ชุมชนชาติพันธุ์มอแกน ดำรงวิถีชีวิต การประกอบอาชีพการประมง
ชุมชนมอแกนเกาะเหลาเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณปี พ.ศ. 2514 เดิมมอแกนอาศัยอยู่บริเวณช้างและเกาะสินไท ประกอบอาชีพประมงและนำกุ้ง หอย ปู ปลามาขายบริเวณสะพานปลาระนองซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ระยะทางจากเกาะช้างถึงสะพานปลาระนองใช้ระยะเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 1 วัน เนื่องจากมอแกนใช้เรือแบบพายแบบไม่ติดเครื่องยนต์ และจำเป็นต้องพักบริเวณเกาะเหลา 1 คืน ต่อมา ส.ต.ท. ทวี รอดไพฑูรย์ เป็นผู้บุกเบิกเกาะเหลาและเป็นเจ้าของที่ดินบนเกาะเหลาหน้านอก เห็นว่ามอแกนต้องเดินทางไกลมีความยากลำบากจึงชวนมาอาศัยที่เกาะเหลาบริเวณเกาะเหลาหน้านอกเพื่อไม่ต้องเดินทางไกลในการนำสินค้ามาขาย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จึงเกิดชุมชนขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนชาติพันธุ์มอแกน ดำรงวิถีชีวิต การประกอบอาชีพการประมง
ชุมชนมอแกนเกาะเหลาเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณปี พ.ศ. 2514 เดิมมอแกนที่นี่อาศัยอยู่บริเวณเกาะช้างและเกาะสินไห มีอาชีพประมงและนำกุ้ง หอย ปู ปลา ที่หาได้มาขายบริเวณสะพานปลาระนองซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้าทะเลขนาดใหญ่ และเป็นจุดเดียวที่พวกเขามักนำสินค้ามาขาย ระยะทางจากเกาะช้างถึงสะพานปลาระนองในอดีตต้องใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 1 วัน เนื่องจาก มอแกนใช้เรือพายแบบไม่ติดเครื่องยนต์ และส่วนใหญ่จะแวะพักบริเวณเกาะเหลา 1 คืน เพราะอยู่ใกล้ตัวเมืองระนอง ต่อมา ส.ต.ท.ทวี รอดไพฑูรย์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเกาะเหลาและเป็นเจ้าของที่ดินบนเกาะเหลาหน้านอก เห็นว่ามอแกนต้องเดินทางไกลมีความยากลำบากจึงชวนมาอาศัยที่เกาะเหลาบริเวณเกาะเหลาหน้านอกเพื่อไม่ต้องเดินทางไกลในการนำสินค้ามาขาย นับตั้งแต่ปี พ.ศ 2514 จึงเกิดชุมชนขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนมอแกนเกาะเหลาประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก ได้แก่ การวางอวนปู อวนกุ้ง ทำกะปิ ทำปลาเค็ม และการหาหมึก เป็นต้น นอกจากนั้น มอแกนบางส่วนรับจ้างออกเรือกับนายทุน ทำปูจั๊กจั่นอีกด้วย และปี พ.ศ. 2547 เกิดสึนามิส่งผลให้เรือและอุปกรณ์ทำประมงได้รับความเสียหาย ประกอบกับทรัพยากรในทะเลทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ลดน้อยลง ปริมาณที่จับได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ในปี 2553 มอแกน 30 ครัวเรือน จำนวนประชากร 108 คน จึงอพยพไปอยู่เกาะช้าง และเกาะพยาม บางครอบครัวเลือกอาศัยอยู่ในเรือโดยเคลื่อนย้ายไปตามเกาะและริมฝั่งใกล้กับแหล่งทรัพยากรทางทะเล เหลือมอแกนบางส่วนที่ยังคงอาศัยอยู่เกาะเหลา 42 ครัวเรือน จำนวนประชากร 271 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย เด็ก และผู้ที่ไม่มีเรือ
กล่าวได้ว่า ยุครุ่งเรืองของชุมชนมอแกนเกาะเหลาอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2525-2547 เนื่องจากการออกเรือดำปลิงทะเลในฝั่งทะเลพม่า หรือแถวหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งเป็นช่วงที่กฎหมายที่บังคับใช้ไม่เข้มข้นมากนัก มอแกนสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ และส่วนหนึ่งออกเรือกับเรือประมงของนายทุน ต่อมาโดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี พ.ศ. 2547 คนภายนอกเริ่มให้ความสำคัญกับการทำประมง และมอแกนเริ่มได้รับความสนใจจากคนภายนอกมากขึ้น เนื่องจากสามารถเอาชีวิตรอดจากคลื่นยักษ์ได้ แต่กลับถูกลืมจนกลายเป็นคนชายขอบที่อยู่ในภาวะยากลำบาก และนำมาสู่การพิจารณาให้ความสำคัญกับมอแกนในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่มีสถานะทางทะเบียน จนมีมติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ชุมชนมอแกนเกาะเหลาได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 4 ไร่ 0 งาน 52 ตารางวา จนถึงวันที่ 26 กันยายน 2562 เฉพาะบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของมอแกน อย่างไรก็ตาม ชุมชนมอแกนเกาะเหลามีพื้นที่พิพาทกับนายทุนบริเวณสุสานซึ่งอยู่หลังที่ตั้งบ้านเรือน โดยปี พ.ศ. 2562 นายทุนอ้างสิทธิครอบครองที่ดิน (นส.3 ก)
เหตุการณ์สำคัญและการเปลี่ยนแปลงระหว่างชุมชนมอแกนและนายทุน
ในชุมชนมอแกนเกาะเหลา บริเวณสุสานมอแกนหลังชุมชนและเกิดความขัดแย้งระหว่างมอแกนกับนายทุนขึ้น ชนวนเหตุของความขัดแย้งเกิดจากการเสียชีวิตของลุงสีดิษ ประมงกิจ ผู้มีบทบาททำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองไทยของมอแกนมาอย่างยาวนาน และเป็นมอแกนรุ่นแรกที่อาศัยอยู่เกาะเหลา ลุงสีดิษเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลระนองด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 โดยลูกหลานจัดพิธีศพ ตามความประสงค์ของลุงสีดิษที่ต้องการให้มีพระมาสวดตามประเพณีแบบพุทธ มอแกนในชุมชนและคุณเนาวนิตย์ แจ่มพิศ ซึ่งอยู่ในชุมชนมอแกนเกาะเหลามาอย่างยาวนาน จึงร่วมกันจัดงานบำเพ็ญกุศลศพตามความต้องการ ณ ศาลาอเนกประสงค์ชุมชนมอแกนเกาะเหลาตั้งแต่ 17-22 มกราคม 2562 รวม 5 คืน
สำหรับพื้นที่พิพาทบนเกาะเหลา พบว่า ก่อนเหตุการณ์สึนามิเมื่อมอแกนเกาะเหลาเสียชีวิตจะฝังศพที่สุสานเกาะเหลาทั้งหมด หลังสึนามิมีผู้อ้างกรรมสิทธิ์และไม่อนุญาตให้ฝังศพในพื้นที่ แต่ญาติของลุงสีดิษต้องการฝังศพพ่อกับลูกในพื้นที่เดียวกัน จึงตัดสินใจฝังศพลุงสีดิษที่สุสานเกาะเหลา เมื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทราบข่าวจึงไปแจ้งความและลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อคัดค้านไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่สำหรับการฝังศพ และแจ้งมายังลูกหลานเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นการจัดงานคืนที่ 2 ว่าไม่อนุญาตให้ฝังศพในพื้นที่ดังกล่าว แต่เมื่อถึงวันที่ 23 มกราคม 2562 ญาติก็ตัดสินใจฝังศพลุงสีดิษบริเวณสุสานหลังชุมชนมอแกนเกาะเหลาซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับฝังศพลูกชายซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้า
การเสียชีวิตของลุงสีดิษ ผู้เป็นนักกิจกรรมต่อสู้เพื่อสิทธิของมอแกนมาอย่างยาวนาน ถือเป็นชนวนเหตุสำคัญในประเด็นสุสานมอแกนเกาะเหลาที่ถูกตั้งคำถามถึงที่มาและความถูกต้องของเอกสารสิทธิ์ รวมถึงความเป็นธรรมของมอแกนในฐานะกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยมาอย่างยาวนาน และได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรกของกรณีพิพาทเกี่ยวกับสุสานเกาะเหลา เพียงแต่ไม่รุนแรงเพราะเมื่อนายทุนทักท้วงหรือห้ามไม่ให้ฝังศพมอแกนก็ไม่ฝัง แต่คราวนี้แม้ถูกห้ามแต่มอแกนยังฝัง ปัจจุบันผู้อ้างกรรมสิทธิ์เข้าไปถางป่าในเขตสุสานมอแกนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ
เกาะเหลา ตั้งอยู่ละติจูดที่ 9.909426473 ลองจิจูด 98.57013524 หมู่ที่ 6 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือ มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ สภาพทั่วไปบริเวณชายฝั่งมีลักษณะเป็นหาดเลนและมีป่าโกงกาง สลับกับโขดหิน ถัดขึ้นไปบนเกาะเป็นพื้นที่ราบ มีการปลูกมะม่วงหิมพานต์ ยางพารา และมีพื้นที่ป่าเบญจพรรณ อาชีพหลักของคนที่นี่ส่วนใหญ่ทำประมง บางครอบครัวทำสวนยางพาราและสวนมะม่วงหิมพานต์ร่วมด้วย
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ประเทศเมียนมาและตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ป่าชายเลนตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชายฝั่งเขตสะพานปลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน เกาะสินไห และเกาะพยาม
การเดินทางไปเกาะเหลาไม่มีเรือโดยสาร มีเพียงเรือของชาวบ้านเท่านั้น การเดินทางจากตัวเมืองระนองใช้เวลาประมาณ 20 นาที ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของน้ำ หากช่วงน้ำลงต้องแล่นเรือไปตามร่องน้ำลึกที่แบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา กรณีนี้อาจใช้เวลามากกว่า 50 นาที การเดินทางบนเกาะเหลาต้องเดินเท้าเพียงอย่างเดียว เพราะการตั้งบ้านเรือนอยู่ติดทะเลจึงมีเพียงทางเดินขนาดเล็กเท่านั้น ไม่มีระบบไฟฟ้าและประปา เกาะเหลามีการตั้งบ้านเรือน 2 จุดหลักคือ บริเวณเกาะเหลาหน้าในเป็นที่ตั้งของชุมชนทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม มีสถานที่สำคัญประกอบด้วย โรงเรียนบ้านเกาะเหลาซึ่งเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวบนเกาะแห่งนี้ หน่วยทหาร เฉพาะกิจ อีกจุดคือบริเวณเกาะเหลาหน้านอกซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนมอแกน
