Advance search

ชุมชนชาวมอญโบราณที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย วิถีชีวิตของผู้คนกับสายน้ำ และการรักษาวิถีวัฒนธรรมแบบมอญที่เป็นเอกลักษณ์

บางกระเจ้า
เมืองสมุทรสาคร
สมุทรสาคร
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
26 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
26 ม.ค. 2024
คลองสุนัขหอน

คลองสุนัขหอนในสมัยก่อนนั้นไม่ค่อยมีบ้านผู้คนอาศัย เป็นป่ารกด้วยต้นกระบูน ต้นลำพู ลำแพนและต้นจาก ขึ้นอยู่หนาแน่นริมสองฝั่งคลอง ในลำคลองจะมีสัตว์น้ำชุกชุมมาก พอกลางคืนจะมีคนออกพายเรือจุดไต้ หาปลาในคลอง ถ้าบ้านไหนมีสุนัข สุนัขจะหอนรับกันเป็นทอด ๆ เพราะได้ยินเสียงพายเรือ และเสียงคนคุยกันในยามที่เงียบสงัด บางคนก็บอกว่าคลองสุนัขหอนนั้น เดิมทีมีผีดุ โดยเฉพาะบริเวณช่วงวัดนางตะเคียนและวัดปากลัด ซึ่งเป็นวัดด่านในการจ่ายเบี้ยภาษีเรือพาณิชย์ของชาวจีนที่ล่องมาค้าขาย และเป็นที่กล่าวขานว่ามักมีผีกระสือ ล่องลอยหากินกันเพ่นพ่าน สุนัขเมื่อเห็นผี ก็จะพากันเห่าหอน เป็นที่วังเวงมาก จึงเรียกกันว่า "คลองสุนัขหอน"


ชุมชนชาวมอญโบราณที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย วิถีชีวิตของผู้คนกับสายน้ำ และการรักษาวิถีวัฒนธรรมแบบมอญที่เป็นเอกลักษณ์

บางกระเจ้า
เมืองสมุทรสาคร
สมุทรสาคร
74000
13.49888918292185
100.1440641763114
องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า

มอญคลองสุนัขหอนเป็นกลุ่มชาวมอญที่อพยพมาจากหมู่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง เข้ามายังประเทศไทยและเลือกลงหลักปักฐานอยู่ที่บริเวณคลองสุนัขหอน ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยลักษณะของพื้นที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่ริมน้ำ วิถีชีวิตส่วนใหญ่จึงผูกพันกับสายน้ำ ผู้คนใช้แม่น้ำเป็นการสัญจรทางหลัก และประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องมาจากสภาพพื้นที่ที่เป็นสวนและเป็นป่าชายเลน การทำมาหากินในอดีตจึงเน้นการทำนา ตัดฟืน เผาถ่าน เย็บจาก เป็นต้น 

การเข้ามาของชาวมอญสมุทรสาครพบหลักฐานในบันทึกทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยโปรดฯ ให้สร้างป้อมและขุดคลองสุนัขหอนเมื่อ พ.ศ. 2371 หลังจากขุดลอกคลองเสร็จแล้วไม่ได้โยกย้ายออกไปยังคงทำมาหากินที่ริมคลองสุนัขหอน ชุมชนในคลองสุนัขหอน ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีบรรพบุรุษเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญกลุ่มเดียวกันชาวมอญในยุคแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งกระจายตัวอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีนในตำบลมหาชัย ตำบลบ้านเกาะ และตำบลท่าทราย ชาวมอญกลุ่มนี้ประกอบอาชีพตัดฟืน เย็บจาก จับปลา จึงเรียกตัวเองว่า “มอญน้ำเค็ม” (องค์ บรรจุน, ออนไลน์, 2552)

เมื่อชาวมอญในริมคลองฝั่งคลองสุนัขหอนเริ่มตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ครอบครัวมอญจึงเข้าบุกเบิกพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวมอญเมื่อครั้งอาศัยอยู่ในประเทศพม่า คลองสุนัขหอนในช่วงเวลาดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าอ้อ ภายหลังจากการเปิดพื้นที่แผ้วถางให้โล่งเตียนแล้ว ด้วยสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของชุดดินที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ประกอบกับความถนัดในการประกอบอาชีพทำนาซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวมอญทำให้ในระยะแรกอาชีพหลักของชุมชนคลองสุนัขหอน คือ การปลูกข้าว โดยเรียกตัวเองว่า “มอญน้ำเค็ม” ของจังหวัดสมุทรสาคร

