากประชาชนในหมู่บ้านทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลามรวมถึงประเพณีนิยมอย่างเคร่งครัด มีกิจกรรมและวันสําคัญทางศาสนา เช่น
- วันเมาลิดดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ในวันนี้ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามจะมีการรําลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรักและระลึกถึงท่านอย่างแท้จริง
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายาออกบวช” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซากาตฟิตเราะฮ์”
- วันอาซูรอ ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ํา เดือนมูฮัรรอม จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงประวัติของนบีนุฮ์ มื่อครั้งเกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่
- วันตรุษอิดิลอัฎฮา หรือวันรายาฮัจยี เป็นวันที่มุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอารเบีย จะมีการทํากุรบานหรือเชือดสัตว์เป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์
- การถือศีลอด เป็นหลักที่ชาวมุสลิมทุกคนจําเป็นต้องปฏิบัติในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะ เวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงดการกิน การดื่ม การร่วมประเวณี ตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสํารวมทั้งกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีเกียรติยิ่งของศาสนาอิสลาม
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลเลาะห์ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสํารวม พระองค์กําหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทําฮัจย์อัลเลาะห์ ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกําลังกายและกําลังทรัพย์ ต้องไปทําฮัจย์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกันเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลเลาะห์ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทํากิจกรรม ร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลเลาะห์อย่างเท่าเทียมกัน
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สําคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทําถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือ การขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อให้สะดวกในการรักษาความสะอาด
- การแต่งกายแบบมุสลิม เป็นข้อบังคับของศาสนาอิสลามตามบทบัญญัติ มุสลิมผู้ศรัทธาจะต้องปกปิดที่พึงสงวน โดยกําหนดให้ผู้ชายปกปิดระหว่างสะดือกับหัวเข่า และผู้หญิงต้องปกปิดทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้นใบหน้า และฝ่ามือ
1.นายอิดริส อุเส็น อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านบากันเคย และอดีตกำนันตำบลตันหยงโป ผู้ริเริ่มแนวคิดการก่อตั้งธนาคารกั้งแห่งแรกของประเทศไทยไว้ ณ บ้านบากันเคย นำไปสู่แนวคิดจัดทำที่พักรองรับผู้มาศึกษาดูงานธนาคารกั้ง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบากันเคย
ภูมิปัญญาการทำกะปิตำรับชาวบากันเคย
1. ขั้นตอนแรกไปรุนกุ้งตามชายฝั่งและในลําคลองช่วงน้ำตาย ประมาณ 5-8 ค่ำ
2. เมื่อได้กุ้งมาแล้ว นำมาตากแดดพอหมาด ๆ
3. นํากุ้งเคยมาคลุกกับเกลือ จากยกมาตําในครกหรือใส่ในเครื่องจักรก็ได้
5. นํามาหมักในภาชนะ ปิดปากถังอย่าให้แมลงวันเข้า เก็บไว้ประมาณ 2-3 วัน
6. นํากุ้งเคยที่หมักไว้ออกมาตากแดดใหม่อีกครั้งให้แห้งพอประมาณ นํามาตําอีกครั้งหรือใส่ใน เครื่องจักรก็ได้ ผสมน้ำตาลทรายนิดหน่อย ใส่สีผสมอาหารหรือจะไม่ใส่ก็ได้
7. นํากะปิที่เสร็จแล้วเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดฝาให้สนิท นํามารับประทาน ปรุงอาหารได้
เคล็ดไม่ลับ การทำกะปิตำรับชาวบ้านบากันเคย คือ ถ้ารุนกุ้งในช่วงตอนเย็นให้นํากุ้งมาผสมคลุกเคล้ากับเกลือ หมักในกระสอบ 1 คืน นําหินหรือท่อนไม้หนักประมาณ 5 -10 กิโลกรัม วางไว้ด้านบนกระสอบเพื่อให้น้ำกุ้งสะเด็ด ป้องกันไม่ให้กุ้งเน่าเสีย ไม่เป็นหนอน รุ่งเช้าก็ให้นํากุ้งที่หมักไว้ในกระสอบนําออกมาตากแดดให้แห้งหมาด ๆ ข้อดีของการเตรียมกุ้งด้วยวิธีนี้ คือ ตอนนําไปตากจะตากง่าย ร่อนไม่ติดมือ แต่ข้อเสีย คือ ไขมันในตัวกุ้งจะออกไปพร้อมกับน้ำ นอกจากนี้ กลิ่นของกะปิที่หมักในตอนกลางคืนจะมีกลิ่นมากกว่ากุ้งที่นํามาตากสด ๆ ซึ่งสีจะออกคล้ำ แต่กุ้งสดจะออกสีชมพูสดใส รสชาติกุ้งหมักกลางคืนจะออกรสเค็มเข้มข้น กุ้งกลางวันจะมันรสชาติดีกว่า
ภูมิปัญญาการย่ำกั้ง