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนตั้งอยู่บริเวณเกาะเหลาหน้านอก มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 0 งาน 52 ตารางวา สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นหาดเลน ติดกับป่าโกงกาง ปัจจุบันมีจำนวน 42 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้นประมาณ 271 คน (ปริวัฒน์ ช่างคิด, 2562) บ้านเรือนของมอแกนเกาะเหลาตั้งอยู่ริมทะเลสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ลักษณะเป็นบ้านยกพื้นสูง ปูพื้นและกั้นด้วยไม้ เสาทำด้วยซีเมนต์ หลังคามุ่งด้วยกระเบื้อง ขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 6 เมตร บ้านแต่ละหลังห่างกันประมาณ 2 เมตร ปัจจุบันผุพังไปตามกาลเวลา
สถานที่สำคัญในชุมชนมอแกนเกาะหลา ประกอบด้วย
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งจัดการเรียนรู้แก่เด็กก่อนวัยเรียน (3-5 ปี) สนับสนุนโดยมูลนิธิเมอร์ซี่ มีเด็กในความดูแลจำนวน 30 คน ผู้ดูแลเด็ก 3 คน
- ศาลาอเนกประสงค์ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร ไม่มีฝาผนัง ปูพื้นด้วยซีเมนต์และหลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งเป็นสถานที่ต้อนรับแขกเมื่อมีผู้คนจากภายนอกเดินทางมาเยี่ยมและทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
- สุสานชาวมอแกน เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่มอแกนใช้ ฝังศพ ส่วนใหญ่จะฝังเฉพาะศพเด็ก โดยศพผู้ใหญ่จะฝังบริเวณเกาะหม้อเล็กซึ่งอยู่ห่างออกไป ปัจจุบันพื้นที่นี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นพื้นที่ฝังศพ เนื่องจากเกิดข้อพิพาทระหว่างนายทุนกับชุมชนมอแกนและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
- ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ชุมชนมอแกนเกาะเหลาไม่มีระบบประปา แม้หลังเหตุการณ์สึนามิปี พ.ศ. 2547 ภาครัฐสร้างระบบประปาโดยก่อสร้างถังกรองน้ำจากบ่อน้ำตื้นและต่อท่อส่งน้ำมายังชุมชนเพื่อใช้ร่วมกัน แต่เนื่องจากน้ำมีลักษณะเป็นน้ำกร่อยจึงกัดกร่อนระบบเสียหายหลังติดตั้งเพียงไม่นานและไม่ได้รับการซ่อมแซม ชุมชนจึงเดินไปใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นซึ่งมีเพียงแห่งเดียวและใช้ร่วมกันทั้งชุมชน ทุกครัวเรือนมีภาชนะรับน้ำฝนสำหรับอุปโภคแต่ใช้ได้ช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากภาชนะมีขนาดเล็กส่วนน้ำดื่มจะซื้อจากร้านค้าในชุมชน เดิมในชุมชนมีการปั่นไฟฟ้าใช้ โดยเก็บค่าน้ำมันสำหรับปั่นไฟและดูแลบำรุงรักษาจากสมาชิกแต่ละครัวเรือนเดือนละ 50 บาท ปัจจุบันไม่มีการปันไฟเนื่องจากหันมาใช้ไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ และบางส่วนใช้เทียนหรือตะเกียง
การสำรวจชุมชนมอแกนเกาะเหลา พบว่า ศาลาอเนกประสงค์ในชุมชนเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของชุมชนมอแกนเกาะเหลา เนื่องจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานบุญ งานแต่ง งานศพ และกิจกรรมอื่น ๆ จะมาประกอบกิจกรรมกันที่ศาลาอเนกประสงค์ชุมชน โดยภายในศาลาอเนกประสงค์มีพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร ขนาดความสูง 1 เมตร อยู่ 1 องค์ มอแกนในชุมชนให้ความสำคัญและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
- ต้นมะขาม ขนาดประมาณ 3-4 คนโอบ อายุไม่น้อยกว่า 50 ปี ตั้งอยู่ทางเดินเข้าชุมชนฝั่งปลายแหลม โดยมอแกนที่เกาะเหลามีความเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน ในช่วงเวลาตั้งแต่ 09.00 - 17.00 น. จะมีเด็ก ๆ รวมไปถึงคนเฒ่าคนแก่มานั่งตากลมบริเวณใต้ต้นมะขาม เพราะเป็นจุดรับลมได้ดี แต่พอเวลา 18.00-06.00 น. จะแยกย้ายออกจากต้นมะขามโดยไม่รอให้ตะวันลับขอบฟ้า โดยเล่ากันว่า "หลังตะวันตกดินจะมีเทวดาอารักษ์ ทูตผีต่าง ๆ จะเข้ามานั่งเล่นใต้ต้นมะขาม มอแกนเกาะเหลาไม่นิยมให้ลูกหลานออกมานั่ง หรือ วิ่งเล่น บริเวณใต้ต้นมะขามหลัง 6 โมงเย็น"
- พื้นที่สุสาน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมอแกนให้ความเคารพนับถืออย่างสูงสุด เนื่องจากเป็นสถานที่ฝังศพของบรรพชนของชาวมอแกน โดยการฝังศพของชาวมอแกนมีความเชื่อว่าการฝังใต้ต้นมะพร้าว จะทำให้เกิดความร่มเย็นแก่คนรุ่นหลังและทำให้คนตายไปสู่ภพภูมิที่ดีเช่นนี้แล้วในชุมชนมอแกนเกาะเหลาระนองจึงเต็มไปด้วยต้นมะพร้าว
- ในชุมชนมี "เครื่องปั่นไฟ" อยู่ 2 เครื่อง โดยการนำเครื่องเรือยนต์มาปั่นและกระจายไฟฟ้าไปยังบ้านนายราย้า ประมงกิจ และบ้านคุณเนาวนิตย์ แจ่มพิศ โดยเด็ก ๆ ในชุมชนจะมารวมตัวกันนั่งดูโทรทัศน์ ที่บ้านคุณเนาวนิตย์ทุกคืน
- บริเวณจอดเรือหน้าหาด ซึ่งหาดมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีขนาดที่ค่อนข้างกว้างพอสำหรับการจอดเรือ 10-15 ลำ หลังจากออกไปหา กุ้ง หอย ปู ปลา หรืออการทำภารกิจต่าง ๆ เสร็จ มอแกนจะนำเรือเข้ามาจอดหน้าหาดโดยจะมีเสาไม้หลักปักไว้ เพื่อผูกเรือและสะดวกต่อการนำเรือเข้า-ออก โดยจะมีที่ประจำในการจอดเรือของคนในชุมชน
- สนามบอล เป็นสถานที่ ที่อยู่ระหว่างสุสารกับศาลาอเนกประสงค์ เป็นพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ เล่นฟุตบอล (ไม่ใส่รองเท้า เด็ก ๆ ให้เหตุผลว่าไม่ถนัดต่อการวิ่งและเตะบอล) และยังมีเด็กที่อยู่เกาะเหลาหน้าในเล่นด้วย
- บ้านหมอตำแย บ้านนางลีย้ะ (ยายลีย้ะ) และ นางซานัย (ป้าเอียด) ยายลีย้ะและป้าเอียด เป็นผู้อาวุโสในชุมชน คนในชุมชนให้ความเคารพนับถืออย่างมาก เด็ก ๆ ในชุมชนมีความรักต่อยายลีย้ะกับป้าเอียดอย่างมาก โดยบางคนถึงขั้นมา กิน อยู่บ้านป้าเอียด โดยตอนเช้า-เย็น หลังจากเสร็จภารกิจต่าง ๆ เด็ก ๆ จะคอยช่วยเหลือทั้งทางแรงงานและการซื้อกับข้าวมาทำกินพร้อมกัน โดยป้าเอียดจะเป็นคนจัดทำอาหาร ยายลีย้ะเป็นแม่ครัวของศูนย์เมอร์ซี่ในชุมชน ทุกวันจันทร์-ศุกร์ในเวลากลางวันเด็ก ๆ ในชุมชนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน จะมารวมตัวกันที่ศูนย์เมอร์ซี่เพื่อเข้าเรียนรู้และรับประทานอาหารกลางวัน โดยมียายลีย้ะเป็นคนทำอาหารให้เด็ก ๆ เช่นนี้แล้วป้าเอียดและยายลีย้ะจึงเป็นที่รักของคนในชุมชนอย่างมาก
ชุมชนมอแกนเกาะเหลามีความสัมพันธ์ลักษณะเครือญาติเพราะมอแกนในชุมชนเกือบทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน หรือเรียกตามสำนวนภาษาท้องถิ่นว่า "ปลากระชังเดียวกัน" เดิมมอแกนไม่มีนามสกุล ปัจจุบันใช้นามสกุลพระราชทานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนาม ที่นิยมเรียกกันว่า "สมเด็จย่า" ซึ่งได้พระราชทานนามสกุลให้ชาวมอแกนว่า "ประมงกิจ" โดยมีเรื่องเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนว่า สมเด็จย่าได้เสด็จมาที่เกาะพยามเป็นการส่วนพระองค์ ได้พบกับชาวมอแกนจึงทราบถึงลักษณะเฉพาะของคนมอแกน และทราบว่ายังไม่มีนามสกุล สมเด็จย่าทรงเมตตาต่อชาวมอแกน จึงพระราชทานนามสกุลให้แก่ชาวมอแกนโดยชื่อว่า "ประมงกิจ" ซึ่งมอแกนส่วนใหญ่ใช้นามสกุลประมงกิจกันทั้งหญิงและชาย
ความผูกพันในฐานะเครือญาติของมอแกนปรากฏให้เห็นชัดเจนเมื่อเกิดการล้มตาย ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่พี่น้องชาวมอแกนทั้ง 3 เกาะ คือ เกาะช้าง เกาะพยาม และเกาะเหลา ได้มาพบกัน เนื่องจากกมอแกนให้ความสำคัญกับการร่วมงานศพค่อนข้างมาก เมื่อมอแกนเสียชีวิตจึงทำให้มอแกนมาเข้าร่วมแสดงความเสียใจ โดยจะมานอนพักตามเกาะที่มีการจัดงานศพ จนกว่าจะฝั่งศพเสร็จจึงจะแยกย้ายกันกลับ การทำพิธีศพจะมีการเปิดเพลงเต้นรำ โดยให้เหตุผลว่า "ถ้าคนที่มีชีวิตอยู่มานั่งเศร้าโศก คนตายจะไม่ไปไหน คนที่ตายคือคนที่สบายแล้ว คนที่ยังอยู่ต่างหากที่ยังไม่สบาย" งานศพจึงสะท้อนความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ และความสัมพันธ์ในฐานะกลุ่มคนที่มีชาติพันธุ์เดียวกันของมอแกนได้เป็นอย่างดี
ครอบครัวของมอแกนยึดภรรยา-สามีเดียว จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตจากกันไป การพบเจอกันของมอแกนเกิดขึ้นจากความสนิทสนมกันตั้งแต่เด็ก ๆ ในชุมชน แต่ปัจจุบันวัยรุ่นมอแกนในชุมชนอายุระหว่าง 18-25 ปี ส่วนใหญ่แต่งงานกับคนนอกชุมชน เช่น คนไทย หรือ เมียนมา โดยพบกันจากการมาเรียน หรือการมาทำงานในตัวเมืองจึงมีสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตัวอย่างแผนผังเครือญาติของครอบครัวตาแหว่งกับยายลีย๊ะ สะท้อนชีวิตครอบครัวของมอแกนได้เป็นอย่างดีดังภาพ
ผังเครือญาติของตาแหว่งกับยายลีย๊ะ
- ตาแหว่ง อายุ 85 ปี เป็นมอแกนดั่งเดิม อพยพเร่ร่อนจากฝั่งพม่ามาอาศัยอยู่เกาะเหลา เดิมบังแหว่งเป็นพ่อม่าย ภรรยาเสียชีวิต มีลูก 2 คน เสียชีวิต 1 คน เหลือเพียงอาริน่า ปัจจุบันอายุ 25 ปีเกิดที่เกาะเหลา ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่เกาะช้างในปี 2553 ปัจจุบันอาริน่า มีครอบครัวอยู่เกาะช้าง สามีชื่อนายดล ประมงกิจ มีลูกด้วยกัน 2 คน เป็นชายทั้งหมด คือ บิ๊กและแซม แม้อาริน่าจะมีครอบครัวและอยู่คนละเกาะกับพ่อ (บังแหว่ง) อาริน่ายังคงไปมาหาสู่กับพ่อของตนอยู่เสมอ