คลองสุนัขหอนเป็นคลองธรรมชาติเชื่อมแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง คลองแห่งนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของพื้นที่ภาคกลางตอนล่างมาแต่โบราณ โดยเฉพาะการเดินทางที่ยึดแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง จากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่คลองสาขาหลากเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกล้วนต้องเลือกคลองสุนัขหอนเป็นตัวเชื่อมสำคัญ ปากคลองสุนัขหอน จึงเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจในช่วงอดีตที่สำคัญแห่งหนึ่ง พื้นที่ชุมชนริมคลองสุนัขหอนนี่เองที่เป็นพื้นที่สำคัญในการตั้งถิ่นฐานของชาวมอญ

ปัจจุบันคลองสุนัขหอน อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร คลองสุนัขหอนเป็นคลองขุดไหลผ่านตำบลบางกระเจ้า จุดเริ่มต้น หมู่ที่ 2 ผ่านหมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 9 เป็นคลองที่ใช้สัญจรลำคลองมีสภาพคดเคี้ยว สองข้างทางมีบรรยากาศร่มรื่น สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่หลากหลาย มีแหล่งน้ำเหมาะแก่การทำประมง และเกษตรกรรม ลักษณะของดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดทั้งปี เป็นพื้นที่ป่าชายเลน นากุ้ง บ่อเลี้ยงปลา นาเกลือ และยกร่องปลูกมะพร้าว พื้นที่ด้านทิศใต้ติดทะเลอ่าวไทยตอนบน เรียกว่า อ่าว ก.ไก่ ทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับทำการเกษตร ทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ปลูกพืชสวนต่างๆ 

สำหรับชาวมอญในบริเวณคลองสุนัขหอน การยึดถือระบบเครือญาติตามสายการนับถือผีนั้นปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เพียงแต่ในระยะหลังรูปแบบการนับถือผีเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นนามสกุล โดยการใช้นามสกุลเดียวกันมักจะมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวดองเป็นญาติและนับถือผีในสายตระกูลเดียวกัน

ขณะที่ระบบเครือญาติที่สัมพันธ์ผ่านวงศ์ตระกูล ชาวมอญคลองสุนัขหอนยึดถือรูปแบบความสัมพันธ์ที่นับข้างฝ่ายชายเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามยังนับรวมฝ่ายหญิงที่แต่งงานแล้ว รวมทั้งระบบเครือญาติที่เกิดจากการแต่งงานของสองตระกูลอีกด้วย โดยจากการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์คุณณัฐมน แจบ้านเกาะ (สัมภาษณ์, 27 มีนาคม 2563) พบว่าระบบเครือญาติของชาวมอญสามารถแยกออกเป็น 3 แบบ คือ ญาติข้างพ่อ ญาติข้างแม่ และญาติโดยการแต่งงาน

  • ญาติข้างพ่อ ความเป็นญาติข้างพ่อชาวคลองสุนัขหอนในปัจจุบัน สามารถพิจารณาได้จากนามสกุล พบว่า นามสกุลมอญดั้งเดิมของคนในพื้นที่มีดังนี้ เช่น วรรณรังสี ชาวบ้านเกาะ วิลาวรรณ ภู่ระย้า เป็นต้น
  • ญาติข้างแม่ แม้ว่าฝ่ายหญิงที่แต่งงานแล้วจะถูกตัดขาดจากการเป็นสมาชิกผีของตระกูล หรือครอบครัวเดิม แต่ความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติกับครอบครัวเดิมยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
  • ญาติโดยการแต่งงาน จากการไล่เรียงสาแหรกตระกูลของชาวแถบคลองสุนัขหอนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้คนในแต่ละนามสกุล (ตระกูล) ต่างมีความสัมพันธ์ความเป็นเครือญาติโดยการแต่งงานไขว้ข้ามกันไปมา ในบางกรณีก็เป็นการแต่งงานระหว่างเครือญาติซึ่งไม่ห่างกันมากนัก

คนมอญนับถือเป็นผีบรรพชน หรือผีปู่ย่าตายาย ภาษามอญเรียกว่า "ปาโน่ก" โดยระบบการนับถือผีบรรพชนหรือผีบ้านผีเรือนประจำตระกูลของชาวมอญในบริเวณริมฝั่งคลองสุนัขหอน ประกอบด้วยสัญลักษณ์ในการนับถือผี 4 ตระกูล คือ ผีเต่า ผีงู ผีข้าวเหนียว และผีหม้อ โดยมีสัดส่วนการนับถือผีเต่าและผีงูมากที่สุดตามลำดับ