การย่ำกั้ง เป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชนถ่ายทอดให้แก่เด็ก ๆ เยาวชนเพื่อเป็นอาชีพเสริม สามารถนำภูมิปัญญาดังกล่าวนี้ไปต้อนรับนักเที่ยวที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงในชุมชน การย่ำกั้งจะต้องเดินลงไปในทะเลบริเวณที่มีลักษณะเป็นดินโคลน สังเกตว่ารูกั้งจะมีลักษณะเป็นรูสองรูอยู่ใกล้กัน ให้เอาเท้าเหยียบลงไปในรูครู่หนึ่ง กั้งจะไปโผล่อีกหนึ่งรูที่เหลือ โดยขนาดของกั้งที่โผล่ขึ้นมานั้นจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดของรูด้วย
ธนาคารกั้ง
ธนาคารกั้ง บ้านบากันเคย จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2549 โดยการนำของอิดริส อุเส็น ถือเป็นธนาคารกั้งแห่งแรกในประเทศไทย หลักการของธนาคารกั้ง คือ เมื่อชาวประมงจับกั้งได้ก็จะนำมาฝากที่ธนาคารแห่งนี้ ส่วนกั้งตัวเล็ก ๆ ก็จะปล่อยคืนทะเล โดยจะมีการจดบันทึกชื่อผู้ฝากและจำนวนกั้งที่ฝาก รวมทั้งปล่อยพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กั้งลงในบ่อเพื่อให้ขยายพันธุ์ ใช้ปลาเล็กปลาน้อยเป็นอาหาร แบ่งพื้นที่เพาะเลี้ยงตามขนาดของกั้ง เมื่อกั้งโตได้ขนาดผู้ฝากจึงจะนำกั้งที่ตนเองฝากไว้ไปขาย โดยราคาตามขนาดที่จับขายนี้อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 600-800 บาท
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสู่การบูรณาการการท่องเที่ยวบ้านบากันเคย
บ้านบากันเคย หมูบ้านชาวประมงเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามันตอนใต้ หรือที่เรียกกันว่า “อ่าวตันหยงโป” หนึ่งแหล่งความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอันดามันที่มีทั้งป่าชายเลน แนวหญ้าทะเล ปนวปะการัง ดอนหอย และเกาะเดล็กเกาะน้อยมากถึง 7 เกาะ ในพื้นที่ชุมชนบ้านบากันเคยมีการรวมกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจนกลายเป็นชุมชนนวัตกรรมการจัดการทรัพยากรประมงและชายฝั่ง โดยกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งบ้านบากันเคยมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมทำและเข้าชม ได้แก่
- เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และปะการังเทียมอ่าวตันหยงโป
- แหล่งอนุรักษ์กั้งตั๊กแตน และธนาคารกั้งเพื่อการเรียนรู้
- โครงการธนาคารปู่ไข่
- รีสอร์ทเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
รีสอร์ทชุมชน บ้านบากันเคย อีกหนึ่งโครงการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อระดมความคิดในการจัดการทรัพยากรหน้าบ้าน คือ ทะเล ซึ่งเปรียบเสมือนหม้อข้าวหม้อแกงชุบเลี้ยงชีวิตชาวชุมชนบ้านบากันเคยในรูปแบบธนาคารสัตว์น้ำ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับองค์กร ภาคีต่าง ๆ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรชุมชนร่วมจัดสรรทรัพยากรแบบบูรณาการบ้านบากันเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมทะเลวิถีดั้งเดิม และดำเนินการโครงการธนากั้งแห่งแรกและแห่งเดียวของโลกด้วย
นอกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดังกล่าวแล้ว บ้านบากันเคยยังเป็นจุดศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเรือเพื่อไปชมความงดงามของสันหลังมังกรอ่าวตันหยงโปได้อีกด้วย
กฎ กติกา ในชุมชน
- ห้ามเล่นการพนันทุกชนิดในรีสอร์ท
- ห้ามนําของมึนเมาทุกชนิดเข้ามาในบริเวณรีสอร์ท
- ห้ามคู่หญิงชายที่ไม่ใช่สามีภรรยาเปิดห้องพักร่วมกัน
- แต่งกายสุภาพมิดชิดตามความเหมาะสม เพื่อเคารพในวิถีชุมชน
กะปิกุ้ง บากันเคย. (2564). การทำอาหารใต้ให้ได้รสชาติแบบใต้แท้ๆ ต้องกะปิกุ้งแท้100% ไม่ผสมแป้ง ต้องกะปิกุ้งบ้านบากันเคย ตันหยงโป. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่, ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว. (2560). สตูล Amazing Thailand. กองวางแผนและผลิตสื่อ ฝ่ายบริการการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่.
วราภรณ์ เรืองรัตน์. (2547). การแปรผันตามฤดูกาลของแพลงก์ตอนสัตว์บริเวณป่าชายเลนบ้านบากันเคยและหาดทรายบ้านหาดทรายยาวที่ชายฝั่ง จังหวัดสตูล. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2564). การท่องเที่ยวโดยชุมชน ‘ดอกผลจากการอนุรักษ์’ รูปธรรมที่ตันหยงโป จ.สตูล. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566, จาก https://web.codi.or.th/
อิดริส อุเส็น และคณะ. (2558). แนวทางการจัดการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านบากันเคย ตำบลตันหยงโป อำเภอเมือง จังหวัดสตูล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
ThaiHealth Official. (2560). กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์บ้านบากันเคย. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566, จาก https://www.thaihealth.or.th/
Thailandtourismdirectory. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบากันเคย (รีสอร์ทชุมชนบ้านบากันเคย). สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/