- ยายลีย๊ะ อายุ 75 ปี ยายลีย้ะเป็นหมอตำแยประจำหมู่บ้านเกาะเหลา ยายลีย้ะเล่าว่า "บรรพบุรุษของยายเป็นหมอตำแยทั้งสิ้น ต่อมาได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำคลอดให้แก่ยาย" ยายลีย้ะเลยมีทักษะและความรู้ในการทำคลอดอย่างเชี่ยวชาญ เดิมทียายลีย้ะ มีสามีชื่อ นายดีเด็น มีลูกด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ยาล้ะ (พี่สาวคนโต) และน้องชายอีก 2 คน คือ เดี่ยวและเจี่ยว ต่อมาสามีเสียชีวิต (ไม่ได้ระบุปีเสียชีวิต) ได้พบกับตาแหว่งในเวลาต่อมาจึงได้อยู่กินกันมาจนถึงปัจจุบัน
- ยาล้ะ ประมงกิจ อายุ 45 ปี แต่งงานและมีลูก 4 คน คือ ลินดา แน่น สุดา และเมฆคนสุดท้อง โดยปัจจุบันยาล้ะอาศัยอยู่กับสามีและลูกคนสุดท้อง ส่วนเมฆ และลินดามีสามีเป็นคนไทย จึงย้ายมาอยู่ในตัวเมืองระนอง โดยแน่นและภรรยามาประกอบอาชีพรับจ้างในแพปลาอยู่บนฝั่ง โดยเช่าบ้านอาศัยอยู่บนฝั่ง สุดากำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคระนอง และอาศัยอยู่กับศูนย์เมอร์ซี่ ลูก ๆ ของยาล้ะยังไปมาหาสู่กับยาล้ะอยู่เป็นประจำ ยาล้ะยังคงอาศัยอยู่เกาะเหลา และดูแลยายลีย้ะอยู่เป็นประจำ
- เดี่ยว ประมงกิจ อายุ 43 ปี ภรรยาชื่อนารี ประมงกิจ มีลูกด้วยกัน 3 คน คือ บิลลี่ ซาลี แหลม โดยบิลลี่และซาลีทำงานอยู่ในตัวเมืองระนองและเช่าบ้านอยู่ร่วมกันบนฝั่ง ปัจจุบันเดี่ยว อาศัยอยู่เกาะช้างกัลป์ลูกคนสุดท้องและภรรยา เดี่ยวยังเป็นผู้นำชุมชนเกาะช้างอีกด้วย ปัจจุบันเดี่ยวประกอบอาชีพประมง เลี้ยงดูภรรยาและลูกคนสุดท้อง
- เจี่ยว ประมงกิจ อายุ 40 ปี ภรรยาชื่อ ลาเวง ประมงกิจ มีลูกด้วยกัน 4 คน คือ โรย ชูไปร์ วันนี่ และตัวเล็ก ลูกสาวคนโตของเจี่ยว โรยมีอาการคล้ายออทิสติก ชูไปร์และวันนี่ ทำงานอยู่ในตัวเมืองระนองอาศัยอยู่ร่วมกับบิลลี่และซาลี โดยเจี่ยวประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เลี้ยงดูภรรยาและลูกสุดท้อง ปัจจุบันเจี่ยวยังคงไปมาหาสู่กับยายลีย้ะเป็นประจำ
ผังเครือญาติของตาแหว่งกับยายลีย๊ะ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมอแกนที่ยังคงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความผูกพันต่อกัน การดำรงอยู่ของมอแกนที่อาศัยในพื้นที่ต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ลักษณะเครือญาติกัน มอแกนเกาะเหลาส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่พื้นที่อื่น เนื่องจากเหตุผลด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ย้ายไปจะเป็นวัยแรงงาน ส่วนผู้สูงอายุจะอยู่เกาะเหลาเพราะการเดินทางสะดวกกรณีต้องไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ ครอบครัวอื่น ๆ ของมอแกนเกาะเหลาก็มีลักษณะเดียวกัน
ชุมชนมอแกนเกาะเหลาใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ชอบพบปะกับคนภายนอก เป็นชุมชนที่ขาดโอกาสทางสังคม เข้าไม่ถึงบริการของรัฐที่มีคุณภาพ การรวมกลุ่มของชุมชนมอแกนเกาะเหลายังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก แม้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไร ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการประกอบอาชีพ การสร้างความเข้าใจด้านสังคม รวมถึงการจัดตั้งกองทุนด้านสวัสดิการต่าง ๆ แต่กลุ่มดังกล่าวไม่เข้มแข็ง หากพิจารณาการรวมกลุ่มของชุมชนมอแกนอาจจำแนกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มผู้นำไม่เป็นทางการ มีสมาชิกที่ขับเคลื่อนงานแต่ละลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มแม่บ้าน เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันทำกิจกรรมในชุมชน เมื่อมีกิจกรรมกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรม สมาชิกกลุ่มนี้ประกอบด้วย
- นางซานัย ประมงกิจ (ประธานกลุ่ม)
- นางตาวัน ประมงกิจ
- นางแป๋ว ประมงกิจ
- นางตัน ประมงกิจ
- นางนิ ประมงกิจ
- นางแตนุ้ย ประมงกิจ
- นางตาแมะ ประมงกิจ
- กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่ส่งเสริมให้มอแกนเรียนรู้การออม สมาชิกกลุ่มนี้ประกอบด้วย
- นางตาวัน ประมงกิจ
- นางซานัย ประมงกิจ
- นางสาวแจง ประมงกิจ
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มนี้ทำงานร่วมกับคนภายนอก เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ สมาชิกกลุ่มนี้ประกอบด้วย
- นางเนาวนิตย์ แจ่มพิศ
- นางแดง เนตรแสงแก้ว
- นายบุญรอด ท่ามะขาม
- นางวิลาวัลย์ ท่ามะขาม
- นางอรอนงค์ ท่ามะขาม
โครงสร้างองค์กรชุมชนมอแกนเกาะเหลา
โครงสร้างองค์กรชุมชนมอแกนเกาะเหลาทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มผู้นำไม่เป็นทางการ
การดำเนินงานของกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นได้รับความร่วมมือจากมอแกนไม่มากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากมอแกนไม่มีเวลาสำหรับทำกิจกรรม เพราะแต่ละวันต้องทำประมงและหาหอย หรืออื่น ๆ มาประกอบอาหารเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว ประการสำคัญพวกเขายังไม่เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการรวมกลุ่ม ดังนั้น การสร้างความเข้าใจต่อการรวมกลุ่มจึงมีความสำคัญหากหน่วยงานต่าง ๆ ต้องการส่งเสริมให้มอแกนรวมกลุ่ม เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีอยู่ในชุมชน พบว่า กลุ่มแม่บ้านมีการทำกิจกรรมมากที่สุด แกนนำที่มีบทบาทสำคัญในการทำกิจกรรม คือ "นางซานัย ประมงกิจ (ป้าเอียด)" โดยมี "คุณเนาว์นิตย์ แจ่มพิศ" ซึ่งไม่ใช่มอแกนแต่อยู่ในชุมชนมานานเป็นผู้ช่วยเหลือและสนับสนุน โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ คุณเนาวนิตย์จะเป็นผู้พามอแกนไป และคุณเนาว์นิตย์เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย อีกทั้ง คุณเนาว์นิตย์เป็นญาติกับผู้ใหญ่บ้าน และเป็นแม่ของจำลอง (สจ.) ด้วย ดังนั้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการในชุมชนมอแกนเกาะเหลาถ้าประสานผ่านคุณเนาว์นิตย์ก็สามารถเชื่อมได้กับทุกกลุ่ม ขณะที่สมาชิกคนอื่น ๆ จะปฏิบัติตามหากมีการประสานผ่านผู้นำของแต่ละกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้มีความรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนมอแกนเกาะเหลามีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมีความเข้มแข็งสามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ปัจจุบันการออกไปประกอบอาชีพนอกชุมชนของมอแกนเกาะเหลามีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกาะเหลาอยู่ไกลกับตัวเมืองระนอง มอแกนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งสามารถปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยบางส่วนมาทำงานกับสถานประกอบการเล็ก ๆ เช่น ขายของตามร้านขายของชำ พนักงานเสริฟในร้านอาหารตามสั่ง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ทำงานกับภาคธุรกิจประมง เช่น ใช้แรงงาน ในแพปลา ใช้แรงงานบนเรือประมง เป็นต้น ส่งผลให้มอแกนกลุ่มนี้มีเครือข่ายการทำงานกับภายนอกชุมชนด้วย และเป็นผู้ที่แนะนำคนภายนอกมาชักชวนให้มอแกนในชุมชนมาทำงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมง
วิถีชีวิตการประกอบอาชีพประมง
มอแกนเกาะเหลาดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพทำประมงเป็นหลัก การดำรงชีวิตจึงเกี่ยวข้องกับทะเลและการทำประมง โดยการทำประมงของที่นี่มี 2 ลักษณะ กล่าวคือ
- ลักษณะแรก ครอบครัวที่มีเรือเป็นของตัวเองจะทำประมงพื้นบ้านที่ไม่ซับซ้อนโดยสามีจะออกเรือวางอวน เบ็ด ไซ ช่วงหัวค่ำและจะเก็บกลับช่วงเช้าซึ่งภรรยาและสมาชิกในครอบครัวจะช่วยเก็บกุ้ง ปู ปลาที่ได้ ครอบครัวลักษณะนี้มีประมาณ 15 ครอบครัวเท่านั้น เนื่องจากรายได้ไม่มั่นคงประกอบกับเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจึงไม่สามารถซื้อเรือมาเป็นของตัวเองได้ ปัจจุบันการทำประมงเริ่มเปลี่ยนไปเนื่องจากทรัพยากรที่ลดลง ประกอบกับการเข้าถึงทรัพยากรที่จำกัดเพราะเครื่องมือและอุปกรณ์แบบพื้นบ้านมีประสิทธิภาพจับสัตว์น้ำได้จำกัด ทำให้หลายครอบครัวต้องเดินทางออกไปไกลขึ้น อุปกรณ์การจับปลาที่ทันสมัยหลายอย่างถูกนำมาใช้มากขึ้น เช่น อวนขนาดใหญ่ขึ้น เบ็ดที่มีหลายขนาดมากขึ้น หรือแม้แต่เรือก็ถูกปรับแต่งให้มีสมรรถนะมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเรือที่ยังคงประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านของมอแกนเกาะเหลามีประมาณ 15 ลำ
- ลักษณะที่สอง การใช้แรงงานบนเรือประมง ครอบครัวที่ไม่มีเรือ ผู้ชายจะทำงานเป็นลูกจ้างบนเรือประมงขนาดใหญ่ของนายทุน โดยการออกเรือแต่ละครั้งใช้เวลา 7-15 วัน หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานที่ ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 9,000-15,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะและประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม การประกอบอาชีพของชาวมอแกนอยู่ในสถานะที่เลือกไม่ได้ แม้ปัจจุบันมอแกนวัยแรงงานประมาณ ร้อยละ 80 ได้รับสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์ แต่พวกเขายังขาดทักษะ การประกอบอาชีพอื่น การมารับจ้างบนฝั่งหรือการทำงานในสถานประกอบการยังไม่ได้รับการยอมรับ การหาเลี้ยงชีพจึงต้องพึ่งทะเลต่อไป