ตำบลบางกระเจ้าเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายรามัญ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุปันองค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลพื้นที่ โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 9 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด 5,085 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 5,302 คน หญิง 5,717 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 11,019 คน

มอญ

คลองสุนัขหอนเป็นคลองขุดไหลผ่านหลายชุมชนในพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า เป็นคลองที่ใช้สัญจรลำคลองมีสภาพคดเคี้ยว สองข้างทางมีบรรยากาศร่มรื่น มีต้นจาก สวนมะพร้าวน้ำตาลสองข้างคลอง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร และประมง การประกอบอาชีพเกษตรกรรมในตำบลบางกระเจ้า เช่น สวนมะขามเทศ พุทรา ฝรั่ง มะพร้าว ฯลฯ และมีการทำการประมงทะเล เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง น้ำกร่อยและน้ำเค็ม เช่น กุ้งทะเล หอยต่าง ๆ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาชีพต่าง ๆ และกลุ่มองค์กรชุมชน ได้แก่

  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านชายทะเลบางกระเจ้า หมู่ที่ 1
  • กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ
  • กลุ่มแปรรูปอาหารทะเล
  • กลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตกะปิ
  • ชมรมผู้สูงอายุ
  • สภาเด็กและเยาวชนตำบลบางกระเจ้า
  • กลุ่มสตรีตำบลบางกระเจ้า

เนื่องจากคนมอญนิยมปลูกบ้านเรือนอยู่ใกล้น้ำ ดังนั้นวิถีชีวิตส่วนใหญ่จึงผูกพันกับน้ำ ด้านหน้าของเรือนแต่เดิมจะหันหน้าออกทางแม่น้ำท่าจีน เพราะผู้คนใช้แม่น้ำเป็นการสัญจรทางหลัก ใช้เรือพ่วง เรือเอี้ยมจุ๊นขนสินค้ามาขาย พอปัจจุบันคลองตื้นเขินขึ้นก็มีการตัดถนนแทน การทํามาหากินของคนมอญที่นี่มักจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องมาจากสภาพพื้นที่ที่เป็นสวนและป่าชายเลน คนมอญในพื้นที่จึงมีอาชีพทํานา ทําสวน นาเกลือ ตัดฟืน เผาถ่าน เย็บจาก ถ้าช่วงไหนไม่ได้ทําสวนก็เอาเรือออกไปขายของ ผู้หญิงมอญก็จะทําหัตถกรรม เช่น การเย็บจากเอาไว้ใช้เองในบ้านหรือเอาไปขาย แต่ในปัจจุบันพอความเจริญเข้ามามีบทบาท คนที่เคยทําไร่ทําสวนก็เลิกประกอบอาชีพนี้หันไปขายของหรือทําอย่างอื่นแทน บ้านไหนมีลูกหลานที่ได้รับการศึกษาดีหน่อยพอเรียนจบก็จะเข้าเมืองไปหางานทําประกอบอาชีพตามสาขาที่เรียนมา

ชาวมอญยังคงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีมอญจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ทำบุญกลางหมู่บ้าน เข้าพรรษา ออกพรรษา การเซ่นไหว้ เลี้ยงผี รำผีมอญ การละเล่น และงานหัตถกรรม

ประเพณีสงกรานต์ สำหรับชาวมอญถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดในประเพณีรอบปี ชาวบ้านคลองสุนัขหอนทุกคนที่อาศัยอยู่ที่แห่งใดในประเทศต้องกลับมาบ้านในช่วงเทศกาลนี้ เพื่อมาร่วมทำบุญและคารวะญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ฯลฯ ปีละครั้ง

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่งของชาวมอญคลองสุนัขหอน เป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ เป็นการปฏิบัติและแสดงความคารวะนอบน้อม อีกทั้งขอขมาลาโทษต่อพระพุทธศาสนา และพระภิกษุสงฆ์ ขอให้อานิสงส์แห่งการถวายดอกไม้เกิดขึ้นกับผู้ที่ถวาย เมื่อพระภิกษุได้รับบิณฑบาตแล้ว และได้นำไปบูชาพระพุทธและปูชนียสถานในวัดต่อไป

พิธีกรรมของการตักบาตรดอกไม้ จะจัดในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันออกพรรษา หลังจากมีการทำบุญใส่บาตรในตอนเช้าแล้ว ชาวบ้านจะรีบจัดอาหารไปถวายพระที่ในท้องที่นั้น ๆ และในเวลา 13.00 น. พระสงฆ์จะเดินลงจากศาลาการเปรียญสู่พระอุโบสถ โดยชาวบ้านจะนั่งเรียงรายสองข้างทาง จากศาลาการเปรียญถึงหน้าประตูพระอุโบสถ ทุกคนจะมีดอกไม้ ธูป เทียน วางอยู่ในพานหรือถาดจำนวนมาก และยังมีผ้า ขันใส่น้ำ เมื่อพระเดินผ่านมาต่างก็ถวายดอกไม้ ธูป เทียน และผ้าที่เตรียมไว้ปูรองให้พระเดินและล้างเท้าพระสงฆ์ทั้งหมดด้วยอาการที่เคารพนอบน้อม ขบวนพระสงฆ์จากศาลาการเปรียญถึงพระอุโบสถ พระสงฆ์ทั้งหมดจะไปร่วมทำพิธีปวารณาที่พระอุโบสถ ชาวบ้านจะมารวมกันที่หน้าพระอุโบสถ พร้อมกับทำพิธีขอสมาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การถวายของแด่พระสงฆ์แต่เดิมจะถวายธูป และเรียกเป็นภาษามอญว่า "ชวนธูป” แต่ในปัจจุบันถวายทั้งธูป เทียน และดอกไม้ แต่บางแห่งก็ถวายดอกไม้อย่างเดียว เมื่อมีงานประเพณีดังกล่าว ชาวบ้านจะแต่งกายตามธรรมเนียมมอญแต่โบราณ

พิธีเซ่นไหว้เลี้ยงผี (ฮะเจี๊ยะกะโล่กฮ๊อย) โดยปกติทั่วไปหากไม่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในตระกูล พิธีเลี้ยงเซ่นไหว้ผีจะจัดขึ้นปีละครั้งช่วงเดือน 4 ถึงเดือน 6 (จันทรคติ) ในช่วงคาบเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ ก่อนหรือหลังก็ได้ ซึ่งเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของมอญ เว้นแต่ในบางตระกูลที่อาจกำหนดให้ทำเฉพาะปีอธิกสุรทิน หรือ 3 ปีต่อครั้ง โดยจะทำกันเป็นการภายในตระกูล ชาวมอญบริเวณริมฝั่งคลองสุนัขหอนจะนิยมเรียกว่า พิธีล่องเจ้า (ล่องจุ๊) ภาษามอญเรียกว่า "เล๊ะจุ๊สะเป็นปล่าย" ถือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสงกรานต์ของคนไทยเชื้อสายมอญ ตำบลบางกระเจ้า เป็นพิธีที่หมู่บ้านคนมอญถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้

นอกจากพิธีล่องเจ้า (ล่องจุ๊) แล้ว ในชุมชนคลองสุนัขหอนยังเรียกพิธีดังกล่าวว่าการเรียก     “แม่ศรี” โดยจัดขึ้นที่ศาลกลางหมู่บ้าน ขึ้นกับว่าหมู่ใดอยู่ใกล้ศาลใด มีทั้งหมด 7 ศาล 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธ์มอญ : ประเพณี การแต่งกาย ภาษา อาหาร การละเล่น ฯลฯ

ทะแยมอญ นับเป็นการแสดงพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่เก่าแก่ของชาวมอญซึ่งตกทอดมาสู่ชาวไทยรามัญในบริเวณจังหวัดสมุทรสาคร ไม่เว้นแม้แต่บริเวณคลองสุนัขหอน ในปัจจุบันมีการรื้อฟื้นการละเล่นดังกล่าวให้กลับมาอีกครั้ง โดยการแสดงทะแยมอญมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ ร้องโต้ตอบกัน

อาหาร อาหารการกินของคนมอญที่ชุมชนคลองสุนัขหอนนิยมกินคืออาหารที่สามารถปลูกกินในพื้นถิ่น โดยพืชพื้นถิ่นที่คนมอญนิยมทางคือ กระเจี๊ยบ และกระต๊าด

สำหรับกระเจี๊ยบและกระต๊าดนั้นคนมอญนิยมนำมาทำแกงกระเจี๊ยบ โดยการนำทั้งใบกระเจี๊ยบและกระต๊าดใส่ลงไปด้วยกัน รวมเรียกว่าแกงกระเจี๊ยบ อาหารดังกล่าวคนมอญยังทํากินและนํามาถวายพระอยู่เป็นประจํา นอกจากนี้ยังมีพวกแกงต่างๆ เช่น แกงคั่วใบมะขามอ่อน แกงบอน น้ำพริก ปลาร้า และขนมจีน