กิจกรรมด้านอื่น ๆ ไม่ค่อยปรากฏในชุมชนมอแกนเกาะเหลา เนื่องจากทุกคนต้องทำมาหากินจึงไม่มีกิจกรรมที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมปรากฏมากนัก กิจกรรมด้านวัฒนธรรมของเกาะเหลามีความพยายามจากหลายหน่วยงานรวบรวมและส่งเสริม เช่น สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย วิทยาลัยชุมชนระนอง รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ มาทำกิจกรรมร่วมกับมอแกนเกาะเหลา กล่าวได้ว่า กิจกรรมด้านวัฒนธรรมของมอแกนเกาะเหลาไม่ปรากฏมากนัก มีเพียงการเข้าร่วมกิจกรรมทั่วไปที่หน่วยงานอื่นจัดขึ้น ได้แก่ วันเด็ก งานวันชนเผ่า วันแม่ รวมงานญาติพันธุ์ และวันคริสต์มาส เป็นต้น
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของชุมชนมอแกนเกาะเหลาเชื่อมโยงกับทะเลเป็นหลัก โดยทั้งปีจะมีการเก็บหอยบริเวณชุมชนและถือเป็นอาหารหลักของมอแกนที่นี่ หอยที่เก็บได้ส่วนใหญ่ คือ หอยหวาน หอยแครง และหอยกะติ๊บ เป็นต้น ช่วงเดือนเมษายน ถึง เดือนตุลาคมจะวางอวนปู ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณปูมาก ส่วนใหญ่จะวางอวนปูจั๊กจั่นและปูม้า เนื่องจากเป็นความต้องการของตลาด ช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมมอแกนเกาะเหลาจะดำปลิงทะเล และช่วงนี้มอแกนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะผู้ชายที่ไม่มีเรือเป็นของตนเองจะออกเรืออวนลากกับเรือประมงขนาดใหญ่ ซึ่งเรืออวนลากจะจับสัตว์น้ำหลายชนิด ทั้งกุ้ง หอย ปลา ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่สามารถหาทรัพยากรทางทะเลได้ปริมาณมาก ช่วงนี้ผู้หญิงมอแกนที่ไม่ออกเรือจะทำกะปิและปลาเค็ม หลังโควิต-19 แพร่ระบาด ทรัพยากรทางทะเลมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะหมึกที่มอแกนสามารถหาได้มากขึ้น
ชาวมอแกนหลายครอบครัวจึงหันมาตกหมึกโดยใช้เหยื่อปลอมซึ่งสามารถมีรายได้จากการออกเรือแต่ละครั้ง (ครั้งละประมาณ 5-7 วัน) มีรายได้ประมาณ 8,000-50,000 บาท ทั้งนี้ มอแกนมีวิธีที่สามารถจับหมึกได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะฝั่งเมียนมาที่ชาวประมงในเมียนมาส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีการจับหมึก และมอแกนได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประมงพื้นบ้านในเขตเมียนมาได้ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ แต่อนุญาตเฉพาะเรือประมงพื้นบ้าน (เรือหัวโทง) และเฉพาะมอแกนเท่านั้นที่ได้รับการอนุญาตให้เข้ามาหาหมึกในเขตเมียนมาได้ จึงทำให้มอแกนหลายครอบครัวเข้าไปจับหมึกในเขตประเทศเมียนมาและมีรายได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่าง นายวัก ประมงกิจ มีรายจากการออกเรือเดือนมิถุนายน 2566 สูงถึง 200,000 บาท หรือกรณีของนางตาวัน ประมงกิจ ซึ่งออกเรือตกหมึกในเขตประเทศเมียนมาเพียง 7 วัน สามารถนำหมึกที่ได้ไปขายให้พ่อค้าในเขตสะพานปลาระนองได้เงินจำนวน 30,000 บาท เป็นต้น
การประกอบอาชีพของมอแกนเกาะเหลาและรวมถึงพื้นที่อื่น หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะมอแกนที่มีเรือเป็นของตนเอง และจากการอนุญาตให้มอแกนเดินทางไปทำประมงพื้นบ้านในเขตเมียนมาได้ ทำให้มีผู้ประกอบการลงทุนซื้อเรือหัวโทงเพื่อให้มอแกนเดินทางไปทำประมงโดยเฉพาะการตกหมึก และรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายแบ่งตามสัดส่วนตามที่ตกลงกัน อย่างไรก็ตาม พบว่าปัญหาหลักของทุกบ้านที่มีเรือลากหมึก คือ การขาดความรู้ด้านการบริหารเงินและพฤติกรรมการใช้เงินซึ่งไม่เน้นการเก็บสะสม จึงเป็นการทำงานแบบวัฏจักรได้มาหมดไป ปัจจุบันมีเรือออกลากหมึกในชุมชนจำนวน 7 ลำ เท่ากับ 7 ครอบครัว ครอบครัวกลุ่มนี้มีทุนทรัพย์เพียงพอต่อการลงทุนทำเรือหมึกก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง สำหรับครอบครัวที่ขาดเครื่องมือทำมาหากินก็ยังคงไปรับจ้างออกเรือออกเรือกับนายทุน
1.นางตาวัน ประมงกิจ : ผู้บุกเบิกการตกหมึก ลูกครึ่งชาวเมียนมา มารดาชื่อ นางเนจี เป็นชาวเมียนมา บิดาชื่อ นายกวาง เป็นชาวมอแกนดั้งเดิม ตาวันและครอบครัวอาศัยอยู่ ณ ที่เกาะเหลาตั้งแต่ตาวันจำความได้
บทบาทสำคัญและหน้าที่ชุมชน
- เดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ครอบครัวตาวันซึ่งประกอบด้วยสามีชื่อนายยารุ่ง และลูกอีก 2 คน กลับไปยังบ้านมารดาของนางตาวัน ที่จังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมา ครอบครัวนางตาวันได้ค้นพบการจับหมึกหอม หมึกศอก และหมึกกล้วย และสามารถจับได้จำนวนมาก
“ได้ครั้งนึงก็ 4-5 ถาด ขายได้ ถาดละประมาณ 10,000 บาท ช่วงนี้รายได้ดี ตั้งแต่หลังโควิด-19 พออยู่ได้ ” (ตาวัน ประมงกิจ, สัมภาษณ์, 12 กรกฎาคม 2566)
- หลังตาวันกลับมาเกาะเหลาจึงนำเรื่องราวการตกหมึกมาบอกกล่าวกับพี่น้องมอแกน และเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ได้ชักชวนมอแกนเกาะเหลาออกไปตกหมึกในเขตเมียนมา โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเมียนมาว่าต้องเป็นเรือหัวโทง (เรือประมงพื้นบ้าน) จึงจะสามารถอนุญาตให้ผ่านแดนไปยังเมียนมาได้ ซึ่งมีเฉพาะมอแกนเท่านั้นที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปหาหมึกในเขตเมียนมาได้ การออกเรือหาหมึกใช้เวลา 5-7 วัน และนำมาขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่สะพานปลา จังหวัดระนอง รายได้แต่ละรอบประมาณ 8,000-50,000 บาท ซึ่งหมึกสามารถหาได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีเยอะในช่วงหน้าร้อน ประมาณเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม ส่วนในช่วงมรสุมปริมาณของหมึกลดลงแต่ยังสามารถหาได้ ตาวัน ประมงกิจ จึงถือเป็นผู้บุกเบิกการหาหมึกแก่มอแกนเกาะเหลา
ลียะ ประมงกิจ : บทเพลงมอแกน
นางลียะ ประมงกิจ เป็นผู้แต่งและขับร้องเพลงมอแกนยังสามารถขับร้องเพลงภาษามอแกนได้อย่างไพเราะ ปัจจุบันนางลีย้ะ อายุ 70 ปี เป็นคนเฒ่าคนแก่ที่สำคัญต่อชุมชนมอแกนเกาะเหลามีสุขภาพแข็งแรง คนในชุมชนจะเรียกท่านว่า อ้ายบูม (แปลว่ายาย) นางลีย้ะ มีลูก 3 คน คือ นายเดี่ยว (ผู้นำมอแกนเกาะช้าง) นายเจี่ยว และยาล้ะ โดยทุกคนยังคงใช้นามสกุล ประมงกิจ ปัจจุบันนางลีย้ะ ใช้ชีวิตอยู่เกาะเหลากับสามี (ตาแหว่ง) นางลีย้ะประกอบอาชีพเป็นแม่บ้านอยู่มูลนิธิเมอร์ซี่ที่ตั้งอยู่ในชุมชนมอแกนเกาเหลา และนางลีย้ะยังเป็นหมอตำแย ประจำหมู่บ้านอีกด้วย คนในชุมชนจึงให้ความเคารพนับถือนางลีย้ะเป็นพิเศษ
เพลงมอแกนที่คุณยายลียะร้องเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของวิถีชีวิต ผสมผสานกับการแสดงออกถึงความรักและความห่วงใยที่มีต่อกัน การขับร้องบทเพลงของมอแกนสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเมื่อมีการพบปะในโอกาสต่าง ๆ บทเพลงแฝงฝั่งไปด้วยคำสอนและข้อคิดต่าง ๆ เช่น บทเพลงหนึ่ง ที่สอนว่า “เมื่อพี่ออกเรือและเห็นผลไม้ที่ตกจากนก อย่าเก็บกิน เพราะอันตรายถ้าตายน้องจะไม่รู้” เป็นการเตือนสติผู้เป็นสามีว่า เมื่อออกเรือไปอย่ากินอะไรที่ไม่รู้จัก โดยเฉพาะผลไม้ ที่ตกจากนกจะเป็นผลไม้ที่มีพิษ เพราะปกตินกจะกินหมด แต่ลูกไหนที่นกไม่กิน แสดงว่าลูกนั้นมีพิษหรือเป็นผลไม้ที่ไม่ควรกิน เพราะนกจะรู้ว่าผลไม้ชนิดไหนกินได้หรือกินไม่ได้ เป็นบทเพลงที่สะท้อนความห่วงใยสามีที่ออกเรือ เนื่องจากบางครั้งภรรยาไม่ได้ออกเรือด้วย
แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ยินการร้องเพลงมอแกนในกลุ่มเด็กมอแกนรุ่นใหม่ เนื่องจากสื่อ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ มอแกนรับชมและฟังเพลงสมัยใหม่ผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และเด็กรุ่นใหม่เข้าถึงสังคมออนไลน์เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ทำให้เพลงพื้นเมืองไม่ได้รับความสนใจ แต่สำหรับป้าลียะยังคงร้องได้อย่างไพเราะ และขับร้องอย่างภาคภูมิใจเมื่อมีผู้สนใจต้องการฟัง
ซานัย ประมงกิจ : หมอตำแยประจำชุมชน
ซานัย ประมงกิจ (ป้าเอียด) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2508 มีบุตร 2 คน ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้วทั้ง 2 คน สถานะเป็นม่าย สามีและลูกเสียชีวิตคล้ายกัน เนื่องจากในสมัยก่อนมีการทำระเบิดปลาในน่านน้ำฝั่งเมียนมา และมีการต่อสู้กับทหารพม่า บ้างก็โดนยิงเสียชีวิตหรือมีการยิงเรือให้แตกมอแกนและลูกเรือคนอื่นต้องว่ายน้ำหนีตาย ถ้าเจอเรือ หรือเกาะก็จะรอด ได้รับข่าวสารแค่คำบอกกล่าวว่าสามีและลูกตายแล้วจากเพื่อที่ออกเรือด้วยกัน จึงไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตของลูกและสามีเพราะไม่พบศพ
ปัจจุบันนางซานัย (ป้าเอียด) อาศัยอยู่กับหลาน 2 คน หญิง 1 ชาย 1 โดยหลานผู้หญิงแยกย้ายไปมีครอบครัว ปัจจุบัน หลานชายเป็นเสาหลักของบ้านโดยประกอบอาชีพออกเรือปูจักจั่นกับนายทุน ส่งเงินให้นางซานัย (ป้าเอียด) ทุกเดือน นางซานัยเป็นหนึ่งในหมอตำแยประจำชุมชนมอแกนเกาะเหลา ซึ่งชุมชนมอแกนเกาะเหลามีหมอตำแย จำนวน 3 คน ได้แก่ นางลีย๊ะ ประมงกิจ นางมูนะ ประมงกิจ และนางซานัย ประมงกิจ คนในชุมชนจึงรักและให้ความเคารพต่อนางซานัย
หมอตำแยเป็นการทำคลอดแบบโบราณที่มีมาตั้งแต่อดีตทุกกลุ่มคน เป็นการตอบสนองความต้องการความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ การทำคลอดในสมัยก่อนจำเป็นต้องใช้หมอตำแยเพราะยังไม่มีระบบแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ความก้าวหน้าของระบบสาธารณสุขในปัจจุบันทำให้คนส่วนใหญ่คลอด ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เนื่องจากในอดีตมอแกนเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในทะเล มีวิถีชีวิตเร่ร่อน การดำรงชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเรือและเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของสภาพดินฟ้า อากาศ และทรัพยากรทางทะเล เมื่อถึงหน้ามรสุมจึงขึ้นฝั่งหรือสร้างเพิงพักชั่วคราวตามเกาะต่าง ๆ การคลอดจึงเป็นไปตามวิถีชีวิต กล่าวคือ เมื่อครบกำหนดคลอดจะมีผู้ที่คอยช่วยเหลือให้สามารถคลอดอย่างปลอดภัย และผู้ที่ทำคลอดหรือหมอตำแยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกในชุมชน มักเป็นผู้ที่ประพฤติดี และมีลูก ๆ ที่แข็งแรงเมื่อทำคลอดให้กับคนใดคนหนึ่งได้อย่างปลอดภัยก็จะได้รับการยอมรับและทำคลอดให้คนอื่นอีกเช่นกัน
ปัจจุบันแม้มอแกนตั้งชุมชนแบบถาวร/กึ่งถาวร และเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ระดับหนึ่ง แต่พบว่า มอแกนเกาะเหลายังนิยมคลอดด้วยหมอตำแย โดยยังคงมีวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการทำคลอดแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ ก่อนคลอดประมาณหนึ่งเดือนจะมีการ "คัดท้อง" หมายถึง การที่หมอตำแยนวดคลึงเบา ๆ ให้กับผู้ที่ตั้งครรภ์ โดยมีความเชื่อว่าจะช่วยให้คลอดง่ายขึ้น และมีการอยู่ไฟประมาณ 3-7 วัน เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลให้มอแกนเกาะเหลายังคงเลือกคลอดกับหมอตำแย พบว่า
- ประการแรก การอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แม้เกาะเหลาอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง แต่การเดินทางมายังสถานพยาบาลมีความยากลำบาก เพราะต้องนั่งเรือจากเกาะมาขึ้นฝั่งและนั่งรถอีกทอดหนึ่งจึงมาถึงโรงพยาบาล มอแกนส่วนใหญ่จึงยังคงคลอดกับหมอตำแยในชุมชน
- ประการที่สอง ไม่เข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติ และที่สำคัญคือการสื่อสารที่มีข้อจำกัดเพราะมอแกนมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง แม้ปัจจุบันสามารถสื่อสารภาษาไทยได้แต่เมื่อต้องติดต่ออย่างเป็นทางการ เช่น การกรอกประวัติผู้ป่วย การอธิบายอาการต่าง ๆ แก่เจ้าหน้าที่พยาบาล หรือแม้แต่การทำตามขั้นตอนของโรงพยาบาล พวกเขาไม่ถนัด หากไม่เจ็บป่วยหนักจะไม่เข้ารักษาที่โรงพยาบาล
- ประการที่สาม ความเชื่อและทัศนคติที่มอแกนยังคงมีความเชื่อว่าการคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติไม่จำเป็นต้องพึ่งแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งพวกเขาปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต ถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขายังคงคลอดกับหมอตำแย วิถีชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านมาที่พวกเขาคลอดกับหมอตำแย ทำให้มอแกนมั่นใจว่าการคลอดเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ความเชื่อนี้ผูกโยงกับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของผู้ตั้งครรภ์ โดยเชื่อว่าหากปฏิบัติตัวดีก็จะได้รับการคุ้มครองจากวิญญาณ บรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ซานัย ประมงกิจ ยังคงทำคลอดให้กับมอแกนในชุมชน การทำคลอดที่ช่วยเหลือกันภายในกลุ่มจนกลายเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมในตัวบุคคลจนได้รับจากคนทั่วไป และเมื่อมีการคลอดพร้อม ๆ กัน มอแกนจะเชิญหมอตำแยจากอีกพื้นที่มาทำคลอด ซึ่งซานัยก็ได้รับเชิญเช่นกันโดยเฉพาะมอแกนเกาะช้างที่ยังมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องเพราะอยู่ใกล้กัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนมอแกนในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย
เด็กชายกุ้ง : ชีวิตที่แสนลำบาก
"กุ้ง" เด็กชายกำพร้าที่เหลือพี่น้องแค่ 3 คน คือ ลูตา โกหมัด รวมถึงตัวกุ้งด้วย กุ้งเป็นลูกคนสุดท้อง บิดาชื่อนายกาหมัด ประมงกิจ มารดาชื่อแกวา ประมงกิจ หลังจากแม่ได้คลอดกุ้งออกมา ลืมตาดูโลกได้เพียง 10 วัน แม่ของกุ้ง (แกวา) เสียชีวิตในขณะให้นมกุ้ง หลังจากแม่เสียชีวิต กุ้งอาศัยอยู่กับพ่อ (กาหมัด) ต่อมาพ่อมีภรรยาคนใหม่ ชื่อเนจี ประมงกิจ และมีลูกเพิ่มอีก 3 คน ได้แก่ บัวลอย อันดา และญาญ่า แต่ชะตากรรมชีวิตกลับเล่นตลก เนื่องจากน้อง ๆ ของกุ้งกลับเป็นใบ้และหูหนวก ทั้ง 3 คน ภายหลังเข้าปีที่ 4 หลังจากแม่กุ้ง (แกวา) เสียชีวิต พ่อ (กาหมัด) และแม่เลี้ยง (นางเนจี) ของกุ้งก็เสียชีวิต ในวัย 40 ปี จากโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าคือโรคอะไร ปัจจุบันกุ้งอายุ 13 ปี พี่สาวได้หนีจากน้อง ๆ ไปอยู่ต่างจังหวัดไม่มีการส่งข่าวใด ๆ กลับมาหรือส่งเสียน้อง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนพี่ชายของกุ้งออกจากบ้านทำงานส่งเงินเลี้ยงดูน้อง ๆ ทิ้งไว้แค่กุ้งและน้องอีก 3 คน ซึ่งอยู่ในความอุปการะของนายสุด ประมงกิจ (พี่ชายของพ่อ) กุ้งได้เล่าว่า
"เราไม่ได้เรียนหนังสือ เราให้น้องเราเรียนแต่ก็ยังลำบากเพราะน้องเรา ไม่ได้ยิน พูดไม่ได้ สุดท้ายทั้งเราและน้องก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เราก็ต้องออกมา รับจ้างทำงาน บางวันกลับบ้านลุงเร็วก็ได้กินข้าว บางวันกลับบ้านไม่ทันก็ได้กินข้าวในวันพรุ่งนี้" (กุ้ง ประมงกิจ, สัมภาษณ์, 12 กรกฎาคม 2566)
คำพูดของเด็กที่มีแววตาโศกเศร้าปนความหวังที่ไร้แสงสว่าง แต่ด้วยความมานะและสู้ชีวิต ปัจจุบันกุ้งได้รับจ้าง เป็นลูกมือออกเรือหมึกกับเรือของคนในชุมชน แต่ละรอบประมาณ 5-7 วัน กุ้งจะได้ค่าตอบแทนประมาณ 1,500-2,000 บาท เพื่อประทังชีวิตของตัวเองและน้อง ๆ ที่เป็นใบ้ หูหนวก โดยไม่คิดที่จะทิ้งน้อง ๆ ทุกครั้งที่มีหน่วยงานลงพื้นที่ กุ้งมักจะปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียว กุ้งให้เหตุผลว่า "กุ้งไม่รู้จะสื่อสารกับคนอื่นยังไง" แต่ทุกครั้งที่มีกิจกรรม เรามักจะเห็นกุ้งเข้าร่วม ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มราวกับว่าอยากหยุดเวลาเอาไว้ตรงนี้ กุ้งเป็นเด็กร่าเริงแต่ในแววตากลับโศกเศร้าอย่างเห็นได้ชัด น้อง ๆ ของกุ้งปัจจุบันเสียชีวิตไป 1 คน เหลือเพียงแค่ 2 คน กุ้งและพี่ชายได้ดูแลน้อง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังดูแลครอบครัวนายสุดที่ตนอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน
ทุนทางกายภาพ
ชุมชนมอแกนเกาะเหลาจังหวัดระนอง เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ตัวเมือง ทรัพยากรบริเวณชุมชนมีจำกัด โดยสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญ ประกอบด้วย
- กุ้งเคย ถือเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายในรอบ ๆ เกาะเหลา โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องออกเรือไปไกล และสามารถนำมาแปรรูปเป็นกะปิที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี ที่นี่จึงมีชื่อเสียงด้านกะปิที่หอม อร่อย เนื่องจากผลิตโดยวิธีการดังเดิม และที่สำคัญคือความสดของกุ้งเคยที่เป็นวัตถุดิบหลัก
- หอย พื้นที่เกาะเหลายังมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ในชายฝั่งยังมีหอยหลายชนิด โดยเฉพาะหอยแครง หอยลาย หอยกะพง ซึ่งเป็นหอยที่นิยมหากันในช่วงน้ำลด ถือเป็นพื้นที่ทางอาหารของผู้หญิงมอแกนอีกด้วย เนื่องจากผู้หญิงจะอยู่บ้านเลี้ยงลูกและหาหอยมาทำอาหารเป็นหลัก
ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด มอแกนชุมชนเกาะเหลาจะออกทำประมงในพื้นที่อื่น บางส่วนออกไปวางอวนแล้วกลับมานอนที่เกาะเหลา บางส่วนออกไปไกลกว่าและอาศัยบนเรือหลายวัน ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ไป
ทุนมนุษย์
มอแกนเกาะเหลาเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยลักษณะชุมชนมาอย่างยาวนาน ชุมชนแห่งนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นตั้งแต่หลังเหตุการณ์สินามิ เมื่อปี 2547 เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ประกอบกับเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนทางทะเลระหว่างไทยและเมียนมา ซึ่งผู้คนส่วนหนึ่งยังถือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์) แต่ชุมชนแห่งนี้มีผู้คนที่ได้รับการนับถือและยอมรับของสมาชิกในชุมชนในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ มีดังนี้
- นางเนาวนิตย์ แจ่มพิศ เป็นผู้ที่มอแกนให้ความเคารพและเชื่อฟัง เนื่องจากเป็นผู้ที่ช่วยเหลือมอแกนในทุก ๆ ด้าน โดยบ้านของคุณเนาวนิตย์ตั้งอยู่ในชุมชนมอแกนเพียงหลังเดียว ซึ่งอาศัยอยู่กับสามี (ชัยรัตน์ พงษ์พิทักษ์) เนื่องจากครอบครัวของคุณเนาวนิตย์มีความผูกพันกับชาวมอแกนมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ ทำให้เป็นเหมือนญาติ และทุกครั้งที่มอแกนประสบกับปัญหาจะเป็นหน้าที่ของคุณเนาวนิตย์เป็นธุระให้ เช่น ตอนเข้าโรงพยาบาล ตอนที่ถูกตำรวจจับกุม ตอนที่เดือดร้อนเรื่องเงิน เป็นต้น
- นางซานัย ประมงกิจ เป็นหมอตำแยประจำชุมชน เนื่องจากมอแกนเกาะเหลายังนิยม คลอดบุตรกับหมอตำแย เพราะเป็นความเชื่อดังเดิมที่ว่าเมื่อคลอดบุตรจะต้องคลอดกับหมอตำแย จะดีกว่าหมอปัจจุบัน
- นางลียะ ประมงกิจ เป็นหมอตำแยประจำชุมชน และเป็นผู้แต่งและขับร้องเพลงภาษามอแกนได้
บุคคลสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นแกนนำในการประสานงานและขับเคลื่อนชุมชนมอแกนเกาะเหลา แม้มีจำนวนน้อยแต่สามารถประคับประคองชุมชนมอแกนเกาะเหลามาหลายปี ปัจจุบันชุมชนมอแกนเกาะเหลาทำกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภายนอกหลายหน่อยงาน ขณะเดียวกันบุคคลกลุ่มดังกล่าว ยังควบคุมและจัดการภายในชุมชนได้อย่างดี
ทุนทางวัฒนธรรม
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนเกาะเหลามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ท่ามกลางความขาดแคลนทางวัตถุสิ่งของ แต่พวกเขามีวิธีคิดและปรัชญาชีวิตที่แตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นการดำเนินชีวิตตามกระแสของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ทุกคนใช้ชีวิตอย่างรวดเร็ว สร้างมูลค่าของชีวิตด้วยการใช้เวลา 24 ชั่วโมง ของแต่ละวัน สร้างรายได้ในรูปของเงินให้ได้มากที่สุด แต่มอแกนมีปรัชญาชีวิตที่ตรงกันข้าม พวกเขา “ทำมาหากิน” โดยไม่เน้นการสะสมทุน สร้างความสุขเป็นหลัก ไม่รีบร้อน ไม่กอบโกย และยึดมั่นในความดีงาม จนคนภายนอกเข้าใจว่า พวกเขาซื่อไม่เข้าใจโลก แต่วิธีคิดของมอแกนยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรมสูง สังคมมอแกนจึงเป็นสังคมที่มีความเรียบง่าย ไม่มีปัญหาใด ๆ ในชุมชน อยู่อย่างเอื้ออาทรบนความขาดแคลน นอกจากนั้น ยังมีนางลียะ ประมงกิจ ที่สามารถแต่งและขับร้องเพลงด้วยภาษามอแกนได้ด้วย
ทุนทางเศรษฐกิจ
มอแกนเกาะเหลาประกอบอาชีพทำประมงเป็นหลัก แหล่งรายได้สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มแรก มีรายได้จากการใช้แรงงานบนเรือในอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งจะให้ค่าจ้าง 3,500-8,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับทักษะและประสบการณ์ โดยแต่ละเดือนออกเรือ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 วัน ขึ้นอยู่กับสถานที่ กลุ่มนี้มีรายได้ประมาณเดือนละ 7,000-15,000 บาท มอแกนเกาะเหลาใช้แรงงานบนเรือประมงประมาณ 15-20 คน โดยคุณเนาวนิตย์ทำหน้าที่เป็น ผู้ประสานกับนายทุนเรือประมงที่ต้องการแรงงานมอแกนเกาะเหลา
- กลุ่มที่สอง รายได้จากการออกเรือที่นายทุนซื้อให้ หลังโควิด-19 พบว่า ทรัพยากรทางทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมึกที่มอแกนสามารถจับได้มากและมีราคาค่อนข้างสูง มอแกนที่ไม่มีเรือเป็นของตนเองหากต้องการออกเรือหาหมึกจะมีนายทุนซื้อเรือและอุปกรณ์ให้ และเมื่อขายหมึกได้ จะแบ่งกันตามสัดส่วนที่ตกลงกัน ชุมชนมอแกนเกาะเหลามีประมาณ 7 ลำ รายได้ของมอแกนที่ออกเรือของนายทุน ประมาณ 8,000-20,000 บาทต่อเดือน
- กลุ่มที่สาม รายได้จากการออกเรือของตนเอง มอแกนกลุ่มนี้มีเรือเป็นของตนเองจะเดินทางไปทำประมงในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง กลุ่มนี้มีรายได้สูงกว่ากลุ่มอื่น โดยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5,000-30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีประมาณ 10 ครัวเรือน
- กลุ่มที่สี่ รายได้จากการเก็บหอยริมฝั่งและรับจ้างทั่วไป กลุ่มนี้ไม่มีเรือเป็นของตัวเองและไม่สามารถออกเรือได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ ชุมชนมอแกนเกาะเหลามีจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดและมีรายได้ไม่แน่นอน
การประกอบอาชีพของชุมชนมอแกนเกาะเหลา
การประกอบอาชีพของชุมชนมอแกนเกาะเหลา ยังไม่มีความมั่นคงมากนักเพราะต้องพึงทรัพยากรทางทะเลและธรรมชาติเป็นหลัก แม้ดูเหมือนว่าการออกเรือแต่ละครั้งจะมีรายได้สูง แต่ก็ไม่รายได้ไม่สม่ำเสมอ บางช่วงไม่สามารถออกเรือได้โดยเฉพาะฤดูมรสุม บางช่วงราคาสินค้าตกต่ำ ประกอบกับมอแกนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจึงขาดแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเมื่อจำเป็น ปัจจุบันการทำประมงเปลี่ยนไปเนื่องจาก การเข้าถึงทรัพยากรที่จำกัดจากเครื่องมือและอุปกรณ์แบบพื้นบ้าน ทำให้หลายครอบครัวต้องเดินทางออกไปไกลขึ้น อุปกรณ์การจับปลาที่ทันสมัยหลายอย่างถูกนำมาใช้มากขึ้น เช่น อวนขนาดใหญ่ขึ้น เบ็ดที่มีหลายขนาดมากขึ้น หรือแม้แต่เรือก็ถูกปรับแต่งให้มีสมรรถนะมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การประกอบอาชีพของชาวมอแกนอยู่ในสถานะที่เลือกไม่ได้ เนื่องจากวัยแรงงานส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการประกอบอาชีพอื่น การขึ้นมารับจ้างบนฝั่งหรือการทำงานในสถานประกอบการยังไม่ได้รับการยอมรับ การหาเลี้ยงชีพจึงต้องพึ่งทะเลต่อไป
ทุนสังคม/การเมือง
เนื่องจากเกาะเหลามีชุมชนหลักอยู่ 2 ชุมชน คือ ชุมชนมอแกนซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้านอก และชุมชนคนไทยทั้งพุทธและมุสลิมซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าใน ความสัมพันธ์กับกลุ่มคนภายนอกที่ไม่ใช่มอแกนบนเกาะเหลา เดิมทั้งชุมชนมอแกนและชุมชนที่อยู่บริเวณหน้าในสามารถเดินเท้าติดต่อกันได้ เพราะระยะทางห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร แต่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้คนจากชุมชนหน้าในมาขโมยสิ่งของของมอแกนบ่อยครั้ง ทำให้มอแกนรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงปิดกันทางเชื่อมต่อ ทั้งความเป็นจริงการเดินทางติดต่อระหว่างชุมชนทั้งสองสามารถเดินเท้าได้โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ไม่จำเป็นต้องใช้เรือ และปัจจุบันมอแกนแทบไม่ติดต่อกับผู้คนในชุมชนหน้าในเลย ยกเว้นกรณีหน่วยงานราชการมาประชุมหรือมาทำกิจกรรมเท่านั้น ชุมชนทั้งสองจึงจะมารวมตัวกัน
คนภายนอกที่มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนมอแกนเกาะเหลาเป็นประจำ ประกอบด้วย ครอบครัวคุณเนาวนิตย์ แจ่มพิศ เป็นผู้ดูแลและทำกิจกรรม รวมถึงให้ความช่วยเหลือมอแกนเมื่อได้รับความเดือดร้อน เช่น การเข้ารักษาในโรงพยาบาล การติดต่อกับหน่วยงานภายนอก การจัดหางาน เป็นต้น ครอบครัวคุณเนาวนิตย์มีความสัมพันธ์กับมอแกนมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ คุณเนาวนิตย์เป็นแกนนำเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเพื่อมอแกนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพยายามให้มอแกนมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย บทบาทเกี่ยวกับมอแกนของคุณเนาวนิตย์ถูกรับรู้จากคนทั่วไปที่เข้าไปติดต่อกับมอแกน โดยคุณเนาวนิตย์ทำหน้าที่ประสานงาน เนื่องจากมีหน่วยงานและกลุ่มคนจากภายนอกทำกิจกรรม กับมอแกน และพวกเขามีข้อจำกัดในการติดต่อประสานงาน คุณเนาวนิตย์จึงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในฐานะตัวแทนมอแกนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ กับหน่วยงานภายนอกเพื่อให้มอแกนได้รับการช่วยเหลือตามสมควร จนชาติพันธุ์มอแกนไว้วางใจและให้ความเคารพคุณเนาวนิตย์และครอบครัวในฐานะผู้ดูแลปกป้องมอแกน
มูลนิธิ เมอร์ซี่ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เข้ามาช่วยเหลือมอแกนเกาะเหลาภายหลังเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยให้ความช่วยเหลือชุมชนมอแกนเกาะเหลา ทั้งการประกอบอาชีพ มีการมอบอุปกรณ์ทำประมงที่จำเป็นแก่มอแกน เช่น อวน แห เรือ เป็นต้น ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการมอบของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟฉาย หลอดไฟ แผลโซล่าร์เซลล์ เป็นต้น บทบาทที่สำคัญของเมอร์ซี่คือการส่งเสริมการเรียนรู้ มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนมอแกนเกาะเหลา ทำหน้าที่ดูแลเด็กในชุมชนให้มีพัฒนาการตามวัย โดยจ้างผู้ดูแลเด็กและเจ้าหน้าที่มาประจำ 3 คน และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังสนับสนุนเด็กและเยาวชนมอแกนที่สนใจเรียนต่อระดับสูงขึ้นให้มาเรียนในเมือง โดยมูลนิธิมีบ้านพักและดูแลรับ-ส่ง รวมถึงสนับสนุนด้านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมีพ่อแม่ส่งบุตรหลานมาเรียนไม่น้อยกว่า 20 คน ความสัมพันธ์ระหว่างมอแกนกับมูลนิธิเมอร์ซี่จึงเป็นไปลักษณะหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเป็นสำคัญ โดยมอแกนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด เนื่องจากการช่วยเหลือของมูลนิธิผ่านเจ้าหน้าที่ซึ่งทางมูลนิธิมอบหมายมาทำหน้าที่ตามบทบาทของมูลนิธิ และลงพื้นที่เป็นครั้งคราวเท่านั้น จึงมีความผูกพันน้อยกว่าเมื่อเทียบ กับกรณีคุณเนาวนิตย์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนมอแกนอย่างถาวร
ปัจจุบันมอแกนเกาะเหลาได้รับความสนใจจากคนนอกมากขึ้นจากการเข้าร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมกับเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย หรือการร่วมกิจกรรมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเชิญชวน รวมถึงการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจและลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนมอแกนบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นไปลักษณะการให้ความช่วยเหลือเป็นหลัก ดังนั้น มอแกนที่นี้จึงสวมบทบาทของผู้ที่ด้อยกว่าเพื่อรับความช่วยเหลือ
มอแกนมีภาษาที่ใช้พูดแต่ไม่มีอักษรที่ใช้เขียน ภาษาที่ใช้พูดที่มอแกนเกาะเหลาใช้เป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน (Austroasiatic languages) สาขา Malayo-Polynesian (Kraisame, 2018, p. 2) การใช้ภาษาของมอแกนพบว่า ในชุมชนยังมีการพูดโดยใช้ภาษามอแกนทั้งวัยผู้ใหญ่และวัยเด็ก ไม่มีวัตถุทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษาใด ๆ ปัจจุบันมอแกนส่วนใหญ่ฟังและพูดภาษาไทยได้ มีเพียงส่วนน้อยที่พูดภาษาไทยไม่ได้เนื่องจากอพยพมาจากเมียนมา ขณะที่เด็กรุ่นใหม่สามารถพูดภาษาไทยได้คล่อง เนื่องจากมีการเรียนการสอนในโรงเรียน แม้มอแกนบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องออกทะเลตั้งแต่วัยเรียน โดยเฉพาะผู้ชายที่ต้องออกเรือเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว แต่การรับสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเตอร์เน็ตภาษาไทยทำให้สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดี
เศรษฐกิจของมอแกนเกาะเหลายังผูกโยงกับการทำประมงเป็นหลัก การประกอบอาชีพประมงของที่นี่มี 3 ลักษณะ กล่าวคือ
- ลักษณะแรก ครอบครัวที่มีเรือเป็นของตัวเองทำประมงพื้นบ้านเป็นการทำประมงที่ไม่ซับซ้อนโดยสามีจะออกเรือวางอวน เบ็ด ไซ ช่วงหัวค่ำและจะเก็บกลับช่วงเช้า ครอบครัวลักษณะนี้มีประมาณ 10 ครอบครัวเท่านั้น
- ลักษณะที่สอง การใช้แรงงานบนเรือประมง ครอบครัวที่ไม่มีเรือ ผู้ชายจะทำงานเป็นลูกจ้างบนเรือประมงขนาดใหญ่ของนายทุน โดยการออกเรือแต่ละครั้งใช้เวลา 7-15 วัน หรือมากกว่านั้น การใช้แรงงานบนเรือประมงของมอแกนเกาะเหลา มีมาตั้งแต่อดีต เดิมมีมอแกนผู้ชายเพียงส่วนน้อยที่ทำงานกับเรือประมงจากการชักชวนจากนายทุนเนื่องจากความสามารถทางทะเล และข้อจำกัดในการประกอบอาชีพบนฝั่ง ทำให้ส่วนหนึ่งเลือกใช้แรงงานบนเรือประมง และเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ทั้งเขตไทยและพื้นที่อื่น ๆ
- ลักษณะที่สาม การออกเรือที่นายทุนซื้อให้เป็นการออกเรือหาหมึก และเมื่อขายหมึกได้จะแบ่งตามสัดส่วนที่ตกลงกัน นอกจากนั้นยังมีการเก็บหอยริมฝั่งและรับจ้างทั่วไปซึ่งมีรายได้น้อยมาก
ชุมชนมอแกนเกาะเหลาเป็นชุมชนที่อยู่บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา มอแกนในชุมชนเกาะเหลายังมีปฏิบัติสัมพันกับมอแกนในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง มอแกนส่วนหนึ่งยังคงเดินทางข้ามพรมแดนบ่อยครั้ง เพราะการเดินทางในทะเลเป็นวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานก่อนมีรัฐสมัยใหม่ด้วยซ้ำ แม้อาณาบริเวณนี้ถูกแบ่งออกเป็นไทย-เมียนมา แต่มอแกนยังมีการเดินทางข้ามพรมแดน เพื่อติดต่อกัน โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ความต้องการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ การแสวงหาบริการสาธารณะ การประกอบอาชีพที่ดีกว่า การมีครอบครัวข้ามรัฐชาติและเครือญาติ และการร่วมงานประเพณี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มอแกนยังมีปฏิสัมพันธ์กัน
ชุมชนมอแกนเกาะเหลาใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ชอบพบปะกับคนภายนอก ขาดโอกาสทางสังคม เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐแม้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า มอแกนยังอยู่ในสถานะรองของสังคม ถูกมองด้อยค่าและเป็นอื่น แม้ปัจจุบันหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือและพยายามยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และสถานะทางสังคม แต่ด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนมอแกนยังอยู่ในสถานะรองของสังคม และมีความเสียงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการสร้างเงื่อนไขจากคนบางกลุ่มให้ต้องอยู่แบบพึ่งพาตลอดไป
โครงสร้างทางประชากรของมอแกนเกาะเหลาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มแรกเป็นกลุ่มวัยเด็ก อายุประมาณ 0-12 ปี มีประมาณเกือบ 100 คน เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด
- กลุ่มที่สองวัย 13-25 ปี มีประมาณ 50-80 คน กลุ่มนี้มีการเดินทางระหว่างเกาะเหลาและในเมืองมากที่สุด บางส่วนย้ายไปอยู่ในเมืองระนองหรือพื้นที่อื่น
- กลุ่มที่สามวัย 26-50 ปี กลุ่มนี้มีประมาณ 60-70 คน เป็นวัยแรงงานมีการเดินทางไปทำงานพื้นที่อื่นมากที่สุด
- กลุ่มที่สี่วัยประมาณ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้มีประมาณ 30-40 คน กลุ่มนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนคือผู้ที่ยังแข็งแรงยังคงประกอบอาชีพด้านการประมง และผู้ที่ไม่สามารถทำงานได้จะอยู่บ้านหรือเดินทางไปอยู่กับลูกพื้นที่อื่น
ปฏิสัมพันธ์ของชุมชนมอแกนเกาะเหลา
พื้นที่ปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของมอแกนเกาะเหลาเป็นใต้ถุนบ้าน ความสัมพันธ์เป็นไปลักษณะเครือญาติเพราะมอแกนในชุมชนเกือบทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน และเนื่องจากชุมชนมอแกนเกาะเหลาอยู่ใกล้ตัวเมืองมากที่สุด ที่นี่จึงมีมอแกนจากพื้นที่อื่น ๆ แวะพักบ่อยครั้ง เกาะเหลาจึงเป็นพื้นที่พบปะและมีปฏิสัมพันธ์ของมอแกนจากพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ดังนั้น มอแกนในพื้นที่อื่นจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและเดินทางติดต่อกันอย่างต่อเนื่องกับมอแกนเกาะเหลา ปัจจุบันมอแกนเกาะเหลาได้รับความสนใจจากคนนอกมากขึ้นจากการเข้าร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมกับเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย หรือการร่วมกิจกรรมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเชิญชวน รวมถึงการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจและลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนมอแกนบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นไปลักษณะการให้ความช่วยเหลือเป็นหลัก ดังนั้น มอแกนที่นี้จึงสวมบทบาทของผู้ที่ด้อยกว่าเพื่อรับความช่วยเหลือเพียวอย่างเดียว ยังมีการสร้างความร่วมมือระหว่างมอแกนกับคนภายนอกทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมน้อย
แนวทางการดำเนินการเพื่อรับมือกับความท้าทายของชุมชนมอแกนเกาะเหลา
ชุมชนมอแกนเกาะเหลา จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งระดับบุคคลก่อน กล่าวคือ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่มอแกนในทุกด้าน โดยต้องใช้เวลาในการให้ความรู้แก่มอแกนทุกวัย กิจกรรมที่ควรดำเนินการคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม โดยพาไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมอแกนหรือชาวเลกลุ่มอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่สามารถพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแล้ว เพื่อให้เห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักร่วมกัน นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องส่งเสริมการทำกิจกรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน
ชุมชนมอแกนเกาะเหลายังไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม ยังไม่มีกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างในฐานะกลุ่ม การสร้างเครือข่ายกับภายนอกยังไม่เข้มแข็งมากนักเนื่องจากความพร้อมของมอแกนยังมีน้อย เช่น การสื่อสาร ความรู้ของแกนนำ จำนวนของผู้สนใจทำกิจกรรม เป็นต้น ส่งผลให้การทำงานกับเครือข่ายภายนอกไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันหน่วยงานภายนอกเริ่มให้ความสนใจมาทำกิจกรรมในพื้นที่มากขึ้น ทั้งภาครัฐ หน่วยงานไม่แสวงหากำไร หน่วยงานด้านการศึกษา และอื่น ๆ การดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานเหล่านี้มีลักษณะแจกสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมแบบครั้งเดียวจบซึ่งไม่ต่อเนื่อง หรือเน้นการศึกษาหาความรู้จากกลุ่มมอแกนในด้านต่าง ๆ แต่หน่วยงานที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องลักษณะการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ยังยืนยังคงมีน้อย
มอแกนเกาะเหลาข้ามพรมแดนไปอาศัยอยู่ฝั่งเมียนมาบ่อยครั้ง ส่งผลให้บางส่วนยังไม่ได้รับบัตรประชาชนไทย เนื่องจากบางคนช่วงที่มีการขึ้นทะเบียนสถานะบุคคลไม่อยู่ในไทย เมื่อกลับมาก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียน บางส่วนจึงยังอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ในอดีตชุมชนมอแกนไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแตกต่างทางภาษาและวิถีชีวิต รวมถึงการไร้สัญชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมอแกนได้รับบัตรประชาชนไทยและมีสิทธิเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จึงเริ่มได้รับความสนใจจากฝ่ายการเมืองมากขึ้น ดังเห็นได้จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด มีผู้สมัครหลายคนลงไปหาเสียงเลือกตั้ง รับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน เพราะมอแกนเกาะเหลามีสิทธิ์เลือกตั้งถึง 187 คน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีมอแกนคนใดที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือทำกิจกรรมทางสังคมที่จริงจัง
ปัจจุบันวันแรงงานส่วนใหญ่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนและมีสิทธิเลือกตั้ง แต่พวกเขายังไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองเพื่อให้ได้รับความสนใจจากฝ่ายการเมืองมากนัก เหตุผลสำคัญคือ การขาดอำนาจการต่อรองในมิติอื่นโดยเฉพาะความยากจนที่มอแกนยังเผชิญอยู่อย่างรุนแรง จนไม่มีเวลาคิดถึงการสร้างโอกาสที่สังคมใด ๆ ประกอบกับความรู้ที่ยังอยู่ในระดับต่ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มอแกนยังอยู่ในภาวะยากลำบาก ชุมชนมอแกนเกาะเหลาไม่มีระบบสาธารณูปโภค และมีความขาดแคลนในทุก ๆ ด้าน มอแกนที่นี่ใช้น้ำจากบ่อน้ำหลังชุมชนซึ่งมีเพียงแห่งเดียว ใช้น้ำฝนจากการรองรับด้วยภาชนะ น้ำดื่มจะซื้อจากร้านค้าในชุมชน ใช้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ที่หน่วยงานภายนอกบริจาค บางส่วนใช้ตะเกียงและเทียนไขสำหรับให้แสงสว่าง การประกอบอาหารส่วนใหญ่ใช้ฟื้นที่เก็บจากหลังชุมชน
ความท้าทายของชุมชนมอแกนเกาะเหลา
เนื่องจากชุมชนมอแกนเกาะเหลาไม่มีระบบสาธารณูปโภค และมีความขาดแคลนในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะระบบประปา ส่งผลให้สุขลักษณะของชุมชนอยู่ในระดับต่ำ มอแกนเกาะเหลาส่วนใหญ่เป็นโรคผิวหนัง และรองลงมาคือโรคท้องร่วงในช่วงฤดูร้อน (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน) สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมและสุขลักษณะครัวเรือนเป็นสำคัญ นอกจากนั้น ในชุมชนยังปรากฏโรคไม่ติดต่อหลายชนิด เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคอัมพฤกษ์/อัมพาต เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนแห่งนี้จำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างระบบสุขอนามัยในทุกมิติ ซึ่งกล่าวได้ว่า ระบบสุขภาพของชุมชนมอแกนเกาะเหลามีความเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคที่ยังมีในชุมชน ระบบสุขภาพของมอแกนเกาะเหลายังเชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพซึ่งทำประมงเป็นหลัก
จากข้อจำกัดด้านรายได้ ประกอบกับความรู้ความเข้าใจและพฤตินิสัยด้านสุขภาพ เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยคนในชุมชนส่วนมากจะซื้อยารับประทานเอง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด เป็นไข้ การให้คลอดลูกของมอแกนเกาะเหลาส่วนใหญ่จะทำคลอดด้วยหมอตำแย โดยในชุมชนมี 2 คน คือ "นางลีย้ะ ประมงกิจ" และ "นางซานัย ประมงกิจ" หากคนในชุมชนเกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในชุมชนเข้าให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และจะนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลระนอง โดยจะมีวัยรุ่นในชุมชนที่สามารถสื่อสารภาษาไทย จะเป็นล่ามในการสื่อสารกับหมอและพยาบาล โดยเฉพาะเมื่อสอบถามอาการต่าง ๆ เพื่อรักษาได้ถูกวิธีต่อไป
การศึกษาของมอแกนเกาะเหลาสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
- ช่วงอายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาแต่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้
- ช่วงอายุต่ำกว่า 25 ปี ส่วนใหญ่เข้าเรียนในระบบโรงเรียนระดับประถมศึกษา และสามารถสื่อสารภาษาไทยได้คล่อง โดยระดับก่อนประถมศึกษามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนได้รับการสนับสนุนจากองค์เอกชน (มูลนิธิเมอซี่) ส่วนระดับการศึกษาภาคบังคับเด็กมอแกนส่วนใหญ่เข้าเรียนโรงเรียนบ้านเกาะเหลาซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐบาล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาระนอง ตั้งอยู่บริเวณเกาะเหลาหน้าใน โดยจะมีเรือของโรงเรียนมารับนักเรียนจากชุมชนมอแกนทุกวัน ขณะที่บางส่วนได้การสนับสนุนจากมูลนิธิเมอซี่พาเด็กไปเรียนโรงเรียนในเมืองระนอง โดยมีบ้านพักบนฝั่ง และองค์เอกชนแห่งนี้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเรียนและอาศัยอยู่บนฝั่งเป็นหลักและจะกลับชุมชนในวันหยุด ส่วนใหญ่เรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนชาติเฉลิม ระดับมัธยมศึกษาเรียนที่โรงเรียนสตรีระนองและวิทยาลัยเทคนิคระนอง (ปวช.และปวส.) ซึ่งเป็นสถานศึกษาของรัฐทั้งหมด
วัฒนธรรมของชุมชนมอแกนแหลาไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก มีเพียงการพูดสื่อสารที่ถือว่ายังสามารถรักษาภาษามอแกนไว้ได้ เนื่องจากในชุมชนมอแกนทุกวัยยังสื่อสารด้วยภาษามอแกน ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งการร้องเพลงมอแกนในโอกาสต่าง ๆ และด้านการประกอบอาชีพยังมีการไหว้แม่ย่านาง ก่อนออกเรือด้วย ส่วนวัฒนธรรมและประเพณีอื่น ๆ เช่น ประเพณีลอยเรือ การจัดพิธีหล่อโบง ไม่มีการจัดที่ชุมชนมอแกนเกาะเหลาเพราะไม่มีผู้ประกอบพิธี
สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนมอแกนเกาะเหลา
สิ่งยึดเหนียวจิตใจของชาวมอแกน คือ ผีบรรพบุรุษ ผีป่า และหัวเรือแม่ย่านาง ทุกครั้งที่ออกเรือไปหา กุ้ง หอย ปู ปลา และหมึก มอแกนจะนำเรือมาล้างขัดคราบตะไคร่และสิ่งสกปรกออกจากเรือก่อนออกเดินทาง และทำพิธีไหว้แม่ย่านางเรือโดยมีความเชื่อว่าการได้ไหว้บอกกล่าวต่อแม่ย่านาง จะทำให้การเดินทางปลอดภัย และหากุ้งหอยปูปลาได้เยอะขึ้น (ความเชื่อส่วนบุคคล) โดยการทำพิธีไหว้แม่ย่านางเรือจะมีการจัดเตรียมในการทำพิธีไหว้ คือ ผ้าสามสี ข้าวเหนียวเหลือง ไก่ ปลาย่าง กล้วย และน้ำมะพร้าว เป็นต้น โดยผู้ดำเนินการทำพิธีต้องเป็นเจ้าของเรือเท่านั้น หลังจากทำพิธีไหว้เรือเสร็จเรียบร้อยตามประเพณีแล้ว มอแกนจะนำสิ่งของเส้นไหว้บางส่วนไปโยนกลางทะเล โดยมีความเชื่อว่ามอบให้แด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางทะเลที่คุ้มครอง และอีกบางส่วนนำไปรับประทานตลอดการเดินทางหาอาหารทะเล
ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ชุมชนมีเพียงกุ้งเคยและหอยเท่านั้นที่สามารถหาสำหรับรับประทานในชีวิตประจำวัน ส่วนปลา ปู หมึก พบว่าหลังโควิด-19 มีปริมาณมากขึ้น แต่ต้องออกไปหาในระยะไกลขึ้น โดยเฉพาะหมึกที่ปัจจุบันสามารถจับได้ปริมาณมากในฝั่งเมียนมา ซึ่งจำเป็นต้องมีทุนสำหรับค่าเรือและอุปกรณ์จับหมึก จึงทำให้มอแกนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีรายได้จาก การจับหมึก ชุมชนมอแกนเกาะเหลามีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติเพราะอยู่ใกล้ตัวเมือง และได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน เป็นต้น
แหล่งอาหารในชุมชนมีเฉพาะอาหารทะเลประเภท กุ้ง หอย ปู ปลา ที่สามารถหาได้ริมฝั่ง โดยเฉพาะหอยกะพงที่มีจำนวนมากบริเวณชุมชน พบปริมาณมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด 19 (Covid-19) เนื่องจากกิจกรรมทางทะเล เช่น การท่องเที่ยว การทำประมง หยุดดำเนินการตามข้อกำหนดของรัฐทำให้ทรัพยากรทางทะเลมีปริมาณมากขึ้น หอยกะพงบริเวณชุมชนมอแกนเกาะเหลาถือเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี ส่งผลดีต่อแหล่งอาหารของชุมชน อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการรับประทานอาหารของมอแกนเกาะเหลา พบว่า ส่วนใหญ่ยังรับประทานอาหาร ที่ได้จากทะเลเป็นหลัก คือ กุ้ง หอย ปู ปลา โดยรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้น้อยมาก เนื่องจากบนเกาะเหลาไม่มีน้ำจืดเพียงพอสำหรับการปลูกผัก การรับประทานผักและผลไม้ต้องซื้อเท่านั้น โดยพบว่ามอแกนเกาะเหลานิยมรับประทานมะเขือเปราะ มะเขือยาว แตงกวา ตำลึง และรับประทานผักน้อยมากในแต่ละมื้อ การรับประทานอาหารของมอแกนที่นี่ยังนิยมรับประทานอาหารประเภทกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ กาแฟ เป็นต้นนอกจากนั้น มอแกนส่วนใหญ่ยังบริโภค สุราขาว บุหรี่ใบจาก ยาเส้น เครื่องดื่มชูกำลัง ในปริมาณมากอีกด้วย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
กุ้ง ประมงกิจ, สัมภาษณ์, 12 กรกฏาคม 2566
ซานัย ประมงกิจ, สัมภาษณ์, 12 กรกฏาคม 2566
ตาวัน ประมงกิจ, สัมภาษณ์, 12 กรกฏาคม 2566
ลียะ ประมงกิจ, สัมภาษณ์, 12 กรกฏาคม 2566