อาหารการกินของชาวมอญคลองสุนัขหอนสามารถแยกประเภทออกได้เป็น 3 ประเภท คือ อาหารในชีวิตประจำวัน อาหารในเทศกาล และอาหารในพิธีกรรม

  • อาหารในชีวิตประจำวัน ของชุมชนแถบคลองสุนัขหอนโดยมากเป็นอาหารคาว อาหารหลักในชีวิตประจำวัน ที่ปรุงจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในชุมชน หรือพืชผักตามฤดูกาล ซึ่งล้วนเป็นพืชผักที่ชาวมอญทั่วไปนิยมกิน ตัวอย่าง ได้แก่ แกงกระเจี๊ยบ (ฟะฮะเจ่บ) แกงบอน
  • อาหารในเทศกาล โดยมากมักเป็นอาหารหวานหรือขนม เช่น ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ข้าวยาคู กะละแม ขนมจีน และกระยาสารท
  • อาหารในพิธีกรรม ของมอญบ้านเกาะมีทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน โดยมากเป็นอาหารที่ทำขึ้น เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผีบรรพชน หรือผีบ้านผีเรือน

แหล่งน้ำ : อ่าวไทย แม่น้ำท่าจีน คลองสุนัขหอน ฯลฯ

แหล่งอาหาร : สัตว์น้ำในทะเล - ลำคลอง

การท่องเที่ยว : ชมวิถีชีวิตชุมชนที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ริมคลองตลอดทั้งสองข้างคลอง และมีต้นลำพูซึ่งเป็นที่อยู่ของหิ่งห้อย ซึ่งสามารถนั่งเรือชมในเวลากลางคืนมีบริการล่องเรือชมธรรมชาติ มีบริการเช่าเรือที่บริเวณศาลาวัดเจริญสุขาราม

การรักษาโรค : การเยียวยารักษาโรคและอาการเจ็บป่วยของชาวมอญแบบดั้งเดิมมีด้วยกัน 2 ประเภทหลัก ๆ  คือ 1. การรักษาด้วยพิธีกรรม และ 2 การรักษาด้วยสมุนไพร โดยในรูปแบบของการรักษาด้วยพิธีกรรมนั้น คือการจัดพิธีรำผี เพื่อขจัดปัดเป่าโรคภัยให้หายไป ในส่วนของการรักษาด้วยสมุนไพรนั้นชาวมอญมักจะนำพืชท้องถิ่นหรือสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาประกอบอาหาร ส่วนมากจะเป็นพืชที่มีเมือกลื่นหรือมีรสเปรี้ยว เช่น มะตาด กระเจี๊ยบมอญ ส้มป่อย ส้มมะงั่ว

พืชเศรษฐกิจ : ฝรั่ง มะพร้าว

ป่าชายเลน : ต้นโกงกาง ตะบูน แสม ลำพู ฯลฯ

พื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ

อัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายมอญที่คลองสุนัขหอนนั้นได้มีการรักษาและสืบทอดต่อกันมา เพื่อให้กลุ่มของตนเอง และกลุ่มมอญอื่น ๆ รวมถึงคนภายนอกรู้จักและเห็นถึงวิถีชีวิตของคนมอญได้ชัดเจนมากขึ้น โดยอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่สำคัญคือเรื่องภาษา ซึ่งพบว่าภาษามอญภายในชุมชนคลองสุนัขหอนผู้ใช้ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่ยังอ่านเขียนได้ในปัจจุบันมีเพียงผู้สูงอายุในชุมชน


ชุมชนมอญคลองสุนัขหอน หรือมอญลุ่มน้ำเค็ม นับเป็นชุมชนมอญที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และดำรงอัตลักษณ์ความเป็นมอญได้อย่างชัดเจน ถือเป็นชุมชนที่ยึดถือรูปแบบประเพณีพิธีกรรมความเป็นมอญได้อย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรมที่ชาวมอญที่ยังคงมีการสื่อสารกันด้วยภาษามอญ รวมถึงรูปแบบประเพณี พิธีกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ตัวตนความเป็นชาวมอญ เช่น การทอผ้าสไบมอญ การมีอาหารท้องถิ่นเฉพาะตัว การละเล่นสะบ้า ทะแยมอญ เทศกาลประเพณี และความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาที่สะท้อนได้เห็นจากศาสนสถาน เช่น วัดวาอารามที่มีปรากฏให้เห็นตลอดบริเวณริมฝั่งคลอง

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนมอญคลองสุนัขหอนเริ่มได้รับผลกระทบจากอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการพัฒนา การเติบโตทางเทคโนโลยี และระบบนิเวศที่แปรเปลี่ยน วัฒนธรรมมอญหลายประการได้ขาดหายไปจากคลองสุนัขหอน แต่ด้วยการสำนึกต่อการธำรงชาติพันธุ์ที่ยังปรากฏให้เห็นในสังคม ชาวบ้านในชุมชนจึงได้ทำการรื้อฟื้นวัฒนธรรมความเป็นมอญให้กลับมาสู่ชุมชนผ่านการสร้างการรวมกลุ่มทางศาสนาในรูปแบบของการเข้าร่วมประเพณีพิธีกรรมและเครือข่ายพัฒนาสตรี โดยการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชน และพ่วงกับการรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่สูญหายไป ส่งผลให้รูปแบบประเพณี พิธีกรรม การละเล่นแบบมอญ ภาษา หรือแม้แต่การแต่งกาย ได้กลับมาสู่ชุมชนให้คนรุ่นหลังได้สืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น

การแต่งกายในชีวิตประจำวันของชาวมอญคลองสุนัขหอน

การแต่งกายในชีวิตประจำวันของชาวมอญคลองสุนัขหอนในปัจจุบันไม่แตกต่างจากชาวไทยมากนัก ผู้ชายนุ่งกางเกงขาสั้นหรือขายาว สวมเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืด ผู้หญิงแต่งกายตามสมัยนิยมของแต่ละช่วงวัย การแต่งกายตามประเพณีหรือแต่งกายแบบมอญจะแต่งเมื่อมีงานประเพณีหรือเทศกาล เช่น ประเพณีสงกรานต์ เข้าพรรษา เป็นต้น เมื่อถึงประเพณีนั้น ๆ ผู้ชายจะนุ่งโสร่งลายหมากรุก สวมเสื้อกุยเฮงมีผ้าพาดไหล่ ผู้หญิงจะนุ่งซิ่น สวมเสื้อลูกไม้ตัดตามนิยม และมีผ้าสไบพาดไหล่ ส่วนผู้สูงอายุอาจ นุ่งโจงกระเบนหรือนุ่งซิ่นสวมเสื้อผ่าอกตัดด้วยผ้าลูกไม้หรือผ้าชนิดอื่น ๆ และผ้าสไบเฉียง ส่วนการไว้ทรงผมหรือการทำผมผู้ชายจะไว้ผมทรงเดียวกับชายไทยทั่วไป ผู้หญิงบางส่วนยังพยายามรักษาเอกลักษณ์ไว้โดยการเกล้าผมมวย

อย่างไรก็ตามในอดีตชุมชนมอญคลองสุนัขหอนมีการทอผ้าเพื่อสวมใส่กันเองภายในครัวเรือน โดยผู้ที่ทอผ้าส่วนใหญ่คือผู้หญิง ใช้ผ้าโทเรทอเป็นสไบมอญ เน้นสีสันสดใส ในขณะที่ปัจจุบันนิยมใช้ผ้าไหมอิตาลี การใส่สไบมอญกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง จากการสร้างเครือข่ายฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวมอญ จากแต่ก่อนที่เครื่องแต่งกายประจำชาติเริ่มสูญหายไปก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการแต่งตัวไปงานบุญ งานเทศกาล หรือประเพณีต่าง ๆ ชาวมอญก็จะนิยมแต่งกายด้วยชุดประจำวัฒนธรรมดังเช่นในอดีต

นอกจากสไบมอญแล้ว เครื่องประดับหัวก็ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ทางอัตลักษณ์การแต่งกายของมอญอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเครื่องประดับดังกล่าวผู้อาวุโสนิยมใส่ไปในงานพิธีกรรมหรืองานประเพณีที่เกี่ยวกับศาสนาหรืองานมงคลต่าง ๆ เรียกกันว่า “ระย้า” หรือในภาษามอญที่ว่า “ไม่เกว”

คลังข้อมูลชุมชน. (2565). คลองสุขันหอน จ.สมุทรสาคร. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2567 ได้จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/KlongSunakHon

ศศิธร ศิลป์วุฒยา. (2563). ชุมชนมอญคลองสุนัขหอน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2567). องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร.

องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า. (ม.ป.ป.). สถานที่สำคัญ/แหล่งท่องเที่ยว : คลองสุนัขหอน. องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร.